Wednesday, 15 May 2024
สงครามโลกครั้งที่2

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู ‘เมืองฮิโรชิมา’ คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นทันที 80,000 คน

วันนี้เมื่อ 78 ปีที่แล้ว นับเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกยากจะลืมเลือน เมื่อสหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดปรมาณู เหนือเมืองฮิโรชิมา ส่งผลให้มีคนตายทันที 80,000 คน

วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นอีกหนึ่งวันที่คนญี่ปุ่นไม่มีวันลืม เมื่อระเบิดปรมาณู ‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ ถูกทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ลิตเติลบอย (Little Boy)’ เป็นชื่อระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) และระเบิดลูกนี้ ยังนับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ใช้ในการสงครามอีกด้วย

อาวุธนี้พัฒนาขึ้น ในระหว่างจัดตั้ง ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย ‘จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ ผู้ที่ได้ฉายาว่า ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’

สำหรับ ‘ลิตเติลบอย’ มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม และจากเหตุการณ์นี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 80,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีอีก 60,000 คน

‘ญี่ปุ่น’ จัดพิธีรำลึก 78 ปี สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมา พร้อมสนับสนุนให้โลกปราศจากภัยคุกคาม-อาวุธนิวเคลียร์

(6 ส.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดพิธีครบรอบ 78 ปี เหตุการณ์ที่สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา ซึ่งเป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกของโลก โดยนายคาซึมิ มัตสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมาได้กล่าววิงวอนให้มีการยกเลิกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวโจมตีภัยคุกคามจากรัสเซียถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์

‘ระฆังสันติภาพ’ ถูกตีในพิธีที่ถูกจัดขึ้น ณ สวนสันติภาพ เมืองฮิโรชิมา เมื่อเวลา 08.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูชื่อ ‘ลิตเติ้ลบอย’ ที่ฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.4 แสนราย โดยในพิธีรำลึกดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมถึง 5 หมื่นราย หลายคนเป็นผู้รอดชีวิต ครอบครัวของเหยื่อ และผู้แทนต่างชาติจาก 111 ประเทศ ต่างมารวมตัวกัน เพื่อสวดมนต์ไว้อาลัยแก่ทุกชีวิตที่ดับสูญไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ประเทศรัสเซียและเบลารุสไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันเนื่องจากวิกฤตสงครามในประเทศยูเครน นายกรัฐมนตรีคิชิดะของญี่ปุ่นซึ่งครอบครัวของเขามาจากเมืองฮิโรชิมา ขึ้นกล่าวในพิธีว่า “ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ถูกทิ้งระเบิดปรมาณูในช่วงสงคราม ประเทศญี่ปุ่นจะยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์”

คิชิดะกล่าวอีกว่า ถึงกระนั้นก็ตามเส้นทางข้างหน้าที่จะนำไปสู่จุดนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความแตกแยกที่มากขึ้นในหมู่ประชาคมโลก เกี่ยวกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์และภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากรัสเซีย ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่าคือ การทำให้แรงผลักดันของโลกนำไปสู่โลกที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และการทำลายล้างจากอาวุธนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากินั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำ

ขณะที่นายมัตสึอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา ขึ้นกล่าวในพิธีว่า “ผู้นำประเทศทั่วโลกต้องยอมรับกับความจริงที่ว่า ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ในขณะนี้ ที่ถูกพูดถึงโดยผู้กำหนดนโยบายบางคนนั้น เผยให้เห็นความโง่เขลาของทฤษฎีการป้องปรามทางนิวเคลียร์”

ด้านนายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกถ้อยแถลงเนื่องในโอกาสครบรอบ 78 ปีเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา เรียกร้องให้ประชาคมโลกส่งเสียงออกมาเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางภัยคุกคามทางนิวเคลียร์จากบางประเทศในโลก ว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

หลังจากการทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาเพียง 3 วัน สหรัฐก็ได้ทำการทิ้งระเบิดปรมาณูชื่อ แฟตแมน ที่เมืองนางาซากิ ในวันที่ 9 สิงหาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7.4 หมื่นราย ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945

‘สหรัฐฯ’ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่ม ‘นางาซากิ’ ส่งผลรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

วันนี้เมื่อ 78 ปีก่อน สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ที่เมือง ‘นางาซากิ’ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง หลังถล่มเมืองฮิโรชิมา ไปแล้วก่อนหน้า ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต่อสู้กันมายาวนานตั้งแต่ปี 2482 จนมาถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาได้ทิ้ง ‘ระเบิดปรมาณู’ หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า ‘ระเบิดนิวเคลียร์’ ลูกแรก ถล่มเมืองฮิโรชิมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 80,000 คน จากนั้นอีก 3 วันถัดมา สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์อีกลูก ที่มีชื่อว่า ‘แฟตแมน’ หรือ ‘ชายอ้วน’ ซึ่งเป็นระเบิดลูกที่สองใส่เมือง ‘นางาซากิ’ นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม

ระเบิดลูกที่สอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในทันที 70,000 คน บาดเจ็บอีกราว 80,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ผลของกัมมันตภาพรังสี ยังทำให้ผู้ที่ได้รับรังสีกลายเป็นมะเร็งในภายหลังอีกด้วย ในส่วนนี้ไม่สามารถประเมินได้แน่นอนว่ามีจำนวนเท่าใด ยังไม่รวมถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม อันเป็นผลจากกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้างอีกด้วย  

ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนไว้ เพราะไม่แน่ว่าจะมีระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 3 ตามมาอีกหรือไม่ หากญี่ปุ่นไม่ประกาศยอมแพ้สงครามแต่โดยดี

‘ญี่ปุ่น’ ประกาศตกลงยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และลงนามในตราสารประกาศยอมแพ้สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกที่นับเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488  โดยก่อนหน้านั้น นาซีเยอรมนี ได้ลงนามตราสารประกาศยอมแพ้และยุติสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2488

ญี่ปุ่น ประกาศยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

วันนี้เมื่อ 78 ปีก่อน ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ ‘สงครามโลกครั้งที่ 2’ (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ

14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในแปซิฟิก-เอเชีย ยุติลงอย่างเป็นทางการ (หากนับตามเวลาในญี่ปุ่นจะเป็นวันที่ 15) โดย พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น (นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นกว่าพันปีที่คนญี่ปุ่นได้ยินเสียงจักรพรรดิของตน) ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกเมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคมที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ส่งผลให้ฝ่ายญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตนับล้านคน บ้านเมืองเสียหายยับเยิน

พระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ทรงเรียกร้องให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อรักษาชาติพันธุ์ญี่ปุ่น ให้ยอมรับ ‘ข้อตกลงพอตสดัม’ (Potsdam Declairation) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ มาโมรุ ชิเกะมึทซึ (Mamoru Shigemitsu) กับ นายพล โยชิจิโร คุเมซุ (Yoshijiro Umezu) ลงนามในสัญญาสงบศึก (Japanese Instrument of Surrender) กับ นายพล แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ท่ามกลางสักขีพยานจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่น ๆ บนดาดฟ้าเรือประจัญบาน มิสซูรี (USS Missouri) เหนืออ่าวโตเกียวในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 ซึ่งได้มีการเผยแพร่ภาพไปทั่วโลกด้วย

‘จ่า Gander’ ยอดสุนัขทหารแห่งกองทัพแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่ 2 สัญญลักษณ์ของความภักดีและกล้าหาญ ในยุทธการที่เมือง Lye Mun

‘จ่า Gander’ ยอดสุนัขทหารแห่งกองทัพแคนาดา

ในโลกแห่งความจริงแล้ว สุนัขเป็นสัตว์ที่สุดยอด ไม่ใช่เพียงแค่ความวิเศษของสุนัขที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรักและภักดี ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของสุนัขมาโดยตลอดอีกด้วย ความภักดีของพวกมันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความกล้าหาญได้ และสิ่งนี้ทำให้พวกมันมีบทบาทอยู่ในสนามรบตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีสุนัขสงครามที่ต่อสู้เคียงข้างกับทหารของชาติต่าง ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน และเรื่องที่น่าจดจำนี้เป็นเรื่องของสุนัขในกองทัพแคนาดาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

‘Gander’ เป็นสุนัขพันธุ์ Newfoundland ที่ได้ช่วยชีวิตทหารแคนาดาจำนวนหนึ่งระหว่างยุทธการ Lye Mun บนเกาะฮ่องกงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1940 ชื่อเดิมของมันคือ ‘Pal’ เป็นสุนัขของครอบครัว Hayden ที่อาศัยอยู่ในเมือง Gander บนเกาะ Newfoundland

‘จ่า Pal’ ชอบเล่นกับเด็ก ๆ ในละแวกบ้าน และมันมักถูกใช้เป็นสุนัขลากเลื่อน ดังที่เห็นจากภาพถ่าย สุนัขพันธุ์ Newfoundland เป็นสุนัขตัวใหญ่ที่น่าอัศจรรย์ (มีการบันทึกว่า ‘จ่า Gander’ มีน้ำหนักถึง 130 ปอนด์) 

แต่วันหนึ่งในขณะที่มันกำลังเล่นกับเด็ก ๆ เจ้า Pal ได้บังเอิญไปข่วนใบหน้าของ ‘Eileen’ เด็กหญิงวัย 6 ขวบเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เธอต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ครอบครัว Hayden จึงต้องตัดสินใจว่า จะสังหารเจ้า Pal หรือมอบให้คนอื่นที่สามารถนำไปเลี้ยงต่อ พวกเขาเลือกที่จะมอบมันให้กับหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดา (Royal Rifles of Canada) ซึ่งประจำการที่ฐานทัพอากาศ Gander

หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Gander’ โดยมีชื่อ-ตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า ‘Regimental Mascot Sgt. Gander’ สุนัขตัวนี้จึงกลายเป็น Mascot ประจำกองพันที่ 1 ของหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาไปโดยปริยาย

มันสนุกกับการใช้ชีวิตอยู่ในฐานทัพอากาศ และชอบใช้เวลาบนทางวิ่งของเครื่องบินมาก เพราะมันมักจะวิ่งไล่เครื่องบินขณะที่กำลังจะลงจอด 

จ่า Gander กับทหารกองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดา
ระหว่างเดินทางไปยังฮ่องกง

ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 1941 กองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาถูกส่งไปประจำการยังฮ่องกง เพื่อเตรียมป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น แทนที่จะทิ้งจ่า Gander ไว้ข้างหลัง กองพันที่ 1 ของหน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาก็พามันเข้าร่วมกับในภารกิจของพวกเขา โดย ‘พลทหาร Fred Kelly’ ทำหน้าที่ดูแลจ่า Gander ระหว่างที่มันอยู่ในฮ่องกง

พลทหาร Kelly ปล่อยให้จ่า Gander เล่นน้ำเย็นเป็นเวลานาน ๆ เพื่อช่วยให้มันสามารถรับมือกับอากาศที่ร้อนมาก ๆ ของฮ่องกงได้ ตามที่พลทหาร Kelly เล่าว่า จ่า Gander ก็เป็นคอเบียร์ด้วยเช่นกัน

การยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่นของกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ
เมื่อ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941

สงครามป้องกันอาณานิคมฮ่องกง’ ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วยทหารอังกฤษ อินเดีย และแคนาดา รวมถึงกองกำลังสำรอง และกองกำลังป้องกันอาสาสมัครฮ่องกง (HKVDC) เริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม จนถึง 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เป็นหนึ่งในการรบครั้งแรก ๆ ของสงครามแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเช้าวันเดียวกับการโจมตีอ่าวเพิร์ลของกองทัพญี่ปุ่น ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์กองทหารอังกฤษก็สูญเสียพื้นที่ 2 ใน 3 ของดินแดนฮ่องกง (เกาลูน และ New Territories) ที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมา เมื่อไม่สามารถป้องกันที่มั่นสุดท้ายของพวกเขาบนเกาะฮ่องกง กองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษจึงต้องยอมจำนน

ในการรบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองกำลังป้องกันอาณานิคมอังกฤษ จ่า Gander มีส่วนในการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อคลื่นของทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามา จ่า Gander ก็รีบวิ่งเข้าไปหาโดยเห่าและพุ่งเข้ากัดขาของทหารญี่ปุ่น ครั้งที่สองเกิดขึ้นในเวลากลางคืน มีทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บกลุ่มหนึ่งนอนอยู่บนถนน และในขณะที่ทหารญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งก็กำลังเข้ามาหาพวกเขา จ่า Gander ก็วิ่งเข้าไปหาพวกทหารญี่ปุ่นจนทำให้ทหารญี่ปุนกลุ่มนั้นต้องเปลี่ยนเส้นทาง เข้าสกัดโดยการคำราม วิ่งเข้าใส่ทหารศัตรู และกัดส้นเท้าของทหารญี่ปุ่น

‘พลทหาร Reginald Law’ เล่าว่า การต่อสู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนกลางคืน และขนสีดำของจ่า Gander ทำให้ทหารญี่ปุ่นมองเห็นมันได้ยาก ผลก็คือ แทนที่จะยิงมัน ทหารญี่ปุ่นกลับต้องวิ่งหนีมันออกจากที่นั่น เพื่อให้รอดพ้นจากความโกรธเกรี้ยวของจ่า Gander ต่อมาทหารญี่ปุ่นสอบปากคำเชลยศึกชาวแคนาดาเกี่ยวกับ ‘สัตว์ร้ายสีดำ’ ด้วยเกรงว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำการฝึกสัตว์ดุร้ายเพื่อใช้ในทำสงคราม

หลังเที่ยงคืนของวันที่ 19 ธันวาคม ยุทธการที่เมือง Lye Mun (เมืองเล็ก ๆ ในเขตฮ่องกงใกล้ ๆ กับนคร Shenzhen) ก็ปะทุขึ้น จ่า Gander เข้าร่วมสู้รบกับทหารญี่ปุ่นเหมือนเช่นเคย จนกระทั่งระเบิดมือลูกหนึ่งถูกขว้างเข้าใกล้กลุ่มทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อมันรู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น Gander ก็คาบระเบิดมือลูกนั้นขึ้นมาด้วยปากของมัน และวิ่งออกไป ระเบิดมือระเบิดขึ้น แล้ว จ่า Gander ก็เสียชีวิต แต่การกระทำเช่นนั้นของมันได้ช่วยชีวิตทหารแคนาดาไว้ได้ถึง 7 นาย เป็นการแสดงความกล้าหาญของจ่า Gander เป็นครั้งสุดท้าย

หลังจากความพยายามของพิพิธภัณฑ์สงครามแคนาดา สมาคมทหารผ่านศึกฮ่องกง และสมาคมอนุสรณ์ทหารผ่านศึกฮ่องกง อีก 60 ปี หลังจากการเสียชีวิตของจ่า Gander มันก็ได้รับ ‘Dickin Medal for Gallantry’ จาก The People's Dispensary For Sick Animals (PDSA) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านสัตวแพทย์ในสหราชอาณาจักร (โดยหลักแล้วรางวัลนี้คือ ‘Victoria Cross’ สำหรับสัตว์) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ซึ่งถือเป็นรางวัลแรก โดยไม่มีการมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 แต่ PDSA รู้สึกว่า ‘จ่า Gander’ สมควรที่จะได้รับที่สุด

พิธีนี้มีสมาชิกที่รอดชีวิตจากกองทหารของกองพันที่ 1 หน่วยปืนเล็กยาวหลวงแห่งแคนาดาเข้าร่วม 20 นาย โดยพลทหาร Fred Kelly ผู้ดูแล ซึ่งมีสุนัข Newfoundland อยู่ข้าง ๆ รับเหรียญในนามของจ่า Gander เหรียญนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามแคนาดาในออตตาวา นอกจากนี้ เมื่อมีการสร้างกำแพงอนุสรณ์ทหารผ่านศึกฮ่องกงในปี ค.ศ. 1977 ชื่อของจ่า Gander ก็ปรากฏอยู่เคียงข้างรายชื่อของทหารชาวแคนาดาที่เสียชีวิตระหว่างการสู้รบครั้งนั้นด้วย

อนุสาวรีย์ของจ่า Gander และทหารผู้ดูแล ณ เมือง Gander มณฑล Newfoundland

ในปี ค.ศ. 1975 ด้วยการยืนกรานของผู้รอดชีวิตจากการสู้รบ ชื่อของมันก็ปรากฏอยู่บนกำแพงอนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกฮ่องกงในเมือง Ottawa มณฑล Ontario แคนาดา และวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 อนุสาวรีย์ของจ่า Gander และทหารผู้ดูแลได้ทำพิธีเปิด ณ อุทยานอนุสรณ์มรดก Gander ในเมือง Gander มณฑล Newfoundland

รูปปั้นจ่า Gander ณ อนุสาวรีย์วีรบุรุษที่ถูกลืม
ภายในอุทยานอนุสรณ์ทหารผ่านศึก Cobequid

อนุสาวรีย์ ‘การเปลี่ยนแปลง’

อนุสาวรีย์ ‘The Broken’

สวนแห่งความโศกเศร้า

สวนแห่งความทรงจำ

สวนแห่งความหวัง


ต้นเมเปิลแดง

‘อุทยานอนุสรณ์ทหารผ่านศึก Cobequid’ อนุสรณ์อุทยานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงทหารที่เคยรับใช้ และที่ยังคงรับใช้ในการรักษาสันติภาพของกองทัพแคนาดา ประกอบสวน 3 แห่ง ได้แก่

1.) สวนแห่งความโศกเศร้า ซึ่งรำลึกถึงทหารแคนาดาในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
2.) สวนแห่งความทรงจำ เตือนผู้มาเยือนถึงความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม ความจำเป็นในการจดจำ
3.) สวนแห่งความหวัง ซึ่งเป็นสวนนานาชาติที่มีชีวิตชีวาและความหวังในสันติภาพ

และอนุสาวรีย์หินแกรนิตสีดำแปดแห่งที่มีรายชื่อของทหารแคนาดาหลายร้อยนายตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ต้นเมเปิลสีแดงรำลึกถึงทหารแคนาดาที่สูญเสียไปในอัฟกานิสถาน

อนุสาวรีย์ ‘การเปลี่ยนแปลง’ เป็นโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความน่าสะพรึงกลัวของสงครามและความหวังในสันติภาพ

อนุสาวรีย์ ‘วีรบุรุษที่ถูกลืม’ ซึ่งอุทิศให้กับสัตว์สงคราม มีชื่อสัตว์ต่าง ๆ หลายร้อยชื่อและผู้ดูแล

อนุสาวรีย์ ‘The Broken’ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับทหารผ่านศึกที่ต้องทนทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทหารผ่านศึกที่ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา อุทยานอนุสรณ์แห่งนี้ได้รับการโหวตให้เป็นอุทยานอนุสรณ์ที่ดีที่สุดในแคนาดาในปี ค.ศ. 2013 โดย ‘Communities in Bloom’

‘Desmond Doss’ พลทหารแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ผู้ปฏิเสธการจับปืน สู่...วีรบุรุษผู้สร้างปาฏิหาริย์ ณ สมรภูมิ Okinawa ในสงครามโลกครั้งที่ 2

สิบโท ‘Desmond Doss’ วีรบุรุษ… ผู้ปฏิเสธการจับปืนแห่งสมรภูมิ Okinawa

เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนได้เล่าถึงความเหี้ยมโหดของทหารของกองทัพบกอเมริกันในสงครามเวียดนาม อาทิตย์นี้ขอเล่าถึงวีรบุรุษสงครามทหารบกอเมริกันเช่นเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างสองเรื่องนี้คือ ทหารนายนี้เป็นผู้ได้รับเหรียญกล้าหาญสูงสุดของรัฐสภาอเมริกัน โดยไม่ได้จับปืนหรือยิงปืนเลยแม้แต่นัดเดียว ด้วยเขาเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้ที่มีศรัทธาอย่างมากมาย และปฏิเสธการจับปืนโดยเด็ดขาด
วันที่ 1 เมษายน 1942 ‘Desmond Doss’ เข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ เขาไม่รู้เลยว่าในเวลาอีก 3 ปีครึ่งต่อมา เขาจะได้มี โอกาสมายืนอยู่บนสนามหญ้าของทำเนียบขาว และรับรางวัลสูงสุดของประเทศสำหรับความกล้าหาญ

เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (สำหรับทหารบก)

จากจำนวนชายชาวอเมริกันในเครื่องแบบ 16 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียง 431 คนเท่านั้น ที่ได้รับเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional medal of merit) หนึ่งในนั้นถูกวางไว้บนคอของชายหนุ่มผู้มีศรัทธามั่นในคริสต์ศาสนานิกาย ‘Seventh-day Adventist’ โดยในระหว่างการสู้รบเขาไม่ได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูเลยแม้แต่คนเดียว เนื่องด้วยอันที่จริงแล้วเขาปฏิเสธที่จะจับปืน อาวุธเพียงอย่างเดียวของเขาคือ ‘พระคัมภีร์และความศรัทธาอย่างยิ่งในพระเจ้า’

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ จับมือสิบโท Desmond Thomas Doss อย่างอบอุ่น แล้วชูมือนั้นตลอดเวลาที่มีการอ่านออกเสียงคำพูดของเขาให้ผู้คนที่มารวมตัวกันนอกทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 1945 “ผมภูมิใจในตัวคุณ” ประธานาธิบดี Truman กล่าว “คุณสมควรได้รับสิ่งนี้จริง ๆ ผมถือว่านี่เป็นเกียรติมากกว่าการเป็นประธานาธิบดีด้วยซ้ำ”

ประธานาธิบดี ‘Harry S. Truman’ มอบเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ
ให้กับสิบโท ‘Desmond Thomas Doss’

การเดินทางที่ทำให้หนุ่ม Desmond มาจนถึงจุดสูงนี้ถือเป็นการเดินทางที่ท้าทายอย่างยิ่ง เมื่อฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าว Pearl ถูกโจมตี เขากำลังทำงานอยู่ที่อู่ต่อเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เมือง Newport News ซึ่งสามารถเลื่อนการเกณฑ์ทหารของเขาออกไปได้ แต่เขาต้องการเป็นทหารเพื่อประเทศชาติของเขา โดยเต็มใจเสี่ยงชีวิตในแนวหน้า

แต่เมื่อเขาเข้าร่วมกองทัพ Desmond ถูกสันนิษฐานด้วยการจัดประเภทว่า ‘เป็นผู้ต่อต้านที่รู้สติ’ ซึ่งไม่ต้องการที่จะจับต้องอาวุธปืน เขาอยากเป็นทหารเสนารักษ์ โชคดีที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานในกองร้อยทหารราบ การที่เขาปฏิเสธที่จะจับปืนทำให้เกิดปัญหามากมายกับบรรดาเพื่อนทหารของเขา เหล่าเพื่อนทหารมองเขาอย่างหมางเมิน และเรียกเขาว่า ‘เป็นบุคคลที่ไม่เหมาะที่จะเป็นทหาร’

ทหารนายหนึ่งในค่ายถึงกับออกปากเตือนเขาว่า “Doss ทันทีที่เราเข้าสู่การสู้รบ ฉันจะทำให้มั่นใจว่า แกจะไม่กลับมามีชีวิตอีก” เพราะแม้แต่ผู้บังคับบัญชาของเขาเองก็ยังต้องการกำจัดชายหนุ่มชาว Virginia ร่างผอมที่พูดจาด้วยท่าทางที่อ่อนโยน พวกเขามองว่า Doss เป็นภาระ ไม่มีใครเชื่อว่า ‘ทหารที่ไม่ยอมจับอาวุธ’ จะเหมาะต่อการเป็นทหาร พวกเขาพยายามข่มขู่ ดุด่า ทั้งยังมอบหมายหน้าที่ที่ยากเป็นพิเศษให้เขา และประกาศว่าเขามีสภาพจิตใจไม่เหมาะกับการเป็นทหารในกองทัพ

จากนั้นพวกเขาก็พยายามนำ Doss ขึ้นศาลทหาร เพราะปฏิเสธคำสั่งโดยตรงที่ให้ถือปืน แต่พวกเขาหาทางกำจัด Doss ออกไปไม่ได้ และ Doss เองก็ปฏิเสธที่จะลาออกจากกองทัพเอง เขาเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือ การเชื่อฟังพระเจ้าและรับใช้ประเทศชาติของเขา แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนนั้น และความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ของเขานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ภาพวาดของ ‘Cain’ ที่ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ ‘Abel’ น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว

Desmond ได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความเชื่ออย่างแรงกล้าในพระคัมภีร์ เมื่อพูดถึงบัญญัติสิบประการ Desmond ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นการส่วนตัว

ในช่วงวัยเด็ก พ่อของเขาซื้อภาพใส่กรอบขนาดใหญ่จากการประมูล เป็นภาพบัญญัติสิบประการพร้อมภาพประกอบสีสันสดใส ถัดจากคำว่า “เจ้าอย่าฆ่า” เป็นภาพวาดของ Cain ถือท่อนไม้ยืนอยู่เหนือร่างของ Abel น้องชายของเขาที่เสียชีวิตไปแล้ว Desmond ตัวน้อยจะมองดูภาพนั้นแล้วถามว่า “ทำไม Cain ถึงฆ่า Abel ทำไมพี่ชายถึงทำแบบนั้นได้” พระเจ้าตรัสในใจของ Desmond ตอบว่า “ถ้าเธอรักเขา เธอจะไม่ฆ่าเขา” ด้วยภาพนั้นเองที่ฝังแน่นอยู่ในใจของเขา เขาตัดสินใจว่าตลอดชีวิตนี้เขาจะไม่มีวันฆ่าใคร

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อทางศาสนาของเขารวมถึงการเข้าร่วมโบสถ์ทุกสัปดาห์ ทำให้บรรดาผู้บังคับบัญชาของเขาต่างก็รู้สึกไม่พอใจมาก เขาขอบัตรผ่านทุกสัปดาห์เพื่อจะได้ไปโบสถ์ทุกวันเสาร์ นั่นหมายถึงว่าเขามีวันหยุดสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อนทหารของเขาเห็นว่าเขาอ่านพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด ซึ่งไม่สอดคล้องกับทหารนายอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง บรรดาเพื่อนทหารจึงรังเกียจเขา รังแกเขา เรียกเขาด้วยชื่อที่ดูถูก กระทั่งสาปแช่งเขาต่าง ๆ นานา โดยที่ผู้บังคับบัญชาของ Desmond ก็ทำให้ชีวิตของเขาต้องลำบากเช่นกัน

ทว่าสิ่งต่าง ๆ เริ่มพลิกผันเมื่อมีผู้ค้นพบว่า เสนารักษ์ผู้เงียบขรึมคนนี้มีวิธีรักษาแผลพุพองบนเท้าที่บอบช้ำและเหนื่อยล้าจากการเดินขบวน และหากมีใครเป็นลมเพราะลมแดด เสนารักษ์คนนี้ก็อยู่เคียงข้างเขาและเสนอเสบียงอาหารของตัวเองให้ด้วย Desmond ไม่เคยมีความแค้น ปฏิบัติต่อเพื่อนทหารด้วยความกรุณาและความสุภาพอ่อนโยน

‘เนินสูง Maeda’ ซึ่งเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge)

Desmond ทำหน้าที่ในสมรภูมิบนเกาะ Guam, Leyte และ Okinawa ในการปฏิบัติการทางทหารแต่ละครั้ง เขาได้แสดงความทุ่มเทเป็นพิเศษต่อเพื่อนทหารของเขา ในขณะที่คนอื่นกำลังพยายามเข่นฆ่าเอาชีวิต เขาก็ยุ่งอยู่กับการช่วยชีวิต เมื่อมีเสียงร้องเรียกหา “เสนารักษ์” ดังขึ้นในสนามรบ เขาไม่เคยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเลย เขาวิ่งเข้าสู่การสู้รบอันดุเดือดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อรักษาเพื่อนทหารที่บาดเจ็บ และพากลับสู่ที่ปลอดภัย

ทั้งหมดนี้ ในขณะที่กระสุนของศัตรูพุ่งผ่านมาและกระสุนปืนครกก็ระเบิดรอบตัวเขา หลายครั้งขณะรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ Desmond ต้องอยู่ใกล้กับแนวข้าศึกมากจนเขาได้ยินเสียงพูดคุยของทหารญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม 1945 ขณะที่กองทัพเยอรมันยอมจำนนในอีกซีกโลกหนึ่ง กองทัพญี่ปุ่นก็ปกป้องพื้นที่ของตนอย่างดุเดือดจนทหารคนสุดท้าย ซึ่งเกาะ Okinawa ที่มีเนินสูงข่ม Maeda เป็นแนวป้องกันเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ต่อการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรในบ้านเกิดของพวกเขา ทหารในกองพลของ Desmond ถูกสั่งซ้ำแล้วซ้ำอีกให้พยายามยึดเนินสูงข่ม Maeda ให้ได้

เนินดังกล่าวเป็นเนินหินสูงตระหง่าน (Hacksaw Ridge) ที่กองทหารอเมริกันต้องเผชิญ หลังจากที่กองกำลังอเมริกันยึดยอดหน้าผาได้แล้ว ทหารอเมริกันก็ต้องตกตะลึง เมื่อกองกำลังญี่ปุ่นโผล่จากที่ซ่อนออกมาโจมตีตอบโต้อย่างดุเดือด ทหารอเมริกันถูกสั่งให้ถอยทันที ทหารทั้งหมดรีบเร่งปีนกลับลงมาตามหน้าผาสูงชัน ยกเว้นหนึ่งนาย คือ Desmond ทหารอเมริกันจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดกลับลงมาได้ ส่วนที่เหลือนอนบาดเจ็บ กระจัดกระจายไปทั่วดินแดนของศัตรูโดยถูกทิ้งและปล่อยให้ตาย แต่ Desmond เป็นทหารเพียงนายเดียวที่ฝ่าฝืนคำสั่งและพุ่งกลับเข้าไปในสนามรบ เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะล้มลงหรือเสียชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและความกล้าหาญอันแน่วแน่ของเขา ส่งผลให้มีผู้รอดชีวิตอย่างน้อย 75 นาย ในวันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 1945 ซึ่งวันเสาร์ถือเป็น ‘วันสะบาโต’ (Sabbath Day) หรือ ‘วันพระ’ ตามคริสตจักรนิกาย Seventh-day Adventist

‘Hacksaw Ridge’ ภาพยนตร์ซึ่งสร้างจากเรื่องของสิบโท Desmond Thomas Doss

ในที่สุด ทหารอเมริกันก็เข้ายึด Hacksaw Ridge จนได้ Okinawa ถูกทหารอเมริกันค่อย ๆ ยึดรุกคืบได้ทีละเล็กทีละน้อยด้วยการสู้รบที่นองเลือด หลายวันต่อมาระหว่างการโจมตีในตอนกลางคืน Desmond ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อระเบิดมือญี่ปุ่นตกลงมาใกล้เท้าของเขา ขณะกำลังหลบซ่อนตัวอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่พร้อมกับเพื่อนทหารราบอีก 2 นาย แรงระเบิดทำให้เขากระเด็น สะเก็ดระเบิดฉีกเข้าที่ขาขึ้นไปจนถึงสะโพก Desmond พยายามรักษาบาดแผลของตัวเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะพยายามเข้าให้ถึงที่ปลอดภัย แต่เขาก็ถูกกระสุนปืนจากสไนเปอร์ทหารญี่ปุ่นยิงจนแขนของเขาหักอีก การกระทำที่กล้าหาญของเขาในฐานะเสนารักษ์

แม้การสู้รบจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่มิใช่สำหรับ Desmond เขายืนกรานให้หามพาทหารที่บาดเจ็บคนอื่น ๆ ไปก่อน ก่อนที่จะช่วยเหลือเขา แม้จะมีอาการบาดเจ็บ ทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดและการเสียเลือด แต่เขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับทหารนายอื่น ๆ ก่อนความปลอดภัยของตนเอง เขาพร้อมเลือกที่จะตายเพื่อให้เพื่อนทหารอีกคนมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้

‘Desmond Doss’ สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’
ในโอกาส 100 ปี ของเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ

นอกเหนือจากเหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯแล้ว Desmond Doss ยังได้รับเหรียญ ‘Bronze Star’ สำหรับความกล้าหาญด้วย Oak Leaf cluster 1 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Bronze Star 2 เหรียญ) เหรียญ ‘Purple Hearts’ ที่มีกลุ่ม Oak Leaf cluster 2 ใบ (แสดงว่าได้รับเหรียญ Purple Hearts 3 เหรียญ) เหรียญ ‘Asiatic-Pacific Campaign’ พร้อมเหรียญ ‘Beachhead arrowhead’ (แสดงว่าได้ทำหน้าที่ในการรบ 4 ครั้ง รวมถึงการยกพลขึ้นบกภายใต้การสู้รบ) เหรียญความประพฤติดี, เหรียญ ‘American Defense Campaign’ และที่ไม่ธรรมดาคือ เหรียญซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้มอบให้กับกองพันที่ 1, กรมทหารราบที่ 30, กองทหารราบที่ 77 จากการยึดและรักษาเนินสูง Maeda เอาไว้ได้ ‘เหรียญเกียรติยศแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ’ สร้างขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองภายใต้ประธานาธิบดี ‘Abraham Lincoln’ ในปี 1862 ในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 1962 ผู้รับรางวัลคนอื่น ๆ ได้เลือกให้ Desmond Doss เป็นตัวแทนในพิธีที่ทำเนียบขาว ซึ่งเขามีโอกาสได้สนทนากับประธานาธิบดี ‘President John F. Kennedy’ ด้วย

ก่อนที่จะถูกปลดประจำจากกองทัพบกสหรัฐฯ ในปี 1946 Desmond เป็นวัณโรค เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลนานถึง 6 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากเมื่อช่วงสงคราม ในค่ำคืนที่หนาวเย็น ตัวเขาเปียกปอนจนทำให้นอนไม่หลับ เขาตัวสั่นในโพรงจิ้งจอกที่เต็มไปด้วยโคลนบนเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนั่นส่งผลเสียต่อสุขภาพเขา เมื่ออาการป่วยรุนแรงขึ้น ปอดซ้ายของ Desmond ต้องได้รับการผ่าตัดออกพร้อมกับกระดูกซี่โครงอีก 5 ซี่ เขารอดชีวิตมาได้ด้วยปอดข้างเดียวตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ จนกระทั่งปอดของเขาล้มเหลวเมื่ออายุได้ 87 ปี

สิบโท ‘Desmond Thomas Doss’ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2006 หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหายใจติดขัด ร่างของเขาถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ เมือง Chattanooga มลรัฐ Tennessee

8 ธันวาคม พ.ศ. 2484  ญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบก เหยียบแผ่นดินไทย  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไปตีพม่าและมลายู

การยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่น เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ.1941) ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.00 น. เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และบางปู สมุทรปราการ และบุกเข้าประเทศไทยทางบกที่อรัญประเทศ กองทัพญี่ปุ่นสามารถขึ้นบกได้โดยไม่ได้รับการต่อต้านที่บางปู ส่วนทางภาคใต้และทางอรัญประเทศมีการต่อสู้ต้านทานอย่างหนักของทหารไทย ประชาชนทั่วไปและอาสาสมัครที่เป็นเยาวชน ที่เรียกว่า ยุวชนทหาร ในบางจังหวัด เช่น การรบที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

โดยกลุ่มยุวชนทหารและกองกำลังผสมทหารตำรวจซึ่งกำลังจะต่อสู้ปะทะกันอยู่ที่สะพานท่านางสังข์ โดยที่กลุ่มยุวชนทหารนั้นมีผู้บังคับการคือร้อยเอกถวิล นิยมเสน ในระหว่างการสู้รบร้อยเอกถวิลนำกำลังยุวชนทหารออกมาปะทะกองทหารญี่ปุ่น แม้ร้อยเอกถวิลจะถูกทหารญี่ปุ่นยิงเสียชีวิต แต่ยุวชนทหารยังคงสู้ต่อไปจนกระทั่งรัฐบาลสั่งหยุดยิง เมื่อเวลา 11.00 น. โดยประมาณ

และในที่สุดรัฐบาลไทยโดยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

และในวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี ยังถือเป็น ‘วันนักศึกษาวิชาทหารอีกด้วย’

‘บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์’ วีรบุรุษสงครามโลก | THE STATES TIMES Story EP.143

‘บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์’ ผู้ได้รับการยกย่องจากนานาชาติ ในฐานะ ‘วีรบุรุษ’ ผู้ปิดทองหลังพระและมีมนุษยธรรม จากวีรกรรมที่ได้ช่วยเหลือเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มาสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

ทว่าเรื่องราวของ ‘บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์’ กลับไม่ถูกเป็นที่พูดถึงในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง วันนี้ THE STATES TIMES Story จึงได้หยิบยกเรื่องราว และความกล้าหาญของวีรบุรุษท่านนี้ มาบอกเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบกัน จะเป็นอย่างไร เชิญรับฟัง…


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top