Sunday, 20 April 2025
รฟม

เปิดสูตรค่าโดยสาร ‘ชมพู+BTS’ ตามแผนตั๋วร่วม  ปรับลดเพดาน 107 บาท ให้จบที่ไม่เกิน 65 บาท

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.67 เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘เข้าใจปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ต่อ BTS 107 บาท มายังไง??? แล้วแก้อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนโดยสารได้ในราคาที่เหมาะสม!!’ ระบุว่า...

จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ได้เก็บค่าโดยสารอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการเก็บค่าโดยสารใน BTS ส่วนต่อขยายสายเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่สามารถซื้อตั๋วโดยสารจากต้นทางสายสีชมพู เพื่อตรงเข้ากลางเมือง ด้วย BTS ได้ด้วยบัตรใบเดียว!!

ทำให้เกิดการช็อกกับค่าโดยสารต่อ Trip ของการเดินทางต่อเนื่องตลอดเส้นทาง จากสายสีชมพูต่อสายสีเขียว เพื่อเข้ากลางเมือง ซึ่งราคาสูงสุดกว่า 107 บาท!!

ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจ โครงสร้างราคาปัจจุบัน ของรถไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนนี้ก่อนนะครับ

1.) รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ผู้ให้สัมปทาน รฟม.) ค่าโดยสาร 15-45 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (จุดเชื่อมต่อ BTS) ซึ่งค่าโดยสารจะไปถึงค่าสูงสุด ตั้งแต่สถานีแยกปากเกร็ด และ สถานีนพรัตน์ ออกไป

2.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนต่อขยายเหนือ หมอชิต-คูคต (เป็นของ กทม. เอง) ซึ่งปัจจุบันเก็บค่าโดยสารอัตราเดียว 15 บาท ตลอดสาย

3.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนสัมปทานหลัก (ไข่แดง) ค่าโดยสาร 17-47 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีหมอชิต จะชนอัตราสูงสุด ที่สถานีสยาม

ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ แต่แตกต่างที่เจ้าของสัมปทานต่างๆ ทำให้ คนที่เดินทางจากมีนบุรี เข้าสยาม ต้องจ่ายค่าโดยสารที่อัตราสูงสุด 107 บาท!!

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง?

1.) ให้ BTS ทำส่วนลดค่าแรกเข้า ภายในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ เช่น ระหว่าง ชมพู และ เขียว ซึ่งจะสามารถลดราคาได้ 15 บาท ก็จะเหลือ 92 บาท

2.) เคลียร์ปัญหาสัมปทาน BTS-กทม. และเพิ่มข้อบังคับด้านการรองรับตั๋วร่วม และมาตรฐาน EMV ของ ให้ใช้กับระบบ BTS ได้

3.) แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ‘ผลักดัน พรบ. ตั๋วร่วม’ ซึ่งจะจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม เพื่อเป็นกองทุนที่จ่ายส่วนต่างที่เกิน จากสัมปทาน และผลักดัน ตั๋วโดยสารกลาง ซึ่งก็อาจจะได้เห็นตั๋ววัน หรือตั๋วเดือน ที่จะใช้ได้ทั้งกรุงเทพทุกระบบการเดินทาง!!

ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น ค่าโดยสารสูงสุดด้วยการใช้ระบบตั๋วร่วม อยู่ที่ 65 บาท/การเดินทาง!!

มาทำความเข้าใจ รายละเอียดการศึกษา การพัฒนาตั๋วร่วม ได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ >> http://www.thaicommonticket.com

ซึ่งจากแผนการพัฒนาระบบตั๋ว ร่วมจำเป็นต้องมีการออก พรบ. ตั๋วร่วม โดยจะมีส่วนประกอบ คือ…

- จัดตั้งตั้งองค์กรกลางในการควบคุม และบริหารตั๋วร่วม
- จัดตั้งกองทุนส่งเสริมตั๋วร่วม ซึ่อจะมีที่มารายได้จากหลายด้าน เช่น การรับส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทาน ค่าธรรมเนียมต่างๆ และการบริหารจัดการบัตร

โดยประชาชนจะได้ประโยชน์ จากตั๋วร่วม จากหลายส่วน คือ…

- ใช้บัตรมาตรฐานเดียว ซึ่งเป็นระบบเปิด ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็ออกบัตรให้ได้ รวมถึงการใช้มาตรฐาน EMV ซึ่งติดอยู่ในบัตรเครดิต ทุกใบ

- รวมอัตราค่าโดยสารของทุกระบบ และทุกรูปแบบในบัตรเดียว 
ซึ่งในส่วนรถไฟฟ้ารวมทุกสาย สูงสุดไม่เกิน 65 บาท และลดค่าแรกเข้าระหว่างเปลี่ยนสาย

- มีส่วนลดค่าแรกเข้าเปลี่ยนระหว่างระบบขนส่ง เช่น รถเมล์ และ เรือ อย่างน้อย 10 บาท

ซึ่งถ้าสามารถผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วมออกมาและถูกนำไปใช้ได้จริง จะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าเดินทางไปอีกมหาศาล!!

คงต้องขอฝากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ - Surapong Piyachote กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และ สนข. ช่วยผลักดันเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนครับ

เคาะแล้ว!! รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปรับขึ้นราคาอีก 2 บาท เริ่ม 17 บาท สูงสุด 45 บาท จาก 43 ดีเดย์ 3 ก.ค. 67

(11 มิ.ย. 67) นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุก ๆ ระยะเวลา 24 เดือน หรือ ทุก ๆ 2 ปี โดยอัตราค่าโดยสารปัจจุบันจะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ทำให้การคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) จะมีอัตราเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน​แห่งประเทศไทย​ เปิดเผยว่า รฟม.ได้เสนอการขึ้นราคาค่าโดยสารให้ ครม.พิจารณา การขึ้นค่าโดยสารเป็นไปตามดัชนีผู้บริโภค ทำให้การขึ้นค่าโดยสารจะมีผลทันทีในวันที่ 3 กรกฎาคม​นี้ โดยอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 17 - 45 บาท จากปัจจุบัน​อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 17 - 43 บาท

ครบรอบ 1 ปีรถไฟฟ้า 20 บาท รฟม. เผยผลสำเร็จโครงการ ผู้โดยสารสีม่วงพุ่ง 17.70% รับ อานิสงส์ครบทั้งลานจอดรถ-สายสีน้ำเงิน

(25 ต.ค. 67) เมื่อ 23 ต.ค. 67 ที่ผ่านมาครบรอบการดำเนินการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 1 ปีในการนี้ทางการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจึงออกมาแถลงถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา

โดยนายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า 

หลังจากที่ รฟม. ได้ดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ซึ่งเป็นหนึ่งนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน 

โดยเริ่มดำเนินการในระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ก่อนเป็นลำดับแรก ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 จากนั้นในระยะที่ 2 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 จึงเริ่มใช้อัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด 20 บาท สำหรับผู้เดินทางเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และระบบรถไฟฟ้าชานเมือง สายนครวิถี (สายสีแดง) โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกัน และเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ได้เริ่มดำเนินการมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาท พบว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 17.70 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเริ่มมาตรการ โดยปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 66,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลของการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ได้อย่างชัดเจน  

นายวิทยา พันธุ์มงคล กล่าวต่อว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงที่เพิ่มสูงขึ้น ยังช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นได้เป็นอย่างดี โดยจากผลการเปรียบเทียบจำนวนผู้โดยสารในช่วงก่อนดำเนินการนโยบายเทียบกับปัจจุบัน พบว่า รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 11.92 หรือคิดเป็นจำนวนเฉลี่ยกว่า 420,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน 

สถานีรถไฟฟ้าที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีสุขุมวิท สถานีเพชรบุรี สถานีพระราม 9 สถานีพหลโยธิน และสถานีสีลม โดยสถานีสุขุมวิทและสถานีสีลมซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.11 และ 9.80 ตามลำดับ 

ในส่วนของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีตลาดบางใหญ่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีบางซ่อน และสถานีคลองบางไผ่ โดยในส่วนของสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 63.36 และสถานีตลาดบางใหญ่ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้า แหล่งชุมชน มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.22 ตามลำดับ

นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้บริการอาคารจอดแล้วจร MRT สายสีม่วง ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนดำเนินการนโยบาย เช่น อาคารจอดแล้วจรสถานีสามแยกบางใหญ่ มีจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงวันธรรมดาเพิ่มสูงถึงร้อยละ 29 อาคารจอดแล้วจรสถานีบางรักน้อยท่าอิฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และอาคารจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เป็นต้น 

สถานีคลองบางไผ่นอกจากจะมีอาคารจอดแล้วจรให้บริการแล้วนั้น ยังถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์คมนาคมขนส่งด้านตะวันตก (คลองบางไผ่) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยเปิดให้บริการจุดจอดรถรับ-ส่ง รถโดยสารประจำทางของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะทางบกและทางรางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport) 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงแล้วนั้น ยังสนับสนุนให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าในภาพรวมของทั้งโครงข่าย ลดการใช้รถส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรและมลพิษทางอากาศ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟฟ้า 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top