Saturday, 19 April 2025
ยูเครนรัสเซีย

‘รมว.กต.จีน’ ชี้!! สหรัฐฯ สกัดกั้นจีนไม่ได้ช่วยอะไร เตือน หากไม่เหยียบเบรก ระวังพลิกคว่ำ ตกราง

(7 มี.ค. 66) นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกา ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งล่าสุดนี้ กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เบี่ยงเบนไปอย่างร้ายแรง พร้อมเตือนถึงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นตามมา

“การสกัดกั้นและปราบปรามจีน ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ยิ่งใหญ่ และไม่อาจหยุดยั้งการฟื้นคืนพลังกลับขึ้นมาใหม่ของจีนได้” นายฉินกล่าว ระหว่างการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่

เมื่อถูกถามว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังคงเป็นไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสองประเทศ นายฉินกล่าวว่า สหรัฐฯ ถือว่าจีนเป็นคู่แข่งหลักและเป็นความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากที่สุด แต่นี่ไม่ต่างจากการติดกระดุมเม็ดแรกผิด

“สหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการสร้างแนวป้องกัน แต่สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจริง ๆ คือ ไม่ต้องการให้จีนตอบโต้ด้วยคำพูดหรือด้วยการกระทำเมื่อถูกยั่วยุ” นายฉินกล่าว โดยอ้างถึงการแสดงความเห็นของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนก่อนที่ว่า สหรัฐฯ จะแข่งขันอย่างเต็มที่กับจีน แต่ไม่ได้จะมองหาความขัดแย้ง

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวว่า หากสหรัฐฯ ไม่เหยียบเบรก และยังคงร้องคำรามไปตามเส้นทางที่ผิด ราวกั้นเท่าใดก็ไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้ตกรางและเกิดพลิกคว่ำได้ มันจะต้องเกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ใครจะเป็นผู้แบกรับหายนะที่จะเกิดขึ้นตามมา

ทรัมป์เดินเกม!! บีบยุโรปอัดงบซื้ออาวุธสหรัฐฯ กดดันอียูหนุนยูเครนสู้ศึกรัสเซีย

(11 ก.พ.68) รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาแผนกระตุ้นให้ชาติพันธมิตรยุโรปเพิ่มการสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนยูเครนในช่วงเวลาที่สงครามกับรัสเซียยังคงดำเนินอยู่ โดยแผนดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ยูเครนก่อนการเจรจาสันติภาพที่อาจเกิดขึ้น

แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หากแผนนี้ได้รับการอนุมัติ อาจช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำยูเครนที่วิตกกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ อาจลดการสนับสนุนทางทหาร ขณะเดียวกัน กองทัพยูเครนยังคงเผชิญแรงกดดันจากการรุกคืบของกองกำลังรัสเซียทางภาคตะวันออก

ในอดีต หลายประเทศในยุโรปได้ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อช่วยเสริมศักยภาพของยูเครนภายใต้การบริหารของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะขอให้ชาติยุโรปจัดซื้ออาวุธผ่านสัญญาทางพาณิชย์ หรือใช้วิธีการซื้อโดยตรงจากคลังแสง ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้น

คีธ เคลล็อกก์ อดีตพลโทเกษียณและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซียในรัฐบาลทรัมป์ มีกำหนดจะหารือกับตัวแทนพันธมิตรยุโรปเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวระหว่างการประชุมด้านความมั่นคงในนครมิวนิก สัปดาห์นี้

ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เคลล็อกก์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นโดยตรงต่อแผนการดังกล่าว แต่กล่าวว่า "สหรัฐฯ สนับสนุนการขายอาวุธที่ผลิตในประเทศของตนเอง เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ" พร้อมระบุว่า มีหลายทางเลือกที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนี้ เคลล็อกก์ยังกล่าวว่า การส่งอาวุธที่เคยได้รับอนุมัติในสมัยไบเดน ยังคงดำเนินต่อไปตามแผนที่วางไว้ และย้ำว่า "ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า"

ขณะเดียวกัน สถานทูตยูเครนในกรุงวอชิงตันยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top