Saturday, 18 May 2024
ลอยกระทง

คุณหมอ ขอเล่าประสบการณ์ เคสผู้ป่วยที่เจอ  พร้อมเตือนให้ดูแลตัวเอง ระมัดระวัง จากภัยใกล้ตัว

ผู้ใช้ TikTok ที่ชื่อว่า drmomdiary ได้โพสต์คลิปสั้น เล่าประสบการณ์ ของตนเองที่เจอกับเคสของผู้ป่วยในวันหยุด โดยระบุว่า ...

คุณหมอไม่ชอบวันหยุด วันหยุดยาวทุกคนจะชอบมากแต่คนที่ไม่ชอบเลยก็คือหมอ เพราะว่าข้อ 1 เคสผู้ป่วยที่มาจะเป็นผู้ป่วยหนัก เพราะถ้าไม่หนักจริงเขาก็ไม่มาในวันหยุดหรอก

ข้อที่ 2 ก็คือ เพราะอาการหนักแล้วก็ต้องปรึกษาหมอเฉพาะทาง ซึ่งหมอเฉพาะทางก็จะไม่ค่อยมีในช่วงของวันหยุด เพราะหมอก็จะลาไป ถ้าเกินศักยภาพของหมอเราก็ส่งต่อยากอีก ฉะนั้นแล้ววันหยุดสำหรับหมอแล้วไม่มีอะไรดีเลย

ยกตัวอย่าง เคสผู้ป่วยของหมอตา เหตุเกิดจากเทศกาลลอยกระทง เกิดเหตุพลุระเบิด แล้วโดนดวงตาเยอะมาก และส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาการหนัก บางครั้งก็ถึงขนาดสูญเสียการมองเห็นไปเลย มีผู้ป่วยอยู่คนหนึ่ง ไม่ได้จุดเองแค่คนไปยืนดูและก็ไม่ได้จะดูใกล้ๆ แต่พลุระเบิดเนี่ยมันกระเด็นแล้วไปโดนต้นไม้แล้วก็สะท้อนมาโดนที่ลูกตา เพราะฉะนั้นแล้วเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรไปยืนในบริเวณที่มีคนกำลังจุดพลุ

'มาร์เวล สตูดิโอ' ปล่อยโปสเตอร์ฉลองเปิดตัว #TheMarvels จับ 3 สาวซูเปอร์ฮีโร่สวมชุดไทย ในธีมลอยกระทง

'เดอะ มาร์เวลส์' ก็มา 'ลอยกระทง'

หลังจากที่เปิดตัวรอบปฐมทัศน์กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 'เดอะ มาร์เวลส์' (The Marvels) หนังซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติอเมริกันเรื่องล่าสุด สร้างจากตัวละครมาร์เวลคอมิกส์ โดยมี 'บรี ลาร์สัน' รับบท 'แครอล แดนเวอร์ส' หรือ 'กัปตันมาร์เวล' ยอดมนุษย์สาวพลังคอสมิกเช่นเคย สมทบด้วย 'โมนิกา แรมโบ' และ 'กมลา ข่าน' เป็น 'มิสมาร์เวล'

The Marvels ภาคนี้ได้ 'Nia DaCosta' (นีอา ดาคอสตา) ผู้กำกับหญิงแกร่งจากภาพยนตร์สร้างชื่อ Candyman (2021) มานั่งแท่นผู้กำกับ โดยหนังได้รับรางวัลดาว 6.1 จากเว็บไซต์วิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง imdb.com

ล่าสุด มาร์เวล สตูดิโอ ได้เฉลิมฉลองการเปิดตัว #TheMarvels ด้วย 8 โปสเตอร์จาก 8 ประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และหนึ่งในนั้นมีโปสเตอร์จากประเทศไทย โดยจับให้ซูเปอร์ฮีโร่สาวทั้งสาม สวมชุดไทยมาในธีมวันลอยกระทง เข้ากันกับเทศกาลที่กำลังจะมาถึงของไทย และเป็นงานรื่นเริงซึ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ฝรั่งจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่งานนี้เราขอเรียก Soft Power ไว้ก่อน

เรื่อง : พรชัย นวการพิศุทธิ์

สตม. มอบเทียนกระทงน้อยกระตุ้นท่องเที่ยว เปิดแผนลอยกระทงสุวรรณภูมิ

ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศโดยได้มีการลดเงื่อนไขการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย สําหรับนักท่องเท่ียว สัญชาติจีน อินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน ในช่วงเดือนท่ีผ่านมาโดยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดิน ทางเข้ามาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยเป็นจํานวนมาก ซึ่งสํานักงานตรวจคนเข้าเมืองได้จัดทํามาตรการในการ สนองตอบตามนโยบายดังกล่าวโดยเฉพาะการเร่งปรับปรุงการอํานวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมืองภายใต้หลัก ความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (24 พ.ย.66) พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. พร้อมด้วย รอง ผบช.สตม. ได้มาเป็นประธานปล่อย แถวกําลังพล ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ ที่อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2 พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 เข้าร่วมพิธี

ซึ่งการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามแผนการอํานวยความสะดวกด้านพิธีการเข้าเมืองในช่วง เทศกาลลอยกระทง 2566 โดยจะมีการปฏิบัติในช่วงวันที่ 24 – 28 พ.ย.2566 ซึ่งคาดการว่าจะมีนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวจํานวนกว่าวันละ 50,000 คน

โดยสํานักงานตรวจคนเข้าเมืองได้มีมาตรการในการเตรียมความพร้อมรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทาง เข้ามาในประเทศไทยทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ที่สําคัญ ดังนี้
1. จัดกําลังพลจากด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ เข้าเสริมกําลังพลที่ขาดแคลนกว่า 150 นาย
2. มีการจัดกําลังพลให้เต็มอัตรากําลังทุกช่องตรวจในช่วงที่มีเที่ยวบินลงพร้อมกันหนาแน่น เพื่อเร่งระบาย
ปริมาณผู้โดยสารที่สะสมในโถงพักรอให้ได้ภายใน 30 นาที
3. รับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่อาสาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วยให้คําแนะนําและจัดเตรียมเอกสารให้แก่
ผู้โดยสารรอรับการตรวจหนังสือเดินทาง เพื่อลดระยะเวลาระหว่างตรวจหนังสือเดินทางไม่เกิน 45 วินาที/คน

ทั้งนี้ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. ได้มอบอาหารสําเร็จรูปและเครื่องดื่มแก่กําลังพลเพื่อเป็น ขวัญกําลังใจ และมอบของที่ระลึกเป็นเทียนรูปกระทงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในช่วงเทศกาล ลอยกระทงเป็นที่ระลึก ช่วยสร้างสีสันและบรรยากาศที่น่าชื่นชมแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา

‘พี่คนดี’ ร่ายกลอน!! คุณค่าประเพณีดีงามไทยต้องควรคงไว้ ชี้!! อย่าหลงลมหัวก้าวหน้า ที่ร้องเลิกเพียงเพื่อสร้างประเด็น

(27 พ.ย.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น)’ ได้โพสต์ข้อความพร้อมบทกลอนเรื่อง ‘ประเพณีลอยกระทง’ ระบุว่า... 

ถึงวันลอยกระทงทีไร ก็มีคนเอามุมเรื่องขยะ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขึ้นมาชู แล้วรณรงค์ให้ ยกเลิกประเพณี กันทุกที ถ้าเราจะมองแต่มุมเสียก็คงต้องยกเลิกทุกอย่างกระมัง

ปีใหม่จุดพลุ ตรุษจีนจุดธูปเผากระดาษ ก็จะว่า ‘ไม่อนุรักษ์อากาศ’ เล่นสงกรานต์เอาน้ำมาสาดเล่น ก็จะว่า ‘ไม่อนุรักษ์น้ำ’ ว่ากันตามจริงทุกเทศกาลมันก็ก่อให้เกิดขยะกองโตทั้งนั้น ต้องยกเลิกไปให้หมดหรือเปล่า แล้วมุมที่คนออกมาจับจ่ายใช้สอย ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยว เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มองกันบ้างเหรอ ไม่พูดเรื่อง Soft Power กันบ้างหรือไร?

ขยะในวันลอยกระทง อีกวันเขาก็มาเก็บไปหมด ไม่ได้ถูกปล่อยไว้ หรือไม่ได้เก็บยากเย็นเหมือนขยะในทะเล มารณรงค์สร้างความตระหนักว่า หลังจากขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ก็ไม่ควรทิ้งขยะกันในวันอื่น ๆ กันดีกว่าไหม เพราะวันอื่น ๆ ไม่มีใครมาตามเก็บให้ทันที เหมือนหลังวันลอยกระทง

กระทงใบตองแบบเดิม ๆ เก็บทิ้งได้ไม่ยากหรอก คนโบราณเขาคิดมาไว้ดีแล้ว แต่ พวกกระทงขนมปัง ที่อ้างว่ารักษ์โลก ไม่ควรใช้อย่างยิ่ง เพราะจะมีปัญหามากกว่า เมื่อปลากินไม่หมด และเก็บไม่ทันมันก็ละลายผสมลงในน้ำทำให้ น้ำค่าบีโอดีสูง จุลินทรีย์มากินจนเติบโต แล้วน้ำก็จะเน่า กระทงโฟมก็มีปัญหากำจัดยาก ไม่ควรใช้ เหมือนกับที่ไม่ควรใช้ใส่อาหารกันพร่ำเพรื่อนั่นแหละ

คนส่วนใหญ่ลอยกระทงกันตอนเด็กหรือวัยรุ่น โตขึ้นมาก็ไม่ลอยกันแล้วโดยอัตโนมัติ เหมือนกับเรื่องเล่นสงกรานต์ หลายครั้งเราอาจจะลืมไปแล้วว่าตอนเด็ก ๆ เราก็เคยสนุกกับมัน พอเราโตแล้ว เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่มีสาระสักเท่าไร เลยจะไปยกเลิกมันเหรอ ให้เด็ก ๆ เขาสนุกกันบ้างเถอะ ส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ก็ลอยในแหล่งน้ำปิด ถึงลอยในแม่น้ำ ก็มีคนมากั้นและ เก็บในไม่ช้า

เรื่อง ซานตาคลอส ที่เด็กฝรั่งตื่นเต้นตั้งตารอ แต่โตมาก็รู้ว่ามันไม่จริง แต่ฝรั่งเขาก็ไม่ได้รณรงค์ให้ยกเลิก นี่นา หรือ งานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ ไทม์สแควร์ ก็มีการโปรยเศษกระดาษชิ้นเล็ก ๆ ลงมา พออีกวันมันก็คือขยะที่ต้องลำบากเก็บเหมือนกัน บ้านเขาไม่เห็นมีใครไปรณรงค์ให้ยกเลิก นี่นา เออถ้ามันสร้างความเดือดร้อนจนเห็นชัดอย่าง โคมลอย ที่ไปตกบ้านคนอื่นแล้วไฟไหม้ก็ว่าไปอย่าง

เห็นเพื่อน ๆ หลายคนหงุดหงิดกับขยะวันลอยกระทง ผมก็เคยรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันครับ แต่ก็เห็น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงร่วมกิจกรรมนี้ด้วยตลอดทุกปี แม้ตอนที่ท่านประทับที่ รพ. ก็เลยมาฉุกคิดในอีกด้าน

ส่วนตัวผมมองว่า ประเพณีนี้ยัง สมควรได้ไปต่อครับ เพื่อนคนใดไม่อยากลอยก็ไม่ต้องลอยเป็นสิทธิ์ของท่านเลย ผมเองก็ไม่ได้ลอยมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าใครเขายังอยากลอยก็อย่าไปว่าเค้าเลยนะครับ จะว่าไป มันเช่นเดียวกับหลาย ๆ เรื่อง ที่ถกเถียงกันนั่นแหละ

อย่าไปหลงลมพวกหัวก้าวหน้าบ้าฝรั่ง ที่ประเพณีอะไรของไทยก็อยากจะยกเลิก ทุกวันเทศกาลงานประเพณีแทนที่จะไปรื่นเริง ก็มาสร้างประเด็น แซะพระโค แซะกระทง แซะพานไหว้ครู แซะแปรอักษร เรื่อยไปไม่หยุดหย่อน คนพวกนี้ จะมีความสุขเหมือนคนอื่นเขาบ้างไหม 

สุขสันต์วันเทศกาลนะครับ

434/2023 ประเพณีไทยก็มีมาตั้งนาน

ตรงไหนแย่ เราก็แค่ คิดแก้ไข
ชวน ‘ยกเลิก’ มันถูกไหม ลองไขขาน
ประเพณี ไทยก็มี มาตั้งนาน
ลองมองดู หลายหลายด้าน อย่าต้านเลย

บางอย่างมัน ไม่ได้แย่ จนแน่ชัด
ไม่อยากจัด ไม่อยากแคร์ ก็แค่เฉย
ความตื่นตา น่าภิรมย์ น่าชมเชย
ทุกคนเคย ยอมรับ อินกับมัน

พอโตมา เริ่มมองว่า ไร้สาระ
มีคนเอา เรื่องขยะ มาปลุกปั่น
ให้ยกเลิก เทศกาล ในวานวัน
ทั้งที่ตอน วัยเด็กนั้น ว่าบันเทิง

อ้างว่ามัน ไม่ก้าวหน้า ล้าสมัย
ไม่เอาไหน ใฝ่กระทุ้ง ให้ยุ่งเหยิง
ไยต่อต้าน เทศกาล งานรื่นเริง
ที่ดำเกิง ดำรงมา กว่าร้อยปี

นัยแห่งสยาม!! ไม่มีลอยกระทง ไม่มีนางนพมาศ ในสมัยสุโขทัย แต่เพราะบ้านเมืองเราดี ถึงมีประเพณีขอขมาแม่น้ำอันดีงามนี้เกิดขึ้น

‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่เชื่อกันว่า เป็นพระสนมของพระร่วง และได้คิดประดิษฐ์กระทงขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงทราบ อาจจะเคยได้ยิน และหลายท่านก็อาจจะไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปมาก่อน

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ รวมไปถึงนักวิชาการ และกรมศิลปากรได้ยืนยันว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  

‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ’ สมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง ‘นางในวรรณคดี’ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี ๒๔๕๗ ว่า 

“ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอะไร ?

การแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อแสดงถึงเรื่องราวประเพณีอันสุดจินตนาการนี้ เพราะบ้านเมืองของเราดี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องมีการหลอมรวมจิตใจ การสร้างความปึกแผ่นและการมีส่วนร่วมของคนในชาติ การสร้างกุศโลบายโดยตัวหนังสือและการบอกเล่าจึงเป็นเครื่องมือเพื่อโน้มนำการณ์ดังกล่าว การสร้างประเพณีใหม่บนพื้นฐานพระราชพิธีเดิมจึงได้เกิดเป็นเรื่องราวของการลอยกระทงขึ้น 

สำหรับสุโขทัยแม้ว่า ‘ลอยกระทง’ จะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ปรากฏคำที่เกี่ยวข้องกับการเผาเทียนเล่นไฟ โดยระบุไว้ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” (อันนี้ไม่ขอถกเถียงเรื่องของที่มา ที่ไปของหลักศิลาจารึกนะครับ) ซึ่งก็นับเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันได้ 

ซึ่งคำว่า ‘เที้ยร’ หมายถึง ‘เทียนบูชา’ และการขอขมาพระแม่คงคา ส่วนคำว่า ‘เล่น’ หมายถึงการทำอะไรให้เป็นที่สนุกเพลิดเพลิน ผนวกกับคำว่า ‘ไฟ’ จึงหมายถึงการทำอะไรให้สนุกสนานเพลิดเพลินด้วยไฟ ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า ทำบุญไหว้พระก็ได้ เพียงแต่เป็นพิธีใหญ่แตกต่างจากงานปกติ ซึ่งผมอนุมานเอาแบบนี้นะครับ

มาที่ราชพิธีบ้าง ผมว่าหลายท่านคงได้เห็นพระราชพิธี ‘จองเปรียง’ ผ่านละคร ‘พรหมลิขิต’ ไปกันบ้างแล้ว

จากพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ระบุว่า พระราชพิธีเหล่านี้เป็นพระราชพิธีสําหรับปฏิบัติในพระนครซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต 

พระราชพิธีเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ที่มีการนับถือ พระเจ้าต่าง ๆ ในศาสนา พราหมณ์ และส่วนหนึ่งเกิด จากความเชื่อความศรัทธา ในพุทธศาสนาควบคู่กัน ดังนั้นในพระราชพิธีบางอย่าง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างพราหมณ์และพุทธ

ในพระราชกําหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจําเดือนทั้ง ๑๒ เดือนไว้ว่า เป็น ‘กิจซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทําเพื่อเป็นมงคลสําหรับพระนคร ทุกปีมิได้ขาด’

โดยระบุไว้ว่าในเดือน ๑๒ มี ‘พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม’ โดยแยกเป็น ๒ กิจกรรมที่กระทำในคราวเดียวกันคือ กิจกรรมที่ ๑ จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก และกิจกรรมที่ ๒ ลอยโคม ซึ่งลอยลงน้ำ

สมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดีก็ระบุไว้ถึงการ ‘ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ก็มีบันทึกไว้ดังนี้ 

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่น้ำ (พระแม่คงคา) ด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (กลางแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง” 

“สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต” 

คำกราบขอขมาแม่พระคงคาต่อความผิดพลั้ง สร้างสิ่งไม่ดีต่อแม่น้ำพร้อมตั้งจิตลอยเคราะห์กรรมไปกับแม่น้ำ แต่ไม่ใช่การล้างบาปที่เรากระทำนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าลอยกระทงก็จะช่วยล้างบาปไปได้ แต่สิ่งที่ได้จากการขอขมานี้คือการสร้างสำนึกรู้ต่องการกระทำของเราที่ส่งผลต่อสายน้ำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคมของเรา ย่อมกระทบต่อทุกสิ่งรอบตัว

ไม่ว่า ‘ลอยกระทง’ จะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน สิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ก็คือประเพณีนี้เกิดขึ้นเมื่อยุคบ้านเมืองดี เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัว ในบ้านเมือง และเพื่อให้รู้จักบุญคุณของแม่น้ำ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรของประเทศไทยเรา ให้อยู่ต่อไปสืบลูก สืบหลาน

‘บ้านพักคนชราธรรมปกรณ์ฯ’ จัดงานลอยกระทง ‘สร้างความสุข-คลายความเหงา’ ให้คุณยายสูงวัย

(26 พ.ย. 66) ที่สถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วง และสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์โพธิ์กลาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา น.ส.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมวันสำคัญและประเพณีจัดงานวันลอยกระทง พร้อมสนับสนุนเทศกาลลอยกระทงผู้สูงอายุ พร้อมด้วยนายกมลศักดิ์ เกษเมธีการุณ และนายวีระชาติ ทุ่งไผ่เเหลม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นำคณะผู้บริหาร โดยมีนางรังสียา บุทกิจ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และน.ส.ณิชาสุธนี นกนอก หัวหน้าฝ่ายสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้สูงอายุที่อยู่ในความอุปการะของสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วงให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่น และได้แสดงกิจกรรม ร่วมรำวงย้อนยุค

ทั้งนี้สถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วง กองสวัสดิการสังคม มีหน้าที่ให้การอุปการะผู้สูงอายุหญิงที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน โดยได้จัดบริการด้านปัจจัยสี่ ด้านสุขภาพอนามัย ด้านอาชีวบำบัด ด้านสังคมสงเคราะห์ และนันทนาการเป็นต้น ปัจจุบันมี ผู้สูงอายุ จำนวน 68 ราย ในการนี้สถานสงเคราะห์ฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของประเพณีลอยกระทงนี้ จึงได้จัดงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีจัดงานวันลอยกระทงขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมสืบสานประเพณีไทย ทำให้ผู้สูงอายุได้รับความสุขทางใจ มีความภาคภูมิใจ ที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทงของไทย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ ได้มีกิจกรรมประกอบด้วย การลอยกระทงร่วมกัน เพื่อขอขมาพระแม่คงคา การประกวดคุณยายนพมาศและการแสดงของผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งมีการจัดเลี้ยงอาหาร ขนม มอบของขวัญให้กับผู้สูงอายุทุกท่าน ร่วมลอยกระทงอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง 

ขณะที่บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นโดยมีการจัดกิจกรรมสร้างความรัก ความอบอุ่น สร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับผู้สูงอายุ มีความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง มีการประกวดคุณยายพมาศ ได้แก่ หมายเลข 5 คุณยายพัลลภา ทัพวิบูลย์ อายุ 79 ปี ส่วนมิสออร่า หมายเลข 6 คุณยายพรรณี จุฑาเกตุ อายุ 70 ปี เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีรางวัล คุณยายผิวสวย, ขวัญใจช่างภาพ, นางงามบุคลิกภาพดี, ขวัญใจพี่เลี้ยง, คุณยายเสียงใส และนางงามมิตรภาพ พร้อมกับร่วมกันรำวงในเพลงลอยกระทง และได้ร่วมกันลอยกระทงในสระน้ำภายในสถานสงเคราะห์ โดยคุณยายทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ดีใจ สดชื่น มีความสุข อบอุ่นกันทุกคน

น.ส.ยลดา กล่าวว่า กิจกรรมเทศกาลลอยกระทง ทำให้เห็นบรรยากาศของผู้สูงอายุที่มีสถานสงเคราะห์ 2 แห่ง ทั้งบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วง กับบ้านคนชราธรรมปกรณ์โพธิ์กลาง เพื่อให้กำลังใจและเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีวันลอยกระทง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นประจำทุก ๆ ปี ซึ่งเราอยากให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า คุณพ่อ คุณแม่ผสมผสานร่วมด้วยกันในการร่วมกิจกรรมดี ๆ เพราะประเพณีลอยกระทงถือว่าสิ่งที่ดีงามเป็นการขอขมาแม่น้ำคงคา เพราะน้ำเราใช้ดื่ม ใช้กิน ใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภคใช้ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมที่เราทำวันนี้ถือว่าคลายความเหงาให้ผู้สูงอายุ ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ให้ทุกท่านได้รับรู้ว่าท่านไม่ได้ถูกทอดทอดทิ้ง เป็นกิจกรรมที่ดีงาม และคุณคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้มีสุขชภาพจิตที่ดี สุขภาพกายที่ดี ไม่ซึมเศร้า ท่านได้สนุกสนาน และคลายความเหงาให้กับผู้สูงอายุ ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน

ด้านคุณยายสุนีย์ ญาสตรี อายุ 76 ปี กล่าวว่า กิจกรรมวันนี้ที่จัดให้ดีมาก ทำให้ยายได้ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า เพราะเราไม่ได้ออกไปข้างนอก 3-4 ปีแล้ว เพราะสถานการณ์โควิด ยายอยู่ที่นี้มีความสุข เจ้าหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ดีมาก พี่เลี้ยงให้ความเป็นกันเองดี รับผิดชอบดีทุกอย่าง โดยเฉพาะทาง อบจ. โดย น.ส.ยลดา ที่ไม่ทอดทิ้งเรา รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่เขายังไม่ทิ้งคนแก่บ้านเมตตา ขอบคุณทุก ๆ ท่านที่มาทำบ้านที่บ้านคุณยาย ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุก ๆ ท่านที่ได้กรุณาคุณยายเราทุกคน ขอบคุณผู้ใจบุญทุกคนที่ยังคงนึกถึงพวกตน

‘เทศบาลตำบลบางเมือง’ จัดประกวด ‘นางนพมาศผู้สูงอายุ' ‘สร้างสีสัน-คืนความสุขให้สูงวัย’ ในวันลอยกระทงเต็มเปี่ยม

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.66) ที่สำนักงานเทศบาลตำบลบางเมือง ได้จัดงานประเพณีลอยกระทง 2566 อย่างยิ่งใหญ่ โดยมี นาวาเอก อนุศักดิ์ นาคทิม นายกเทศมนตรีตำบลบางเมือง เป็นประธานเปิดงานประเพณีลอยกระทง เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย ที่มีมายาวนาน ให้คงอยู่สืบไป โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ บนเวทีสร้างความสามัคคีและสร้างสีสันให้กับงาน 

ภายในงานได้มีการประกวดกระทงสวยงาม และการประกวดนางนพมาศ โดยปีนี้ได้รับสมัครผู้เข้าประกวดนางนพมาศที่มีอายุระหว่าง 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางเมือง ซึ่งจะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาตัดสินการประกวด โดยจะพิจารณาจากรูปร่างหน้าตา ความสวยงาม ความประทับใจในบุคลิกภาพ คะแนน 40 คะแนน กิริยามารยาท ท่วงท่าในการตัดสินใจและความมั่นใจ 30 คะแนน และการแต่งกายสวยงามเหมาะสมอีก 30 คะแนน

ซึ่งการประกวดดังกล่าวสร้างความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก โดยมีกองเชียร์ส่งเสียงลุ้นระทึกให้กับผู้สมัครนางนพมาศของตัวเองที่เข้าประกวดทำให้บรรยากาศภายในงานมีสีสัน สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน โดยประชาชนต่างทยอยไปลอยกระทงที่ท่าน้ำที่ทางเทศบาลได้จัดเตรียมไว้ให้ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกดูแลเรื่องความปลอดภัย 

ประชาชน นักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่งไทยไปลอยกระทง ณ วัดอรุณราชวราราม ในงาน 'ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture'

ประชาชน นักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่งไทยไปลอยกระทง ณ วัดอรุณราชวราราม ในงาน “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” โดยวธ.ร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เน้นให้ประชาชน ร่วมสืบสานคุณค่าสาระประเพณีไทย พร้อมเตรียมเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา ๑๘.๐๐ น. ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2566 “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อม คณะทูตานุทูต ประเทศลาว สิงคโปร์ เกาหลี ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมด้วย นายสุรพล เศวตเศรนี ประธานการจัดงาน Bangkok River Festival 2023 นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นางอาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยกรุ๊ปฯ และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายที่ร่วมงาน ซึ่งภายในงานมีประชาชน นักท่องเที่ยวจำนวนมากแต่งชุดไทยมาเที่ยวงาน และร่วมลดขยะด้วยการลอยกระทงร่วมกัน

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า งานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช ๒๕๖๖ “ลอยกระทง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม Loy Krathong : River of Culture” เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีสำคัญที่พี่น้องชาวไทยจะได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน ร่วมงานด้วยความรู้ ความเข้าใจ และความภาคภูมิใจ เพราะเป็นประเพณีที่เต็มไปด้วยคุณค่า ความหมายที่จะสร้างสรรค์สังคม และชุมชนให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติที่มีคุณต่อมนุษย์นับแต่อดีตจนปัจจุบัน และความเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่งดงามของคนไทยที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา 

“งานลอยกระทง ณ วัดอรุณฯ ปีนี้ เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อเผยแพร่และสืบสานคุณค่าสารัตถะประเพณีลอยกระทง แล้ว ยังได้มีการจัดประกวดกระทงในประเภทสวยงามและสร้างสรรค์ การจัดแสดงผลงานของเด็กและเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดสื่อแนวคิดสร้างสรรค์ ยกระดับวันลอยกระทงท้องถิ่น จากท้องถิ่นสู่เลอค่า การแสดงดนตรีจากวงดุริยางค์กรมศิลปากร การแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงดนตรีลูกทุ่งจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ตลอดจนการสาธิตอาหารไทย ขนมโบราณ การสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ มาให้พวกเราได้สัมผัสในหลากหลายรูปแบบ ถือเป็นงานลอยกระทงที่งดงามเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม” นายเสริมศักดิ์ กล่าว

โดยนายเสริมศักดิ์ ประธานพิธีได้มอบรางวัลการประกวดกระทงประเภทสวยงามและสร้างสรรค์ จำนวน ๑๒ รางวัล และมอบรางวัลจากการประกวดสื่อแนวคิดสร้างสรรค์ ยกระดับวันลอยกระทงท้องถิ่น จาก Local สู่เลอค่า รวมจำนวน ๘ รางวัล จากนั้น ประธานพิธีพร้อมคณะฯ ได้ร่วมลอยกระทงพร้อมกัน ณ บริเวณท่าน้ำ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จากนั้นได้รับชมการแสดงดนตรีออร์เคสตร้า “รุ่งอรุณ สู่ค่ำคืน” ผลงานเพลงที่รังสรรค์พิเศษเพื่องานลอยกระทง โดย สมเถา สุจริตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัย)  พุทธศักราช ๒๕๖๕

นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานลอยกระทง ณ วัดอรุณฯ ได้ชมและร่วมสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การสาธิตการทำกระทงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสาธิตการทำอาหารและขนมโบราณ กิจกรรมลานอรุณ รักษ์ไทย by Thai Group  ได้ความรู้จากนิทรรศการเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญของประเพณีลอยกระทง  ชมกระทงสวยงามและสร้างสรรค์ ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในงาน  ชมผลงานจากการประกวดสื่อแนวคิดสร้างสรรค์ ยกระดับวันลอยกระทงท้องถิ่น จาก local สู่เลอค่า และยังได้ชิมอาหารและขนมจากโครงการ “๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” 

ของกรุงเทพมหานครและพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ข้าวตอกตั้ง แกงเหงาหงอด และชมชิมการสาธิตอาหารไทยโบราณ อาหารท้องถิ่น ได้แก่ หมูโสร่ง ขนมถุงเงินถุงทอง ขนมบัวลอย ดอกพิกุล ขนมต้มญวน เมี่ยงดอกบัว ขนมวงและขนมบัว ขนมกระทงทอง ขนมล่าเตียงไส้มะพร้าวกุ้ง ขนมพวงประทัด ขนมตระกูลทอง (ทองหยิบ ทองเอก ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน จ่ามงกุฏ สเน่ห์จันท์) น้ำสมุนไพร ขนมจีนน้ำยาเห็ด ขนมไข่ปลา ข้าวเหนียวมะม่วง และในช่วงดึกยังได้เพลิดเพลินกับการแสดงดนตรี โดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร และปิดท้ายด้วยความบันเทิงการเพลงลูกทุ่งจากศิลปินนักร้องดาวรุ่ง นัน ไมค์ทองคำ และที่สำคัญยังได้ร่วมกันลดปริมาณขยะ ๑ ครอบครัว ๑ กระทง ลอยผ่านรางน้ำหรือสไลเดอร์ อย่างสะดวกปลอดภัย ณ บริเวณท่าน้ำวัดอรุณฯ จึงเป็นค่ำคืนที่สวยงามและประทับใจยิ่ง

นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาค กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังสนับสนุนให้จังหวัดต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีลอยกระทง คงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น งานเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย / งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1000 ดวง จังหวัดตาก / งานประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ / งานประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม / งานประเพณีลอยกระทงที่ จังหวัดมหาสารคาม อุดรธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และประชาสัมพันธ์จังหวัดของภูมิภาคต่าง ๆ

ระบบรางไทยร้อนแรง!! ลอยกระทงวันเดียว โกยผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน

‘กรมรางเผย’ วันลอยกระทง 66 ผู้โดยสารทะลุ 1.9 ล้านคน-เที่ยว ยอดใช้บริการเพิ่มจากลอยกระทงปีก่อน 29.62 % เปิด 2 สายน้องใหม่ “เหลือง-ชมพู”เพิ่มโครงข่ายเดินทาง ส่วน MRT สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง เกิน 8.2 หมื่นคน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73%

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง พบว่ามีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา จำนวน 434,307 คน-เที่ยว หรือ 29.62% โดยลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย. 65) มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวม จำนวน 1,466,357 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 808,736 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 877,451 คน-เที่ยว) 

สำหรับลอยกระทง ปี 2566 จำนวน 1,900,664 คน-เที่ยว แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 67,561 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) จำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รถไฟระหว่างเมือง รฟท. ให้บริการรวม 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการจำนวน 67,561 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 7,373 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 12.25% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 60,188 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 27,483 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 59,505 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 21,015 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 46,546 คน-เที่ยว

2.ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการรวม 3,248 เที่ยววิ่ง (รวมรถเสริม 36 เที่ยววิ่ง) มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 1,833,103 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 426,934 คน-เที่ยว หรือมากกว่า 30.36% (ลอยกระทงปี 2565 (8 พ.ย.65) จำนวน 1,406,169 คน-เที่ยว ลอยกระทงปี 2564 (19 พ.ย.64) จำนวน 781,253 คน-เที่ยว และลอยกระทงปี 2563 (31 ต.ค.63) จำนวน 817,946 คน-เที่ยว) โดยผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าได้เพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน และเพิ่มขบวนรถเสริม ประกอบด้วย

>>รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 221 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 6 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,005 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 8,651 คนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 13.24% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 65,354 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 14,284 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.12% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 19,535 คน-เที่ยว) สีม่วง ทุบสถิติต่อเนื่อง ผู้โดยสารพุ่ง 8.2 หมื่นคน-เที่ยว

>>รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 82,358 คน-เที่ยว (นิวไฮ) สูงสุดตั้งแต่มีสถานการณ์ covid-19 มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 34,991 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 73.87% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 47,367 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ให้บริการ 487 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 510,288 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 131,538 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 34.73 % (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 378,750 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทและสายสีลม (สีเขียว) ให้บริการรวม 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 981,658 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 102,897 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 11.71% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 878,761 คน-เที่ยว)

>>รถไฟฟ้าสายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 17,182 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2565 จำนวน 780 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 4.76% (ลอยกระทงปี 65 จำนวน 16,402 คน-เที่ยว)

โดยวันลอยกระทงปีนี้มีรถไฟฟ้าให้บริการเพิ่มมา 2 เส้นทาง รวม 444 เที่ยววิ่ง จำนวน 133,793 คน-เที่ยว คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 40,198 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) และ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ให้บริการ 168 เที่ยววิ่ง จำนวน 93,595 คน-เที่ยว (ลอยกระทงปี 65 ยังไม่เปิดให้บริการ) 

นายพิเชฐ กล่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ขร. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะไปลอยกระทงในช่วงเย็นถึงค่ำ โดยได้เน้นย้ำผู้ให้บริการระบบรางบริหารจัดการผู้โดยสารบนสถานีรถไฟฟ้า (Crowd Control) และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเส้นทางการเข้าสู่สถานี รวมทั้งเพิ่มความถี่ จัดขบวนรถเสริม และจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการระบบรางด้วยแล้ว โดยพบว่า เมื่อวานไม่มีเหตุอันตรายต่อผู้ใช้บริการระบบรางแต่อย่างใด ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้น พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรางภาพรวมและรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 82,358 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 73.87% ส่วนรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 33,819 เที่ยว-วิ่ง (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 225 คน-เที่ยว) เพิ่มขึ้น 73.12% เมื่อเทียบกับวันลอยกระทงปี 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้มีเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อที่สะดวกขึ้น (interchange) และมีราคาจูงใจด้วยค่าโดยสารสายสีม่วงและสายสีแดง ราคาสูงสุด 20 บาท

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ผู้โดยสารที่เดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะได้รับสิทธิชำระค่าโดยสารร่วมสองสายจ่ายสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเท่านั้น เมื่อใช้บัตรโดยสาร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที

‘รัฐบาลเศรษฐา’ เตรียมดัน ‘ลอยกระทง’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก ต่อยอดเป็น ‘World Class Festival’ สร้างรายได้ให้ประเทศ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันลอยกระทง ซึ่งต้องบอกเลยว่า ลอยกระทงปีนี้คึกคักมากขึ้นหลังจากโควิด-19 ซา หลายพื้นที่จัดกิจกรรมกันสนุกสนาน แม่ค้าพ่อค้าขายของได้อย่างหน้าชื่นตาบาน

และหากพูดถึงประเพณีไทย ก็มีอยู่หลากหลาย ซึ่งทุกประเพณีล้วนแต่เป็นประเพณีที่สืบสานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจวบจนถึงปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสวยงามและบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทย 

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์และต่อยอดประเพณีไทยอยู่เนือง ๆ โดยมีการผลักดันวัฒนธรรมไทยไปสู่สายตาประชาคมโลก ยกตัวอย่างเช่น การนำ ‘โนรา’ หรือ ‘Nora, Dance Drama in Southern Thailand’ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity - บัญชี RL) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก 

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชี RL แล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2561) นวดไทย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2562) และโนรา (ขึ้นทะเบียนในปี 2564)

ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีแนวคิดที่จะนำประเพณี ‘ลอยกระทง’ ต่อยอดเป็น World Class Festival ทั้งนี้ จะเป็นโจทย์หลักให้กับทางกระทรวงวัฒนธรรม และคณะกรรมการ Soft Power เพื่อไปคิดกันว่าเราจะทำยังไงให้เทศกาลนี้ทั้ง Celebrative, Festive และ Environmental Friendly มากขึ้นอย่างไร 

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามรักษาประเพณีไทยได้ดำรงอยู่กับแผ่นดินไทยไว้เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง ไม่ใช่หลงประเด็นปล่อยให้ประเพณีถูกทำลายไป เพียงเพราะเหตุผลเรื่องการบริหารจัดการไม่ดี ซึ่งมันเป็นคนละประเด็นกัน

ประเพณีและวัฒนธรรมเป็น Intangible Assets หรือ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ที่สร้างขึ้นได้ยากแต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างในบางพื้นที่ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ถือเป็น Peak Season ของจังหวัดที่รายได้เข้ามาในพื้นที่มากในเทศกาลนี้ ในภาพ Promote ท่องเที่ยวไทยนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีภาพประเพณีลอยกระทงเป็น Highlight เสมอ ๆ ซึ่งนายกฯ ทำถูกแล้ว ไม่หลงประเด็น.

ท้ายนี้หวังว่าประเพณี ‘ลอยกระทง’ จะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นแบบอย่างที่ดี ในการนำประเพณีหรือวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม นำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทย และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top