Wednesday, 21 May 2025
สงครามการค้า

นายกรัฐมนตรีคนใหม่แคนาดา ยืนยันจะไม่ทนกับกำแพงภาษีทรัมป์ ประกาศตัดสัมพันธ์เศรษฐกิจ-ความมั่นคงกับสหรัฐฯ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง

(2 พ.ค. 68) หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา แคนาดาได้แต่งตั้ง มาร์ก คาร์นีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ โดยเข้ารับตำแหน่งต่อจาก จัสติน ทรูโดว์ ที่ลาออกชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม ก่อนมีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคเสรีนิยมยังสามารถรักษาคะแนนเสียงไว้ได้

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก คาร์นีย์ประกาศชัดว่า “ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว” พร้อมเตรียมตอบโต้นโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของแคนาดา

สาเหตุหลักมาจากการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนจากแคนาดา 25% อย่างถาวร พร้อมแสดงท่าทีว่าอยากให้แคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ซึ่งคาร์นีย์มองว่าเป็นภัยต่ออธิปไตยและทรัพยากรของประเทศ

คาร์นีย์ยืนยันว่าแคนาดาจะปรับตัว สร้างอุตสาหกรรมใหม่ และกระจายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นแทนสหรัฐ พร้อมชูนโยบายปกป้องเอกราชทางเศรษฐกิจ และวางจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านทรัมป์อย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เชื่อว่าท่าทีแข็งกร้าวของคาร์นีย์มีผลต่อชัยชนะของพรรคเสรีนิยม และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนจาก “มิตรใกล้ชิด” ไปสู่ “คู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการทูต” อย่างเต็มรูปแบบ

ทรัมป์จัดทัพ ‘เบสเซนต์-กรีเออร์’ ลุยเจนีวา ถก ‘เหอ หลี่เฟิง’ ฟื้นสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘สหรัฐ-จีน’ หนแรกในรอบเดือน

(7 พ.ค. 68) สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Ingraham Angle ของ Fox News เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ย้ำว่าการพบเจ้าหน้าที่จีนในสวิตเซอร์แลนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น “ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่” แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความตึงเครียด พร้อมระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ไม่ต้องการแยกตัวทางการค้าจากจีน ยกเว้นในบางอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยา และเหล็กกล้า

เบสเซนต์และจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปเจนีวาในวันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อพบกับคารีน เคลเลอร์-ซัทเทอร์ ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และเจรจากับเหอ หลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างสองมหาอำนาจ

เหอ หลี่เฟิง วัย 70 ปี มีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าเขาจัดการประชุมกับชาวต่างชาติมากถึง 60 ครั้งในรอบปี เพิ่มขึ้นจาก 45 ครั้งก่อนหน้านั้น เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่สามารถ “ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้” และได้รับคำชื่นชมจากนักธุรกิจต่างชาติที่พบปะกับเขาในกรุงปักกิ่ง

กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จีนตกลงกลับเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง โดยอิงจาก “ผลประโยชน์ของจีน ความคาดหวังจากทั่วโลก และความต้องการของอุตสาหกรรมกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ” พร้อมเตือนว่า จีนจะไม่ยอมให้การเจรจาถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันหรือข่มขู่ โดยอ้างสุภาษิตจีนว่า “จงฟังสิ่งที่พูด และเฝ้าดูการกระทำ”

เบสเซนต์กล่าวเพิ่มเติมต่อสภาคองเกรสว่าสหรัฐกำลังเจรจาการค้ากับพันธมิตร 17 ประเทศ โดยการเจรจากับจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอาจมีการประกาศข้อตกลงกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการหารือกับจีนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างเป็นทางการหรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐและจีนยังเปรียบได้กับ “เกมแมวไล่จับหนู” ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาท่าทีของตน ไม่ยอมเป็นฝ่ายถอยก่อนในสงครามภาษีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

‘ทรัมป์’ เตรียมประกาศ ‘ข้อตกลงการค้าใหม่’ กับประเทศพันธมิตร สัญญาณแรกของการคลี่คลาย ‘สงครามภาษี’ ที่กระทบเศรษฐกิจโลก

(8 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่าน Truth Social ว่าจะมีการแถลงข่าวใหญ่ในเช้าวันพฤหัสบดี (เวลา 23.00 น. ตามเวลาในไทย) เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าฉบับสำคัญกับ “ประเทศใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ” ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการผ่อนคลายภาษีศุลกากรระดับสูงที่เคยสร้างความตึงเครียดในเศรษฐกิจโลก

แม้ทรัมป์จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศ แต่ฝ่ายบริหารชี้ว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายชาติ รวมถึงสหราชอาณาจักร อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยที่ปรึกษาด้านการค้า ปีเตอร์ นาวาร์โร ชี้ว่าสหราชอาณาจักรอาจเป็นชาติแรกที่ลงนามข้อตกลงกับสหรัฐฯ

แหล่งข่าวจาก Financial Times ระบุว่า ข้อตกลงกับสหราชอาณาจักรอาจครอบคลุมถึงการยกเว้นสหรัฐฯ จากภาษีบริการดิจิทัล และในทางกลับกัน สหรัฐฯ อาจลดภาษีนำเข้าเหล็ก อลูมิเนียม และรถยนต์จากอังกฤษ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการคลี่คลายมาตรการกีดกันทางการค้า

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่าข้อตกลงที่ทรัมป์จะประกาศอาจยังไม่ใช่ “ข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการ” แต่เป็นเพียงบันทึกความเข้าใจ ซึ่งไม่อาจให้ประโยชน์ระยะยาวเทียบเท่าข้อตกลงที่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายครบถ้วน

การประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเจนีวา โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุว่าการพบปะครั้งนี้จะช่วยลดความตึงเครียด แม้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีข้อตกลงชัดเจน ขณะที่ทรัมป์ยืนยันจะไม่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนล่วงหน้า

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สหรัฐฯ อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากยังคงอัตราภาษีที่สูงซึ่งกระทบทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจทั่วโลก

‘อังกฤษ’ บรรลุข้อตกลงการค้ากับ ‘สหรัฐฯ’ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 10% พร้อมผ่อนคลายภาษีเหล็ก–เอทานอล แต่ยังคงภาษีสินค้าสำคัญหลายรายการ

(9 พ.ค. 68) สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้าทวิภาคีในขอบเขตจำกัด โดยยังคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของอังกฤษไว้ที่ 10% แต่เปิดทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรได้มากขึ้น พร้อมลดภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ

ข้อตกลงนี้ถือเป็นก้าวแรกของชุดความร่วมมือทางการค้าหลายฉบับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนจะประกาศในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยทรัมป์ชื่นชมความร่วมมือจากอังกฤษ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคีร์ สตาร์เมอร์ ย้ำว่านี่คือ 'วันประวัติศาสตร์' ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานของทั้งสองชาติ

สำหรับข้อตกลงนี้จะช่วยลดภาษีนำเข้ารถยนต์อังกฤษในสหรัฐฯ จาก 27.5% เหลือ 10% สำหรับโควตา 100,000 คัน และยกเลิกภาษีนำเข้าเหล็กและเอทานอลบางส่วน พร้อมเปิดตลาดเนื้อวัวแบบแลกเปลี่ยน โดยอังกฤษจะได้โควตาปลอดภาษีครั้งแรกสำหรับเนื้อวัว 13,000 เมตริกตัน แต่ยังคงห้ามนำเข้าเนื้อวัวอเมริกันที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต

ภาคธุรกิจบางส่วนในอังกฤษแสดงความผิดหวังที่ยังคงมีอัตราภาษี 10% สำหรับสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่บริษัทในสหรัฐฯ เช่น เดลต้าแอร์ไลน์และผู้ผลิตเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ได้รับประโยชน์ทันทีจากการลดภาษี และรัฐบาลอังกฤษย้ำว่าการเจรจายังไม่จบ โดยมีหลายประเด็นสำคัญ เช่น ภาษีบริการด้านดิจิทัล ที่ยังต้องหารือเพิ่มเติม

แม้จะมีข้อจำกัด แต่ข้อตกลงนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางการค้าที่ลึกซึ้งขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลอังกฤษพยายามรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป หลังเบร็กซิต (Brexit) หรือการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร ในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากต้นทุนการส่งออกที่สูงและการเติบโตที่ชะลอตัว

‘จีน - สหรัฐฯ’ เดินหน้าเจรจาการค้า แก้ไขปัญหาภาษี เน้น!! เคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

(12 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

การเจรจาการค้าระหว่าง #จีน และ #สหรัฐฯ คืบหน้าไปมาก

ทั้งจีนและสหรัฐต่างชื่นชมความคืบหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาการค้าที่เจนีวาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมุ่งลดความตึงเครียดที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ

รองนายกรัฐมนตรีจีน เหอ หลี่เฟิง ผู้นำด้านการค้าและเศรษฐกิจจีน-สหรัฐ พบกับผู้นำของสหรัฐ ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ สก็อตต์ เบสเซนต์ และผู้แทนการค้าสหรัฐ เจมีสัน กรีร์ ที่เจนีวาเมื่อวันเสาร์และวันอาทิตย์ นับเป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่สงครามภาษีตอบโต้กันครั้งล่าสุด

“บรรยากาศของการประชุมเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เจาะลึก และสร้างสรรค์ การประชุมมีความคืบหน้าไปมากและมีฉันทามติที่สำคัญ” เขากล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเย็นวันอาทิตย์

เขากล่าวว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเกี่ยวกับประเด็นการค้าและเศรษฐกิจ ระบุผู้นำของแต่ละฝ่าย และจะดำเนินการปรึกษาหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการค้าและเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีความกังวลร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายจะสรุปรายละเอียดที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุดและจะออกแถลงการณ์ร่วมที่บรรลุในการประชุมในวันจันทร์นี้ ตามที่นายเหอกล่าว

เมื่อถูกถามว่าจะออกแถลงการณ์ร่วมในวันจันทร์นี้เมื่อใด นายหลี่เฉิงกัง ผู้เจรจาการค้าระหว่างประเทศและรองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีน ตอบว่าหากอาหารจานนี้อร่อย เวลาก็ไม่ใช่ปัญหา

นายหลี่กล่าวว่า "ไม่ว่าแถลงการณ์นี้จะออกเมื่อใด จะเป็นข่าวใหญ่และเป็นข่าวดีสำหรับโลก"

นายเหอ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลสวิสที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ และเขายังกล่าวอีกว่า "ความเป็นมืออาชีพและความขยันขันแข็ง" ของเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันนั้น "น่าประทับใจ"

เขากล่าวว่าในช่วงกว่าสามเดือนที่ผ่านมา สงครามการค้าโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้ก่อขึ้นได้ดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก

ภาษีศุลกากรที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กำหนดให้กับจีนตั้งแต่ต้นปีรวมแล้วสูงถึง 145 เปอร์เซ็นต์ โดยภาษีศุลกากรรวมของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนบางรายการสูงถึง 245 เปอร์เซ็นต์ จีนตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากรต่อสินค้าสหรัฐฯ ถึง 125 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์นี้ถูกบางคนอธิบายว่าเป็นเหมือนการคว่ำบาตรทางการค้า

“จุดยืนของจีนต่อสงครามการค้าครั้งนี้ชัดเจนและสม่ำเสมอ นั่นคือ จีนไม่ต้องการทำสงครามการค้า เพราะสงครามการค้าไม่ได้ทำให้มีผู้ชนะ แต่ถ้าสหรัฐฯ ยืนกรานที่จะบังคับให้จีนทำสงครามนี้ จีนจะไม่กลัวและจะสู้จนถึงที่สุด” เขากล่าว โดยย้ำจุดยืนของจีน

เขากล่าวว่าการพบปะครั้งนี้มีประโยชน์และเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายดำเนินการเพื่อแก้ไขความแตกต่างอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาอย่างเท่าเทียม เพื่อเชื่อมช่องว่างความแตกต่างและกระชับความร่วมมือ

เขาย้ำว่าธรรมชาติของการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นประโยชน์ร่วมกันและเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

“สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตามหลักการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และการหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมผ่านการพูดคุยและปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีเสถียรภาพ มั่นคง และยั่งยืน” เขากล่าว

เขากล่าวว่าฝ่ายจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อปฏิบัติตามฉันทามติสำคัญที่ผู้นำทั้งสองประเทศบรรลุในการโทรศัพท์หารือเมื่อวันที่ 17 มกราคมอย่างจริงจัง และด้วยแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา

“เรายินดีที่จะมีส่วนร่วมในบทสนทนาอย่างเข้มข้นและการปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียม จัดการความแตกต่างของเรา ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของความร่วมมือ ขยายผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกัน และทำให้ผลประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น” เขากล่าว
“เราสามารถส่งเสริมการพัฒนาใหม่ด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ และเพิ่มความแน่นอนและเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น”

หลี่ เฉิงกัง หัวหน้าผู้เจรจาของจีน อธิบายถึงลักษณะเด่นสามประการของการประชุมครั้งนี้ว่า “การเคารพซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน ความเป็นมืออาชีพ และประสิทธิภาพสูง”

ด้าน เบสเซนต์ รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวในวันอาทิตย์ว่าการเจรจาครั้งนี้ "มีประสิทธิผล"

"ผมดีใจที่จะรายงานว่าเราได้บรรลุความคืบหน้าที่สำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในการเจรจาการค้าที่สำคัญยิ่ง" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว
เบสเซนต์กล่าวว่าเขาได้แจ้งให้ทรัมป์ทราบถึงความคืบหน้าของการเจรจาแล้ว

ปธน.ทรัมป์กล่าวบนโซเชียลมีเดียในวันอาทิตย์ว่า "วันนี้เป็นการประชุมที่ดีมากกับจีนที่สวิตเซอร์แลนด์ มีการหารือกันหลายเรื่องและหลายฝ่ายเห็นด้วย การเจรจารีเซ็ตใหม่ทั้งหมดเป็นไปอย่างเป็นมิตรแต่สร้างสรรค์

"สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าเราสามารถบรรลุข้อตกลงได้เร็วเพียงใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบางทีความแตกต่างอาจไม่มากเท่าที่คิด" กรีเออร์กล่าวในวันอาทิตย์

จีนประกาศลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สั่งระงับในอัตรา 24% เป็นเวลา 90 วัน แต่คงอัตราภาษี 10 % สินค้าบางรายการ ชี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ

(14 พ.ค. 68) จีนประกาศปรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เริ่มมีผลตั้งแต่เวลา 12.01 น. ของวันพุธที่ 14 พ.ค. โดยคณะกรรมการภาษีศุลกากรแห่งคณะรัฐมนตรีจีนระบุว่าจะมีการระงับอัตราภาษีบางส่วนเป็นเวลา 90 วัน พร้อมคงอัตราภาษีตามมูลค่าไว้ที่ร้อยละ 10 สำหรับสินค้าบางรายการ

การปรับครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากประกาศก่อนหน้า ซึ่งกำหนดภาษีเพิ่มเติมที่ร้อยละ 84 และ 125 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้ต่อมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จีนมองว่าไม่เป็นธรรม

ภายใต้มาตรการล่าสุด จีนจะยกเลิกอัตราภาษีที่เคยปรับเพิ่มตามประกาศฉบับที่ 5 และ 6 ที่ออกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อคลายความตึงเครียดและส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

คณะกรรมการภาษีศุลกากรฯ ระบุว่า การปรับลดภาษีในครั้งนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคทั้งในจีนและสหรัฐฯ และมีส่วนช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ รวมถึงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

รัฐบาลมั่นใจ ‘ทีมไทยแลนด์’ พร้อมรับมือภาษีทรัมป์ หลังได้รับคำชมจากคลังสหรัฐฯ ก่อนเจรจารอบใหม่

(15 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย รัฐบาลได้รับสัญญาณบวกจากสหรัฐฯ ก่อนเปิดเจรจาภาษีทรัมป์ โดยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมข้อเสนอของไทยว่า “น่าประทับใจ” และระบุว่าการพูดคุยเป็นไปด้วยดี สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมของ “ทีมไทยแลนด์” ที่ทำงานตามยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี

การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ไทยเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ต้นปี โดยมีการตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์และติดตามท่าทีของประเทศต่าง ๆ ที่เจรจากับสหรัฐฯ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้วางกรอบเจรจาไว้ 5 แนวทาง ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, ทบทวนภาษีนำเข้าสินค้า, ปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ, มาตรการคัดกรองสินค้านำเข้า และส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ

โดยรัฐบาลเน้นการใช้จังหวะเวลาและข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อให้การเจรจาเกิดผลดีสูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งในด้านการส่งออก การลงทุน และการเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และทีมที่ปรึกษา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ได้หารือเพื่อจัดทำข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุดสำหรับไทย คาดว่าการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top