Friday, 18 April 2025
บุหรี่ไฟฟ้า

‘ผู้ปกครอง’ เฝ้าระวัง!! ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ แปลงร่างเป็น ‘Toy Pod’ ผลิตเลียนแบบ ‘ตุ๊กตา-ของเล่น-กล่องขนม’ หวั่นระบาดสู่เด็ก

(21 มี.ค. 67) ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ เปิดเผยว่า ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากบุหรี่มวน โดยใช้การตลาดการ์ตูน ปรับรูปร่างหน้าตาจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบเดิม มาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 ‘toy pod’ หรือบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา ที่ผลิตเลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ตัวการ์ตูนฮิต อาร์ตทอย ทำเหมือนกล่องขนม ขวดน้ำผลไม้ ไปจนถึงเครื่องเขียน ชนิดเลียนแบบได้เหมือนสมจริงทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด และสีสัน และมีขนาดเล็ก ซึ่ง toy pod ใช้นิโคตินปรับโครงสร้างหรือนิโคตินสังเคราะห์ทำให้สูบง่ายไม่ระคายคอ มีนิโคตินสูง 3-5% สูบได้นานถึง 8,000-15,000 พัฟฟ์

โดย toy pod จะผลิตเลียนแบบตัวการ์ตูนตุ๊กตายอดฮิต โดราเอมอน Super Mario โปเกมอน บางรุ่นเลียนแบบอาร์ตทอยชื่อดังอย่างตุ๊กตา Molly ตุ๊กตา plush หรือตัวการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์ บางรุ่นสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาเองเป็น brand character เช่น การ์ตูนโจรสลัด โดยขายสินค้าผ่านการผจญภัยของตัวการ์ตูนและเหล่าสมุน บางรุ่นทำเหมือนของเล่นเลโก้ และผลิตออกมาเป็นคอลเลคชั่นคล้ายของสะสม แต่ละชุดมี 10-12 ตัว มีชื่อเรียกแต่ละชุด มีสีแตกต่างกันเพื่อบอกรสชาติ กลิ่นหอม รสชาติผสมผสานกันทั้งผลไม้ ความเย็น และลูกกวาด เช่น รสแตงโม พีช มิ้นท์

“เป็นที่น่าตกใจที่การตลาดล่าเหยื่อเด็กนี้ประสบความสำเร็จ จากการมีข่าวว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนระดับประถม ล่าสุดพบเด็ก ป.1 (6 ขวบ) พกบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นพ่อแม่ ครูและโรงเรียน ควรต้องคอยเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเหล่านี้ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะ toy pod ออกแบบช่วงปากสูบให้กลมกลืนไปกับตัวตุ๊กตา จนอาจไม่ทราบว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า หากนำมาวางปนกันกับของเล่น อาจแยกไม่ออกว่าอันไหนคือของเล่นจริง อันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การตลาดล่าเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้จริยธรรมนี้ นอกจากจะพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าให้เย้ายวนเด็กอายุเล็กลงเรื่อยๆ ยังพัฒนาสถานที่ และส่งเสริมการขาย ในสื่อโซเชียลที่ถูกใจและตรงกับวิถีชีวิตของเด็กๆ ด้วย จากรายงานการเฝ้าระวังการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ช่วงม.ค.-ก.พ. ปี 2567 โดย น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์จำนวนมากถึง 309 บัญชีรายชื่อ 

มีการโพสต์ 605 ครั้ง ส่วนใหญ่ 66.7% เป็นผู้ขายรายเก่าที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อนปี 2567 รองมาคือ 33% เป็นผู้ขายรายใหม่ที่ลงทะเบียนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ปี 2567 โดยลักษณะการขายส่วนใหญ่ 54.4% เป็นผู้ขายย่อย 44.7 ขายส่ง/รับตัวแทนขาย และ 1% รับรีวิว ทั้งนี้ 29.1% ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) มากที่สุด รองมาคือ 26.9% เฟซบุ๊ก 17.5% อินสตาแกรม 15.2% เว็บไซต์ 7.4% ไลน์ 3.6% ติ๊กต็อก และ 0.3% ยูทูบ

“กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่นออนไลน์ เน้นโพสต์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรี แจก แถม และลดราคา จนกระทั่งเกิดการซื้อขาย ส่งถึงบ้าน มีเก็บเงินปลายทาง โดยผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่นิยมโพสต์ขายมากที่สุด คือ 89.3% pod รองมาคือ 6.3% ชุดบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมสูบ และ 4% เครื่องเปล่า โดยแนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ความชอบของคนรุ่นใหม่ เริ่มมีการรายงานพบตู้กดขายบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวต่อไปว่า น่าเป็นห่วงมากที่เด็กอาจกำลังตกเป็นเหยื่อการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ เพราะหากสมองของเด็กตั้งแต่ในครรภ์ถึงอายุ 25 ปี สะสมสารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้มาก โดยเฉพาะต่อระบบความจำ ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ชัก หัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด และยังต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องจริงจัง จับกุมผู้กระทำความผิดที่ลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เพื่อปกป้องเด็กจากการตลาดล่าเหยื่อนี้ 

“วิกฤตการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า หายนะกำลังคืบคลานทำร้ายลูกหลานไทย สังคมคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จะต้องร่วมพลังกันออกมาส่งเสียงดังๆ บอกรัฐบาล ว่า 'คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า' ร่วมกันสอดส่องดูแลหากมีสิ่งผิดกฎหมาย ช่วยกันแจ้งเบาะแส สายด่วน สคบ. 1166 และที่สำคัญผู้ปกครองและครูต้องรู้เท่าทันกลยุทธ์ล่าเหยื่อ รู้จักพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมแรงร่วมใจทั้งชาติเพื่อปกป้องลูกหลานไทยจากมหันตภัยนี้” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

กมธ.เศรษฐกิจ วุฒิสภา ‘บราซิล’ เสนอร่างกฎหมายทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ด้านเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าไทยจี้เสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองเยาวชน

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ายกกรณีบราซิลเสนอบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อปกป้องผู้บริโภค สร้างงาน และสร้างรายได้ภาษีให้แก่รัฐ หวังคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของไทยมองบราซิลเป็นตัวอย่างออกกฎหมายคุมบุหรี่ไฟฟ้าสะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) ที่มีผู้ติดตามบนเฟสบุ้คเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” กว่า 100,000 ราย กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของรัฐบาลบราซิล หลังคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจของวุฒิสภาเสนอความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนและบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้ระบุถึงข้อบังคับในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย รวมถึงฉลากบรรจุภัณฑ์ จากความเห็นของคณะกรรมาธิการ การควบคุมตลาดนั้นมีความจำเป็นเพื่อที่จะปกป้องผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและอาจก่อให้เกิดอันตราย นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างตำแหน่งงานรวมถึงรายได้ภาษีให้แก่รัฐอีกด้วย โดยร่างกฎหมายจะถูกนำส่งไปพิจารณาต่อไปในคณะกรรมาธิการความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการกิจการสังคม เพื่อทำการพิจารณาขั้นสุดท้าย ก่อนส่งให้สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) ต่อไป

“เราอยากตั้งคำถามว่า การแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปเท่ากับ กมธ. ของไทยกำลังมองว่าเด็กและเยาวชนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยการปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในตลาดใต้ดินที่ไม่มีการจำกัดอายุการเข้าถึง แทนที่จะมีกฎหมายออกมาควบคุมให้ถูกต้องตามกฎหมายและจำกัดอายุเช่นเดียวกับบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างนั้นจริงหรือ”ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากล่าว

การเคลื่อนไหวผ่านร่างกฎหมายของบราซิลนับเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและสะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากกระแสของผู้บริโภคทั่วโลกที่กำลังเบนไปทางบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านสังคมหรือสุขภาพก็ตาม ล้วนเป็นกระแสที่ต้านไม่ได้ ส่วนในไทยวันนี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเกินกว่าจะแบนต่อไปได้แล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินการหาวิธีควบคุมให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้มีปัญหาในเรื่องของมาตรฐาน ความปลอดภัยของสินค้า การเข้าถึงของเด็กและเยาวชน ข้อกำหนดในการใช้งาน หรือกระทั่งการจัดเก็บรายได้ภาษีเข้ารัฐ การดำเนินการของบราซิลนับเป็นการก้าวตามแนวทางของอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก หลังจากบราซิลเป็นหนึ่งในเพียง 30 กว่าประเทศที่ไม่ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้ามานานหลายปี

ตัวแทนเครือข่ายยังได้กล่าวเสริมว่า “ในขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังเดินหน้าประชุมและเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล เพื่อพิจารณาแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าใประเทศไทย โดยทางเครือข่ายก็คาดหวังว่า กมธ. จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ใหม่มาควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อคุ้มครอง เยาวชน ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 1 ล้านราย และผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยอีกกว่า 9.9 ล้านราย รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีกด้วย”

‘นายกฯ’ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องกวาดล้าง ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อย่างจริงจัง ชี้ ‘ผู้ลักลอบนำเข้า-จำหน่าย’ จับหมด!! หลังแพร่หลายในเยาวชน

(9 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากำลังแพร่หลายหนักมากในหมู่เด็กและเยาวชน ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ลักลอบนำเข้า ผู้จำหน่าย อย่างจริงจังและเด็ดขาด และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้ นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันออกมาตรการการป้องกัน เช่น การรณรงค์เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้า การสร้างความตระหนักรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีการตรวจตราให้เข้มงวด โดยเฉพาะสถานศึกษา รวมถึงการจำหน่ายและใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน 

'ก้าวไกล' ปัดเอี่ยวบุหรี่ไฟฟ้าติดโลโก้พรรค  แต่นโยบายหนุน-สส.แอบสูบกลางสภา

(11 เม.ย.67) กลายเป็นที่ฮือฮาขึ้นมาทันที หลังมีโลโก้พรรคสีส้มไปปรากฏบนบุหรี่ไฟฟ้าที่ทาง พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ นำมาแถลงข่าวเมื่อวาน (10 เม.ย.67)

โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สนธิกำลังกับหลายหน่วยงานกวาดล้างจับกุมบุหรี่ไฟฟ้า ใกล้สถานศึกษาใน กทม. เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ของกลางมากกว่า 12,000 ชิ้น คิดเป็นเงินมากกว่า 3.6 ล้านบาท

'รัฐมนตรีพวงเพ็ชร' ได้ย้ำให้เห็นถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีสารนิโคติน เป็นสารอันตรายทำลายสมอง ทำลายพัฒนาการของเด็กวัยรุ่น ไปจนถึงอายุ 25 ปี ส่งผลต่อการเรียนรู้ อารมณ์ และจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดยาชนิดอื่นๆ ด้วย

ขณะที่ เลขาธิการ สคบ. 'ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์' ก็บอกว่า ในการจับกุมครั้งนี้ สคบ.ใช้กฎหมายตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 แสนบาท อีกทั้งยังผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2546 คือ ห้ามนำเข้า หากฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับอีก 4 เท่าของมูลค่า

แล้วในเมื่อเป็นของผิดกฎหมายและมีอันตราย ทำไมจึงมีโลโก้ของพรรคการเมืองที่มี สส.มากที่สุดในสภา ไปปรากฏอยู่ด้วย 'รัฐมนตรีพวงเพชร' จึงบอกว่า จะให้ไปตรวจสอบดูว่า ทำไมถึงมีสัญลักษณ์ของพรรคก้าวไกล โดยอาจจะต้องย้ำพรรคการเมืองว่า ให้ตรวจสอบควบคู่ไปด้วยว่ามีการนำชื่อ สัญลักษณ์ และสีของพรรคการเมืองมาแอบอ้างในการทำสินค้าหรือไม่

โดนพาดพิงอย่างจังแบบนี้ 'สส.ลิซ่า' ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล จึงต้องรีบชี้แจงว่า พรรคก้าวไกล ไม่เคยมีการผลิตสินค้าผิดกฎหมาย และไม่เกี่ยวข้องต่อสินค้าผิดกฎหมายที่ได้ตรวจพบอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังขอให้ 'รัฐมนตรีพวงเพชร' ในฐานะรัฐมนตรีที่มีอำนาจ ตรวจสอบให้ได้ถึงต้นตอ ป้องกันปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างถึงที่สุดด้วย อย่าจบแค่จับของกลางและมาแถลงต่อสื่อมวลชน โดยไม่มีการทำงานเชิงลึกต่อ หวังว่าจะเห็นผลงานการทลายต้นตอของบุหรี่ไฟฟ้า

สรุปก็คือพรรคก้าวไกลปฏิเสธโดยสิ้นเชิงว่า ไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าติดตราพรรคก้าวไกล ที่ 'รัฐมนตรีพวงเพชร' เอามาแถลง

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองย้อนอดีตไปไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ ก็จะพบว่า 'พรรคก้าวไกล' กับ 'บุหรี่ไฟฟ้า' มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันอยู่ โดยดูจากนโยบาย 300 ข้อ ที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พ.ค.66

โดยมีข้อ 285 ที่ระบุชัดเจนว่า “อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า และจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยได้” โดยมีข้อกำหนดเช่นเดียวกับบุหรี่ เช่น จำกัดอายุผู้สูบ ห้ามสูบในที่สาธารณะ การห้ามโฆษณาและจัดโปรโมชัน และต้องมีมาตรการในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เช่น การห้ามแต่งกลิ่น และรสของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.65 'เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร' สส.พรรคก้าวไกล ผู้เป็นโต้โผรณรงค์เรื่องเหล้า-เบียร์เสรี ก็ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ เชิงตั้งคำถามว่า ทำไมกฎหมายไทยให้กัญชาถูกกฎหมาย แต่บุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมาย ว่า...“คนมาเลย์ งงว่าที่ไทยกัญชาถูกกฎหมาย แต่ vape กับบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมาย ร้องถามว่า Why? กันหมด ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไงอะครับ” 

ล่าสุด ช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ 'วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร' เมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 ก็ได้โพสต์ภาพ สส.กำลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า ที่รัฐสภา พร้อมข้อความว่า... “#ทุกคนคะ หนูเจอชาย สูบบุหรี่ไฟฟ้า ตรงป้ายห้ามสูบบุหรี่ในรัฐสภาค่ะ พบว่า เป็น สส.พรรคดัง มีชื่ออยู่ใน กมธ.งบประมาณ หนูขอเรียกร้องให้ สส.เท่าพิภพ สส.โตโต้ และ สส.ไอซ์ ช่วยแนะนำวิธีสูบไม่ให้ถูกจับได้ด้วยค่ะ”

ถัดมาอีกวัน (18 ม.ค.67) เฟซบุ๊กเพจ 'วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร' ก็ได้โพสต์ภาพ สส.กลุ่มหนึ่ง นั่งอยู่ในร้านอาหารรัฐสภา โดยบนโต๊ะมีบุหรี่ไฟฟ้าวางอยู่ข้างหน้าพร้อมระบุข้อความว่า... “#ทุกคนคะ สส.ผู้ชาย ก้าวไกล เดี้ยวนี้เขาพก ลิปสติกแล้วหรือคะ เอ...หรือว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้าคะ สงสัยต้องเรียก สส.ลักแกง มาเป็นพยานแล้วค่ะ”

พรรคก้าวไกลไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าเลยจริงหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป...

‘เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า’ ชี้อังกฤษเตรียมเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า แก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนทะลัก

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (ECST) ชี้อังกฤษเตรียมเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าและขึ้นภาษีบุหรี่ควบคู่กันตั้งแต่ตุลาคม 2569 เป็นต้นไป เพื่อนำรายได้ภาษีไปหนุนบริการสาธารณสุข และยังคงแรงจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่หันไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ด้านตัวแทนองค์กรต้านการสูบบุหรี่ ของอังกฤษ ชี้การเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นกำลังสำคัญในการหยุดการทะลักเข้ามาของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ประเทศไทยกำลังประสบอย่างหนักในช่วงนี้

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 100,000 คน เปิด เผยว่า “ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2569 เป็นต้นไป รัฐบาลอังกฤษมีแผนจะเริ่มเก็บภาษีใหม่จากบุหรี่ไฟฟ้า และเพิ่มอัตราภาษียาสูบ โดยคาดว่าภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 120 ล้านปอนด์ (ราว 5,469 ล้านบาท) ในปี 2569 ถึง 2570 และเพิ่มขึ้นเป็น 445 ล้านปอนด์ (ราว 20,282 ล้านบาท) ในปี 2571 ถึง 2572”

นอกจากนี้ Deborah Arnott หัวหน้าผู้บริหารของ Action on Smoking and Health หรือ ASH ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ได้กล่าวว่า “การเก็บภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสำคัญของหน่วยจัดเก็บรายได้และกองกำลังป้องกันชายแดนในการหยุดยั้งการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายที่ทะลักเข้าสู่ท้องตลาด เช่นเดียวกับกรณีของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่การจัดเก็บภาษีช่วยลดการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายได้ถึงร้อยละ 80 ในช่วงปี 2543 ถึง 2564 โดยสามารถปรับขึ้นภาษีจากบุหรี่มวนได้ตราบใดที่บุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีราคาถูกกว่าบุหรี่มวน เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่และเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ซึ่งนับเป็นวิธีช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่อย่างถูกกฎหมายมีอยู่ในปัจจุบัน”

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกราย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มเติมว่า “การประกาศจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่ของอังกฤษในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกฎหมายและมาตรการที่มีความชัดเจนแทนการแบน สามารถช่วยควบคุมการทะลักของบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนได้ ขณะที่เม็ดเงินภาษีมหาศาลที่จัดเก็บได้ก็จะถูกนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนได้อีก”

“นับตั้งแต่มาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าถูกบังคับใช้เมื่อราวสิบปีก่อน บุหรี่ไฟฟ้ากลับไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แต่ไปอยู่ในรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนที่ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยผ่านตลาดใต้ดิน และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะไม่กี่ปีให้หลังมานี้จากข้อมูลการส่งออกของทางการจีนพบว่ามีการส่งออกมายังไทยมากกว่า 1,500 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ามาตรการแบนนั้นไม่สามารถปิดกั้นบุหรี่ไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้ภาษีจำนวนมหาศาล รวมถึงโอกาสที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้พ้นมือเด็กและเยาวชนอีกด้วย”

“แม้การไม่สูบและไม่ใช้ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้านั้นถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ แต่ความพยายามของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการคงราคาบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกว่าบุหรี่มวน เพื่อสร้างแรงจูงใจด้านการเงินให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่มวนนั้น เป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับความจริงและความพยายามที่จะสร้างประโยชน์ด้านสาธารณสุขในภาพรวมให้แก่ประชาชนเพราะสิ่งที่อันตรายน้อยกว่า ก็ควรถูกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่า เพื่อให้มีราคาที่ถูกกว่า และจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่เลือกใช้มากกว่า” นายอาสากล่าวทิ้งท้าย
Source: ASH comment on Budget decisions on tobacco and vaping - ASH

‘สุริยะ’ รุกหนัก!! ปกป้องเด็กจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เคาะ 5 มาตรการ ชง ครม. 'ปราบปราม-คุมระบาด'

(7 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะกล่าว

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ‘การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า’ ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่น ๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุกคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษาและส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ 

“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค ‘เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย’ อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว

กมธ.วิสามัญ 'บุหรี่ไฟฟ้า' แถลงใหญ่เตรียมชง 3 ทางเลือกแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า

(13 มิ.ย.2567 รัฐสภา) นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย แถลงว่าคณะกรรมาธิการ 35 คนมาจากหลากหลายองค์กร ส่วนราชการ ภาคสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามาให้ความคิดเห็น ซึ่ง กมธ. ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและศึกษาผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเด็กและเยาวชน ด้านเศรษฐกิจและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนคำนึงสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยตลอดมา ลั่นทำเพื่อประเทศชาติ ไม่มีใบสั่ง ไม่อยู่ภายใต้การกดดันของใคร ชี้ศึกษาดูงานจีน “แหล่งผลิต” ภายในสิ้นเดือนนี้ ย้ำชัดการปกป้องเด็กและเยาวชนต้องมาก่อน

นายนิยม กล่าวว่า วันนี้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ใช้กันแพร่หลาย กมธ.จะต้องหามาตรการด้านกฎหมาย การควบคุมที่เหมาะสอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาพความเป็นจริง และบริบทของประเทศไทยเราด้วย ดังนั้นคณะ กมธ. ได้ตั้งคณะอนุ กมธ.2 คณะ คือคณะอนุ กมธ. พิจารณามาตรการด้านกฎหมาย และคณะอนุ กมธ.จัดทำรายงาน

สำหรับแนวทางการพิจารณาของกมธ. มีความเป็นอิสระตามบริบทของประเทศไทย ดังนั้น เมื่อกรรมาธิการฯมีข้อสรุปแล้วเสร็จจึงจะนำเสนอต่อสภาฯ เพื่อให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทาง สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานของคณะกมธ.จะเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศจีนระหว่างวันที่ 26-29 มิ.ย.เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อปรับแนวทางของกฎหมายให้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้าน นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย เลขานุการฯ และในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. พิจารณามาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกํากับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวว่า คณะทำงานเข้าใจในบริบทของสุขภาพและการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน แต่ปัจจุบันกฎหมายยังมีช่องโหว่การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคณะอนุฯได้ศึกษาแนวทางและได้เสนอต่อ กมธ.ชุดใหญ่ใน 3 แนวทางคือ
(1) กำหนดให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยแบ่งเป็น 2 ทางเลือกคือ (1.1) แก้กฎหมายปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงการครอบครองและผลิต เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง และ (1.2) แก้กฎหมายใหม่ในระดับพระราชบัญญัติ เพื่อกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ โดยรวมหลักการ มาตรการทุกมิติไว้ในกฎหมาย การห้ามผลิต ห้ามนำเข้า การจำหน่าย ห้ามครอบครอง ห้ามโฆษณาการสื่อสาร ต่างๆ รวมถึงห้ามการสูบด้วย
(2) กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน คือ Heated Tobacco Product หรือ Heat Not Burn Tobacco เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยแก้ไขกฎหมายให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อนเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย แก้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ แก้คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงต้องบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อควบคุมยาสูบแบบให้ความร้อน ให้เป็นยาสูบตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต เก็บภาษีได้ เข้าไปดูในมิติของการควบคุม การเข้าถึง การโฆษณา การสื่อสาร ภายใต้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
(3) กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า E-cigarettes และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน Heated Tobacco Product ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยแก้กฎหมาย แต่จะคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะนำเสนอ กมธ.ชุดใหญ่ในเร็ววันนี้

นพ.ภูมินทร์ กล่าวเสริม คณะอนุกมธ.มีข้อสังเกตเพื่อพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย คือ เพิ่มนิยามคำว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” “น้ำยา” “อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น “บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน” หรือ Heated Tobacco Product ให้มีความชัดเจน เพื่อให้บังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีมีประสิทธิภาพ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มความเข้มข้นของทุกมาตรการเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ กมธ.บินไปดูงานบุหรี่ฟ้าที่ประเทศจีน นายนิยม กล่าวว่า การเดินทางไปประเทศจีนก็ไม่มีผลกระทบใดๆ ในการตัดสินใจของกมธ.เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการศึกษาดูงานในประเทศที่มีขนาดใหญ่ การไปดูงานไม่ได้เป็นการไปโน้มน้าวจิตใจ เพราะทุกคนไม่ได้มีผลประโยชน์ มีอิสระในการที่จะคิดและทำเพื่อส่วนรวม

ท้ายสุดจะส่งให้ กมธ.วิสามัญ ทั้ง 35 คน จากโควต้าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติว่าจะยึดแนวทางไหน คงจะมีการฟังเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ซึ่งทุกความเห็นของ กมธ.ก็จะบันทึกหมดให้กับสภาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

‘มนุษย์ควัน’ ลุ้นผลศึกษา กมธ. บุหรี่ไฟฟ้าคืบหน้า ย้ำยกเลิกแบนแล้วคุมยกแผง

เพจผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ‘มนุษย์ควัน’ ชื่นชม ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า’ กรณีความคืบหน้าล่าสุด หลังคณะอนุฯเสนอ 3 แนวทางต่อกมธ.ชุดใหญ่ ชี้ดีใจที่ได้เห็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ชี้หากปล่อยไว้โดยไม่ดำเนินการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าจะยิ่งทวีความรุนแรง พร้อมอธิบายบุหรี่ทางเลือกมีหลายชนิด หลายกลไก เสนอคุมยกแผง

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “มนุษย์ควัน” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.6 หมื่นคน ให้ความเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของกมธ.พิจารณากฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่า “ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เรื้อรังและทวีความรุนแรงมานับทศวรรษ ส่วนตัวผมคิดว่าหากไม่มีการดำเนินการที่เป็นชิ้นเป็นอัน ปัญหานี้ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงไปเรื่อยๆ ดังนั้นผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความคืบหน้าจากคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการจัดการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยให้ชัดเจน และสะท้อนให้เห็นนโยบายที่ก้าวหน้า (Progressive Policy) ของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง” “ดังที่ประธาน กมธ. จากพรรคเพื่อไทยกล่าวไว้ วันนี้บุหรี่ไฟฟ้าในไทยแม้จะผิดกฎหมายแต่ก็ใช้กันแพร่หลายมาก กมธ. จึงต้องเร่งหามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ความเป็นจริง และบริบทของประเทศ” สำหรับประเด็นแนวทางและข้อเสนอแนะของคณะอนุฯ นั้น นายสาริษฏ์ได้กล่าวว่า “สังคมต้องเข้าใจก่อนว่าบุหรี่ทางเลือกนั้นมีหลายแบบมาก จำแนกง่ายๆ คือแบบที่ใช้ใบยาสูบ และไม่ใช้ใบยาสูบ และยังมีแยกย่อยไปอีกในเรื่องของกลไกการทำงานของอุปกรณ์ ส่วนประกอบ รวมถึงระดับผลกระทบทางสุขภาพองค์กรระหว่างประเทศเช่น องค์การอนามัยโลก องค์การศุลกากรโลก องค์การมาตรฐานสากล (ISO) ต่างก็กำหนดนิยามไว้แตกต่างกันอย่างชัดเจน และต่างจากบุหรี่ธรรมดา” “ในมุมมองของผู้บริโภค ผมเชื่อว่าการเลือกแบนทุกอย่างเบ็ดเสร็จนั้นชัดเจนด้วยหลักฐานตลอด 10 ปีที่ผ่านมาแล้วว่าไม่เป็นผล หรือหากรัฐเลือกที่จะใช้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์แบบใดแบบหนึ่ง และยังคงให้แบนผลิตภัณฑ์ที่เหลือต่อไป ก็น่ากังวลว่าผลิตภัณฑ์กลุ่มที่ถูกแบนนั้นจะนำมาซึ่งปัญหาลักษณะเดิม ตั้งแต่ตลาดใต้ดิน การลักลอบซื้อขาย การเข้าถึงของเด็กและเยาวชน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงรายได้ภาษีที่รั่วไหล ดังนั้น การนำทุกอย่างขึ้นมาระบุและจำแนกให้ชัดเจน แล้วควบคุมทั้งแผงไปเลย น่าจะตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หากยังแบนต่อไปประเทศไทยก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม”     นายสาริษฏ์กล่าวปิดท้าย

'ออสเตรเลีย' เคาะ!! 'บุหรี่ไฟฟ้า' ขายได้โดยร้านขายยา ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้ ชี้!! หากผู้ซื้ออายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น

(28 มิ.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่พรรคแรงงานได้ทำข้อตกลงกับพรรคกรีนส์เพื่อผ่านร่างกฎหมาย ทำให้ต่อไปในอนาคต ผู้ใหญ่จะสามารถซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ที่ร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา อย่างไรก็ตามข้อกำหนดใหม่นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าเภสัชกรและร้านขายยาว่า พวกเขาไม่ได้รับแจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

รัฐบาลได้ทำข้อตกลงกับพรรค Greens เพื่อให้ร่างกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านทางวุฒิสภา ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว

ซึ่งรายละเอียดร่างกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าฉบับนี้นั้น จะยกเลิกข้อบังคับที่ผู้ใหญ่ต้องมีใบสั่งยาเพื่อซื้อบุหรี่ไฟฟ้า แต่จะมีการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้านอกร้านขายยา โดยมีข้อจำกัดเรื่องกลิ่นและรสของบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้มงวดมากขึ้น และยังมีข้อกำหนดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ให้มีสีฉูดฉาดอีกด้วย

ผู้นำของพรรค Greens อดัม แบรนด์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น เขากล่าวว่า "พรรคกรีนส์จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และทำให้แน่ใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่อาชญากรรม แต่จำทำอย่างไรที่เราจะป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ไม่สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ"

ด้าน ประธานสมาคมการแพทย์แห่งออสเตรเลีย สตีฟ ร็อบสัน เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

"การประนีประนอมที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลกับพรรคกรีนส์เป็นการเจรจาที่สมเหตุสมผล และในสถานการณ์เช่นนี้ เราไม่สามารถปล่อยให้ความสมบูรณ์แบบเป็นเครื่องกีดขวางของสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ การปฏิรูปเป็นสิ่งที่ดีเพราะมันช่วยปกป้องคนรุ่นใหม่ และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

รองประธานสมาคมเภสัชกรรม แอนโธนี ทาสโซนี กล่าวว่าสมาคิมเภสัชกรรมไม่ได้รับการแจ้งล่วงหน้าถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เขาเปิดเผยว่า

"สมาคมเภสัชกรรมและองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมทราบรายละเอียดของข้อตกลงลับระหว่างรัฐบาลแรงงานและพรรคกรีนเมื่อวานนี้ผ่านสื่อ และพวกเราก็ต่างอึ้ง หลังจากนั้นเราก็มีคำถามว่าทำไมเราจึงไม่มีส่วนร่วมในการออกความเห็นในประเด็นที่สำคัญนี้"

ในขณะการปฏิรูปการจัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่คุณ ทาสโซนี กล่าวว่า หนทางดังกล่าว ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เขากล่าวว่า 

"เรายินดีฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ของเราสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีความกังวลเรื่องสุขภาพ และอาจนำมาซึ่งผลกระทบร้ายแรงในสังคม แต่นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา การซื้อบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จากร้านขายยาต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งผลิคภัณฑ์ดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกรับรองโดยองค์กรงานอาหาร"

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มาร์ก บัตเลอร์ กล่าวว่าแนวทางนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลนำมาพิจารณา อธิบายว่า

"เราศึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เราค่อนข้างเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างมากตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว แล้วผมก็แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้ง"

การเปลี่ยนแปลงระลอกแรกจะมีผลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2024 โดยจะห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้านอกร้านขายยา และจำกัดรสชาติที่ให้มีจำหน่ายเฉพาะรสชาติธรรมดา รสมิ้นต์ และเมนทอล

ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 1 ตุลาคม ทุกคนจะต้องมีใบสั่งยาจึงจะซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้

รัฐมนตรี บัตเลอร์กล่าวว่า ระยะเวลาดังกล่าว จะทำให้ร้านขายยามีเวลาเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข 

"ในทางปฏิบัติ มันทำให้เราแน่ใจว่าเภสัชกรจะสามารถได้รับคำแนะนำที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เกี่ยวกับวิธีจัดการกับกฎหมายใหม่เหล่านี้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องมีใบสั่งยาสำหรับการซื้อบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน” มาร์ก บัตเลอร์ กล่าว 

รัฐมนตรี บัตเลอร์ยังกล่าวอีกว่า “การเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้น้อยลง องค์การอาหารและยา ได้ออกข้อกำหนดที่ชัดเจนสำหรับประเภทของบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งใช้ในประเภทผลิตภัณฑ์รักษาโรค ที่สามารถขายในออสเตรเลียโดยจะมีปริมาณโดยนิโคตินตามที่กำหนด"

โฆษกด้านสุขภาพของฝ่ายค้าน แอนน์ รัสตัน กล่าวว่า “แนวทางของพรรคฝ่ายค้านจะใช้นโยบาย เหมือนการขายบุหรี่โดยทั่วไป”

โฆษก รัสตัน กล่าวว่า "ตามแนวทางโมเดลของเราจะเป็นโมเดลการขายปลีกที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด คล้ายกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในประเทศนี้ บรรจุภัณฑ์ธรรมดา ๆ หลังเคาน์เตอร์ และทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครที่อายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถเข้าถึงได้อย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้"

***หมายเหตุ

- กฎหมายนี้ ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยเภสัชกรในร้านขายยาเท่านั้น

- เดิมออสเตรเลียห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด และให้ขายได้เฉพาะผู้ที่มีใบสั่งแพทย์ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น

- ทั่วโลกเตรียมจับตาดูว่า กฎหมายใหม่ของออสเตรเลีย จะป้องกันการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนได้หรือไม่

- ออสเตรเลียเป็นผู้นำของโลกในการควบคุมยาสูบ เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบเมื่อปี ค.ศ.2012 มีการขึ้นภาษีทุก ๆ ปีตามอัตราเงินเฟ้อ จนราคาบุหรี่มวนเฉลี่ยซองละ 26 ดอลลาร์อเมริกา (1,035 บาท) เป็นประเทศที่มีราคาบุหรี่แพงที่สุดในโลก 

- ออสเตรเลียมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการสูบบุหรี่ให้ต่ำกว่า 5% โดยไม่สนับสนุนให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทน ซึ่งแตกต่างจากประเทศอังกฤษที่มีท่าทีส่งเสริมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนการสูบบุหรี่มวน

'หมอเอก' โพสต์รัวๆ แฉขบวนการปล่อยเฟคนิวส์บุหรี่ไฟฟ้า ชี้อย่าบิดเบือนข้อมูล หนุนคุมบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ปกป้องเยาวชน

‘หมอเอก’ อดีต ส.ส.เชียงราย เผยรณรงค์บุหรี่ไฟฟ้าโดยใช้ข้อมูลที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิชาการ ทำประเทศหลงทางเรื่องการคุมบุหรี่ไฟฟ้า เสียโอกาสปกป้องเยาวชน ฉะ สสส. ไม่โปร่งใส ละลายงบประมาณ ให้เครือข่ายช่วยปล่อยเฟคนิวส์ แนะใช้กฎหมายคุมการบริโภคยาสูบทั้งระบบ

จากข่าวความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าที่พบมากขึ้นตามสื่อทั่วไป นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 1 จังหวัดเชียงราย และอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเฟสบุ๊คส่วนตัว “หมอเอก Ekkapob Pianpises” ระบุว่า “ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอจะสรุปความเกี่ยวข้องระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับวัณโรคปอด มีเพียงข้อมูลจากห้องทดลองว่าบุหรี่ไฟฟ้าก็ทำให้ภูมิต้านทานต่อเชื้อวัณโรคปอดลดลง และ ยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดโรควัณโรคระหว่างบุหรี่มวนกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าอันไหนเสี่ยงกว่ากัน ปัญหาของการสร้างการรับรู้ที่ผิด ส่งผลต่อการตัดสินใจด้านสุขภาพของประชาชน” พร้อมย้ำว่า “บุคลากรทางการแพทย์และการนำเสนอข่าวต้องให้ข้อมูลทางการแพทย์ให้ครบถ้วน เพราะการรณรงค์ที่ใช้ข้อมูลผิด จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี”

ในโพสต์ของหมอเอกยังทิ้งท้ายว่า “อดคิดไม่ได้ว่า ที่โหมรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากันอยู่ ก็เพราะต้องการปกปิดความล้มเหลวของการควบคุมยาสูบที่ใช้งบประมาณไปรวมๆ หลายพันล้านบาทในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ ?!!!”

โดยก่อนหน้านี้ หมอเอกก็ได้โพสต์เกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยแชร์ภาพข่าวของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมซึ่งสรุปว่าข้อมูลที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นต้นเหตุของโรคปอด EVALI เป็นข้อมูลที่บิดเบือน

“หน่วยงานที่เป็นคลังสมองของการควบคุมยาสูบกลับปล่อยข้อมูลบิดเบือนออกสู่สังคม มีการกำหนดทิศทางงานวิจัยผ่านทางนโยบายของ คณะกรรมการควบคุมยาสูบชาติ ที่ตั้งขึ้นตาม พรบ.ควบคุมยาสูบ โดยงบประมาณที่นำมาใช้ ก็ได้รับมาจาก สสส. ซึ่งควรเป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการทำให้ประชาชนมี "ความรอบรู้ด้านสุขภาพ" หรือ "health literacy" แต่กลับสนับสนุนการสร้างข้อมูลบิดเบือน แล้วแบบนี้ประชาชนจะมีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างไร????? ที่ผ่านมาการควบคุมยาสูบไทยล้มเหลว เพราะการจัดทำนโยบายและจัดสรรทรัพยากรถูกผูกขาดโดยคนบางกลุ่มและเครือข่ายพวกพ้องของตนเอง”

สอดคล้องกับข่าวก่อนหน้านี้ที่ ปปช. มีมติว่าการใช้งบประมาณของ สสส. ไปให้ทุนการศึกษากับ ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เรียนต่อปริญญาเอกไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยว่าแม้จะมีการใช้งบประมาณปีละกว่า 4 พันล้านบาทตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา แต่การรณรงค์ด้านสุขภาพกลับไม่บรรลุผล ไม่สามารถทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

พร้อมให้ข้อเสนอแนะว่าการควบคุมยาสูบต้องพิจารณาการ "ควบคุมการบริโภคยาสูบ" ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เน้นแต่บุหรี่ไฟฟ้า แม้จะมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เท่ากับสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่ที่ลดลง แสดงว่า บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเชื่อมโยงกับการเพิ่มอัตราเลิกบุหรี่สำเร็จในคนที่เคยสูบบุหรี่มวน รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้น (gateway) ที่จะทำให้คนสูบบุหรี่มวนมากขึ้น ขณะที่ข้อมูลสำรวจของกรมควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา (US CDC) พบว่าปัจจัยหลักประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กมัธยมที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า คือ ความเครียดและต้องการความสุขจากสารนิโคติน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือประเมินกลุ่มเสี่ยงเรื่องความเครียด และส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความสุขในโรงเรียน เพราะเด็กนักเรียนใช้เวลาในโรงเรียนมากกว่าที่บ้าน อีกส่วนหนึ่งประมาณ 20-30% เป็นเรื่องของสังคม กลุ่มเพื่อน พฤติกรรมของวัยรุ่น ซึ่งเราควรใช้งบประมาณมาสนับสนุนความฝันให้เด็กๆ ให้เขาได้ทำกิจกรรมที่สนใจอย่างจริงจังนอกจากการเรียน ซึ่งต้องส่งเสริมต่อเนื่องไม่ใช่ทำกิจกรรมแบบทำแล้วทิ้งเหมือนที่ผ่านๆ มา”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top