Monday, 7 July 2025
ลาว

ไขข้อสงสัย ทำไมหลายประเทศถึงหันมาใช้ ‘เงินหยวน’ ของ ‘จีน’ ในวันที่ ‘เงินดอลลาร์’ ของสหรัฐฯ กำลังเริ่มเสื่อมความนิยม

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 66 ได้มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกท่านหนึ่ง ชื่อ ‘thailaotogether’ ได้ออกมาอธิบาย กรณีที่ สปป.ลาว ได้มีการอนุมัติใช้เงินหยวนของประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายทางการค้าระหว่างประเทศ โดยได้ระบุว่า…

เงินหยวน จะมาแทนที่เงินกีบ? จีนจะมากลืนลาว ลาวจะกลายเป็นมณฑลส่วนหนึ่งของจีน? ทำไมประเด็นต่างๆ เหล่านี้ถึงได้กำลังกลายเป็นกระแสดรามาที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียล ชุดความคิดนี้มีที่มาอย่างไร? และทำไมประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ‘อาเซียน’ ถึงเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินหยวนกัน

โดยประเด็นนี้เริ่มจากการที่ ผู้ว่าการแบงค์ชาติ นายบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว และ นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน ได้ลงนามแต่งตั้งสกุลเงินหยวน เพื่อการชำระบัญชีเงินระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ มีการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน โดยไม่ต้องอ้างอิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การอ้างอิงหมายความว่าอย่างไร? ตรงนี้สืบเนื่องจากการที่ สปป.ลาว ใช้สกุลเงินกีบในการค้าขายภายในประเทศ แต่ในบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดติดกับประเทศไทย ในบางครั้งก็อาจจะมีการใช้สกุลเงินบาทกันได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น สินค้าทั่วไปใน สปป.ลาว มีการซื้อขายกันโดยใช้สกุลเงินกีบ แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์ หรือบ้าน จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวอ้างอิง เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสากล

การอ้างอิงของเงินตราระหว่างประเทศที่เป็นสากล คือ ‘เงินดอลลาร์สหรัฐฯ’ ที่มีความครอบคลุมเกือบทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ในตอนนี้ ประเทศจีนมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ต่างชาติมีการชำระเงิน และเกิดการค้าขายกันโดยใช้สกุลเงินหยวนมากขึ้น จนสามารถแซงหน้าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยสัดส่วนที่สูงถึง 48% จนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 2 ด้วยสัดส่วนที่เหลือเพียง 46%

ซึ่งสิ่งนี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกิดการตั้งข้อสังเกตในโซเชียลกันว่า ประเทศจีนจะมากลืนกิน สปป.ลาว แต่อย่างใด และในขณะเดียวกัน ประเทศจีนเองก็สนับสนุนให้นานาประเทศใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ให้ใช้เงินหยวนในลักษณะของการอ้างอิงและชำระเงินในการค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น และทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้มีการหันมาใช้สกุลเงินหยวนนั้น เริ่มมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศบราซิล ได้มีการทำข้อตกลงการค้าขายระหว่างกันกับประเทศจีน และได้มีการชำระเงินระหว่างกันโดยใช้สกุลเงินหยวนแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศต่อมาคือ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่กำลังมีการพิจารณาการซื้อขายน้ำมันกันอยู่ โดยก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ประเทศนี้ จะใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินกลางในการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศกำลังพิจารณาอนุมัติการใช้สกุลเงินหยวน เพื่อใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากประเทศซาอุดีอาระเบีย ไปทำการค้าขายน้ำมันกับอีกทางภูมิภาคหนึ่ง หรือประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะมีการทำข้อตกลงในการใช้สกุลเงินอื่นระหว่างกัน หรืออาจใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมีความเป็นสากลมากที่สุด และขณะเดียวกัน หากประเทศซาอุดีอาระเบีย มาทำการค้าขายกับประเทศไทย ก็คงมีการทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออาจะเป็นสกุลเงินอื่นๆ ก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าสกุลเงินใดให้ประโยชน์สูงสุดกับทั้ง 2 ประเทศ

ล่าสุด ประเทศอาร์เจนตินา เพิ่งได้มีการทำข้อตกลงกับประเทศจีนในการใช้สกุลเงินหยวนในการค้าขายระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศจีนได้มีการทำสัญญากับประเทศอาร์เจนตินา ว่าหากประเทศอาร์เจนตินาใช้สกุลเงินหยวน และได้ทำการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีน ประเทศจีนจะอนุมัติการขนส่งสินค้าภายใน 90 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาในการอนุมัตินานถึง 180 วัน ทำให้สิ่งนี้จึงกลายเป็นผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเทศฝรั่งเศสที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับประเทศจีน ในการซื้อขายน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ โดยใช้สกุลเงินหยวนในการชำระทางการค้า

นี่คือสิ่งที่ประเทศจีนพยายามจะทำให้ต่างประเทศหันมาใช้สกุลเงินหยวน ซึ่งการทำข้อตกลงในการใช้เงินหยวนเพื่อการค้าขายนี้ ทำให้ประเทศจีนประสบผลสำเร็จ จนสามารถก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในการทำการค้าขายกับต่างประเทศในที่สุด

และหากลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย จะเห็นว่าประเทศไทยเองก็ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกันกับประเทศจีน ในการใช้สกุลเงินหยวน ซึ่ง ณ ขณะนั้น มี 3 ประเทศที่มีการทำข้อตกลงร่วมกัน คือ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย อีกทั้งประเทศจีนเองก็มีความต้องการให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหันมาใช้สกุลเงินหยวน ทำให้ในตอนนี้ ประเทศในแถบเอเชีย และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา มีการทำข้อตกลงที่จะใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างกัน

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังได้สร้างระบบในการชำระ เรียกว่า ‘ระบบให้บริการชำระเงินและเคลียริ่งข้ามพรมแดน สำหรับสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ’ หรือที่เรียกว่า ‘CIPT’ ขึ้นมา เป็นระบบกลางที่ช่วยให้สามารถชำระเงินระหว่างประเทศกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั่วโลกชำระเงินในการค้าขายระหว่างกันด้วยระบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขึ้นตรงกับมหานครนครนิวยอร์ก ในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการหักค่าธรรมเนียมในการให้บริการสูงมาก เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้ประเทศจีนมีความต้องการที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายภายในประเทศเป็นหลัก และใช้สกุลเงินหยวนในการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ในการค้าขายระหว่างประเทศ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ว่า การที่ สปป.ลาวใช้สกุลเงินหยวน จะทำให้สกุลเงินกีบนั้นหายไป และ สปป.ลาวจะถูกกลืนกินชาติ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนแต่อย่างใด หากมองให้ลึกลงไป ในบางประเทศที่มีการอนุมัติใช้สกุลเงินหยวนในการอ้างอิงการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนกันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับแต่ละประเทศ ส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกันทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้สกุลเงินกีบของ สปป.ลาว อ่อนค่าลงนั้น สืบเนื่องมาจากหลายๆ ประเทศได้หันมาใช้สกุลเงินหยวนกัน เนื่อกจากมีความกลัวว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะไม่มีเสถียรภาพ เพราะการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลออกนอกประเทศ อาจส่งผลให้สกุลเงินต่างๆ ที่มีการทำการค้าขายกันนั้นอ่อนค่าลงนั้นเอง

อีกทั้งขณะเดียวกัน ประเทศสหรัฐฯ ยังได้มีการคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย รวมถึงประเทศคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรกับประเทศรัสเซีย นั่นคือ ประเทศจีน และ สปป.ลาว นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ยังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะทุกวันนี้ ค่าเงินบาทของไทยนั้นอ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าเมื่อเทียบ สปป.ลาว ที่สกุลเงินกีบนั้นอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด

เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งในมาตรการของ สปป.ลาว ที่คิดจะใช้สกุลเงินหยวนเข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น เกิดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการทำให้มีเงินหลั่งไหลเข้าไปในประเทศมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เรื่องนี้นับได้ว่า เป็นทั้งเรื่องที่ไกลตัว และใกล้ตัว เพราะเมื่อใดก็ตามที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีความแข็งแรง ประเทศของเราก็มีความแข็งแรงมากขึ้นเช่นกัน จึงสามารถมองได้ว่า วิธีการนี้คือ หลักการคิดของประเทศจีน ที่ต้องการให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน สามารถพึ่งพาตัวเองและพึ่งพากันเองได้ ก่อนที่จะไปพึ่งพาประเทศในภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศจีนถึงอยากให้แต่ละประเทศในอาเซียนนั้นหันมาใช้เงินหยวน

‘ลาว’ จุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามเวียดนาม ประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดในโลกที่ไม่ใครสนใจ

(7 มิ.ย. 66) ในช่วงสงครามเวียดนาม ประเทศลาวเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดถล่มอย่างหนัก จนทำให้ประเทศนี้ มีอัตราระเบิดต่อหัวประชากรมากที่สุดในโลก

1.) จนถึงทุกวันนี้ยังมีชาวลาวต้องเสียชีวิตจากระเบิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งเอาไว้ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่กวาดล้างระเบิด UXO ของลาวเสียต้องสละชีวิตไป 3 คน และบาดเจ็บ 2 คนจากเหตุระเบิดในหมู่บ้านกิโลเมตร 38 เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก จากการรายงานของ Laotian Times สื่อภาษาอังกฤษในลาว

2.) UXO (Unexploded ordnance) หรือระเบิดที่ยังไม่ได้ถูกจุดชนวน ถูกทิ้งไว้โดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 (หรือสงครามเวียดนาม) ทำให้ ‘ลาวถือเป็นประเทศที่ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักที่สุดในโลกในอัตราต่อหัวประชากร’ จากข้อมูลของเว็บไซต์ Legacies of War องค์กรที่สร้างความตระหนักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การทิ้งระเบิด ในยุคสงครามเวียดนามในประเทศลาว และสนับสนุนการกวาดล้างระเบิดที่ยังไม่ระเบิด

3.) ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเวียดนาม ขณะที่สหรัฐฯ กำลังรบในเวียดนามอยู่นั้น ในลาวก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาด้วยระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือ ‘ขบวนการปะเทดลาว’ ที่เอียงไปทางเวียดนามและฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาวที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทำให้ลาวถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ กลายเป็นสงครามที่เรียกว่า ‘สงครามลับ’ ในลาว

4.) จากข้อมูลของ Legacies of War ระบุว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2516 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดในลาวมากกว่า 2 ล้านตัน ระหว่างภารกิจทิ้งระเบิด 580,000 ครั้ง ซึ่งเท่ากับเครื่องบินบรรทุกระเบิดไปทิ้งทุกๆ 8 นาทีตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลา 9 ปี การทิ้งระเบิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสงครามลับในลาวเพื่อสนับสนุนรัฐบาลลาว เพื่อต่อต้านขบวนการปะเทดลาวที่ปักหลักตามภูเขา และเพื่อสกัดกั้นฝ่ายเวียดนามเหนือในจากการใช้ ‘เส้นทางโฮจิมินห์’ ซึ่งเป็นทางลัดที่ฝ่ายเวียดนามเหนือตัดเข้ามาในลาวเพื่อเข้าโจมตีเวียดนามใต้

5.) แม้สงครามจะจบลงแล้ว ด้วยการถอนตัวจากสงครามเวียดนาม (หรือพ่ายแพ้) ของสหรัฐฯ และชัยชนะของเวียดนามเหนือและฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาว แต่ระเบิดมากถึงหนึ่งในสามไม่ระเบิด ทำให้แผ่นดินลาว ‘ปนเปื้อน’ ไปด้วย UXO จำนวนมาก ผู้คนกว่า 20,000 คนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจาก UXO ในประเทศลาวนับตั้งแต่การทิ้งระเบิดยุติลง ตามข้อมูลของ Legacies of War

6.) แต่มันไม่ใช่ระเบิดเป็นลูกใหญ่ๆ เท่านนั้น เพราะส่วนใหญ่มัน คือ ‘ระเบิดลูกปราย’ (Cluster munition/cluster bomb ) ที่เป็นระเบิดลูกเล็กๆ ที่อยู่ในระเบิดลูกใหญ่อีกต่อหนึ่ง มันถูกออกแบบมาเพื่อทำลายรันเวย์หรือสายส่งกำลังไฟฟ้า เพื่อกระจายอาวุธเคมีหรือชีวภาพ หรือเพื่อกระจายทุ่นระเบิด แต่ในสงครามลับในลาว มันถูกทิ้งแบบปูพรมเพื่อทำลายขบวนการคอมมิวนิสต์ที่หลบซ่อนตามป่าทึบ

7.) ระเบิดลูกปรายลูกใหญ่แต่ละลูกบรรจุลูกระเบิดเดี่ยว หรือที่เรียกว่า ‘บอมบี’ (bombies) หลายร้อยลูก ซึ่งมีขนาดประมาณลูกเทนนิส ประมาณ 30% ของระเบิดเหล่านี้ยังไม่เกิดการระเบิด มันถูกทิ้งไว้ในแผ่นดินลาวมากมายมหาศาล รอวันที่ผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่จะไปพบ แล้วหยิบมันขึ้นมาหรือโยนเล่นโดยไม่รู้เรื่อง แล้วก็เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันจากระเบิดคลัสเตอร์ในโลกเกิดขึ้นที่ลาว

8.) Legacies of War เปิดเผยว่าลาวถูกทิ้งระเบิดลูกปรายกว่า 270 ล้านลูกในช่วงสงครามเวียดนาม (มากกว่าการทิ้งระเบิดในอิรัก 210 ล้านลูกในปี 2534, 2541 และ 2549 รวมกัน) มากถึง 80 ล้านลูกที่ยังไม่ระเบิด เกือบ 40 ปีผ่านไปหลังสงคราม น้อยกว่า 1% ของระเบิดเหล่านี้ที่ถูกทำลาย และพื้นที่ที่เต็มไปด้วยระเบิดมากที่สุดแห่งหนึ่งของลาวคือแถบแขวงเชียงขวาง และแขวงตอนกลางและตอนใต้ เช่น คำม่วน สะหวันนะเขต, สาละวัน, อัตตะปือ, เซกอง และบางส่วนของจำปาสัก

9.) สถานการณ์ทุกวันนี้เริ่มที่จะดีขึ้นมาบ้าง เพราะในแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บล้มตายรายใหม่ในลาวเพียง 50 รายจากระเบิดลูกปราย ลดลงจาก 310 รายในปี 2551 อุบัติเหตุเกือบ 60% ส่งผลให้เสียชีวิต และ 40% ของเหยื่อเป็นเด็ก (เช่นไปพบลูกบอมบีแล้วคิดว่าเป็นของเล่นแล้วนำมาโยนใส่กัน) จากข้อมูลของ Legacies of War

10.) สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ทอดทิ้งลาว หลังจากรื้อฟื้นความสัมพันธ์แล้ว สหรัฐฯ ก็ช่วยเหลือลาวในการกู้ระเบิดอยู่เนืองๆ เพียงแต่มันเป็นเงินที่เทียบไม่ได้กับงบประมาณที่สหรัฐฯ ทุ่มเทไปกับการ ‘ทำลายล้างลาว’ เพราะในช่วงสงคราม สหรัฐฯ ใช้เงิน 13.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน เป็นเวลา 9 ปีในการทิ้งระเบิดลาว Legacies of War ประเมินว่า ในเวลาเพียง 10 วันของการทิ้งระเบิดที่ลาว สหรัฐฯ ใช้เงินไป 130 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าที่ใช้ในการเคลียร์ระเบิดในลาวตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

ขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนทะลุ 4 หมื่นคน ในวันที่เปิดบริการ ครบ 100 วัน

(24 ก.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเริ่มต้นบริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนอย่างเมื่อเดือนเมษายน ได้ขนส่งผู้โดยสาร 41,735 คน เมื่อนับถึงวันเสาร์ (22 ก.ค.) ซึ่งถือเป็นวันที่เปิดบริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนครบ 100 วัน

รายงานระบุว่าทางรถไฟจีน-ลาว วิ่งจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านภูเขาและหุบเขาจนถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของลาวด้วยระยะเวลา 10 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งนับรวมเวลาที่ใช้ในพิธีการศุลกากร

จุดผ่านแดนตำบลโม๋ฮัน ณ ชายแดนจีนที่ติดกับลาว ระบุว่ามีการเดินรถไฟ 200 เที่ยว ซึ่งขนส่งผู้โดยสารจาก 49 ประเทศและภูมิภาค จำนวน 41,735 คน โดยจำนวนผู้โดยสารขาเข้าอยู่ที่ 22,066 คน ซึ่งมากกว่าผู้โดยสารขาออกราวร้อยละ 12.2 และร้อยละ 54 เป็นนักท่องเที่ยว

ต่างชาติสัมผัส 'รถไฟจีน-ลาว' พาเข้างานแสดงสินค้าในคุนหมิง เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมจีน-ลาว และโลกไว้ด้วยกัน

(ซินหัว) (15 ส.ค. 66) ที่คุนหมิง นายมูฮัมหมัด ฟาซเซิล แรบบี ชาวบังกลาเทศที่เดินทางจากลาวเข้าสู่จีนเมื่อไม่นานนี้ และเตรียมเดินทางสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อร่วมงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 และงานแสดงสินค้านำเข้าและส่งออกคุนหมิงแห่งประเทศจีน ครั้งที่ 27 เปิดเผยว่าทางรถไฟจีน-ลาว เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนและลาว รวมถึงจีนและโลก

ทางรถไฟจีน-ลาว ได้เปิดบริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. เป็นต้นมา ซึ่งเกื้อหนุนการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ของลาวสู่นครคุนหมิงของอวิ๋นหนาน เมืองเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 และงานแสดงสินค้านำเข้าและส่งออกคุนหมิงแห่งประเทศจีน ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 16-20 ส.ค. นี้

ข้อมูลจากสถานีผ่านแดนตำบลโม๋ฮันบนพรมแดนจีน-ลาว ระบุว่าสถานีฯ ได้ตรวจสอบรับรองรถไฟจีน-ลาว ที่ขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนทั้งหมด 246 เที่ยว รวมถึงผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกจาก 53 ประเทศและภูมิภาค จำนวน 52,888 คน เมื่อนับถึงวันที่ 15 ส.ค.

สำหรับผู้โดยสารที่สื่อสารต่างภาษาสามารถใช้บริการเครื่องแปลภาษาอัจฉริยะที่สถานีฯ ซึ่งสามารถแปลภาษาต่างๆ แบบเรียลไทม์มากกว่า 70 ภาษา รวมถึงรองรับภาษาต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในจีน แปลสลับระหว่างภาษาถิ่นกับภาษาจีนกลาง ภายใต้การผสานเทคโนโลยีวิเคราะห์ความหมายเชิงอัจฉริยะ โดยเครื่องแปลภาษานี้อำนวยความสะดวกแก่การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้โดยสารอย่างมาก

‘เงินกีบอ่อนค่า’ ทำคนลาวแห่หันมาใช้ ‘เงินบาท’ ทำชาวบ้านลำบาก เพราะคนค้าขายไม่รับเงินกีบ

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี @dyogr6z2idix ได้โพสต์คลิปวิดีโอเกี่ยวกับ คนลาวเริ่มแห่ทิ้งเงินกีบ เพื่อหันมาใช้เงินบาท ขณะที่ธนาคารชี้ชัดด้วยว่า คนลาวไม่มีเงินฝากแล้ว โดยระบุว่า...

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ของ สปป.ลาว กําลังเข้าสู่ยุคใช้เงินบาทอย่างเต็มตัว ซึ่งดูได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารพงสะหวัน วันที่ 25 ส.ค.66 จะเห็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทย จะอยู่ที่ 612.79 กีบ ต่อ 1 บาท นั่นแปลว่า ‘เงินกีบอ่อนค่า’ ให้กับสกุลเงินบาทไปแล้ว 75% เมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา

และการที่เงินกีบไร้เสถียรภาพเช่นนี้ จะส่งผลทำให้เงินกีบอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ แน่ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และสภาพจิตใจของประชาชนอย่างมาก เพราะแต่ละวันจะเอาเงินจากไหนไปใช้เพื่อดูแลครอบครัว

อีกทั้ง บางครอบครัว ก็อาศัยใช้ที่ดินในการทำมาหากิน ปลูกผัก ปลูกผลไม้ หรือเลี้ยงสัตว์ แต่มาในตอนนี้ พื้นที่เหล่านั้นถูกเปลี่ยนตกไปอยู่ในการคุ้มครองของนายทุนตามนโยบายของรัฐบาลลาว เพื่อการส่งออกจะได้มีมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนลาวสามารถทำได้ในตอนนี้ คือ ‘พยายามถือครองเงินบาทให้มากที่สุด’ โดยผู้คนส่วนใหญ่ต่างก็เริ่มมาถือครองเงินบาทมากกว่าช่วงที่ผ่านมาแล้วด้วย ส่วนจะมากแค่ไหน ก็มากถึงขั้นที่ว่าล่าสุดบรรดาพ่อค้าแม่ขายผักในตลาดได้ระบุราคาขายสินค้าเป็นเงินบาทแล้ว แถมยังบอกอีกด้วยว่าจะไม่รับเงินกีบแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ลาวได้มีการใช้เงินบาทในการชำระสินค้าอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เยอะเท่าปัจจุบันนี้ที่ถึงขั้นไม่รับเงินกีบ จนถึงช่วงนี้ที่เหลือเพียงแค่ไม่กี่ที่เท่านั้น ที่ยังรับการชำระเป็นเงินกีบ อย่างเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น

ทั้งนี้อ้างอิงประเด็นการปฏิเสธเงินกีบได้จากเพจของลาวที่ชื่อว่า ‘จดหมายข่าว’ ที่ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวของสาวลาวที่ได้ไปซื้อผักผลไม้ที่ตลาด แต่แม่ค้าได้ตอบกลับมาว่าไม่รับเงินกีบ ด้วยว่า…

“รู้สึกน่าอายจริง ๆ เลย ที่สาวคนหนึ่งไปซื้อผักที่ตลาดแขวงบ่อแก้ว เพื่อที่จะได้ไปทำอาหารกินกับครอบครัว แต่พอนำเงินกีบมาจ่ายค่าผักผลไม้ให้กับแม่ค้า กลับถูกแม่ค้าปฏิเสธไม่รับเงินกีบ และยังบอกด้วยว่าพืชผักขายเป็นเงินบาทเท่านั้น” ทำให้สาวลาวคนนั้นได้อ้อนวอนกับแม่ค้า เพราะเธอไม่ได้พกเงินบาทมาด้วย จึงทำให้สุดท้ายแม่ค้าจึงยอมรับเงินกีบไว้...

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเคส ซึ่งเป็นลูกเพจชาวลาวคนหนึ่งซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม ได้ส่งเรื่องเข้ามา โดยเขาได้บอกว่า “ในลาวมีการผ่อนค่างวดรถเป็นเงินบาท” โดยเขาได้โพสต์ที่หน้าเฟซบุ๊กของตนเอง ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “ใครที่ผ่อนรถเป็นเงินบาท เงินดอลลาร์ จะเข้าใจว่ามันจุกแค่ไหน” 

ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่าเงินกีบลาวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร…

‘นายกฯ’ เล็งปั้น ‘ศุลกากรหนองคาย’ สู่ ‘One Stop Service’ จ่อถกผู้นำลาว เล็งผุด ‘สะพานมิตรภาพ 2’ เชื่อมขนส่งถึงจีน

(29 ต.ค. 66) ที่สำนักงานศุลกากรหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนเดินทางมา จ.หนองคาย เป็นครั้งที่ 2 โดยหนองคาย เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากไทยไปจีน และจากการพบกับ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงนายกรัฐมนตรีจีน พบว่าต้องการสินค้าการเกษตรอย่างมาก

ดังนั้น เรื่องระบบขนส่งจึงสำคัญ และ จ.หนองคาย ถือเป็นจุดสำคัญที่มีความพร้อมมาก มีนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาหยุดแค่ จ.หนองคายหรือฝั่งลาว จึงต้องสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย และทำเป็นจุดวันสต็อปเซอร์วิส และอยากให้ศุลกากรเป็นเจ้าภาพเรื่องวันสต็อปเซอร์วิส และใน จ.หนองคาย เป็นต้นแบบแรก

โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และตม.หากเราทำให้การค้าขายไม่เดินหน้าจะลำบาก ทั้งนี้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปพบผู้นำ สปป.ลาว จะพูดคุยในเรื่องทำสะพานมิตรภาพ 2 ในจ.หนองคาย เพื่อให้เราสามารถส่งสินค้าไปถึงจีนได้ ฉะนั้นหน่วยงานในพื้นที่ถ้าติดขัดตรงไหนขอให้บอกมา หากลงทุนแสนล้านแต่ไม่มีความต่อเนื่องในแง่ขนถ่ายสินค้า ลงทุนไปก็จะเสียหายเยอะ

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้โลกพัฒนาไปมาก ใครจะมาลงทุนต้องดูหลายๆด้าน ถ้าเข้าจะมาลงทุนแล้วติดปัญหาเยอะก็ไม่ดี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ไทยขยายได้เยอะ และอยากจะขยายงานแบบนี้ไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ดังนั้น ควรทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองดีขึ้น

‘ลาว’ วิกฤติ!! ‘ยาบ้า’ ทะลักเกลื่อนตลาด ราคาถูกยิ่งกว่าน้ำเปล่า หน่วยปฏิบัติงานหย่อนยาน มุ่งดักจับแค่เป็นรายกรณีเกินไป

‘องค์การสหประชาชาติ’ วิตก ปัญหายาเสพติด ประเภท ‘เมทแอมเฟตามีน’ แพร่ระบาดอย่างหนักในท้องตลาด ‘ลาว’ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ราคาขายต่อเม็ดเหลือไม่เกินเม็ดละ 8 บาท ถูกยิ่งกว่าน้ำดื่มทั่วไป ดันยอดผู้เสพยาพุ่งเพราะเข้าถึงง่าย ซื้อขายคล่อง สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในลาว

ชาวลาวเรียก ‘เมทแอมเฟตามีน’ ว่า ‘ยาบ้า’ เช่นเดียวกับบ้านเรา ซึ่งเป็นสารเสพติดที่แพร่หลายอย่างในลาวมานานนับ 10 ปีแล้ว เนื่องจากลาวเป็นเส้นทางขนส่งยาบ้า จากรัฐฉานทางฝั่งพม่าข้ามรอยต่อชายแดนเข้ามาในลาว

แต่ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการแตกแยกทางการเมือง และสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมายในพม่า ส่งผลให้ขบวนการค้ายาเสพติดในพม่าเติบโตอย่างมาก การลักลอบขนยาเสพติดผ่านเข้ามาในลาวก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

เมื่อมีของเข้ามามาก ราคาก็ถูกลงตามกลไกตลาด ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับปัจจัยค่าเงินเฟ้อในลาว ในขณะที่สินค้าอุปโภค บริโภคพื้นฐานที่จำเป็นล้วนมีราคาสูงขึ้น มีแต่ยาบ้าเพียงเท่านั้น ที่นับวันราคายิ่งถูกลงไปเรื่อยๆ แม้จะมีฐานะยากดีมีจนขนาดไหนก็สามารถซื้อได้

นายบุญมี ผู้ช่วยผู้อำนวยการของ ‘Transformation Center’ หนึ่งในศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดเอกชน ที่มีเพียง 2 แห่งในลาว ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่ช่วง Covid-19 เป็นต้นมา ค่าครองชีพในลาวเพิ่มสูงขึ้น ข้าวของทุกอย่างล้วนขึ้นราคา แต่ยาบ้ากลับมีราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ คนลาวสามารถซื้อยาบ้า 1 เม็ดได้ในราคาเม็ดละ 5,000 - 7,000 กีบ (8.50-12 บาท) แต่ถ้าซื้อยกแพ็ก 200 เม็ด หารเฉลี่ยจะตกเหลือเม็ดละ 2,500 กีบ (4.30 บาท) เท่านั้น

นายแก้ว หนึ่งในผู้บำบัดยาเสพติดในศูนย์ ‘Transformation Center’ วัย 37 ปี เล่าว่า เขาเป็นหนึ่งในผู้เสพติดยาบ้า และเสพต่อเนื่องมานานกว่า 17 ปี ราคายาบ้าที่ถูกลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เขาเสพหนักกว่าเดิมถึงวันละ 10 เม็ด บางครั้งนำไปผสมกินคู่กับกาแฟด้วย เสพหนักจนหลอน จำลูก-เมียไม่ได้ ประสาทตื่นตัวตลอดเวลา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนครอบครัวต้องจับมาส่งศูนย์บำบัดในกรุงเวียงจันทน์

‘เจเรมี ดักลาส’ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ยอมรับว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ทำให้เกิดการไหลทะลักของยาเสพติดข้ามชายแดนเขตรัฐฉาน ตามแนวพรมแดนแม่น้ำโขงเข้ามาในฝั่งลาว

อย่างไรก็ตาม ทางการลาวได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มมาตรการตรวจสอบและจับกุม โดยยาเสพติดล็อตใหญ่ล่าสุด จับกุมได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 จากการสกัดจับรถบรรทุกขนเบียร์ในจังหวัดบ่อแก้ว ซึ่งพบว่ามีการลักลอบขนยาบ้ามากถึง 55 ล้านเม็ด และยาไอซ์อีก 1.5 ตันในคราวเดียว

จากรายงานล่าสุดของ UNODC พบว่า ยอดการจับกุมยาเสพติดในลาวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี พ.ศ. 2562 ยึดได้ 17.7 ล้านเม็ด และเพิ่มขึ้นเป็น 18.6 ล้านเม็ดในปีต่อมา แต่ทว่าตัวเลขล่าสุดของปี 2563 ยึดของกลางได้ถึง 144 ล้านเม็ด

แต่ถึงตัวเลขการจับกุมจะสูงขึ้นแค่ไหนก็ตาม หากไม่มีการรื้อถอนขบวนการขนส่ง ที่เป็นต้นตอของปัญหาของการลำเลียงยาเสพติดผ่านเข้ามาในดินแดนลาว การไหลบ่าของยาเสพติดก็ยังคงอยู่

ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ ได้ชี้ถึงข้อบกพร่องในการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่ลาวว่า จะเป็นการปฏิบัติงานในรูปแบบเฉพาะกิจ ดักจับเป็นรายกรณีไป ซึ่งหลายครั้งพบการเพิกเฉยในการจับกุมคนขับรถขนยา ละเลยการสาวลึกลงไปในขบวนการลักลอบขนสินค้าข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย ตลอดจนการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด

ดังนั้น จะมองเพียงตัวเลขการจับกุมและของกลางที่ยึดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะนั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปริมาณยาเสพติดที่ขนเข้ามาในฝั่งลาว สังเกตได้จากยาบ้าที่ล้นตลาด จนทำให้มีราคาถูกลงมากอย่างน่าใจหายนั่นเอง

ซึ่งปัญหาของยาบ้าล้นตลาดในลาว ก็สะท้อนถึงปัญหาของไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งยาบ้าจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ไหลเข้ามาฝั่งไทยจำนวนมหาศาล ท่ามกลางปรากฏการณ์ ‘ยาบ้าถูกกว่าน้ำเปล่า’ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรต้องตระหนักว่า เราควรหาทางป้องกันสังคมของเราอย่างไรต่อภัยยาเสพติดราคาถูกเช่นนี้

‘ลาว’ เร่งศึกษาการสร้าง ‘ฟาร์มกังหันลม-สถานีไฟฟ้าย่อย’ หากแล้วเสร็จ จะกลายเป็นแหล่งพลังงานของอาเซียน

(21 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถานีโทรทัศน์แห่งชาติลาวเปิดเผยว่า ลาวเตรียมศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการสร้างฟาร์มกังหันลม และสถานีไฟฟ้าย่อย ขนาด 500 กิโลโวลต์เพื่อจ่ายไฟฟ้า ในแขวงสะหวันนะเขตทางตอนใต้

ข้อตกลงดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยสถาบันดิต อินซีเซียนใหม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของลาว คำสะหวัด บุนวิไล กรรมการผู้จัดการบริษัท นาเซง-วาโย รีนิวเอเบิล รีซอร์ส เดเวลอปเมนต์ แอนด์ อินเวสเมนต์ และโลแกน น็อกซ์ ตัวแทนของยูพีซี เวียดนาม (สิงคโปร์)

การศึกษานี้จะดำเนินการที่เขตวีละบูลี อาดสะพอน และพินของแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวไปทางใต้ประมาณ 400 กิโลเมตร โดยเป็นความร่วมมือระหว่างยูพีซี รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี (UPC Renewable Energy) และบริษัท นาเซง-วาโย รีนิวเอเบิล รีซอร์ส เดเวลอปเมนต์ แอนด์ อินเวสเมนต์ ของลาว

รายงานระบุว่ามีการวางแผนสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเอื้อการส่งพลังงานที่ผลิตขึ้นจากพลังงานลมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ยูพีซี รีนิวเอเบิล เอเนอร์จี คอมปานี คาดว่าจะดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังงานนี้โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุดของลาว ควบคู่กับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กำหนดโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC) โดยต่อยอดจากประสบการณ์ของบริษัทฯ ในด้านการพัฒนาโครงการพลังงานลม และศักยภาพการจัดหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

หากโครงการข้างต้นประสบความสำเร็จ แขวงสะหวันนะเขตจะเป็นที่ตั้งของฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และกลายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับภูมิภาคด้วยการใช้งานสถานีไฟฟ้าย่อย 500 กิโลโวลต์และระบบจ่ายไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียน

'พีระพันธุ์’ เชียร์นำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว  จี้!! กฟผ. แจงเหตุผลที่จำเป็นแก่ประชาชน

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ บ้านหนองแก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่าโครงการนี้เป็นโครงการระบบส่งที่รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP พลังน้ำจากเขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 และเขื่อนน้ำเทิน 1 จาก สปป.ลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,516 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 859 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดและสามารถลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนในระดับสูงอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 จังหวัดอุดรธานี ที่ได้เยี่ยมชมในวันนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในปัจจุบัน เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังงานจาก สปป.ลาว มีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าในปัจจุบันที่มีราคาผันผวนในระดับที่สูง แต่กระทรวงพลังงานก็พยายามบริหารจัดการทั้งโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรม ไปพร้อมกับการจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ สร้างความมั่นคงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และยั่งยืน

“ผมได้แสดงความห่วงใยถึงภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งขอให้ กฟผ.ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบถึงความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและมีต้นทุนที่ต่ำ” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี โรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.90 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2561 โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกร้องเรียนจากประชาชนถึงมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 4 ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 9 (อุดรธานี) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้เข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและได้สั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า

“การเลือกดูงานที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด เพราะได้รับรายงานว่าสร้างมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ส่งผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า จากการรับฟังผู้ประกอบการได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา คาดการณ์ได้ว่าแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมได้กำชับทั้งผู้ประกอบการและส่วนราชการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนี้ แม้จะเป็นโครงการที่ดี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนให้โรงไฟฟ้า และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่สร้างมลภาวะให้กับประชาชนรอบโรงไฟฟ้าด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

อวสาน ‘ไททันยักษ์’ บนยอดเขาประเทศลาว หลังหมอกจาง ท้องฟ้าโปร่ง ก็คนดีๆ นี่เอง

(8 ธ.ค. 66) จากกรณี ‘ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ไขข้อข้องใจคลิป ‘ไททันยักษ์’ บนยอดเขาประเทศลาว ตามที่ได้รายงานข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น

ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยคลิปวิดีโอ จากมุมเดียวกันของเขาลูกดังกล่าว ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีเมฆหมอกแต่อย่างใด โดยได้มีคนไปยืนอยู่จุดเดียวกับที่พบไททันยักษ์ ตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ก็ปรากฏว่า ขนาดของคนที่ยืนนั้น ก็ได้เท่ากับตัวของไททันยักษ์ จึงสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ที่เห็นในคลิป เป็นคนอย่างแน่นอน

ด้าน อ.เจษฎ์ ก็ได้ระบุข้อความว่า วันก่อน ‘ไททันยักษ์’, ‘คิงคอง’ แอบมาปรากฏตัวให้คนแตกตื่นอยู่บนยอดเขาประเทศลาว ท่ามกลางม่านเมฆหมอก มองไม่ค่อยชัดเลย

วันนี้ ไม่มีเมฆ ไม่มีหมอก ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ขอโชว์ตัวชัดๆ สักหน่อยนะครับ 5555

(ป.ล. สรุปว่า จริงๆ ก็ ‘คน’ นั้นแหละครับ ฮะๆๆๆ)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top