Saturday, 19 April 2025
พิมพ์ภัทราวิชัยกุล

‘รมว.ปุ้ย’ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เหตุไฟไหม้ถังสารเคมี มาบตาพุด พร้อมสั่งเยียวยา - ส่งเสียลูกผู้เสียชีวิตจนจบปริญญาตรี

(10 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนใหญ่ (SCC) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปบริเวณจุดเกิดเหตุ บริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ถนนไอ-แปด ทางเรือมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์

เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณโรงงาน แค่ลงจากรถก็ถึงกับผงะกลิ่นฉุนของสารที่ถูกเผาไหม้ สูดดมเข้ารู้สึกแสบจมูกมาก สำหรับจุดเกิดเหตุขณะไฟดับหมดแล้ว แต่ยังคงมีการเฝ้าระวังอยู่

ด้านนางพิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม ได้สอบถามถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งทราบว่า บ้านเกิดอยู่จ.เชียงราย ภรรยาทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้า มีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงย้ำให้เยียวยาอย่างเต็มที่กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งทางผู้บริหารก็ยืนยันจะช่วยเหลือครอบครัว พร้อมส่งลูกเรียนจนจบระดับปริญญาตรี หลังนั้นก็เดินทางต่อไป เยี่ยมประชาชนข้างโรงงาน ที่ศาลาตากวน-อ่าวประดู่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง

เมื่อเดินทางไปถึง พบชาวบ้านนับร้อยคน ได้มารอต้อนรับ และรมว.ได้เข้าไปสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง พร้อมขอโทษชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบข้างโรงงานเกิดเหตุ ก่อนจะเดินทางกลับไป

ด้านญาติผู้เสียชีวิต เตรียมรับศพผู้เสียชีวิต จากโรงพยาบาลระยอง ไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดจ.เชียงราย

‘รมว.ปุ้ย’ จ่อยกข้อเสนอเอกชนกลางตอนล่าง 2 เข้าครม.สัญจร ผลักดันสร้างเศรษฐกิจแบบครบวงจร-เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล

(13 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (จังหวัดเพชรบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ใน 4 จุด ดังนี้...

จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการตัดต่อภาพ/คลิป การทำไข่เค็ม การทำยาหม่องน้ำ และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

จุดที่ 2 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรเค้กกล้วยหอมนึ่ง ซาลาเปานึ่ง สบู่น้ำผึ้งหัวไชเท้า และการตัดต่อภาพ มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ในจุดที่ 3 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

จุดที่ 4 ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ โรงเรียนบ้านลาดวิทยา อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการอบรมในหลักสูตรการทำไข่เค็ม การทำเค้กกล้วยหอม การทำซาลาเปา และการทำสบู่สมุนไพร มีผู้เข้ารับร่วมกิจกรรมจุดนี้ ประมาณ 300 คน

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจติดตามราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ครั้งนี้ มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ…

1) การพัฒนาเศรษฐกิจแบบครบวงจรจากฐานการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยวและการเกษตร สู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
2) การเสริมสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยด้วยต้นทุนทางสังคม ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยศาสตร์พระราชา
3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
4.การพัฒนาแบบมีส่วนร่วมสู่ เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล ด้วยทุนทางศิลปะวัฒนธรรม การท่องเที่ยง บนฐานทรัพยากร อัตลักษณ์ของท้องถิ่น และศักยภาพของพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า “สำหรับกรอบการตรวจราชการ ได้มุ่งเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังแห่งภูมิภาค สู่ทักษะอาชีพที่ยั่งยืน สะท้อนให้เห็นผ่าน 4 จุดที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมฝึกอาชีพ พบว่า มีการผสมผสานศักยภาพด้านการค้า การลงทุน การบริการ การท่องเที่ยว และการเกษตรอย่างลงตัว นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมพลังขับเคลื่อนสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทั้ง 4 จุด เปรียบเสมือนเวทีแห่งการฝึกฝน ทักษะอาชีพที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการทำไข่เค็ม เค้กกล้วยหอม ซาลาเปา สบู่สมุนไพร การตัดต่อภาพ/คลิป มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 1,200 คน เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ นำไปต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เปรียบเสมือนกุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนนำพาพี่น้องประชาชนในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ก้าวสู่ความสำเร็จ” 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจติดตามราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ครั้งนี้ ยังได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งโครงการตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม มี 2 โครงการ คือ 1) โครงการพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ให้
กลุ่มจังหวัด ‘เพชรสมุทรคีรี’ เป็นเมืองแห่งอาหาร (Gastronomy) และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี 2) โครงการส่งเสริมภาคการผลิตที่ลดอัตราการเกิดก๊าซเรือนกระจกโดยการขอรับรองฉลากคาร์บอน 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญตามข้อเสนอของ กรอ. จังหวัดเพชรบุรี อีก 3 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1) โครงการส่งเสริม SMEs ไทยให้มีการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 2) การผลักดันการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาอาหารด้วยนวัตกรรม เพื่อยกระดับ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (Agro-Industry) และ 3) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จังหวัดเพชรบุรี เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

‘รมว.ปุ้ย’ สั่งดูแลผลกระทบ ‘ไฟไหม้มาบตาพุด-ขนย้ายสารเคมี’ กำชับ!! ต้องบริหารจัดการความรู้สึกของ ปชช.ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อวานนี้ (22 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ครั้งที่ 8/2567 โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แจ้งในที่ประชุมถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เรื่องการส่งเสริมการปลูก การผลิต และการแปรรูปผลผลิตกาแฟ โดยได้ฝากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมไปดำเนินการพัฒนาทั้ง 4 ภูมิภาค  นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน เพื่อแสดงความไว้อาลัยประธานาธิบดีอิหร่านถึงแก่อสัญกรรม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานลำดับเหตุการณ์ไฟไหม้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนมาตรการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมได้ กำชับเรื่องการใช้งบประมาณและความเร่งด่วนต่อการเยียวยา โดยต้องบริหารจัดการความรู้สึกของพี่น้องประชาชนไปพร้อม ๆ กัน และต้องสื่อสารให้ชัดเจนกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ทั้งเรื่องของการจัดการขนย้ายกากสารเคมี กากแคดเมียม ฯลฯ เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) โดยย้ำว่าต้องทำให้ถูกต้อง

'รมว.ปุ้ย' แจ้ง!! กากแคดเมียมที่คลองกิ่ว-ชลบุรี เริ่มขนกลับตากแล้ว มั่นใจ!! ทุกขั้นตอนปลอดภัย ขนเสร็จทันตามกำหนด 17 มิ.ย.นี้

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามแผนการขนย้ายกากแคดเมียม จากกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร กลับไปจังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 18 วัน สามารถขนกากแคดเมียมได้จำนวนทั้งสิ้น 2,180 ถุง น้ำหนักรวม 3,432 ตัน คิดเป็นร้อยละ 26.50 ของจำนวนกากแคดเมียมทั้งหมด  

(25 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เป็นวันแรกที่เริ่มการขนกากแคดเมียม จากโกดังที่ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อไปยังโรงพักคอยของ บริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก โดยใช้รถตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 คัน บรรทุกกากแคดเมียม จำนวน 76 ถุง น้ำหนักรวม 120 ตัน ออกเดินทางจากชลบุรีในเวลา 15.00 น. นำขบวนโดยรถเจ้าหน้าที่ตำรวจของ บก.ปทส. คาดว่าจะถึงจังหวัดตากในเวลา 21.00 น. 

และในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไปจะใช้รถจำนวน 10 คัน ทยอยขนจากโกดังคลองกิ่วจนครบจำนวน 4,391 ตัน เพื่อให้ทันตามกำหนดเดิมในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้กระบวนการขนย้ายยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะทำงานแก้ปัญหาและการขนย้ายกากแคดเมียมกำหนดไว้ทุกประการ ทั้งการซ้อนถุง การชักตัวอย่างตรวจสอบ การทำความสะอาด และการลงระบบติดตามและตรวจสอบการขนย้าย (e-Manifest) โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก  

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงบ่อฝังกลบของบริษัท เบาด์แอนด์บียอนด์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจสอบและประเมินสภาพความแข็งแรงและการรั่วซึมของบ่อ ซึ่งบริษัทฯ จะได้เสนอแผนการปรับปรุงให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากแคดเมียมพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนเอสเอ็มอีทั่วไทย บุกตลาดออนไลน์  กดไลค์!! SME D Bank ผนึก TikTok ลุยสอนไลฟ์ขายสินค้า ติดปีกธุรกิจโตก้าวกระโดด

(9 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน ‘Live commerce กับ TikToker ของแทร่’ Get Started With TikTok จัดโดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กับ TikTok Thailand  ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า  หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ หมายถึง รื้อ ลด ปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มากที่สุด และ ‘สร้าง’ สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ   ซึ่งการเติมความรู้ด้านทำตลาดที่ทันสมัยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะใช้การไลฟ์ขายสินค้า หรือ Live commerce ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง    ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ของการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้สามารถคว้าโอกาส ผลักดันธุรกิจให้เติบโตก้าวกระโดด จากกำลังซื้อมหาศาลของลูกค้าทั่วโลก ทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การต่อยอด สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน  ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยจากฐานราก 

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย มีความมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านกระบวนการด้าน ‘การเงิน’ ควบคู่กับด้าน ‘การพัฒนา’  ซึ่งการจัดงาน  “Live commerce กับ TikToker ของแทร่” สร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีศักยภาพสามารถจะขยายช่องทางการขายได้อย่างไร้พรมแดนและมีโอกาสสร้างรายได้มหาศาล ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดออนไลน์กว่า 700,000 ล้านบาท และมีเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% ขณะที่ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

ที่ผ่านมา SME D Bank และ TikTok Thailand จับมือจัดกิจกรรมเติมความรู้ การทำตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  สำหรับการจัดงาน ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ที่รวบรวมคนดังบนโลกออนไลน์ในแพลตฟอร์ม TikTok  หรือ ‘TikToker’ ที่เป็นคนในพื้นที่ กว่า 15 ราย มียอดวิวรวมกันกว่า 10 ล้านวิว เช่น  ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม (Miss Thailand Universe 2007) ,  คิตตี้นาตาชา (ทองเพชรเอวSศัลย์), ช่างเถอะ พี่ปี้ เป็นต้น มาถ่ายทอดประสบการณ์ “Live สด ขายสินค้า” อีกทั้ง มีกิจกรรม Workshop แนะนำเทคนิคสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจ ช่วยยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เข้าสู่การตลาดยุคดิจิทัล รวมทั้ง มีการออกบูธจำหน่ายสินค้าของดีประจำท้องถิ่นกว่า 30 ราย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ควบคู่กับมีบริการพาเข้าถึงแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมเสริมศักยภาพธุรกิจจาก SME D Bank ได้ฟรี  รวมถึง ติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (dx.smebank.co.th)   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

'รมว.ปุ้ย' ย้ำ!! ท่าที FTA ไทย - EU  ต้องปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

(17 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเจรจาต่อรองด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ให้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในการประชุมภายใต้การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ไทย - สภาพยุโรป (EU) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรอบที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร มาแล้ว

สำหรับการประชุมรอบที่ 3 ที่จะเกิดขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมอ. จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมในการเจรจาจัดทำอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า โดยมีประเด็นหารือสำคัญที่ EU นำเสนอ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้า การตรวจติดตามสินค้าในตลาด มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองในสาขายานยนต์  ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนหลายภาคส่วน การเจรจาจึงต้องมีความรอบคอบเพื่อให้มีพันธกรณีที่เหมาะสม เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค

ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ สมอ. เป็นผู้แทนประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน การประกาศใช้มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองระหว่างไทยกับ EU ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้าระหว่างไทย และ EU ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาในประเด็นคงค้างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยท่าทีของไทยจะเจรจาบนพื้นฐานของความตกลง WTO และจะพิจารณาให้มีพันธกรณีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยหน่วยงานของไทยสามารถปฏิบัติได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย 

สำหรับประเด็นที่จะหารือเพิ่มเติมกับ EU คือ การกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยตระหนักถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณี ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ สมอ. ในการเจรจาเพื่อ ลดอุปสรรคที่เกิดจากการใช้มาตรการด้านเทคนิคมากีดกันทางการค้า และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ สร้างรายได้เข้าชาติ นำร่อง 4 กลุ่ม ‘พาหนะรบ-ต่อเรือ-อากาศยานไร้คนขับ-ปืน’

(18 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง First S-curve และ New S-curve ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีความเห็นตรงกันในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มยานพาหนะรบ 2.) กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3.) กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4.) กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา 

การยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน เช่น ห้องแล็บสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกติกาสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

ล่าสุด สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองห้องแล็บระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือ ISO/IEC 17025 : 2017 แก่หน่วยงานใน 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 2.) อุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 3.) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด จึงทำให้ห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในระดับสากลด้วยเช่นกัน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ สมอ. ได้มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีภารกิจด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาโยธาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  โดยนำผลทดสอบไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธปืน กระสุน แผ่นเกราะ กระจกกันกระสุน โล่นิรภัย รถกันกระสุน เส้นใยป้องกันการติดไฟ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น     

2.) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาปิโตรเลียม โดยนำผลทดสอบไปใช้ประกอบในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และการวิจัยเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมัน    

และ 3.) บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้บริการวิเคราะห์ สุ่มตรวจ และรับรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการรับรองในสาขาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และหน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N95 โดยนำผลทดสอบไปใช้เพื่อการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ 

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองจะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการทดสอบ เพราะไม่ต้องส่งสินค้าไปทดสอบซ้ำอีกในต่างประเทศ เนื่องจาก สมอ. ได้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) กับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม จำนวน 118 ประเทศ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าของผู้ประกอบการไทยด้วย เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' เข้ม!! มาตรฐาน 'เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน-ภาชนะสแตนเลส' เร่ง 'สมอ.' ทำความเข้าใจ 'ผู้ผลิต-นำเข้า' ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้

(20 มิ.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้มีมติเห็นชอบให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้ของเหลวร้อน เช่น หม้อหุงข้าว, หม้อต้มไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อน เป็นต้น และภาชนะสแตนเลส 7 รายการ ได้แก่ หม้อ, กระทะ, ตะหลิว, ช้อน, ส้อม, ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต เป็นสินค้าควบคุมนั้น ดิฉันได้เร่งรัดให้ สมอ.เร่งดำเนินการให้มาตรฐานมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งขณะนี้มาตรฐานดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงแสดงความคิดเห็น 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สมอ. ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,300 ราย เตรียมความพร้อมในการยื่นขออนุญาต ก่อนที่มาตรฐานจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2567 นี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ  

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. จึงได้จัดการสัมมนาขึ้น ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรฐานได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐานและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมถึงการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาตด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ทำและนำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้ง 2 รายการ กว่า 1,300 ราย และหลังจากที่มาตรฐานดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำและนำเข้า โดย สมอ. ได้เตรียมการเพื่อรองรับการยื่นขออนุญาตจากผู้ประกอบการ สามารถยื่นขอผ่านระบบ E-License ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th 

สำหรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ได้เตรียมห้องแล็บเพื่อการทดสอบ ได้แก่ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บริษัท เอสจีเอส ประเทศไทย จำกัด, บริษัท โกลบอล คอมไพลแอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท แจแปน อิเลคทริคอล เทสติ้ง ลาบอราตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โกลบอล คอมไพลแอ็นซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผู้ประกอบการจึงเชื่อมั่นได้ว่า การยื่นขออนุญาตจะสามารถดำเนินการได้โดยสะดวก และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

'รมว.ปุ้ย' เยือน!! 'Eco R Japan' โรงงานรีไซเคิลรถยนต์ ศึกษากระบวนการเชิงลึก พาไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

'รมว.พิมพ์ภัทรา' ลุยภารกิจแดนปลาดิบ เยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' เพื่อศึกษาการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมทั้งหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

(22 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงงานรีไซเคิลรถยนต์ 'Eco R Japan' จังหวัดโทจิหงิ ภูมิภาคคันโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและสนับสนุนการดำเนินมาตรการ ELV (End of Life Vehicle) ว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยมาตรการ ELV มุ่งเน้นลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ การบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธี และการนำชิ้นส่วนวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่

ทั้งนี้ บริษัท Eco-R Japan เป็นผู้นำด้านรีไซเคิลรถยนต์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1959 ด้วยพันธกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการนำทรัพยากรจากรถยนต์เก่ากลับมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด Eco-R ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรและสังคม ไปสู่ความยั่งยืน

ต่อมาในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อหารือร่วมกับ นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) และผู้บริหาร JETRO ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นโยบาย BCG สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการผลักดันมาตรการ ELV ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การศึกษาดูงานครั้งนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานที่มีกระบวนการจัดการของเสียที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการซากรถยนต์ หลอดไฟ และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ รวมถึงมีโอกาสได้เยี่ยมชม Eco Town ของจังหวัดคิตะคิวชู ซึ่งเป็นต้นแบบของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศด้วย

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงวางนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันและเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

"การหารือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่าง JETRO และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาค ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และจะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว 

ด้านนางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานยุทธศาสตร์) กล่าวเสริมว่า รัฐบาลมุ่งมั่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมอบหมายให้ กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกันพัฒนา นิคมอุตสาหกรรม Circular บนพื้นที่ 5,000 ไร่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายS-Curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน และส่งเสริมการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular นี้ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กนอ. และ สกพอ. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 และได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คาดว่านิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular กำหนดนัดประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เพื่อเร่งขับเคลื่อนงานด้าน Circular ร่วมกัน

‘รมว.ปุ้ย’ หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ปล่อยสินเชื่อ 'SME Green Productivity' วงเงิน 15,000 ลบ. ส.ค.นี้

(30 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบและอนุมัติโครงการสินเชื่อ 'SME Green Productivity' วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ นำไปเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน พัฒนายกระดับเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่อุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างราบรื่น ที่สำคัญช่วยให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถตอบโจทย์กติกาการค้าโลกยุคปัจจุบัน แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอนาคตที่สดใสและยั่งยืน  

ด้าน นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ SME D Bank ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในโครงการสินเชื่อ 'SME Green Productivity' ซึ่งเป็นสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน เปิดกว้างกู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก 3% ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 เดือน และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำ โดยกำหนดจะเปิดยื่นคำขอกู้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้  

ทั้งนี้ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักร รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือลดการใช้พลังงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านการพัฒนาหรือยกระดับด้านผลิตภาพ (Productivity) จากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนที่ธนาคารกำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top