'WHO' ชี้!! การระบาด 'ฝีดาษลิง' ไม่รุนแรงแบบ 'โควิด-19' เหตุ!! เจ้าหน้าที่รู้วิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
(21 ส.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ด่วนยืนยันว่า 'ไวรัสฝีดาษลิง' หรือ 'Mpox' นั้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รู้วิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
องค์การอนามัยโลก กล่าวต่ออีกว่า ทุกฝ่ายจะเลือกวางระบบเพื่อควบคุมและกำจัดโรคฝีดาษลิงทั่วโลก หรือโลกจะเข้าสู่วัฏจักรแห่งความตื่นตระหนกอีกครั้ง วิธีการตอบสนองในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับยุโรปและทั้งโลก
โรคฝีดาษวานรเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดแผลเป็นหนอง และมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการไม่รุนแรง แต่สามารถเสียชีวิตได้ การระบาดของไวรัสฝีดาษลิง สายพันธุ์ เคลด1บี ทำให้เกิดความกังวลทั่วโลก เนื่องจากแพร่ระบาดได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสใกล้ชิดตามปกติ ซึ่งผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ ได้รับการยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสวีเดน และเชื่อมโยงกับการระบาดที่เพิ่มมากขึ้นในแอฟริกา ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของการระบาดนอกทวีปแอฟริกา
โรคฝีดาษลิงติดต่อกันผ่านการสัมผัสทางกายภาพใกล้ชิด รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ แต่ต่างจากโรคระบาดทั่วโลกครั้งก่อน ๆ อย่างเช่นโควิด-19 ที่ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าฝีดาษลิงสามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ง่าย
ขณะนี้มีรายงานว่า มีผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ เคลด 2 รายใหม่ประมาณ 100 รายในยุโรปเป็นประจำทุกเดือน และชี้ว่า การมุ่งเน้นไปที่สายพันธุ์ใหม่ เคลด 1 จะช่วยในการต่อสู้กับสายพันธุ์ เคลด 2 ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2565
โดยเมื่อไม่นานนี้ องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เนื่องจากโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ เคลด 1บี ระบาดอย่างรวดเร็วในแอฟริกา ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วประมาณ 27,000 ราย และเสียชีวิตมากกว่า 1,100 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก่อนจะลุกลามระบาดเข้าอีกหลายประเทศ