Saturday, 19 April 2025
ฝุ่นพิษ

‘BBC’ ชี้!! ปี 66 คนไทยกว่า 10 ล้านคน แห่รักษาอาการป่วย ผลพวงจาก ‘มลพิษทางอากาศ’ ที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง


BBC รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2566 มีคนไทย 10 ล้านคนเข้ารับการรักษาอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ

ทางการไทยระบุในปี พ.ศ. 2566 คนไทยมากกว่า 10 ล้านคนเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาในขณะที่คุณภาพอากาศของประเทศไทยแย่ลง การเผาป่าและไฟป่าที่ลุกลามอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ มักก่อให้เกิดหมอกควันพิษในช่วงต้นปี 


ต้นปี พ.ศ. 2567 มีผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับปีก่อน จาก 1.3 ล้านคนในช่วง 9 สัปดาห์แรกของปี พ.ศ. 2566 จำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคนในต้นปี พ.ศ. 2567 AFP รายงานว่า ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 72 ล้านคน กรณีรวมถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ หอบหืด และโรคหัวใจ


ประเทศไทยต้อง ‘จัดลำดับความสำคัญ... ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน’ สศช. ระบุ PM 2.5 หมายถึงระดับของอนุภาคอันตรายขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรหรือเล็กกว่า ที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอดได้ การสัมผัสกับมลพิษขนาดเล็กเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและคันในดวงตาและผิวหนัง รวมถึงอาการไอและแน่นหน้าอก อาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นในผู้ที่มีภาวะหัวใจหรือปอดอยู่แล้ว


จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยบางจังหวัดได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกจากเว็บไซต์ติดตามคุณภาพอากาศ เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง ได้รับการจัดอันดับ ‘ไม่ดีต่อสุขภาพ’ จาก Platform ติดตาม IQAir มลพิษทางอากาศของประเทศไทยเป็นปัญหาในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งโดยปกติจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาไร่อ้อยและนาข้าวตามฤดูกาลของเกษตรกร


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงคุณภาพอากาศ ฝ่ายนิติบัญญัติยังเห็นชอบร่างกฎหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหานี้ด้วย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไทยได้ประกาศแผนการจัดเตรียมเครื่องบิน 30 ลำทั่วประเทศเพื่อทำฝนเทียมบรรเทามลพิษ ในเดือนกุมภาพันธ์ หน่วยงานภาครัฐในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานจากบ้านเป็นเวลาสองวัน เนื่องจากระดับมลพิษในเมืองหลวงและจังหวัดใกล้เคียงถึงระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้อยู่อาศัยและกลุ่มสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการต่อต้านมลพิษ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 1,700 คน ได้ฟ้องร้องอดีตนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหน่วยงานของรัฐ 2 แห่ง ที่ไม่ใช้อำนาจลดมลพิษในภาคเหนือ ซึ่งพวกเขากล่าวว่าทำให้ชีวิตแต่ละคนสั้นลงประมาณ 5 ปี ในเดือนมกราคมปีนี้ ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศภายใน 90 วัน

‘iQAir’ ชี้!! ‘เชียงใหม่’ มี ‘มลพิษ’ มากที่สุด ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโกลกาตา-เดลี

(7 มี.ค. 67) ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้

ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์

จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และ จ. สุรินทร์

> ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 43.9 - 196.1 มคก./ลบ.ม.

> ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37.2 - 136.0 มคก./ลบ.ม.

> ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23.2 - 46.4 มคก./ลบ.ม.

> ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.7 - 31.5 มคก./ลบ.ม.

> ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.8 - 33.0 มคก./ลบ.ม.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 16.2 – 33.4 มคก./ลบ.ม.

ด้าน เว็บไซต์ iQAir จัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด พบว่า จ.เชียงใหม่ มีมลพิษมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโกลกาตา และ เดลี ประเทศอินเดีย

ขณะที่ เว็บไซต์ของ NASA Firms ที่อัปเดตจุด hotspot ที่เผยจุดความร้อน การเผาป่า ไฟป่า ต้นเหตุควัน และฝุ่น PM 2.5 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 พบว่าในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ พบจุดความร้อน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงมากในพื้นที่

‘ดร.เอ้’ ติง ‘นายกฯ’ ไปเชียงใหม่ แต่ไร้วิสัยทัศน์แก้ฝุ่น PM2.5 แนะ 3 ข้อ ‘ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน-กระจายอำนาจ-ใช้เทคโนโลยี’

(19 มี.ค. 67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแล กทม. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เชียงใหม่ แก้ได้ด้วยภาวะผู้นำโดยวิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาว่า นายกฯ ลงพื้นที่เชียงใหม่ แต่ไม่รับฟังปัญหาของชาวบ้าน และนักวิชาการ ไม่แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งที่นายกฯ มีอำนาจหน้าที่ มีพลัง แก้ไขวิกฤติฝุ่นพิษได้

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่าบทบาทของนายกฯ สามารถแก้ปัญหาทุกข์เรื้อรัง ของชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงได้ หากท่าน เอาจริงเอาจัง กับ 3 เรื่องนี้ 

1.จัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะการเผา เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของราชการกันเอง ทั้งระหว่างหน่วยงาน ที่ต่างฝ่ายต้องการงบประมาณลงหน่วยงานของตนให้มากที่สุด และปัญหาผลประโยชน์ของเอกชน มีหลายคนได้ผลประโยชน์จากการที่ป่าหรือไร่ถูกเผา นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด ถ้าแก้เรื่อง ประโยชน์ทับซ้อน ได้การเผาจะลดลง ฝุ่นก็ลดลง

2.กระจายอำนาจ และงบประมาณการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อบรรเทาทุกข์ อาจถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหาด้วย เงิน เพราะการให้เงินโบนัสหมู่บ้านไม่เผา โดยกระจายอำนาจหน้าที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการได้กับหมู่บ้านที่ไม่เผา เราอาจไม่ถูกใจเรื่องแจกเงิน แต่คุ้มค่ากว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM 2.5 อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณในการดับไฟ และรักษาชีวิตเจ้าหน้าที่ที่ต้องเสี่ยงกับการเข้าไปดับไฟ 

และ 3. ต้องใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เพราะเทคโนโลยีดาวเทียม ไม่โกหก เพราะภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส-2 ที่โคจรต่ำ ผ่านประเทศไทย 4 รอบต่อวัน จะรู้ทันที ใครเผา และที่ดินใคร สามารถใช้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการใด ๆ ได้อย่างเป็นธรรม ของดีมี ต้องใช้

“วิกฤตฝุ่น PM2.5 เป็นวิกฤตชาติที่รอไม่ได้อีกต่อไป อย่าปล่อยให้เป็นแบบไฟไหม้ฟาง คือ มาดู แล้วจากไป” นายสุชัชวีร์ ระบุ

‘หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง’ เปิดภารกิจลดฝุ่นพิษภาคเหนือ เน้นช่วยพื้นที่การเกษตร-ไฟป่า เรียกฝนตกกลางดึกสำเร็จ

เมื่อวานนี้ (18 มี.ค. 67) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ และ จ.เชียงใหม่ มีภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 และ PM2.5) โดยใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ เครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ ช่วยเหลือพื้นที่ จ.พะเยา แพร่ น่าน

ทั้งนี้ แผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงนี้ จะเน้นช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 14 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และมีนโยบายถึงการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเพิ่มการดูดซับฝุ่นละอองของเมฆให้มากขึ้น

ผลปรากฏว่า วันนี้ (19 มี.ค.67) ฝนที่ตรวจวัดได้จากเรดาร์ บริเวณ จ.พะเยา ในช่วงกลางคืน ในตัวเมืองพะเยาบางแห่งมีฝนตกปานกลาง ถึงหนัก โดยจากการปฏิบัติการฝนหลวง พบมีกลุ่มฝนที่เกิดจากการปฏิบัติการฝนหลวงที่ตกหนักมากที่สุดบริเวณ อ.สอง จ.แพร่ โดยวัดได้จากเรดาร์ มากกว่า 50 มิลลิเมตร ยอดสูงมากกว่า 30,000 ฟุต เส้นผ่านศูนย์กลางกลุ่มฝนมากสุดประมาณ 16 กิโลเมตร และมีอาสาสมัครฝนหลวงส่งภาพฝนตกบริเวณ หมู่ 6 ต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่ เพื่อยืนยันฝนตก 

'ก้าวไกล' เต้น!! หลัง 'ชัยวัฒน์' แฉ!! พรรคการเมืองเอี่ยวเผาป่า ท้า!! เปิดหลักฐาน ลั่น!! อย่าผูกขาดความรักป่าไว้เพียงคนเดียว

(19 เม.ย.67) จากกรณีที่คุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สื่อสารในช่องทางออนไลน์ส่วนตัวและให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในลักษณะที่ทำให้สังคมเชื่อว่าพรรคการเมืองและนักการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้าน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาป่า ทำให้เกิดฝุ่นพิษเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ด้าน พรรคก้าวไกล จึงได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่า...

1.ข้อกล่าวหาดังกล่าว ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลหลักฐาน พรรคก้าวไกลขอให้นำมาเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมาย และตามแนวนโยบายของรัฐบาล

แต่หากไม่มีข้อมูลหลักฐาน พรรคก้าวไกลถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง

2.ภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ ส่วนพรรคก้าวไกล ภาคประชาสังคม รวมทั้งอาสาสมัครประชาชน ให้การสนับสนุนช่วยเหลือเครื่องมืออุปกรณ์ กำลังคน อาสาสมัคร การเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดนโยบายที่เหมาะสมที่สุด ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

3.พรรคก้าวไกลยังมีแนวนโยบายและการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติอีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นพิษระยะยาวอย่างยั่งยืน

สุดท้าย ขอย้ำเตือนไปยังคุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ว่ากรุณาเปิดใจให้กว้าง อย่าผูกขาดความรักป่าไว้เพียงคนเดียว มิเช่นนั้นแล้ว จะนำมาสู่ความคิดที่ว่าตนเองดีและสูงส่งกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งอาจนำมาสู่การปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจเกินขอบเขตและไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชน อย่างที่คุณชัยวัฒน์เคยถูกกล่าวหามาแล้วหลายครั้ง

กทม. อ่วมฝุ่นพิษ PM 2.5 เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ พบ ‘หนองแขม’ สีแดง – อีก 69 พื้นที่สีส้ม เริ่มมีผลกระทบสุขภาพ

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครสรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 ตรวจวัดได้ 48.2-81.7 มคก./ลบ.ม. พบว่า 'เขตหนองแขม' เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง และเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม จำนวน 69 พื้นที่ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรสวมหน้ากากอนามัยและลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง

(8 ม.ค. 68) ทีมโฆษกศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร กรมอุตุนิยมวิทยา และสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร: ประจำวันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) : ตรวจวัดได้ 48.2-81.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐาน 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ) จำนวน 1 พื้นที่ คือ เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 81.7 มคก./ลบ.ม.

และเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 69 พื้นที่ คือ
1.เขตคลองสามวา ภายในสำนักงานเขตคลองสามวา : มีค่าเท่ากับ 72.8 มคก./ลบ.ม.
2.เขตประเวศ ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน สแควร์ : มีค่าเท่ากับ 72.8 มคก./ลบ.ม.
3.เขตจตุจักร บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : มีค่าเท่ากับ 71.7 มคก./ลบ.ม.
4.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 70.1 มคก./ลบ.ม.
5.เขตภาษีเจริญ หน้ามหาวิทยาลัยสยาม(ประมาณซอยเพชรเกษม 36) ทางเข้ามหาวิทยาลัย : มีค่าเท่ากับ 69.8 มคก./ลบ.ม.
6.เขตบางเขน ภายในสำนักงานเขตบางเขน : มีค่าเท่ากับ 69.7 มคก./ลบ.ม.
7.เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี : มีค่าเท่ากับ 69.6 มคก./ลบ.ม.
8.เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าสถานีตำรวจรถไฟบางกอกน้อย : มีค่าเท่ากับ 69.3 มคก./ลบ.ม.
9.เขตธนบุรี ริมป้ายรถเมล์บริเวณแยกมไหศวรรย์ : มีค่าเท่ากับ 68.9 มคก./ลบ.ม.
10.เขตคันนายาว บริเวณปากทางถนนสวนสยามตัดกับถนนรามอินทรา : มีค่าเท่ากับ 67.1 มคก./ลบ.ม.
11.เขตดอนเมือง ด้านข้างสำนักงานเขตดอนเมือง : มีค่าเท่ากับ 67.1 มคก./ลบ.ม.

12.เขตหนองจอก บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก : มีค่าเท่ากับ 66.7 มคก./ลบ.ม.
13.เขตมีนบุรี สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ตรงข้ามสำนักงานเขตมีนบุรี : มีค่าเท่ากับ 66.6 มคก./ลบ.ม.
14.เขตบางกอกใหญ่ บริเวณสี่แยกท่าพระ แขวงวัดท่าพระ : มีค่าเท่ากับ 66.4 มคก./ลบ.ม.
15.สวนรมณีย์ทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง : มีค่าเท่ากับ 65.7 มคก./ลบ.ม.
16.เขตบางนา บริเวณหน้าห้าง สรรพสินค้าบิ๊กซี บางนา : มีค่าเท่ากับ 65.6 มคก./ลบ.ม.
17.เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบังข้างป้อมตำรวจ : มีค่าเท่ากับ 65.5 มคก./ลบ.ม.
18.เขตลาดพร้าว ภายในสำนักงานเขตลาดพร้าว : มีค่าเท่ากับ 64.9 มคก./ลบ.ม.
19.เขตบางซื่อ ภายในสำนักงานเขตบางซื่อ : มีค่าเท่ากับ 64.2 มคก./ลบ.ม.
20.เขตสายไหม ป้ายรถเมล์ด้านหน้าสำนักงานเขตสายไหม : มีค่าเท่ากับ 64.2 มคก./ลบ.ม.
21.เขตพญาไท หน้าแฟลตทหารบกใกล้โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ตรงข้ามกระทรวงการคลัง : มีค่าเท่ากับ 64.1 มคก./ลบ.ม.
22.เขตคลองสาน บริเวณหน้าห้องสมุดใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน : มีค่าเท่ากับ 64.1 มคก./ลบ.ม.
23.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : มีค่าเท่ากับ 63.6 มคก./ลบ.ม.
24.เขตพระโขนง ภายในสำนักงานเขตพระโขนง : มีค่าเท่ากับ 63.5 มคก./ลบ.ม.
25.เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม : มีค่าเท่ากับ 63.4 มคก./ลบ.ม.
26.สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม : มีค่าเท่ากับ 63.3 มคก./ลบ.ม.
27.เขตบางขุนเทียน ภายในสำนักงานเขตบางขุนเทียน : มีค่าเท่ากับ 63.3 มคก./ลบ.ม.
28.สวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน : มีค่าเท่ากับ 63.2 มคก./ลบ.ม.
29.สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา : มีค่าเท่ากับ 62.6 มคก./ลบ.ม.

30.เขตบางรัก ข้างป้อมตำรวจหน้าลานบางรักเลิฟลี่ พลาซ่า : มีค่าเท่ากับ 62.4 มคก./ลบ.ม.
31.สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เขตบางกอกน้อย : มีค่าเท่ากับ 62.0 มคก./ลบ.ม.
32.เขตหลักสี่ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ : มีค่าเท่ากับ 61.9 มคก./ลบ.ม.
33.เขตวังทองหลาง ด้านหน้าปั๊มน้ำมัน เอสโซ่ ซ.ลาดพร้าว 95 : มีค่าเท่ากับ 61.6 มคก./ลบ.ม.
34.เขตจอมทอง ภายในสำนักงานเขตจอมทอง : มีค่าเท่ากับ 61.1 มคก./ลบ.ม.
35.เขตราษฎร์บูรณะ ภายในสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ : มีค่าเท่ากับ 60.8 มคก./ลบ.ม.
36.เขตบางแค ภายในสำนักงานเขตบางแค : มีค่าเท่ากับ 60.7 มคก./ลบ.ม.
37.เขตสวนหลวง ด้านหน้าสำนักงานเขตสวนหลวง : มีค่าเท่ากับ 60.6 มคก./ลบ.ม.
38.เขตดุสิต ริมสวนหย่อมตรงข้ามสำนักงานเขตดุสิต : มีค่าเท่ากับ 59.9 มคก./ลบ.ม.
39.เขตยานนาวา ใกล้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ : มีค่าเท่ากับ 59.7 มคก./ลบ.ม.

40.สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง : มีค่าเท่ากับ 59.4 มคก./ลบ.ม.
41.สวนหนองจอก เขตหนองจอก : มีค่าเท่ากับ 58.9 มคก./ลบ.ม.
42.เขตสะพานสูง ภายในสำนักงานเขตสะพานสูง : มีค่าเท่ากับ 58.8 มคก./ลบ.ม.
43.เขตคลองเตย ภายในสำนักงานเขตคลองเตย : มีค่าเท่ากับ 58.6 มคก./ลบ.ม.
44.เขตสาทร สี่แยกหน้าสำนักงานเขตสาทร ซอย ถนนเซนต์หลุยส์ : มีค่าเท่ากับ 58.4 มคก./ลบ.ม.
45.เขตบางพลัด ภายในสำนักงานเขตบางพลัด : มีค่าเท่ากับ 58.3 มคก./ลบ.ม.
46.สวนพระนคร เขตลาดกระบัง : มีค่าเท่ากับ 58.1 มคก./ลบ.ม.
47.เขตดินแดง ริมถนนวิภาวดีรังสิต : มีค่าเท่ากับ 57.9 มคก./ลบ.ม.
48.สวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด : มีค่าเท่ากับ 57.7 มคก./ลบ.ม.
49.เขตห้วยขวาง ภายในสำนักงานเขตห้วยขวาง (ด้านข้างโรงเพาะชำ) ถนนประชาอุทิศ : มีค่าเท่ากับ 57.5 มคก./ลบ.ม.
50.อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย : มีค่าเท่ากับ 57.1 มคก./ลบ.ม.
51.สวนบางแคภิรมย์ เขตบางแค : มีค่าเท่ากับ 57.0 มคก./ลบ.ม.
52.สวนธนบุรีรมย์ เขตทุ่งครุ : มีค่าเท่ากับ 56.6 มคก./ลบ.ม.
53.เขตบางบอน ใกล้ตลาดบางบอน : มีค่าเท่ากับ 56.5 มคก./ลบ.ม.
54.เขตปทุมวัน หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ : มีค่าเท่ากับ 56.4 มคก./ลบ.ม.
55.เขตทุ่งครุ หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : มีค่าเท่ากับ 56.3 มคก./ลบ.ม.
56.เขตบางกะปิ ข้าง ป้อมตำรวจตรงข้ามสำนักงาน เขตบางกะปิ : มีค่าเท่ากับ 55.9 มคก./ลบ.ม.
57.เขตพระนคร ภายในสำนักงานเขตพระนคร : มีค่าเท่ากับ 55.6 มคก./ลบ.ม.
58.เขตราชเทวี ภายในสำนักงานเขตราชเทวี : มีค่าเท่ากับ 55.2 มคก./ลบ.ม.
59.เขตบางคอแหลม บริเวณป้อมตำรวจสี่แยกถนนตก : มีค่าเท่ากับ 55.1 มคก./ลบ.ม.
60.เขตวัฒนา ตรงข้าม noble Reveal(ข้าง MK gold restaurants) : มีค่าเท่ากับ 54.7 มคก./ลบ.ม.
61.สวนจตุจักร เขตจตุจักร : มีค่าเท่ากับ 54.6 มคก./ลบ.ม.
62.สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย : มีค่าเท่ากับ 54.5 มคก./ลบ.ม.
63.สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร : มีค่าเท่ากับ 54.5 มคก./ลบ.ม.
64.สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา เขตบางคอแหลม : มีค่าเท่ากับ 53.7 มคก./ลบ.ม.
65.สวนสันติภาพ เขตราชเทวี : มีค่าเท่ากับ 53.6 มคก./ลบ.ม.

66.สวนวชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร : มีค่าเท่ากับ 52.8 มคก./ลบ.ม.
67.เขตสัมพันธวงศ์ บริเวณหน้าหัวมุม ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ (วงเวียนโอเดียน) : มีค่าเท่ากับ 52.5 มคก./ลบ.ม.
68.สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ : มีค่าเท่ากับ 49.7 มคก./ลบ.ม.
69.สวนลุมพินี เขตปทุมวัน : มีค่าเท่ากับ 48.2 มคก./ลบ.ม.

ข้อแนะนำสุขภาพ:คุณภาพอากาศระดับสีแดง: มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ประชาชนทุกคน : งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ ให้เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

คุณภาพอากาศระดับสีส้ม: เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

ประชาชนทั่วไป : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร
จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา

ประชาชนกลุ่มเสี่ยง : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร

เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร : อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ 8 - 15 ม.ค. 2568 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ 'ไม่ดี-อ่อน-ดี' ขณะที่มีการเกิดอินเวอร์ชันใกล้ผิวพื้น ทำให้มลพิษทางอากาศสามารถแพร่กระจายได้อย่างจำกัด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 วัน ก่อนจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงสุดสัปดาห์ก่อนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และคาดการณ์วันนี้ อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส

จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ไม่พบจุดความร้อนที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานแจ้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มความเข้มงวดการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และขอเชิญชวนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วน โดยช่วยกันปรับเปลี่ยน พฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ '5 วิธีลดฝุ่น คุณก็ทําได้' 1. หมั่นทําความสะอาดบ้านด้วยวิธีเช็ดฝุ่น 2. งดเผาขยะ งดจุดธูป 3. ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษดักจับฝุ่นละออง 4. เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และ 5. ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ตรวจสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดํา เกินมาตรฐาน

สอน. หวังทุบสถิติรับอ้อยสด 90% สูงสุดในประวัติศาสตร์ ชี้!! หาก รง.น้ำตาล งดรับอ้อยเผาจะช่วยคุมฝุ่น PM 2.5 ถาวร

(13 ม.ค. 68) นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ลอน.) เปิดเผยสถิติการรับอ้อยเผารายวันของโรงงานน้ำตาล 58 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 11 มกราคม 2568 พบว่า โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ให้ ความร่วมมือในการรับอ้อยเผาน้อยกว่า 10% จำนวน 22 แห่ง โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาเกิน 10-25% จำนวน 32 แห่ง และยังมีโรงงานน้ำตาลที่ไม่ให้ความร่วมมือ ที่ยังคงรับอ้อยเผาเกิน 25% จำนวน 4 แห่ง เฉลี่ยการรับอ้อยเผารายวันทั่วประเทศ คิดเป็น 14.89% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

โดยภาพรวมเฉลี่ยโรงงานน้ำตาลรับอ้อยเผาสะสมตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงปัจจุบันคิดเป็น 19.57% ซึ่งสะท้อนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือร่วมกับโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศงดรับอ้อยเผาเข้าหีบในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2568 จวบจนถึงวันเด็กแห่งชาตินี้ มีประสิทธิผลและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยตัวเลขสถิติรับอ้อยเผาเข้าหีบในปัจจุบันที่ลดต่ำลงกว่า 20% ส่งผลให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index หรือ AQI) ในหลายพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ 

นายใบน้อยฯ กล่าวว่า แม้ว่าปริมาณการรับอ้อยเผาเข้าหีบจะลดลงทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ยังพบว่า มีโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียงที่ไม่ให้ความร่วมมือ และยังคงมีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงเกิน 25% มาตั้งแต่วันเปิดหีบ ทำให้คุณภาพอากาศโดยรวมยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สอน. จึงย้ำมายังผู้บริหารและเจ้าของโรงงานน้ำตาลใน จ.อุดรธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจัง เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชนให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงภาคการผลิตภายในประเทศให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงักจากสภาวะฝุ่นพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน

นายใบน้อยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของ สอน. พบว่า ถ้าโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบได้กว่า 90% หรือสามารถลดการรับอ้อยเผาเฉลี่ยทั่วประเทศให้ไม่เกิน 10% ของปริมาณการรับอ้อยเข้าหีบทั้งหมดตลอดฤดูการผลิต 2567/68 จะทำให้สามารถลดการเผาอ้อยจากฤดูกาลผลิตที่แล้วลงได้กว่า 22 ล้านตัน หรือเทียบเท่าลดการเผาป่ากว่า 2.2 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังลดการปลดปล่อย PM2.5 ได้อีกกว่า 5,500 ตัน เมื่อเทียบปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพอากาศทั่วประเทศดีขึ้นเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในฤดูการผลิตปี 2567/68 หากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการรับอ้อยเผาเข้าหีบให้ไม่เกิน 10% ซึ่งเทียบเท่ากับการเผาไร่อ้อยไม่เกิน 10,000 ไร่ต่อวัน จะส่งผลให้ค่า AQI ของอากาศในภาคกลางภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกรุงเทพมหานคร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ไม่ส่งกระทบกับสุขภาพคนไทย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วงฤดูหีบอ้อย 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปีได้อย่างแท้จริง และจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์ อย่างที่ควรจะเป็น

“พวกเรา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะร่วมกัน คืน “ฟ้าใส ไร้ฝุ่น PM 2.5” ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ ยกระดับศักยภาพการผลิตสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับกติกาสากล ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ได้อย่างยั่งยืน” นายใบน้อยฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘ดร.เอ้’ โพสต์เฟซ!! เสนอแนะ วิธีปราบฝุ่นพิษ PM2.5 ย้ำ!! เคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ‘ขอเสนออีกครั้ง’

(25 ม.ค. 68) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก …

ฝุ่น PM2.5 วิกฤตเเล้ว! ผมเคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ขอเสนออีกครั้ง...

‘การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ 6 ข้อ’  ให้มลพิษ PM2.5 ลดลง คือ

1.ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ข้อมูลและอันตรายของ PM2.5 
วันนี้เราสามารถเช็กค่าฝุ่นเบื้องต้นเพื่อทราบข้อมูล จากแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อตรวจเช็กค่าฝุ่นจากจุดใกล้ตัว ว่าค่าฝุ่นที่แสดงมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรา ทราบค่าฝุ่นได้แม่นยำมากขึ้น ก็ต้องมาจาก ‘จำนวนจุดวัดคุณภาพอากาศ ที่มากเพียงพอ’ ซึ่งควรมีอย่างน้อย ‘2000 จุดทั่วกรุงเทพ’ เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบค่าได้อย่างแม่นยำ และต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องเเนะนำให้ประชาชน ‘ป้องกัน’ ตัวเองด้วยหน้ากากอย่างจริงจัง  ในปัจจุบันหน้าการที่ป้องกันโควิดบางแบบสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้บ้างถึงแม้จะไม่ดีเท่า N95 โดยเมื่อเรารู้ว่าตัวเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ใส่หน้าเพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย  โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ ประมาทไม่ได้เลย ฝุ่น PM2.5 อันตรายถึงชีวิต แต่ที่เห็น เรายังไม่สนใจที่จะป้องกันตัวเอง และคนที่เรารักเท่าที่ควร

2.กำจัดฝุ่นที่ ‘ต้นกำเนิด’ อย่างจริงจัง 
วันนี้เรายังเห็นรถเมล์เก่า รถบรรทุกควันดำ วิ่งเต็มกรุงเทพ อยู่ทุกวัน จริงไหมครับ แสดงว่า เราไม่เคยจริงจังกับเรื่องฝุ่นพิษเลย รถควันดำ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ จะต้องไม่มีในกรุงเทพอีกต่อไป ไม่ใช่ปล่อย PM2.5 ตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ อากาศจะดีขึ้น ไม่มีทาง ‘รถบรรทุกควันดำ’ เป็นส่วนใหญ่ วิ่งเข้าออก ‘ไซต์งานก่อสร้าง’ ทุกวัน วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเที่ยว  กทม.มีข้อบัญญัติความปลอดภัย ความสะอาด และป้องกันสิ่งแวดล้อมในมือ จัดการได้ทันที ถึงระงับใบอนุญาตก่อสร้างได้ เป็นการแก้ปัญหาถึง ‘ต้นตอ’

3.กฎหมายต้อง ‘เข้มแข็ง จัดการผู้กระทำความผิด’
แน่นอนครับการปลูกฝังจิตสำนึกเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เเต่การใช้กฎหมาย ปรับให้เหมาะสมและต้องบังคับให้ใช้จริงเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้เรากำลังจะมี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล กฎหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ กฎหมายอากาศสะอาดจะใช้มาตรการ 'ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม' กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ กฎหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งหมดนี้ ผู้มีอำนาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในต่างประเทศที่เคยประสบวิกฤตฝุ่นพิษ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เขาใช้ กฎหมายอากาศสะอาด เป็นเครื่องมือที่ได้ผลที่สุด ในการต่อสู้กับมลพิษ เเละเขาจริงจังเเละเข้มงวด ใครทำผิดเขาจัดการทันที เเต่ประเทศไทยยังไม่เข้มงวดมากพอ

4.ใช้เทคโนโลยี ‘มีดาวเทียม รู้ทันที ใครเผา’
เทคโนโลยีดาวเทียม ‘ไม่โกหก’ เมื่อปีก่อน ไทยเราส่ง ‘ดาวเทียมธีออส 2’ ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ เวียนมา ‘สอดส่องดู’ พื้นที่ประเทศไทย ใครเผาป่า เผ่าไร่ ตรงจุดไหน ที่แปลงใด รู้ทันที ‘ใครต้องรับผิดชอบ’ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ดูแลดาวเทียม ระบุว่าข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส 2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร ถือว่า ‘ความละเอียดสูงมาก’  ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตา จะใช้หรือไม่ ก็เท่านั้นเอง เมื่อเทคโนโลยี ‘มีแล้ว’ เราต้องใช้แก้ปัญหา ให้คุ้มค่า

5.กำหนดเขตมลพิษต่ำ ‘Bangkok Low Emission Zone’
นี่คือ 'เป้าหมาย' และ 'วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม' ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพมี 'ความหนาแน่นขึ้น' ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง

การประกาศ 'เขตมลพิษต่ำ' จะทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่น ๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้สามารถลดมลพิษจากท้องถนนได้

สำหรับกทม. ผมขอเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ 'Bangkok Low Emission Zone' นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ

ทำไมต้อง 16 เขต กรุงเทพชั้นใน?

เพราะเขตชั้นในนี้ มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก

เพราะพื้นที่นี้มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ

และเพราะพื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากว่าพื้นที่อื่น

6.กำหนด ‘เป้าหมาย’ ลดฝุ่นอย่างจริงจัง ต้องชัดเจน
ผมไม่เห็นใครออกมา 'ตั้งเป้าหมาย' เลยว่า อีกกี่เดือน กี่ปี ฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดลง ให้อากาศกรุงเทพกลับมาสะอาดพอ ให้ลูกหลานเราจะหายใจได้อย่างปลอดภัย

เมื่อบ้านเมืองไร้เป้าหมาย สุดท้ายคือ อยู่ไปวันๆ ตายผ่อนส่ง ไม่มีอนาคต จริงไหมครับ ?

เมื่อ PM2.5 คือ อันตราย ตายจริง และขอย้ำ 'ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า' หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานคนไทยเลย

ด้วยความห่วงใยมากครับ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘สกลธี’ ยก ‘ปักกิ่งโมเดล’ เป็นแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ชี้ ต้องทำทันที พร้อมมีแผนงานชัดเจน – เข้มงวด – ต่อเนื่อง

(27 ม.ค. 68) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า ปักกิ่งโมเดล 

ช่วงนี้เมื่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองใหญ่ หลายท่านอาจจะเคยได้ยินการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบ “ปักกิ่งโมเดล” แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ผมจะเล่าคร่าวๆ ให้ฟังครับว่าก่อนหน้านี้กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเคยประสบปัญหา PM 2.5 อย่างรุนแรงพอๆ กับกรุงเทพฯ ช่วงนี้ แต่ทางเมือง + รัฐบาล ได้มีแผนและเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังประมาณช่วงปี ค.ศ 2013 เชื่อไหมครับว่าใช้เวลา 4-5 ปี พอหลังปี ค.ศ . 2017 ค่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มลดลงได้ถึงประมาณ 35 % และยังเข้มงวดกวดขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เค้าไม่ได้ทำแค่ 1-2 ปีครับ ช่วงแรกที่เริ่มจะเห็นผลใช้เวลา 4-5 ปี และมีแผนระยะยาวพร้อมกวดขันและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นเค้าก็รู้เหมือนเราแหละครับว่าสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 มาจากอะไรเป็นหลัก คือ การเผา มลพิษอุตสาหกรรม การสันดาปของเครื่องยนต์เมื่อการจราจรติดขัด แต่ที่ต่างคือมีการวางแผนและบังคับใช้อย่างเข้มงวดสไตล์พี่จีนครับ 

หลายท่านที่เคยไปปักกิ่งจะทราบครับว่าปักกิ่งก็คล้ายๆ กรุงเทพฯ คือมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในเขตกรุงปักกิ่งเองและวงรอบนอก แต่ที่ยิ่งกว่าเราคือเค้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งหนักกว่าเราอีกครับ เค้าทำยังไงครับ ??? ก็ปิดเลยสิครับ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งทยอยปิดใน 4 ปี ปิดโรงงานก่อมลพิษหลายร้อยโรง โรงงานที่ยังเหลืออีกหลายพันโรงต้องปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐานไม่ปล่อยมลพิษถึงจะอยู่ได้

ยังไม่พอครับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งเพิ่มสวนสาธารณะกว่า 30 แห่ง ทำให้ปัจจุบันประชาชนปักกิ่งมีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียว 1 คน ประมาณ 17 ตร.ม. (ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ประมาณ 7 ตร.ม.) และยังคงมีแผนเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลและกรุงปักกิ่งยังได้ทยอยเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ และรถที่เป็นของหน่วยงานราชการเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด (EV) และเพิ่มโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วถึงสร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงง่ายให้ประชาชน

ส่วนเรื่องเผา สไตล์จีนเรื่องเข้มงวดไม่เป็นสองรอใครอยู่แล้วครับ มีการดำเนินการกวดขันและจับกุมอย่างเข้มงวดจริงจัง มีการตั้งตำรวจสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องนี้

ในเรื่องของการจราจร มีการใช้ทั้งการควบคุมมลพิษจากรถยนต์โดยการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า EV และผลักดันสถานีชาร์จใช้ครอบคลุมเมืองอย่างทั่วถึง รวมถึงการเน้นขนส่งทางรางและทางน้ำมากขึ้น (ซึ่งอันนี้ของเราผมงงมากเพราะผู้บริหาร กทม. ชุดปัจจุบันพยายามเลิกและผลักภาระในส่วนนี้ไปให้รัฐบาลทำแทน ) 

หรือเข้มขนาดที่ว่ากำหนดวันใช้รถเลขคู่เลขคี่ ซึ่งอันนี้บ้านเราคัดค้านกันมากแต่ถ้าถึงเวลาจำเป็นก็ต้องทำครับ นี่ยังไม่นับการเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรเป็นระบบอัจฉริยะใช้ AI ทำให้การปล่อยสัญญาณจราจรลื่นไหลไม่ตามอำเภอใจของมนุษย์ 

จะเห็นได้ว่าเมืองปักกิ่งและรัฐบาลจีนได้ใช้ทุกกระบวนท่า ในการที่จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างจริงจัง ที่สำคัญที่สุดคือเค้ามีแผนและเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง โดยใช้เวลาหลายปีถึงจะดีขึ้น แต่ของเราแค่มาแอคชั่นกันตามฤดูกาลพอฝุ่นหมดก็จบกัน 

เห็นด้วยครับว่าเรื่องฝุ่นต้องเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานทั้งท้องถิ่นและส่วนกลางต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น เช่น กทม. กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง…แต่ต้อง “ทำเลย” ครับ อย่ารอให้ถึงปีหน้า แล้วมาบ้ากันอีกที

กฟผ. ยันไม่ใช่ต้นตอก่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ย้ำ คุมเข้มปล่อยฝุ่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ - ใต้

กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญการดูแลคุณภาพอากาศ เผยควบคุมการปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้า กฟผ. ค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมร่วมมือกับชุมชนบรรเทาปัญหาลดฝุ่น ย้ำมีมาตรการลดฝุ่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ - ใต้

(30 ม.ค.68) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยรวมของประเทศสะสมเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในส่วนของการดำเนินงานของ กฟผ. ควบคุมดูแลคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้า โดยเลือกใช้เทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ควบคุมการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าให้สมบูรณ์เพื่อลดการเกิดฝุ่น โดยใช้ระบบควบคุมปริมาณการระบายก๊าซออกไซด์ไนโตรเจน (Dry Low NOx Burner) ร่วมกับการฉีดน้ำเข้าไปยังห้องเผาไหม้ (Water Injection) เพื่อควบคุมอุณหภูมิในการเผาไหม้ ลดปริมาณการเกิดออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ติดตั้งอุปกรณ์ชุดกรองฝุ่น (Inlet Air Filter System) เพื่อกรองฝุ่นที่ปนมากับอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้ และติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring System) ที่ปล่องของโรงไฟฟ้า เพื่อตรวจวัดอัตราการระบายอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของ กฟผ. ดังเช่นโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลสารน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่น โดยพบว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทุกแห่งควบคุมการปล่อยมลสารได้ดีกว่าค่าควบคุมตามที่กำหนดไว้ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนการพัฒนาโครงการ ซึ่งเป็นค่าที่เข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

อีกทั้ง กฟผ. ยังใส่ใจในเรื่องวิกฤต PM2.5 ได้ศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำรวจมลสารทางอากาศ และจำแนกแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 

ผศ.ดร.สุดจิต ครุจิต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ปรึกษาของโครงการวิจัยเผยผลวิจัยว่า ฝุ่นจากปล่องของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณฝุ่นในบรรยากาศทั่วไปของชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพระนครเหนือที่พุ่งสูงขึ้น โดยพบว่า สัดส่วนขององค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น (DNA) จากปล่องโรงไฟฟ้าพระนครเหนือแตกต่างจาก DNA ของฝุ่นในบรรยากาศในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ ผลการศึกษาการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือในรัศมี 5 กิโลเมตร พบว่าฝุ่น PM2.5 มาจากการสัญจรบนถนนสายหลักและถนนสายรองมากถึง 73.5% รองลงมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 13.4% และที่พักอาศัย 5.4% โดยเป็นฝุ่นจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.8% เท่านั้น ส่วนการปล่อยสาร NOx คิดเป็นเพียง 11% ของแหล่งกำเนิดทุกประเภท

นอกจากนี้โรงไฟฟ้า กฟผ. กำลังพิจารณาแนวทางเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นในพื้นที่ โดยการเพิ่มอุณหภูมิปากปล่องโรงไฟฟ้า (Stack Temperature) ให้สูงขึ้นในบางช่วงเวลา เพื่อช่วยระบายฝุ่นในชั้นบรรยากาศออกไปด้วย 

ในขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าและเขื่อน ของ กฟผ. ทั่วประเทศยังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่ กฟผ. อาทิ ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบ Real Time ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All กว่า 1,250 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังและสามารถวางแผน การใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงสนับสนุนภารกิจป้องกันไฟป่าและหมอกควันตามที่ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานต่าง ๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top