Tuesday, 30 April 2024
สระบุรี

สระบุรี - “นิพนธ์” รุดดูเขื่อนป่าสักฯ-เขื่อนพระราม6 มั่นใจจัดการได้ แต่ไม่ประมาทการรักษาชีวิต และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเยี่ยมผู้อพยพภัยน้ำท่วม 3 จ. สระบุรี อยุธยา ปทุมธานี

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อาคารควบคุมและการประมวล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยมีรองผวจ.สระบุรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ รายงานสถานการณ์น้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 

โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักฯ ยังสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ ถึงแม้ว่าน้ำในเขื่อนขณะนี้จะอยู่เกินปริมาณที่เก็บกักได้ที่ 105 % ก็ตาม ซึ่งปริมาณกักเก็บสูงสุดของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เขื่อนมีน้ำอยู่ที่ 1,114 ลูกบาศก์เมตร และเขื่อนมีการระบายน้ำวินาทีละ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังมีน้ำเหนือ ไหลลงเขื่อนใกล้เคียงกับน้ำที่ระบายออก ซึ่งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ต้องเปิดประตูระบายน้ำ 5 บาน โดยได้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนท้ายเขื่อนแล้ว พร้อมทั้งได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด คือจ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี ให้เฝ้าระวังสถานการณ์เตรียมรับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อีกด้วย สิ่งที่กังวลคือต้องติดตามจนถึงวันที่ 3 ต.ค.ว่าจะมีพายุก่อตัวหรือไม่ จากนั้นก็ต้องเฝ้าระวังวันที่ 7-10 ต.ค.อีกครั้งซึ่งเป็นช่วงที่น้ำเหนือลงมาประกอบกับน้ำทะเลหนุน แต่ยืนยันว่าน้ำเขื่อนป่าสักฯ ยังควบคุมสถานการณ์ได้ และปริมาณน้ำก็ยังน้อยกว่าตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ด้วย

จากนั้นนายนิพนธ์รมช.มหาดไทยและคณะ เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้การระบายน้ำลงท้ายเขื่อน 735 ลบ./วินาที และได้เปลี่ยนธงเป็นสีแดงเป็นสัญญาณ แจ้งว่าระดับน้ำวิกฤตแล้วแจ้งเตือนประชาชน ริมแม่น้ำป่าสัก ท้ายเขื่อนพระราม 6 ลงผ่านอำเภอท่าเรือ อำเภอนครหลวง และอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้เฝ้าระวังทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำป่าสัก ต้องเร่งเก็บของขึ้นที่สูงเพราะระดับน้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ตนได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกประกาศเตือนภัยแล้วและให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมแผนให้พร้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า  รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสาร สร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง จนกว่าน้ำจะลดแล้วเข้าสู่การเยียวยาและฟื้นฟูต่อไป ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเปิดทางน้ำให้มีการระบายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องมีการวางแผนกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร

สระบุรี - แม่ทัพภาค 1 ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดสระบุรี

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา14.00 น พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 และคณะกำหนดเดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำ และตรวจเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ อำเภอบ้านหมออำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

มีนายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีพลตรีคณธัช มากท้วม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 พลตรีจิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศรสระบุรี พลตำรวจตรีชยานนท์ มีสติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรีนายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ นายอำเภอบ้านหมอบรรยายสรุปเจ้าหน้าที่ หัวหน้าข้าราชการอำเภอบ้านหมอ ให้การต้อนรับ

 จากนั้นได้ดูคันกั้นน้ำของ 23 R ที่ชำรุดแตกที่เป็นสาเหตุให้น้ำท่วม 3 อำเภอได้แก่อำเภอบ้านหมอ  อำเภอหนองโดนและอำเภอดอนพุด จึงได้ตรวจดูการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเอาหินมัดรวมใส่ตาข่าย เพื่อปิดทางน้ำตรงประตูน้ำเริงราง 

 

สระบุรี - รับฟังการชี้แจงโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2565

ที่ห้องประชุมป่าสัก ศาลากลางจังหวัดสระบุรี นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมส่วนราชการที่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2565 ร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ที่มี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานจากห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกันกับคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในระดับจังหวัดในครั้งนี้ เป็นการชี้แจงการดำเนินโครงการในระดับจังหวัดในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการมุ่งเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้กับเด็กนักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) เนื่องจากฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา ในแต่ละปีจะมีเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับนับแสนคนทั่วประเทศ โดยนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นหากมีการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวหลังจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะช่วยให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

สระบุรี - ‘รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง’ ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์อุทกภัย และมอบถุงยังชีพในพื้นที่จังหวัดสระบุรี

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ที่วัดสมุหประดิษฐาราม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี นายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยและนำสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค มามอบให้แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในเขตอำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ โดยมีนายพลวรรธณ์ เทียนชัยมงคล ปลัดจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวจังหวัดสระบุรี ต้อนรับ

สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ในห้วงที่ผ่านมาประเทศไทย มีฝนตกชุกหนาแน่น จากเหตุการณ์ พายุดีเปรสชั่น "เตี้ยนหมู่" เมื่อวันที่ 25 - 26 กันยายน2564 ทำให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ประกอบกับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ สูงสุดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำลันตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 52ตำบล 263 หมู่บ้าน 15 ชุมชน 8,027ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ได้รับความเสียหายจำนวน 39,003ไร่ และด้านประมง จำนวน 422 ไร่ 67 ตารางวา ซึ่งอยู่ในช่วงการช่วยเหลือเยียวยา

 

‘วปอ.2555 & ตำรวจไทย’ ห่วงใยประชาชน! จัดโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน จ.สระบุรี และ จ.สิงห์บุรี ลุยน้ำมอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

จากสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่หลายจังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนคนไทยต่างได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ ร่วมลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วย ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการดูแล เฝ้าระวังป้องกันอาชญากรรม การกระทำความผิด กลุ่มมิจฉาชีพที่อาจฉกฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน และให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงคอยให้การสนับสนุนในภารกิจต่าง ๆ จากภาครัฐเมื่อมีการร้องขอด้วย

ในวันนี้ (17 ต.ค.64) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 2555 (วปอ.2555) ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับตัวแทนคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 2555 (วปอ.2555) ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพจังหวัดละ 1,000 ชุด 2 จังหวัด รวมเป็น 2,000 ชุด พร้อมมอบเงินสดส่วนหนึ่งช่วยเหลือบ้านที่ถูกน้ำแม่น้ำป่าสักเซาะจนตลิ่งพังและดึงบ้านพังไปทั้งหลังในเขตจังหวัดสระบุรี ณ วัดสารภี ต.บางโขมด  อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี และจังหวัดสิงห์บุรี  ณ สำนักงานเทศบาลตำบลทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี  โดยมีผู้แทนชุมชนเป็นผู้รับมอบนำสิ่งของไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านที่ประสบภัย

นอกจากนี้ ในส่วนของประชาชนผู้ประสบอุทกภัย บ้านหัวเกาะ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งมีน้ำท่วมสูง ชาวบ้านต้องใช้เรือในการสัญจรเข้าออกหมู่บ้านเท่านั้น ทางพล.ต.ท.สมพงษ์ และตัวแทนคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 2555 (วปอ.2555) ได้ลงพื้นที่โดยสารเรือ นำถุงยังชีพไปมอบให้กับประชาชนถึงหน้าบ้านด้วย  

คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 2555 (วปอ.2555) และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ต้องประสบกับอุทกภัย อีกทั้ง ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย จึงนำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคมามอบให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบภัย จังหวัดสระบุรี และ จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีผู้แทนชุมชนเป็นผู้รับมอบ และนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาระยะห่างตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับประชาชน ให้สามารถต่อสู้กับวิกฤติอุทกภัยครั้งนี้ไปด้วยกัน  

สระบุรี - อบจ.สระบุรี ร่วมกับเทศบาล ตำบลดอนพุด มอบถุงยังชีพ 1,700 ชุด ให้ประชาชนที่ถูกน้ำท่วม อ.ดอนพุด

ที่หอประชุมเฉลิมเกียรติเทศบาลตำบลดอนพุด จ.สระบุรี นายอรรถพล วงษ์ประยูร รองนายกอบจ.จังหวัดสระบุรี นายองอาจ วงษ์ประยูร ส.ส. จ.สระบุรี เขต 3 พรรคเพื่อไทย และนายไพศาล ขำวงษ์ นายกเทศบาลตำบลดอนพุด พร้อมคณะผู้บริหาร

สระบุรี - ติดตามสถานการณ์ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสถานการณ์โควิด-19 พร้อมเร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ

วันนี้ 28 ตุลาคม 2564 ที่ห้องประชุมพระพุทธบาท ศาลากลางจังหวัดสระบุรี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผวจ.สระบุรี ประชุมคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประจำเดือน ตุลาคม 2564 มอบนโยบายและติดตามการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมาในรอบเดือนตุลาคม 2564

สถานการณ์อุทกภัยจากการรายงานเหตุด่วนของอำเภอ มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 13 อำเภอ 55 ตำบล 274 หมู่บ้าน 15 ชุมชน 8,127 ครั้วเรือน ขณะนี้จังหวัดได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย จำนวน 12 อำเภอ 52 ตำบล 301 หมู่บ้าน 15 ชุมชน และประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่ 11 อำเภอ 48 ตำบล 290 หมู่บ้าน 13 ชุมชน  ที่ผ่านมาได้บูรณาการทุกภาคส่วนให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น นายแพทย์สาะรณสุขจังหวัดสระบุรี รายงานว่า สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่าร้อยต่อวัน และขณะนี้วัคซีนเพียงพอที่จะให้บริการกับประชาชนว่า ผู้ที่จะฉีดวัคซีนสามารถรับบริการได้ทั้งหมดทั้งชาวไทยและต่างประเทศตามสถานที่บริการฉีด ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี จะรับวัคซีนได้เฉพาะ ไฟเซอร์ เท่านั้น ซึ่งเด็กต่ำกว่า 12 ปี ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานศึกษา สามารถรับบริการได้ทุกคน

นายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า จากที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ให้บริหารเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในกรณีของ อบจ.สระบุรี ที่สั่งจองชิโนฟาร์ม จำนวน 3 หมื่นคน จังหวัดฯได้รับจัดสรรมาจำนวนประมาณ 1 หมื่นคน โดยจะทำการฉีดให้ประชาชนในวันที่ 29 ต.ค. 31 ต.ค. และ 1 พ.ย. 64 ณ อบจ.สระบุรี

สระบุรี - อบจ.จังหวัดสระบุรี มอบครุภัณฑ์การแพทย์เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้กับจังหวัดเพื่อส่งมอบให้กับสถานพยาบาลต่าง ๆ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา13.30 น. ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีในระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2564 เป็นต้นมาพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)รายใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้แนวโน้มจะดีขึ้น แต่การติดเชื้อรายใหม่เป็นการระบาดแบบกลุ่มก้อน ซึ่งทำให้ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่เดิมในระบบโรงพยาบาล ครุภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลรักษามีไม่เพียงพอ ประกอบกับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสระบุรี ได้ขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรีจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และรักษาพยาบาล

สำหรับจุดตรวจคัดกรองในหรือนอกหน่วยบริการ โรงพยาบาลสนาม หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ Cohort ward ศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation :CI)และการแยกกักตัวที่บ้าน(Home Isolation :HI) หรืออื่น ๆ ตามความจำเป็นเหมาะสม โดยมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์ฯ ดังนี้

เครื่องเอกชเรย์เคลื่อนที่ขนาด 100 ma. พร้อมแผ่นรับภาพติจิตอล จำนวน 5 เครื่อง เครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง (High flow oxygen Therapy) จำนวน 20 เครื่อง เครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 10 สิตร จำนวน 100 เครื่องโดยมี นายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี รับมอบครุภัณฑ์การแพทย์ ดังกล่าว จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี

 

สระบุรี - จัดโครงการ “คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ในพระบรมราชานุเคราะห์ฯ ครั้งที่ 1/2565

วันนี้ (22 ธ.ค.64) นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2565ครั้งที่ 1 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวโพ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี

ในสถานการณ์ปัจจุบันมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา covid-19 ทำให้วิถีการทำเกษตรเปลี่ยนไปการรวมกลุ่มการทำกิจกรรมทางการเกษตรไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้เท่าที่ควร เนื่องจากช่องทางจำหน่ายลดลงทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงต้นทุนผลิตสินค้าเกษตรมีราคาสูง ขาดอำนาจการต่อรอง ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และยังประสบปัญหาด้านการเกษตรด้านโรค แมลง ศัตรูพืชระบาด จะเห็นว่าปัญหาด้านการเกษตรมีความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องบูรณาการ ออกหน่วยให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพการเกษตรและแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี ได้จัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2565 ครั้งที่ 1 เพื่อให้บริการเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรอย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึง และสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้บริการและแก้ไขปัญหาทางการเกษตรร่วมกัน ให้สามารถผลิตพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

สระบุรี - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเปิดงาน "เทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2565

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2565 ณ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ร่วมรับเสด็จ       

ทั้งนี้นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสระบุรี  ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี และประชาชน ร่วมเฝ้า ฯ รับเสด็จ

“เทศกาลโคนมแห่งชาติ” ประจำปี 2565 จัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่พสกนิกรชาวไทย โดยร่วมกับพระเจ้าเฟรดเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ในวันที่ 16 มกราคม 2505 ซึ่งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) หรือฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ถือเป็นฟาร์มโคนมแห่งแรกของประเทศไทยที่เป็นต้นแบบในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมอย่างเป็นระบบ เกษตรกรสามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ทั้งยังส่งเสริมการบริโภคนมเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อ.ส.ค. จึงได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ที่จะให้มีการจัดงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ” ณ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นประจำทุกปี

สำหรับการจัดงานในปีนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการโคนมและอุตสาหกรรมนมจะได้พบปะ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ ทัศนคติ การเลี้ยง การผลิต ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน รวมทั้งเป็นเวทีในการแสดงความก้าวหน้าเกี่ยวกับวิทยาการด้านการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนมของประเทศ

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top