Sunday, 20 April 2025
รองนายกรัฐมนตรี

'โฆษกรัฐ' แจง 'บิ๊กป้อม' ลาป่วย ไม่เข้าประชุมครม. หมอแนะนำให้พักรักษาตัว หลังมีไข้-ปวดศีรษะ

รองโฆษกรัฐบาลแจง 'บิ๊กป้อม' ลาป่วยประชุมครม. มีอาการเป็นไข้หวัด แพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลาป่วย ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครม. ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เนื่องจากมีไข้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้แพทย์ผู้ตรวจอาการ ได้เปิดเผยว่าพลเอกประวิตรมีอาการไข้ต่ำ ปวดศีรษะและมีเสมหะเล็กน้อย และได้ทำการตรวจ ATK ในเบื้องต้น ผลเป็นลบ จึงคาดว่าอาการป่วยนี้เกิดจากการโดนฝนระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ชัยนาท และจ.พระนครศรีอยุธยาในช่วงวันที่ผ่านมา แพทย์เห็นควรให้พักรักษาตัวที่บ้านพัก คาดว่าอาการจะดีขึ้นในเร็ววัน   

"ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ขอส่งกำลังใจ ไปถึงประชาชนทุกคน ที่กำลังประสบปัญหาจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ และขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง" น.ส. ทิพานัน กล่าว

เปิดประวัติ-ผลงานเด่น!!

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้มากความสามารถและประสบการณ์จากรัฐบาลบิ๊กตู่ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของผลงาน ชนะคดี ‘ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท’ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบอร์ดบริหารแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ให้กลับมาผงาดอีกครั้ง

และวันนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็ได้รับการยอมรับขึ้นแท่น สู่ว่าที่ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ใน ‘ครม.เศรษฐา ​1’

นราธิวาส-รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บินลงใต้ สำรวจความเสียหายอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป พร้อมมอบถุงยังชีพและให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่

วันนี้ ( 12 มกราคม 2567 ) เวลา 11.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะฯ ลงใต้ปฏิบัติภารกิจเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พร้อมพบปะมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม โดยมี พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ,นายฉัตรชัย อุตสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ,กำลังพล และประชาชนผู้ประสบภัยร่วมให้การต้อนรับ

โดยสถานการณ์อุทกภัยน้ำท่วม สืบเนื่องจากฝนตกหนักมากช่วงวันที่ 23-25 ธันวาคม 2566 ทำให้เกิดอุทกภัยครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ โดยพื้นที่เกิดอุทกภัยมีปริมาณฝนสูงสุด คือ อำเภอระแงะ 631.2 มิลลิเมตร//สถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 569 หมู่บ้าน 58 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบ 82,448 ครัวเรือน 326,370 คน ผู้เสียชีวิต 14 คน ผู้สูญหาย 1 คน ถนนเสียหาย 63 สาย สะพาน 8 แห่ง โรงเรียน 343 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ 20 แห่ง มัสยิด 26 แห่ง ด้านการเกษตร สัตว์ 4,818 ตัว ด้านพืช 11,267 ไร่ ด้านประมง 505.31 ไร่ 2,548 ตารางเมตร ปัจจุบันสถานการณ์ได้เข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่ 

ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เป็นค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต 14 คน 594,000 บาท //จัดสรรเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดให้อำเภอ 13 อำเภอ 5,900,000 บาท //ค่าถุงยังชีพ 18,060 ชุด 12,642,000 บาท //ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นถุงยังชีพ 53,810 ชุด 37,667,000 บาท และขณะนี้จังหวัดได้มีแผนฟื้นฟูสถานการณ์อุทกภัยและเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป

โอกาสนี้ นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวพบปะผู้ประสบภัยทุกคนว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อมาให้กำลังใจทุกคน ซึ่งด้านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเองเมื่อมีเหตุภัยพิบัติต่างๆ ได้รับมอบอำนาจให้เร่งช่วยเหลือดูแลเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วนและขอให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่พร้อมดูแลประชาชน ซึ่งภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น หน้าที่ของเราต้องช่วยกันป้องกัน และเมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนก็พร้อมจะฟื้นฟูเยียวยา บำบัด แก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด ทุกส่วนพร้อมที่จะลงมาช่วยเหลือให้มากที่สุด ทั้งนี้ ในเรื่องของปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น ทางรัฐบาลได้เร่งระดมให้ความช่วยเหลือในการเยียวยาและการฟื้นฟูบ้านเรือน ถนนหนทาง และสาธารณูปโภค โดยจังหวัดนราธิวาสได้ใช้งบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและดูแลเบื้องต้น  ทางรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยได้จัดสรรงบประมาณฟื้นฟูซ่อมแซมและช่วยเหลือชาวบ้าน 100 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเพราะเป็นจังหวัดที่มีความเสียหายมากที่สุด ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ การช่วยเหลือในส่วนของงบประมาณทุกจังหวัดมีงบประมาณที่จะช่วยเหลืออยู่แล้ว ทั้งการเยียวยา การฟื้นฟู ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ และพื้นที่ไหนที่เสียหายมากก็จัดสรรตามความเหมาะสม ไม่มีคำว่าเลือกปฏิบัติและขอให้มั่นใจได้ว่ารัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ

“พล.ต.อ.พัชรวาท” รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ ”แก้มลิงทุ่งหิน” กว่า 2,000 ไร่ เร่งขับเคลื่อนโครงการเพื่อพี่น้องชาวสมุทรสงคราม

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการโครงการแก้มลิง “ทุ่งหิน” ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมี นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วย นายกุศล โชติรัตน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.ท.อภิรัต นิยมการ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสุวิทย์ พันธ์เสงี่ยม อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสราวุธ สากล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค2 

ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ผลักดันโครงการ “แก้มลิงทุ่งหิน” นางอรัญญา สุวรรณบุตร นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นายวีระพันธ์ ดีอ่อน ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่4 นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม พล.ต.ต.สมภพ คูหาวิชานันท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม นายอรรถพันธุ์ สงวนเสริมศรี ปลัดจังหวัดสมุทรสงคราม นางสาวประภารัตน์ นาคผจญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ

โดยนาย ศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า โครงการแก้มลิงทุ่งหิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม บนพื้นที่โครงการ 2623 ไร่เศษ มีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำทะเลหนุนสูงเกิดปัญหาน้ำเอ่อลันเข้าท่วมพื้นที่ประมง่ และที่อยู่อาศัยของประชาชนบ่อยครั้ง อีกทั้งจังหวัดสมุทรสงครามไม่มี
แหล่งเก็บกักน้ำจืดขนาดใหญ่ โครงการแก้มลิงทุ่งหิน จึงเป็นโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก 

และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ให้ประชาชนในจังหวัดสมุทรสงครามได้ โดยที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการประกาศเป็นที่หวงห้าม เมื่อปี พ.ศ. 2470 ต่อมาในปี พ.ศ. 2510
ได้มีการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงพื้นที่สาธารณประโยชน์ "ทุ่งหิน" ได้มีราษฎรและนายทุนเข้าไปบุกรุกทำกินเต็มพื้นที่ จำนวน 52 ครอบครัว ต่อมาจังหวัดสมุทรสงคราม
ได้พิจารณาเห็นว่า พื้นที่สาธารณประโยชน์ "ทุ่งหิน" ควรที่จะนำมาทำเป็นแก้มลิงขยายผลตามโครงการและเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนและจังหวัดสมุทรสงครามต่อไป

โดยทางด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ในวันนี้รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการโครงการ “แก้มลิงทุ่งหิน” ถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้านทรัพยากรน้ำและยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย อีกทั้งเพื่อรับฟังความคืบหน้าโครงการสำคัญของจังหวัด รวมถึงเปิดโอกาสให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ นำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อไป 

อย่างไรก็ตาม โครงการแก้มลิงทุ่งหิน ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากที่ผ่านมาทาง ดร.ยงยุทธ สุวรรณบุตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชารัฐ ได้มีการพูดอภิปรายถึงโครงการดังการในที่ประชุมสภาเพื่อขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือและช่วยอนุมัติงบประมาณเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนก่อสร้างโครงการ แก้มลิงทุ่งหิน เนื่องจากโครงการดังกล่าวนั้น มีความสำคัญกับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสงครามเป็นอย่างมาก และยังเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนในอีกหลายๆ จังหวัด กระทั่งล่าสุดโครงการแก้มลิงทุ่งหินได้ถูกขับเคลื่อนและอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการในปัจจุบันคาดว่าโครงการดังกล่าวนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2568-2569 

คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

‘รมว.พีระพันธุ์’ ชื่นชมการแสดง ‘ปราการเวลา The Theatre’ สร้างความตระหนักรู้ ‘ความเสียสละ-รักชาติ’ ของบรรพบุรุษไทย

(18 มี.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga’ ระบุว่า…

“เมื่อวาน (16 มี.ค. 67) ผมมีโอกาสไปชมการแสดง ‘ปราการเวลา The Theatre’ ที่จัดโดย อบจ. สมุทรปราการ ที่มีคุณนันทิดา แก้วบัวสาย เป็นนายกฯ ร่วมกับกองทัพเรือ นำแสดงโดยคุณนพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ กับคุณแพนเค้ก เขมนิจ ร่วมกับนักแสดงทุกรุ่นวัยจำนวนมาก

“ผมรู้สึกดีใจและยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสไปชมการแสดงครั้งนี้เพราะทำให้เราได้ย้อนนึกไปถึงอดีตที่ทำให้เรามีปัจจุบันในวันนี้ว่าชาติไทยของเราต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคและวิกฤติการณ์มาเพียงใดถึงมาเป็นไทยที่เป็นปึกแผ่น ประชาชนอยู่ดีกินดีในทุกวันนี้

“การแสดงนี้ ไม่เพียงน่าตื่นตาตื่นใจ สวยงามตระการตา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้เราได้เห็นถึงความรักชาติ ความเสียสละ และความสามัคคี ของบรรพบุรุษทั้งพลเรือนและทหาร ได้ตระหนักรู้ซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคที่ทั่วทั้งภูมิภาคกำลังเผชิญหน้ากับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่มีแสนยานุภาพทางอาวุธและวิทยาการเหนือกว่า ทำให้เราสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องรวมถึงเงินค่าปรับสูงจนต้องนำเงินถุงแดง (เงินพระคลังข้างที่) ออกมาใช้

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แม้จะทรงโทมนัสยิ่งแต่ทรงไม่ท้อถอย ทรงทุ่มเททุกอย่างเพื่อรักษาเอกราชของสยามเอาไว้ นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในทุกด้าน จนสยามสามารถดำรงความเป็นไทยมาได้ลงจนถึงทุกวันนี้โดยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของพวกฝรั่งชาติตะวันตกนักล่าอาณานิคม
เหล่านี้ทำให้เราต้องคิดให้มากขึ้นว่าปัจจุบันและอนาคตเราคนไทยจะต้องรักชาติ รักสถาบัน ต้องสามัคคี และเอาประโยชน์ชาตินำหน้าเพื่อคงความเป็นชาติไทยของเราให้คงอยู่ตลอดไป 

“ผมอยากให้มีกิจกรรมหรือการแสดงแบบนี้ให้คนรุ่นหลังเด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ถึงอดีตและความเป็นมาของชาติให้มากขึ้น และขอชมเชยผู้จัดงานและนักแสดงทุกคน ขอให้กำลังใจและขอบคุณที่ร่วมกันทำกิจกรรมรักชาติแบบนี้ครับ

สุโขทัย-รองนายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสุโขทัย สั่งการทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่น้ำท่วม เร่งเยียวยาประชาชน

วันนี้ (31 ส.ค. 67) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมศรีนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานประชุมตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยโดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย เขต 1 ร่วมประชุมโดยรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยจากนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย และสถานการณ์น้ำในภาพรวมของจังหวัดสุโขทัย โอกาสนี้ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยรองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ให้ทุกหน่วยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอขอความอนุเคราะห์งบประมาณให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่ง ดังนี้

1.หมู่ 6 ตำบลคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก ระยะทาง 300 เมตร
2.หมู่ 7ตำบลท่าทอง อำเภอสวรรคโลก ระยะทาง 800 เมตร
3.หมู่ 5 ตำบลคลองตาล อำเภอศรีสำโรง ระยะทาง 150 เมตร
4.หมู่ 6 ตำบลวังใหญ่ และหมู่ 8 ตำบลวังทอง อำเภอศรีสำโรง ระยะทาง 990 เมตร
5.หมู่ 1 , หมู่ 6 และหมู่ 7 ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย ระยะทาง 2,400 เมตร
6.ตำบลยางซ้าย อำเภอเมืองสุโขทัย ระยะทาง 5,000 เมตร
7.ขอปรับปรุงพื้นที่รับน้ำนอง บริเวณตำบลยางซ้าย และตำบลปากพระ อำเภอเมืองสุโขทัย ในรูปแบบบางระกำโมเดล

ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นจะเร่งผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มแม่น้ำยมในระยะยาวต่อไป จากนั้นได้เยี่ยมโรงครัวศูนย์ประสานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และพบปะให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย อำเภอเมืองสุโขทัย ณ อาคารอเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย พร้อมกล่าวพบปะให้กำลังใจประชาชนว่ารัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วน เร่งฟื้นฟู และช่วยเหลือให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ยืนยันรัฐบาลพร้อมเร่งแก้ปัญหาในระยะยาว หลักสำคัญคือพลังความร่วมมือทั้งหมดของประชาชนคนไทยที่จะร่วมมือกันฟันฝ่าอุปสรรคครั้งนี้ไปได้ ต่อจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ และประตูระบายน้ำคลองหกบาท ต.ป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ก่อนที่จะเดินทางไปยังจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชัยนาท เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

'รองนายกฯ ประเสริฐ' เผยผลกวาดล้าง 'บัญชีม้า' ไปแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลแพทองธาร ปราบ 'อาชญากรรมออนไลน์' พร้อมออกกฎหมายพิเศษ ช่วยเหลือ 'ผู้เสียหาย' ให้ทันท่วงที

(23 ก.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งตนเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ , นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือ เพื่อดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายประเสริฐ กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ 8 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้

1. การแก้กฎหมายเร่งด่วนช่วยผู้เสียหายและป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลแพทองธาร แก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน กระทรวง ดีอี เร่งยกร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ฉบับที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ

 - การเร่งคืนเงินผู้เสียหาย
- การเพิ่มสิทธิ์ผู้เสียหายและเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และสถาบันการเงิน 
- การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.
- การป้องกันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย
- การระงับการใช้ ซิม ที่ต้องสงสัย

ทั้งนี้ จากการดำเนินการถึงเดือน สิงหาคม 2567 กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัยกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย ทั้งสิ้น 677,500 บาท

2. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม (ข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
- การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท สิงหาคม 2567 มีจำนวน 1,945 ราย ลดลงร้อยละ 22.04 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ สิงหาคม 2567 มีจำนวน 732 ราย ลดลงร้อยละ 31.20 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567
- การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า สิงหาคม 2567 มีจำนวน 122 ราย ลดลงร้อยละ 49.17 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

3. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน โดยกระทรวงดีอี ได้ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 สิงหาคม 2567  (ระยะเวลา 11 เดือน) โดย 1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 138,660 รายการ เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 , 2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 58,273 รายการ เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566

4. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานถึง 31 สิงหาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 450,000 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 291,256 บัญชี

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ยกระดับการป้องกันการเปิดบัญชี และ จัดการบัญชีม้า โดยเฉพาะบุคคล ที่ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารให้คนร้ายใช้ อาทิ การออกมาตราการ ระงับบัญชีของผู้ที่เปิดบัญชีให้คนร้ายทุกบัญชี และการใช้มาตรการ CDD การตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นตามระดับความเสี่ยงของผู้เปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น

5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 สิงหาคม 2567 มีดังนี้
- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมรได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.8 ล้านเลขหมาย 
- การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 80,731 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 80,313 เลขหมาย 
- มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking ที่ต้องสงสัย โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ใช้งาน (Sim Screening) ตรวจสอบหมายเลขบัตรประชาชนผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ตรงกับหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียน Mobile Banking กับธนาคารหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อตรวจสอบกลุ่มบัญชีที่มีความเสี่ยงถูกใช้เป็นบัญชีม้า ในเบื้องต้นประเมินว่า มีผู้ใช้งาน Mobile Banking จำนวน 18 ล้านบัญชี เข้าข่ายต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกหรือต้องทำการยืนยันตัวตนใหม่ ซึ่งจะต้องจัดทำแนวทางดำเนินงานในรายละเอียดต่อไป 

6. การดำเนินการเรื่องเสา โทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

จากยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบการลักลอบลากสายสัญญาณข้ามแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต 
ณ ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 จากตรวจสอบพบมีการลักลอบลากสายสัญญาณจากบ้านเช่าในตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการบริการอินเทอร์เน็ต 3 ราย นำมาทำ Load Balance และลากสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติกขนาด 12 Core ไปยังตู้ชุมสายสัญญาณไฟเบอร์ออฟติก(ODF) ของบริษัทฯ ผู้รับใบอนุญาตประเภท 1 และ 3 บริเวณสะพานมิตรภาพไทย –ลาว แห่งที่ 2 โดยบริษัทฯ ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้บริการโทรคมนาคมออกนอกราชอาณาจักรไทย ต่อมาที่ตู้ของบริษัทฯ ดังกล่าวตรวจพบการติดตั้งอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเพิ่มเติมอีก 3 ราย โดยสายสัญญาณที่ลากออกจากตู้ฯ ดังกล่าวนั้นมีการลากต่อไปยังสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 และเชื่อมต่อไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการจัดทำ MOU ด้านการป้องกันการให้บริการระบบโทรคมนาคมข้ามพรมแดนเพื่อการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการค้ามนุษย์ กับกองทัพไทย ซึ่งประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยจะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกองทัพไทยช่วยสนับสนุนลาดตระเวนพื้นที่ชายแดนและตรวจสอบการใช้สัญญาณโทรคมนาคมข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการค้ามนุษย์ กำหนดการลงนาม ภายในเดือนตุลาคม 2567

7. การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ มาตรการแก้ไขกฎหมาย COD หรือ ซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สคบ. มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา 

8. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 โดยกระทรวงดีอี ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตร. สมาคมธนาคารไทย สมาคมโทรคมนาคม ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“ในภาพรวม จากการดำเนินงานแบบบูรณาการ สามารถกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ส่งผลให้ มูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ ในเดือนสิงหาคม 2567 ลดลง 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือน มกราคม - มิถุนายน 2567 ในขณะเดียวกันจำนวนการแจ้งความคดีออนไลน์ก็ลดลงในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้อตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ เรายังต้องเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลแพทองธาร” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

‘พีระพันธุ์’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางมาเป็นประธานในพีธีเบิกเนตรและเปิดแพรคลุมป้ายวิหารองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมพันกร

เมื่อวันที่ (22 ก.ย. 67) นาย พีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ได้เดินทางมาเป็นประธานในพีธีเบิกเนตรและเปิดแพรคลุมป้ายวิหารองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมพันกรและวิหารหลวงปู่ไต่ฮงกง ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งจัดสร้างโดยนายวุฒิพงศ์ และนางสมจิตต์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานบริษัทในเครือวงษ์พิทักษ์ และเป็นประธานในการจัดสร้างวิหารองค์พระมหาพระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร และวิหารหลวงปู่ไต่ฮงกง รวมถึงหล่อองค์พระมหาโพธิสัตว์กวนอิมพันกรและหลวงปู่ไต้ฮงกง โดยมีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ (สส.มุ่ง) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรีเขต 4 และประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราชฎร เป็นที่ปรึกษาการจัดสร้างโครงการดังกล่าว 

โดยพิธีเบิกเนตรและเปิดแพรคลุมป้ายวิหารมีพระเดชพระคุณ พระราชวชิรานุสิฐ เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้รับเกียรติจาก นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ,นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เขต2 ,นางสาวกุลวลี นพอมรบดี  สส.ราชบุรี เขต1 ,นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี เขต5นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์  สส.ราชบุรี เขต3 , นายวิวัฒน์ นิติกาญจนานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี , พล.ต.ต.วชิรพงศ์ อมราพิทักษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดราชบุรี ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

โดยครอบครัววงษ์พิทักษ์โรจน์ได้จัดสร้างวิหารดังกล่าวเพื่อการจัดตั้งมูลนิธิวงษ์พิทักษ์ร่วมประชาสงเคราะห์ที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ยากไร้และประสบภัยในเขตจังหวัดราชบุรี
ในงานดังกล่าวได้มีการแจกข้าวสารและอาหารสำเร็จรูปเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน กลุ่มเปราะบางจำนวน 600 ชุด 

จึงขอเชิญชวนพี่น้องที่มีจิตศรัทธาในองค์พระมหาพระโพธิสัตว์กวนอิ่มพันกร และหลวงปู่ไต่ฮงกง  ขอเชิญมากราบไหว้ สักการระ และมาทำบุญได้ตั้งแต่ วันที่ 22 กันยายน 67 เป็นต้นไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top