Saturday, 5 April 2025
มาเลเซีย

เวียดนาม-มาเลเซีย เร่งสปีดส่งออก ไทยเสี่ยงเสียแชมป์ทุเรียนตลาดจีน

(7 ก.พ.68) รายงานการวิจัยความเสี่ยงของประเทศและอุตสาหกรรมของบีเอ็มไอ (BMI Country Risk and Industry Research) หน่วยงานในเครือสถาบันวิจัยฟิทช์ (Fitch) คาดการณ์ว่าความต้องการทุเรียนที่เพิ่มมากขึ้นในจีนจะผลักดันการส่งออกทุเรียนของผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโต

สถาบันฯ คาดว่าการแข่งขันในตลาดทุเรียนจะดุเดือดมากขึ้น โดยการส่งออกจากเวียดนามและมาเลเซียจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งน่าจะท้าทายสถานะของไทยในการเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลกมากยิ่งขึ้น

สถาบันฯ มองว่ามาเลเซียจะกลายเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดป้อนตลาดจีนที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากข้อตกลงเมื่อปี 2024 ที่รัฐบาลจีนบรรลุข้อตกลงกับมาเลเซียในการอนุญาตการส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่จีน โดยในช่วงเวลานั้นมาเลเซียได้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งเปลือกและเนื้อทุเรียนแช่แข็งไปยังจีนอยู่แล้ว

ส่วนการผลิตและการส่งออกทุเรียนของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักบางประการที่ผลักดันการเติบโต ส่วนใหญ่คือสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในไทยที่กระทบการส่งออก และข้อตกลงที่กระทรวงเกษตรของเวียดนามและสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปจีนบรรลุร่วมกันในปี 2022 ซึ่งอนุญาตการส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับประโยชน์จากการมีพรมแดนทางบกติดกับจีน และการผลิตทุเรียนนอกฤดูกาล สิ่งนี้เป็นพัฒนาการสำคัญที่จะเพิ่มรายได้จากการส่งออกของเวียดนาม ควบคู่กับการเพิ่มการแปรรูปและลดแรงกดดันในการเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล

ด้านรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งทำงานเพื่อให้สามารถส่งออกทุเรียนสดไปยังจีน ขณะที่ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สถาบันฯ คาดว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทานทุเรียน

สถาบันวิจัยฟิทช์เผยว่าจีนนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสิบปีมานี้ พร้อมคาดการณ์ว่าความต้องการทุเรียนจากจีนจะแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยคาดว่าในระยะสั้นถึงระยะกลางจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคส่วนนี้

บีเอ็มไอคาดว่าการเติบโตจะดำเนินต่อไปในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากตลาดยังคงห่างจากช่วงอิ่มตัว และผลไม้ชนิดนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีราคาแพงที่สุด และมักถูกมองว่าเป็นสินค้าแปลกใหม่ที่มักรับประทานในโอกาสพิเศษ บีเอ็มไอจึงเชื่อว่าทุเรียนเป็นสินค้าที่จะมีศักยภาพทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่อำนาจซื้อของผู้บริโภค

‘ผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนฯ’ ยกดีล มาเลเซีย – ARM สุดคุ้ม หลังอัดฉีดเงินลงทุน 250 ล้านเหรียญ หนุนสู่ผู้นำอุตสาหกรรมชิป

นายณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และกรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด โพสต์เฟซบุ๊ก Nat Luengnaruemitchai ว่า มาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับดีลของมาเลเซียกับ ARM ให้ฟังกันสั้นๆ 

ก่อนอื่นเลย มาเลเซียเนี่ยเค้าไม่ได้เพิ่งเริ่มให้ความสำคัญกับธุรกิจชิปนะครับ 

ในปี 1972 Intel ได้เปิดโรงงานชิปแห่งแรกในเมืองปีนัง มีการจ้างพนักงานกว่าพันคน และภายในปี 1975 โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตส่งให้กับ Intel มากกว่าครึ่งเลยทีเดียว

หลังจากนั้น AMD, Hitachi และ HP รวมถึงบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อื่นๆ รวมๆ แล้วมากถึง 14 บริษัทก็ได้มาเปิดโรงงานในมาเลเซีย เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียมองการณ์ไกล และให้เปิดการค้าเสรี ทำให้การส่งออกนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับการยกเว้นภาษี 

และในปี 2023 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อีกรายได้ลงทุนกว่าห้าพันล้านเหรียญสหรัฐในการขยายโรงงานผลิตชิปในเมือง Kulim 

ส่วน Foxconn ก็ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตชิปด้วยเช่นกัน

ในขณะนี้ มาเลเซียมีกำลังการผลิตชิปรวมกัน 13% ของโลกเลยทีเดียว

ดังนั้น การตกรถไฟของไทยไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยแต่อย่างไร เราตกมานานแล้ว และจะตกต่อไปด้วย

แต่สำหรับการบรรลุข้อตกลงกับ Arm Holdings ในครั้งนี้ ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะทางมาเลเซีย เซ็นสัญญากับ Arm Holdings ในสามเรื่องด้วยกัน 

1. ตกลงให้มีการอบรมวิศวกร 10,000 ในเรื่องของการออกแบบวงจร
2. บริษัทบางส่วนในมาเลเซียจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีของ Arm ซึ่งมีทั้งหมด 7 ส่วนด้วยกัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะทำให้เกิดรายได้จากบริษัทเหล่านี้ 1.5 - 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
3. ตกลงที่จะให้ Arm Holdings เปิดสำนักงานสาขาในมาเลเซีย เป็นแห่งแรกในอาเซียน

ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะคุ้มสุดคุ้ม เมื่อเทียบกับเงินที่รัฐบาลมาเลเซียตกลงที่จะจ่ายให้กับ Arm Holdings ในระยะเวลา 10 ปี ที่ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลมาเลเซียจับมือ Ocean Infinity บริษัทสำรวจใต้ทะเล เริ่มค้นหาเครื่องบินที่สาบสูญรอบใหม่ มาเลเซียแอร์ไลน์ ‘MH370’

(20 มี.ค. 68) นายแอนโธนี โลค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย ประกาศว่ารัฐบาลมาเลเซียได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท Ocean Infinity เพื่อเริ่มต้นปฏิบัติการค้นหาซากเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH370 อีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014 เที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์หายไปพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ระหว่างเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังปักกิ่ง ถือเป็นหนึ่งในปริศนาการบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยปฏิบัติการค้นหาก่อนหน้านี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของเครื่องบินได้

Ocean Infinity บริษัทสำรวจใต้ทะเลจากสหรัฐฯ เคยได้รับมอบหมายให้ค้นหา MH370 ในปี 2018 โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ใต้น้ำ (Autonomous Underwater Vehicles – AUVs) แม้จะมีความก้าวหน้าในการค้นหา แต่ก็ไม่พบซากเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีและข้อมูลที่พัฒนาเพิ่มเติมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจเพิ่มโอกาสในการค้นพบซากเครื่องบินในครั้งนี้

“เราหวังว่าปฏิบัติการค้นหาใหม่จะให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และนำความจริงมาสู่ครอบครัวของผู้โดยสารและลูกเรือที่รอคอยคำตอบมานานกว่าทศวรรษ” นายแอนโธนี โลค กล่าว

แม้รายละเอียดของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและ Ocean Infinity จะยังไม่ได้รับการเปิดเผยทั้งหมด แต่นายโลคระบุว่า เงื่อนไขของสัญญาจะเป็นแบบ "No Find, No Fee" หมายความว่า Ocean Infinity จะได้รับค่าตอบแทนก็ต่อเมื่อสามารถค้นพบซากของ MH370 เท่านั้น

รูปแบบข้อตกลงนี้เคยถูกนำมาใช้แล้วในภารกิจค้นหาเมื่อปี 2018 ซึ่ง Ocean Infinity ได้ทำการสำรวจพื้นที่มหาสมุทรอินเดียตอนใต้กว่า 112,000 ตารางกิโลเมตร แต่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งของเครื่องบินได้

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่า การค้นหา MH370 ครั้งใหม่นี้อาจได้รับประโยชน์จาก ข้อมูลดาวเทียมและการวิเคราะห์กระแสน้ำในมหาสมุทรที่ได้รับการปรับปรุง ซึ่งอาจช่วยระบุพื้นที่ค้นหาที่แม่นยำยิ่งขึ้น

“เรายังเชื่อว่า MH370 อยู่ในบริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และเราหวังว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้การค้นหาประสบความสำเร็จ” โอลิเวอร์ พลังก์ (Oliver Plunkett) ซีอีโอของ Ocean Infinity กล่าว

ทั้งนี้ ครอบครัวของผู้สูญหายจาก MH370 ยังคงเฝ้ารอคำตอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการค้นหาใหม่ในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสุดท้ายในการไขปริศนาที่ดำเนินมากว่าสิบปี รัฐบาลมาเลเซียและ Ocean Infinity คาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการค้นหาในช่วงปลายปี 2024 นี้

มาเลเซียเตรียมล้อมกรอบชิป AI คุมเข้มนำเข้า-ส่งออก หวั่นเทคโนโลยีรั่วไหลสู่จีนตามข้อกังวลของสหรัฐฯ

(24 มี.ค. 68) รัฐบาลมาเลเซียเตรียมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่ต้องการจำกัดการส่งออกชิปขั้นสูงไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

รายงานระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ซาฟรูล อาซิส กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้มาเลเซียติดตามการเคลื่อนตัวของชิป Nvidia ระดับไฮเอนด์ที่เข้ามาในประเทศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความสงสัยว่าชิปจำนวนมากอาจลงเอยที่จีน

“สหรัฐฯ ขอให้เราตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราได้ตรวจสอบการขนส่งทุกครั้งที่มาถึงมาเลเซีย เมื่อเกี่ยวข้องกับชิป Nvidia” อาซิสกล่าวกับหนังสือพิมพ์

ปัจจุบัน มาเลเซียเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งฐานการผลิตและประกอบชิปในประเทศ ซึ่งนโยบายใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไฮเทคในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียยังคงเดินหน้าสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย โดยระบุว่า จะกำหนดมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในประเทศมากเกินไป

ด้าน สหรัฐฯ ได้เพิ่มแรงกดดันต่อประเทศพันธมิตรทั่วโลกให้เข้าร่วมมาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI และการทหารไปยังจีน โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปขั้นสูงแล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียกำลังเร่งตรวจสอบว่ามีการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นหรือไม่ ในกรณีการขนส่งเซิร์ฟเวอร์ที่อาจเกี่ยวข้องกับคดีฉ้อโกงมูลค่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสิงคโปร์ ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นอาจมีชิปขั้นสูงที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดการส่งออกของสหรัฐฯ

การสืบสวนเกิดขึ้นหลังจากอัยการสิงคโปร์เปิดเผยในศาลเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า บริษัทแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ถูกกล่าวหาว่าจัดหาเซิร์ฟเวอร์จากสหรัฐฯ ให้กับมาเลเซียโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่สื่อในสิงคโปร์รายงานว่าคดีนี้อาจเกี่ยวข้องกับการโอนถ่ายชิป AI ขั้นสูงของ Nvidia ไปยังบริษัทปัญญาประดิษฐ์ของจีน DeepSeek

DeepSeek ตกเป็นเป้าสายตาของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากเปิดตัวโมเดล AI อันทรงพลังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนในแวดวงเทคโนโลยี ท่ามกลางข้อสงสัยว่าเทคโนโลยีของบริษัทนี้อาจใช้ชิปที่ถูกสหรัฐฯ ควบคุมและจำกัดการส่งออก

ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าสอบสวนกรณีนี้อย่างใกล้ชิด โดยก่อนหน้านี้ วอชิงตันได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกชิปประสิทธิภาพสูงให้กับจีน เพื่อลดความสามารถของปักกิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ขั้นสูง

ทั้งนี้ การสืบสวนครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี AI ที่กำลังเป็นจุดศูนย์กลางของการแข่งขันระดับโลก

เกิดเหตุไฟไหม้ท่อก๊าซปิโตรนาสในเมืองปุตราจายา ไฮท์ส ประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บ้านเรือนพังเสียหายหนัก เจ้าหน้าที่กำลังเร่งช่วยเหลือ-ค้นหาผู้ติดอยู่ใต้ซาก

(1 เม.ย. 68) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้รุนแรงที่ท่อส่งก๊าซในเมือง ปุตราจายา ไฮท์ส (Putra Heights) รัฐสลังงอร์ ของประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้บ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังเร่งค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ใต้ซากอาคาร

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้รับแจ้งเหตุเมื่อช่วงค่ำ และระดมกำลังเข้าควบคุมเพลิง ขณะที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้แน่ชัด เนื่องจากเพลิงไหม้กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและทำให้โครงสร้างอาคารบางส่วนพังถล่ม

อาห์มัด มุกห์ลิส มุกห์ตาร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของหน่วยงานดับเพลิงและกู้ภัยประจำรัฐสลังงอร์ เผยว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นใกล้กับย่านที่พักอาศัยของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้อพยพผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยส่วนของท่อก๊าซที่มีไฟลุกไหม้นั้นยาวราว 500 เมตร

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ที่เกิดเหตุได้ปิดวาล์วแล้วและกำลังรอให้แก๊สหมดจึงจะสามารถดับไฟได้ ตามรายงานของศูนย์ปฏิบัติการ SMART Selangor (SSOC) และรายงานอีกว่ามีคนจำนวนหนึ่งติดอยู่ในบ้านที่ถูกไฟไหม้ใกล้ ปุตราจายา ไฮท์ส หลังจากท่อส่งก๊าซในบริเวณนั้นเกิดไฟไหม้

ตามรายงานของศูนย์ปฏิบัติการ SMART Selangor ระบุว่าบ้านที่ได้รับผลกระทบคือบ้านที่อยู่ใน กัมปง ซุงไก บารู (Kampung Sungai Baru) และสาเหตุของเพลิงไหม้นั้น เกิดจากท่อส่งก๊าซแห่งหนึ่งของปิโตรนาส (Petronas) รั่ว ตามที่ JBPM สลังงอร์ระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงถูกสั่งให้อพยพออกจากจุดเสี่ยง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการระเบิดซ้ำจากแรงดันก๊าซที่ยังคงค้างอยู่ในระบบ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้

หน่วยฉุกเฉินและทีมกู้ภัยยังคงปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่เกิดเหตุเพื่อความปลอดภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top