Wednesday, 16 April 2025
สภาพัฒน์

สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพี ปี 64 โต 1.6% ชี้ ศก.ไทยเริ่มฟื้น คาดปีนี้โต 3.5 - 4.5%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 1.9% โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกตัว ทั้งนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสดังกล่าว เป็นผลมาจากตัวเลขการส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัว 16.6% รวมถึงปริมาณส่งออกบริการขยายตัว 30.5% ยกเว้นการลงทุนรวมที่ยังติดลบอยู่ 0.2% 

เปิดข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.

เปิดข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประมาณการรายได้เฉลี่ยต่อหัวคนไทยล่าสุด ปี 2565 หลังประเมินเศรษฐกิจไทยทั้งปี GDP จะขยายตัว 2.5 - 3.5% 

โดย สศช. ประมาณการรายได้ต่อหัวคนไทย ในปี 2565 คาดว่า จะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 248,468 บาทต่อคนต่อปี หรือ 7,351 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 16,300 บาท
 

‘สภาพัฒน์’ เผย!! เศรษฐกิจไทยไตรมาสเเรก โต 1.5%  แรงบวกจากภาคท่องเที่ยว-การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัว

(20 พ.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มทั้งปี 67 พบว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโตเพียง 0.7-0.8% 

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%

ดังนั้น แนวโน้มทั้งปี 67 สภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% ค่ากลางการประมาณการ 2.5%

ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566 โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

'สภาพัฒน์ฯ' เผยผลสำรวจ คนไทยยื่นแบบภาษีเงินได้เพียง 35.7% อึ้ง!! ภาพรวมความรู้ด้านภาษีต่ำ แถมไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

(28 พ.ค. 67) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยมุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย ระบุว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งเกิดจากแรงงานไทยมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัดและเป็นช่องโหว่ให้คนบางกลุ่มเลือกไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนทั้งหมดที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบฯ แต่เป็นผลจากสาเหตุอื่น อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ

สศช. จึงร่วมกับ บริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด ดำเนินการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 35.7% ที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 50.5% ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ย 12,115 บาทต่อเดือน อีกทั้ง มากกว่าครึ่งมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้ในระดับต่ำ โดยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และกว่า 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี อีกทั้ง มากกว่าครึ่งไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ

สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษีคือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า

ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องดำเนินการ ดังนี้

1. การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย 

2. การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษีโดยการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ

3. การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น 4. การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว และ 5. การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุนและช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาว สำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ

สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3

ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ

ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่

ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)

ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม

เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง

รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป

สภาพัฒน์คาดปี 2568 โตในช่วง 2.3 - 3.3% เร่งเครื่องเศรษฐกิจผ่านลงทุนและการส่งออก

(17 ก.พ. 68) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.2% เมื่อปรับผลฤดูกาลออกแล้ว โดยมีการขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ที่ 0.4%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัว 2%. การขยายตัวนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโต 4.4%, การอุปโภคภาครัฐที่ขยายตัว 2.5%, การลงทุนภาครัฐที่เติบโต 4.8%, และการส่งออกที่ขยายตัว 5.8% (ในรูปดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP

สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยค่ากลางอยู่ที่ 2.8%. การคาดการณ์นี้สะท้อนถึงการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน, การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน, การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว, การปรับตัวของการลงทุนภาคเอกชน, และการขยายตัวของการส่งออกสินค้า

สภาพัฒน์ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า และการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพ รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชน และการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (PM 2.5) ควบคู่กับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top