Wednesday, 21 May 2025
สงครามการค้า

เศรษฐกิจไทย 68 โตมากสุด 3.3% อานิสงส์เงิน 1 หมื่น แนะมุ่งสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม รับศึกการค้าทรัมป์ 2.0

(7 ก.พ.68) ธนาคาร HSBC ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียและไทยในหัวข้อ 'Asia and Thailand Economic Outlook 2025' โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ และการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตสู่ภาคการบริโภค

เฟรดเดอริค นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียของ HSBC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตที่ 2.7-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ ได้แก่

1. การขยายตัวของภาคการส่งออก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเมื่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่า
2. ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังคงเป็นจุดแข็งของไทย โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่แจกจ่ายให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เฟรดเดอริคเตือนว่า ในปี 2026 การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลง

HSBC มองว่า ไทยยังมีศักยภาพในการเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 50% เทียบกับ 10% เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ EV อุปกรณ์ชิปประมวลผล (Processor) และอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน เช่น มาเลเซียในด้านเซมิคอนดักเตอร์ หรือเวียดนามในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

แม้ไทยจะมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ของภูมิภาค แต่ HSBC ชี้ว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องแก้ไข เช่น การลดกฎเกณฑ์การกำกับดูแล การพัฒนาทักษะของบุคลากร การปรับปรุงระบบ Back Office และการสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์

เฟรดเดอริคยังเตือนถึงความท้าทายสำคัญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นั่นคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

HSBC มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3.3% จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคส่งออก การท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพทางการเงินระดับภูมิภาคและการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% กระทบทุกประเทศ มีผลบังคับใช้ 4 มี.ค. จ่อดันต้นทุนสินค้าสหรัฐแพงขึ้น

(11 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกเป็น 25% โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ซึ่งมาตรการนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง

ทำเนียบขาวระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการนำเข้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการนี้อาจจุดชนวนให้เกิดข้อพิพาททางการค้ากับนานาประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมรายใหญ่ของโลก

แม้ว่าสหรัฐฯ จะยังต้องนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในปริมาณมากจากประเทศอย่างแคนาดา เม็กซิโก และบราซิล แต่มาตรการนี้จะทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในอดีต สหรัฐฯ เคยกำหนดภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนในอัตราเพิ่มเติม 25% และภาษีอะลูมิเนียม 10% ตั้งแต่สมัยแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง และอัตราภาษีดังกล่าวยังคงมีผลต่อเนื่องในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นหมายความว่า การนำเข้าเหล็กจากจีนในปัจจุบันต้องเผชิญภาษีรวมไม่ต่ำกว่า 50% และไม่น้อยกว่า 25% สำหรับอะลูมิเนียม

แม้ว่ามาตรการภาษีจะมุ่งเป้าไปที่จีน แต่ในความเป็นจริง จีนไม่ได้ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมมายังสหรัฐฯ โดยตรงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักถูกส่งไปแปรรูปในประเทศที่สามก่อนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ

แน่นอนว่าการขึ้นภาษีจะส่งผลให้ราคาเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อผู้ผลิตที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ ขณะที่ผู้บริโภคปลายทางอาจต้องแบกรับราคาสินค้าที่แพงขึ้นตามไปด้วย

แม้ว่ามาตรการนี้จะถูกบังคับใช้กับทุกประเทศ แต่ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณว่า อาจพิจารณายกเว้นภาษีให้กับออสเตรเลียเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

ทรัมป์ยังเปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจขยายวงกว้างของความตึงเครียดทางการค้ากับพันธมิตรหลายประเทศ เมื่อนักข่าวถามถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจเผชิญมาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ ทรัมป์ตอบสั้น ๆ ว่า “ผมไม่สนใจ”

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอเก็บภาษี 90 วัน ยกเว้นจีน ทำตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีดแรงที่สุดในรอบปี

(10 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน โดยมีผลบังคับใช้ในทันที ยกเว้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังคงเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 125% ตามมาตรการที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานนี้

“จากการขาดความเคารพที่จีนมีต่อตลาดโลก ผมจึงขอปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% โดยจะมีผลทันที” ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดีย “ในอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะตระหนักว่าการเอาเปรียบสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ นั้นไม่ยั่งยืนหรือเป็นที่ยอมรับได้อีกต่อไป”

การตัดสินใจครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากภาคธุรกิจและพันธมิตรทางการค้า ที่กังวลว่าการตอบโต้ทางภาษีอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ระบุว่าการระงับชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเปิดทางให้เกิด “กระบวนการเจรจาอย่างสร้างสรรค์” กับพันธมิตรที่ได้รับผลกระทบ

“เราต้องการโอกาสให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับเราสามารถหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขความไม่สมดุล โดยไม่ต้องมีแรงกดดันจากมาตรการภาษีในทันที” ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงถูกแยกออกจากการผ่อนปรนดังกล่าว โดยทำเนียบขาวระบุว่า จีนยังไม่แสดงความตั้งใจในการแก้ไขพฤติกรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ มองว่า “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ จาก 34% เป็น 84% ในการตอบโต้ล่าสุด

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวหลังการประกาศดังกล่าวว่า “ยังไม่มีอะไรจบลง แต่เรามีความศรัทธาอย่างล้นหลามจากประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนด้วย จีนต้องการทำข้อตกลง แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

นักวิเคราะห์มองว่าการยกเว้นจีนจากมาตรการผ่อนปรนนี้สะท้อนถึงแนวทางแข็งกร้าวที่รัฐบาลทรัมป์ใช้ในการเจรจาการค้ากับปักกิ่ง และอาจส่งผลให้ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินต่อไป

ขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดพุ่งแรงในวันพุธ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศพันธมิตร

ดัชนี ดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) ปิดที่ 40,608.45 จุด เพิ่มขึ้นถึง 2,962.86 จุด หรือ +7.87% ถือเป็นการปรับตัวขึ้นรายวันที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบหลายเดือน

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,456.90 จุด เพิ่มขึ้น 474.13 จุด หรือ +9.52% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก ปิดที่ 17,124.97 จุด พุ่งขึ้น 1,857.06 จุด หรือ +12.16% นับเป็นหนึ่งในวันที่ดีที่สุดของ Nasdaq ในรอบปี

นักลงทุนทั่วโลกตอบรับเชิงบวกต่อท่าทีผ่อนปรนของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะการยกเว้นประเทศคู่ค้าสำคัญจากมาตรการภาษีเป็นการชั่วคราว แม้ว่าจีนจะยังคงถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าระดับสูงถึง 125% ก็ตาม

“นี่เป็นสัญญาณว่าเส้นทางของการเผชิญหน้าทางการค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ หากมีพื้นที่ให้เจรจา” นักวิเคราะห์จากบริษัทการเงินแห่งหนึ่งในนิวยอร์กกล่าว

‘ไล่ ชิงเต๋อ’ เผยไต้หวันอยู่ในกลุ่มเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ล็อตแรก ภาคธุรกิจชู ‘เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี’ หวังขยายตลาดในอเมริกา

(11 เม.ย. 68) ไล่ ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีไต้หวัน เปิดเผยระหว่างการพบปะผู้นำภาคธุรกิจว่า ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ใน 'กลุ่มแรก' ที่จะได้เปิดเจรจาด้านมาตรการภาษีกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

“เราอยู่ในกลุ่มเจรจากลุ่มแรก และรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี” ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่าการหารือครั้งนี้เป็นโอกาสทองสำหรับไต้หวันในการสร้างความใกล้ชิดกับเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งรวมถึงไต้หวันที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญภาษีนำเข้าสูงถึง 32%

ขณะเดียวกัน เดวิด ชวง (David Chuang) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไต้หวัน (TAMI) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรของไต้หวันจะร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการ 'เปลี่ยนประเทศต้นทาง' ผ่านประเทศที่สาม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูง ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสหรัฐ

ชวงยังเสริมอีกว่า ซัพพลายเออร์ชาวไต้หวันยินดีที่จะร่วมมือกับพันธมิตรในอเมริกาในการผลิตเครื่องมือเครื่องจักร โดยระบุว่า “เราจะเป็นพันธมิตรที่ดี”

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวระบุว่ามีมากกว่า 70 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเปิดการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเวทีการค้าระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ

สี จิ้นผิง ลั่น! จีนไม่หวั่นสงครามการค้า ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ออกแถลงการณ์ตอบโต้ความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยย้ำว่า จีนจะไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร และจะไม่ยอมถอยท่ามกลางแรงกดดัน

“จีนไม่เคยพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาประเทศตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราฝ่าฟันทุกอย่างด้วยความพยายามของตัวเอง” สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ หรือ 'กะพริบตา' ให้กับความไม่ยุติธรรม

แม้สงครามการค้าจะยังร้อนแรง แต่ผู้นำจีนยืนยันว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นบริหารประเทศอย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเอง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอก

สำหรับ คำกล่าวของประธานาธิบดีจีนมีขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการภาษีนำเข้าและข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังปะทุอย่างต่อเนื่อง

‘รศ.ดร.ปิติ’ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เสนอ 10 ข้อรับมือระเบียบโลกใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

(21 เม.ย. 68) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีของไทย เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอ 10 ข้อ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกใหม่ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภูมิภาคทั่วโลก

ในจดหมายดังกล่าว รศ.ดร.ปิติชี้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ “สามห่วงโซ่มูลค่า” (Global Value Chains – GVCs) นำโดยสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศอื่นๆ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศอย่างถาวร ประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียนจึงควรมีบทบาทเชิงรุกในการวางยุทธศาสตร์กับมหาอำนาจ และผลักดันผลประโยชน์ของชาติในเวทีระหว่างประเทศ

10 ข้อเสนอสำคัญของ รศ.ดร.ปิติ ประกอบด้วย

1. เปิดรับแนวคิดใหม่ (New Mindset) ต่อระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป

2. บูรณาการความรู้แบบสหสาขาวิชา โดยยึดผลประโยชน์ของชาติ

3. วางยุทธศาสตร์เชิงลึกต่อสหรัฐฯ จีน และบทบาทนำในอาเซียน

4. ใช้มิติความมั่นคง-การเมืองเป็นอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ

5. ขยายตลาดสินค้าไทยในจีน พร้อมเจรจาควบคุมสินค้านำเข้าจากจีน

6. ใช้อาเซียนเป็นกลไกเพิ่มอำนาจต่อรองในระดับภูมิภาค

7. มองหาโอกาสในขั้วโลกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มโลกมุสลิม

8. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยยกระดับการบริโภคภายใน

9. เสริมเสถียรภาพการเงิน การคลัง และทุนสำรองของประเทศ

10. ใช้ Soft Power ทางวัฒนธรรม มนุษยธรรม และความร่วมมือพหุภาคี

นอกจากนี้ รศ.ดร.ปิติ ยังเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนากลไก “Friends of Thailand” เพื่อสร้างเครือข่ายสนับสนุนผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลก พร้อมแนบลิงก์บทความฉบับเต็มจาก The Standard สำหรับการศึกษารายละเอียดเชิงลึกของแต่ละข้อเสนอ (https://thestandard.co/new-world-order-thailand-strategy/)

ท้ายจดหมาย รศ.ดร.ปิติ ระบุว่า เนื่องจากเป็นเพียงนักวิชาการคนหนึ่ง จึงไม่มีช่องทางสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี จึงขอให้ประชาชนช่วยกันแชร์เนื้อหานี้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้พิจารณา

‘ทรัมป์’ เปลี่ยนท่าที เตรียมลดภาษีนำเข้าจีน ยอมรับไม่อยากให้สงครามการค้ายืดเยื้อ

(23 เม.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ว่า สหรัฐฯ เตรียมลดเพดานภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจากระดับสูงสุด 145% พร้อมยอมรับว่าไม่ต้องการให้สงครามการค้าระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยืดเยื้อ โดยระบุว่า “จะไม่เล่นไม้แข็ง” และต้องการให้เกิดข้อตกลงที่เป็นธรรม

ด้าน รัฐมนตรีคลัง สกอตต์ เบสเซนต์ ระบุว่าการเจรจากับจีนจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่คาดว่าความตึงเครียดจะผ่อนคลาย ขณะที่ทรัมป์ยืนยันจะลดภาษีลง “อย่างมาก” แม้ไม่ถึงขั้นเป็นศูนย์ แต่จะอยู่ในระดับที่จีนสามารถยอมรับได้ โดยเขาและทีมจะร่วมกันพิจารณารายละเอียดด้วยตนเอง

ขณะเดียวกัน รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Aksornsri Phanishsarn' เมื่อ 23 เม.ย. ชี้ว่า ทรัมป์เริ่มถูกเมินหนักจากจีน จึงเริ่ม 'อ่อย' ด้วยท่าทีอ่อนลง พร้อมระบุว่า “ทรัมป์บอกจะ Very Nice กับจีนจ้า”

ทั้งนี้ ทรัมป์ยังเปลี่ยนท่าทีต่อเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด โดยยืนยันว่า “ไม่เคยคิดจะปลด” แม้เพิ่งวิจารณ์เรื่องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยล่าช้า

‘สหภาพยุโรป’ เตรียมลดพึ่งพาอาวุธและเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ พร้อมขู่เก็บภาษีตอบโต้-ตัดสิทธิ์บริษัทอเมริกันในยุโรป

(24 เม.ย. 68) ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) กำลังพิจารณามาตรการลดการซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ และกำหนดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด เพื่อตอบโต้การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามรายงานของ Politico ที่อ้างอิงเจ้าหน้าที่ในยุโรป

มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือ รวมถึงการหาผู้จัดหาอาวุธรายใหม่, การเก็บภาษีตอบโต้สูง,ยกเลิกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่บริษัทอเมริกัน และลดการพึ่งพาบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยเฉพาะในด้านระบบป้องกันประเทศที่สหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าใช้เป็นเครื่องมือกดดันยูเครน

พาแวล โควัล (Pawel Kowal) ที่ปรึกษารัฐบาลโปแลนด์ เผยว่า ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯ สั่นคลอนอย่างหนัก และโปแลนด์อาจไม่สั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ อีก ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการยุโรปเริ่มหารือถึงการใช้ 'มาตรการต่อต้านการบีบบังคับ' ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีศุลกากรและจำกัดสิทธิ์บริษัทสหรัฐฯ ในการเข้าถึงตลาดยุโรป

ทั้งนี้ ท่าทีของยุโรปมีขึ้นหลังทรัมป์ออกคำสั่งเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานเพิ่มขึ้น 10% ต่อสินค้านำเข้าหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมกับ 75 ประเทศที่ไม่ตอบโต้หรือไม่ยอมเปิดเจรจา 

‘ทรัมป์’ เผยเริ่มเจรจากับจีนแล้ว แต่ฝั่งปักกิ่งบอกไปคุยตอนไหน สหรัฐฯ ‘คุยกับใครเหรอ ไม่เห็นรู้เรื่อง!’ ยันยังไม่เจอตัวแทนวอชิงตัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ได้มีการเจรจากับทางการจีนเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากร แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะออกมาปฏิเสธการเจรจาดังกล่าว โดยระบุว่า “ยังไม่มีการพูดคุยทางการค้าใดๆ” ระหว่างสองฝ่ายในขณะนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมายาวนาน

ทรัมป์กล่าวระหว่างการประชุมกับนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ที่ทำเนียบขาวว่า “พวกเขาประชุมกันเมื่อเช้านี้” และเสริมว่า “เราได้ประชุมกับจีนแล้ว” อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวแทนของฝ่ายจีน โดยระบุเพียงว่าอาจมีการเปิดเผยในภายหลัง แต่ยืนยันว่าการเจรจาเกิดขึ้นแล้ว

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยโฆษกเหอ หยาตง (He Yadong) ย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาการค้าระหว่างสองประเทศ และข่าวใด ๆ ที่ระบุว่ามีความคืบหน้าเป็นเพียงการคาดเดา โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ พร้อมระบุว่าจีนยังยึดมั่นในแนวทางการเจรจาบนพื้นฐานของความเสมอภาค

แม้ยังไม่มีความชัดเจนในข้อเท็จจริง แต่นักลงทุนมองว่าการแสดงท่าทีเชิงบวกของสหรัฐฯ อาจช่วยผ่อนคลายความกังวล ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะขาดทุนในเดือนเมษายน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีรายงานว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนลงมาอยู่ในช่วง 50% ถึง 65%

ทรัมป์ยังใช้แพลตฟอร์ม Truth Social กล่าวโจมตีจีนเพิ่มเติม ทั้งในประเด็นการชะลอรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง และการปล่อยให้เฟนทานิลไหลเข้าสหรัฐฯ ผ่านเม็กซิโกและแคนาดา พร้อมเรียกร้องให้โบอิ้งเป็นฝ่ายเรียกร้องจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ ไม่ยอมรับมอบ พร้อมกำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่อจีน แคนาดา และเม็กซิโก เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและควบคุมปัญหายาเสพติด

ญี่ปุ่นเตือนแรง มาตรการภาษี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ กำลังเขย่าพันธมิตร ชี้อาจเป็นบูมเมอแรงทำเอเชียตีตัวออกห่างสหรัฐฯ ซบอกจีนแทน

(29 เม.ย. 68) อิตสึโนริ โอโนเดระ (Onodera Itsunori) หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น (LDP) แสดงความกังวลว่า มาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้หลายประเทศในเอเชียที่เคยมีท่าทีใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หันไปสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่โอโนเดระร่วมงานที่สถาบันฮัดสัน กรุงวอชิงตัน โดยเขาระบุว่าหลายประเทศในเอเชียเริ่มไม่สบายใจกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของทรัมป์ที่อาจสร้างแรงจูงใจให้พันธมิตรเดิมเปลี่ยนทิศทางทางยุทธศาสตร์

โอโนเดระยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลในช่องแคบไต้หวัน การซ้อมรบเชิงรุก และการกดดันด้านจิตวิทยาในประเด็นดินแดนพิพาท

ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเตรียมเปิดเจรจาการค้ารอบใหม่กับสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่าทรัมป์พยายามผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันให้ญี่ปุ่นมากขึ้น โอโนเดระเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาความร่วมมือในการผลิตและส่งออกอาวุธ เช่น กระสุน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายใหม่ของญี่ปุ่นที่เปิดทางสู่การส่งออกยุทโธปกรณ์มากขึ้นในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top