Tuesday, 20 May 2025
วิชาหุ้น101

การควบรวมของ 'สองบริษัท-มากกว่า' เพื่อสร้างบริษัทใหม่ 'ทรัพย์สิน-หนี้สิน-สิทธิทั้งหมด' จะถูกควบรวมเข้าด้วยกัน

ถ้าใครได้ตามข่าวในแวดวงการลงทุนล่าสุด ก็คงจะเห็นข่าวใหญ่ของปีอย่างกรณีการควบรวมกิจการยักษ์ใหญ่อย่าง GULF ที่ควบรวมเข้ากับ INTUCH และก่อตั้งบริษัทใหม่ (NewCo) ขึ้นมาค่ะ และขณะเดียวกันก็คงจะเริ่มผ่านตากับคำว่า Amalgamation อยู่หลายครั้งด้วย

สำหรับ Amalgamation คือ การควบรวมหรือการผนวกสองบริษัท หรือ มากกว่าเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาค่ะ โดยบริษัทที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวนี้จะมีทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิทั้งหมดเเละความรับผิดชอบของบริษัทที่ถูกควบรวมเข้าด้วยกัน 

ส่วนบริษัทที่ถูกควบรวมนั้น จะหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลค่ะ อย่างเช่น บริษัท ก. รวมกับบริษัท ข. และมาตั้งเป็นบริษัท ค. (ก.+ข.= ค.) ค่ะ โดย Amalgamation มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ...

1. Amalgamation แบบ Merger: การควบรวมบริษัทแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อสองบริษัทหรือมากกว่า รวมตัวกัน โดยทั้งสองบริษัทที่ถูกผนวกจะหยุดการดำเนินการ และเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งมีการโอนสินทรัพย์ และหนี้สินทั้งหมดไปยังบริษัทใหม่ และ

2. Amalgamation แบบ Purchase: การควบรวมแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทหนึ่ง (บริษัทผู้ซื้อ) ซื้อสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทอื่น (บริษัทผู้ขาย) โดยบริษัทผู้ขายจะหยุดการดำเนินการ และบริษัทผู้ซื้อจะยังคงดำเนินการต่อไป

โดยประโยชน์ของการทำ Amalgamation จะแบ่งได้เป็น...

1) Economies of Scale โดยการควบควมกิจการจะช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เนื่องจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น 

2) Increased Market Shares โดยบริษัทใหม่นี้จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น อีกทั้งถ้าแต่ละบริษัทมีความชำนาญที่แตกต่างกันออกไปก็อาจจะเกิดการประสานงานหรือที่เราเรียกว่า Synergy ทำให้การทำธุรกิจโตแบบก้าวกระโดดได้ 

และ 3) เกิด Diversification เพราะการควบรวมนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงโดยการขยายสินค้าหรือบริการไปยังตลาดใหม่ ๆ ได้ค่ะ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีนะคะ เพราะการควบรวมกิจการ ก็ย่อมหมายถึงบางตำแหน่งงานที่มีความทับซ้อนกันต้องหายไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ และการกำกับดูแลของภาครัฐที่เข้ามามีส่วน ก็อาจจะมากขึ้นตามขนาดของบริษัทที่ใหญ่ขึ้นด้วยค่ะ เช่น อาจจะมีการนำเอากฎหมายการทางค้ามาใช้เพื่อป้องกันการผูกขาด และอาจจะไปกระทบการทำธุรกิจของบริษัทได้ค่ะ 

นอกจากกรณีของ GULF กับ INTUCH แล้ว ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทที่ทำ Amalgamation ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2006 ที่ Walt Disney ควบรวมเข้ากับ Pixar Animation Studios ซึ่งการควบรวมนี้ทำให้ Disney สามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้มากขึ้น 

หรือจะเป็นการทำ Amalgamation ครั้งที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่บริษัทโทรคมนาคมจากสหราชอาณาจักรอย่าง Vodafone ที่ควบรวมกับบริษัทโทรคมนาคมในเยอรมนีอย่าง Mannesmann ในปี 2000 ซึ่งการควบรวมนี้มีมูลค่าสูงถึง 183 พันล้านดอลลาร์เเละทำให้ Vodafone กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ 

หรือจะเป็นตอนที่สองบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Exxon เเละบริษัท Mobil ควบรวมเข้าด้วยกันในปี 1999 ซึ่งทำให้บริษัท Exxonmobil กลายเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น

ส่วนก่อนหน้านี้ ในไทยเองก็จะเป็นกรณีที่บริษัทโทรคมนาคมอย่าง TRUE ควบรวมกิจการเข้ากับ DTAC ค่ะ

ชวนรู้จัก ‘ตั๋วแลกเงิน หรือ Bill of Exchange’ อีกทางเลือกในยามที่กู้เงินจากแบงก์ไม่ได้

ข่าวใหญ่ที่เราเห็นกันเต็มหน้าสื่อในสัปดาห์นี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นข่าวของบริษัทในตลาดหุ้นที่ขอเลื่อนเวลาชำระตั๋ว BE ซึ่งในช่วงหลัง ๆ มานี้น้อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวที่เกี่ยวกับตั๋วนี้ เพราะข่าวของบริษัทที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของการผิดชำระหุ้นกู้เสียมากกว่า 

วันนี้เลยจะพาไปเจาะลึกตั๋ว BE แบบ 101 กันว่าตั๋วนี้คืออะไร? และทำงานอย่างไร?

ตั๋วแลกเงิน BE หรือ Bill of Exchange เป็นตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งที่ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสำคัญในการทำธุรกิจ และถือว่าเป็นหนึ่งในการระดมทุนของบริษัทเช่นเดียวกันกับหุ้นกู้

แต่อดีตตั๋วแลกเงินเป็นผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารใช้เพื่อปล่อยกู้ให้กับบริษัทเอกชน และธนาคารนำไปขายต่อให้กับนักลงทุนอีกทอดหนึ่ง โดยธนาคารจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นการค้ำประกันตั๋วแลกเงินหรือที่เรียกว่า ‘การอาวัลตั๋ว’ โดยธนาคารจะร่วมรับผิดชอบหากผู้กู้เงินไม่สามารถชำระเงินคืนได้ แต่หลัง ๆ มาก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเอกชนออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้กับนักลงทุนโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคารค่ะ

การระดมทุนรูปแบบนี้เป็นไปเพราะบริษัทเอกชนต้องการเงินทุนในการดำเนินงานและต้นทุนในการกู้เงินที่ต่ำกว่าการกู้ธนาคาร หรือไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ โดยผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ก็จะได้รับผลตอบแทนการจากให้กู้ค่ะ แต่ความต่างระหว่างหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินจะอยู่ที่ระยะเวลาอายุของตราสารหนี้นั้น ๆ กล่าวคือ ถ้าตราสารหนี้นั้นมีอายุมากกว่า 1 ปี เราจะเรียกว่าตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งมาในรูปแบบของหุ้นกู้ แต่ถ้าตราสารหนี้ไหนที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งแบ่งย่อยออกได้เป็น ตั๋วแลกเงิน (BE), หุ้นกู้ระยะสั้น (Short-Term Debenture) หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Permission Note: P/N)

ซึ่งตั๋ว BE เองก็ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกับหุ้นกู้ หรือที่เรียกว่า Credit-Rating และไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะนำเอาหุ้นกู้ของตนเองไปทำ Credit-Rating ค่ะ เพราะมันถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องให้บริษัทจัดอันดับเข้ามาประเมินสถานะบริษัท หรือถ้าบริษัทไหนที่มีสถานะทางการเงินที่มีความเสี่ยงก็จะต้องชดเชยการถูกจัดอันดับนั้นด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าเพื่อจูงใจนักลงทุนค่ะ ซึ่งการจัดอันดับจะมีทั้งระดับที่ลงทุนได้และระดับที่เสี่ยง หรือแบบ Non-rated BE ซึ่งแบบหลังนี้ก็จะมีกฎตามมาด้วยว่าจะขายให้ได้เฉพาะสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นค่ะ

และเพราะตั๋ว BE มีอายุสั้น ผลตอบแทนที่ได้รับจากอยู่ในรูปของส่วนลด (Discount) แทนที่จะเป็นดอกเบี้ยอย่างหุ้นกู้ระยะยาว อย่างเช่น ตั๋วแลกเงินมูลค่า 1,000,000 บาท ส่วนลด 10% ระยะเวลา 1 ปี เพราะฉะนั้นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินหรือผู้ให้กู้ก็จะให้เงินเพียงแค่ 900,000 บาท โดยมีส่วนลด 100,000 บาท และตอนคืนเงินผู้กู้ก็จะต้องคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาทค่ะ

ข้อดีของตั๋วแลกเงินอีกอย่างที่นอกเหนือจากระยะเวลาถือครองสั้นแล้วที่ทำให้ตั๋วแลกเงินเป็นที่นิยม คือการเปลี่ยนมือได้ ผู้ให้กู้อาจขายตั๋วที่ได้รับ ไปให้ผู้อื่น และผู้ที่ซื้อตั๋วหรือผู้ถือตั๋วเงินมีสิทธิรับเงินโดยตรงจากผู้ออกตั๋วหรือผู้จ่ายเงินได้ แต่ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ คนที่ซื้อตั๋วต่อไปจะไม่สามารถไปตามเอากับคนที่มีชื่ออยู่บนหลังตั๋วหรือคนที่ขายให้ได้

ข้ามมาดูในด้านความเสี่ยงกันบ้าง การลงทุนในตั๋วแลกเงินจะมีความเสี่ยงในด้านการผิดนัดชำระหนี้หรือว่าเกิด Default ก็คือการที่ผู้ออกตั๋วไม่สามารถชำระเงินได้เนื่องจากปัญหาจากตัวธุรกิจเองหรือปัญหาอื่น ๆ หรือความเสี่ยงด้านราคา

ในกรณีที่ผู้ให้กู้อยากขายก่อนครบกำหนด อาจจะทำให้ต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมไปถึงความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง เพราะเนื่องจากตลาดรองในการขายตั๋วแลกมีสภาพคล่องไม่มากทำให้ผู้ให้กู้อาจจะไม่สามารถขายได้ในทันทีค่ะ 

นอกจากกรณีของ EA แล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินตามที่เราเห็นได้จากข่าวค่ะ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นอย่างละเอียด และดูไปถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเราด้วยค่ะ

รู้จัก FOMC การประชุมของ FED ที่ผู้กุมนโยบายการเงินทั่วโลกต่างจับตา เพราะทุกทีท่า ล้วนกระทบเสถียรภาพทาง ศก. 'ระดับชาติ-ระดับโลก'

ถ้าใครติดตามข่าวการลงทุนอยู่เรื่อย ๆ ก็คงสังเกตได้ว่า ช่วงไหนที่มีข่าวการประชุม FOMC หรือการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee - FOMC) ตลาดสินทรัพย์ทุกประเภทก็มักจะมีความผันผวน โดยนักลงทุนบางส่วนก็มีการขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อลดความเสี่ยงลง เพื่อรอดูผลของการประชุมเสมอ

การประชุมนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 คน ได้แก่ สมาชิก 7 คนจากคณะกรรมการผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ, 1 คนเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง New York และอีก 4 คนจะหมุนเวียนกันมาจากผู้ว่าการธนาคารกลางอีก 11 เขตที่เหลือในแต่ละปีค่ะ

โดยวัตถุประสงค์หลักของ FOMC คือ การดูแลและกำหนดนโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค, ทบทวนสภาพเศรษฐกิจและการเงิน, ประเมินความเสี่ยงต่อเป้าหมายระยะยาว และหารือเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสม เช่น ราคาที่มีเสถียรภาพ, ระดับอัตราการจ้างงานสูงสุด และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประชุมกัน 8 ครั้งต่อปี เพื่อหารือและตัดสินใจในมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน

โดยหัวข้อสำคัญ ๆ ที่มักจะถูกพูดถึง คือ...

1. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม: ในการประชุมจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน

2. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่าง ๆ: จะมีการนำเอาตัวเลขที่ใช้การชี้วัดเช่น การเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคมาพิจารณา 

ส่วนหัวข้อสำคัญรองลงมาจะเป็น...

3. สภาพตลาดการเงิน: การประเมินสภาพในตลาดการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วไป

4. พัฒนาการเศรษฐกิจทั่วโลก: การพิจารณาสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เมื่อพิจารณาหัวข้อดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายการเงิน โดยการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC นั้น จะมีผลโดยตรงต่อทิศทางของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการจ้างงานต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว จะส่งผลต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการเงินทั้งในสหรัฐฯ เองและทั่วโลก รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุนทั่วโลกอีกด้วย

ดังนั้น ผลการประชุมนี้ จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยตลาดและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ภายใต้บทบาทสำคัญของ FOMC ที่จะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับโลก 

อ้อ!! แล้วนอกจากการประชุมของธนาคารสหรัฐฯ แล้ว ในโลกก็ยังมีการประชุมธนาคารประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญระดับโลกอีกด้วย อย่างเช่น การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขณะที่ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบนโยบายและสร้างเสถียรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับการประชุม FOMC รอบที่ผ่านมามีขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม แม้จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างนายเจอโรม พาวเวล ก็ได้แสดงท่าทีที่อ่อนโยนลง และระบุว่า ถ้าเงินเฟ้อกำลังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง, ตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง 'เฟด' (FED) เอง ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ค่ะ

Sahm Rule คืออะไร? ทำไมทุกคนถึงกลัว? จนต้องหันมามองการลดดอกเบี้ยอย่างจริงจัง

ช่วงสัปดาห์นี้ เราจะได้ยินข่าวที่น่าเป็นกังวลสำหรับนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอย การว่างงานที่สูงขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมาแย่ จนทำให้มีการกดดันให้ธนาคารกลางหรือ FED ปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่ากำหนดการที่ตอนแรกจะเป็นในเดือนกันยายนค่ะ 

โดยมีอยู่คำหนึ่งที่จะเริ่มได้ยินจากบรรดานักวิเคราะห์พูดซ้ำ ๆ มากขึ้น นั่นก็คือคำว่า Sahm Rule ซึ่งคำนี้มีที่มาจากการตั้งตามชื่อของ Claudia Sahm อดีตนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารกลางสหรัฐ โดยกฎนี้จะนำเอา 'อัตราการว่างงานรายเดือน' มาเปรียบเทียบส่วนต่างระหว่างอัตราการว่างงานเฉลี่ยย้อนหลังสามเดือนกับอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และถ้าส่วนต่างอันนี้สูงกว่า 0.50% ก็จะหมายถึงว่าเศรษฐกิจนั้นอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปเรียบร้อยแล้วค่ะ 

(เศรษฐกิจถดถอย Economic Recession คือ ภาวะการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ และกินเวลาหลายเดือน และยังต้องมีตัวชี้วัดหลายตัวร่วมด้วย ได้แก่ 1. รายได้ของบุคคลหักด้วยรายจ่าย 2.ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร 3.ตัวเลขการจ้างงานของครัวเรือน 4.รายจ่ายเพื่อการบริโภค 5.ยอดขายสินค้า และ 6.การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเอากฎ Sahm Rule มาใช้และก็สามารถคาดการณ์วิกฤตได้อย่างแม่นยำในการเกิดวิกฤตถดถอยทั้ง 11 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมาค่ะ และคนก็มักเอามาใช้เพื่อให้บรรดาผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสามารถเตรียมรับมือได้ทันท่วงทีค่ะ 

และที่ทุกคนต่างพากันกลัว ก็เป็นเพราะทุกครั้งที่ตัวเลขนี้มากกว่า 0.50% ก็มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงถดถอยไปแล้วอย่างน้อย 2-5 เดือน แต่ก็มีบางครั้งที่ตัวเลขนี้เกิดขึ้นช้ากว่าการเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยถึง 8 เดือนอย่างในปี 1974 และจะเกิดก่อนที่หน่วยงานสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติหรือ NBER จะประกาศภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ 

โดยรอบนี้ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ที่มีการรายงานไปเมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมามีการรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคมที่สูงขึ้นจาก 4.1% ไปแตะที่ระดับ 4.3% ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ทำให้อัตราเฉลี่ยสามเดือนสูงกว่าผลเฉลี่ย 3.6% ของปีที่แล้ว และส่งผลให้ตัวเลข Sahm Rule มาที่ระดับใกล้ 0.50% ค่ะ

เราต้องรอดูกันค่ะว่าถ้า Sahm Rule เกิดขึ้นจริงในรอบนี้ก็อาจจะทำให้ FED ต้องหันมาพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยอย่างจริงจังค่ะ

'วันจันทร์ทมิฬ' ฝันร้ายของนักลงทุนทั่วโลก ความผันผวนที่แม้จะหยุดซื้อขายก็ยังเอาไม่อยู่

ข่าวร้ายเกี่ยวกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะ GDP ที่ไม่โต, สงครามที่ยืดเยื้อ รวมไปถึงสถานการณ์การเมืองในหลายประเทศ ล้วนแต่ส่งผลในนักลงทุนหลายคนเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้คือ อีกหนึ่งปีที่ยากสำหรับการลงทุนจริงๆ ค่ะ 

นี่ยังไม่นับรวมความโกลาหลจากการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยแค่วันนั้นวันเดียว ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นทั้งดัชนี TOPIX และ NIKKEI 225 ที่มีช่วงที่ร่วงลงต่ำกว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday 1987 และไปทำราคาปิดที่ -12.40% ซึ่งในวันนั้นมีการใช้ Circuit Breaker เพื่อหยุดความผันผวนชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้ผลค่ะ 

ในวันนั้นตลาดปิดไปด้วยมูลค่าตลาดที่ลดลงเหลือเพียงแค่ 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ และถึงแม้ว่าตลาดจะเด้งกลับในวันต่อมา แต่ทุกคนก็พากันขนานนามเหตุการณ์ว่า Black Monday 2024 ซึ่งเป็นการร่วงลงของตลาดหุ้นที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Monday ปี 1987 เลยทีเดียวค่ะ 

วันนี้เลยอยากพาทุกคน ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ Black Monday 1987 หรือวันจันทร์ทมิฬ กันค่ะ เพื่อที่เราจะได้ศึกษาเรื่องราวในวันนั้นและเก็บเอาไว้เป็นบทเรียนสำหรับการลงทุนในอนาคตค่ะ 

ย้อนกลับไปในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 หรือเมื่อ 37 ปีที่แล้ว วันนั้นเป็นเหมือนฝันร้ายของนักลงทุนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและลามไปทั่วทั้งโลกค่ะ เพราะเพียงแค่วันเดียวดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงไปถึง 22.61% หรือร่วงลงกว่า 500 จุด และดัชนี S&P 500 ร่วงลงถึง 30% ซึ่งนั่นทำให้ความมั่งคั่งของชาวสหรัฐหายไปถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ค่ะ ซึ่งนับเป็นการร่วงลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นตลาดหุ้น NIKKEI ร่วงลงไป 14.9% 

และแม้ว่าจนถึงวันนี้จะยังไม่มีใครสรุปสาเหตุของวันนั้นได้ว่าเกิดจากอะไร แต่หนึ่งในสาเหตุของวันนั้นคือ Algorithm Trading ค่ะ ซึ่ง Algorithm Trading นี้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่เหล่ากองทุนใช้เพื่อการซื้อขายหุ้น และในวันนั้นมี Algorithm อยู่ตัวหนึ่งที่ทำงานผิดพลาดค่ะ โดยได้มีการส่งคำสั่งขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นร่วงลงอย่างรวดเร็วค่ะ ซึ่งการเทขายแบบนั้นมันได้ไปส่งสัญญาณใน alogorithm ตัวอื่นเทขายหุ้นของตัวเองออกมาบ้างค่ะ หุ้นที่ร่วงอยู่แล้วก็ยิ่งลงเร็วและแรงกว่าเดิมค่ะ 

พอนักลงทุนที่เข้ามาเห็นราคาหุ้นที่ร่วงลงอย่างรุนแรง ก็พากันแตกตื่นและรีบขายหุ้นตัวเองออกมา เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Panic Sell หรือเป็นการขายหุ้นแบบหนีตายค่ะ ทุกคนจะแย่งกันขายหุ้นตัวเองออกมา จนทำให้เมื่อจบวันดัชนีดาวโจนส์ลดลงไปอย่างมากสุดเป็นประวัติการณ์ค่ะ 

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้มีการคิดค้นระบบที่เรียกว่า Circuit Breaker ขึ้นมาค่ะ อย่างที่บอกไปตอนต้นนะคะว่า มันคือการหยุดซื้อขายชั่วคราว และการหยุดนี้ ก็เพื่อให้นักลงทุนได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะลงมือทำอะไรค่ะ 

นอกจากประเด็นเรื่องของ Algorithm Trading แล้ว บางคนก็บอกว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นเพราะว่าเงินเฟ้อของสหรัฐเอง ก็มาถึงจุดสูงสุดแล้ว นั่นคือปรับตัวขึ้นมาถึง 4% ประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ก็ขึ้นมาอย่างร้อนแรงตลอดทางจากระดับ 2,000 จุดไปที่ระดับ 2,747 จุด ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 เดือน จนทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ บ้างก็บอกว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่จากการขาดดุลทางการค้าและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ค่ะ

โดยหลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ดัชนีดาวโจนส์ต้องใช้เวลายาวนานถึง 14 เดือน เพื่อที่จะกลับไปจุดเดียวกันกับก่อนที่ร่วงลงมาได้ และมีนักลงทุนจำนวนมากที่ต้องออกจากตลาดเพราะความสูญเสียจากเหตุการณ์นั้นค่ะ 

ส่วนตลาดหุ้นไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันนั้นเช่นเดียวกันค่ะ โดย SET ของเราร่วงลงภายในเวลา 2 เดือนหลังจากเหตุการณ์วันนั้น จากจุดสูงสุดที่ 472.86 จุดตอนเดือนตุลาคม 1987 มาอยู่ที่จุดต่ำสุดที่ 243.97 จุดในเดือนธันวาคมปีเดียวกันค่ะ 

'เศรษฐกิจนอกระบบ' ตัวการทำประเทศสูญเสียรายได้ เพราะขาดการกำกับดูแล-ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

ช่วงหลัง ๆ มานี้เรามักจะได้ยินหลายหน่วยงานของรัฐบาลได้ออกมาพูดถึงปัญหาด้านการเติบโตของประเทศไทยที่เติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่มี และไม่สามารถเติบโตได้เท่าเทียมกับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market นี่นอกจากจะทำให้ประเทศเรามีเศรษฐกิจที่รั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง และยังมีการคาดการณ์ว่า GDP ไทยตลอดทั้งปี 2567 นี้ก็จะอยู่ที่เพียงแค่ 2.2-2.7% เท่านั้น

โดยสาเหตุการเติบโตที่ต่ำนี้มาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสังคมไทยที่ขาดแคลนแรงงานเพราะเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเด็นทางการเมือง การไหลเข้ามาของสินค้าจีนที่ราคาถูกกว่า แต่หนึ่งในสาเหตุที่ทางธนาคารโลกมองว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บ้านเรามี ‘เศรษฐกิจนอกระบบ’ หรือ ‘Shadow Economy’ ในระดับที่สูงมาก โดยถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศหรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกและอาเซียนค่ะ 

‘Shadow Economy’ เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหรือรายได้ที่เกิดจากธุรกิจทั้งขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็กหรือธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในระบบเศรษฐกิจ หรือว่าไม่ถูกนับรวมอยู่ใน GDP ของประเทศค่ะ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้อาจจะมีทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมายอย่างเช่น การขายสินค้าลอกเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมก็ได้ค่ะ 

ธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการจ่ายภาษีให้กับทางภาครัฐและไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ในระบบ ทำให้ทางการไม่สามารถนำตัวเลขจากธุรกิจเหล่านี้ไปสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีมูลค่าสูงขนาดนี้ ก็เพราะการขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ปัญหาความยากจนของคนในประเทศ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ต่างพากันไม่ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการของภาครัฐ 

แม้จะมีมุมมองด้านบวกคือ แรงงานที่เข้าถึงงานมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจนอกระบบนี้จะเป็นการสร้างงานและรายได้ให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและงานที่อยู่ในระบบได้แล้ว แต่ด้านลบก็คือ เศรษฐกิจนอกระบบนี้ทำให้รัฐเองสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล และยังส่งผลในเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจจากธุรกิจนอกระบบที่อาจจะมีต้นทุนในการดำเนินกิจการที่ต่ำกว่าธุรกิจที่อยู่ในระบบ

โดยขนาดเศรษฐกิจนอกระบบนี้เมื่อคิดเทียบกับ GDP ทั่วโลกจะอยู่ที่ราว ๆ 20-25% ของ GDP ทั้งหมด ซึ่งเศรษฐกิจนอกระบบนี้สามารถพบเจอได้ในทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีเศรษฐกิจนอกระบบเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา อย่างในสหรัฐฯ หรือเยอรมนีเอง ตัวเลขขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 7-8% และ 10-12% ตามลำดับ ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา สัดส่วนของเศรษฐกิจนอกระบบนี้สูงได้ถึง 30-40% ของ GDP หรืออาจจะมากกว่านั้น 

การแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีผลกระทบหลายด้าน โดยการที่จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจรวมไปถึงภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นค่ะ

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Nvidia บริษัทที่มีมูลค่า 6 เท่าของ GDP ไทย

สัปดาห์นี้มีการประกาศงบของ 1 ในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ที่แค่ประกาศงบออกมา ก็สามารถส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น คงจะหนีไม่พ้นการที่บริษัทนี้เป็นผู้นำในตลาดเทคโนโลยีที่ผลิตและพัฒนาชิปประมวลผลกราฟฟิก หรือ GPU และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ตอนนี้แทบจะแฝงอยู่ในทุก ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเราแล้วค่ะ 

บริษัทคือ Nvidia ค่ะ โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 108.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 6 เท่าของ GDP ของประเทศไทยเลยทีเดียว

วันนี้เลยอยากจะพาทุกท่านไปรู้จัก Nvidia มากขึ้นผ่าน 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับบริษัทนี้กันค่ะ...

ข้อควรรู้ที่ 1: CEO ผู้ก่อตั้งบริษัทคือ คุณเจนเซ่น ฮวง (Jensen Huang) เป็นชาวไต้หวัน แต่ไปเติบโตที่สหรัฐฯ และครั้งหนึ่งคุณเจนเซ่นเองก็เคยลี้ภัยมาอยู่ประเทศไทยก่อนย้ายไปอยู่ที่สหรัฐฯ

ข้อควรรู้ที่ 2: Jensen Huang และเพื่อนอีก 2 คนคือ Chris Malachowsky และ Curtis Priem ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Nvidia ขึ้นมาในปี 1993 ในตอนนั้นเป็นการพูดคุยกันในร้านอาหารชื่อ Denny’s ซึ่งเป็นร้านที่คุณ Jensen เคยไปทำงานพาร์ตไทม์สมัยมัธยมปลาย

ข้อควรรู้ที่ 3: ในเริ่มแรกบริษัทเองก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่ในปี 1999 หลังจากเปิดบริษัทมาได้ 6 ปีก็สามารถนำเอาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ได้ โดยราคา IPO ตอนนั้นอยู่ที่ 12 เหรียญต่อหุ้น

ข้อควรรู้ที่ 4: หลังจาก IPO ได้ 24 ปีบริษัทก็มีมูลค่าตลาดทะลุล้านล้านเหรียญและยังนับเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

ข้อควรรู้ที่ 5: รายได้ของ Nvidia แบ่งใช้ใน Data Center 52%, เกม 42%, การวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผล 4%, รถยนต์ไร้คนขับ 2% และอื่น ๆ อีก 1%

ข้อควรรู้ที่ 6: Nvidia มีการจับมือร่วมกับหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็น Tesla, Amazon และ Microsoft ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ

ข้อควรรู้ที่ 7: คู่แข่งของ Nvidia มีหลายบริษัททั้ง AMD, Intel, Qualcomm, Google ที่พากันเข้ามาลงเล่นในตลาดชิป รวมไปถึงบริษัท Startup อย่าง Celebras system ด้วยค่ะ 

ข้อควรรู้ที่ 8: Nvidia มีการตั้งชื่อชิปให้เหมือนกับชื่อบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เพื่อบ่งบอกถึงความล้ำสมัยและพลังของชิปของบริษัท เช่น ชิปที่ชื่อ Turing ที่มาจาก Alan Turing (นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่คิดค้น Turing Machine ที่เป็นพื้นฐานทฤษฎีการคำนวณ) และ Ampere ที่มาจาก Andre-Marie Ampere (นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่ศึกษากระแสไฟที่มาของหน่วยวัดกระแสไฟฟ้า Ampere) 

ข้อควรรู้ที่ 9: ปัจจุบันคุณเจนเซ่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 11 ของโลกโดยมีความมั่งคั่งสุทธิอยู่ที่ 119 พันล้านเหรียญจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอบส์

ข้อควรรู้ที่ 10: งบล่าสุดของไตรมาส 2 ปี 2024 ยังคงโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 30 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 122% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าค่ะ 

September Effect เดือนแห่งการขายสินทรัพย์เสี่ยง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจากสถิติในรอบ 10 ปี

(6 ก.ย. 67) หนึ่งในเดือนที่บรรดานักลงทุนจะต้องจับตามองถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างมาก ไม่ว่าจะในวงการเทรดหุ้น ทองคำหรือคริปโตเคอร์เรนซี คงหนีไม่พ้นเดือนกันยายนของทุกปี 

เพราะในเดือนกันยายนของแทบจะทุกปี มักจะเกิดปรากฏการณ์หนึ่งขึ้นมา และปรากฏการณ์ที่นักลงทุนมักจะพูดถึงนั้นก็คือ 'September Effect' หรือปรากฏการณ์การขายสินทรัพย์เสี่ยงในเดือนกันยายน

ถ้าเราย้อนกลับไปดูสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นตัวเลขค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ทั่วโลกปรับตัวลงในเดือนนี้เสมอค่ะ ตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้น S&P ของสหรัฐอเมริกาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแค่เดือนกันยายนที่ติดลบ หรือตลาด Nasdaq ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 8 ปีใน 10 ปีที่ให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนกันยายน หรือจะตลาดหุ้นบ้านเราอย่าง SET ที่ให้ผลตอบแทนติดลบในเดือนนี้ถึง 7 ปีใน 10 ปี โดยในเดือนกันยายนปี 2023 ตลาดหุ้นไทยติดลบเฉลี่ยไปถึง -94 จุด และติดลบเฉลี่ย -49 จุดในเดือนกันยายนปี 2022 ค่ะ

ข้ามมาทางตลาดทองคำที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบในเดือนนี้ถึง 9 ปีใน 10 ปีที่มีการเก็บสถิติโดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบอยู่ที่ 2.95% และหลายปีก็ให้ผลตอบแทนที่เป็นลบเยอะค่ะ ส่วน Bitcoin ให้ผลตอบแทนเป็นลบถึง 7 ปีใน 10 ปี ผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ 5.9%

หลายคนอาจสงสัยว่าปรากฏการณ์นี้คืออะไร?

ถึงแม้จะไม่มีเหตุผลยืนยันที่แน่ชัด แต่มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ 

>> หนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับความนิยมคือ ทฤษฎีทางด้านจิตวิทยาของนักลงทุนค่ะ 

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าช่วงเดือนกันยายนเป็นเวลาที่นักลงทุนมักจะปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง หรือเตรียมเงินสดสำหรับใช้จ่ายในช่วงปลายปี และการปรับพอร์ต หรือการขายหุ้นในจำนวนมาก ก็อาจจะส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดลดลง 

>> อีกหนึ่งทฤษฎีคือ การปรับตัวตามฤดูกาลของบริษัทและนักลงทุน โดยช่วงเดือนกันยายน จะเป็นเวลาที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มเตรียมรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนเริ่มทบทวนการลงทุนของตนและอาจทำการขายหุ้นที่คาดว่าอาจจะมีผลประกอบการไม่ดีค่ะ

พอความเชื่อเรื่อง September Effect เป็นที่แพร่หลาย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการขายหุ้นเป็นจำนวนมากในเดือนนี้ ซึ่งเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น 'Self-fulfilling prophecy' หรือคำทำนายที่เกิดขึ้นจริงเพราะคนเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนอาจเตรียมขายหุ้นในเดือนกันยายนเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนตามแนวโน้มในอดีต ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการเทขายและราคาหุ้นลดลงตามมาค่ะ

แต่ในทางกลับกัน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนบางคนค่ะ ที่จะใช้เวลานี้เป็นโอกาสในการสะสมสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อถือครองระยะยาวและรอไปขายทำกำไรในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการลงทุนค่ะ 

ถึงแม้ว่าจากตัวเลขทางสถิติจะดูเหมือนว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในฐานะนักลงทุน เราก็ไม่ควรนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน การลงทุนควรพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐานของบริษัทที่เราลงทุนและการวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดในภาพรวม และแม้ว่า September Effect จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี ดังนั้นนักลงทุนควรใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและพิจารณาปัจจัยหลาย ๆ ด้านก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ 

ยิ่งปีนี้ในไทยเองจะมีการใช้นโยบายหลายอย่างในการกระตุ้นเศรษฐกิจและพยุงตลาดหุ้นอย่างเช่น การใช้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาช่วย ก็อาจจะทำให้ปีนี้เป็นอีกปีที่ไม่ติดลบก็ได้ค่ะ

ทึ่ง!! 'ไวรัลหมูเด้ง' เพิ่มมูลค่า 'เศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวไทย' ยอดเข้าชมสวนสัตว์พุ่ง สื่อระดับโลกสนใจ แบรนด์ใหญ่ๆ ร่วมไทอิน

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก 'หมูเด้ง' ฮิปโปฯ แคระจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ยิ่งในโลกที่การสื่อสารและการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมาก 'หมูเด้ง' จึงได้กลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านไวรัลคอนเทนต์ 

ความโด่งดังของหมูเด้งไม่เพียงส่งผลให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลในท้องถิ่น แต่ยังช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจท้องถิ่นแถมยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลากหลายรูปแบบ

ปรากฏการณ์หมูเด้งนี้ได้นำไปเราสู่...

1. การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว กระแสไวรัลของหมูเด้งดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายให้เข้าชมสวนสัตว์ เปิดโอกาสให้สวนสัตว์เขาเขียวสามารถเพิ่มรายได้จากค่าบัตรเข้าชม โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 คนจากปกติที่มีเพียง 800-1,200 คนต่อวัน การเติบโตนี้ยังต่อยอดไปถึงการส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นรอบ ๆ สวนสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ที่พัก และของที่ระลึก

2. การขยายโอกาสทางการตลาด นอกจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว หมูเด้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ เช่น การผลิตแฟนอาร์ต และเครื่องสำอางที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผิวพรรณของหมูเด้ง แบรนด์เครื่องสำอางใหญ่ ๆ เช่น SEPHORA ยังออกคอนเทนต์โฆษณาที่นำเสนอเทรนด์การแต่งหน้าแบบ 'แก้มอมชมพู' จากหมูเด้ง ทำให้การตลาดสามารถขยายตัวไปสู่หลายภาคส่วนอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน รวมถึงมีการผลิตสินค้าที่ระลึกน้องหมูเด้งมาเพื่อตอบรับกระแสความนิยมที่มีในตัวน้องทั้งกางเกงหมูเด้ง เสื้อหมูเด้ง เป็นต้น

3. การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หมูเด้งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ความนิยมในประเทศไทย แต่ยังได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ เช่น TIME และ CNN ก็ได้กล่าวถึงเสน่ห์ของหมูเด้งและความน่ารักที่ทำให้น้องมีแฟนคลับทั่วโลก ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมสวนสัตว์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดรายได้จากภาคการท่องเที่ยวในระดับชาติที่สูงขึ้นด้วย

การปรากฏตัวของ 'หมูเด้ง' จึงได้แสดงให้เห็นถึงพลังของไวรัลคอนเทนต์ที่ไม่เพียงสร้างความสนใจ แต่ยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศได้อย่างมหาศาลอีกด้วยค่ะ 

เปิดพอร์ต 'Man U' VS 'Spur' ในโลกแห่งการลงทุน 5 แพลตฟอร์มเด่น โกยรายได้สู่สโมสรขนานโม่แข้ง

คืนวันที่ 29 ก.ย.67 ที่ผ่านมาตามเวลาอังกฤษได้มีการแข่งขันฟุตบอลแมตช์สำคัญระหว่าง 'ผีแดง' แมนเซสเตอร์ ยูไนเต็ด และ 'ไก่เดือยทอง' ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ที่ผลการแข่งขันออกมา 0-3 ประตู ในเกมส์ว่าเดือดแล้ว ในโลกการลงทุนของทั้งสองทีมนี้ก็เดือดไม่แพ้กันค่ะ 

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด (Man Utd) และท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ (Tottenham Hotspur) เป็นสองสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่จากพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่มีศักยภาพ โดยแต่ละสโมสรก็มีลักษณะเด่นและช่องทางการลงทุนที่แตกต่างกันโดยแยกออกมาได้เป็น 5 หัวข้อ ดังนี้ค่ะ...

1.การลงทุนในหุ้นของสโมสร

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีการเปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ภายใต้ตัวย่อ 'MANU' ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นและเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของสโมสรได้ การซื้อขายหุ้นของแมนยูนั้นเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนทั่วโลกที่สนใจในอุตสาหกรรมกีฬา โดยราคาหุ้นของแมนยูอาจได้รับอิทธิพลจากผลงานการแข่งขันและรายได้จากการขายสินค้าและสปอนเซอร์ ในทางกลับกันสเปอร์ยังไม่มีการเปิดขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้นักลงทุนไม่สามารถซื้อหุ้นได้โดยตรง แต่การลงทุนที่เกี่ยวข้องอาจผ่านทางบริษัท ENIC Group ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสรแทน

2.การลงทุนในสนามกีฬา

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ดเป็นหนึ่งในสนามที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก การลงทุนในธุรกิจรอบสนาม เช่น ร้านอาหาร, โรงแรม, และร้านขายสินค้าที่ระลึก จะได้รับผลประโยชน์จากการที่แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันเป็นจำนวนมากทุกฤดูกาล ส่วน Tottenham Hotspur Stadium เป็นสนามใหม่ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีความสามารถในการจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ เช่น การแข่งขัน NFL จากอเมริกา นอกจากฟุตบอลแล้ว สถานที่นี้ยังสร้างโอกาสในการลงทุนในธุรกิจบันเทิงและกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

3.การลงทุนในแบรนด์และลิขสิทธิ์สินค้า

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีสินค้าลิขสิทธิ์ที่ขายทั่วโลก เช่น เสื้อทีม, หมวก, และอุปกรณ์กีฬาต่าง ๆ การลงทุนในธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ในระยะยาว เนื่องจากแมนยูมีฐานแฟนบอลทั่วโลก ส่วนท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์เองก็มีการขายสินค้าที่ได้รับความนิยมเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะสินค้า Nike ที่เป็นผู้สนับสนุนเสื้อแข่ง การลงทุนในสินค้าลิขสิทธิ์ของสเปอร์สเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้จากการเติบโตของแบรนด์

4.การลงทุนในพันธมิตรทางธุรกิจและสปอนเซอร์

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีพันธมิตรทางธุรกิจมากมาย เช่น Adidas, TeamViewer, และบริษัทระดับโลกอื่นๆ การลงทุนในบริษัทเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ทางอ้อมจากความสำเร็จของสโมสร ส่วนท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์มีสปอนเซอร์หลักคือ AIA บริษัทประกันชีวิตขนาดใหญ่ รวมถึง Nike ที่เป็นพันธมิตรทางการตลาด และ

5.การลงทุนใน e-Sports และสื่อดิจิทัล

เนื่องจากแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มีฐานแฟนบอลทั่วโลกที่เชื่อมโยงผ่านสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย การลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือการถ่ายทอดสดออนไลน์ อาจช่วยขยายการเข้าถึงฐานแฟนบอลและสร้างรายได้ในอนาคตส่วนท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์เองเริ่มมีการเข้าสู่โลก e-Sports เช่นเดียวกับทีมใหญ่ทีมอื่นๆ การลงทุนในแพลตฟอร์มเกมหรือการสตรีมมิ่งการแข่งขันฟุตบอลเสมือนจริงสามารถสร้างรายได้จากวงการที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วค่ะ 

ทั้งแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ต่างก็เป็นโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมกีฬา ขณะที่แมนยูมีช่องทางการลงทุนที่หลากหลายผ่านตลาดหุ้นและการเป็นสโมสรระดับโลก สเปอร์สก็ไม่ได้น้อยหน้าค่ะ ด้วยโครงสร้างสนามกีฬาทันสมัยและการขยายตัวในวงการบันเทิง ทำให้นักลงทุนอย่างพวกเราสามารถเลือกลงทุนตามความเหมาะสมของตนเองและสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของทั้งสองทีมค่ะ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top