Tuesday, 22 April 2025
ศิลปวัฒนธรรม

วธ. สืบสานศิลปวัฒนธรรมการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค ร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ชิงเงินรางวัล 1,000,000 บาท

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2567 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม”เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน สร้างมิติใหม่ให้วัฒนธรรมมีความร่วมสมัย ยกระดับขีดความสามารถของดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าว ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
 
วันที่ 24 เมษายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมต.วธ. กล่าวว่า ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างผลงานไว้ ซึ่งแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคจะมีเอกลักษณ์ของดนตรีและการแสดงพื้นบ้านเฉพาะตัวที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในปัจจุบันดนตรีและการแสดงพื้นบ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอด อาจจะเสี่ยงต่อการสูญหายได้  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม อนุรักษ์ ผลักดันให้ศิลปะ ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค ให้คงอยู่ ผ่านการสานต่ออย่างสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนมาตลอดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 16  ผ่านกิจกรรมการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน  สำหรับการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้านในปีนี้ ยังคงจัดประกวดภายใต้แนวคิด “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ปีนี้เป็นปีที่ 6 โดยเปิดโอกาสให้คณะนักแสดงได้มีโอกาสในการสร้างสรรค์ชุดการแสดงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดี วรรณกรรมพื้นบ้าน ประเพณี ที่สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค  
         
ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมเสริม กล่าวต่อว่า  สำหรับปีพุทธศักราช 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” เพื่อมุ่งส่งเสริม รักษา ต่อยอด และเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านในแขนงต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดง และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ไปสู่สายตาประชาชน ซึ่ง สวธ.เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดมาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2567  ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีคณะนักแสดงที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ  ภาคละ 5 คณะ  รวมทั้งสิ้น 20 คณะ และได้กำหนดการประกวดการแสดงรวมศิลป์พื้นบ้าน 4 ภาค ดังนี้

1.การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ ในวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 ณ Convention Hall เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ 
 2. การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567  ณ Convention Hall เซ็นทรัล เวสต์เกต จังหวัดนนทบุรี        
3. การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 ณ Convention Hall เซ็นทรัล อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี  
4. การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคใต้  ในวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2567  ณ Convention Hall เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา    
 
สำหรับผู้ชนะการประกวดแต่ละประเภทจะได้รับรางวัล ดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) พร้อมเกียรติบัตร
2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) พร้อมเกียรติบัตร
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) 
พร้อมเกียรติบัตร
4. รางวัลชมเชย ภาคละ 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รางวัลละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) พร้อมเกียรติบัตร

เจนกิจ นัดไธสง-รุ่ง รายงาน

สะเทือนใจ!! ทุบประติมากรรมปูนปั้น 'ครูทองร่วง' ทำร้านกาแฟ ช้ำหนัก!! คำพูดเจ้าอาวาสปัจจุบัน "อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง"

(24 ก.ย. 67) นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'วรา จันทร์มณี' ระบุว่า...

การทุบปูนปั้นของครูทองร่วง ศิลปินแห่งชาติทำด้วยมือ แต่กลับถูกลบด้วยเท้า

การทุบประติมากรรมปูนปั้นอันงดงามลึกซึ้งของครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) หนึ่งในศิลปินแห่งชาติไม่กี่คนของจังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นตำนานเรื่องการบันทึกระบบสังคมการเมืองวัฒนธรรมมาไว้ในงานศิลปกรรม ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำร้านกาแฟ นับเป็นความสิ้นคิด เป็นความมักง่ายของผู้เกี่ยวข้อง เพชรบุรีเป็นเมืองช่างแท้ๆ ทำไมไม่ตระหนัก 

การที่เจ้าอาวาสบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย นั่นพูดเหมือนจะเป็นนักธุรกิจ ท่านเป็นพระ จะคิดแต่เรื่องเงินไม่ได้ ท่านต้องตระหนักถึงมิติทางสังคม เรามีวัดก็เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณ ศิลปกรรมส่งเสริมจิตวิญญาณ ท่านจะหาเงินก็หาไป แต่ไม่ควรทำลายศิลปวัฒนธรรม

ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์วัดให้ดีขึ้น เหมาะสมแล้ว เดิมมีห้องน้ำอยู่หน้าวัด ดูไม่ดีเลย และจะไม่มีปัญหาเลยถ้าไม่มีการทุบทำลายศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือเต็มที่ก็หาทางย้ายไปจัดแสดงในที่เหมาะสม จะแก้ตัวอย่างไรก็แล้วแต่ แต่งานประติมากรรมของครูทองร่วงถูกทุบทำลายไปจากความมักง่ายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อถูกทุบทำลายไปแล้ว ได้ยินข่าวว่ามีคนบอกจะปั้นให้ใหม่ จะปั้นใหม่ได้อย่างไร มันคนละเรื่องกัน ศิลปินตายไปแล้ว มือแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว 

บ่อยครั้งที่เราเห็นศิลปกรรมถูกทำลายด้วยความโง่ แต่เพื่อถนอมน้ำใจกันเลยต้องพูดให้เพราะหน่อยว่า "เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์" ไม่ได้มีเจตนา แล้วอะไรคือเจตนา ความไม่ใส่ใจ ปัดความผิดให้พ้นตัวคือเจตนาใช่หรือไม่ และถ้าจะมาอ้างว่าของอยู่ในวัด เป็นสิทธิ์ของวัดหรือกรรมการอะไรก็อ้างไม่ได้ วัดไม่ใช่ของเจ้าอาวาส วัดไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร วัดเป็นสมบัติสาธารณะ เขาให้มาดูแล ไม่ใช่ให้มาทำลาย การทำลายสมบัติสาธารณะ เจ้าอาวาสในฐานะผู้ดูแลต้องรับผิดชอบ

ประติมากรรม 2 ชิ้นที่ถูกทุบทำลายไป เป็นปูนปั้นประดับเสารั้วพิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุ หรือที่เรียกกันว่า ศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2536 ประติมากรรมชิ้นแรกเป็นภาพ 'ชั่งหัวมัน' มีหนุมานทูนตาชั่งที่เอียง โดยข้างหนึ่งที่มีหัวมันสองหัว กลับมีน้ำหนักมากกว่าข้างที่มีหัวมันสามหัว เป็นการเสียดสีถากถางล้อระบบสังคมและกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล เมื่อเรียงเวลาพบว่าประติมากรรมนี้สร้างก่อนที่จะมีโครงการชั่งหัวมันของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมาทำที่อำเภอท่ายาง เมื่อปี 2552 

ส่วนประติมากรรมอีกชิ้นเป็นรูปอาคาร ข้างบนเป็นห้องนอนเตียงนอน มีม่านซ้ายขวาพริ้วไหวงดงาม ตรงกลางมีธรรมจักร รายล้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร ส่วนใต้เตียงมียักษ์ไปขดตัวนอนอยู่อย่างอึดอัด เป็นปริศนาธรรมสื่อถึงเรื่อง 'ธัมมะมัจฉริยะ' คือความตระหนี่ในธรรม มัจฉริยะแปลว่าความตระหนี่  เสียดาย เป็นกิเลสที่ทำให้คนใจแคบเห็นแก่ตัว ขาดความกรุณา การปั้นยักษ์ไปนอนขดอยู่ใต้เตียงที่อึดอัด สื่อถึงความโหดร้ายใจแคบ เป็นยักษ์รูปกายก็ร้ายอยู่แล้ว ใจยังร้าย หวงแหนวิชาความรู้ ไม่อยากให้คนอื่นรู้เท่าตน แทนที่จะนอนบนเตียงให้สบาย ก็ยอมไปขดตัวนอนอยู่ใต้เตียงเพื่ออำพรางความรู้ เดี๋ยวคนอื่นเขาจะรู้ว่าเตียงมีไว้นอนข้างบน เดี๋ยวคนอื่นเขาจะเจอความรู้

ในวัดมหาธาตุมีปูนปั้นอีกมาก ซึ่งเป็นทั้งปริศนาธรรมและการบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมการเมือง วัดมหาธาตุเป็นวัดสำคัญซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยทวารวดี เนื่องจากมีการขุดพบซากอิฐสมัยทวารวดีจำนวนมาก แม้แต่การขุดวางฐานรากเพื่อก่อสร้างร้านกาแฟครั้งนี้ก็ยังเห็นศิลาแลงซึ่งน่าจะอยู่ในยุคเดียวกับวัดกำแพงแลง (ตั้งอยู่ใน ต.ท่าราบ อ.เมือง เพชรบุรี) และเห็นอิฐซึ่งน่าจะอยู่ในสมัยทวารวดีเหมือนที่เจดีย์ทุ่งเศรษฐี (ชะอำ) ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรตระหนัก ไม่ใช่ทุบทำลาย และขุดทิ้งอย่างไม่เห็นค่า ทำอย่างนี้นอกจากจะทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์ศิลปกรรมของประเทศ แล้วยังเสียชื่อจังหวัดเพชรบุรี ไม่ไว้หน้าคนเมืองเพชร หลวงพ่อบุญรวม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุผู้มีคุณูปการต่อศิลปกรรมเมืองเพชรบุรี ท่านรักและใส่ใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมมาก แต่ทำไมพอมาถึงเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันถึงเป็นเช่นนี้

ขณะที่เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.67) จากเฟซบุ๊ก 'นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว' นักวิชาการนักเขียนชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

"พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไปปีกว่าๆ ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้ว ที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะวัดมหาธาตุจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ ใครเล่าจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะการเมือง ของเมืองเพชรบุรีเอาไว้ได้"

หลังจากนั้น ด้าน พระวชิรวาที เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ จังหวัดเพชรบุรี โพสต์ข้อความระบุว่า...

"ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือ 'การปรับตัว' คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆ วันของคุณจะกลายเป็น 'โอกาส' โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย โอกาสเป็นสิ่งที่ไม่เคยรอเราถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้จะกลายเป็นอากาศ และยากที่จะพบกับช่วงเวลาอันควร หรือโอกาสอีกสักครั้ง"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top