กลุ่มนักวิชาการ เข้าพบรองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ทวงคืนบึงรับน้ำคู้บอน – บางชัน ทำแก้มลิงให้คนกรุงเทพ หวังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมฝั่งตะวันออก

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม. นายพงศ์พรหม ยามะรัต พร้อมด้วย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (Sconte) นำโดย นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที นายกสมาคม ดร. วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคม และ นางปองขวัญ ลาซูส อุปนายกสมาคม และตัวแทนจากเพจ ‘บึงรับน้ำคู้บอนเพื่อคนกรุงเทพ’ ได้แก่ นางสาวชวลักษณ์ เวียงวิเศษ , นางสาวพีรญา สว่างวงศ์ และนางอรชร ทานากะ เข้าพบ รศ. ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะสั้น กลาง และยาว รวมทั้งเหตุผลความจำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องมี โครงการบึงรับน้ำคลองคู้บอนและบางชัน ในฝั่งตะวันออก เพื่อให้มีพื้นที่พักน้ำหรือหน่วงน้ำไว้ในยามที่ปริมาณน้ำฝนเอ่อล้น ก่อนที่จะระบายสู่ระบบคูคลองหรืออุโมงค์ระบายน้ำในเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ดร. วีระพันธุ์ ชินวัตร  อุปนายกสมาคม  ได้นำเสนอให้มีการจัดหาพื้นที่รับน้ำให้ได้มากที่สุดในกรุงเทพฯ  เพื่อหน่วงน้ำไว้ก่อนในช่วงเวลาที่ฝนตกหนักและน้ำไม่สามารถระบายผ่านระบบคูคลองและอุโมงค์ยักษ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ทัน  เช่น  การมีพื้นที่เก็บน้ำใต้ถนนในเขตศูนย์กลางชุมชนชานเมือง  การมีพื้นที่แก้มลิงหรือบึงรับน้ำในเขตกรุงเทพฯ ตอนเหนือและตะวันออก เช่น บางเขนและคู้บอน (ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่น้ำจะระบายลงสู่พื้นที่กทม.ชั้นในตอนล่าง) เพื่อช่วยหน่วงน้ำในช่วงฝนตกหนัก ไม่ให้ระบายมาสมทบกับปริมาณน้ำที่สะสมในเขตพื้นที่ชั้นใน ให้ท่วมน้อยลง ก่อนที่จะระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  

นอกจากนี้  ดร. วีระพันธุ์  ได้เสนอให้กรุงเทพมหานครจัดหาพื้นที่ช่องทางน้ำหลากหรือ Flood Way หรือที่เรียกว่า ช่องทางผันน้ำ หรือ Flood Diversion โดยสามารถทำร่วมกับโครงการวงแหวนรอบที่ 3 ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เพื่อ ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือกทม. ให้น้ำสามารถไหลลงผ่านรอบนอกของกรุงเทพฯ ทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ  ลงสู่อ่าวไทยโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งจำเป็นต้องรีบปรับแบบการก่อสร้างให้มีแนวคลองระบายน้ำคู่ขนานไปกับถนนวงแหวนด้วย  หากสามารถทำ Flood Way ได้ตามแนวถนนวงแหวนรอบที่ 3  จะสามารถระบายน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 800 - 1,000 ลบ. เมตร/วินาที  ซึ่งจะช่วยระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยลดปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ผ่านกทม.ตอนบน ลงสู่ตอนล่างได้อย่างมีนัยะสำคัญ

ทั้งนี้  ดร. วีระพันธุ์  ยังได้ย้ำถึงปัญหาสภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นทุกปี  ทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวคือการทำแก้มลิงในทะเล  โดยมี 4 รูปแบบ  คือ  
1.    รูปแบบ Thames Barrier ซึ่งเป็นการสร้างเขื่อนที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุนสูง  และมีระบบสูบเพื่อพร่องน้ำออกสู่อ่าวไทย เพื่อเตรียมรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก  ข้อดีคือ ใช้เวลาในการก่อสร้างไม่เกิน 4-5 ปี  ลงทุนหลักหมื่นล้านบาท (คำนวณไว้เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว)
.
2.    การสร้างแก้มลิงขนาดเล็กในทะเลตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นการกั้นน้ำทะเลหนุนตั้งแต่ปากแม่น้ำ  และสามารถสูบน้ำออกจากเขื่อนเมื่อต้องการลดระดับน้ำบริเวณปากแม่น้ำเพื่อการพร่องน้ำไว้ล่วงหน้า  ซี่งจะช่วยให้น้ำระบายลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (Gravity flow)  วิธีนี้คล้ายวิธีที่ 1 แต่ใช้เวลาก่อสร้างและงบประมาณมากกว่า
.
3.    การสร้างแก้มลิงขนาดเล็กขนานไปตามปริเวณชายฝั่งปากอ่าว ในทะเลตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งซ้ายขวาของปากแม่น้ำ  เพื่อรองรับน้ำที่ระบายจาก Flood Way ถนนวงแหวนรอบที่ 3 และใช้การสูบพร่องน้ำระบายออกจากพื้นที่แก้มลิงในทะเลทั้งสองฝั่ง  เพื่อให้น้ำจากแนว Flood Way และน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาระบายสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น  วิธีนี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างและงบประมาณมากกว่า 2 วิธีแรก
.
4.    การสร้างแก้มลิงขนาดใหญ่บริเวณก้นอ่าวไทย  เพื่อรองรับน้ำที่ระบายจาก Flood Way ถนนวงแหวนรอบที่ 3 และใช้การสูบพร่องน้ำระบายออกจากพื้นที่แก้มลิงในทะเลทั้งสองฝั่ง  วิธีการนี้จะป้องกันน้ำทะเลหนุนได้เหมือนวิธีที่ 1 และป้องกันชายฝั่งถูกกัดเซาะได้  อีกทั้งยังสามารถช่วยฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่หายไปให้กลับคืนมา รวมถึงการใช้แนวเขี่อนดังกล่าวเป็นเส้นทางlogistic เพื่อ bypass กทม.และใช้รองรับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจประมงชายฝั่งและเมืองแบบgreen cityได้ด้วย แต่วิธีนี้ใช้เวลาการก่อสร้างและงบประมาณมากที่สุด  
.
ทั้ง 4 กรณีนี้จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียด เพื่อให้สามารถรักษา หรือ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิมให้ได้มากที่สุด ไปพร้อมกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมใหม่ที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมเดิม และมีประตูน้ำเปิดปิดให้เรือสามารถเข้าออกบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ในช่วงปกติ การศึกษาวิจัยดังกล่าว หากได้รับทุนเบื้องต้น (Seed Fund) จากกทม.และกทม.นำผลการศึกษาดังกล่าวไปช่วยจุดประเด็น ( Ignite) ให้เกิดเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็จะเป็นการดีต่อสถานการณ์ระบายน้ำในพื้นที่กทม.และปริมณฑลในระยะยาวอีกด้วย
.
นาย ชวลักษณ์ เวียงวิเศษ  ตัวแทนจากเพจบึงรับน้ำคู้บอนเพื่อคนกรุงเทพ  ได้เสนอว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกขอกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบด้วยเขตคลองสามวา  คันนายาว  สายไหม  มีนบุรี และลาดกระบัง  เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือคันกันน้ำพระราชดำริ  และยังไม่มีระบบป้องกันน้ำท่วมแต่อย่างใด  ในขณะที่กรุงเทพฯ มีการขยายตัวไปทางฝั่งตะวันออกมากขึ้นเรื่อยๆ  จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่แก้มลิงเพื่อหน่วงน้ำจากทางเหนือไว้ก่อนเพื่อลดปัญน้ำท่วมในฝั่งตะวันออกและป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน
.
นายชวลักษณ์  ได้ชี้แจงต่อไปว่าสำนักการระบายน้ำได้ทำการสำรวจโครงการบึงรับน้ำทั้ง 6 โครงการภายหลังมหาอุทกภัยปี 2554  และต่อมาได้ทำการประชาพิจารณ์ร่วมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในปี 2560  ปรากฏว่า  โครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองคู้บอน  เขตคลองสามวา  และโครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองบางชัน  เขตมีนบุรี  ไม่มีประชาชนคัดค้าน  ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถจัดทำโครงการบึงรับน้ำทั้งสองแห่งนี้ได้ทันที  จะเป็นการลดปัญหาน้ำท่วมให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในสองเขตนี้อย่างมาก  
.
ทั้งนี้ นายชวลักษณ์ ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของโครงการบึงรับน้ำหนองบอนซึ่งเป็นโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9  ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตประเวศ  สวนหลวงและพระโขนง  โดยใช้เวลา 1-2 วันในการระบายน้ำจากพื้นที่  จากเดิมซึ่งใช้เวลานานเป็นสัปดาห์
.
รศ. ดร. วิศณุ ทรัพย์สมพล  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้แสดงความสนใจในโครงการแก้มลิงในทะเลแต่มองว่าอาจอยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร  พร้อมยังชี้แจงต่อคณะว่าขณะนี้  กรุงเทพมหานครได้รับพื้นที่ที่เอกชนบริจาคมาจำนวนหนึ่ง  ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำเป็นพื้นที่รับน้ำ  ในส่วนโครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองคู้บอน  เขตคลองสามวา  และโครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองบางชัน  เขตมีนบุรี  รศ. ดร. วิศณุ  ขอเวลาประมาณ 2-3 เดือนเพื่อติดตามการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน  หรืออีกแนวทางหนึ่งอาจมีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดองเพื่อเจรจากับเจ้าของที่ดินเดิมในการจัดสร้างโครงการบึงรับน้ำทั้งสองแห่งเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยจะประสานงานร่วมกับนายพงศ์พรหม ยามะรัต  ต่อไป