Thursday, 22 May 2025
พงษ์ภาณุ_เศวตรุนทร์

ได้เวลา 'รัฐบาล' ปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย ช่วยถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'การปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนิมิตหมายที่ดีและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจับตามอง การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.5% แม้ว่าทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง

หลายสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้เพียงประมาณ 2.5-3.0% แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งกำลังทยอยออกมา อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.5% ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ มาตรการช่วยให้ธุรกิจรายย่อย และ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความจำเป็นเพราะสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มหดตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารจะยังคงสูง แต่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะนโยบายการเงินมีความตึงตัวเกินกว่าเหตุ 

ต้องขอชมเชยการเสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal) ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่จะต้องทำอย่างกว้างขวางและรับความเสี่ยงด้านเครดิตแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระทางการคลังและผู้เสียภาษีในที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ออกมาช้า เหลือเวลาอีกเพียง 2 ไตรมาสก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งมีการเบิกจ่ายติดลบใน 2 ไตรมาสแรก กระทรวงการคลังคงจะต้องตามจี้ทุกหน่วยงานให้เร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

น่าเสียดายที่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้รวดเร็วตามกำหนดเวลา มิเช่นนั้นคงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกำหนดเวลาและแหล่งเงิน ส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว ก็ยังมีช่องทางเติบโตแต่น่าจะมีอัตราที่ช้าลง

ภาระตกอยู่กับนโยบายการคลังค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีอากร สังคมคงไม่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งกระดิกเท้าเป็น Free Rider อยู่เฉย ๆ และไม่ใส่ใจที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคำนึงว่า ธปท.พลาดเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ระหว่าง 1-3% ติดต่อกัน 2 ปีและทำท่าว่าจะพลาดอีกในปีนี้ 

นี่จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกรอบเงินเฟ้อเสียที ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอาจจะใจดีหรืออาจจะตาม ธปท. ไม่ทัน แต่การพลาดเป้าเงินเฟ้อแบบหมดท่า น่าจะถือเป็นการผิดสัญญาประชาคม และธนาคารแห่งประเทศไทยสมควรต้องรับผิดชอบ การที่รัฐบาลทบทวนกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นการถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสมและไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อดังกล่าว พึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และแสดงหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจนโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! เหตุผลที่รายได้รัฐพลาดเป้า โครงสร้างภาษี-การจัดเก็บล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'ทำไมรายได้รัฐพลาดเป้า?' เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การจัดเก็บภาษีอากรพลาดเป้าไป 40,000 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 เป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะในภาวะที่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพื่อดูแลสังคมและเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการคลังยังขาดดุลและหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง

การที่รายได้รัฐต่ำกว่าประมาณการอาจมีสาเหตุหลายประการ…

- ประการแรก เป้าที่ตั้งไว้สูงเกินไปไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 
- ประการที่สอง ภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ 
- และประการสุดท้าย โครงสร้างภาษีและการบริหารการจัดเก็บล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพ

การตั้งประมาณการรายได้ที่สูงเกินไปมีอันตรายเพราะจะทำให้รัฐบาลโน้มเอียงที่จะตั้งงบประมาณรายจ่ายสูงเกินตัว เมื่อเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าก็จะต้องกู้เงินในจำนวนที่มากกว่าที่วางแผนไว้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรง สำหรับสาเหตุสุดท้ายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพราะโครงสร้างและการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรไม่ได้รับการปรับปรุงขั้นพื้นฐานมายาวนาน

เริ่มจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อมีการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ในปี 2535 ได้มีการออกแบบให้มีฐานกว้างและจัดเก็บที่อัตรา 10% แต่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองได้ประกาศลดอัตราลงเหลือ 7% มาตลอด 30 ปี และยังมีการกำหนดรายรับขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีไว้ที่ระดับสูง ทำให้ฐานภาษีแคบลง นอกจากนี้การซื้อขายสินค้าและบริการแบบออนไลน์ยังทำให้การจัดเก็บรั่วไหลอีกด้วย

ภาษีเงินได้นิติบุคคลยังคงจัดเก็บโดยยึดหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดถือมาเกือบ 100 ปีและอาจไม่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ซึ่งธุรกิจสามารถเลือกตั้งถิ่นฐานในประเทศที่มีภาษีต่ำหรือไม่มีภาษี (Tax Heaven) แล้วให้บริการข้ามพรมแดนแบบออนไลน์ โดยที่ประเทศต้นทางที่เป็นแหล่งกำเนิดของรายได้ไม่ได้อะไรเลย

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็มีฐานภาษีที่พรุนไปด้วยรายการยกเว้นลดหย่อนภาษีมากมาย ทำให้รายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เติบโตเร็วเท่าที่ควรจะเป็น ค่าลดหย่อนหลายรายการมีมากเกินความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่า สมควรทีจะมีการทบทวนและพิจารณายกเลิกเพื่ออุดรูรั่วของฐานภาษีและเพื่อสร้างความยุติธรรมระหว่างผู้เสียภาษี

ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเริ่มที่จะมีการจัดเก็บตามหลักการภาษีคาร์บอนอยู่บ้างในกรณีสินค้ารถยนต์ แต่ก็มีใช้การลดภาษีสรรพสามิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว การอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงาน Fossils นอกจากจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับประชาคมโลกที่พยายามเปลี่ยนผ่านสู่โลกคาร์บอนต่ำตามความตกลงปารีสอีกด้วย วันนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องจริงจังกับภาษีคาร์บอนได้แล้ว

นับจากการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าการปฏิรูปประเทศจะเป็นเหตุผลหลักของการรัฐประหารเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้น จึงขอฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่จะดำเนินการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจังเสียทีเพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ความสมดุลทางการคลัง

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ดอกเบี้ยขาลงเริ่มต้นแล้ว หวัง 13 มิ.ย.นี้ 'กนง.' จะไม่ขวางโลกอีกต่อไป

(11 มิ.ย. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้เผยว่า ดอกเบี้ยขาลงเริ่มแล้ว โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank-ECB) ธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์, ธนาคารกลางแห่งแคนาดา ทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายลงแห่งละ 0.25% และคาดว่าจะมีธนาคารกลางอีกหลายประเทศประกาศลดดอกเบี้ยตามมา รวมทั้ง Federal Reserve แห่งสหรัฐอเมริกา

ต้องถือว่าเป็นการประสานนโยบายดอกเบี้ยครั้งยิ่งใหญ่ของโลกอีกครั้งหนึ่ง และเป็นจุดหักเห (Turning Point) ครั้งแรกในรอบ 3 ปี เพราะการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ จะช่วยผ่อนคลายนโยบายการเงินและพยุงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่เงินเฟ้อทั่วโลกเริ่มอ่อนตัวลงและเข้าใกล้กรอบเงินเฟ้อของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ แล้ว

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีความผันผวนทางการเงินมากที่สุดประเทศหนึ่ง และมีเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างมาเป็นเวลายาวนาน ก็เชื่อมั่นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้โอกาสของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งหน้าในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% เสียที และประกาศแผนการลดดอกเบี้ยครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างโปร่งใส และถ้าจะให้ดี พร้อม ๆ กับการลดดอกเบี้ย ธปท. ก็ควรจะออกมาแสดง ความรับผิดชอบอย่างลูกผู้ชายต่อประชาชนกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา

ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว ปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย หลังจากที่งบประมาณแผ่นดิน 2567 เริ่มมีผลบังคับใช้ ส่วนราชการได้เบิกจ่ายงบลงทุนในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วกว่าเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุนในระดับสูงจนสิ้นปีงบประมาณ งบประมาณแผ่นดินประจำปี 2568 ซึ่งมีวงเงินสูงถึงกว่า 3.7 ล้านล้านบาท ก็จะมุ่งเน้นการยกระดับการลงทุนภาครัฐ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย. วงเงิน 50,000 ล้านบาท จะช่วยเอื้อให้ธุรกิจขนาดกลางและย่อมเข้าถึงสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ได้ง่ายขึ้น

"นโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นการกระตุ้นการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แล้ว ธปท.ล่ะ จะมัวเพิกเฉยทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองอยู่ได้อย่างไร" อ.พงษ์ภาณุ กล่าว

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง Fast Fashion ตัวการใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชี้!! ธุรกิจเกี่ยวข้องควรตระหนัก ฟากไทยส่งเสริมผ้ารักษ์โลกแล้ว

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fast Fashion กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก' เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ธุรกิจ Fast Fashion ได้ส่งผลให้พฤติกรรมการผลิตและการบริโภคของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 

Fast Fashion คือ การเปลี่ยนแฟชันด้วยความถี่ที่สูงมาก สมัยก่อนอาจมีการออกคอลเลคชันใหม่ปีละ 2 คร้้ง คือ Summer และ Winter Collection แต่ปัจจุบันอาจมีคอลเลคชันใหม่ทุกสัปดาห์ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการ Outsource การผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถและความต้องการซื้อเสื้อผ้าบ่อยขึ้น

ปริมาณการผลิตและการบริโภคเสื้อผ้าที่มากขึ้น และเทคโนโลยีการผลิตที่ยังคงอาศัยการใช้น้ำและการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง การใช้สารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยะเสื้อผ้าเก่าจำนวนมากที่ไม่สามารถกำจัดได้ ได้ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

แม้ว่าแนวโน้มการบริโภคแฟชันที่มากขึ้นและถูกลงจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคในวงกว้างและผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศยากจน แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของประชาคมโลกที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการเก็บภาษีเสื้อผ้า บางประเทศส่งเสริมธุรกิจเสื้อผ้าใช้แล้ว รวมทั้งธุรกิจให้ยืมเสื้อผ้า เป็นต้น

ส่วนในไทย ก็เป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงมหาดไทยและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการผ้าไทย ซึ่งเป็นคนในระดับรากหญ้าและชุมชน เข้าถึงกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ อบก. โดยมีการคำนวณและติดเครื่องหมายรับรอง Carbon Footprint ซึ่งจะช่วยให้ผ้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดโลกในราคาที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตจากที่เคยใช้สีเคมีในการฟอกย้อมมาใช้สีธรรมชาติ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก 

ขณะที่ขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ กลไกการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย กำลังก้าวไปไกลอีกระดับ เมื่อ อบก. ได้ออกมาตรฐานโครงการใหม่ที่มีความเข้มข้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่เรียกว่า T-VER Premium อีกด้วย

แม้ว่าการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจะยากและมีต้นทุนสูงขึ้น แต่เชื่อแน่ว่าคาร์บอนเครดิตของไทยน่าจะมีราคาสูงขึ้น โดยภายในสัปดาห์นี้จะมีการอนุมัติโครงการ T-VER Premium ขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 โครงการ ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติโครงการร่วมมือกับญี่ปุ่นที่เรียกว่า Joint Credit Mechanism-JCM เพื่อสนับสนุนให้เอกชนของ 2 ประเทศร่วมทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน T-VER Premium ของไทยอีกด้วย

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง!! 'กองทุน Thai ESG-ต่างชาติถือครองอสังหาฯ' น่าสน เชื่อ!! เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดี ในยามที่รัฐไม่มีทางเลือกมากนัก

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีความพยายามจากรัฐบาลที่จะออกมาตรการเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึง การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนของปี 2567 การตั้งวงเงินงบประมาณปี 2568 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ การออกมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นโดยใช้กองทุน Thai ESG การให้ต่างชาติถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศได้มากขึ้น

มาตรการเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากสังคมในทางที่ดี เพราะส่วนใหญ่ (ยกเว้นธนาคารแห่งประเทศไทย) เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีอาการหนักในขณะนี้ และจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มลดดอกเบี้ยแล้วก็ตาม และแม้ว่าบางมาตรการอาจสร้างภาระต่อผู้เสียภาษีอยู่บ้าง แต่รัฐบาลก็ไม่มีทางเลือก เพราะ ธปท. ดื้อแพ่งที่จะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ยังคงหลงระเริงอยู่กับโลกแห่งความฝันที่สวยหรู และทำทุกอย่างที่สวนทางกับนโยบายการคลัง เสมือนว่าเป็นรัฐอิสระในประเทศไทย

มาตรการเหล่านี้ คาดว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีในระยะสั้น การให้ต่างชาติเช่า/ถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น เป็นมาตรการที่ดีมาก ไม่ถือเป็นการขายชาติที่นักการเมืองลัทธิชาตินิยมบางคนชอบอ้าง แต่กลับจะช่วยให้มีเงินทุนต่างชาติเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยที่รัฐไม่ต้องใช้เงินผู้เสียภาษีแม้แต่แดงเดียว ส่วนมาตรการกองทุน Thai ESG แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อยู่บ้าง เนื่องจากให้ผู้ลงทุนหักค่าลดหย่อนได้ถึง 300,000 บาท แต่ก็จะช่วยให้มีเม็ดเงินใหม่จำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความเหมาะสม แต่อาจจะยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ดูเหมือนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุดที่สุดจะมีทางเดียวคือ การเปลี่ยนตัวผู้ว่า ธปท.

'อ.พงษ์ภาณุ' ติง!! 'ภาครัฐ' ปกป้องอุตฯ ไทย จากสินค้าราคาถูกจีนล่าช้า สวนทาง 'ยุโรป-เมกา' เดินเกมเก็บภาษีขาเข้าป้องกันจีนทุ่มตลาดแต่เนิ่นๆ

(18 ส.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'จีนทุ่มตลาดไทย?' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยสถิติการค้าแบบทวิภาคี 'ไทย-จีน' ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งปรากฏว่าไทยขาดดุลการค้าจีนแบบวินาศสันตะโร ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ประชาชนยังไม่มีอำนาจซื้อและยังต้องแบกรับหนี้ภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาล

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP ทั้งปีขึ้นเป็น 5% แม้ว่าการบริโภค/การลงทุนในประเทศยังทรงตัว อันเป็นผลมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่เกิดฟองสบู่แตกเมื่อหลายปีก่อน และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวเท่าไหร่ แต่การขยายตัวของจีนขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเร็วผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่ออุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้น แน่นอนย่อมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) ซึ่งหากสามารถผลักดันผลผลิตส่วนเกินนี้ออกสู่โลก แม้ว่าจะต้องกดราคาให้ต่ำเป็นพิเศษ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้สินค้าคงเหลือเหล่านี้สูญเปล่าไป ซึ่งจากรายงานมีการส่งออกผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดหลายประเทศในราคาต่ำกว่าตลาด

ประเทศตะวันตกหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้รับผลกระทบจากสินค้าถูกจากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้มีการเก็บภาษีขาเข้าในรูปของ Anti-dumping Duty และ Countervailing Duty จากสินค้าจีน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้ประกอบการภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าอาจทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในด้านนโยบายการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ระบบภาษีอากรของไทย ยังเอื้อให้มีการเอาเปรียบผู้ประกอบการในประเทศอีกด้วย ดังนี้...

ประการแรก 'ไทย-จีน' เป็นเขตการค้าเสรีมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น อุปสรรคการค้าทั้งในรูปของอากรขาเข้า และมิใช่อากร ที่พรมแดน ต้องเป็นศูนย์

ประการที่สอง รัฐบาล/กรมสรรพากรในอดีต มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แก่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อชิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ วันนี้ได้รับรายงานว่า มีการยกเลิกข้อยกเว้นนี้ไปแล้ว

ประการที่สาม ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยและของอีกหลาย ๆ ประเทศยังคงยึดมั่นในหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) และได้ยึดมั่นในหลักการนี้อย่างเคร่งครัดเสมอมาเป็นเวลากว่า 100 ปี จนการจัดเก็บภาษีเงินได้ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ภาษีไปจำนวนมากมายจากที่ควรจะจัดเก็บได้ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำในรูปของสถานประกอบการถาวร แต่อยู่ในรูปของ Platform Online ซึ่งจะมีสถานประกอบการอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือจะบันทึกกำไรในเขตภาษีที่มีอัตราภาษีเงินได้ต่ำที่สุด จึงทำให้กิจการเหล่านี้มีความได้เปรียบเชิงภาษีเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย

นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการค้าและการพาณิชย์ นั้น หากทันทีที่มีเหตุต้องสงสัย ว่าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศมีการทุ่มตลาดและ/หรือได้รับการอุดหนุนให้มีราคาขายต่ำกว่าต้นทุน กระทรวงพาณิชย์จะต้องรีบดำเนินการตามกระบวนการ Anti-dumping Duty และ/หรือ Countervailing Duty เช่นที่นานาประเทศเขาทำกันโดยทันที โดยไม่ต้องรอให้ความเสียหายปรากฏชัดเช่นในปัจจุบัน กรอบกฎหมายของประเทศไทยมีหมดอยู่แล้ว ขาดอยู่ก็เฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist Measures) ในทางตรงกันข้าม เราอยากเห็นการค้าเสรีที่อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) หากรัฐดูแลให้กรอบการแข่งขันมีความเป็นธรรม แล้วผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ ก็สมควรไปขายเต้าฮวยดีกว่า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top