Tuesday, 13 May 2025
บึงรับน้ำคู้บอน

กลุ่มนักวิชาการ เข้าพบรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ทวงคืนบึงรับน้ำคู้บอน – บางชัน ทำแก้มลิงให้คนกรุงเทพ หวังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมฝั่งตะวันออก

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม. นายพงศ์พรหม ยามะรัต พร้อมด้วย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) นำโดย นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที นายกสมาคม ดร. วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคม และ นางปองขวัญ ลาซูส อุปนายกสมาคม และตัวแทนจากเพจ ‘บึงรับน้ำคู้บอนเพื่อคนกรุงเทพ’ ได้แก่ นางสาวชวลักษณ์ เวียงวิเศษ , นางสาวพีรญา สว่างวงศ์ และนางอรชร ทานากะ เข้าพบ รศ. ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น กลาง และยาว รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องมี โครงการบึงรับน้ำคลองคู้บอนและบางชัน ในฝั่งตะวันออก เพื่อให้มีพื้นที่พักน้ำหรือหน่วงน้ำไว้ในยามที่ปริมาณน้ำฝนเอ่อล้น ก่อนที่จะระบายสู่ระบบคูคลองหรืออุโมงค์ระบายน้ำในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ดร. วีระพันธุ์ ชินวัตร  อุปนายกสมาคม  ได้นำเสนอให้มีการจัดหาพื้นที่รับน้ำให้ได้มากที่สุดในกรุงเทพฯ  เพื่อหน่วงน้ำไว้ก่อนในช่วงเวลาที่ฝนตกหนักและน้ำไม่สามารถระบายผ่านระบบคูคลองและอุโมงค์ยักษ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ทัน  เช่น  การมีพื้นที่เก็บน้ำใต้ถนนในเขตศูนย์กลางชุมชนชานเมือง  การมีพื้นที่แก้มลิงหรือบึงรับน้ำในเขตกรุงเทพฯ ตอนเหนือและตะวันออก เช่น บางเขนและคู้บอน (ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่น้ำจะระบายลงสู่พื้นที่กทม.ชั้นในตอนล่าง) เพื่อช่วยหน่วงน้ำในช่วงฝนตกหนัก ไม่ให้ระบายมาสมทบกับปริมาณน้ำที่สะสมในเขตพื้นที่ชั้นใน ให้ท่วมน้อยลง ก่อนที่จะระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  

นอกจากนี้  ดร. วีระพันธุ์  ได้เสนอให้กรุงเทพมหานครจัดหาพื้นที่ช่องทางน้ำหลากหรือ Flood Way หรือที่เรียกว่า ช่องทางผันน้ำ หรือ Flood Diversion โดยสามารถทำร่วมกับโครงการวงแหวนรอบที่ 3 ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อ ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือกทม. ให้น้ำสามารถไหลลงผ่านรอบนอกของกรุงเทพฯ ทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ  ลงสู่อ่าวไทยโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งจำเป็นต้องรีบปรับแบบการก่อสร้างให้มีแนวคลองระบายน้ำคู่ขนานไปกับถนนวงแหวนด้วย  หากสามารถทำ Flood Way ได้ตามแนวถนนวงแหวนรอบที่ 3  จะสามารถระบายน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 800 - 1,000 ลบ. เมตร/วินาที  ซึ่งจะช่วยระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยลดปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ผ่านกทม.ตอนบน ลงสู่ตอนล่างได้อย่างมีนัยะสำคัญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top