(3 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการทางการค้าที่สำคัญ โดยกำหนดให้มีการเก็บ “ภาษีพื้นฐาน” (baseline tariff) ในอัตรา 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากทุกประเทศ มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 00:01 น. ของวันเสาร์ที่ 5 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ
“ในความเห็นของผม นี่เป็นหนึ่งในวันที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา” ทรัมป์กล่าว เป็นเวลาหลายทศวรรษที่อเมริกาถูก “ปล้นสะดม ข่มขืน” โดยคู่ค้าทางการค้า “ในหลายๆ กรณี มิตรนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าศัตรู”
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้ประกาศเก็บภาษีเพิ่มเติมที่เรียกว่า “ภาษีตอบโต้” (reciprocal tariffs) ต่อประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลทางการค้า โดยภาษีเหล่านี้จะมีอัตราที่สูงขึ้นและจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน เป็นต้นไป ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปจะถูกเก็บภาษีที่อัตรา 20% ญี่ปุ่นที่ 24% และจีนที่ 34%
สำหรับประเทศไทย สินค้านำเข้าจะถูกเก็บภาษีที่อัตรา 36% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดที่กำหนดในมาตรการนี้
ทรัมป์ระบุว่ามาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศและลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเตือนว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ สูงขึ้นและอาจกระตุ้นให้เกิดสงครามการค้ากับประเทศคู่ค้า
อัตราภาษีนำเข้าตามประเทศ
-10%: สหราชอาณาจักร, บราซิล, สิงคโปร์, ชิลี, ออสเตรเลีย, ตุรกี, โคลัมเบีย, เปรู, คอสตาริกา, โดมินิกัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, นิวซีแลนด์, อาร์เจนตินา, เอกวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, เอลซัลวาดอร์, ตรินิแดดและโตเบโก, โมร็อกโก
- 15%: นอร์เวย์
- 17%: อิสราเอล, ฟิลิปปินส์
- 18%: นิการากัว
- 20%: สหภาพยุโรป, จอร์แดน
- 21%: โกตดิวัวร์
- 24%: ญี่ปุ่น, มาเลเซีย
- 25%: เกาหลีใต้
- 26%: อินเดีย
- 27%: คาซัคสถาน
- 28%: ตูนิเซีย
- 29%: ปากีสถาน
- 30%: แอฟริกาใต้
- 31%: สวิตเซอร์แลนด์
- 32%: ไต้หวัน, อินโดนีเซีย
- 34%: จีน
- 36%: ไทย
- 37%: บังกลาเทศ, เซอร์เบีย, บอตสวานา
- 44%: ศรีลังกา, เมียนมา
- 46%: เวียดนาม
- 47%: มาดากัสการ์
- 48%: ลาว
- 49%: กัมพูชา
ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ยืนยันว่า นโยบายนี้มุ่งหวังให้ ธุรกิจสหรัฐฯ ได้เปรียบในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคการผลิตภายในประเทศ แต่มีการคาดการณ์กันว่าหลายประเทศอาจหันไปทำข้อตกลงการค้าใหม่กับประเทศอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) อาจเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น