Thursday, 22 May 2025
ฝีดาษลิง

'อนามัยโลก' เปลี่ยนชื่อฝีดาษลิง เป็น 'เอ็มพ็อกซ์' เลี่ยงเหยียดเชื้อชาติ

(29 พ.ย. 65) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการเปลี่ยนชื่อโรคฝีดาษลิงเป็น ‘เอ็มพ็อกซ์’ (mpox) เพื่อหลีกเลี่ยงการเหมารวมและการตีตราที่เหยียดเชื้อชาติ

แถลงการณ์จากองค์การฯ ระบุว่า จะมีการใช้ชื่อ ‘โรคฝีดาษลิง’ และ ‘เอ็มพ็อกซ์’ พร้อมกันเป็นเวลาหนึ่งปี ระหว่างการทยอยยกเลิกใช้ชื่อ ‘โรคฝีดาษลิง’ โดยการดำเนินการนี้มีขึ้นหลังจากกลุ่มคนและประเทศจำนวนมากแสดงข้อกังวลในการประชุมหลายครั้ง และร้องขอให้องค์การฯ เสนอแนวทางปรับเปลี่ยนชื่อ เนื่องจากชื่อ ‘โรคฝีดาษลิง’ ได้สร้างปัญหาเหยียดเชื้อชาติ และเป็นการสร้างตราบาป หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในกว่า 100 ประเทศ 

โดยระยะเวลาการเปลี่ยนชื่อหนึ่งปีนั้น จะช่วยลดความกังวลของผู้เชี่ยวชาญกรณีผู้คนอาจเกิดความสับสน และยังมอบเวลาการแก้ไขบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ (ICD) และปรับปรุงสื่อสิ่งพิมพ์ขององค์การฯ อีกด้วย 

ทั้งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม องค์การฯ ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศนอกพื้นที่ระบาดดั้งเดิมในแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการแจ้งเตือนระดับสูงสุดขององค์การฯ

‘กรมควบคุมโรค’ เผย พัทยา-บางละมุง มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อ ‘Mpox’ พุ่ง พบส่วนใหญ่เป็นชายรักชาย เตือน!! ให้งดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

(23 ก.ย.66) โดยมีรายงานจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในปัจจุบัน พบว่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox หรือ Mpox) แล้วจำนวนหนึ่ง และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งยังพบว่ามีผู้เสียชีวิต

และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายกลุ่มชายรักชาย ที่พักอาศัยในเขตเมืองพัทยา ซึ่งให้ประวัติสัมผัสโรคจากการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนเพศชายกลุ่มชายรักชายงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือเปลี่ยนคู่นอน หรืองดมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ตนเองหรือคู่นอนมีไข้ หรือผื่น หรือตุ่มน้ำที่ปรากฏในร่างกาย เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการในระยะแพร่โรค

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดมีอาการสงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร ให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลบางละมุง หรือโรงพยาบาลเมืองพัทยา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดข้อแนะนำความรู้โรคฝีดาษวานรได้ตามลิงก์ https://ddc.moph.go.th/das/news.php?news=34402&deptcode=das 

‘สธ.’ เตือน!! พบผู้ป่วย ‘ฝีดาษลิง’ พุ่งสูงหลังสงกรานต์ พบมากในเขตกทม. ย้ำ!! ประชาชนอย่าประมาท

(29 พ.ค. 67) ‘นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ’ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนก.ค.2565 จนถึงวันที่ 20 พ.ค.2567

มีรายงานผู้ป่วยรวม 787 ราย เป็นเพศชาย 768 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ระยอง และอุดรธานี ตามลำดับ ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จนถึงเดือนพ.ค. จึงต้องเฝ้าระวัง พร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค

หากประชาชนมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือการสัมผัสใกล้ชิด แนบแน่น กอดจูบ ลูบ คลำ พูดคุยระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือเคยดูแลผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ให้สังเกตอาการตนเองเบื้องต้น

ภายหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงภายใน 21 วัน หากมีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบให้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล หรือสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจหาเชื้อได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้นจะทราบผลตรวจภายใน 1-5 วัน

ซึ่งระหว่างรอผลตรวจนั้น แนะนำให้แยกของใช้ส่วนตัว และแยกพื้นที่กับผู้ที่อยู่ร่วมบ้าน ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน ไม่ใช้จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ และของใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อ เนื่องจากสามารถติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที อย่าชะล่าใจเนื่องจากมีอาการรุนแรงได้

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า ประชาชนทุกคนไม่ควรประมาท โรคฝีดาษวานรติดได้ทุกคน หากมีพฤติกรรมเสี่ยง สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ดังนี้ 

1.หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก 

2.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู เครื่องนอน เป็นต้น 

3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร

4.ไม่คลุกคลี หรือ สัมผัส ตุ่ม หนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ ซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ปรุงสุก โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้าหรือมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เช่น หนูแกมเบียน กระรอกดิน 

5.หมั่นล้างมือบ่อยๆ

นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีกิจกรรมการรวมตัว หรือกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ที่อาจเสี่ยงติดโรคฝีดาษวานร ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันฝีดาษวานรได้ กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

‘WHO’ ประกาศยกระดับ ‘โรคฝีดาษลิง’ เป็นภาวะฉุกเฉิน พร้อมรับมือการระบาดของหลายสายพันธุ์ในหลากประเทศ

(15 ส.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคเอ็มพอกซ์ (MPOX) หรือโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศ

ทางด้าน ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ แถลงข่าวว่า เขารับทราบคำแนะนำจากคณะกรรมการฉุกเฉิน ซึ่งได้ประชุมหารือและพิจารณาแล้วว่าสถานการณ์การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์หรือโรคฝีดาษลิง ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

โดยภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ นับเป็นสัญญาณเตือนระดับสูงสุดภายใต้กฎหมายสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทุกฝ่ายจึงควรเฝ้าระวังการระบาดของโรคเอ็มพอกซ์หรือโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีแนวโน้มแพร่ระบาดภายในแอฟริกาและกระจายวงกว้างยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลขององค์การฯ พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์หรือโรคฝีดาษลิงในปี 2024 ได้สูงเกินจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปี 2023 แล้ว โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่มากกว่า 14,000 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 524 ราย

ทั้งนี้ องค์การฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกาประกาศให้การระบาดของโรคเอ็มพอกซ์หรือโรคฝีดาษลิงในเวลานี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของทวีป

ทีโดรสกล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินว่าการรับมือในตอนนี้ ไม่ได้รับมือกับการระบาดของสายพันธุ์เดียว แต่เป็นการรับมือกับการระบาดของหลายสายพันธุ์ในหลายประเทศ ซึ่งมีรูปแบบการระบาดและระดับความเสี่ยงแตกต่างกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันพุธ (14 ส.ค.) องค์การเตรียมความพร้อมและรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่า สหภาพยุโรปประกาศแผนการจัดซื้อและบริจาควัคซีนเอ็มวีเอ-บีเอ็น (MVA-BN) แก่แอฟริกา จำนวน 175,420 โดส และบาวาเรียน นอร์ดิก (Bavarian Nordic) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในเดนมาร์ก จะบริจาควัคซีนแก่องค์การฯ จำนวน 40,000 โดสด้วย

‘สวีเดน’ ผวา!! พบผู้ติดเชื้อ ‘ฝีดาษลิง’ สายพันธุ์ใหม่ 1 ราย ชี้!! อาการรุนแรงขึ้น หลังเอี่ยวการระบาดในทวีปแอฟริกา

(16 ส.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าจากกรณีที่ 'องค์การอนามัยโลก' ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิง ในพื้นที่บางส่วนของแอฟริกา กลายเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ

ล่าสุด 'องค์การอนามัยโลก' ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ใหม่ คนแรกของประเทศสวีเดน ระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับการระบาดในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ครั้งแรกว่าเชื้อโรคฝีดาษวานรแพร่ออกไปนอกทวีปแอฟริกาแล้ว

โดยทางด้าน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของสวีเดน แถลงว่า บุคคลที่ป่วยด้วยโรคฝีดาษลิงรายนี้ติดเชื้อในระหว่างที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งกำลังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวติดเชื้อไวรัส clade 1b ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้นกว่าสายพันธุ์ clade 2 ที่เคยระบาดเมื่อ 2 ปีก่อน

ขณะที่ทางด้าน ลอว์เรนซ์ กอสติน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ลอว์ ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในทวีปยุโรปอาจทำให้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว การติดเชื้อที่พบในสวีเดนอาจหมายถึงมีผู้ติดเชื้ออีกหลายสิบรายที่ยังไม่พบในยุโรป

‘จีน’ หวังสกัด ‘โรคฝีดาษลิง’ หลังยอดระบาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จ่อ ‘ซักข้อมูลสุขภาพ-ฆ่าเชื้อโรคสิ่งของ’ ผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง

(19 ส.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทางการจีนเพิ่มความพยายามป้องกันการระบาดของโรคเอ็มพอกซ์หรือโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ ขณะจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยทางด้านสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า ผู้เดินทางมาจากประเทศและภูมิภาคที่มีผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ต้องสำแดงข้อมูลสุขภาพแก่ศุลกากร หากเคยสัมผัสหรือมีอาการของโรค เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม หรือมีผื่น โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะดำเนินมาตรการทางการแพทย์ พร้อมเก็บตัวอย่างและตรวจโรคเอ็มพอกซ์กับบุคคลดังกล่าว

ด้านยานพาหนะ ตู้คอนเทนเนอร์ สินค้า และสิ่งของอื่น ๆ จากประเทศและภูมิภาคที่มีผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์จะถูกทำการฆ่าเชื้อโรค หากปนเปื้อนหรือมีความเสี่ยงปนเปื้อน

ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. และมีระยะเวลา 6 เดือน

สำนักบริหารการควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระตุ้นเตือนหน่วยงานระดับท้องถิ่นเสริมสร้างความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูลกับศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหาและจัดการกับผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์อย่างทันท่วงที

อนึ่ง ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีนระบุว่า เชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์มักแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดทางกายภาพ โดยเฉพาะระหว่างทำกิจกรรมทางเพศ ขณะการสัมผัสในชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงน้อยกว่า โดยหลี่ต้งเจิง ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลปักกิ่ง โย่วอัน เผยว่าผู้ที่เคยสัมผัสกับเชื้อไวรัสเอ็มพอกซ์หรือมีอาการควรพบแพทย์ทันที

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคเอ็มพอกซ์เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) พร้อมยกระดับการเตือนภัยระดับโลกสู่ระดับสูงสุดเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี โดยทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ เผยว่าทุกฝ่ายควรเป็นกังวลเพราะมีความเสี่ยงระบาดเพิ่มเติมในแอฟริกาและที่อื่น ๆ

'WHO' ชี้!! การระบาด 'ฝีดาษลิง' ไม่รุนแรงแบบ 'โควิด-19' เหตุ!! เจ้าหน้าที่รู้วิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

(21 ส.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ด่วนยืนยันว่า 'ไวรัสฝีดาษลิง' หรือ 'Mpox' นั้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รู้วิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

องค์การอนามัยโลก กล่าวต่ออีกว่า ทุกฝ่ายจะเลือกวางระบบเพื่อควบคุมและกำจัดโรคฝีดาษลิงทั่วโลก หรือโลกจะเข้าสู่วัฏจักรแห่งความตื่นตระหนกอีกครั้ง วิธีการตอบสนองในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับยุโรปและทั้งโลก

โรคฝีดาษวานรเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดแผลเป็นหนอง และมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการไม่รุนแรง แต่สามารถเสียชีวิตได้ การระบาดของไวรัสฝีดาษลิง สายพันธุ์ เคลด1บี ทำให้เกิดความกังวลทั่วโลก เนื่องจากแพร่ระบาดได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสใกล้ชิดตามปกติ ซึ่งผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ ได้รับการยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสวีเดน และเชื่อมโยงกับการระบาดที่เพิ่มมากขึ้นในแอฟริกา ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของการระบาดนอกทวีปแอฟริกา

โรคฝีดาษลิงติดต่อกันผ่านการสัมผัสทางกายภาพใกล้ชิด รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ แต่ต่างจากโรคระบาดทั่วโลกครั้งก่อน ๆ อย่างเช่นโควิด-19 ที่ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ง่าย

ขณะนี้มีรายงานว่า มีผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ เคลด 2 รายใหม่ประมาณ 100 รายในยุโรปเป็นประจำทุกเดือน และชี้ว่า การมุ่งเน้นไปที่สายพันธุ์ใหม่ เคลด 1 จะช่วยในการต่อสู้กับสายพันธุ์ เคลด 2 ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2565

โดยเมื่อไม่นานนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เนื่องจากโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ เคลด 1บี ระบาดอย่างรวดเร็วในแอฟริกา ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 27,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 1,100 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก่อนจะลุกลามระบาดเข้าอีกหลายประเทศ

‘หมอธีระวัฒน์’ เปิดผลสอบ 'ฝีดาษลิง' จากวุฒิสภาสหรัฐฯ พบ!! ชื่อ ‘ดร.เฟาซี’ ผู้อนุมัติงบฯ หนุนงานสร้างไวรัสใหม่

(6 ก.ย. 67) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘การสอบสวนฝีดาษลิงธรรมชาติสร้างสรรค์หรือมนุษย์ประดิษฐ์’ โดยระบุว่า

ไวรัสฝีดาษตัวใหม่ที่ทั่วโลก กำลังตื่นตระหนก จากการประกาศขององค์การอนามัยโลกประสานกับองค์กรของสหรัฐอเมริกา และพยายามจะให้มีการสะสมวัคซีนตลอดจนให้มีการใช้ทั่วโลก เป็นการเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือมีการประดิษฐ์

มีการตรวจสอบโดยกรรมาธิการ เฉพาะของวุฒิสภาสหรัฐ โดยกรรมาธิการดังกล่าวออกรายงาน 73 หน้า ในวันที่ 11 มิถุนายน 2024 เป็นการสอบสวนการทำวิจัยไวรัสฝีดาษลิง ที่มีความเสี่ยงสูงโดยทำให้มีความรุนแรงมากขึ้นและติดต่อได้ง่ายขึ้นระหว่างคนสู่คน

ขั้นตอนตัดต่อส่วนของไวรัสในกลุ่มที่สอง ไปยังกลุ่มที่หนึ่งปรากฏว่าความรุนแรงลดลง ดังนั้นเลยมีกระบวนการที่ทำโดยเอาส่วนที่หนึ่งเสียบไปยังกลุ่มที่สองจนได้ผลสำเร็จ มีความรุนแรงมากขึ้นและแพร่ได้เร็ว เกิดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สืบจนพบว่าเป็นการอนุมัติทุนในองค์กร NIH NIAID ของสหรัฐ ในปี 2015 และรายงานความสำเร็จในปี 2022 ซึ่งในขณะนั้นเอง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลของนักวิทยาศาสตร์ทั่วไปถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น และนำไปสู่การสืบสวนจนกระทั่งถึงผู้อนุมัติสนับสนุนงานสร้างไวรัสใหม่ คือ ‘ดร.เฟาซี’

และเหตุการณ์ที่คล้องจอง คือการฝึกซ้อมรับมือผู้ก่อการร้าย โดยสมมติว่ามีการใช้อาวุธชีวภาพ คือไวรัสฝีดาษลิงที่ตัดต่อพันธุกรรม ชื่อ Akhmeta ทั้งในปี 2021 และในปี 2022 โดยสร้างฉากทัศน์ เริ่มจากการปล่อยไวรัสจนกระทั่งมีการระบาดทั่วโลกและล้มตายไปหลายร้อยล้านคนและในขณะเดียวกันมีการตระเตรียมยาและวัคซีน

เหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบันที่มีการติดเชื้อฝีดาษลิงในมนุษย์ที่ง่ายขึ้น เริ่มเกิดขึ้นในปี 2021 และ 2022 และทยอยแพร่ไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินและผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top