Friday, 24 May 2024
พระนครศรีอยุธยา

‘คมนาคม’ ตอบชัด!! ปมสร้างรถไฟความเร็วสูง จ.พระนครศรีอยุธยา ยัน!! พัฒนาบนเส้นทางเดิม ไม่เวนคืนที่ดิน ไม่ส่งผลต่อมรดกโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้ชี้แจง ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะ เพื่อชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นปัญหาผลกระทบจากการก่อสร้าง สถานีรถไฟความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา ตามที่ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะ โดยยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อมรดกโลก และกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสุรพงษ์ชี้แจงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) เพื่อลดข้อกังวลใจของ UNESCO และประชาชน โดยประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำรายงาน HIA มาก่อน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลก โดยขอยืนยันว่า สถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ ดังนั้น การขยายตัวของเมืองเข้าไปในเขตมรดกโลกจึงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ได้ยกตัวอย่างเมืองมรดกโลกอื่น ๆ ที่มีสถานีรถไฟอยู่ใกล้ เช่น วัดโทจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และมรดกโลกมหาวิหารโคโลญ ประเทศเยอรมนี เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกับมรดกโลกได้ และอธิบายถึงแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ รองรับผู้โดยสาร รวมทั้งพัฒนาเส้นทางรถสาธารณะ และปรับปรุงระบบขนส่งรูปแบบใหม่

โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาได้ออกแบบมาเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว มีพื้นที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภูมิทัศน์รอบสถานีจะสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว

ยืนยันว่าได้ดำเนินการศึกษาแนวทางปรับปรุงรูปแบบสถานีเพื่อลดผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมทั้งดำเนินการตามผลการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาพื้นที่สถานีอยุธยาถือเป็นการพัฒนาบนแนวเส้นทางเดิม ไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นเรื่องทุนจากต่างประเทศ นายสุรพงษ์กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการจ้างโดยมีผู้รับจ้างเป็นบริษัทของไทย วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่ล้วนมาจากไทย และมีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างโปร่งใส

รมช.คมนาคมระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงอยุธยาถือเป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ รัฐบาลมีแผนรองรับผลกระทบต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน

'สส.เต้-ก้าวไกล' หน้าชา!! หลังฟังคำชี้ชัด 'นายกเทศบาลอยุธยา' "มติเอกฉันท์สภาเทศบาลหนุนสร้างรถไฟความเร็วสูงในจุดพื้นที่เดิม"

เมื่อวานนี้ (29 ก.พ. 67) มีประเด็นให้ถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับ นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคก้าวไกล ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา อ้างว่ากระทบมรดกโลก พร้อมเสนอให้สร้างเป็นสถานีใต้ดินแทน แบบรถไฟ้าสายสีน้ำเงิน จนถูกวิจารณ์อย่างหนัก

ต่อมา พบว่าเมื่อวันที่ 25 และ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายทวิวงศ์พร้อมทีมงาน ได้ลงพื้นที่ในเขตตัวเอง เพื่อแจกใบปลิวเชิญชวนประชาชน ให้ร่วมประชุมรับฟังผลกระทบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่เทศบาลเมืองอโยธยา ซึ่งปรากฏว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายทวิวงศ์ ได้ให้ทีมงานถือป้ายทำโพลถามประชาชนด้วย โดยตั้งหัวข้อว่า ชาวอยุธยาต้องการสถานีรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบใด ระหว่างสถานีลอยฟ้า กับสถานีใต้ดิน ทั้งนี้ การทำโพลในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการถอดแบบมาจากกลุ่มทะลุวัง ที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ เพื่อโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นำโดยว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้ลงมติสนับสนุนการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ณ สถานที่เดิม ตามสัญญาของรัฐบาล โดยสภาชิกสภาเทศบาลทุกคนที่อยู่ในห้อง ต่างยกมือสนับสนุนทั้งหมด เพื่อให้พี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดข้างเคียง ได้รับประโยชน์จากการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีการประชุมเสวนาเรื่อง ปัญหาการสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งมีประชาชนชาวอยุธยา และนายทวิวงศ์ รวมถึงคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเสวนา ปรากฏว่าหลังการเสวนา ว่าที่ร้อยตรีสมทรง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนายทวิวงศ์ โดยแนะนำนายทวิวงศ์ ว่า "มาช่วยกันเร่งพัฒนาตลาดหัวรอ แทนที่จะไปมุ่งแต่คัดค้านรถไฟความเร็วสูง เพราะยิ่งค้านก็ยิ่งแย่ ตอนนี้คนหัวหงอกเค้าออกมาแสดงจุดยืนกันหมดแล้ว และสิ่งที่คิดให้สร้างเป็นสถานีใต้ดิน ขุดไปก็เจอแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้เราเสียโอกาสไปเยอะ แนะนำให้ สส.เต้ รีบพลิกเกมซะ"

‘รมว.ปุ้ย’ ยัน!! ‘ก.อุตฯ’ เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีไฟไหม้โกดังลักลอบเก็บสารเคมี อยุธยา พร้อมสั่งลงโทษผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จ.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเพลิงไหม้ของเสียอันตรายที่ลักลอบเก็บในโกดัง อ.ภาชี จ.อยุธยา ทั้งในส่วนของการนำของเสียไปกำจัดบำบัด บทลงโทษ การเยียวยา และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า...

นับตั้งแต่กระทรวงฯ ตรวจพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในโกดังและบริเวณโดยรอบพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการยึดอายัดของเสียอันตรายในโกดังดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งยึดอายัดรถบรรทุกและรถแบคโฮที่ใช้ในการลักลอบขนถ่ายของเสียอันตรายไว้เป็นของกลาง พร้อมทั้งดำเนินคดี และสั่งการเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ดิน ผู้ขนส่ง และผู้ลักลอบนำของเสียอันตรายมาเก็บไว้ที่โกดังดังกล่าว อีกทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานของบริษัทเอกชนสองรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเมื่อปี 2566

ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริเวณโกดังหลังที่ 1 และ 2 จากทั้งหมด 5 โกดัง มีของเสียอันตรายถูกเพลิงไหม้จำนวน 13 กระบะ และรถบรรทุกของกลางถูกเพลิงไหม้จำนวน 1 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยภายหลังจากการควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังจุดความร้อนและตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบสถานที่เกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่า คุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีค่าไม่เกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศอย่าต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าว มีความมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้พบหลักฐาน เช่น ขวดและถังใส่น้ำมัน พร้อมธูปและระเบิดปิงปองในพื้นที่เกิดเหตุหลายจุด เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีผู้ไม่หวังดีกระทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของของเสียอันตรายไม่ให้มีการกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในทันที จากนั้นจะทำการจำแนกของเสียทั้งหมด เพื่อนำของเสียอันตรายในส่วนที่ถูกเพลิงไหม้และของเสียที่มีการรั่วไหลหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 

สำหรับการกำจัดบำบัดของเสียอันตรายที่เหลือทั้งหมดในโกดังและพื้นที่โดยรอบ และการทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ จากการประเมินคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำของเสียอันตรายทั้งหมดที่เหลือไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยภายหลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดคืนจากบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่อไป

“ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นใจได้ว่า สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานทั้งระบบ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับปรับแก้กฎหมายโดยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานจนกว่ากากอุตสาหกรรมจะได้รับการกำจัดบำบัดจนแล้วเสร็จ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเร่งปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงานในหลายประเด็น  ได้แก่...

(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีการจำคุกและการปรับในอัตราสูง แก่ผู้ที่กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อายุความในการดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอายุความเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่กระทำผิด 

(2) การเพิ่มฐานอำนาจให้สามารถสั่งการให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันหากสั่งปิดโรงงานแม้จะมีผลให้โรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่การสิ้นสภาพการเป็นโรงงานจะทำให้ไม่สามารถถูกสั่งการตามกฎหมายโรงงานได้อีกต่อไป 

และ (3) การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันการแพร่กระจายของมลพิษโดยเร่งด่วนได้ ตลอดจนป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในทันที จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  

“ในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ดิฉันมีความห่วงใยพี่น้อง และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดชุดเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย

ไม่จบ!! 'กรมศิลป์ฯ' ประกาศพื้นที่สถานีอยุธยาเป็น 'โบราณสถาน' เกมวางหมากขวางที่สุดท้าย 'ประชาชน' เสียประโยชน์ทุกมุม

(12 เม.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ โพสต์ข้อความหัวข้อ ‘กรมศิลป์ฯ ประกาศพื้นที่สถานีอยุธยาโบราณสถาน ตอนนี้??’ โดยระบุว่า…

“ค้านจนสงสัย… ตั้งแต่อ้างมรดกโลก ขอทำ HIA ทำครบทุกอย่าง แต่มาประกาศโบราณสถาน!!!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเห็นประกาศพื้นที่โบราณสถานของกรมศิลป์ฯ ในพื้นที่อาคารสถานีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันทุกคนก็รู้แล้วจะจะเป็นพื้นที่ก่อสร้าง สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ที่คุยกันมา กว่า 2 ปีแล้ว!!! 

ซึ่งที่ผ่านมา กรมศิลป์ฯ และนักอนุรักษ์ ต่าง ๆ ก็แวะเวียนกันมา ยกประเด็นที่อ้างถึงเพื่อให้แก้ไขเส้นทาง หรือย้ายตำแหน่งสถานี ได้แก่

- มีการคัดค้านการแก้ไข EIA โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เคยผ่านไปแล้วตั้งแต่ปี 2562

- การแจ้งข้อกังวลของ UNESCO ในผลกระทบจากตัวมรดกโลก ซึ่งก็ขอให้ทำ HIA เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่มรดกโลก (ซึ่งห่างกว่า 1.5 กิโลเมตรจากตัวสถานี) ซึ่งปัจจุบัน HIA ก็เสร็จแล้ว ส่งให้กรมศิลป์ฯ ตรวจ (แต่ก็ยังไม่ส่งต่อให้ UNESCO พิจารณา)

- คัดค้านทางวิ่งยกระดับ ที่ผ่านเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน อ้างว่าบดบังทรรศนะวิสัย ซึ่งระบุให้ทำการจำลองใน HIA

- การสร้างกระแส #Saveอโยธยา จากนักอนุรักษ์บางกลุ่ม และบอกว่าพื้นที่สถานีอยุธยาปัจจุบันคือเมืองเก่าอโยธยา ในยุคทวารวดี แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการขุดค้นอย่างเป็นทางการ และก็ไม่มีคำตอบว่า ถ้าจะขุดค้นจะทำอย่างไร จะไล่ที่ประชาชนที่อยู่ปัจจุบันออกเหรอ???

- สร้างกระแสผลกระทบกับชุมชนหน้าสถานีรถไฟอยุธยา ที่ต้องย้ายออก แต่ก็ไม่ได้พูดว่า นั่นเป็นที่ดินรถไฟมาตั้งแต่แรก ซึ่งคนเหล่านั้นมาเช่าที่ดินอยู่เพื่อใช้ประโยชน์

ล่าสุด!!! กรมศิลป์ฯ ได้ประกาศพื้นที่อนุรักษ์บนพื้นที่อาคารสถานีอยุธยา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ถนนฝั่งตรงข้ามตัวอาคารสถานี ไปจนถึงชานชาลา 1 ริมทางรถไฟ ซึ่งการทำแบบนี้ก็เท่ากับว่า ตั้งใจจะวางหมากเพื่อให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาก่อสร้างได้ยาก และติดปัญหาที่ต้องมาเคลียร์กับ กรมศิลป์ ต่อในอนาคตอีก…

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับตัวอาคารสถานีอยุธยาในปัจจุบัน หน่อย 

ซึ่งหลายๆ คนบอกว่าเป็นอาคารสถานีที่ สร้างสมัย ร.5 ตั้งแต่การเดินรถไฟครั้งแรกในปี พ.ศ.2434 ซึ่งไม่จริง!!!

อาคารสถานีเดิมเป็นอาคารไม้ ซึ่งสร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีต ในสมัย ร.6 ซึ่งเปิดใช้ในปี พ.ศ.2464 

แต่อย่างไรก็ตาม อาคารสถานีก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีการใช้ปริมาณมากในแต่ละวัน ซึ่งก็ปรับปรุงภายในไปพอสมควร 

และก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย ที่จะมีการปรับปรุงสถานีเก่าให้อยู่ร่วมกับ โครงสร้างใหม่ เพื่อมาขยายการพัฒนาด้านระบบราง ซึ่งมีตัวอย่างจากทั่วโลก

ซึ่งจากที่เล่ามาทั้งหมด ผมก็อยากทราบว่า กรมศิลป์ฯ และนักอนุรักษ์ มีจุดประสงค์ต้องการทำไปเพื่ออะไร…. อยากให้ย้าย หรือ อยากจะให้โครงการช้าไปถึงไหน!!!

จากการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง จนสงสัยว่า หน่วยงานมีปัญหาอะไรกับรถไฟความเร็วสูงกันแน่!!!

แต่ไม่เป็นไร ต่อให้กรมศิลป์ฯ ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่ตัวอาคารก็ไม่ได้ไปรื้อย้าย หรือกระทบอะไรกับตัวอาคารอยู่แล้ว เพียงแต่ตัวอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูง คร่อมทับบางส่วนของตัวอาคารสถานีรถไฟอยุธยาไปเท่านั้น!!!

ผมขอร้องเถอะครับ กรมศิลป์ฯ ก็เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลไทย ช่วยทำงานคุยกัน เพื่อให้โครงการมันราบรื่นหน่อยเถอะครับ ไม่ใช่มาวางหมากขวางกันไปมา สุดท้าย “ประชาชน” เป็นคนที่เสียประโยชน์จากเรื่องนี้ในทุกมุม!!!

ผมขอฝากรัฐบาลไปช่วยเป็นตัวกลางช่วยคุยให้เรื่องมันจบซักทีเถอะครับ
พรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin

ลิงก์ ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับสถานีรถไฟอยุธยา 
สถานีอยุธยา VS กรมศิลป์ฯ ตามลิงก์นี้
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1201611603610650/

การทำ HIA ตามที่กรมศิลป์ฯ และ UNESCO ต้องการ ตามลิงก์นี้
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1202420353529775/?d=n

การเปรียบเทียบ โครงการอื่นที่ใกล้มรดกโลก จากทั่วโลก
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1286300595141750/?mibextid=BfDkjB

ลิงก์คลิปชี้แจงรายละเอียด สถานีอยุธยา โดยกรมการขนส่งทางราง
https://youtu.be/iiCPwh7vFDM

สรุปรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช
https://www.facebook.com/491766874595130/posts/949437542161392/?d=n

การพัฒนาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อยู่ที่เดิม คนอยุธยาจะได้อะไร???

เปลี่ยน mode การเดินทาง จากรถ สู่เดิน!!! อนาคตยกระดับสู่ ถนนคนเดิน Historical Walk Way เทียบเท่า ญี่ปุ่น!!!
https://www.facebook.com/100067967885448/posts/649456317329959/?mibextid=cr9u03

'รมว.ปุ้ย' เริ่มเดือด!! หลังสารเคมีโรงงานที่อยุธยารั่ว 3 ครั้งติดต่อกัน ลั่น!! อย่าให้เกิดอีก หวั่น!! 'ปชช.ผวา-ภาพลักษณ์ท่องเที่ยวถูกฉุด'

จากเหตุสารเคมีรั่วไหลในพื้นที่โรงงานบริษัทเอกอุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ในช่วงเย็นวันที่ 27 เม.ย.67 ซึ่งเป็นการรั่วครั้งที่ 3 ของโรงงานดังกล่าว สร้างความหวาดผวาให้กับชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงสถานพยาบาลและสถานีตำรวจ 

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตนสั่งการปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงาน ให้เร่งหาสาเหตุและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันถึง 3 ครั้ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งจะได้รับการยกย่องจาก นิตยสาร CEOWORLD ให้เป็นอันดับ 1 ประเทศน่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นกังวลที่สุด และไม่อยากให้เกิด คือ การเกิดเพลิงไหม้คล้ายกรณี บริษัทแวกซ์กาเบจ ที่ราชบุรี โกดังเก็บสารเคมีที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และ บริษัทวินโพรเสส ที่ จ.ระยอง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อน หวาดกลัว และปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

"ดิฉันจึงได้สั่งการให้ปลัดอุตฯ และอธิบดีกรมโรงงาน เร่งหาตรวจสอบหาสาเหตุจากต้นตอ และดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ท่านนายกรัฐมนตรีก็ไม่สบายใจ และกำชับให้หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นอีก โดยเฉพาะโรงงานเก็บกากอุตสาหกรรมที่เป็นสารเคมีหรือวัตถุอันตรายที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ และต้องรายงานทุกระยะ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

'ก้าวไกล' จวก 'เศรษฐา' เก่งแต่ต่อว่าคนอื่น แต่ทำงานไม่ได้เรื่อง หลังปมเพลิงไหม้โรงงาน 'อยุธยา-ระยอง' หาจุดจบไม่ได้เสียที

(2 พ.ค. 67) นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง และนายทวิวงศ์ โตทวิววงศ์ สส.พระนครศรีอยุธยา พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงความคืบหน้ากรณีไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส รวมถึงเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมีใน อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค.

โดยนายชุติพงศ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบข้อมูลว่าโรงงานวินโพรเสส ที่ จ.ระยอง และโกดังเก็บสารเคมี ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มีเจ้าของกลุ่มเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ คือก่อนหน้านี้ที่อยุธยาเคยเกิดเหตุเพลิงโรงงานสารเคมี และมีการสั่งย้ายสารเคมีภายในโรงงานออกทั้งหมด จากนั้นมาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่ระยอง และล่าสุดคือเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังในพระนครศรีอยุธยา ระดับผู้สั่งการทำได้แค่สั่งแต่ไม่มีแผนเผชิญเหตุ จึงฝากไปถึงรัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก และนายกรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ เห็นผลกระทบจากกลิ่นสารเคมี ต้องถามว่าทำงานกันเป็นหรือไม่ เพราะในการลงพื้นที่ไฮไลต์เดียวคือการไปต่อว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จนเมื่อวาน (1 พ.ค.) ต้องประกาศลาออกในที่ประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร

“ถ้าท่านอยากทำหน้าที่ใช้ปากทำงานต่อว่าคนอื่น ท่านเป็นฝ่ายค้านก็ได้ ท่านไม่ต้องเป็นรัฐบาลหรอก อำนาจสั่งการอยู่ที่ท่าน ท่านก็สั่งเลยว่าให้ตำรวจทำอะไร ให้แต่ละที่ทำอะไร และต้องฟ้องชดเชยเยียวยาอะไร เพราะอำนาจอยู่ในมือท่าน จึงต้องฝากนายกฯ เพราะท่านไปเห็นหน้างานมาแล้วว่าเหม็นขนาดไหน ถ้าหากท่านจะใช้ปากทำงานต่อว่าคนอื่น ไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ และขอฝากถามไปถึงนายกฯ ว่าจะทำอย่างไรถึงจะจบสักที เพราะดูเหมือนว่าท่านสั่งอะไร ก็ไม่ได้ผลสักอย่าง เพราะแม้ตอนนี้จะยังไม่ทราบชัดเจนว่าสารเคมีในโรงงานมีอะไรบ้าง แต่เบื้องต้นพบว่าเป็นสารประเภทเดียวกันทั้ง 2 ที่” นายชุติพงศ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีความเชื่อมโยงว่ามีการเคลื่อนย้ายสารเคมีจาก จ.ระยอง มายังอ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาหรือไม่ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า รัฐเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้กับโรงงานเหล่านี้ ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่าเอาสารเคมีอะไรเข้าไปเก็บบ้าง และมาจากที่ใด เพราะไม่มีใครรู้ หากเกิดสารเคมียังหลงเหลืออยู่แต่ไม่มีที่เก็บแล้ว จากนี้จะไปโผล่บ้านใครก็ไม่ทราบ รัฐบาลต้องทำให้ชัดเจน ว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในการตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการพบข้อพิรุธหลายอย่างในเรื่องนี้

ต่อข้อถามว่าหากคดีมีความชัดเจนว่าเป็นการลอบวางเพลิง เอื้อประโยชน์นายทุน ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง นายชุติพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแจ้งความดำเนินคดี เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ต้องติดตามว่า คดีเหล่านั้นดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และการขนย้ายใช้งบประมาณของกรมโรงงานฯ หรือเอกชนเจ้าของโรงงาน ซึ่งฝ่ายค้านก็จะติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นบทเรียนว่าการทำแบบนี้จะต้องรับโทษอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่า มองว่ามีความจำเป็นที่โรงงานต้องเกิดเหตุไฟไหม้ในตอนนี้หรือไม่ นายชุติพงศ์ กล่าวว่า ค่าขนย้ายสารเคมีไปกำจัดมีราคาแพง

ด้านนายทวิวงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทีมผจญเพลิงรับมือ ได้มีการเตรียมแผนรับมือไว้ เนื่องจากพบกรดกัดกร่อนรุนแรงที่พื้นโรงงาน หลังจากไฟไหม้ตลอดทั้งคืน จึงต้องปรับแผนไปดับเพลิงบนหลังคา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือ ชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน และมาตรการดูแลเจ้าหน้าที่ ทั้งการตรวจสุขภาพ และการรักษาในระยะยาว ทั้งนี้ทราบบว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พบรอยตัดรั้วลวดหนาม หลังถูกดำเนินคดีที่ใช้กันพื้นที่โรงงานหลังถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง จึงต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด

อย่างไรก็ตามนายชุติพงศ์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในการประชุม กมธ.อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า เข้าร่วมประชุมกมธ. ด้วยในฐานะ สส.จ.ระยอง พื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งตนได้ถามอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ งบประมาณในการขนย้ายสารเคมี ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ที่นั่งอยู่ข้างตนก็ได้ตอบว่า "อ่อผมลาออกแล้วครับ" ตอนนั้นรู้สึกช็อกมาก

เมื่อถามว่าอธิบดีกรมโรงงานฯ ได้แจ้งเหตุผลของการลาออกหรือไม่ นายชุติพงษ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ น่าจะเป็นเพราะถูกนายกฯ ต่อว่า และทราบว่ากำลังถูกสั่งย้าย ท่านจึงลาออก ซึ่งเรื่องนี้น่าสงสัย เพราะท่านเป็นคนเสนอให้ใช้เงินประกันที่ศาลมาดำเนินการขนย้ายสารเคมี ซึ่งก็ต้องรอผลในวันที่ 7 พ.ค.นี้ จึงต้องติดตามต่อไป เพราะประชาชนเริ่มสงสัยว่าเป็นการวางเพลิงต่อเนื่องหรือไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top