Tuesday, 21 May 2024
ปกป้องสถาบันกับTHESTATESTIMES

6 เมษายน พ.ศ. 2325 ‘ในหลวง ร.1’ เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พร้อมก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงปัจจุบัน

วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในวันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่พวกเราชาวไทยควรให้ความระลึกถึง กว่าจะมาเป็นสยามได้ในทุกวันนี้

ทั้งนี้ วันจักรี (Chakri Memorial Day) คือ วันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ ที่นับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อครั้งที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีอาณาบริเวณรวมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เป็นเมืองหลวงที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จาก ‘กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์’ เป็น ‘กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์’ ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ เมื่อปี พ.ศ. 2325 มักเรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 10 รัชกาล

จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐานเอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง
จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกชาถ ซึ่งพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปองค์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และได้พระราชทานพระนามว่า ปราสาทเทพบิดร โดยได้มีการซ่อมแซมและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาลแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า วันจักรี

นอกจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศเป็นวันหยุดราชการ แต่หากในปีใดที่วันจักรีตรงกับวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ก็ให้หยุดชดเชยได้ในวันทำการวันต่อไป

8 เมษายน พ.ศ. 2537 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘สะพานมิตรภาพไทย-ลาว’ สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก สร้างผลประโยชน์ในด้าน ‘เศรษฐกิจ-สังคม-วัฒนธรรม’ ของทั้งสองประเทศ

เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว ทรงเป็นประธานทำพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก เชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว

ทั้งนี้ ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร ทางเท้า 2 ช่องทาง และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537

นอกจากนี้ สะพานแห่งนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวอีสานและชาวลาวเรียกสะพานนี้ว่า ‘ขัวมิดตะพาบ’

7 เมษายน พ.ศ. 2562 ‘ในหลวง ร.10’ ทรงพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ “ขอให้นำความรู้ที่เรียนมา ใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเอง-ส่วนรวม”

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร เป็นวันที่ 1

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระบรมราโชวาท โดยมีความว่า “ขอให้บัณฑิต นำวิชาความรู้ที่เรียนมานั้น นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานเพื่อตนเองและส่วนรวม โดยใช้สติปัญญา ตลอดจนเมตตาธรรม และความตั้งใจที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเจริญของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนตนเองได้ต่อไป”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top