Tuesday, 20 May 2025
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'รมว.อุตฯ ซาอุฯ' ถกความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมสองชาติ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ศก.ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็น 'แร่โปแตช'

(10 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (9 ม.ค.) ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของประเทศไทย ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การเข้าหารือกรอบทวิภาคี หรือเป็นการหารือการประชุมร่วมกัน 2 ฝ่าย 

โดย รมว.ปุ้ย ได้นำคณะผู้แทนฯ และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย เข้าประชุมหารือร่วมแบบทวิภาคีกับ ท่าน Bandar bin Ibrahim AlKhorayef รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้เกียรตินำคณะผู้บริหาร เข้าร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือและพันธกิจระหว่างกันของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในการเข้าประชุมหารือร่วมระหว่าง 2 ประเทศ มีเรื่องน่ายินดีถึงทิศทางความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแร่ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้หารือกันในประเด็นแร่โปแตช ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายด้าน และเป็นต้นทางของปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตร อันเป็นต้นทางของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมฮาลาล ที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนา และรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายส่วน ที่ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพและขีดความสามารถพัฒนาร่วมกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

'รมว.ปุ้ย' ติดตามงานสำคัญทุกภาคส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จ!! 4 แพ็กเกจของขวัญปีใหม่ 'เข้าเป้า-ทะลุเป้า'

(18 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17) ได้นัดหมายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม จากทุกกรมมาร่วมกันประชุมเป็นนัดแรกของปี 2567 สาระสำคัญอยู่ที่การติดตามงานที่ได้มอบหมายในหลายๆ เรื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวถึงการติดตามเรื่องพลังงานสะอาด ที่กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังผ่านนโยบายและการส่งเสริม สนับสนุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ 

ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และยังมีการติดตามความก้าวหน้าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การดำเนินการ Green Industry (GI) และยังได้กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบคำถาม หรือการสืบค้นได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวมีความโปร่งใสและชัดเจน

รมว.ปุ้ย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการดำเนินงานตามแพ็กเกจของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตสาหกรรม ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินค้าและบริการดี ราคาพิเศษ, มาตรการเติมทุน เสริมสภาพคล่อง, มาตรการเพิ่มโอกาส เสริมแกร่งธุรกิจ และ มาตรการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม พบว่ามีตัวชี้วัดที่น่าพอใจอย่างมาก โดยตัวชี้วัดที่ดีเข้าเป้าหมายหรือทะลุเป้าที่วางไว้คือผลสำเร็จ 

"ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงงบประมาณในปี 2568 พร้อมทั้งนำเสนอโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลสนับสนุนเสริมสร้างผู้ประกอบการ และยังมีการเตรียมมาตรการข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รวบรวมจากพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 1 ปี 2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2567 นี้ต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลัง 'โตโยต้า' ดึงระบบ 'ไคเซ็น' ช่วย 'ต่อยอด-เสริมแกร่ง' ธุรกิจชุมชน

(30 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother 'พี่ช่วยน้อง' ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ...

เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่างๆ 

รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ 'โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น 'พี่เลี้ยงทางธุรกิจ' ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่างๆ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการ ไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 'โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง' ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

"การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' สวมหมวก 'กรรมการสภานโยบายฯ' ขับเคลื่อนผลึก 'วิจัย-นวัตกรรม' เพื่อชาติ

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ครั้งที่ 2/2567 โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา แนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ (ร่าง) ระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ….

"ปัจจุบันหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยตำแหน่งแล้วต้องมีหน้าที่ราชการที่ไม่ใช่เฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่กรรมการในองค์กรสำคัญของประเทศไทย อีกหลายหน้าที่ด้วยเช่นกัน...

"โดยในส่วนของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภานโยบายแล้วนั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีหน้าที่เป็นกรรมการ ในกรอบหน้าที่เพื่อมุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา ค้นคว้าสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยด้วย...

"ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ควบคู่ โดยมิได้ผูกหรือยึดติดอยู่กับวิธีการ กระบวนการ แบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว เนื่องจากทุกประเทศมีการแข่งขันพัฒนาองค์ความรู้ เร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ว่ากันอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างมากในทุกมิติไม่มีสิ้นสุด ภายใต้ 'ผลึกสำคัญ' ของการวิจัย องค์ความรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะต้องถูกพัฒนาที่นำไปสู่การใช้ได้จริง ไม่ใช่เฉพาะงานวิจัยอยู่ในเอกสาร เพื่อสร้างประโยชน์ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย อันจะก่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่คนไทยต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ เข้าหารือ ‘เจ้าการกระทรวงกลาโหม’ ส่งเสริม ‘อุตฯ ฮาลาล’ ใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้

เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67) นางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญในการเยือนกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมฮาลาล’ กับ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำข้อราชการสำคัญเข้าหารือกับเจ้ากระทรวงกลาโหม ในประเด็นการเร่งผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ในพื้นที่ภาคใต้ 

สืบเนื่องจากคุณลักษณะความเหมาะสมเชิงพื้นที่ มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบ ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซีย ตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่สำคัญพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงสุดได้ถึง 8 ปี ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมการส่งเสริมการลงทุนอย่างมาก ทางกระทรวงฯ จึงได้เข้าหารือเพื่อขอรับความร่วมมือจากเจ้ากระทรวงกลาโหมในการสนับสนุนพัฒนาและความมั่นคงในเชิงพื้นที่ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จแก่เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

ทั้งนี้ รมว.ได้เผยอีกว่า “ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดี เพราะนอกจากจะได้เข้าพบกับท่านสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ก่อนหน้าไปพบท่านสุทินปุ้ยก็ได้ถือโอกาสเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ที่คู่มากับกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการเข้าไปสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นไปสักการะหอเทพารักษ์ทั้ง 5 ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเทพารักษ์ทั้ง 5 เป็นเทพยดาผู้ปกป้องป้องบ้านเมืองของเรา อันมีพระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, เจ้าพ่อเจตคุปต์, พระกาฬไชยศรี, เจ้าหอกลอง โดยได้สักการะตามขั้นตอนประเพณีที่สืบกันมาอย่างครบครัน รวม 5 ขั้นตอน อานิสงส์ทั้งหลายที่ได้กระทำการมงคลนี้ ขอสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลแด่พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาทุกๆ ท่าน”

'รมว.ปุ้ย' ชวนยล!! เสน่ห์แห่ง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผลิตภัณฑ์ผ้านครศรีฯ ที่ลือชื่อมาแต่ครั้งโบราณ

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผ้าดีจากเมืองคอนที่สร้างชื่อกระฉ่อนในวงการผ้าไทย ว่า...

"มีคนถามปุ้ยมาค่ะ 'ผ้ายกเมืองนคร' ทำอย่างไรให้ขึ้นชื่อลือชากระฉ่อนในวงการผ้าไทย นี่เลยค่ะ ปุ้ยใช้ผ้ายกเมืองนครจากนครศรีธรรมราช บ้านเราค่ะ 

"ต้องเล่าความเป็นมาก่อนนะคะ ผ้ายกเมือง เป็นผ้าจากฝีมือการทอผ้าของชาวเมืองนครศรีธรรมราช มีชื่อนามปรากฏในประวัติศาสตร์เรื่องราวต่างๆ มานับร้อยปี เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ 'ผ้ายกเมืองนคร' 

"สมัยก่อนชาวเมืองนครศรีธรรมราชนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน รวมถึงข้าราชการกรมเมือง ข้าราชการศาลและราษฎรทั่วไปนุ่งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองนครฯ แต่โบราณ จะนุ่งผ้ายกจีบเวลาออกรับแขกบ้านแขกเมือง หรือไปทำการงานพิธีบุญต่างๆ และมีผ้ายกสำคัญที่ชื่อ 'ผ้ายกขาวเชิงทอง' ใช้นุ่งในพิธีการถือพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช  

"ผู้ที่เข้าพิธีถือน้ำจะต้องนุ่งผ้ายกขาวเชิงทองเรียกว่าหรือเรียกอีกชื่อว่า 'ผ้าสัมมะรส' และยังมีผ้ายกทองซึ่งมีด้ายทำจากทองคำ จะใช้สำหรับเฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวังหรือเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งมีบันทึกตรงกันหลายแหล่งว่าเจ้าพระยานครได้ส่งผ้ายกเข้ามาถวายเจ้านายในเมืองหลวง ส่วนผ้ายกธรรมดาก็ใช้กันโดยทั่วไป

"ปัจจุบันผ้ายกเมืองนคร เป็นที่นิยมมากค่ะ เป็นผ้าที่มีความเป็นมายาวนานอยู่ในวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช มีคุณลักษณะพิเศษคือ สามารถนำมาออกแบบตัดเย็บได้อย่างหลากหลาย ทั้งชุดสวมใส่เพื่อความสวยงามทั่วไป ชุดเครื่องแต่งกายที่มีระเบียบแบบแผน หรือพิธีการสำคัญต่างๆ ผ้ายกเมืองนครจะโดดเด่นมากค่ะ หรือจะเป็นชุดสูททางการเช่นที่ปุ้ยจะนิยมนำมาใช้เสมอมาแบบนี้ ทำนองนี้ค่ะ 

"ช่างตัดเย็บ นักออกแบบสามารถออกแบบได้อย่างหลากหลายตามสมัยค่ะ"

'รมว.ปุ้ย' ชี้ กรณี กากแคดเมียม ต้องมีคนรับผิดชอบ เตรียมใช้กฎหมาย ลงโทษ ผู้กระทำความผิด!!

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวง ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปติดตามเรื่องขนย้ายกากแร่แคดเมียมมาที่สมุทรสาคร ที่โรงงานอะลูมิเนียมแท่งและอะลูมิเนียมเม็ด ในสมุทรสาคร

ทั้งนี้ รมว.ปุ้ย ได้เรียกประชุมด่วนและสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งอายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่ปรากฏ พร้อมทั้งสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและดำเนินคดีทะเบียนโรงงานตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอายัดกากแร่นี้มาตั้งแต่มีนาคมแล้ว

ในวันเดียวกัน รมว.ปุ้ย ยังได้สั่งการให้มีการเร่งแก้ปัญหาในทุกด้านอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ตรวจสอบโรงงานประเภท 106 ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม และโรงงานประเภท 59 และ 60 ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการหล่อหลอมโลหะในพื้นที่สมุทรสาครทั้งหมด หากโรงงานใดไม่ปฏิบัติตาม พรบ.โรงงาน และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะต้องถูกดำเนินคดีทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีบทลงโทษขั้นสูงสุดตามบัญญัติ

สำหรับการลงพื้นที่ไปยังโรงงานอะลูมิเนียมแท่งและอะลูมิเนียมเม็ด ที่สมุทรสาคร พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวนราว 2,440 ตัน ส่วนที่เหลือได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร อยู่ในพื้นที่เฉพาะตามกำหนดหรือไม่ ขณะที่ในส่วนที่ปรากฏอยู่นี้จะต้องขนย้ายไปยังจุดฝัง ภายใน 7 วัน และให้ฝังกลบให้เสร็จในที่เฉพาะภายใน 15 วัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอยู่ในกรอบมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ รมว.ปุ้ย ยังได้ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ หากมีการอนุญาตให้เคลื่อนย้าย โดยทราบว่าขณะนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดต้นทางย้ายมาช่วยราชการ ที่สำนักงานกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อย

'รมว.ปุ้ย' เยือนหูหนาน ศึกษา 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ'สร้างสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต

ไม่นานมานี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมอุตสาหกรรมประเทศไทย พบปะ นายเหมา เว่ยหนิง ผู้ว่าการมณฑลหูหนาน และเข้าพบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายส่วน

งานนี้ รมว.ปุ้ย และทีมอุตสาหกรรมไทยได้มีโอกาสพบผู้บริหารของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก แบรนด์ SANY และ ZOOMLION ซึ่งแบรนด์คุ้นหูคุ้นตาในเมืองไทย มีผู้ประกอบการไม่น้อยเริ่มใช้เครื่องจักรกลแบรนด์นี้ และมีการลงทุนในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังไปเยี่ยมชมการผลิตระบบการจัดการพลังงาน ความปลอดภัย ระบบเมืองอัจฉริยะ กลุ่ม Wasion Holding Limited ซึ่งมีข้อดีหลายประการที่สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมในเมืองไทยได้อย่างมากอีกด้วย

สำหรับมณฑลหูหนาน เป็นพื้นที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต้นธารของอุตสาหกรรมสำคัญของโลกหลายชนิด ทั้งกลุ่มโลหะ อโลหะ โดยอุตสาหกรรมหลักของที่นี่คือ ยานยนต์สมัยใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีหุ่นยนต์ 

"ปัจจุบัน จีนได้ประกาศใช้เศรษฐกิจวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ' (Internal Circulation) ควบคู่ไปกับ 'การหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างประเทศ' (External Circulation) และมีความสอดคล้องกับประเทศไทย ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี พ.ศ.2564 - 2568) รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญอย่างมากค่ะ...

"ดังนั้น การเข้าเยี่ยมคารวะท่านผู้ว่าการมณฑล และผู้ประกอบการรายสำคัญในครั้งนี้ จึงเป็นช่องทางสัมพันธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในอนาคต โดยดิฉันได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการลงทุนพัฒนาแบบสองทาง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง นี่คือประเด็นสำคัญ"

'รมว.ปุ้ย' ยกทีม 'ก.อุตฯ' เชื่อมความสัมพันธ์ 'ไทย-จีน' ปูพรมทางด่วนการค้า 'นครศรีธรรมราช-หนานหนิง'

(11 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผยถึงการยกคณะทำงานของกระทรวงอุตฯ และ 'ดีพร้อม' ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เพื่อไปปฏิบัติภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับพี่น้องชาวท้องที่-ท้องถิ่น ในการสร้างงานสร้างอาชีพพัฒนาวิสาหกิจในพื้นที่ ท่าศาลา สิชล ว่า...

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปุ้ยได้เข้าพบกับ ท่าน อู๋ ตงเหมย กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสงขลาลา และ ท่าน จาง จื้อเหวิน กงสุลพาณิชย์ และคณะผู้ก่อการดีงามเพื่อชาวนครศรีธรรมราช สมชาย ลีหล้าน้อย, รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ยุทธกิจ มานะจิตต์, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช  'น้ายูร' ประยูร เงินพรหม, ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช 'โกหนุ่ม' กรกช เตติรานนท์, กรรมการหอการค้าไทย พี่นนท์ นนทิวรรธ์ นนทภักดิ์, สภาอุตสาหกรรม และ สมาคมพาณิชย์จีน มาร่วมหารือกันในตัวเมืองนครศรีธรรมราช

นครหนานหนิง มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมายาวนานมาก โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช ชาวจีนไหหลำได้อพยพมาตั้งรกรากมานับร้อยปีแล้ว ความสัมพันธ์ทั้งทางประวัติศาสตร์ การเชื่อมโยงผู้คนบรรพบุรุษวัฒนธรรม มีกันมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น

ประเด็นสำคัญ...ปุ้ยได้ถือโอกาสเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการเกษตรบ้านเรา เช่น ทุเรียน, มังคุด, ส้มโอ โดยได้ริเริ่มในการเฟ้นหาผู้ซื้อรายใหม่ ๆ จากนครหนานหนิง มาซื้อตรงจากนครศรีธรรมราช เป็นการทำตลาดผู้ซื้อรายใหม่ และมีหอการค้านครศรีธรรมราช รับอาสาในการเชื่อมโยง เป็นทางด่วนของการค้าระหว่างนครศรีธรรมราช และหนานหนิงเส้นทางใหม่ก็ว่าได้ อันนี้ข่าวดี

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ตนยังได้ยืนยันไปในเรื่องความพร้อมของท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานนายกรัฐมนตรีได้มาปฏิบัติราชการที่นครศรีธรรมราช ได้มีการเร่งรัดเรื่องท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ให้เต็มรูปแบบโดยเร็วเรามีความพร้อมสามารถเชื่อมโยงตรงได้ หลังจากนี้จะมีการติดตามขยายผลให้เร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง แล้วปุ้ยจะมาอัปเดตเรื่องนี้เป็นระยะ ๆ ต่อไป 

'รมว.ปุ้ย' ปลาบปลื้ม!! พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ยก!! เป็นการเข้าเฝ้าในโอกาสสำคัญ ที่เป็นมงคลยิ่งแก่ชีวิตของตน

เมื่อวานนี้ (28 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของชาติไทยค่ะ ปุ้ยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะรัฐมนตรีทุกท่าน ได้ติดตามนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ค่ะ โดยมีการไปร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นลำดับแรกค่ะ 

หลังจากนั้นไปร่วมในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติ ต่อจากนั้นได้เดินทางร่วมกับคณะรัฐมนตรีไปยังพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง 

เป็นการเข้าเฝ้าในโอกาสสำคัญนะคะ โอกาสสำคัญที่เป็นมงคลยิ่งในชีวิตของปุ้ยเอง และความเป็นมงคลยิ่งนี้ ขอให้สัมฤทธิ์กับพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช พี่น้องชาวไทยทุกคนนะคะ 

ปุ้ยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะรัฐมนตรีทุกท่านได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล แทนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า 

บรรยากาศสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยปุ้ยและคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า ได้ซึมซับทุกวินาทีอันเป็นมหามงคลยิ่งอยู่ที่นั่นค่ะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top