Tuesday, 20 May 2025
ประเทศจีน

'พีระพันธุ์' ตัดริบบิ้น!! นิทรรศการ 'การศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศจีน' เชื่อมโยงเด็กไทย เก็บเกี่ยวโอกาสใหม่ๆ จากรั้วอุดมศึกษาแดนมังกร

(22 มิ.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ การศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศจีนประจำปี 2567 ณ BANGKOKTHONBURI HALL มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมีศาสตราจารย์ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง พร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษา ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เข้าร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย

สำหรับนิทรรศการ การศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศจีนประจำปี 2567 จัดขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสร้าง และยกระดับความสัมพันธ์ ในด้านการแลกเปลี่ยนและเป็นความร่วมมือ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรไทยในด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะกรรมการด้านการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Scholarship Counci -CSc) ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้ ภายในงานนิทรรศการ มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 32 แห่ง เข้าร่วมในงานอย่างคับคั่ง เช่น Tsinghua University, China University of Political Science and Law, Beihang University, Harbin Institute of Technology และ Xiamen University เป็นต้น

การจัดงานนิทรรศการ การศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศจีน ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาส ให้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้นำเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านการศึกษาในระดับนานาชาติ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับทุนการศึกษาต่างๆ ที่มีความหลากหลายสำหรับการศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านการสื่อสารในรูปแบบของการสื่อสารโดยตรง เพื่อเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนของนักวิชาการ และนักศึกษา ตลอดจนความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และราชอาณาจักรไทย บนพื้นฐานของการได้รับประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ 

‘ศูนย์ปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของจีน’ แล้วเสร็จ พร้อมปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024

(1 ก.ค.67) สำนักงานใหญ่การก่อสร้างศูนย์ปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์ไห่หนาน ซึ่งเป็นศูนย์ปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์แห่งแรกของจีน ตั้งอยู่ที่เมืองเหวินชาง มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ เปิดเผยว่าขณะนี้ศูนย์แห่งนี้สามารถรองรับภารกิจการปล่อยจรวดได้แล้ว

รายงานระบุว่าหลังจากการประเมินอย่างครอบคลุม ศูนย์ดังกล่าวผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดทั้งหมดในการเริ่มปฏิบัติการปล่อยจรวด โดยเมื่อวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) ที่ผ่านมาได้มีการจำลองซ้อมปล่อยจรวดด้วย

งานก่อสร้างศูนย์ปล่อยยานอวกาศเชิงพาณิชย์ไห่หนานเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2022 ปัจจุบันเป็นพื้นที่ปล่อยยานอวกาศแห่งแรกของจีนที่อุทิศให้กับภารกิจเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะ

โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของศูนย์ฯ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว อาทิ โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบเชื้อเพลิงและจ่ายก๊าซ สถานีไฟฟ้าย่อย และแท่นปล่อยจรวด

หยางเทียนเหลียง ประธานบริษัท ไห่หนาน อินเตอร์เนชันแนล คอมเมอร์เชียล แอโรสเปซ ลอนช์ จำกัด เผยว่าศูนย์ฯ มีกำหนดปล่อยจรวดครั้งแรกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการเชิงพาณิชย์

หยางกล่าวว่าแผนการต่อไปคือการขยายพื้นที่ปล่อยจรวดด้วยการติดตั้งแท่นปล่อยจรวดเพิ่มเติม และให้บริการปล่อยจรวดและดาวเทียมสำหรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเชิงพาณิชย์ของจีน

โดนใจชาวจีน!! ‘ร้านชาถุงกระดาษสไตล์ไทย’ ร้อนแรงในแดนมังกร ความนิยมพุ่งในหลายเมือง ขายดีเป็นพิเศษยามเข้าสู่ฤดูร้อน

(10 ก.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทย ‘วัฒนธรรมชา’ ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมมิตรภาพระหว่างประชาชนสองประเทศ โดยปัจจุบันวัฒนธรรมชาของจีนและไทยมีชีวิตชีวาผ่านการบูรณาการและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

จางกุ้ยเหวิน ได้เปิดร้านชาถุงกระดาษสไตล์ไทยในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน โดยชาถุงกระดาษสไตล์ไทยนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายเมืองของจีน และขายดีเป็นพิเศษยามเข้าสู่ฤดูร้อนที่ผู้คนอยากได้เครื่องดื่มดับกระหาย

ชาไทย ชามะนาว รวมถึงกาแฟเย็นและเมนูอื่น ๆ ในบรรจุภัณฑ์ธรรมดาเรียบง่ายอย่างถุงพลาสติกใส่น้ำแข็งที่ถูกมัดยางจนพองกลมและสวมด้วยถุงกระดาษสี่เหลี่ยมที่มีลวดลายต่าง ๆ กลายเป็น ‘จุดขาย’ ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างดีทีเดียว

อนึ่ง ร้านชาสไตล์ไทยหลายแห่งในกว่างซีใช้วัตถุดิบหลักที่นำเข้าจากไทย ซึ่งมีรสชาติเข้มข้นถูกใจผู้บริโภคเฉกเช่นเฉินย่วนย่วน ชาวเมืองหนานหนิง ที่เผยว่ามักซื้อใบชาไทยเพื่อทำชามะนาว ชานม และเครื่องดื่มอื่นๆ ด้วยตัวเอง

เมื่อไม่นานนี้ ชาตรามือ แบรนด์ชาชื่อดังของไทย ได้เปิดร้านสาขาในนครหนานหนิง ซึ่งมีผู้คนต่อแถวยาวเพื่อซื้อเครื่องดื่มหลากหลายเมนูและถ่ายรูปเช็กอิน โดยเฉินย่วนย่วนเล่าว่าชาตรามือเป็นร้านที่มักแวะซื้อเครื่องดื่มเมื่อไปเที่ยวกรุงเทพฯ รวมถึงซื้อชาซองของที่นี่กลับมาฝากครอบครัวและเพื่อนฝูง

FDI 101 เปิดอีกด้าน!! เงินลงทุนจากต่างประเทศใน 'จีน-อาเซียน' ตัวเลขสะสมจีนยังใหญ่กว่าอาเซียน 20 เท่า ส่วน ศก.ใหญ่กว่า 5 เท่า

(5 ส.ค. 67) จากเฟซบุ๊ก 'Sompob Pordi' ของ นายสมภพ พอดี นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'FDI 101' ระบุว่า...

FDI ย่อมาจาก Foreign Direct Investment ซึ่งคือ เงินลงทุนจากต่างประเทศในภาคเศรษฐกิจจริง เช่น สร้างโรงกลั่นนํ้ามัน โรงไฟฟ้า โรงงานอาหารกระป๋อง ฯลฯ

ถ้าบังเอิญไปเห็นข้อความในภาพปลากรอบ (https://www.facebook.com/share/p/Kb79wYUJj1FeA7AT/?mibextid=oFDknk) ที่ปั่นให้คนอ่านเข้าใจผิดว่า 'เศรษฐกิจจีนแย่แล้ว' ไม่มีใครสนใจหอบเงินไปลงทุนแล้ว จากตรงนี้ไปคือข้อเท็จจริงครับ

เป็นความจริงที่ ในปี 2022 กับ 2023 FDI ของอาเซียนพุ่งกระฉูดเป็น $229 bn ในขณะที่ของจีนลดลงจากที่พีคในปี 2021 ที่ $344 bn เหลือ $100+ ใน 2022 กะ 2023

แต่ถ้าเราเอาตัวเลข FDI สะสมของจีน กะ อาเซียน มาวางเทียบกัน จะตื่นตาตื่นใจเพราะ ตัวเลขของจีนใหญ่กว่าอาเซียนกว่า 20 เท่า 

ส่วนที่ว่าจะเติบโตนำจีนใน 10 ปี ผมไม่รู้จริงว่าเขาหมายถึงอะไร เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจจีนใหญ่กว่าอาเซียนเกือบ 5 เท่า คาดว่าเขาฝันไปมากกว่า

สิ่งที่ภาพปลากรอบบอกเรา ไม่ได้แปลกอะไรเพราะ...

1. ตอนนี้จีนมีทุนของตัวเองมากมหาศาลแล้ว ไม่ได้พยายามดึงเอา FDI เข้าประเทศ แถมตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเรียบ ไม่เหลืออะไรแล้ว

2. จีนถูกฝรั่งควํ่าบาตร/กีดกันทางการค้าสารพัด แล้วทุนข้ามชาติที่ไหนจะขนเงินเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานโน่นนี่อย่างในอดีต

ถ้าผมเป็นสื่อเพื่อแสวงหากำไร ผมคงหากินกับคนโง่เหมือนกันเพราะง่ายดี 

แต่คงไม่สนุกเพราะจะทำให้ผมโง่ลง ๆ ทุกวัน 5555

‘รัฐบาลจีน’ เดินหน้าโครงการดาวเทียม ‘Thousand Sails’ ตั้งเป้ายิงดาวเทียมอีก 15,000 ลูก ชิงตลาดแข่ง ‘Starlink’

เมื่อวันอังคารที่ 6 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา จีนได้ส่งดาวเทียมชุดแรก จำนวน 18 ลูก ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของ ‘Thousand Sails Constellation’ โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมระดับเมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาลจีน ที่ตั้งเป้าส่งดาวเทียมให้ได้ถึง 15,000 ลูก ครอบคลุมการให้บริการอินเทอร์เนตทั่วทุกมุมโลก

เชียนฟาน ซิงจั้ว (千帆星座) หรือโครงการดาวเทียมเรือใบพันดวง แต่เริ่มเดิมทีใช้ชื่อว่า ‘G60 Starlink’ ดูแลโดย Shanghai Spacecom Satellite Technology (SSST) บริษัท Start-up ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ ถึง 6.7 พันล้านหยวน เพื่อพัฒนาดาวเทียมอินเทอร์เนตที่ใช้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์ และ การทหาร 

หลังจากที่เพิ่งประกาศเริ่มโครงการเมื่อปี 2566 ผ่านไปเพียง 1 ปี ก็สามารถส่งดาวเทียมชุดแรก 18 ดวง โดยจรวด Long March 6A ที่ฐานปล่อยยาน Taiyuan Satellite Launch Center ที่ตั้งอยู่ในมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีนได้สำเร็จแล้วในวันนี้

สื่อ CCTV ของจีนรายงานว่า ภายในปี 2568 จีนมีเป้าหมายที่จะส่งดาวเทียมอีก 648 ดวง แล้วจะเริ่มเข้าสู่เฟสแรกของการสร้างโครงข่ายดาวเทียมสัญชาติจีน ซึ่งจะถือเป็นก้าวสำคัญในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของจีนในการมุ่งสู่ธุรกิจบรอดแบนด์เชิงพาณิชย์ที่กำลังเติบโตในระดับโลก 

จากข้อมูลล่าสุด ปี 2567 มีดาวเทียมที่ใช้งานกันอยู่ในโลกประมาณ 10,000 ดวงบนชั้นบรรยากาศ โดยผู้บริโภคทั่วไป องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และ การทหาร ซึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดผู้ให้บริการโครงข่ายอินเทอร์เนตดาวเทียมก็คือ Starlink ของ อีลอน มัสก์ ที่ครอบครองดาวเทียมมากที่สุดถึง 6,646 ดวง และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 12,000 ดวงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

ซึ่งโครงการ ‘Thousand Sails’ ของจีน มีการตั้งเป้าส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำให้ได้ถึง 15,000 ลูกเช่นกัน  ที่ไม่ใช่เพียงแค่แข่งขันกับโครงข่าย Starlink ของอีลอน มัสก์ เท่านั้น แต่เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความทะเยอทะยานในเทคโนโลยีด้านอวกาศของจีน ที่จะแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาให้ได้ในอนาคตอันใกล้

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศของจีนทะยานอย่างก้าวกระโดดในช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 จีนสามารถพัฒนาดาวเทียม BeiDou ที่ใช้สนับสนุนระบบนำทางและระบุตำแหน่งพิกัดระดับโลก ที่เทียบได้กับระบบ GPS ของรัฐบาลสหรัฐฯ

อีกทั้งความสำเร็จของโครงการฉางเอ๋อ 6 ที่สามารถลงจอดบนพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยมีชาติใดสำรวจมาก่อน และยังสามารถพายานกลับถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ พร้อมตัวอย่างหินด้านมืดของดวงจันทร์ที่เป็นประโยชน์ในงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง

และโครงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมขนาดใหญ่ ‘Thousand Sails’ เป็นการตอกย้ำให้ถึงความพร้อมของจีน ในการท้าชิงตำแหน่งมหาอำนาจด้านอวกาศ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความฝันที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่จีนจะไปได้ไกลแค่ไหนกับโครงการเทคโนโลยีอวกาศ เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยทีเดียว

Adidas เผย!! จีนยังเป็นตลาดสำคัญ 'การผลิต-การลงทุน' รับ!! ผลประกอบการที่ดีมีปัจจัยจากกลยุทธ์ 'ในจีน เพื่อจีน'

ไม่นานมานี้ บียอร์น กุลเดน ซีอีโอของอาดิดาส (Adidas) แบรนด์เครื่องแต่งกายและรองเท้ากีฬาระดับโลก ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดจีน ภายใต้กลยุทธ์ระดับโลกของอาดิดาส ซึ่งเป็นการแสดงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตในอนาคตและโอกาสการลงทุนในจีน ระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับสำนักข่าวซินหัว

“จีนถือเป็นตลาดสำคัญสำหรับบริษัท และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต” กุลเดนกล่าวเมื่อวันจันทร์ (12 ส.ค.) ระหว่างต้อนรับนักฟุตบอลเยาวชนจีน 22 คน ซึ่งมีกำหนดเข้าร่วมการฝึกซ้อมเข้มข้นนาน 3 สัปดาห์ที่สำนักงานใหญ่อาดิดาสในเมืองแฮร์ซอกเกนัวรัค และสมาคมฟุตบอลบาเยิร์น มิวนิค โดยเขาได้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของกีฬาในโลกท้าทายยุคปัจจุบัน และมองว่าโครงการแลกเปลี่ยนเหล่านี้จะช่วยสร้างสะพานเชื่อมผ่านเกมกีฬา

กุลเดนระบุว่า อาดิดาสจะลงทุนด้านกีฬาในจีนต่อไป รวมถึงย้ำบทบาทของจีนในการเป็นตลาดแห่งสำคัญ ตลอดจนฐานการผลิตและการจัดหาที่สำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ของอาดิดาส และเป็นตลาดสำคัญในแง่ยอดจำหน่ายและการผลิต

ข้อมูลของบริษัทระบุว่าอาดิดาสมีรายได้ไม่อิงตามสกุลเงิน (Currency-Neutral Revenue) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ในช่วงไตรมาสที่สองของปีงบการเงิน 2024 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดจำหน่ายในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

กุลเดนชี้ว่า ผลประกอบการที่ดีของอาดิดาสมีปัจจัยจากการให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค และย้ำความมุ่งมั่นที่อาดิดาสมีต่อกลยุทธ์ 'ในจีน เพื่อจีน' (in China, for China) โดยบริษัทยังมุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้คนในท้องถิ่น ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อรับรองความพึงพอใจของผู้บริโภค

ลูกตำรวจเฮ !! บิ๊กอิทธิ จัดทุน ป.ตรี เรียนจีนฟรี

เมื่อวันที่ (23 ส.ค. 67) พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม.ได้จัดกิจกรรมปฐมนิเทศ ลูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.พร้อมผู้ปกครอง เพื่อชี้แจงความเข้าใจและการเตรียมตัว เพื่อไปศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ประเทศจีน รวม 11 คน ที่อาคาร สตม.เมืองทองธานี

พล.ต.ท.อิทธิพลฯ เปิดเผยว่า ทุนดังกล่าว ตนได้ประสานงานกับ สมาคมครูจีน เพื่อขอโควต้า นศ.ไทย จาก มหาวิทยาลัยจี่หนาน กรุงปักกิ่ง และ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเปิดโอกาสให้ ลูกตำรวจ ในสังกัด สตม.ได้มีโอกาสได้โควตา ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่จีน 

โดยตนเห็นว่า ปัจจุบัน และในอนาคต ประเทศจีน มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาค อีกทั้งภาษาจีน เป็นภาษาที่มีคนใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น หากเด็กไทย โดยเฉพาะลูกตำรวจในสังกัด สตม.ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นระดับที่จะเข้าสู่วัยทำงาน ตนมองว่า จะสามารถให้อนาคตที่ดีแก่บรรดาลูกๆที่เข้าโครงการ ในการเข้าสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของจีนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และอาจเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมต่อการรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจจีนที่เข้ามาในไทยอย่างมีคุณภาพด้วย

นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจ ตม.ในสังกัด ในการดูแลบุตรธิดาให้มีอนาคตที่ดีต่อไป

โดยทุนดังกล่าว เป็นทุนเรียนฟรี แบ่งเป็น 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยจี่หนาน ปักกิ่ง  3 คน
โดยจะออกเดินทาง วันที่ 29 ส.ค.2567
2. มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เซียะเหมิน 8 คน 
โดยจะออกเดินทาง วันที่ 2 ก.ย.2567
ในการปฐมนิเทศครั้งนี้ พล.ต.ท.อิทธิพลฯ ได้
ให้คำแนะนำ กับลูกตำรวจ และหลังปฐมนิเทศเสร็จได้ร่วมรับประทานอาหารด้วยกันที่โครงการธารน้ำใจ สตม.

'หนุ่มสาวลาว' เมินเข้ามหาวิทยาลัย แห่เรียนภาษาจีนแทน หลัง 'นักท่องเที่ยว-การลงทุน' จากแดนมังกรพุ่งสูง

(2 ก.ย. 67) เยาวชนจำนวนมากมองว่าการเรียนภาษาจีนเป็นหนทางในการหาเงินในประเทศที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อสูงและค่าเงินที่อ่อนค่าลง ที่ส่งผลให้ชาวลาวจำนวนมากไปหางานทำในไทย การเรียนภาษาจีนกำลังได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อปักกิ่งเร่งลงทุนในประเทศยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ ทั้งสร้างเขื่อน ถนน และโรงไฟฟ้า

เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้ลงทุนในโครงการต่างๆ ในลาวรวม 17 โครงการ มูลค่า 986 ล้านดอลลาร์ ที่กำลังจะทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในไม่ช้าแทนที่ไทย กระทรวงวางแผนและการลงทุนระบุเมื่อเดือน ก.พ.

หลายคนลงเรียนภาษาจีนกลางที่สถาบันขงจื๊อ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ เนื่องจากเชื่อมโยงกับปฏิบัติการอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทะเบียนระบุว่าสถาบันขงจื๊อของมหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ ในหลวงพระบาง มีคนสมัครเรียนจนเต็ม

“เราเห็นนักท่องเที่ยวจีนในพื้นที่มากขึ้น และคนท้องถิ่นที่นี่ก็เรียนภาษาจีนกันมากขึ้นด้วย” เจ้าหน้าที่ระบุ

“มีโรงเรียนเอกชนของลาวหลายแห่งที่สอนภาษาจีน เพราะตลาดจีนกำลังขยายตัว นักท่องเที่ยวและธุรกิจของจีนเข้ามาที่เมืองและประเทศมากขึ้น” ชาวลาวคนหนึ่งที่ส่งลูกสาวไปเรียนภาษาจีนในหลวงพระบาง กล่าว

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวในนครหลวงเวียงจันทน์รายงานว่ามีนักเรียนเข้าสอบเอนทรานซ์เพียง 5,457 คนเท่านั้น แม้จะเปิดรับถึง 7,700 คนก็ตาม

ส่วนมหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ทางตอนใต้ของประเทศ ระบุว่ามีนักเรียนเข้าสอบในปีนี้เพียง 329 คน แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยมีแผนรับนักศึกษาใหม่ 1,500 คน

และแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ภาษาจีนก็กลายเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวด้วย

“ภาษาจีนเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสถานศึกษาต่างๆ กระทั่งผู้ใหญ่เองก็เรียนภาษาจีนด้วย มีการลงทุนจากจีนในประเทศของเรามากขึ้น ดังนั้นผู้คนจึงเรียนภาษาจีนกันมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาหวังว่าภาษาจีนจะช่วยให้พวกเขาได้งานและรายได้ที่ดีขึ้น” อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ระบุ

นอกจากนี้ การสมัครเข้าเรียนก็ลดลงเรื่อยๆ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีรายงานในเดือน มิ.ย.ว่า นักเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายระบุว่าพวกเขาออกจากโรงเรียนเพราะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และการขาดโอกาสในการทำงาน

จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเหล่านี้ลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงทำให้ค่าอาหารและค่าเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้ครอบครัวต่างๆ เผชิญกับความยากลำบากในการจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นหลังจากลาวกำหนดให้ปี 2567 เป็นปีท่องเที่ยวลาว เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้จากสกุลเงินต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และหลังจากปิดประเทศไป 3 ปี เนื่องจากการระบาดของโควิด

“นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมชาวลาวจำนวนมากสนใจเรียนภาษาจีน คนที่พูดภาษาจีนได้ไม่เพียงแต่สามารถทำงานเป็นมัคคุเทศก์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานในโรงแรมและในธุรกิจของจีนได้ด้วย” มัคคุเทศก์ในหลวงพระบาง กล่าว

“พูดอีกอย่างคือคนที่มีทักษะการพูดภาษาจีนมีโอกาสดีกว่าที่จะได้งานและค่าจ้างที่ดีกว่า” มัคคุเทศก์คนเดิม กล่าว

ครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของลาว กล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่าสำหรับปีการศึกษาหน้า โรงเรียนของเขาจะเปิดหลักสูตรภาษาจีนเพิ่มและชั้นเรียนหลังเลิกเรียน

ผู้อำนวยการของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในแขวงหลวงพระบางกล่าวว่าโรงเรียนของเขาต้องการครูชาวจีนจำนวนมาก ไม่ใช่ครูชาวลาวที่สามารถสอนจีนได้

'สถานทูตจีน' เผย!! บทสรุปการลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 ปีหลัง ลงทุน 7 พันล้านเหรียญ-รายได้ท่องเที่ยวเข้าไทย 3.5 แสนล้านบาท

(4 ก.ย. 67) สถานทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยถ้อยแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย มีทั้งหมด 5 ข้อ ระบุว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนไทยติดต่อกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อสัมภาษณ์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย โดยทางสถานทูตจีนได้รวบรวมประเด็นและตอบคำถามต่าง ๆ ที่น่าสนใจไว้ดังนี้...

1.นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดหลักและประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ของโลก ประเทศจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญจีนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ประมาณ 30% มานานกว่า 10 ปีติดต่อกัน

จีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมที่มีคุณภาพสูง และเปิดกว้าง เพื่อบรรลุถึงความทันสมัยอย่างครอบคลุม โลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย จีนยินดีที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับโลกด้วยการพัฒนาอย่างสันติ และเสนอโอกาสใหม่ ๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของโลกด้วยการพัฒนาแบบเปิดกว้างของตัวเอง โดยทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ

2. ท่านประเมินผลความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีนอย่างไร?

จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปรียบเหมือนเป็นญาติที่ดีที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน ประชาชนทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดดุจพี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยที่สำคัญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมากกว่า 40% เฉพาะทุเรียนเพียงรายการเดียวก็มีมูลค่า 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

กิจการต่าง ๆ ของจีนยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง จากสถิติเบื้องต้นพบว่า บริษัทจีนลงทุนในไทยมากกว่า 1,000 แห่ง โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นโครงการการลงทุน 588 โครงการ มูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานใหม่ และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก มีส่วนสนับสนุนที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย การจ้างงาน การเก็บภาษี การฝึกอบรมบุคลากร สวัสดิการสังคม และด้านอื่น ๆ

ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจีน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทยสูงถึง 11 ล้านคน ในปีนี้ทางการไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะสูงถึง 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 350,000 ล้านบาท

จีนมีความเชื่อมั่นว่า การพัฒนาของจีนจะยังประโยชน์ให้ไทย โดยจีนยังคงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความทันสมัยอย่างครอบคลุม จีนกลายเป็นตลาดหลักของโลก ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไทย-จีนมีการเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับระบบเศรษฐกิจ และการค้า เราเชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จะมีอนาคตขยายตัวมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองมากยิ่งขึ้น

3. ท่านมองความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบันอย่างไร?

การค้าระหว่างจีนและไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การขาดดุลหรือเกินดุลไม่สามารถมองอย่างง่าย ๆ ว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่น ๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่น ๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย

4. ท่านมองบทบาทของวิสาหกิจจีนในไทยต่อการพัฒนาของประเทศไทยอย่างไร?

บริษัท หัวเว่ย เป็นบริษัทไฮเทคของจีนที่เพื่อนชาวไทยคุ้นเคย เมื่อท่านเดินเข้าไปในอาคารบริษัท หัวเว่ย ในประเทศไทย จะได้เห็นข้อความสะดุดตาว่า ‘Grow in Thailand, Contribute to Thailand’ หรือ ‘เติบโตในไทย และมีส่วนช่วยเหลือประเทศไทย’ ปรากฏอยู่ในสายตา สะท้อนให้เห็นแนวความคิดร่วมกันของบริษัทจีนมากกว่า 1,000 แห่งที่มาลงทุนและตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ในอีกด้านก็เป็นความปรารถนาดีของกิจการของจีนที่ต้องการช่วยเหลือ ยกระดับการพัฒนาของไทย ตอบสนองต่อความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ว่า ‘จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’

เรามั่นใจว่าการลงทุนของวิสาหกิจจีนช่วยให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำ 5G มาใช้เชิงพาณิชย์ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ในแนวหน้าในภูมิภาค ซึ่งทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลของจีนหลายแห่ง เช่น หัวเว่ย, ZTE และ China Mobile ไทยกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์  มูลค่าผลผลิตรวมของนิคมอุตสาหกรรมระยองไทย-จีนมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 80% ของผลผลิตเหล่านั้นส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

วิสาหกิจจีนที่มาลงทุนในไทย มุ่งมั่นที่จะพัฒนาแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกับกิจการของไทย ในการสร้างห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานโดยใช้วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตในไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนากิจการของคนไทย โดยสินค้าที่ผลิตและส่งออก มีการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยมากกว่า 40% และมีการขยายสัดส่วนการใช้ปัจจัยการผลิตของไทยอย่างจริงจัง บริษัท Xinyuan Energy Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทย 459 ราย บริษัท China Resources Thailand มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 700 ราย และบริษัท SAIC Motor-CP มีซัพพลายเออร์ในไทยมากกว่า 100 ราย รวมถึงวิสาหกิจจีนในประเทศไทยยังปฏิบัติตามกฎระเบียบว่าด้วยใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด

วิสาหกิจจีนยังช่วยเพิ่มการจ้างงานและอบรมบุคลากร ไทยยังมีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยต้องจ้างพนักงานไทย 4 คน ถึงจะยื่นขอใบอนุญาตทำงานพนักงานต่างชาติได้ 1 คน บริษัทจีนที่ลงทุนในไทยทำเกินกว่ากฎระเบียบเหล่านี้มาก สัดส่วนของพนักงานคนไทยของบริษัท SAIC Motor-CP อยู่ที่ระดับ 97.5% ของบริษัท Haier Thailand คือ 94% และของบริษัท Zhongce Rubber Thailand อยู่ที่ 92% คาดว่าบริษัทจีนได้สร้างงานกว่า 300,000 ตำแหน่ง พนักงานเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีค่าจ้างที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ยังได้รับการฝึกอบรมทักษะที่ดี เป็นบุคลากรที่มีทักษะเพิ่มขึ้นอีกด้วย การอบรมเพิ่มศักยภาพเหล่านี้ยังเปิดกว้างให้คนไทย ให้สังคมไทยอีกด้วย บริษัทหัวเว่ยได้จัดตั้ง Huawei ASEAN Academy (Thailand) ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมแก่คนไทยไปแล้ว 96,200 คน

วิสาหกิจจีนในไทยมีความกระตือรือร้นกับสวัสดิการสาธารณะ ดำเนินการการกุศล และสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมไทย ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) ให้ทุนสนับสนุนการศึกษาอักษรเบรลล์ สำหรับผู้พิการทางสายตา SANY Heavy Industry (Thailand) บริจาคทุนทรัพย์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า Sinohydro (Thailand) บริจาคกองทุนป่าชายเลนให้กับกรุงเทพมหานคร และ Haier Thailand ให้การสนับสนุนทางการเงินก่อสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในท้องถิ่น วิสาหกิจจีนหลายแห่งได้รับรางวัลที่มอบโดยหน่วยงานรัฐบาลไทย เช่น รางวัลความสำเร็จด้านความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น / รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการดีเด่น และ รางวัลนายจ้างดีเด่น

จากรายงานของสื่อและคดีที่เกี่ยวข้องที่ทางตำรวจไทยสอบสวน ชาวจีนบางคนได้เข้าร่วมในธุรกิจการบริการในประเทศไทย โดยมีคนเป็นจำนวนน้อยเกี่ยวข้องกับธุรกิจสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด และบางคนได้หลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายโดย ‘ให้คนอื่นถือหุ้นแทน’ สำหรับปัญหาการละเมิดกฎหมายของท้องถิ่นที่ต้องสงสัยเหล่านี้ จีนสนับสนุนไทยในการสืบสวนและปราบปรามการกระทำเหล่านี้ตามกฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยของตลาดที่มีความเป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองประเทศได้ดำเนินการความร่วมมือที่ดีในการป้องปราบธุรกิจสีดำและสีเทามาโดยตลอด

5. ท่านมองปัญหาใหม่ที่เกิดจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร?

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประเทศต่าง ๆ ต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหาในการพัฒนาแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยอีคอมเมิร์ซช่วยลดขั้นตอนทางธุรกิจ ประหยัดต้นทุนการทำธุรกรรม และนำเสนอทางเลือกที่สะดวกมากขึ้นแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบพิเศษของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ทำให้รูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการควบคุมดูแลด้านการบริหาร คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภค 

ดังนั้น เราต้องมีมาตรการรับมือ เพื่อเพิ่มจุดแข็งและหลีกเลี่ยงจุดอ่อน แสวงหาข้อได้เปรียบ หลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ส โดยก่อนหน้านี้ไทยได้การถ่ายทอดสดอีคอมเมิร์ซเพื่อนำสินค้าไปขายให้จีน ซึ่งขายได้สำเร็จถึง 4,000 ล้านบาทภายในสองวัน และยังได้ใช้การถ่ายทอดสดทางอีคอมเมิร์ซเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งมีผู้เข้าชมมากกว่า 20 ล้านคน มียอดการทำธุรกรรมถึง 100 ล้านบาท จีนยินดีและส่งเสริมให้ไทยใช้ประโยชน์จากรูปแบบอีคอมเมิร์ซใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดจีน ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการกำกับดูแลตลาดอีคอมเมิร์ซ และร่วมกันใช้โอกาสใหม่ของยุคอินเทอร์เน็ต

'ด่านโม่ฮานจีน' รับชาวไทยกว่า 16,000 คนใน 6 เดือน อานิสงส์รถไฟความเร็วสูง 'ลาว-จีน' ช่วยกระตุ้น

เมื่อวานนี้ (5 ก.ย. 67) สำนักข่าวซีซีทีวี รายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ข้อตกลงการยกเว้นวีซ่าระหว่างประเทศไทยและจีนมีผลบังคับใช้ ด่านโม่ฮานที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของมณฑลยูนนานในจีนตอนใต้ ได้รองรับผู้โดยสารชาวไทยมากกว่า 16,000 คน ภายในระยะเวลา 6 เดือน

สถานีตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านโม่ฮาน ซึ่งเป็นด่านพรมแดนทางบกที่ใหญ่ที่สุดระหว่างจีนและลาวระบุว่า ผู้โดยสารชาวไทยที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าคิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งหมด

ในบรรดาผู้โดยสารจากประเทศที่สามที่ผ่านเข้าออกด่านแห่งนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนมากกว่า 74 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา รถไฟโดยสารข้ามพรมแดนระหว่างลาวและไทยได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าจีนสามารถโดยสารรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปยังเวียงจันทน์ในลาว และต่อรถไฟสายจีน-ลาว จากเวียงจันทน์เข้าสู่จีนได้ ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางออกจากจีนสามารถเดินทางไปยังลาว ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความสะดวกสบายดังกล่าวส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้าออกที่ด่านรถไฟโม่ฮานอย่างมีนัยสำคัญ

จากสถิติของสถานีตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านโม่ฮาน ในช่วงวันที่ 19 ก.ค. 67 ถึง 31 ส.ค. 67 ด่านรถไฟโม่ฮานได้รองรับผู้โดยสารชาวไทยขาเข้าและขาออกมากกว่า 1,400 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในจำนวนนี้ ผู้โดยสารชาวไทยที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าคิดเป็น 56 เปอร์เซ็นต์

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระบุว่า นโยบายการยกเว้นวีซ่าที่ได้รับจากจีนและประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

"ในขณะที่ตลาดการท่องเที่ยวของจีนมีความน่าสนใจมากขึ้น ประกอบกับนโยบายต่างๆ เช่น การยกเว้นวีซ่าระหว่างจีนกับไทย และนโยบายยกเว้นวีซ่าสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในลาว ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวตามเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ และเส้นทางอื่นๆ จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ" 

‘นายอวี๋ หนาน’ ไกด์นำเที่ยวของ China International Travel Service กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top