อว. เตรียมเด็กไทยสู่โลกอนาคต ผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม
เมื่อ (24 พ.ย. 65) ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงเทพมหานคร จตุจักร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) เตรียมเด็กไทยสู่โลกอนาคตผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจในการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ในงานเสวนาวิชาการ 'สร้างพื้นที่เรียนรู้จากอดีตสู่อนาคต เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม'
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความสำคัญว่าทำไมต้องมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และศิลปกรรมช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างไร
“ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม เป็นเรื่องของอารยสภาพ ทำให้จิตใจนุ่มนวล งดงาม อ่อนโยน ทำให้เกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต และสร้างแรงบันดาลใจ บางครั้งภาษา หนังสือ ทฤษฎีก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความคิด จินตนาการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเข้าถึงศิลปกรรม ไม่ใช่สำหรับที่จะทำให้เด็กมีอาชีพทางศิลปกรรมเท่านั้น แต่สำหรับเด็กทุกคนที่ต้องเข้าใจ เข้าถึง และสามารถเสพศิลปะได้อย่างเหมาะสมด้วย ทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองมีสองซีก คือ ซีกที่เป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อีกซีกหนึ่งเป็นเรื่องความงาม ความนุ่มนวล อ่อนโยน เป็นสมองที่เกี่ยวกับศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เด็กและเยาวชนควรจะได้รับการพัฒนาสมองทั้งสองซีก เด็กที่ได้รับการพัฒนาเช่นนี้จะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ของโลกต่อไปในอนาคต
"และถ้าเราจะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงศิลปะ จำเป็นต้องมีพื้นที่การเรียนรู้พิเศษ หรือถ้าจะปลูกฝังให้พัฒนาตนเองด้านศิลปะไปถึงศิลปะขั้นสูง ขั้นอัจฉริยะ ก็จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ในการนี้จึงจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่การเรียนรู้โดยเฉพาะ”
ภายในงานมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ 'สร้างพื้นที่เรียนรู้จากอดีตสู่อนาคต เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม' โดย...
ศ.(เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่าแนวทางการจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ต้องทำให้เกิดการสังเคราะห์ได้แบบองค์รวม ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอย่าใช้เครื่องมือสำเร็จรูป ต้องให้เด็กได้ลงมือทำจริง
คุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พื้นที่เรียนรู้มีลักษณะเป็น ‘อุปทาน’ (Supply) ของความรู้ พื้นที่เรียนรู้จะเป็นเหมือนจุดโฟกัสของความรู้ ที่ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ขึ้นในพื้นที่นี้ และเป็น ‘ปลายทาง’ (Destinations) ของการสร้าง ‘อุปสงค์’ (Demand) ทางความรู้ในสังคม คือเมื่อกระตุ้นให้คนอยากเรียนรู้แล้ว จำเป็นต้องมีพื้นที่เรียนรู้ให้ได้ไปหาความรู้ด้วย
