Saturday, 5 April 2025
มาเลเซีย

'ชาวมาเลเซีย' เกินครึ่ง เห็นด้วย!! จำกัดเด็กต่ำกว่า 14 เล่นโซเชียลมีเดีย แนะ!! 'ครู-ผู้ปกครอง' สำคัญ ช่วยสร้างภูมิเท่าทันภัยโลกออนไลน์

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยผลสำรวจจาก ‘อิปซอสส์’ (Ipsos) บริษัทวิจัยการตลาดและสำรวจความคิดเห็นระดับโลก พบว่า มีชาวมาเลเซียถึง 71% เห็นด้วยกับการจำกัดการเข้าถึงโซเชียลมีเดียในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี

โดยผลโพลการติดตามการศึกษาของอิปซอสส์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในมาเลเซีย ไทย, อินโดนีเซีย, และสิงคโปร์ ระบุว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีผู้คนคิดเห็นตรงกันในเรื่องนี้มากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจาก ‘อินโดนีเซีย’

"ชาวมาเลเซียระมัดระวังการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของเด็กๆ มากที่สุด ขณะที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้สมาร์ตโฟนและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโรงเรียนนั้นแตกต่างกันออกไป" ผลสำรวจระบุ

ต่อมา ผลสำรวจยังพบว่าชาวมาเลเซีย 51% มองว่าควรห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีใช้สมาร์ทโฟนทั้งในระหว่างคาบเรียนและหลังเลิกเรียน ส่วนอีก 29% เห็นด้วยว่าควรห้ามใช้โมเดลภาษาเอไออย่างแชทจีพีที (ChatGPT)

ขณะเดียวกัน ชาวมาเลเซีย 56% เชื่อว่าครูและโรงเรียนควรมีหน้าที่ในการสอนความรู้ด้านดิจิทัลและความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ด้าน 39% มองว่าหน้าที่นี้ควรเป็นของผู้ปกครอง

‘หนุ่มมาเลฯ’ โพสต์ระบายโรงแรมบ้านเกิด ‘เช็กอินช้า-เร่งเช็กเอาต์’ ฟากชาวเน็ตเชียร์ให้บอยคอตต์ บ้างก็บอก ‘มาเที่ยวเมืองไทยดีกว่า’

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ชายชาวมาเลเซีย’ รายหนึ่ง ได้ระบายความผิดหวังที่มีต่อข้อกำหนดต่าง ๆ ของโรงแรมท้องถิ่น (มาเลเซีย) พร้อมส่งเสียงเรียกร้องให้กระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมแดนเสือเหลือง เข้ามาจัดการคลี่คลายการกำหนดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์ตามอำเภอใจ โดยเขามองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป 

ความคิดเห็นของชายรายนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนอื่น ๆ อย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ และบางส่วนถึงขั้นยุให้คนอื่น ๆ หันไปเที่ยวประเทศไทยแทน

รายงานข่าวระบุว่า ชายรายดังกล่าวนามว่า ‘ฮาคิม เอช’ ใช้บัญชีบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ เขียนคร่ำครวญเกี่ยวกับกำหนดเวลาของโรงแรมต่าง ๆ ในมาเลเซีย ซึ่งดำเนินการแบบตามอำเภอใจ ค่อนข้างล่าช้าในการเช็กอิน แต่มาเร่งรัดในตอนเช็กเอาต์

ฮาคิม เอช โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ระบุว่า "หากพวกผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการเห็นชาวมาเลเซียสนับสนุนการท่องเที่ยวท้องถิ่นของเรา กระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรม ต้องเข้ามาแทรกแซง คลี่คลายประเด็นเกี่ยวกับเวลาการเช็กอินและเช็กเอาต์ตามอำเภอใจ"

เขาอ้างต่อว่า "การเช็กอินตอน 16.00 น. และเช็กเอาต์ 11.00 น. มันไร้สาระ พวกคุณอยากบอยคอตต์โรงแรมต่าง ๆ ที่ใช้นโยบายนี้กันหรือเปล่า?"

จนถึงวันจันทร์ (23 ก.ย.) มีคนเข้ามาอ่านข้อความดังกล่าวบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์แล้วกว่า 396,000 คน และมีคนกดไลก์มากกว่า 2,300 ครั้ง โดยชาวมาเลเซียจำนวนมากเห็นด้วยกับเขา และสะท้อนความรู้สึกแบบเดียวกัน ขณะที่บางส่วนเรียกร้องให้บอยคอตต์โรงแรมเหล่านั้น และบางคนถึงขั้นยุให้หันไปเที่ยวไทยแทน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นตอบกลับ เล่าว่า เคยได้รับคำอธิบายจากโรงแรมเหล่านั้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัตินี้ แต่เขารู้สึกว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร ในนั้นรวมถึงอ้างว่าแผนกทำความสะอาดไม่มีเวลามากพอที่จะทำความสะอาดห้อง

ส่วนอีกคนโพสต์เห็นด้วยว่าควรบอยคอตต์โรงแรมเหล่านั้น โดยมองว่าเวลาเช็กอินล่าช้า แต่เช็กเอาต์เร็วนั้น เป็นเรื่องที่ไร้สาระ และไม่คู่ควรกับการเข้าพักแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคนยังเรียกร้องให้กำหนดเวลาเช็กอินและเช็กเอาต์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับโรงแรมทั่วประเทศ ซึ่งคือเช็กอิน 14.00 น. และเช็กเอาต์ 12.00 น.

ขณะเดียวกัน มีชาวมาเลเซียบางส่วนถึงขั้นขอให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อโรงแรมต่าง ๆ ที่เช็กอินช้าและมาเร่งรัดตอนเช็กเอาต์ เพื่อให้ง่ายต่อการที่ชาวมาเลเซียจะบอยคอตต์

‘แอนโทนี่ ตัน’ ซีอีโอ Grab ทำงานหนัก วันละ 20 ชั่วโมง ด้วยเงินทุน 8 แสนบาท สร้าง ‘ยูนิคอร์น’ ตัวแรกของอาเซียนได้สำเร็จ กวาดรายได้ปีละ 6.6 หมื่นล้านบาท

(13 ต.ค. 67) ‘แกร็บ’ (Grab) สตาร์ทอัพเล็กๆ ในมาเลเซีย ที่เริ่มต้นด้วยบริการแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ จากเงินทุนก้อนแรก 8 แสนบาท ก้าวสู่การเป็น ‘ยูนิคอร์น’ บริษัทแรกของอาเซียนในเวลาเพียงไม่กี่ปี 

เพียงเพราะ ‘แอนโทนี่ ตัน’ เด็กหนุ่มทายาทตระกูลร่ำรวยที่อยากพิสูจน์ตัวเอง จนสร้าง ‘ซูเปอร์แอป’ ที่มีรายได้ปีละ 2 พันล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 6.6 หมื่นล้านบาท ด้วยธุรกิจเจาะกลุ่ม ‘ฐานของปิรามิด’ และทำงานหนักเพื่อสร้างแอปที่ใช้งานได้จริง 

แอนโทนี่ ตัน โตมากับตำแหน่งทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลแทน  จากการทำธุรกิจผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ข้ามชาติ บริษัทตันชงมอเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศมาเลเซีย จนไม่จำเป็นต้องแสวงหาความร่ำรวยแล้ว 

ในปี 2552  แทนได้เข้าศึกษาต่อที่ Harvard Business School และพบกับ โฮย หลิง ตัน เพื่อนชาวมาเลเซียในชั้นเรียน ‘การทำธุรกิจในตลาดที่เป็นฐานของปิรามิด’ 

จนกระทั่งปีในปี 2554 ทั้งคู่ได้พูดคุยกันถึงปัญหาความปลอดภัยของระบบแท็กซี่ในมาเลเซีย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง ซึ่งจุดประกายให้พวกเขาตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ Grab หลังจากที่ทั้งคู่ได้ร่วมกันร่างแผนธุรกิจเพื่อเข้าร่วมการประกวดสตาร์ทอัพในมหาวิทยาลัย และสามรถคว้ารางวัลรองชนะเลิศพร้อมเงินรางวัล 25,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 8 บาทเท่านั้น

จากสตาร์ทอัพเล็กๆ ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำอย่าง SoftBank จนมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เส้นทางการสร้างบริษัทให้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ความคาดหวังของครอบครัวที่อยากให้ตันสานต่อธุรกิจที่บ้าน มำให้ไอเดียการสร้าง Grab ถูกปฏิเสธ พ่อของเขาพูดว่า “ฉันไม่คิดว่ามันจะสำเร็จ” ประโยคกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทันมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเอง

เมื่อขอเงินทุนจากพ่อไม่สำเร็จ ทันหันขอเสนอแผนธุรกิจนี้กับแม่ ซึ่งเห็นความเป็นไปได้ในธุรกิจนี้และตัดสินใจสนับสนุนเงินทุนให้เป็นคนแรก ด้วยเงินทุนที่ได้มา ทันจึงเริ่มต้นธุรกิจ Grab ภายใต้ชื่อ MyTeksi ในเดือนมิถุนายน ปี 2555 
.
ช่วงเริ่มต้นของ Grab นั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย ตันและทีมงานต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องงบประมาณที่จำกัดในการสร้างระบบแท็กซี่ใหม่ให้กับมาเลเซีย

สำนักงานเดิมของ Grab ตั้งอยู่ในห้องเล็กๆ ในกัวลาลัมเปอร์ เป็นห้องทำงานเล็กๆ ที่ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานอย่างเครื่องปรับอากาศขณะที่อากาศร้อนตลอดปี และไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตขนาดต้องใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตจากมือถือ

นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้เป็นเรื่องยากที่ทำให้ Grab ดึงคนขับมาเป็นพาร์ทเนอร์บนแพลตฟอร์ม ดังนั้นพวกเขาจึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ในการเริ่มต้นธุรกิจ Grab ในช่วงแรก ๆ แทนได้เดินทางไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อโน้มน้าวให้พนักงานขับรถแท็กซี่มาลองใช้บริการ Grab

ตันสังเกตเห็นพฤติกรรมของคนขับแท็กซี่ในโฮจิมินห์ซิตี้ที่มักแวะดื่มกาแฟที่ปั๊มน้ำมันในช่วงเช้า จึงนำไปสู่ไอเดียแจกกาแฟฟรีตอน ตี 4 เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีและชักชวนให้พวกเขามาร่วมงานกับ Grab นั่นเป็นวิธีเดียวที่ทำให้เค้าเข้าถึงกลุ่มไรเดอร์

ส่วนที่มะนิลา แทนใช้เวลาช่วงเช้ามืดไปทำความรู้จักกับคนขับแท็กซี่อย่างใกล้ชิด นั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตพร้อมกับดื่มเบียร์เย็นๆ เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง

ปี 2561  เป็นปีที่ตลาดบริการเรียกรถในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ Uber ยักษ์ใหญ่ด้านการเรียกรถบริการจากสหรัฐตัดสินใจขายธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้กับ Grab คู่แข่งรายสำคัญ โดยแลกกับหุ้นใน Grab ถึง 27.5% และ Dara Khosrowshahi ซีอีโอของ Uber เข้าร่วมคณะกรรมการของ Grab 

การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามการแข่งขันที่ดุเดือดและยาวนาน ทำให้ Grab กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาด และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งในภูมิภาคอย่างมาก

แม้ว่า Grab จะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริษัทก็ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการผูกขาดตลาดจากทั้งนักวิจารณ์และหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วและการครอบคลุมตลาดในหลายประเทศ 

Grab ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว เช่นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง และเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้คนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือที่เรียกว่า ‘ฐานของปิรามิด’

ตอนนี้นอกจาก Grab จะให้บริการเรียกแล้ว ยังขยายธุรกิจไปสู่บริการจัดส่งอาหารและสินค้า รวมถึงบริการทางการเงิน เช่น การชำระเงิน การให้กู้ยืมและธนาคารดิจิทัล ปัจจุบันแกร็บให้บริการลูกค้ากว่า 35 ล้านคน และสร้างงานอิสระกว่า 13 ล้านตำแหน่งใน 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา 

ศาลมาเลย์สั่งรัฐบาล คืนนาฬิกา 172 เรือน รุ่น 'ไพรด์' ให้บริษัท สวอท์ช

(29 พ.ย.67) ศาลมาเลเซียมีคำสั่งให้คืน นาฬิกาสวอท์ช ไพรด์ รุ่นสีรุ้งจำนวน 172 เรือนให้แก่บริษัทสวอท์ช ผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่ถูกทางการมาเลเซียยึดไปเมื่อปีที่แล้ว โดยศาลตัดสินว่าการยึดนาฬิกาดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียไม่ได้มีหมายศาลในการยึดทรัพย์ และกฎหมายที่ห้ามขายนาฬิกานั้นก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากศาล

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม 2566 รัฐบาลมาเลเซียอ้างว่า นาฬิกาไพรด์ ซึ่งมีสัญลักษณ์ LGBTQ+ ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดตามกฎหมายและหลักศาสนาของประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม โดยมีกฎหมายห้ามความรักที่ไม่ใช่ระหว่างชายหญิง และผู้กระทำผิดอาจถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี โดยเจ้าหน้าที่ยึดสินค้าจากร้านสวอท์ชทั่วมาเลเซีย บริษัทสวอท์ชจึงไม่สามารถจำหน่ายสินค้าที่ถูกยึดไป

ทว่าล่าสุด ศาลได้ตัดสินว่าไม่มีเหตุผลทางกฎหมายในการยึดนาฬิกาเหล่านี้ และถือว่าการยึดทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมสั่งให้ทางการต้องคืนนาฬิกาดังกล่าวแก่บริษัทเอกชนใน 14 วัน นายไซฟุดดิน นาซูชัน อิสมาอิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย กล่าวว่าทีมงานด้านกฎหมายจะพิจารณาคำตัดสินอย่างละเอียด ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียนปีหน้า เผยคุณสมบัติประสบการณ์ระดับ 'รัฐบุรุษ'

(16 ธ.ค. 67) สื่อมาเลเซียรายงานว่า นายอันวาร์ อิบบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะแต่งตั้งให้ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่เป็น "ที่ปรึกษาส่วนตัว" ให้กับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ในขณะที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า

นายอันวาร์ เผยว่า คุณสมบัติของนายทักษิณ นอกจากมีประสบการณ์ระดับรัฐบุรุษแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพและสนับสนุนจากชาติสมาชิกหลายฝ่ายในอาเซียน ซึ่งเป็นการแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ

“ผมตกลงแต่งตั้ง (ทักษิณ) เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในฐานะประธานอาเซียน ขอบคุณที่ยอมรับการแต่งตั้งนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษแบบนี้” นายอันวาร์กล่าวกับนางสาวแพทองธาร ธิดาคนเล็กของนายทักษิณ

“ขอบคุณที่เขายอมรับการแต่งตั้งครั้งนี้ เพราะเราเห็นความสำคัญจากประสบการณ์ของนักการเมืองผู้มีประสบการณ์เช่นคุณพ่อของท่าน” อันวาร์กล่าวต่อนายกรัฐมนตรีแพทองธาร

นอกจากนี้ ในระหว่างการหารือแบบทวิภาคีระหว่างนางสาวแพทองธาร ชินวัตร กับนายอันวาร์ อันวาอิบราฮิม เผยว่า มาเลเซียต้องการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองชาติ โดยตั้งเป้าหมายการค้าถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027

"อาจจะมองว่าเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยาน แต่เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ในประเทศไทยและมาเลเซีย เราก็มีสิ่งที่สามารถร่วมมือกันได้" นายอันวาร์ กล่าว นอกจากนี้นายกมาเลย์ยังกล่าวถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างไร้รอยต่อในอาเซียน เพื่อให้การค้าภายในภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากขึ้น

'อันวาร์' พบ 'ทักษิณ' แล้ว ขึ้นเรือยอร์ชคุยกลางทะเล ชมเปราะเป็น 'บิ๊กคอนเนคชั่นแห่งอาเซียน'

( 27 ธ.ค.67) นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม โพสต์ภาพพร้อมข้อความในการพบปะกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะที่แต่งตั้งให้รับหน้าที่ที่ปรึกษาประธานอาเซียนซึ่งมาเลเซียจะรับบทบาทประธานอาเซียนในปีหน้า

ข้อความจากเฟซบุ๊กของนายกอันวาร์ระบุว่า "ยินดีที่ได้พบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และเพื่อนที่รัก ดร.ทักษิณ ชินวัตร เราทั้งสองสนทนาอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น รวมถึงในฐานะที่ท่านเป็นที่ปรึกษานอกรอบของประธานอาเซียนของมาเลเซีย บทสนทนาของเรามุ่งเน้นไปที่เรื่องสำคัญในระดับภูมิภาค ได้แก่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ การส่งเสริมสันติภาพในภาคใต้ของไทย และการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา

เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบได้ของทักษิณในภูมิภาค และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของท่าน จะเปิดโอกาสอันมีค่าให้กับมาเลเซียและอาเซียนในการเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยความมั่นใจและประสิทธิผลที่มากขึ้น

เราได้หารือกันถึงวิธีการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและไทยที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยการปรับให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างความสมานฉันท์ในภูมิภาค ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เดียวกับที่ผมแบ่งปันกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทักษิณและผมเชื่อมั่นว่า มาเลเซียและไทยสามารถทำได้มากกว่าที่เคย โดยไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ของชาติของเรา แต่เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม เรามุ่งมั่นที่จะทำให้วิสัยทัศน์นั้นกลายเป็นความจริง" ข้อความที่นายกอันวาร์ระบุ 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม แถลง!! ผลการหารือกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เผย!! พูดคุยประเด็นสำคัญในภูมิภาค เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การสร้างสันติภาพในภาคใต้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม เปิดใจเชื่อ ความเจนจัดของอดีตผู้นำไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วภูมิภาคจะเป็นประโยชน์ต่อ 'มาเลเซีย' ที่กำลังจะนั่งในตำแหน่งประธานอาเซียนแบบหมุนเวียนคนใหม่ในปี 2025

และเสริมว่า ผู้นำทั้งสองพบกันในวันพฤหัสบดี (26) โดยบลูมเบิร์กกล่าวว่า ประเด็นการหารือประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญของภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างสันติภาพในภาคใต้ของไทยและต่อวิกฤตพม่า

“เครือข่ายความสัมพันธ์ที่ไม่มีใครเทียบเคียงของคุณทักษิณไปทั่วทั้งภูมิภาคพร้อมไปด้วยความเชี่ยวชาญที่พิเศษที่โดดเด่นของเขานั้นเป็นเสมือนการสัญญาต่อโอกาสที่มีคุณค่ามหาศาลสำหรับทั้งมาเลเซียและอาเซียน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายด้วยความเชื่อมั่นและความสามารถที่มากขึ้น” 

อันวาร์ซึ่งเรียกอดีตนายกฯ ไทยว่า ‘เพื่อนรัก’ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีความรู้สึกวิตกต่อปัญหาทางกฎหมายและการเมืองในไทยที่รุมล้อมอดีตผู้นำไทยที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองนาน 15 ปีจากการโดนทำรัฐประหาร ซึ่งมีประวัติทำความผิดคอร์รัปชันและสามารถรอมชอมกับทหารได้ ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

และหลังจากที่นายกฯ อันวาแต่งตั้งทักษิณเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนในฐานะหนึ่งในที่ปรึกษาส่วนตัวในการนั่งทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนครั้งแรกกลับพบกับเสียงวิจารณ์จากทั้งในไทยและในมาเลเซีย และรวมไปสื่อนอกเช่น รอยเตอร์

มีการหยิบยกการเปรียบเทียบให้เห็นเหมือนเมื่อครั้งการได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและความสัมพันธ์กับฮุนเซน ย้อนให้นึกถึงครั้งที่ ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งจากฮุนเซน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา แต่หลังจากนั้นไม่นานทักษิณประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกัมพูชามีข้อพิพาททางทะเลกับไทยในเรื่องเกาะกูด

ขณะที่ฝ่ายค้านมาเลเซียเองออกมาถามอาเซียนจะได้ประโยชน์จริงหรือและจะเสริมภาพลักษณ์ของอันวาร์ได้อย่างไร ซัดตั้งคนที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำไมไม่ตั้งนักการทูตหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ด้าน ‘ดร.มหาเธร์’ งง ทำไมเลือกทักษิณ ทั้งที่มีคนอื่นมากมาย

ซึ่งการพบกันระหว่าง 2 ผู้นำมาเลเซีย-ไทยนี้เป็นที่จับตาเป็นวงกว้างโดยเฉพาะจากโลกตะวันตก เกิดขึ้นหลังสื่อ TASS ของรัสเซียรายงานวันพุธ (25) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ตอบรับการเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS (BRICS partner country) ซึ่งเป็นก้าวที่จะนำไปสู่การเป็นสมาชิกเต็มตัวในอนาคต

กลายเป็นคำถามให้ผู้เชี่ยวชาญว่า กลุ่มอาเซียน 10 ชาติซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1967 นี้จะยังคงวางตัวเป็นกลางอย่างไรในเมื่อ 3 ชาติจากทั้งหมดได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งกำลังจะเป็นประธานอาเซียน รวมไทย ที่มีอดีตนายกฯ นั่งเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอาเซียน และอินโดนีเซียนั้นกำลังจะเป็นหุ้นส่วนกับรัสเซีย-จีนผ่านกลุ่ม BRICS

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ในฐานะเป็นประธานอาเซียน อันวาร์และมาเลเซียจะผงาดบนเวทีโลกในฐานะชาติมหาอำนาจตัวกลาง (middle power) โดยในการจำกัดความที่หมายถึงประเทศที่ยังไม่มีอิทธิพลโดดเด่นในฐานะชาติมหาอำนาจโลก เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย แต่ถูกพิจารณาว่ามีอิทธิพลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การทูตของนายกฯ อันวาร์รวมถึงการไปเยือนอเมริกาใต้เพื่อประชุมเอเปกและการประชุม G-20 สะท้อนถึงการสร้างที่ยืนของมาเลเซียและเขาบนเวทีโลกและแผนสำหรับการนำอาเซียนในปี 2025

เรดิโอฟรีเอเชียชี้ว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มักจะย้ำเสมอในการให้สำคัญต่ออาเซียนและกลไกของอาเซียนต่อเป้าหมายในการทำให้มีความเหมาะสมมากขึ้นสำหรับความพยายามอย่างเคลื่อนไหวภายในโลกขั้วใต้ (Global South) ซึ่งโลกขั้วใต้นี้ปักกิ่งได้ประกาศแสดงความเป็นผู้นำ

และเป็นเสมือนสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำแดนเสือเหลืองที่ต้องทำให้มั่นใจว่า กลุ่มอาเซียนจะไม่เพียงแต่เป็นกลาง แต่ต้องถูกมองให้เป็นเช่นนั้นด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Matthijs van den Broek แสดงความเห็น

และเสริมว่า ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่วต่อประเทศใดๆ ที่เขาเชื่อว่ากำลังเป็นศัตรูกับดอลลาร์สหรัฐ หลังกลุ่ม BRICS วางแผนจะตั้งสกุลเงินใหม่ของตัวเอง

ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการซื้อขายต่างชาติระดับต้นและเป็นพันธมิตรทางการลงทุน ดังนั้นแล้ว มาเลเซียในฐานะประธานต้องเพิ่มความสามารถทางการทูตของตัวเองเพื่อไม่ให้มีการทำให้รู้สึกทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

'สิงคโปร์-มาเลเซีย' ผุดแผนปั้น 'ยะโฮร์' ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวังเป็นศูนย์กลางการค้า-เทคโนโลยี แบบ 'เซินเจิ้น'

(8 ม.ค.68) สิงคโปร์และมาเลเซียประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3,500 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าสิงคโปร์ถึง 4 เท่า และใหญ่กว่าเซินเจิ้น 2 เท่า โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 9 แสนล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งสร้างงานนับแสนตำแหน่ง  

เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้มีเป้าหมายดึงดูดโครงการลงทุนกว่า 50 โครงการในช่วง 5 ปีแรก และเพิ่มเป็น 100 โครงการภายใน 10 ปีแรก ทั้งนี้ การร่วมมือดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสร้างอาชีพนับแสนตำแหน่ง พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2030  

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่นี้จะตั้งอยู่บริเวณพรมแดนรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้สัญจรผ่านพรมแดนกว่า 3 แสนรายต่อวัน ทำเลดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน  

ความร่วมมือดังกล่าวถูกพูดถึงมาหลายปี โดยแผนเดิมคือการลงนามข้อตกลงตั้งแต่ปี 2024 แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ ติดโควิดในช่วงนั้น จึงเลื่อนมาเริ่มต้นในเดือนมกราคม ปี 2025  

นี่ไม่ใช่ความร่วมมือครั้งแรกระหว่างสองประเทศ ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์และมาเลเซียเคยพยายามพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่โครงการดังกล่าวต้องชะลอไปเนื่องจากปัญหาทางการเงินและการจัดการ  

แม้จะมีความคืบหน้า แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องแก้ไข เช่น การจัดการเรื่องภาษีที่แตกต่างกัน (ภาษีเงินได้นิติบุคคลของสิงคโปร์อยู่ที่ 17% ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 24%) รวมถึงปัญหาด้านระบบอนุญาตข้ามพรมแดน การนำยานยนต์เข้าสู่พื้นที่ และความแตกต่างในขั้นตอนดิจิทัล เช่น สิงคโปร์มีระบบ QR-code สำหรับข้ามแดนที่พัฒนาไปไกลกว่ามาเลเซีย  

ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่ทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ โดยคาดว่าแรงจูงใจด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จในอนาคต

มาเลเซียเบรกเมียนมา สร้างสันติภาพในประเทศก่อนเปิดหีบ

(20 ม.ค. 68) ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการเจรจาสันติภาพและยุติการใช้กำลังในทันที พร้อมเตือนว่าแผนการจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรง ไม่ควรถูกจัดให้เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ

นายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้ กล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เกาะลังกาวี มาเลเซีย ว่า อาเซียนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งในเมียนมายุติการต่อสู้ และเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่โดยปราศจากอุปสรรค

"มาเลเซียต้องการทราบว่าเมียนมาคิดอย่างไร และเราได้แจ้งชัดเจนว่า การจัดการเลือกตั้งไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการหยุดยิง" นายโมฮัมหมัดกล่าว

นอกจากนี้ มาเลเซียได้แต่งตั้งนายโอธมัน ฮาชิม อดีตนักการทูต เป็นผู้แทนพิเศษด้านวิกฤตการณ์ในเมียนมา โดยนายโอธมันจะเดินทางไปยังเมียนมาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามแผนสันติภาพ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

ทั้งนี้ สหประชาชาติรายงานว่า ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมาอยู่ในระดับวิกฤต โดยประชาชนเกือบ 20 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

อันวาร์วิจารณ์ไบเดนมัวแต่สนใจยูเครน จีนรับอานิสงส์ แผ่อิทธิพลอาเซียนมากขึ้น

(21 ม.ค.68) นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อไฟแนนเชียลไทมส์ โดยแสดงความเห็นว่า สหรัฐฯ มุ่งเน้นความสำคัญไปที่สงครามในยูเครนมากจนทำให้ความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลง "บางทีพวกเขาอาจจะมุ่งเน้นไปที่ยุโรปก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้(อาเซียน)น้อยลง ยกเว้นแค่คำแถลงนโยบายต่างประเทศทั่วไป" นายกอันวาร์กล่าว 

แม้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะไม่ได้กล่าวถึงตัวบุคคล แต่เขากล่าวถึงรัฐบาลสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยอันวาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความละเลยของสหรัฐฯ ต่อความสัมพันธ์กับอาเซียนทำให้สหรัฐฯ สูญเสียพื้นที่ให้กับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "ที่ผ่านมาอาเซียนเราความร่วมมือกับสหรัฐฯ เป็นอย่างดีแต่พวกเขาก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้เหมือนที่เคยเป็นในอดีต ขณะที่จีนมีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้น"

เขายังกล่าวชื่นชมการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากรัฐบาลจีนที่มาเลเซีย โดยว่ามาเลเซียเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ "จีนให้การเข้าถึงที่ดีกว่า คุณสามารถพบปะพวกเขาได้ง่าย เราส่งรัฐมนตรีไปที่นั่น พวกเขาส่งรัฐมนตรีมา" 

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังปกป้องการตัดสินใจของประเทศในภูมิภาคในการร่วมมือกับจีนอย่างสร้างสรรค์ และยินดีต้อนรับการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐาน "มันเป็นเรื่องที่ดีกว่าสำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างมาเลเซียที่จะขยายความสัมพันธ์กับจีน" นายกรัฐมนตรีมาเลย์กล่าว

เมื่อถูกถามถึงความจำเป็นในการเข้มงวดกับจีนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย เขากล่าวว่า "ทำไมเราต้องเข้มงวด? เราไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ในหลายเรื่องด้านนโยบายต่างประเทศ แต่เราก็ต้องการให้พวกเขาเป็นพันธมิตรที่สำคัญ" และ "กับจีน ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องของการเข้มงวดกับประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่งและใหญ่"

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังให้ความเห็นถึงกรณีกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมั่นใจว่า "เหตุผลจะชนะในที่สุด" และกล่าวว่า "มีบริษัทใหญ่จากสหรัฐฯ ที่มีความสนใจและการพึ่งพาการค้าต่างประเทศและการลงทุนจำนวนมาก"

ในแง่การบาลานซ์ระหว่างมหาอำนาจ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวถึงความตั้งใจที่จะ 'รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย' ในระหว่างการเป็นประธานอาเซียน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top