Thursday, 29 May 2025
พีระพันธุ์สาลีรัฐวิภาค

‘สนธิ’ แจง!! ไม่เคยพูดว่า ‘พีระพันธุ์’ เกี่ยวข้องกับคนบนเรือในคดีแตงโม แต่เชื่อ!! รู้จักกับ ‘ปอ ตนุภัทร’ สนิทถึงขั้นให้เรียก ‘อาตุ๋ย’ อย่างเป็นกันเอง

(16 ก.พ. 68) นายสนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนอาวุโส และเจ้าของสื่อในเครือผู้จัดการ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ขอชี้แจงเรื่องคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ผมขอชี้แจงเรื่องที่ผมพูดไปใน "สนธิเล่าเรื่อง" เมื่อวันพุธที่ผ่านมา(12ก.พ.) ว่า คุณปอ ตนุภัทร หนึ่งในคนบนเรือ ได้มีการโทรศัพท์คุยกับคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั้น ผมยืนยันว่าไม่ได้เป็นข้อมูลที่มาจาก DSI เลย และไม่มีทางที่ DSI จะส่งข้อมูลนี้มาให้ผม แต่ผมได้ข้อมูลและการวิเคราะห์จากแหล่งข่าวของผมเอง

ข้อแรก เมื่อคืนวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 คุณอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ จัดรายการ "โคนันเมืองไทย" แล้วใบ้คำถึงคนบนเรือ โทรคุยกับนักการเมืองคนหนึ่ง แล้วใบ้คำว่าหนึ่ง เป็นรัฐมนตรีในชุดที่แล้วและรัฐมนตรีชุดนี้ สอง เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง สาม เป็นคนดูแลกระทรวงสำคัญ และสี่ เป็นผู้ที่จบและมีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ผมเห็นข้อมูลแล้ววิเคราะห์ได้ว่าน่าจะหมายถึงคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และไม่ใช่ผมคนเดียว เพราะคอมเมนต์ในคลิปคุณอัจฉริยะ ก็มีคนคิดแบบผมพิมพ์เข้ามาเยอะมาก ในที่สุดผมก็เลยต้องให้ทีมงานไปค้นรูปเก่าๆ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณพีระพันธุ์ กับคนบนเรือ ว่ามีหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณปอ ซึ่งเป็นคนค้าขายเรือและรถหรู น่าจะรู้จักนักการเมืองเยอะ ผมก็เลยเจอรูปจริงๆ ผมเลยเชื่อว่าคุณปอ จะต้องโทรหาคุณพีระพันธุ์ 

ประกอบกับผมมีพยานกลับใจคนหนึ่งมาบอกว่า คุณปอ โทรหาคุณพีระพันธุ์ และมีการพูดคุยกันจริง แล้วผมก็วิเคราะห์และเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ผมยืนยันข้อเท็จจริงไม่ได้ นอกจากสื่อมวลชนและ DSI ต้องไปสอบคุณพีระพันธุ์ เอาเอง ผมแค่ยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่ได้รับข้อมูลจากที่ไหนเลย แต่ได้มาจากแหล่งข่าวและการวิเคราะห์ของผมเอง

และผมก็ได้ข่าวว่า คุณปอเรียกคุณพีระพันธุ์ว่า "อาตุ๋ย" ทุกคำ เพราะช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2566 นายปอ เข้าไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มานำเสนอโปรแกรมระบบไอที ตอนนั้นในพรรคก็ต่อต้าน เพราะกลัวนายปอ จะแย่งงาน แสดงว่านายปอ กับคุณพีระพันธุ์ รู้จักและสนิทสนมกันในระดับหนึ่ง ส่วนจะโทรและคุยกันเรื่องอะไร ไม่ทราบ เพียงแต่ว่าในวันที่โทรนั้นเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่พบว่าแตงโม ได้เสียชีวิตไปแล้ว ให้ผมเดา ผมไม่กล้าเดา ก็เป็นไปได้ว่าจะโทรไปปรึกษาหารือเรื่องคดีความ แต่จะเป็นอะไรนั้น ผมไม่รู้จริงๆ เอาเป็นว่า ข้อแรก ความจริงก็คือว่า ทั้งคุณพีระพันธุ์ และคุณปอ รู้จักกันดี ถ้าไม่รู้จักกันดีจะเรียกว่า อาตุ๋ย ได้อย่างไร และสอง ได้มีการโทรไปจริง นี่ผมวิเคราะห์จากสิ่งแวดล้อมแล้ว

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่พัทลุง-สงขลา เร่งแก้ปัญหาน้ำ ‘ทะเลน้อย’ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนพัฒนาท่องเที่ยว - การค้า - การลงทุน

เมื่อวันที่(17 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง เพื่อเตรียมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 พร้อมตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยในช่วงเช้า นายพีระพันธุ์ได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดพัทลุง และได้ต้อนรับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบริเวณ “ทะเลน้อย” ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไทยและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพัทลุง 

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า  จากตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำบริเวณ “ทะเลน้อย” ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราชเพื่อระบายออกไปยังทะเลสาบสงขลานั้น พบว่าปัจจุบันทะเลน้อยอยู่ในสภาพตื้นเขิน อีกทั้งยังเต็มไปด้วยวัชพืชน้ำ ผักตบชวา จอก แหน ทําให้เกิดน้ำท่วมขัง ระบายน้ำได้ช้า เรือกสวนไร่นาของพี่น้องประชาชนเกิดความเสียหาย   ตนในฐานะที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบไปด้วย ชุมพร สุราษฎร์ นคร พัทลุง สงขลา ก็รับแนวทางมาเพื่อที่จะดําเนินการแก้ไปปัญหาต่อไป  โดยเบื้องต้นได้ให้จัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือสําหรับเก็บกวาดวัชพืชน้ำ เพื่อนำไปต่อยอดทําเป็นปุ๋ยให้กับชาวบ้าน  และจะมีการขุดลอกพื้นที่เพื่อปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมต่อไป รวมไปถึงการส่งเสริมการเลี้ยง “ควายน้ำ” ซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลน้อยตามความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

จากนั้น  นายพีระพันธุ์ได้เดินทางไปประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง)  หรือ กรอ.  ที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่สําหรับการแก้ไขปัญหาบูรณาการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว การค้า การลงทุน

“ผมดีใจที่มีน้อง ๆ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม และได้นำเสนอแนวความคิดดี ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ ผมจึงมอบหมายให้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือหอการค้า ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ ช่วยกันทำงานกับน้อง ๆ รุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่  และให้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัด หรือ ทางสภาพัฒน์ฯ ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมและดูแลให้โครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนี้บางส่วนที่สามารถนําเข้า ครม. ได้ ก็จะนำเข้าสู่การประชุม ครม. สัญจรในวันพรุ่งนี้  ซึ่งผมจะเรียนให้ทราบความคืบหน้าต่อไปครับ” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เร่งหาวิธีปรับลดค่าไฟรอบใหม่ หลังหารือฝ่ายกฎหมายชี้ชัดแนวทาง กกพ. ทำไม่ได้

วันนี้ (19 ก.พ. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานการประชุมกับเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการลดค่าไฟ  รวมทั้งกรณีที่ กกพ. เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งได้รับการต่อสัญญาและให้ได้รับการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (Adder) รวมทั้งมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(เอฟไอที) จากผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อจะให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้อีก 17 สตางค์  โดยที่ประชุมเห็นว่าไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญาไม่ใช่เรื่องระเบียบ กกพ. ซึ่งเลขาธิการ กกพ. รับทราบและเข้าใจข้อกฎหมายแล้ว โดยจะนำไปแจ้งให้คณะกรรมการ กกพ. ทราบต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปจากผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกาว่า ข้อเสนอของ กกพ. เพื่อปรับลดค่าไฟในแนวทางนี้ไม่สามารถทำได้ และ รมว.พลังงาน ได้ขอให้ทาง กกพ. พิจารณาและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ได้เกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว

นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟงวดต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบ Pool Gas ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน

“รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานไทย” เปิด 10 ผลงานเด่น ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในรอบปี 2567 มีอะไรบ้าง ไปส่องกันเลย

“รื้อ ลด ปลด สร้าง พลังงานไทย” เปิด 10 ผลงานเด่น ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ในรอบปี 2567 มีอะไรบ้าง ไปส่องกันเลย

‘พีระพันธุ์’ คืนความเป็นธรรมให้ ‘เอกชัย ชาญประโคน’ หนุ่มพิการอดีตสตั๊นแมนตกยาก ซ้ำถูกบีบออกจากราชการ

สังคมนี้ยังมีความเป็นธรรม...อีกกรณีตัวอย่างที่ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ สามารถใช้กลไกภาครัฐผลักดันแก้ไขปัญหาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือ การให้ความช่วยเหลืออดีตนักแสดงคิวบู๊ที่พิการจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก และถูกบีบให้ออกจากงานราชการอย่างไม่เป็นธรรม

ย้อนเรื่องราว ‘เอกชัย ชาญประโคน’ อายุ 39 ปี อดีตนักแสดงคิวบู๊หรือสตั๊นแมน ซึ่งประสบปัญหาพิการทางการเคลื่อนไหวจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก เขาสอบติดพนักงานราชการตำแหน่งนักวิชาการอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2560 แต่ทำงานได้เพียง 4 เดือน ก็ถูกหัวหน้าบีบบังคับให้เซ็นใบลาออกทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่แจ้งเหตุผล 

หลังจากถูกบีบให้ออกจากราชการ เอกชัย อาศัยเบี้ยคนพิการยังชีพ  และพยายามดิ้นรนหางานทำ แต่ไปสมัครทำงานที่ไหนก็ได้รับค่าจ้างในจำนวนที่น้อย ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ซ้ำยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสถานที่ทำงาน จึงยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องก็เงียบหาย จนกระทั่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้รับมอบหมายให้มารับหน้าที่ประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการในขณะนั้น

‘พีระพันธุ์’ ได้เร่งรัดให้มีการช่วยเหลือด้วยการประสานงานผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเขาได้เล่าถึงแนวทางการช่วยเหลือนายเอกชัยไว้ว่า 

“คุณเอกชัยเขาก็ประสบกับปัญหาชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ  ขึ้น ๆ ลง ๆ เพราะความพิการ แล้วเขาก็โดนอะไรที่ไม่เหมาะสมมาหลายครั้ง เขาถูกเลิกจ้าง พูดง่ายๆ คือถูกบังคับให้ลาออกจากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็เลยยื่นเรื่องไปที่สำนักนายกฯ นานแล้ว ระหว่างนั้นเขาก็สู้ชีวิตมาตลอด ท่านนายกฯ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) มอบหมายให้ผมมาดูปัญหาเรื่องพวกนี้ ผมก็ได้พยายามติดต่อ  แล้วก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ และท่านประธานบอร์ดการเคหะแห่งชาติ เราอยากจะให้เขามีงานทําที่มั่นคง แล้วมีบ้านพักอาศัยที่ราคาถูก  ซึ่งทางการเคหะแห่งชาติก็มีตรงนี้พอดี” 

การเคหะแห่งชาติได้ให้ความช่วยเหลือ เอกชัย ด้วยการพามาสมัครทำงานที่บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติ ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท และพักอาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรร่มเกล้า โดยเสียค่าเช่าเพียงเดือนละ 999 บาท ตามนโยบายรัฐบาล  

ปัจจุบัน เอกชัย ได้งานและที่อยู่ใหม่ที่เอื้ออำนวยกับสภาพร่างกายและการใช้ชีวิตมากกว่าเดิม  ชีวิตของเขาดีขึ้น และสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ‘สังคมนี้ยังมีความยุติธรรม’ เพราะมีผู้คอยอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้จริง! กล่าวได้ว่าเป็นการ มอบชีวิตใหม่ ให้กับเขาอีกครั้ง

“ผมคิดว่าสังคมต้องเป็นอย่างนี้ สังคมต้องช่วยกันดูแล คนเราแต่ละคนไม่รู้อนาคตหรอก ตัวเราเองวันหนึ่งเราอาจจะเจออะไรลําบากอย่างนี้บ้างก็ได้ วันนี้เราไม่เจอ ก็ต้องช่วยคนที่เขาเจอ ต้องขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันนะครับ”

นี่คือคำพูดจากใจของ ‘พีระพันธุ์’ ผู้มุ่งมั่นอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและไม่ทิ้งกัน 

‘พีระพันธุ์‘ ผู้ยื่นมือฉุดครอบครัว ’เรณู เนียนเถ้อ‘ จากฝันร้าย ช่วยพลิกคดีคืนอิสรภาพให้กับลูกชายของเธอที่ถูกกล่าวหาฆ่าคนตาย

เรื่องราวของ นางเรณู เนียนเถ้อ ชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูกชายวัย 17 ปี ที่ถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายและถูกตัดสินประหารชีวิต เธอได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนสามารถพลิกคดีและคืนอิสรภาพให้กับบุตรชายของเธอได้ในที่สุด

กรณีนี้ย้อนไปในปี 2553 เมื่อ ‘พีระพันธุ์’ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนางเรณู เนียนเถ้อ ชาวบ้านจาก จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อขอความเป็นธรรมให้ นายอนุสรณ์ เนียนเถ้อ ลูกชายของเธอ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 17 ปี และถูกกล่าวหาในคดีฆ่าคนตายเมื่อปี 2551 ก่อนถูกศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินประหารชีวิตในปี 2553 

เรณูพยายามช่วยลูกชายทุกวิถีทาง เพราะเธอเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูก และผิดหวังกับการทำงานของตำรวจที่ไม่ยื่นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ ที่จะช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนายอนุสรณ์  

ในช่วงเวลานั้น เธอและครอบครัวมีความทุกข์มาก มีแต่ฝันร้าย เหมือนตายทั้งเป็น อีกทั้งยังถูกทนายความหลอกเงินเอาไปหลายแสนบาทเพื่อวิ่งเต้นคดี แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

แต่ในช่วงเดือนกันยายน 2553 ระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ เรณูก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้านให้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ นายพีระพันธุ์ รมว.ยุติธรรม ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่ จ.สุราษฎร์ธานี และหลังจากนั้นแค่เพียงเดือนเดียว เธอก็ได้รับการติดต่อจากทีมงานของพีระพันธุ์ ซึ่งได้ประสานงานให้ทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มาตรวจสอบคดี และร่วมทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานใหม่ โดยเฉพาะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่พบในที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลยได้

แต่ระหว่างที่กำลังรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อยู่นั้น ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นคือประหารชีวิต นางเรณูจึงยื่นฎีกาคดีด้วยหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบเพิ่มเติม และในอีก 3 เดือนต่อมา ศาลฎีกาก็พิพากษายกฟ้องให้นายอนุสรณ์เป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากที่ต้องถูกจำคุกเพื่อรอการพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นเวลาถึง 4 ปี 9 เดือน

“กรณีที่สุราษฎร์ก็คือ ลูกชายถูกกล่าวหาว่าไปฆ่าคน แต่แม่เชื่อว่าลูกตัวเองบริสุทธิ์ เขาก็ต้องดิ้นรน แต่ก็ไม่รู้จะไปไหน เมื่อเรื่องมาถึงผม ผมก็ตรวจสอบ เราก็พยายามเอาหน่วยงานของเราเข้าไปหาพยานหลักฐาน หาอะไรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเขา การที่คนคนหนึ่งจะต้องถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำความผิด มันไม่ได้เป็นแค่ความทุกข์ใจของเขาเท่านั้น แต่มันเป็นความทุกข์ใจของครอบครัว มันอาจจะสร้างความเจ็บแค้น ความอาฆาตพยาบาท นำไปสู่การล้างแค้นกัน นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ อีกหลายอย่าง การที่เราจะช่วยใครสักคนคนหนึ่งนั้น มันไม่ได้เพียงแค่ช่วยใครหนึ่งคน แต่ผลที่ตามมามันจะเป็นการช่วยสังคม ช่วยชุมชนให้เกิดความสามัคคีปรองดอง เกิดความเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นธรรมในสังคมที่เขาอยู่กันได้ ผมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความเป็นธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำ และการที่ไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิต่างๆ และที่สำคัญที่สุดคือการที่ช่วยให้คนออกจากความทุกข์ที่เขาไม่ได้ทำ” 

นี่คือ วิสัยทัศน์ของ ‘พีระพันธุ์’ ในการให้ความช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากเดือดร้อนด้วยความเชื่อมั่นว่า การช่วยคนหนึ่งคนก็จะเป็นการช่วยสังคมด้วยเช่นกัน

รทสช. ผลักดันเต็มที่ ‘กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรี’ ขณะที่ ‘พีระพันธุ์’ เล็งใช้กลไกกองทุนฯ หนุนผ่อนจ่ายปลอดดอกเบี้ย

รทสช. เผย กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรีอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน สัญญาเร่งติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องขออนุญาต 4 หน่วยงาน ข่าวดี! ‘พีระพันธุ์’ เตรียมใช้กองทุนอนุรักษ์พลังงาน อุดหนุนให้ผ่อนจ่ายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ ปลอดดอกเบี้ย

(25 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า 

การประชุมในวันนี้นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติต่างเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้มีกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ การพิจารณาในวาระที่ 2 และที่ 3 ของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติเห็นชอบในทั้งสองวาระ

และการพิจารณาในวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติ รับหลักการในวาระที่ 1 ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ในการประชุมได้มีบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... หรือกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ซึ่งขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐสภามีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินจึงจะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการพิจารณา ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าราคาถูก และอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 

สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ กับ 4 หน่วยงาน อันได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.),องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.), และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) อีกต่อไป โดยเปลี่ยนเป็นการแจ้งเพื่อทราบ ซึ่งในอดีตการขออนุญาตจากหลายหน่วยงานทำให้เกิดความล่าช้าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟของประชาชน และมีค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เตรียมกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟได้ง่ายขึ้นผ่านการผ่อนจ่ายโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะสนับสนุนในส่วนของดอกเบี้ยดังกล่าว 

และการผลักดันการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ได้ผลักดันให้ที่ประชุม ครม. วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน และไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

การแก้ไขให้ไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการทั้ง 4 หน่วยงานของกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี จะทำให้ต่อจากนี้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติยืนยันว่าจะเร่งรัดและผลักดันเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าสะอาดในราคาถูกลงได้

‘พีระพันธุ์’ ยันไม่ทิ้งโครงการสูบน้ำด้วยแสงอาทิตย์จากเหมืองเก่าลำพูน เผยบรรจุไว้ในงบปี 69 แล้ว - เพิ่มพื้นที่เกษตรใช้ประโยชน์เป็น 600 ไร่

(27 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตอบกระทู้ถามทั่วไปในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเรื่อง ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร โครงการเหมืองถ่านหินเก่า ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ว่า

ในลำดับแรก ตนขอนำเรียนว่าสำหรับโครงการก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร โครงการเหมืองถ่านหินเก่า ตำบลดงดำ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ควรเป็นโครงการที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ต่อปี 2565 ในส่วนของกระทรวงพลังงานนั้นได้รับการติดต่อขอความร่วมมือจากสำนักงานประสานงานโครงการพระราชดำริ เนื่องจากมีราษฎรได้ยื่นฎีกาเพราะต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการสำรวจพื้นที่ ตรวจข้อเท็จจริงและปัญหาต่าง ๆ และนำมาสู่การที่จะต้องบรรจุในเล่มงบประมาณ ในส่วนของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีปัญหาหรือข้อขัดข้องแต่อย่างใด ซึ่งได้มีการนำมาบรรจุงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 

แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ได้เริ่มต้นจากกระทรวง เมื่อมีการสำรวจพื้นที่ ฯลฯ ทำให้ไม่ทันที่จะบรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ต่อมาเมื่อทำใหม่ในปีงบประมาณปี 2567 ซึ่งเกิดการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ทำให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขาดช่วงและล่าช้ามาจนถึงปลายปี ขณะเดียวกันก็ต้องมีการจัดทำงบประมาณปี 2568 ต่อกันไป เมื่อได้มีการบรรจุโครงการในงบประมาณปี 2567 เรียบร้อยแล้วจึงไม่มีการบรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อีกต่อไป ปรากฏว่าในชั้นกรรมาธิการงบประมาณได้มีการตัดลดงบประมาณของกระทรวงพลังงานและได้มีการตัดโครงการนี้ออกไป 

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจากการตัดลดงบประมาณที่เกิดขึ้น จึงได้มีการบรรจุโครงการนี้ในปีงบประมาณ 2569 เรียบร้อยแล้วและยังได้มีการขยายพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จาก 533 ไร่ เป็น 600 ไร่ อีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ ควง ‘เสธหิ’ มอบบ้านพร้อมทุนการศึกษา เยาวชนชาวกรุงเก่า ‘นางสาวสรัญญา’ เรียนดีแต่ฐานะยากจน

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ มอบบ้านและเกียรติบัตรแสดงความยินดี ให้กับนางสาวสรัญญา มาลาพัด “นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ” 

เมื่อวันที่ (2 มี.ค. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายฝันเด่น จรรยาธนากร โครงการใจถึงใจ พร้อมคณะ ลงพื้นที่มอบบ้าน ชุดเครื่องมือช่างซ่อมรถยนต์และเกียรติบัตรแสดงความยินดีพร้อมทั้งทุนการศึกษาให้กับนางสาวสรัญญา มาลาพัด ซึ่งเป็น “นักเรียนดี เยาวชนต้นแบบ” 

พร้อมกันนี้ “มูลนิธิพระราหู” ยังได้สนับสนุนสร้างบ้านและอุปกรณ์ซ่อมรถยนต์ ตามโครงการ  “ใจถึงใจ” ให้กับ นายสรสัณฑ์ เรืองสวัสดิ์ นางสาวเรียม มาลาพัด นางสาวสรัญญา มาลาพัด เด็กหญิงสุนิสา เรืองสวัสดิ์ ซึ่งเป็นครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือ โดย พ.ต.ท.เตชิต เขื่อนหมั่น นายโอภาส ศรีเจริญ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ 

การสนับสนุนในครั้งนี้คือกำลังใจสำคัญที่ให้นางสาวสรัญญา มาลาพัดและครอบครัวมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการศึกษา และใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุขต่อไป

‘พีระพันธุ์’ ยันทำตามหน้าที่ ปมเบรกประมูลขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ชัด เพิกเฉยไม่ได้หลังมีผู้ร้องให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่หละหลวม

‘พีระพันธุ์’ สั่ง กฟผ.เคลียร์ประมูลขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะให้ถูกต้อง ชี้จัดซื้อจัดจ้างหละหลวม ไม่มีความจำเป็นต้องประมูลด้วยวิธีการพิเศษ 

(13 มี.ค. 68) นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงวันที่ 7 มี.ค.2568 เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.พร้อมกับส่งสรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับดูแลการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีงานจ้างเหมาชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2567 นั้น บัดนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว 

รวมทั้งในหนังสือดังกล่าวได้ขอให้ผู้ว่า กฟผ.พิจารณาดำเนินการตามความถูกต้องเหมาะสมและตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ตรวจสอบรายงานของคณะกรรมการฯ ประกอบข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว เห็นว่ามีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตโดยสรุป ดังนี้

1.กรณีความจำเป็นเร่งด่วนของการจัดจ้าง ปรากฏสาเหตุที่ กฟผ.อ้างว่าต้องดำเนินการจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะตามสัญญาโดยเร่งด่วน เพราะมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2567 ซึ่งเมื่อตรวจสอบมติ กพช.ดังกล่าว พบว่ามีสาเหตุมาจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 พิจารณาการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เนื่องจากคาดการณ์ราคาก๊าชธรรมชาติเหลว (LNG) มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจนถึงปี 2568 หรือปี 2569 เพราะเหตุสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่ข้อยุติ รวมทั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยอุปทานเพิ่มเติมจากโครงการผลิต LNG ยังคงจำกัด เพราะการลงทุนก่อสร้างโครงการผลิตใหม่ลดลง 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามมติ กพช.ดังกล่าวจะส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 2 ล้านตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จากเหตุดังกล่าวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของ กฟผ.จึงเสนอให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษ เป็นสัญญาที่ 8/1 แต่มีข้อขัดข้องหลายประการจึงทำให้ล่าช้า

โดยเฉพาะประเด็นใช้วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิม (สัญญาที่ 4 และสัญญาที่ 9) หรือต้องดำเนินการจัดจ้างใหม่ รวมทั้งหากต้องจัดจ้างใหม่จะดำเนินการโดยวิธีใด และเป็นกรณีเช่นใด 

อย่างไรก็ตามจากความล่าช้าในการดำเนินการดังกล่าวทำให้ปรากฎข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับราคาและการขาดแคลนก๊าซที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าตามการคาดการณ์ของ กบง.ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ มิ.ย.2565 ที่ให้เสนอต่อ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 นั้น ไม่เกิดขึ้นจริง

ดังนั้น เหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของ กบง.จึงผ่านพ้นไปแล้ว เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะโดยวิธีพิเศษจึงหมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งควรเสนอ กพช.ให้ทราบสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อที่ กพช.จะพิจารณามีมตีในเรื่องนี้ใหม่ แต่กลับไม่มีการดำเนินการเช่นนั้น

อีกทั้งมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่า กฟผ.ยังคงมีสต๊อกสำรองถ่านหินปริมาณมากพอสมควร

นอกจากกรณีข้างต้นแล้วปรากฏว่า ในการประชุม กพช.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ.นำโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2565-2568 ซึ่งหากนับระยะเวลาที่คณะกรรมการ กฟผ.จะอนุมัติให้ว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะเมื่อปลายปี 2567 แล้ว ก็เหลือเวลาเพียง 1 ปี ต้องยกเลิกการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว

รวมทั้งหากพิจารณาตาม PDP 2018 Revision 1 กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญามีอัตราสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบอยู่แล้ว ดังนั้น ปริมาณงานที่จะว่าจ้างให้ชุด-ขนถ่านหินตามสัญญาที่ 8/1 ดังกล่าว ย่อมมีปริมาณที่มากเกินความจำเป็นอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการว่าจ้างโดยวิธีพิเศษอีกต่อไป

2.การว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินแม่เมาะสามารถดำเนินการได้ โดยการเปิดประมูลตามปกติ กฟผ.มีสายงานที่รับผิดชอบในส่วนเหมืองแม่เมาะเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว จึงอยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะทราบความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างชุด-ขนถ่านหินได้ล่วงหน้า ซึ่งทำให้วางแผนและเตรียมการเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินแบบกรณีปกติได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ เพราะตามเงื่อนไขสัญญาที่ 4 จะสิ้นลงช่วงสิ้นปี  2568 

ทั้งนี้ หาก กฟผ.จำเป็นต้องใช้ถ่านหินเพิ่มเติม กฟผ.ก็เตรียมการล่วงหน้าที่จะเปิดประมูลขุด-ขนถ่านหินเพิ่มเติมได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ แต่กรณีที่ กฟผ.กล่าวอ้างมติ กพช.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นเหตุที่นำมาใช้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เมื่อสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิดขึ้นก็อยู่ในวิสัยที่ กฟผ.จะปรับแก้การดำเนินการดังกล่าวให้เหมาะสมและถูกต้องตาม PDP 2018 Revision 1 ได้

3.การพิจารณาการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ กรณีนี้แม้มีข้อโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องก็ตาม แต่โดยรูปคณะกรรมการฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเห็นว่าเป็นข้อโต้แย้งในด้านการดำเนินการในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอยู่ในถ้อยความรู้ของคู่กรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้สืบเนื่องจากกฎระเบียบของ กฟผ.ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างมีความหละหลวมหลายประการ จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีพึงใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการต่อไปเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top