Friday, 18 April 2025
บุหรี่ไฟฟ้า

ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบร่วมขอบคุณและมอบดอกไม้ให้กำลังใจ รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปราบปรามผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กไทยจากพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

วันนี้ (16 สิงหาคม 2567) เวลา 13.30 น. ณ ห้องพรหมนอก ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) นำโดย นพ. วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ อดีตนายกแพทยสมาคมโลก และ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักปลัดกลาโหม,  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ตัวแทนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่และแกนนำเยาวชน Gen Z โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์และ โรงเรียนเซนต์ราฟาแอล เข้าพบ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) , พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) , พล.ต.ต.นิพนธ์  บุญเกิด ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 (ผบก.สอท.2) , พ.ต.อ.ดำรงศักดิ์ สว่างงาม รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บช.สอท. และ บก.ปคบ. เพื่อให้กำลังใจ และขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินการดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญในการตัดวงจรไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่ระบาดไปยังนักเรียน นักศึกษา เป็นการป้องกันเยาวชนและนักสูบหน้าใหม่ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวและตกเป็นทาสของบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นการช่วยลดผู้ป่วยที่จะเกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย

นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณและชื่นชม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. และคณะทำงานเป็นอย่างยิ่ง ที่ดำเนินการจับกุมการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่และมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนเกิดการรับรู้และตื่นตัวในการดำเนินการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และได้ฝากให้ทุกภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันสานพลังเพื่อปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า ตามที่ได้มีการประกาศปฏิญญาไว้ในเวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐสภา ‘คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็ก และให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ มากกว่าผลกำไรและภาษี ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ จริงจัง เคร่งครัด และไม่เรียกรับผลประโยชน์ และจะเฝ้าระวัง เปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเยาวชน และกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านองค์กร บุคคล สื่อ ให้สังคมรับรู้ อีกทั้งจะร่วมมือกันส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น   

ในโอกาสนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ได้ให้ข้อมูลกับภาคีเครือข่าย ให้ทราบถึงผลการปฏิบัติสำคัญในห้วงที่ผ่านมาว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กำหนดมาตรการปราบปราม ให้ทุกสถานีตำรวจสืบสวนจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะพื้นที่รอบโรงเรียน สถานศึกษา แหล่งท่องเที่ยว ห้างร้าน ตลาด หรือสถานที่สำคัญ และมอบหมายให้ บช.สอท. และ บก.ปคบ. สืบสวนจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์รายใหญ่ที่มีสถานที่เก็บหรือโกดังเก็บบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก หรือมีการกระทำความผิดในลักษณะเป็นเครือข่าย ขบวนการ เพื่อตัดวงจรการกระจายสินค้าไปยังร้านค้ารายย่อย โดยห้วงปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นมา สามารถจับกุมผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ได้ถึง 11 ราย แต่ละรายมีโกดัง เก็บบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ ไว้รายละหลายหมื่นชิ้น รวมทั้งมีผลการจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกจำนวนมาก รวมผลการจับกุมรายใหญ่ทั้งสิ้น 17 ราย รวมบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ รวมจำนวน 630,853 รายการ มูลค่าของกลางคิดเป็น 121,488,140  บาท   

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นความผิดตามกฎหมาย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับช่องทางการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดนั้น พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้สั่งการให้เปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านสายด่วน 1599 โดยทุกสายที่มีการร้องเรียนมา จะสั่งการให้หน่วยที่รับผิดชอบลงไปตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายทุกราย พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทุกกรณี

สสส. - มสส. จับมือสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดตราด และสื่อมวลชนภาคตะวันออก เปิดเวทีถกปัญหา บุหรี่เถื่อน บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์

ผวจ.ตราด ย้ำบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ใช้หลักศีลธรรมแก้ปัญหา ตำรวจเสนอเพิ่มบทลงโทษแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ด้านสื่อมวลชนเรียกร้องให้คณะกรรมการระดับจังหวัดทำงานอย่างจริงจัง

วันที่ 26  สิงหาคม 2567 ณ ห้องไพลิน โรงแรมเอวาด้า จ.ตราด สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดตราด จัดการประชุมโฟกัส กรุ๊ปในหัวข้อ “ปลุกพลังสื่อภาคตะวันออก แก้ปัญหา บุหรี่-แอลกอฮอล์” โดยมี นายศักดา แซ่เอียว หรือ เซีย การ์ตูนนิสต์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะทำงานกับสื่อมวลชนในส่วนกลางและภูมิภาคทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ช่วยกันสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักและรณรงค์กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปต่อปัญหาและผลกระทบจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด การพนันและการพนันออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพ เป็นที่รู้กันว่าบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์หนีภาษีมักจะลักลอบนำเข้าผ่านจังหวัดต่างๆที่มีพรมแดน ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ผ่านมามีการแถลงข่าวการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายหลายครั้งทั้งที่ จ. สระแก้ว จันทบุรีและตราดโดยเฉพาะอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด วันนี้จึงเป็นเรื่องน่าดีใจที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ให้ความสำคัญทั้งการรณรงค์และการปราบปรามบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เวทีการประชุมระดมความคิดเห็นของสื่อมวลชนจังหวัดตราดและจันทบุรีเพื่อปกป้องเด็ก เยาวชนและประชาชนครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นายณัฐพงษ์  สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมบรรยายในหัวข้อ “จังหวัดตราด : นโยบายแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ” ว่า จังหวัดตราดให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพโดยเฉพาะนักสูบ - นักดื่มแอลกอฮอล์หน้าใหม่ในสถานศึกษา รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีเครือข่ายอาสาสมัครงดเหล้าทุกตำบล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ พร้อมกับการบำบัดรักษา ส่วนผลกระทบที่เกิดจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีคนเสียชีวิต 6 คน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4 คน แม้ตัวเลขจะไม่สูงแต่คนที่เสียชีวิตกลับเป็นคนจังหวัดตราดทั้งหมด ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมาย และบุหรี่ไฟฟ้า จังหวัดมีการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง มีการรณรงค์ให้งานบุญประเพณี งานปีใหม่ งานกาชาด ปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ มีการจัดทำฐานข้อมูลร้านค้าชุมชนที่ขายเหล้า ขายบุหรี่ เพื่อเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แนวทางแก้ปัญหาคือ ผู้นำจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าผู้นำไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนก็จะดูเป็นแบบอย่าง เช่นตัวเองเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือใช้ศีลธรรมนำหน้าสินทรัพย์ ทั้งศีล 5 และมรรค 8 จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้และทำให้บ้านเมืองรุ่งเรืองได้

นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดตราด กล่าวว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศที่จังหวัดปทุมธานี มีมูลค่ากว่า 46 ล้านบาท สะท้อนปัญหาของความรุนแรง ดังนั้นทำอย่างไรที่จะสร้างความตระหนักให้ผู้ที่นำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้ากลัวที่จะขาย มีข้อสังเกตว่าทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นที่นิยมในประเทศที่เจริญแล้ว แต่กลับได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชีย ควรจะมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ส่วนบทบาทสื่อมวลชน ควรมีการรายงานข่าวเจาะลึกว่าทำไม เด็ก ป.3 ถึงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้สังคมได้รับรู้ และเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้การขายบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ขายหน้าร้านอย่างเดียว แต่ขายแบบออนไลน์กันมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีการจับกุมให้มากขึ้น แล้วทำให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ยาก

นายแพทย์ณัฐพงษ์ บุญรอด  นายแพทย์ชำนาญการสาขา อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติการหายใจ โรงพยาบาลตราด กล่าวถึงปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าว่า มีพิษภัยไม่ต่างจากบุหรี่มวน เพราะมีสารนิโคตินในประมาณเท่า ๆ กัน ผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีทั้งเรื่องของอารมณ์ การเรียน เป็นอันตรายต่อสมอง มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด มีสารก่อมะเร็ง จากข้อมูลที่พบมีเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุต่ำสุด อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากการตรวจคนไข้ พบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางสังคมมาก่อน จึงไปพึ่งพาบุหรี่ และแอลกอฮอล์ โรงพยาบาลตราดมีคลีนิกเลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์ มีคนมาขอรับบริการจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข

พ.ต.อ.มานพ ประสาท ผู้กำกับสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดตราด กล่าวถึงนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่า มีการให้กองบัญชาการ ตำรวจภูธรภาค จัดแบ่งโซนนิ่งตามความรุนแรงของสถานการณ์ของพื้นที่ที่มีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งรับผิดชอบจังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัดนั้น จังหวัดตราด ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีเหลืองร่วมกับอีก 4 จังหวัดคือ นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา ส่วนพื้นที่สีแดงถือว่าสถานการณ์รุนแรงกว่ามี 3 จังหวัดคือชลบุรีโดยเฉพาะเมืองพัทยา ระยองและจันทบุรี ซึ่งผลการ จับกุมบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 สิงหาคม 2567 มีการจับกุมร้านค้าที่กระทำความผิด 4 ครั้งในพื้นที่ สภ.เกาะช้าง 2 ครั้ง สภ.เมืองตราด 2 ครั้ง โดยแยกของกลางที่จับกุมเป็น 4 ประเภทคือ เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า 11 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 360 ชิ้น หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 799 ชิ้น และน้ำยาบุหรี่ ไฟฟ้าแบบเติม 130 ขวด

ส่วนการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายโดยหลีกเลี่ยงภาษีนั้นตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินการจับกุมจำนวน 6 ครั้ง ทั้งหมดเป็นผลการปฏิบัติหน้าที่ของสภ.บ้านท่าเลื่อน อ.เมือง จ.ตราด ที่รับผิดชอบถนนหมายเลข 3 จาก อ.คลองใหญ่ซึ่งอยู่ติดชายแดนประเทศกัมพูชามาถึง อ.เมืองตราด จำนวนบุหรี่ที่จับกุมได้ 79,760 ซอง หากนับจาก 1 ซองมี 20 มวนก็จะเป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 1,595,200 มวน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศจากการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายโดยไม่ติดอากรแสตมป์ทำให้รัฐขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษี ส่วนแนวทางแก้ไข คือจะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายให้รุนแรงขึ้น เพราะถ้าโทษเบา ผู้นำเข้าและผู้ค้าก็จะไม่เกรงกลัว และลักลอบนำเข้าและจำหน่ายมากขึ้น

นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ นายกสมาคมสื่อมวลชน จังหวัดตราดในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดตราด กล่าวว่าจุดอ่อนของคณะกรรมการฯ คือมีอำนาจทั้งการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และการบำบัดรักษา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง เห็นได้จากสถิติการจับกุมบุหรี่ต่างประเทศและบุหรี่ไฟฟ้าของจังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรี เหตุที่บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกเพราะราคาถูกกว่า มีการพัฒนารูปลักษณ์ใหม่ๆ ทั้งของเล่นเด็กหรือวัสดุ ใช้สอยของเด็ก นักเรียน ยางลบ ดินสอ ปากกา หรือตุ๊กตาซึ่งตรวจสอบได้ยากว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือเครื่องเขียน นี่คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับสังคมและลูกหลานของเรา จึงขอเสนอให้คณะกรรมการมีการประชุมมากขึ้น หรืออาจจะตั้งเป็นคณะทำงานมาทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย และขอให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมช่วยกันนำเสนอข้อมูล นโยบายการแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราดรวมทั้งความเห็นของวิทยากร กรรมการกองทุนสสส.และประธานมสส.ที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปสู่สังคมโดยผ่านสื่อหรือช่องทางของทุกคนด้วย สุดท้ายนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมกล่าวย้ำถึงบทบาทของสื่อและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในสังคมระดับท้องถิ่นจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมกันมีบทบาทเกื้อหนุนเสริมกันเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้อยู่รอดปลอดภัยจากพิษภัยของบุหรี่และแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อสุขภาพในวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์และกำลังสำคัญในการนำพาพัฒนาสังคมประเทศชาติต่อไปในอนาคต

เจ้าหน้าที่ประสานงาน    

นางสาวอรฉัตร วัณณรถ เบอร์โทรศัพท์ 085-594-4551 / 094-970-3099

หนุนบทความประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าและขอความร่วมมือเหล่าเซเลป-คนดัง อย่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อ อาจจะเกิดการเลียนแบบจาก 'เด็ก-เยาวชน'

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้เขียนกล่าวถึงลิงค์ วีดีโอรายการทีวี ที่ผู้ร่วมออกรายการท่านหนึ่ง สูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างการเสวนาพร้อมเขียนว่า “มีใครเตือนแกหน่อยดีมั้ยครับ” จึงเห็นว่า บทความนี้ดีมีประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจึงอยากนำมาเสนอเพื่อเตือนสติและขอความร่วมมือ ผู้มีที่มีอิทธิพลทางสังคมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเซเลป ดาราหรือคนดังในแวดวงต่างๆตลอดจนรายการทางสื่อหลักและสื่อออนไลน์ อยากให้มาช่วยกันจรรโลงสังคม โดยเฉพาะการไม่สูบบุหรีไฟฟ้าออกสื่อฯซึ่งเป็นตัวอย่างไม่ดี เยาวชนและอาจจะทำให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบได้ โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้

“ขอความกรุณา อย่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อเลยนะครับ”

มีสื่อมวลชนอาวุโสท่านหนึ่ง ส่งลิงก์วิดีโอรายการทีวี ที่ผู้ร่วมออกรายการท่านหนึ่ง สูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างการเสวนา พร้อมเขียนว่า “มีใครเตือนแกหน่อยดีมั้ยครับ”

ที่ผมเขียนนี่ ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปเตือนท่านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าออกสื่อนะครับ เพราะคนที่ทำอาจจะไม่ทราบเหตุผลว่า ทำไมสื่อมวลชนอาวุโสที่ส่งลิงก์มาจึงมีความ 'กังวล' ที่เห็นภาพคนที่มีชื่อเสียงสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะออกสื่อ

ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาด เข้าไปในเด็กนักเรียนเล็กลงไปถึงชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ และฝ่ายต่างๆพยายามช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ให้เด็กๆเข้าไปริลองจนเกิดการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

มีการเรียกร้องให้ผู้ปกครอง ครู คนที่มีชื่อเสียง มีตำแหน่งฐานะในสังคม ขอให้เป็นแบบอย่างที่ดีที่ไม่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ท่านที่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ก็ขอความกรุณาไม่สูบในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในที่ที่มีเด็กๆอยู่ด้วย

ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน ก็มีการรณรงค์ เรียกร้องให้แพทย์ที่ยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ขออย่าสูบให้คนเห็น “หมอหนึ่งคนที่สูบบุหรี่ มีค่าเท่ากับบิลบอร์ดโฆษณาบุหรี่ขนาดใหญ่” คำกล่าวของเซอร์ จอห์น ครอฟตัน ศาสตราจารย์โรคระบบทางเดินหายใจ สก็อตแลนด์มีหลักฐานว่าบริษัทบุหรี่ จ่ายเงินให้พระเอก นางเอกหนังฮอลลีวู้ด สูบบุหรี่ระหว่างออกงานสังคม ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อ ในหนังที่แสดง ด้วยค่าจ้างคิดเป็นเงิน 105.6 ล้านบาทตามค่าเงินในปีพ.ศ.2542

บริษัทบุหรี่ใช้ศิลปินดาราเป็น 'สื่อบุคคล' ในการโฆษณาส่งเสริมให้คนสูบบุหรี่ นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็น 'โรคติดต่อทางสังคม' (ที่แตกต่างจากโรคติดต่อจากเชื้อโรค) จากการโฆษณาส่งเสริมการขายโดยบริษัทบุหรี่ ผ่านช่องทางและรูปแบบต่าง ๆ และ 'สื่อบุคคล' 

การสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเปิดเผย จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามมีอิทธิพลสูงมาก ในการนำไปสู่การเกิดนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่เด็ก ๆ เริ่มสูบตามแบบอย่างผู้ใหญ่

ต้องขอบคุณคุณกร ทัพพะรังสี ที่คณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้มีการออกกฏกระทรวง ห้ามการแสดงที่มีการใช้ยาสูบ (ฉากสูบบุหรี่) ในวิทยุ-โทรทัศน์ เมื่อพ.ศ.2545

ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้ปรากฏในสื่อ ขณะออกสื่อสาธารณะ จึงเป็นเรื่องที่กฏหมายห้ามทำ สมควรที่จะหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุน 'ค่านิยมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า' ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดนักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ ที่เสพติดไปตลอดชีวิต

โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งยังเป็นสินค้าที่ผิดกฏหมาย ถ้าเป็นในสิงค์โปร์ เขาจะเอาผิดคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 'คุณซื้อมาจากไหน' เพื่อสาวต่อไปจับคนที่ขาย

อย่างที่ผมพูดแล้ว คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในลิงก์ที่ส่งมา อาจจะไม่รู้ถึงผลเสียที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะออกสื่อ และเมื่อรู้แล้ว ก็คงจะไม่ทำอีกนะครับ

ช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้แก่สังคม ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่สูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า ในที่สาธารณะ รวมทั้งสูบให้เห็นในสื่อ

ดีที่สุดก็คือไม่สูบอะไรเลย ตามธรรมชาติที่ 'เป็นปกติ' ของสิ่งมีชีวิต ที่ปอดมีไว้สำหรับหายใจเท่านั้น ขอย่ำ 'เท่านั้น' อะไรที่ผิดจากนี้ เป็นเรื่อง 'ผิดปกติ-ฝืนธรรมชาติ' ไม่ดีต่อสุขภาพ ครับ

การสร้างจุดสมดุลระหว่างการควบคุมและการห้าม: บทเรียนจากนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก

อังกฤษเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ทั่วโลกที่มีมาตรการควบคุมการใช้และการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบที่สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ หรือเพื่อลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ นโยบายนี้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ทำให้อัตราผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างมาก จาก 17% เหลือเพียง 11% ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม การใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นได้นำมาสู่ความกังวลในเรื่องการติดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณามาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น

รายงานของ The Times ประเทศอังกฤษเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังพิจารณานโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบตามมาโดยไม่ตั้งใจ เช่น เกิดการซื้อขายกันในตลาดมืดหรือตลาดใต้ดินเพิ่มขึ้น Caitlin Notley จากมหาวิทยาลัย East Anglia เตือนว่ามาตรการที่เข้มงวดเกินไปอาจทำให้ผู้สูบบุหรี่สับสน และไม่สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับตนเองได้ ขณะที่ Christopher Snowdon จากสถาบัน Institute for Economic Affairs ชี้ว่าการเพิ่มภาษีและการจำกัดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจนำไปสู่การค้าใต้ดินที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียก็เป็นได้

ในอีกด้านหนึ่ง การควบคุมในระดับที่สมดุลระหว่างการส่งเสริมการเลิกบุหรี่และการป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นแนวทางที่เหมาะสม อาทิ สหรัฐอเมริกาที่มีแนวทางการควบคุมแบบสมดุล โดยข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจเยาวชนแห่งชาติ (National Youth Tobacco Survey) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ปี 2024 พบว่าอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบและนิโคตินในกลุ่มนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการสูบบุหรี่แบบเดิมลดลงอย่างมากจนแทบไม่มีแล้ว ขณะที่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าลดลงกว่า 70% จากจุดสูงสุดในปี 2019 แสดงให้เห็นว่ามาตรการควบคุมที่รอบคอบสามารถลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนได้

ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งใช้นโยบายห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด ส่งผลให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายทั้งที่สามารถควบคุมได้ด้วย พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ทำให้มาตรการควบคุมที่ใช้อยู่กับบุหรี่แบบดั้งเดิมไม่สามารถใช้ได้กับบุหรี่ไฟฟ้าเลย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดภาพและข้อความเตือน การห้ามโฆษณา หรือการเก็บภาษี ซึ่งเป็นมาตรการที่ธนาคารโลก หรือ World Bank ระบุว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามกรอบยุทธศาสตร์ MPOWER นอกจากนี้ การห้ามนี้ยังทำให้เกิดตลาดมืดในประเทศ เกิดปัญหาการลักลอบซื้อขายที่ทำให้รายได้รัฐสูญหายจำนวนมากจากจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้นเกือบถึง 1 ล้านคนในปัจจุบัน

ในหลายประเทศ การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มถูกนำมาใช้เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยกตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งจากรายงานล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2022 เผยว่ารัฐบาลจีนกำลังพิจารณาการเก็บภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการกำหนดอัตราภาษีการบริโภคที่ 36% สำหรับการผลิตและนำเข้า และอัตราขายส่งที่ 11% เพื่อเพิ่มรายได้รัฐในขณะที่ยังคงควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์นี้ เช่นเดียวกับสาธารณรัฐมอลตา ประเทศที่เล็กที่สุดในสหภาพยุโรป หนังสือพิมพ์มอลตาทูเดีย์รายงานว่ารัฐบาลจะเริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้ราคาของน้ำยานิโคตินราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 1.30 ยูโรหรือ 26% และจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ยูโรจากภาษีนี้ในปีแรก ขณะที่มาเลเซียเองก็กำลังดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยมีแผนดึงภาษีบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้สนับสนุนการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน

การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสมดุลและรอบคอบ แทนที่จะห้ามโดยสิ้นเชิง จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการปกป้องเยาวชน ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการสูบบุหรี่แบบดั้งเดิม ในขณะเดียวกันยังช่วยควบคุมการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ข้อถกเถียงเรื่องภาษีบุหรี่ไฟฟ้า – คุ้มค่ากับสุขภาพของคนไทยหรือไม่?

การอนุญาตและการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยกลายเป็นประเด็นร้อนที่ยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดย 'ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ' ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้ตั้งคำถามว่า การเก็บภาษีนี้จะช่วยรัฐให้มีรายได้เพิ่มขึ้นคุ้มค่ากับปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหากเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกทดแทนได้ชี้ให้เห็นถึงข้อดีด้านสุขภาพเมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่มวนแบบดั้งเดิม การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจช่วยลดความเสี่ยงจากสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคปอดและมะเร็ง หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกควบคุมให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ภาครัฐจะสามารถดูแลให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยมากขึ้น และป้องกันการเข้ามาของสินค้าปลอมและสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพในตลาด ซึ่งมักมีส่วนประกอบที่เสี่ยงสูงกว่าและไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน

ประเด็นที่สำคัญคือ การให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ปลอดภัย เพื่อสร้างความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่มวน รวมถึงการใช้ที่เหมาะสมและวิธีป้องกันการเสพติด บุหรี่ไฟฟ้าอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่มวนได้ โดยเฉพาะหากมีการให้ความรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ควรเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของการเสพติดสารนิโคตินที่ยังคงมีอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งหากใช้อย่างไม่ถูกวิธีหรือใช้ในกลุ่มที่ไม่ควรใช้อย่างเยาวชน อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

หากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมให้ชัดเจน เช่น การจำกัดบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีกลิ่นหอมหวานหรือรสชาติเย้ายวนสำหรับเยาวชน และกำหนดมาตรฐานการผลิตและนำเข้าที่เข้มงวด การควบคุมนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น และลดโอกาสการเข้าถึงของสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพหรือสินค้าปลอมในตลาด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพ แต่ยังเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสุขภาพของคนในประเทศ

ในท้ายที่สุด การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยควรคำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยและการลดความเสี่ยงของประชาชน การยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างมีมาตรฐานและการจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสมอาจช่วยลดอันตรายจากการเผาไหม้ของบุหรี่มวน และอาจเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับรัฐในระยะยาวหากสามารถควบคุมและป้องกันการเข้าถึงในกลุ่มที่ไม่เหมาะสม เช่น เยาวชนได้  
การศึกษาจากนโยบายต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า หากประเทศไทยเลือกแนวทางการควบคุมที่เน้นคุณภาพและความปลอดภัย บุหรี่ไฟฟ้าอาจเป็นเครื่องมือในการช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่มวนแบบดั้งเดิมที่เสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งปอดและโรคหัวใจ ในขณะที่เปิดทางให้มีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างเคร่งครัด และป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างสินค้าปลอมเข้าสู่ตลาด นี่จะเป็นก้าวสำคัญสู่การลดผลกระทบทางสุขภาพของผู้สูบและเสริมสร้างสุขภาพของประชาชนในระยะยาว

ชาวเน็ตจี้ฟังเสียงผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากว่า 1 ล้านคน เอาบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นบนดินแทนการแบน

จากกรณีการเรียกร้องให้คงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าของเครือข่าย NGO ด้านสุขภาพโดยมีการยื่นรายชื่อ 5 แสนรายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย (กมธ.) คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เนื่องจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ใน กมธ. ต่างเห็นด้วยที่จะนำบุหรี่ไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาควบคุมให้ถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับ 82 ประเทศทั่วโลก นั้น
นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและ X (ทวิตเตอร์) “มนุษย์ควัน” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ “#โหวตนี้เพื่อบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ถ้าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าล่ารายชื่อกันเองได้ก็เป็นล้านเหมือนกัน! ในไทยขนาดแบนอยู่ยังใช้กันเป็นล้านคน เชื่อผม!”

โพสต์ดังกล่าวยังได้เผยแพร่ภาพโพลออนไลน์ที่จัดทำโดยเพจของสื่อออนไลน์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 14 ล้านคนเมื่อปี 2565 สอบถามความคิดเห็นของสังคมว่าถึงเวลาหรือยังที่บุหรี่ไฟฟ้าควรถูกกฎหมาย ซึ่งผู้ตอบส่วนใหญ่ (ร้อยละ 64.91) ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่บุหรี่ไฟฟ้าควรถูกกฎหมายเพื่อเป็นทางเลือก และหากบุหรี่ปกติถูกกฎหมายได้ บุหรี่ไฟฟ้าก็ควรถูกกฎหมายด้วย

พร้อมกล่าวปิดท้ายว่า “เรามันประชาชนจนๆ ตาดำๆ ไม่มีเงินจัดงานแบบเค้าหรอก แต่ก็อยากให้รู้ว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอีกเป็นล้านคนที่อยากให้ถูกกฎหมายสักที ฟังเสียงผู้ใช้บ้าง อย่าฟังความข้างเดียว”
นายสาริษฏ์ ยังได้แสดงความเห็นต่อว่าก่อนหน้านี้เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็เคยมีการยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมายเกือบ 5 หมื่นราย พร้อมผลการวิจัยและแนวทางที่ต่างประเทศควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กมธ. วิสามัญฯ เพื่อขอให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด เช่นเดียวกับ 80 กว่าประเทศทั่วโลกที่ไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า และเชื่อว่า กมธ วิสามัญนั้นมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง หลายฝ่าย แม้กระทั่ง NGO สายสุภาพ และถือว่าเป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ
 
ชาวเน็ตได้เข้ามากดถูกใจและแชร์โพสต์ดังกล่าวไปเป็นจำนวนมาก พร้อมคอมเม้นต์สนับสนุนว่า
“+1ขอใช้ สิทธิ์เลือก✅ =ถึงเวลาแล้วที่บุหรี่ไฟฟ้าควรถูกกฎหมายเพื่อเป็นทางเลือก”
“1+ เห็นด้วยกับการที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย”
“เห็นด้วยครับขอให้ถูกกฎหมายและเป็นตามหลักสากลครับ”
 
นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับเชิญจาก กมธ. ในฐานะประชาชนผู้ใช้ ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายและถูกริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์และแนวทางการควบคุมผลิตภัณฑ์แบบไม่มีควันในต่างประเทศ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่ก็ยังมีผู้ใช้ในประเทศถึงประมาณ 1ล้านคน

เชียงใหม่-สัมมนาสื่อมวลชนกรมประชาสัมพันธ์ เขต 3 และ 4 เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า

(19 ธ.ค.67) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ร่วมกับ กรมประชาสัมพันธ์ และ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) สนับสนุนโดย สสส. จัดสัมมนาสื่อมวลชนสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เขต 3 และ 4 เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า โดยมี นางปาญณิสา ไชยพรหม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวเปิดการสัมมนา ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และเพื่อเชื่อมประสานองค์กรสื่อของภาครัฐเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง  มีกลุ่มเป้าหมาย นักจัดรายการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ 4 นักจัดรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ 4 ผู้อำนวยการ ส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 และ 4

นางปาญณิสา ไชยพรหม ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า สื่อมวลชนทุกท่าน มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่  ที่จะช่วยกันปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เสพติดบุหรี่ไฟฟ้า หรือแม้แต่บุหรี่ธรรมดา เพราะสารพิษ นิโคติน ในบุหรี่ทำลายระบบประสาทและสมอง และมีสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

และปัจจุบันนี้ ได้มีการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติที่น่าเป็นห่วง เราพบกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี และยังสืบทราบมาว่ามีการนำไปขายในโรงเรียน สถานศึกษา โดยเด็กและเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง ซึ่งรูปลักษณ์ตัวการ์ตูนที่หลากหลาย สีสันสดใส มีกลิ่นหอม ราคาถูกและหาซื้อง่ายผ่านออนไลน์ เป็นสาเหตุของการเข้าถึงในเด็กและเยาวชนได้ง่าย

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญถือเป็นปัญหาในระดับประเทศ และมีข้อสั่งการ แจ้งในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2567 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางต่าง ๆ บูรณาการความร่วมมือ เพื่อกวาดล้างอย่างจริงจัง รวมทั้งให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เรื่องโทษและอันตรายอย่างรุนแรงของบุหรี่ไฟฟ้า

กรมประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์พัฒนา ศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) และภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเสพติด บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ในรูปแบบ ต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อบุคคล อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องเพื่อสร้างการรับรู้ถึง มหันตภัยพิษร้ายจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะป้องกันได้อีกทางหนึ่ง 

การจัดสัมมนาครั้งนี้ ต่อเนื่องจากการสัมมนาคณะทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูล ความรู้กับบุคลากรและสื่อมวลชนใน สังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ ในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ เพื่อเป็นกลไกสำคัญนำข้อมูลสื่อสารเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ส่งต่อถึงเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ที่จะเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนร่วมกันปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 

กมธ. วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้าเสนอ 3 แนวทางควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในไทย ย้ำต้องป้องกันเยาวชนอย่างถึงที่สุด

นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย (กมธ. วิสามัญ) พร้อมคณะ แถลงว่าการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการฯ ได้เสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมส่งรายงานดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบต่อไป
 
นายนิยมระบุว่า รายงานนี้เป็นการเสนอแนวทางที่หลากหลายให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ โดย กมธ. วิสามัญฯ ชุดนี้ได้ดำเนินงานมาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 15 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เนื่องจากต้องพิจารณาข้อมูลจำนวนมาก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาให้ข้อมูลจำนวนมาก รวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทำให้การประชุมอภิปรายในแต่ละครั้งมีความเข้มข้นและละเอียดรอบคอบ
 
รายงานดังกล่าวเสนอ 3 แนวทางหลักในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่
1. กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทผิดกฎหมาย ผ่านการแก้ไขกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือการตรากฎหมายใหม่ เพื่อห้ามการผลิต นำเข้า จำหน่าย ครอบครอง และใช้บุหรี่ไฟฟ้า
2. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products) โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจำกัดการนำเข้าและการใช้งานอย่างเข้มงวด
3. ควบคุมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนภายใต้กฎหมายเฉพาะ เพื่ออนุญาตให้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย พร้อมควบคุมผ่านมาตรการภาษีและกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560
 
ทั้งนี้  กมธ. วิสามัญฯ ย้ำว่าได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลอย่างรอบคอบรอบด้าน และทั้ง 3 แนวทางที่นำเสนอมีข้อดี-ข้อเสีย ข้อเสนอแนะ และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความสนใจจากสังคมอย่างกว้างขวาง หลายฝ่ายเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา  กมธ. วิสามัญฯ จำเป็นต้องหาแนวทางเหมาะสมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญอย่างยิ่งต้องป้องกันเด็กและเยาวชนอย่างถึงที่สุด ซึ่งขั้นตอนหลังจากสภาฯ รับทราบแล้วจะมีการส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอจากสภาฯ ต่อ

มหันตภัย...บุหรี่ไฟฟ้า #1 อย่าปล่อยให้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ถูกกฎหมาย

(17 ก.พ. 68) ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มงวดในการห้ามนำเข้าและจำหน่าย ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ซึ่งถือเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก จนมีประเทศต่าง ๆ ราว 40 ประเทศที่เดินตามมาในแนวทางนี้ แต่ทว่า ประเทศไทยกลับกำลังจะถอยหลังเข้าคลอง ด้วยมีความพยายามที่จะ “ปลดล็อก” การห้าม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อให้สามารถนำเข้า หรือจำหน่ายได้แบบไม่ผิดกฎหมาย โดยสภาผู้แทนราษฎรได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้มีการจัดทำข้อสรุปออกมาเป็น 3 แนวทาง คือ แบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนปัจจุบัน อนุญาตนำเข้าเฉพาะ HTP และยกเลิกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของ 3 แนวทางตามมาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ไว้ดังนี้ 

แนวทางที่ 1 การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย (แบนบุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด) 
ข้อดี
1. กฎหมายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันทั้ง 3 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและของโลก ที่มีการเพิ่มจำนวนประเทศที่แบนเป็น 40 ประเทศ อย่างรวดเร็ว
2. ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด และเป็นช่องทาง (gateway) นำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่น ๆ
3. สามารถป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เข้าสู่การเสพติดนิโคติน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการปกป้อง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่พบว่าประเทศที่แบนจะมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่แบน

แนวทางที่ 2 คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้น Heat not burn Tobacco Product (HTP) ข้อดี
1. HTP เป็น Electronic Nicotine Delivery Device ชนิดที่เป็น solid คือ นำใบยาสูบมาหั่นฝอย โดยจะใช้ความร้อนจากอุปกรณ์มากกว่า 300 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 600 องศาเซลเซียสเหมือนการเผาไหม้บุหรี่ทั่วไป
2. มีการเผาไหม้เป็นไอ ไม่มีเถ้า ไม่มีควัน (น้ำมันดิน) ไม่มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ใช้ใบยาสูบซึ่งให้นิโคตินธรรมชาติ
ข้อเสีย 
1. ยังคงมีนิโคติน ผลิตภัณฑ์ HTP จะต้องมีคำเตือนว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่อนุญาต ซึ่งผู้ผลิต IQOS ก็ยอมรับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้ลดความเสี่ยงเมื่อเปลี่ยนมาใช้ HTP

แนวทาง 3 ยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า
ข้อดีที่กล่าวอ้างคือ
1. ทันสมัย เทียบเคียงได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว
2. จะได้ควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย
3. จัดเก็บรายได้จากการเก็บภาษีได้เพิ่ม
4. เป็นการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกเสพ

แต่ข้อเท็จจริงของของการเปิดเสรี ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ คือ
1. ในประเทศที่เคยแบน แล้วควบคุมได้ดี เปลี่ยนมาเป็นอนุญาตให้ขายได้ เกิดการระบาดเพิ่ม 2-5 เท่า เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์
2. ในประเทศที่อนุญาตให้ขายได้ถูกกฎหมาย โดยห้ามขายในเยาวชน 18-21 ปี ยังคงระบาดหนักในเยาวชน เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

จากการสรุป 3 แนวทางของอนุกรรมาธิการฯ 
- แนวทางที่ 1 การคงกฎหมายห้ามนำเข้าและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทยลงได้ 
- แนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 ข้อดีไม่ชัดเจน แต่จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ร่วมเป็น 1 เสียง ปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมลงชื่อที่ https://shorturl.at/ADMRJ

มหันตภัย...บุหรี่ไฟฟ้า #2 ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มีสารที่เป็นพิษ ส่งผลทำให้เสพติด และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

(18 ก.พ. 68) บทความ “E-cigarettes contain hazardous substances, addictive and harmful” โดย ดร. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ได้สรุปถึงพิษภัยของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เอาไว้ดังนี้

ข้อเท็จจริง 5 ประการของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’
1. ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ไม่ปลอดภัย! ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ยังคงเป็นบุหรี่ แม้ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ไม่มีส่วนผสมของยาสูบ แต่ยังมีนิโคตินและสารเคมี สารเติมแต่ง และสารปรุงแต่งรสต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเราไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าเป็นสารเคมีชนิดใดบ้าง และเราไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า สารเคมีชนิดต่าง ๆ เหล่านั้น มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่ แต่ผู้คนจำนวนหนึ่งกลับสูดดมเข้าไป ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อาจดูไม่เป็นอันตราย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เมื่อเราใช้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เราได้สูดดมไอระเหยที่มีพิษ เป็นไอระเหยที่มีอนุภาคและสารเคมีที่เข้าสู่ทางเดินหายใจที่เล็กที่สุด และร่างกายสามารถดูดซึมเข้าไปได้ สารเคมี สารเติมแต่ง และนิโคตินนั้นล้วนแต่เป็นพิษและเป็นอันตราย ไม่เพียงแต่สำหรับผู้สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อื่นด้วย เนื่องจากพวกเขาสามารถสูดดมไอระเหยได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่มือสอง 

ตัวอย่าง : ในสหรัฐอเมริกา มีหลักฐานที่บันทึกไว้ว่าเกิดการระบาดของอาการป่วยที่ปอดและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสูบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ยืนยันกรณีการบาดเจ็บที่ปอดที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) จำนวน 2,807 กรณี และเสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว 68 ราย

2. ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มีนิโคติน นิโคตินเป็นสารหลักในบุหรี่ทั่วไปและ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ และเป็นสารที่เสพติดได้ง่าย ทำให้อยากสูบบุหรี่และทำให้มีอาการหงุดหงิดหากเพิกเฉยต่อความอยาก นิโคตินเป็นสารพิษ ซึ่งจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจวาย การบริโภคนิโคตินในเด็กและวัยรุ่นมีผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาสมองและอาจนำไปสู่ความผิดปกติของการเรียนรู้และความวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะของอุตสาหกรรม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ การได้รับนิโคตินในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ได้เช่นเดียวกัน นิโคตินยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อีกด้วย ดังนั้น นิโคตินจึงไม่เพียงแต่ทำให้เสพติดเท่านั้น แต่ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอีกด้วย และนิโคตินเป็นส่วนประกอบหลักของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’

3. ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ทำให้เสพติดได้เช่นเดียวกับบุหรี่ยาสูบแบบดั้งเดิม เนื่องจากทั้ง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ และบุหรี่ยาสูบต่างก็มีนิโคติน บุหรี่ทั้งสองชนิดจึงทำให้ผู้สูบเสพติดได้ ดังนั้น การใช้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อเลิกบุหรี่ยาสูบ จึงไม่ใช่ความคิดที่ดี เนื่องจากบุหรี่ทั้งสองชนิดมีสารเติมแต่งชนิดเดียวกัน คือ นิโคติน ผู้สูบบุหรี่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีในการรับสารที่มีพิษแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่งเท่านั้น และดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ จึงไม่ใช่ทางเลือกในการเลิกบุหรี่ยาสูบที่ปลอดภัย แคมเปญต่อต้านบุหรี่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในการโน้มน้าวให้ผู้คนเลิกบุหรี่ แต่ปัจจุบัน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มักได้รับการโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่ "ลดความเสี่ยง" "ปลอดบุหรี่" และ "เป็นที่ยอมรับในสังคม" โดยใช้ความรู้สึกในลักษณะ "เท่" ทำการตลาด แต่ความเป็นจริงแล้ว ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ไม่ได้ "เท่" แต่อย่างใด เพราะยังคงทำให้เสพติดได้ ไม่ดีต่อสุขภาพ และทำให้เกิดการสูบบุหรี่มือสอง ด้วยกลยุทธ์ส่งเสริมการขายเหล่านี้มีศักยภาพที่จะทำให้การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติอีกครั้ง และกระตุ้นให้ผู้คนใช้ผลิตภัณฑ์นิโคตินที่ทำให้เสพติดได้ในระยะยาว

4. คนรุ่นใหม่กำลังติด ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อุตสาหกรรม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ได้เปิดตัวแคมเปญการตลาดที่เข้มข้นมูลค่าหลายล้านเหรียญสหรัฐ โดยเน้นที่โซเชียลมีเดีย คอนเสิร์ต และงานกีฬาเป็นหลัก เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่หันมาสูบบุหรี่ที่อันตราย โปรดอย่าลืมว่า ยาสูบคร่าชีวิตผู้คนไป 8 ล้านคนต่อปีทั่วโลก สื่อต่าง ๆ สามารถช่วยเปิดโปงกลวิธีเหล่านี้ได้ กลวิธีที่พยายามทำให้คนเข้าใจผิด โดยเฉพาะเยาวชน และพยายามโน้มน้าวพวกเขาว่า หากต้องการ “เท่” ก็ต้องสูบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เช่นเดียวกับที่อุตสาหกรรมยาสูบทำเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน สื่อสามารถช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ได้ จากการสำรวจสุขภาพนักเรียนในโรงเรียนทั่วโลกในประเทศไทย พบว่าการใช้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในหมู่เด็กนักเรียนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จาก 3.3% ในปี 2015 เป็น 8.1% ในปี 2021 โดยเป็นในกลุ่มเด็กอายุ 13 - 15 ปี! ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เป็นภัยคุกคามต่อความพยายามควบคุมยาสูบของประเทศไทย และสามารถพลิกกลับความสำเร็จที่ได้รับจากการควบคุมยาสูบมาหลายทศวรรษ ไม่เพียงแต่เด็กที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะติดนิโคตินเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในอนาคตอีกด้วย

5. ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ต้องได้รับการควบคุม ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถูกห้ามจำหน่ายในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศไทย ในประเทศอื่นๆ บุหรี่ไฟฟ้าถูกควบคุมในฐานะสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือสินค้าประเภทอื่นๆ หรือไม่ได้รับการควบคุมเลย ในขณะเดียวกัน สังคมไทยต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการขายออนไลน์และช่องทางจำหน่ายอื่น ๆ และต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อตอกย้ำว่า มีกฎหมายอยู่จริง การผ่อนปรนไม่ได้ช่วยให้การห้าม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ไปได้ถึงไหน

องค์การอนามัยโลกสนับสนุนความพยายามของประเทศไทยในการห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อย่างแข็งขัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของประเทศไทยที่จะปกป้องประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนจากอันตรายของการใช้ยาสูบ ตลอดจนปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และองค์การอนามัยโลกยังคงมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อความพยายามของประเทศไทยในการยับยั้งการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท และปกป้องคนรุ่นปัจจุบันและอนาคตจากการใช้ยาสูบและโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ

ร่วมเป็น 1 เสียง ปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมลงชื่อที่ https://shorturl.at/ADMRJ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top