Tuesday, 20 May 2025
พลังงานสะอาด

รู้จัก ‘บ้านผีเสื้อ’ แห่งเชียงใหม่ ต้นแบบบ้านพลังงานสะอาด บ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100%

บ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง 100% โดยไม่เสียค่าไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว จะกลายเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต

(29 ม.ค. 68) บ้านผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ บ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงาน Green Hydrogen  ซึ่งเป็นโครงการที่บุกเบิกการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพลังงานไฮโดรเจนในการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการได้จัดการประชุม Hydrogen Summit 2025 เพื่อเป็นเวทีที่รวบรวมผู้นำและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจไฮโดรเจนทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการบรรลุเป้าหมายระยะยาวเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 นอกจากนี้ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ การเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และความเร่งด่วนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีความจำเป็นในการสร้างความยืดหยุ่นทางพลังงาน เนื่องจากหลายประเทศได้หันไปใช้แหล่งพลังงานอื่น ๆ เพื่อ ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล โครงการบ้านผีเสื้อได้พิสูจน์ถึงแนวทางที่สามารถนำไปใช้ในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศในการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมทั้งช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

บ้านผีเสื้อ เป็นโครงการที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยเป็นบ้านพักอาศัยบนพื้นที่ 18 ไร่ ที่พึ่งพาตนเอง 100% จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้เทคโนโลยีอิเล็กโทรไลเซอร์ไฮโดรเจนที่ทันสมัยในการแปลงน้ำเป็นไฮโดรเจน เพื่อผลิต จัดเก็บ และใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน วิธีการที่เป็นนวัตกรรมนี้ช่วยให้บ้านสามารถผลิตพลังงานเองได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังรักษาการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ และแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคต

“บ้านผีเสื้อ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการบูรณาการเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างแท้จริง” นายเซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์ เจ้าของบ้านผีเสื้อและผู้ก่อตั้ง Enapter กล่าวว่า “ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการเก็บไฮโดรเจน เราได้แสดงให้เห็นถึงโมเดลที่สามารถมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย”

บ้านผีเสื้อ เป็นศูนย์กลางของโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีบทบาทในการช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นายชมิดต์กล่าวว่า "ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บ้านผีเสื้อได้ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยไม่พึ่งพากระแสไฟฟ้า ซึ่งพิสูจน์ถึงการใช้งานได้จริงและความยั่งยืนของบ้าน นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้แนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และไฮโดรเจนจะกลายเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต"

โครงการบ้านผีเสื้อ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 คุณสมบัติหลักของบ้านผีเสื้อที่มีส่วนสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ ได้แก่:

•ระบบพลังงานไฮบริดพลังงานแสงอาทิตย์-ไฮโดรเจน: ระบบพลังงานแบบออฟกริดนี้ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ เพื่อนำมาขับเคลื่อนบ้านด้วยพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด ระบบนี้ช่วยให้มีการจ่ายพลังงานอย่างต่อเนื่องและเสถียร โดยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่ปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ บ้านผีเสื้อยังเป็นตัวอย่างการใช้งานจริงในการบูรณาการเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยสำหรับการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับโครงการที่คล้ายกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไฮโดรเจนที่บ้านผีเสื้อ เป็นโซลูชันพลังงานที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตแบบออฟกริดได้อย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการแผงพลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับระบบเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจน เพื่อให้มีอิสรภาพด้านพลังงานตลอดทั้งปี

ระบบนี้ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 140 กิโลวัตต์ (kWp) ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อใช้ในบ้านและตอบสนองความต้องการพลังงานในทันที ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจะถูกนำมาผลิตไฮโดรเจนผ่านอิเล็กโทรไลเซอร์ขนาด 20 kW ที่ทำการแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ไฮโดรเจนจะถูกเก็บในรูปแบบก๊าซที่แรงดัน 35 บาร์ ในถังจะเก็บไฮโดรเจนได้สูงสุด 42 กิโลกรัม ซึ่งสามารถจ่ายพลังงานให้กับบ้านได้ประมาณ 600 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)

ในเวลากลางคืนหรือช่วงที่มีแสงแดดน้อย ไฮโดรเจนที่เก็บไว้จะถูกแปลงกลับเป็นกระแสไฟฟ้าโดยใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell) ขนาด 8 กิโลวัตต์ เมื่อไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจน จะเป็นไฟฟ้ากับน้ำ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการใช้พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ระบบภายในบ้านผีเสื้อยังมีแบตเตอรี่ขนาด 384 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งเมื่อทั้ง ไฮโดรเจนและแบตเตอรี่ใช้ร่วมกันจะสามารถกักเก็บพลังงานเพื่อใช้งานอย่างน้อย 7 วัน ในฤดูที่มีแดดน้อยและมีเมฆมากเป็นเวลานาน

•การออกแบบที่ประหยัดพลังงาน: บ้านผีเสื้อ ใช้เทคนิคการทำความเย็นแบบพาสซีฟ รวมถึงการประสานฉนวนที่เหมาะสมและอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำที่สุด การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบเปิดกว้างช่วยให้ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การก่อสร้างและโครงสร้างของบ้านยังใช้วัสดุที่ยั่งยืนกว่าร้อยละ 98 ที่มาจากในประเทศ เช่น บล็อกคอนกรีตอัดไอน้ำและหน้าต่างชั้นคู่ที่มีฉนวน

•ระบบการจัดการน้ำ: ระบบการชลประทานที่ซับซ้อนของบ้านนี้กักเก็บและบำบัดน้ำฝน เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งน้ำจากภายนอก โดยน้ำจะถูกนำไปใช้ในการทำสวนและนาข้าว ซึ่งมีการปลูกพืชผักและผลไม้ท้องถิ่นที่เติบโตตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการใช้แหล่งอาหารจากภายนอกที่มักมีการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของครัวเรือน

บ้านผีเสื้อไม่เพียงแต่เป็นเครื่องยืนยันถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี แต่ยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มการศึกษา ที่ช่วยเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน รวมถึงกระตุ้นการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของโครงการนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในระดับโลกในการใช้โซลูชันพลังงานสะอาดและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

‘เอเชีย’ จ่อขึ้นแท่น ‘ผู้นำโลก’ ด้านเทคโนโลยีสีเขียวเกิดใหม่ หลายประเทศมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(29 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว ปี 2025 ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าเอเชียกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพเป็นผู้นำด้านวัสดุแบตเตอรี่ขั้นสูง พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และอื่น ๆ ด้วยกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนทางนโยบาย

รายงาน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน : รายงานเอเชียและโลกประจำปี 2025-การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เอเชียก้าวสู่เส้นทางสีเขียว’ (Sustainable Development: Asia and the World Annual Report 2025 -Addressing Climate Change: Asia Going Green) ของการประชุมฯ ได้เน้นย้ำความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตพลังงานใหม่จากพลังงานหมุนเวียนสูงถึงร้อยละ 85 ส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์กำลังพยายามพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ขณะเดียวกันจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง

จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตของเอเชีย โดยเอเชียครองส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลก ส่วนกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย ต่างกำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนได้พัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่มีความครอบคลุมรอบด้าน เพื่อดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และแผนการปรับตัวระดับประเทศ (NAP)

อย่างไรก็ดี แม้มีความก้าวหน้าอย่างมากและบางประเทศแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความยั่งยืน แต่อีกหลายประเทศยังคงต้องดำเนินงานอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมาย

บทบาทของเอเชียในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเอเชียเป็นบ้านหลังใหญ่ของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราวครึ่งหนึ่งของโลก และครองส่วนแบ่งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

สนพ. แจงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 5,200 MW ไม่ทำให้ค่าไฟแพง ชี้ชัด กลับช่วยลดค่าไฟ - หนุนอนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีกระแสข่าวและความกังวลเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ว่าอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักแสนล้านบาท ดังนี้

1. การยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW
นายวัฒนพงษ์ฯ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ RE Big Lot เป็นการดำเนินการจากมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว การยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจจะทำได้ และหากจะมีการยกเลิกโครงการที่ไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา

2. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่?
นายวัฒนพงษ์ฯ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์มีอัตรา 2.16 บาทต่อหน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) มีอัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย(Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือน มีนาคม 2568 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว

3. สนับสนุนเป้าหมายลดคาร์บอน และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ฯ เน้นว่าการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) 

อีกทั้งการเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ตอบโจทย์เกษตรกรรมอัจฉริยะ

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน 'Green Tech' หรือ 'เทคโนโลยีสีเขียว' เป็นแนวคิดที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาด การลดมลพิษ หรือการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว

โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทน การลดของเสีย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร แนวคิดนี้ครอบคลุมไปถึงหลากหลายสาขา เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการรีไซเคิล และเกษตรกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งแนวปฏิบัติเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ​ที่ผ่านมา ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการใช้ พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน, ส่งเสริมพลังงานทดแทน ด้วย เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลสามารถใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งที่ไม่ยั่งยืน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

​ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ทางกองทุนดีอี ได้มุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยี Green Tech อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart Farming) ทั้งการใช้เทคโนโลยี IoT และ AI เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน โดยได้ให้ทุนสนับสนุนกับ กรมประมง เพื่อดำเนินโครงการ “ระบบดิจิทัลต้นแบบการตรวจ วินิจฉัยและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรค ของสัตว์น้ำระยะไกล (Telemedicine for Aquaculture Animal Health)” ด้วยการนำเทคโนโลยี AI Visual Inspection มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคของสัตว์น้ำโดยการใช้ภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) จากโทรศัพท์มือถือหรือ Tablet ในการจับภาพสัตว์น้ำที่มีความผิดปกติและส่งภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) นั้น ๆ ผ่าน Web Application ของระบบ" ไปยังกรมประมงที่มีระบบ AI ที่ผ่านกระบวนการนำข้อมูล Training set สอนให้กับคอมพิวเตอร์แล้วได้ Model (AI Model) เอาไว้อย่างแม่นยำเพื่อให้สามารถตรวจสอบคัดกรองโรคของสัตว์น้ำเบื้องต้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

​ขณะเดียวกัน ยังทำให้สามารถวิเคราะห์และคัดกรองได้ทันทีว่าภาพของสัตว์น้ำแต่ละภาพที่ส่งมานั้นเข้าข่ายการวินิจฉัยเบื้องต้น ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคใด ประกอบกับมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลประกอบต่าง ๆ เช่น 1) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2) ประวัติข้อมูลการเลี้ยง 3) ผลการตรวจร่างกาย 4) ผลการตรวจสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาช่วยให้สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์และคัดกรองโรคเหล่านั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าโรคของสัตว์นั้นจะเกิดจากปัจจัยแวดล้อมแบบใดและปัญหาอยู่ที่ส่วนใด และเมื่อได้รับข้อมูลที่วิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคประเภทใดแล้วเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงก็จะสามารถทราบได้ถึงการวินิจฉัยเบื้องต้นของสัตว์น้ำชนิดนั้น ๆ พร้อมกับคำแนะนำเบื้องต้นของการเริ่มต้นรักษาและแก้ไข ดังนั้น เกษตรกรสามารถพิจารณาจากคำแนะนำเบื้องต้นและทำการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ได้ในภายหลัง

​อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ช่วยลดการสูญเสียสัตว์น้ำ พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิต และยังได้ช่วยในมิติด้านแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top