Monday, 20 May 2024
นราธิวาส

นราธิวาส-“เจาะไอร้อง เจาะไอรัก” อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น” มทภ.4 เผย ปลื้มใจที่ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจสืบสานอัตลักษณ์ที่สวยงามในพื้นที่ปลายด้ามขวาน

ที่สนามที่ว่าการอำเภอเจาะไอร้อง ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานเปิดโครงการ “เจาะไอร้อง เจาะไอรัก อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น “ เพื่อสะท้อนความร่วมมือของคนในชุมชน สืบสานวัฒนธรรมและสื่อความเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยมี พลตรี ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/ รองผู้อำนวยการรักษาคงามมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ,รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส,รองผู้บังคับการกองกำลังตำรวจจังหวัดนราธิวาส,นายอำเภอเจาะไอร้อง,ผู้นำศาสนา,ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และประชาชน ทั้ง 33 หมู่บ้าน ในอำเภอเจาะไอร้อง เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 1,500 คน

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ปลื้มใจที่ได้เห็นพี่น้องประชาชน ทั้ง 33 หมู่บ้าน ได้แต่งการด้วยชุดมลายูท้องถิ่นที่เป็นอัตลัดษณ์ที่สวยงาม โดยโครงการ “เจาะไอร้อง เจาะไอรัก อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น“ ในครั้งนี้ ได้พูดอยู่เสมอว่า วัฒนธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งที่สวยงามมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และน่าภูมิใจไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษา อาหาร การแต่งกาย ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ชาวอำเภอเจาะไอร้องได้ให้ความสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรม ได้จัดประกวดการแต่งกายชุดมลายู การประกวดซุ้มประตูชัย (ปีนตูกรือบัง) ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเต็มที่ในความร่วมมือร่วมใจกันสื่อให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมจะส่งเสริมให้พี่น้องประซาชนร่วมกันทำพื้นที่ให้น่าอยู่เกิดการพัฒนาต่อยอดสร้างความสนใจจากสื่อสังคมและสามารถส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไปได้ในอนาคต

นายมาหะมะยากี หะยีมะ นายอำเภอเจาะไอร้อง กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอเจาะไอร้อง ต้องขอขอบคุณแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนการจัดกิจกรรมฯ โดยเฉพาะการรณรงค์แต่งกายชุดมลายูท้องถิ่น และการจัดทำซุ้มประตูชัย (ปีนตูกรือบัง) ซึ่งเป็นเสน่ห์ความงดงามในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้สะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็นมลายูสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนว่าจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เป็นสังคมมลายูที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเปิดรับความแตกต่าง พร้อมจะให้ผู้คนต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์และยอมรับการมีตัวตนของกันและกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่สวยงาม

นราธิวาส-“ทวี สอดส่อง” ขึ้นรถแห่หาเสียงรอบเมืองสุไหงปาดี ชาวบ้านตอบรับดี มั่นใจประชาชาติที่พึ่งคนชายแดนใต้

วันนี (4 พฤษภาคม 66) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นำผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 3 (อ.สุไหงปาดี อ.แว้ง อ.เจาะไอร้อง) นายมูฮัมหมัดรอมือลี อาแซ เบอร์ 5 และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พูดไฮด์ปาร์คหน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงปาดี โดยมีพี่น้องประชาชนชาวอำเภอสุไหงปาดีทั้งไทยพุทธและมุสลิมให้ความสนใจมายืนฟังกันจำนวนหลายร้อยคน 

โดย พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า “เราต้องสร้างรัฐสวัสดิการให้เงินค่าเลี้ยงดูบุตรแก่พ่อแม่ โดยเด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 ขวบต้องได้ 4,500 บาท และเด็กอายุ 7 ขวบไปจนถึง 15 ปี ต้องได้เดือนละ 3,000 นี่ไม่ใช่เป็นเงินประชานิยม แต่เป็นรัฐสวัสดิการ คือทุกคนต้องมีสิทธิ์เสมอกัน เราต้องการสร้างคน เพราะเราต้องร่วมกันสร้างคนให้มีอนาคตที่ดี ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรคือไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย พรรคประชาชาติจึงมีนโยบายที่จะทำให้เกษตรกรทุกครัวเรือนต้องมีกรรมสิทธิ์และสิทธิ์ในที่ดินทำกินอย่างน้อย 20 ไร่ เพราะถ้าไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เราจะไม่สามารถที่จะทำเกษตรกรรมได้เราจะเป็นเพียงแค่ลูกจ้างหรือเป็นแค่ผู้อาศัยในที่ดินของรัฐ ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินแบบเบ็ดเสร็จ คนนราธิวาสจำนวนมากอาศัยอยู่บริเวณเขาบูโดสุไหงปาดี ได้รับผบกระทบจากกฎหมายอุทยาน เราต้องแก้กฎหมาย ซึ่งเราได้ยื่นเสนอร่างกฎหมายสู่สภาแล้ว และเราต้องทำต่อไปให้สำเร็จ ชาวสวนยางต้องมีที่ดินของตัวเอง ไม่ใช่ไปอาศัยที่ดินคนอื่นหรือรับจ้างคนอื่นกรีดยาง”

ผบ.ฉก.นราธิวาส แถลงแผนการซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัยเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ศูนย์ควบคุมสั่งการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอ สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสพลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ร่วมแถลงแผนการซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัยเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ ซึ่งอำเภอสุไหงโกลก ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ 1 ใน 8 เมืองหลัก ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ได้ เป็นการบูรณาการกำลัง 3 ฝ่าย ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยมี นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน พร้อมด้วยส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า คดีพบศพเด็กมีร่องรอยล่วงละเมิดทางเพศ นราธิวาส

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 พ.ค.66 เวลา 9.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตันหยง ภ.จว.นราธิวาส ได้รับแจ้งเหตุพบศพเด็กหญิงนก (นามสมมุติ) อายุ 3 ปีเศษ เสียชีวิตอยู่ในสระน้ำห่างจากบ้านประมาณ 500 เมตร ซึ่งบิดาของเด็กหญิงนกได้แจ้งความหายไว้เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ก่อนจะถูกพบศพดังกล่าว ตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วนั้น

จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเด็กหญิงรายดังกล่าว เพื่อให้ความจริงปรากฏ เนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอันมาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.อนุรุธ อิ่มอาบ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส , พล.ต.ต.ไมตรี สันตยากุล ผบก.สส.จชต. และ พ.ต.อ.มะตาฮา มูหนะ ผกก.สภ.ตันหยง เร่งสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงรายดังกล่าว และติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุโดยเร็ว เบื้องต้นจากการผ่าพิสูจน์ศพของผู้ตายพบว่า มีร่องรอยการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ประกอบกับข้อมูลจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า ศพของผู้ตายนั้นถูกถอดกางเกงและแพมเพิร์สออก ซึ่งบิดาของผู้ตายยืนยันว่า ผู้ตายยังไม่สามารถถอดแพมเพิร์สออกด้วยตนเองได้ จึงสันนิษฐานได้ว่า อาจถูกคนร้ายหลอกไปจากที่บ้าน จากนั้นได้มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น จากนั้นผู้ก่อเหตุได้ลงมือฆ่าเด็กหญิงนก ก่อนทิ้งอำพรางศพที่บริเวณสระน้ำที่เกิดเหตุ

วันนี้ (22 พ.ค.66) เวลา 18.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ฯ ได้เข้าตรวจสอบบริเวณจุดที่พบศพผู้ตายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน พบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่คันดินเนินสูง ซึ่งผู้ตายที่เป็นเด็กอายุเพียงสามปีไม่สามารถเดินขึ้นได้ด้วยตนเอง สันนิษฐานได้ว่าถูกคนร้ายพาเข้ามาเพื่อก่อเหตุ หลังจากนั้น รอง ผบ.ตร. ได้เข้าเยี่ยมครอบครัวของผู้เสียชีวิต รวมทั้งพูดคุยกับชาวบ้าน โดยได้มอบของและให้กำลังใจ รวมทั้งให้ความมั่นใจ ว่าจะติดตามผู้ต้องหาที่ก่อเหตุสลดดังกล่าวมาลงโทษตามกฏหมายโดยเร็วที่สุด จากนั้นจึงได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ที่ ภ.จว.นราธิวาส และได้สั่งการให้ ฝ่ายสืบสวนจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับ สภ.ตันหยง นำตัวผู้ต้องสงสัยในรัศมีใกล้เคียงที่เกิดเหตุทั้งหมด มาตรวจเก็บลายนิ้วมือและดีเอ็นเอไว้ เพื่อใช้ในการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับพยานหลักฐานที่อาจพบได้จากศพผู้ตาย รวมทั้งลงพื้นที่หาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยที่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางเพศต่อเด็ก

นราธิวาส-แม่ทัพภาค 4 ร่วมประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) พร้อมยืนยันว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

ห้องประชุม น้ำพราว 1 โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ  ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ พร้อมด้วย พลโท อุทิศ  อนันตนานนท์ แม่ทัพน้อยที่ 4, พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พลตรี วรเดช  เดชรักษา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และคณะ

ร่วมประชุมกับคณะประสานงานระดับพื้นที่ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน ความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับทราบความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหมด 8 กลุ่ม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  และ 4 อำเภอของสงขลา เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ในที่ประชุม มีหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส รายงานผลการดำเนินงานของคณะพูดคุยระดับพื้นที่ในการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยภาพรวมทุกพื้นที่มีการนำเสนอความต้องการภายใต้กรอบ JCPP ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่, ด้านสิทธิมนุษยชนและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง, ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา, ด้านการศึกษา, การแสวงหาทางออกทางการเมือง, การจัดเวทีการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความหวาดระแวง และการสร้างความเข้าใจตรงกันถึงความคืบหน้าของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นจากผู้นำศาสนาในเรื่องการดูแลความปลอดภัยในการประกอบศาสนกิจของพระสงฆ์ในพื้นที่

แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ กล่าวว่า การขับเคลื่อนในคณะสล. 3 ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ คาดว่าไม่แตกต่างจากนโยบายเดิมที่เป็นยุทธศาสตร์เดิมที่ทำอยู่ นั่นคือการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งเรามีจุดยืนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ไม่ว่ารัฐบาลไหน ช่วงการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลในขณะนี้ เราก็พร้อมที่จะให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลกับทุกฝ่าย ประชาชนเองก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อเกิดความสันติสุขในพื้นที่ ส่วนประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และอาจจะมีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างการปฏิบัติงาน ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด

เพราะเราพร้อมที่จะตอบคำถามกับทุกภาคส่วนว่า ทำไมจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังต้องการการดูแลรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ และในวันนี้ก็จะได้นำคำแนะนำ ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนไปแก้ไข ปรับปรุงการทำงานดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้นำศาสนา หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเหตุความรุนแรงในพื้นที่ และที่สำคัญคือการอยากให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูล ทุกข้อสรุปของการประชุมหารือ ให้พร้อมเดินหน้า นำไปสู่การหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนงาน การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขต่อไป

ด้าน พลตรี ปราโมทย์  พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะ หนึ่งในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยืนยันว่า ไม่ว่าทิศทางทางการเมือง หรือรัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใด คณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ยังคงเดินหน้าหารือความคิดเห็นต่าง ๆ ปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในอนาคต และต้องตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการเปิดเวทีการพูดคณะของคณะ สล. 3 มีความคืบหน้าไปมากแล้ว นับเป็นกลไกที่มีความแข็งแกร่ง พร้อมยืนยันว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน ส่วนข้อจำกัดในประเด็นที่ว่ารัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจ ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข พลตรี ปราโมทย์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข

และมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่มเวทีการพูดคุยมาตลอด ไม่มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธีได้ คือกลไกที่ฝ่ายจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ข่าว.แวดาโอ๊ะ​/อัสมา​ หะไร​ จ.นราธิวาส

‘สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม’ แถลง ไม่เกี่ยวข้องการทำประชามติ ค้านรัฐดำเนินคดี พร้อมเตือน นศ. ให้เลือกประเด็นที่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย

สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม ออกแถลงการณ์ชี้แจงปม “ประชามติเอกราชตั้งรัฐปัตตานี” ย้ำเป็นแค่การจำลองทำประชามติ ไม่ใช่ทำจริง อ้างเป็นกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ค้านรัฐดำเนินคดีนักศึกษา แต่ออกตัวสมาคมฯไม่เกี่ยวข้อง แนะจับเข่าคุยทำความเข้าใจแบบไร้อคติ พร้อมเรียกร้องนักศีกษามุสลิมเลือกประเด็นเคลื่อนไหวที่ไม่ขัดกฎหมาย


สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม หรือ ส.น.ท.ออกเอกสารแถลงการณ์ กรณีการจัดจำลองการทำประชามติสอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง ขององค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan Patani )

เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากกิจกรรมการเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan Patani ) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีการจัดจำลองการทำประชามติ สอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง (the rights of self – determination) คือหลักที่ว่าด้วยสิทธิของประชาชนในการมีอิสระที่จะตัดสินใจเลือกสถานะทางการเมืองของตนเอง และกำหนดรูปแบบของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพวกเขาเอง

กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในการแสดงความคิดเห็น การพูด การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

กิจกรรมทางวิชาการดังกล่าวเป็นประเด็นที่เกิดข้อถกเถียงในสังคมวงกว้างเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ และการทำประชามติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อความรู้สึกของสังคมที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ หรืออาจสื่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่ามีความต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือการเป็นเอกราชของปาตานี ซึ่งย่อมขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 อันเป็นกฎหมายสูงสุดขอไทยที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าด้วยหมวดที่ 1 บททั่วไป มาตราที่ 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินคดีกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาตินั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางวิชาการ การพูดคุยเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และกิจกรรมการดังกล่าวนั้น ก็ได้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยโดยมีภาคส่วนวิชาการเป็นผู้คอยดูแลและให้คำปรึกษาด้วยความรัดกุมและมีสติ

สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (ส.น.ท.) ขอเรียนให้ทราบว่าทางสมาคมฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แต่ทางสมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้เพื่อหาทางร่วมพูดคุยหาทางออกและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจระหว่างกันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเร่งด่วนโดยไร้อคติ ภายใต้ข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องและครอบคลุมจากทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ “สันติวิธี”
ท้ายนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาทุกคนได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนในฐานะพลเมืองไทยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกต้อง เหมาะสม ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เฉกเช่นที่ได้ยึดมั่นมาโดยตลอด

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า แถลงการณ์ของ ส.น.ท. ออกมาในช่วงเดียวกับที่ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย ซึ่งเป็นบิดาของประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ผู้นำการอ่านแถลงการณ์การทำประชามติเรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เพิ่งออกมาให้ข่าวว่า ทางกลุ่มนักศึกษาในนามของ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” จะออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด และพร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านความมั่นคง จึงไม่แน่ชัดว่า แถลงการณ์ที่นายนัจมุดดีนพูดถึงนั้น เป็นฉบับเดียวกับของ ส.น.ท. หรือคนละฉบับกัน จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ต่อไป

สช.นราธิวาส จัดพิธีเปิดและส่งมอบนักศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เชื่อมสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานกล่าวเปิดงานและต้อนรับ คณะ นักศึกษาภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-อินโดนีเซีย ณ ห้องประชุมใยลานี  ชั้น 3 อาคาร 16 โรงเรียนดารุสสาลาม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นายสนั่น เปิดเผยว่าโครงการที่จัดขึ้นถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากถือว่าเป็นครั้งแรกของสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประเทศอินโดนีเซียที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องของเราแล้วยังทำให้น้องน้องเยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี ที่แปลกใหม่ของอินโดนีเซีย และสามารถนำประสบการณ์สิ่งดีในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ของเรา กลับไปเผยแพร่ให้กับพี่น้องในประเทศอินโดนีเซียได้รับรู้ต่อไป

ทางด้านนายภิญญา รัตนวรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การจัดโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-สาธารณรัฐอินโดนีเซียมีวัตถุประสงค์ คือ เป็นการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันดีต่อกันโดยใช้กระบวนการจัดการศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การศึกษาซึ่งกันและกัน พัฒนาศักยภาพและทักษะทางภาษา และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทั้ง 2  ประเทศ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ…

สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส เห็นความสำคัญของการสร้างมาตรฐานการจัดการศึกษา เพื่อยกระดับความสำเร็จในการจัดการศึกษากับต่างประเทศ จึงได้จัดโครงการภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐอินโดนีเชีย โดยได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาไทย-สาธารณรัฐอินโดนีเชีย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จะดำเนินการส่งนักศึกษาเข้าแลกเปลี่ยนในโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส ซึ่งในครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย จำนวน 75 คน มีระยะเวลาในการแลกเปลี่ยนจำนวน 3 เดือน ระหว่างวันที่กรกฎาคม 2566 ถึง 2 ตุลาคม 2566 มีโรงเรียนรับนักศึกษาแลกเปลี่ยน จำนวน 38 แห่ง โดยเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน จำนวน 26 แห่งและสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส จำนวน 12 แห่ง

โกดังพลุระเบิด จ.นราธิวาส ดับ 9 บาดเจ็บนับ 100 ราย บ้านเรือนพังยับ ผู้ว่าฯ-จนท.เร่งเปิดศูนย์ช่วยเหลือ ปชช.

จากกรณี เกิดเหตุโกดังเก็บพลุระเบิด ในพื้นที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ล่าสุดยอดเสียชีวิต 9 คน ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 106 คน บาดเจ็บสาหัส 15 คน ส่วนสาเหตุ คาดว่าเกิดจากการเชื่อมเหล็กในโกดังเก็บประทัด แล้วเปลวไฟได้กระเด็นไปติดกล่องกระดาษเก็บดอกไม้เพลิง

(30 ก.ค. 66) ความคืบหน้าเหตุโกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ระเบิด จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน และบ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง ซึ่งชาวบ้านในที่เกิดเหตุบอกว่าเคยแจ้งเตือนผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บพลุดอกไม้ไฟในชุมชนแต่กลับถูกเพิกเฉยจนนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่

ชาวบ้านหลายครอบครัวในพื้นที่หมู่ 1 ต.มูโนะ ซึ่งอยู่ในบริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุโกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิด ต้องอาศัยแสงสว่างจากแสงเทียนเพื่อใช้ชีวิตยามค่ำคืนที่ผ่านมา เนื่องจากความรุนแรงจากเหตุระเบิดนอกจากทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหายราบเป็นหน้ากลองเป็นวงกว้างแล้ว แต่พื้นที่ชุมชนซึ่งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางจุดเกิดเหตุหลายร้อยเมตรก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ระบบไฟฟ้ายังใช้ไม่ได้ชาวบ้านต้องอยู่อาศัยในความมืดมิด ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเรือนและทรัพย์สินที่เสียหายเป็นจำนวนมาก หลายครอบครัวแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว

โดยหนึ่งในชาวบ้านที่อยู่ติดกับโกดังเก็บดอกไม้ไฟบอกว่าบ้านได้รับความเสียหายทั้งหมด ภรรยาและลูกๆ แทบเอาชีวิตไม่รอด ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยแจ้งเตือนผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บพลุดอกไม้ไฟในชุมชนแต่กลับถูกเพิกเฉยจนนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้

สำหรับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเบื้องต้นทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว และมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างเบื้องต้นได้รับความเสียหายหนักอย่างน้อย 200 หลังคาเรือน

ทั้งนี้ ตลอดค่ำคืนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงค้นหาผู้สูญหาย และเก็บหลักฐาน จากเหตุการณ์โกดังพลุดอกไม้ไฟระเบิดระเบิด เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายให้กับชาวบ้านจำนวนหลายร้อยคน บ้านเรือนได้รับความเสียหายเบื้องต้น 200 หลัง ในพื้นที่รอบระยะ 500 เมตรได้รับความเสียหายหนัก

นายนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสสั่งการตั้งศูนย์พักพิงให้กับผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมจัดโรงครัวพระราชทานและทหารจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุ โดยเฉพาะ อาหาร น้ำดื่ม และที่พักอาศัย โดยใช้พื้นที่สนามกีฬาเทศบาลมูโนะเป็น ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุพลุไฟระเบิด เป็นศูนย์อพยพชั่วคราว

สำหรับความเสียหายในขณะนี้ ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 106 คน หลังได้รับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นสามารถกลับบ้านได้ และบาดเจ็บสาหัส 15 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตนับถึงเวลาเที่ยงคืนวานนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9 คนแล้ว เป็น ชาย 7 คน เด็กชาย 1 คน เด็กหญิง 1 คน

พล.ต.ต.อนุรุธ อิ่มอาบ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส เปิดเผย เบื้องต้นทราบแล้วสาเหตุคาดว่าเกิดจากการเชื่อมเหล็กในโกดังเก็บประทัด แล้วเปลวไฟได้กระเด็นไปติดกล่องกระดาษเก็บดอกไม้เพลิง ที่ตั้งกองสุมไว้เป็นกองใหญ่ จนเกิดระเบิดขึ้น

และคาดว่าช่างที่เข้าต่อเติมโกดังในครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 คน เสียชีวิตทันที ส่วนรายละเอียดคงต้องรอผลการตรวจพิสูจน์โดยละเอียดของเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความประมาทของผู้ใด มีการตรวจสอบการเก็บประทัดเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และจากการสอบสวนในเบื้องต้นยังทราบว่าระหว่างเกิดเหตุเจ้าของโกดัง ไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพัก เนื่องจากเป็นวันหยุดยาว จึงพาสมาชิกในครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัด

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุโกดังเก็บประทัดในตลาดมูโนะครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากเพราะแรงระเบิดส่งผลให้ตลาดมูโนะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าชายแดนแหล่งใหญ่ที่สุดของอำเภอสุไหงโก-ลก ได้รับความเสียหายบ้านเรือนและร้านค้าถูกแรงระเบิดจนกลายเป็นเศษซากปรักหักพัง เป็นที่เศร้าสลดของประชาชนในพื้นที่ หลังจากเพิ่งฟื้นตัวจากอุทกภัยครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2565

‘บิ๊กป้อม’ เสียใจ เหตุโรงงานประทัดระเบิด ที่ จ.นราธิวาส ส่ง สส.พปชร ลงพื้นที่ดูแล-บรรเทาความเดือดร้อน ปชช.

(30 ก.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอแสดงความเสียใจกับพี่น้องประชาชนชาว ตำบลมูโน๊ะ อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส จากอุบัติเหตุโรงงานประทัดระเบิดเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายในวงกว้าง

โดยมอบหมายให้นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส และนายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส ลงพื้นที่เปิดครัว และที่พักชั่วคราว พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้ความช่วยเหลือและดูแลพี่น้องประชาชนในเบื้องต้น นอกจากนั้นในฐานะรองนายกดูแลด้านความมั่นคง ได้สั่งการลงในพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยด่วน

หนุ่มใจสลาย สูญเสียญาติทีเดียว 5 คน จากเหตุโกดังพลุระเบิด จังหวัดนราธิวาส

(31 ก.ค. 66) จากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ภายในโรงงานระเบิดที่บริเวณบ้านมูโนะ หมู่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ก.ค.66 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บ 121 รายนั้น

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก ‘สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส’ โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า…

“เล่าทั้งน้ำตา เสียคนในครอบครัวรวม 5 คน จากเหตุการณ์โกดังดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

นายยศดนัย บูละ 1 ในผู้สูญเสียครอบครัวจากเหตุโกดังดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวานนี้ เล่าถึงนาทีที่กลับมาถึงบ้านหลังจากเห็นเพลิงไหม้และได้ยินเสียงระเบิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทันทีที่กลับมาถึงบ้านพบว่าทั้งบ้านตนเอง บ้านยาย และบ้านพ่อ พังเสียหายจากแรงระเบิดและเกิดเพลิงไหม้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนเองได้เข้าไปช่วยเหลือ ยาย นำไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ส่วนพ่อนั้นเข้าไปเพื่อจะช่วย แต่พบว่าเสียชีวิตแล้วโดยนอนอยู่กับหลานอีกคน ทั้ง 2 ถูกไฟไหม้ทั้งตัวจึงรีบไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านซึ่งติดในตัวอาคาร ร้องขอความช่วยเหลืออยู่อีก 3 คน และจากนั้นจึงกลับมาสำรวจบ้านญาติๆ ของตนเองในละแวกเดียวกันแต่พบหลานวัย 8 เดือนกระเด็นมานอกตัวบ้าน ในขณะที่แม่ของหลานนอนเสียชีวิตภายในตัวบ้านถูกเสาทับและไฟไหม้ทั้งตัว”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top