‘พปชร.’ รับเรื่อง ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ชงตั้งสภาศิลปะ-วัฒนธรรม หนุน กม.ดูแลสวัสดิการศิลปิน ชู ซอฟต์พาวเวอร์ เสริม ศก.

(10 มี.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร กทม. ประกอบด้วย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรมสรเดช, นายนิธิ บุญยรัตกลิน, นายกานต์ กิตติอำพน, น.ส.ณิรินทร์ เงินยวง, น.ส.บุณณดา สุปิยพันธุ์ และ น.ส.ชญาภา ปรีภาพาก รับหนังสือจาก กลุ่มสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย นำโดย  นายคฑาวุธ ทองไทย หรือ ‘อ.ไข่ มาลีฮวนน่า’ และสมาชิกเข้ายื่นหนังสือ เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ ผลักดันการจัดตั้งสภาศิลปะ ศิลปิน และวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นนโยบายของพรรค เพื่อทำหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการให้กับกลุ่มศิลปิน และยังเป็นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดรับกับนโยบายของพรรคในการส่งเสริมอาชีพศิลปิน และนักสร้างสรรค์ ให้สามารถพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทักษะทางศิลปะ การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งระบบ เป็นการสร้างเม็ดเงินอีกสาขาอาชีพหนึ่งของไทย

นายคฑาวุธ กล่าวว่า ทั้งนี้ทางสมาพันธ์ฯ มีเป้าหมายให้ภาคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับ อุตสาหกรรมทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพราะจะมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอม สร้างเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และสามารถนำคุณค่าทางศิลปะ และวัฒนธรรมมาเป็นพลังในการพัฒนานโยบายและพลังแนวรุกในการขับเคลื่อนมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และการแก้ไขปัญหาทางสังคม

โดยมีแนวทางในการส่งเสริมให้มี ‘สภาศิลปะศิลปินและวัฒนธรรมแห่งชาติ’ เพื่อเป็นหน่วยงานในการจัดทำแผนแม่บทระดับชาติว่าด้วยศิลปะแลวัฒนธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคประชาชน ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปิน นักวิซาการ เอกชนและองค์กรภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การออกเป็นนโยบายสาธารณะทางศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม

โดยมีจัดตั้งกองทุนสนับสนุนอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพภายใต้ ร่างพระราชบัญญัติสภาศิลปะศิลปินและแห่งชาติ พศ.... โดยการผลักดันของกลุ่มศิลปินที่มีการยกร่างขึ้น และนำเสนอเข้าสู่บรรจุวาระ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ด้านนางนฤมล กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า พรรคพลังประชารัฐพร้อมให้การสนับสนุน เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพ และความหลากหลายด้านศิลปวัฒนธรรมที่สามารถสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ เพื่อเป็นหนึ่งในนโยบายของการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย