14 กันยายน พ.ศ. 2485 คนไทยร่วมใจ ‘ยืนตรงเคารพธงชาติ’ วันแรก ต้นแบบที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
“ธงชาติและเพลงชาติไทย…เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย…เราจงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ…ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย…”
นี่คือเสียงเชิญชวนให้ยืนตรง ‘เคารพธงชาติ’ ที่ฟังกันจนคุ้นหู และปฏิบัติกันจนเป็นกิจวัตร โดยเราจะยืนเคารพธงชาติเมื่อถึงเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. โดยทำติดต่อกันเป็นจริงเป็นจังมา 82 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2485) ทั้งที่ประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานาน เฉพาะธงไตรรงค์ที่ใช้เป็นธงชาติในปัจจุบันก็มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว
เหตุใดคนไทยจึงยืนเคารพธงชาติ?
ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ออกกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ แต่การยืนเคารพธงชาติก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
แต่ความสำเร็จในการยืนเคารพธงชาตินั้น เกิดจากรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายมั่น-นายคง’ ซึ่งผู้ดำเนินการทั้ง 2 คนจะสนทนากับผู้ฟังทางบ้านในประเด็นต่าง ๆ (วิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาที่สำคัญของรัฐบาลในเวลานั้น) โดยการออกอากาศวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2485 ได้เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันว่า…
“เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไปผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดัง ๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่ว ๆ กัน…
“สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสไห้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคนเปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ…
“ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ”