Tuesday, 29 April 2025
สมศักดิ์เทพสุทิน

'สมศักดิ์' มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อน Medical & Wellness Hub พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบ 7 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub จ่อตั้งสำนักงานดูแลโดยเฉพาะ ยกระดับหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิศษ 7 กลุ่มอาการ รวมทั้ง 'สมุนไพร-ยา-อาหาร' ของไทย รุกส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับมาตรฐานเสริมความงาม อุ้มบุญ ผ่าตัดแปลงเพศกลุ่มต่างชาติ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMPs พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วม 4 คณะแพทย์ส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเพิ่มการเข้าถึงยา ATMPs ของประชาชน

(19 ก.พ.68) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยได้มอบนโยบายต่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และการประกาศเจตนารมณ์เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced Therapy Medical Products, ATMPs) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

นายสมศักดิ์กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจและสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขปี 2568 เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศ เพิ่มโอกาสสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและประเทศ ผ่านการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาไทย สมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวดสปา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและชีวการแพทย์ ซึ่งทั้งหมดต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพระดับโลก โดยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวผ่าน 7 นโยบายสำคัญ คือ 1.การจัดตั้ง 'สำนักงานนโยบายและเศรษฐกิจสาธารณสุข (สนศส.)' เป็นหน่วยงานระดับกรม ทำหน้าที่วิเคราะห์ วิจัย และกำหนดนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพและการคลังสุขภาพ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้คุ้มค่า สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน

2.ยกระดับภูมิปัญญาไทย คือ นวดไทย โดยพัฒนาหมอนวดไทยให้เชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ คือ กลุ่มปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Office syndrome), โรคหัวไหล่ติด, โรคนิ้วล็อก, ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (ปวดสลักเพชร), หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, อัมพฤกษ์อัมพาต และกลุ่มระบบสืบพันธุ์ 3.ยกระดับสมุนไพรไทย/ยาไทย อาหารไทย ภายใต้แนวคิด "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ" โดยผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติรวม 106 รายการ ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอกเพื่อส่งเสริมให้แพทย์สั่งจ่ายยาสมุนไพร 32 รายการใน 10 กลุ่มอาการโรคที่พบบ่อยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 10 ส่งเสริมสมุนไพรไทยและอาหารไทยต่างๆ เช่น กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ปลาส้ม/แหนมที่มีโพรไบโอติกส์-พรีไบโอติกส์ 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพราว 1.42 ล้านล้านบาท โดยเน้นประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เช่น สปา บ่อน้ำพุร้อน แหล่งน้ำแร่ จับคู่โรงแรมกับโรงพยาบาลในการให้บริการแพคเกจสุขภาพ พัฒนาระบบเอเยนซีขายแพคเกจสุขภาพ เพิ่มคลินิก Wellness การแพทย์และแพทย์ไทยในโรงแรม ซึ่งมีการนำร่องแล้วคือโมเดล Wellcation ของเขตสุขภาพที่ 5 และ Phuket Wellness Sandbox

5.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ โดยปี 2566 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้านบาท เป็นการนำเข้า 9 หมื่นล้านบาทและส่งออก 1.18 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม่ซับซ้อน ได้แก่ วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวน หลอดฉีดยา และกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย เตียงตรวจ รถเข็นผู้ป่วย เบื้องต้นจะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย เร่งรัดกระบวนการอนุมัติอนุญาตและทดสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์เพื่อขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่มีความซับซ้อน และใช้วิธีจับคู่ระหว่างผู้วิจัยและผู้ที่จะผลิตต่อ 6.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ซึ่งทั่วโลกมีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกำลังผลักดันศูนย์กลาง ATMPs ตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านการแพทย์สมัยใหม่ในระดับโลก ภายในปี 2570 เนื่องจากเอกชนมีความสนใจและต้องการผลักดันอุตสาหกรรม และจะหาทางออกเพื่อลดข้อกังวลของสภาวิชาชีพในการใช้ผลิตภัณฑ์ ATMPs และ 7.การดูแลบุคคลและความงาม (Personal Care and Beauty) โดยจะขับเคลื่อน 4 เรื่อง คือ เวชศาสตร์ความงาม เน้นตรวจสอบแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบเวชกรรมในไทย รวมถึงแพทย์เถื่อน คลินิกเถื่อน ยกระดับคลินิกความงามให้มีมาตรฐานระดับสากล เปิดหลักสูตรอบรมแพทย์เวชปฏิบัติความงามเป็นหลักสูตรกลางของประเทศ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหัตถการเสริมความงาม และพัฒนาระบบเอเยนซีให้สามารถโฆษณาเชิญชวนชาวต่างชาติมารับบริการได้, จิตเวชและพฤติกรรมบำบัดสำหรับชาวต่างชาติ, การอุ้มบุญและการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำ ICSI และการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ

"วันนี้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ทั้ง 4 สถาบัน ประกาศเจตนารมณ์เพื่อร่วมมือกันทางวิชาการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ATMPs ซึ่งส่วนใหญ่เป็น "ยา" ที่ออกฤทธิ์เป็นยีน เซลล์ หรือเนื้อเยื่อ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาจำนวนมาก เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ป่วย โดยปี 2568 มีเป้าหมายให้คนไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าถึงยา ATMPs ในไทยที่ได้มาตรฐานอย่างเหมาะสมผ่านกลไกการอนุญาตวิจัยในพื้นที่ทดลอง 5 แห่งในสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์บริการผลิตภัณฑ์ยา ATMPs แบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายสมศักดิ์กล่าว 

'สมศักดิ์' เปิดอาคารนิทรรศการไทย ในงาน Expo 2025 Osaka สุดยิ่งใหญ่ เชื่อ จะช่วยนำเสนอความเป็นไทย-ศักยภาพ-ความพร้อมเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ปลื้ม ให้งานเกรดเอ

'สมศักดิ์' เปิดอาคารนิทรรศการไทย ในงาน Expo 2025 Osaka สุดยิ่งใหญ่ เชื่อ จะช่วยนำเสนอความเป็นไทย-ศักยภาพ-ความพร้อมเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ปลื้ม ให้งานเกรดเอ แต่ยอมรับต้องปรับให้ว้าวขึ้น ชี้ หมอส่วนใหญ่จากสายวิทย์ อาจมีมุมมองไม่เหมือนสายศิลป์ แนะ บริษัท-ผู้ตรวจรับงาน ระดมสมองปรับแก้ เพื่อให้เกิดความพึ่งพอใจ ย้ำ สามารถปรับแก้ได้ ไม่ได้สายเกินไป

เมื่อวานนี้ (24 เม.ย.68) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดอาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) โดยมี นายชัย วัชรงค์ ผู้แทนการค้าไทย นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายอัครพงศ์ เฉลิมนนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน นายวินิจ เลิศรัตนชัย นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้บริหารสมาคมญี่ปุ่นสำหรับงานนิทรรศการโลกปี 2025 และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ณ เวทีการแสดง อาคารนิทรรศการไทย ในงาน Expo 2025 Osaka Kansai นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเปิด อาคารนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน Expo 2025 ที่นครโอซากา ในวันนี้ โดยเชื่อว่า อาคารนิทรรศการแห่งนี้ จะช่วยประชาสัมพันธ์ นำเสนอความเป็นไทย แสดงให้เห็นศักยภาพ และความพร้อมของไทย ในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ Medical and Wellness Hub สู่สายตาประชาคมโลก ผ่านจุดแข็งที่สำคัญหลายประการ เช่น มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีความพร้อมของสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานในระดับโลก มีแพทย์และบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ มีอัตราค่าบริการการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม คนไทยมีเซอร์วิสมายด์ของการบริการที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วน รวมถึงมีความโดดเด่นด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย และการนวดแผนไทย ซึ่งได้รับการยกย่อง ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

“ผมขอขอบคุณทุกท่าน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานที่สำคัญในครั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่า อาคารนิทรรศการไทยพร้อมแล้ว ที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ทั้งชาวญี่ปุ่น และทุกประเทศทั่วโลก ให้เข้ามาเรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์อันน่าประทับใจ ช่วยสร้างความเชื่อมั่น และขยายโอกาสการลงทุน ทำให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพของคนทั้งโลกต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมศักดิ์ กล่าวเปิดงาน ได้มีการแสดงสะท้อนความเป็นไทยอย่างยิ่งใหญ่ มีการแสดงรำวง ที่นายสมศักดิ์ ได้ร่วมรำด้วย ก่อนจะมีการแสดงเต้นจากโครงการ TO BE NUMBER ONE โดยบรรยากาศ เป็นไปด้วยความคึกคัก มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ต่างให้ความสนใจ มาร่วมดูกิจกรรมด้วย

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้ ตนได้มาดู พาวิลเลียนไทย ในงาน Expo 2025 Osaka โดยจากคำวิพากษ์วิจารณ์ ตนก็ได้พบได้เห็นหลายๆอย่าง และพยายามทำความเข้าใจในเนื้องานทั้งหมด ซึ่งคำว่า Expo คือ งานแสดงสินค้า และการบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ ดังนั้น ในคอนเซ็ปต์คือ การเชื่อมโยงภูมิปัญญาไทย ที่เริ่มตั้งแต่ 1 หมุดหมายสุขภาพ ไปจนถึง 1 ล้านรอยยิ้ม โดยสรุปแล้วคือ การกินดี อยู่ดี ด้วยภูมิปัญญาไทย และจากที่ตนได้เดินดูทั้งหมดแล้ว ต้องบอกว่า ในความเข้าใจ ความรู้สึกของคนมาดู มองว่า เราอาจแบ่งสายการศึกษาเป็น 2 สาย คือ สายวิทย์ และสายศิลป์ ซึ่งคนในกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นสายวิทยาศาตร์ ก็อาจจะมองในสิ่งที่สายศิลป์มองอย่างชัดเจนและเก่งกล้า ไม่ออกทั้งหมด 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การนำเสนอที่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะเรื่องต้นไม้ หรือ สิ่งต่างๆที่สามารถเพิ่มเติมได้ตามแนวทางของสัญญา ก็สามารถปรับแก้ได้ ตนคิดว่า ไม่ได้สายเกินไป โดยในช่วงหลังเปิด 10 วันที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็มีวิพากษ์วิจารณ์ออกมา ดังนั้น ตนคิดว่า ทางบริษัท และผู้ตรวจงาน ต้องดูคอมเมนต์ต่างๆที่ออกมาด้วย โดยเรามีความเป็นไทยที่มีภูมิปัญญาจากอดีตถึงปัจจุบัน และอนาคต ในเรื่องสุขสมบูรณ์ จึงอยากให้มองตรงนี้ ส่วนจะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร ก็พร้อมรับคำวิจารณ์ และแก้ไข

เมื่อถามว่า จากการดูงานแล้ว อยากให้ปรับตรงไหนเพิ่มหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มีปรับในห้อง แต่ตนในฐานะสายวิทย์ มองว่า ให้เกรดเอ 80 คะแนน โดยในกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เป็นสายวิทยาศาสตร์ ก็มองดูแล้ว มาบ่นฉันทำไม แต่คนที่มาวิพากษ์วิจารณ์คือ สายศิลป์ โดยให้คะแนนถึงครึ่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ โดยบางคนให้คะแนน 2 เต็ม 10 ก็ไปว่าเขาไม่ได้ เพราะในมุมมองของคนมันต่างกัน แต่เราก็ต้องทำให้เกิดความพึ่งพอใจ เนื่องจากเม็ดเงิน 800 กว่าล้านบาท ก็ต้องทำให้เกิดความพึ่งพอใจของคนที่มองอยู่ ซึ่งมีทั้งพอใจ และไม่พอใจ ดังนั้น เราก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอให้ว้าวขึ้น ตนจึงอยากให้บริษัท และผู้ตรวจรับงาน ได้ระดมสมองกัน ส่วนสำหรับตน ก็จะมีที่ปรึกษา ที่ขอให้ช่วยดู ทั้งในเนื้องาน และการทำงานของเม็ดเงินต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 40% ด้วย

เมื่อถามว่า ในส่วนของเนื้อหา มีความพอใจที่ตอบสนองกับธีมของงานอยู่แล้วใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ถูก เพราะธีมของงาน ตนก็พยายามดูว่า ผิดอะไรหรือไม่ แต่ของเราอยู่ในมุม ความเชื่อมโยงของวัฒธรรมสังคม ที่ต่อเนื่องสุขสมบูรณ์ โดยของที่เอามาโชว์ทั้งหมด ก็ใช้ได้ แต่ก็ต้องปรับให้ว้าวขึ้น ส่วนตัวเลขคนเข้ามาดู ก็ต้องปรับการบริหาร เพราะตามแนวทางคาดว่า 1-2 ล้านคน ซึ่งถ้าอยากได้ตัวเลขนี้ ก็ต้องมีคนชมวันละ 1 หมื่นคน โดยที่ผ่านมา นับแค่คนเข้าอาคาร แต่งานของเรามีนอกตัวอาคารด้วย ก็ต้องมีการปรับแก้ตรงนี้ด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top