Monday, 19 May 2025
นครศรีธรรมราช

เปิดเมนูลับ!! ปลาสามน้ำ ทะเลสาบสงขลา มีเฉพาะช่วงสิ้นปี หากินได้เฉพาะที่ ‘สงขลา-พัทลุง’ เนื้อแน่น-หวาน-มัน-อร่อย

(9 พ.ย. 67) ช่วงหน้าฝนของภาคใต้เป็นช่วงเวลาที่ปล่อยท่องเที่ยวจะมีมากในทะเลสาบสงขลา และมีอยู่ที่เดียวเท่านั้น จะหากินได้ในจังหวัดสงขลา และพัทลุง

มารู้จักปลาท่องเที่ยวกัน เป็นปลาที่ฮอตที่สุดของจังหวัดสงขลาตอนนี้ 

‘ปลาท่องเที่ยว’ เป็นปลาตระกูลเดียวกับปลาตีน ลักษณะคล้ายปลาเขือ ปลาท่องเที่ยวอาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาเป็นปลาสามน้ำ #น้ำเค็ม#น้ำจืด#น้ำกร่อย รสชาติปลาแถวนี้จะขึ้นชื่อเรื่องความมันของเนื้อปลาเยอะกว่าที่ทะเลอื่น ๆ ชาวบ้านนิยมเอาปลาท่องเที่ยวมาทำได้หลายเมนู เช่น

-ต้มส้มมะขามสด 

-คลุกเกลือทอดขมิ้นกระเทียม

-เเกงส้ม(เเกงเหลือง)

-ต้มยำ

ปลาท่องเที่ยวยังทำได้อีกหลากหลายเมนูและเมนูที่น้องๆหนูๆชอบคือต้มปลาท่องเที่ยวมะขามสด รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ปลาเนื้อมัน ๆ ซดน้ำซุปร้อน ๆ โอ๊ย อย่อยยยยยย!

ปลาท่องเที่ยวเป็นปลาตามฤดูกาล(ฝนตกชุก) ปีนึงพบมากสุดแค่ฤดูกาลเดียวคือช่วงฝนตกชุกช่วงเดือน10-12 (เดือนตุลาคม -พฤศจิกายน-ธันวาคม)และสามารถจับปลาได้ฤดูกาลละเป็นตันๆ #ที่มาของคำว่าปลาท่องเที่ยวมาจาก การพบเจอของปลาซึ่งนาน ๆ จะเจอครั้งก็เจอครั้งละมาก ๆ ชาวบ้านเลยขนานนามว่า #ปลาท่องเที่ยว 

ปลาท่องเที่ยวมีลักษณะ มีหัวแหลม ๆ ลื่น ๆ ลำตัวมีเกล็ดเล็ก ๆ มีความยาวตัวโตสุดไม่เกิน1ฟุตหางเรียวยาวลักษณะคล้าย ๆ ปลาทรายเนื้อนุ่มหวานมัน

วันก่อนลงไปสงขลาแวะไปร้านมะม่วงเบา ใน อ.สิงหนคร ร้านออกแนวชนบท แต่บรรยากาศดี พูดได้ว่า #เป็นร้านรับแขก ของสิงหนคร เจ้าของร้าน 'พงศ์ศักดิ์ มากสุวรรณ์' ก็นำเสนอแกงปลาท่องเที่ยวมาด้วย 1 เมนู ชิมแล้ว เนื้อปลาแน่นมาก หวาน มัน อร่อย

เข้าใจว่าหน้าท่องเที่ยวของภาคใต้ ร้านอาหารย่านเกาะยอ ก็ต้องมีปลาท่องเที่ยวให้ได้รับประทานกับข้าว

พรุ่งนี้จะลงไปสงขลาอีกครั้ง วันที่ 10 พ.ย.ก็จะลงท่องทะเลสาบสงขลาไปกับ 'ทัวร์ทางไทย' ของวิชาญ ช่วยชูใจ เย็นคณะทัวร์ก็จะมาทานมื้อเย็นกันที่ร้านมะม่วงเบา นี้แหละ ผมขอฝากท้องไว้กับคณะทัวร์ด้วย

แหม…ว่าจะโทรไปบอกเจ้าของร้านว่า ขอเมนูต้มส้มปลาท่องเที่ยวกับส้มขาม ก็เองใจ แต่ถ้าไปถึงแล้ว ทัวร์ทางไทย ไม่มีเมนูต้มส้มปลาท่องเที่ยวกับส้มมะขาม จะขอสั่งต่างหากสักถ้วย 

ซดน้ำต้มส้มปลาท่องเที่ยวให้คล่องคอหน่อย…ได้แรงอกแหละ

‘เจ้ต้อย’ ยังเหนือกว่า!! ด้วยกระบวนการ และเครือข่าย ‘น้ำ’ เหนื่อยกับการเปลี่ยน ‘กระแส’ ให้เป็น ‘คะแนน’

(17 พ.ย. 67) อาทิตย์สุดท้าย อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) เหลือเวลาในการหาเสียงหาคะแนนนิยมกันเพียง 7 วันเท่านั้น กล่าวได้ว่า 40 กว่าวันของการหาเสียงที่ผ่านมาผู้สมัครทั้ง 4 ท่าน ได้ใช้แนวทางของตัวเองในการหาคะแนนนิยมกันอย่างสุดความสามารถแล้ว

กล่าวสำหรับแชมป์เก่า ‘เจ้ต้อย กนกพร เดชเดโช’ เบอร์ 1 นอกจากการชูนโยบายที่จะทำต่อแล้ว การเดินสายพบปะ ปราศรัยย่อยแจกแจงผลงานในรอบ 4 ปี พร้อมแก้ข้อครหา บวกรวมกับการใช้เครือข่าย ทั้งกลุ่มสตรี การเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุดปัจจุบัน รวมถึงชาว อบต.ปฏิบัติการในระดับพื้นที่ฐานราก สามารถกุมฐานเสียงระดับล่างเอาไว้ได้ ที่สำคัญคือการมี สส.อยู่ในกำมือถึง 6 คน ภายใต้การกำกับของ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ ของพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าไม่ธรรมดา

กล่าวสำหรับแทน เชื่อถือได้ในการจัดการคะแนน เพราะเขาผ่านสนามเลือกตั้ง มาตั้งแต่เด็กๆ สมัยพ่อ ‘วิฑูรย์ เดชเดโช’ ลงสมัครนายกฯอบจ. น่าจะได้ซึมซับกลยุทธ์ กลวิธี เรียนรู้เอาไว้ได้มาก การจัดการคะแนนจึงน่าจะเป็นต่อคนอื่นๆ ที่มีเครือข่ายในระดับพื้นที่พร้อมขับเครื่องอาวุธหนักออกถล่มค่ายกลของคู่ต่อสู้ได้อย่างไม่ยาก เพียงแต่ว่า ทหารราบได้มีการประเมินกันอย่างรอบคอบรอบด้านแล้วหรือยังในการปล่อยกระสุนออกสู่เป้าหมาย ยิงแล้วไม่พลาด

แน่นอนว่า แชมป์จะต้องถูกโดนชกหนักหน่อย ทั้งชกใต้เข็มขัดก็มี กัดหูก็มี ถือเป็นเรื่องธรรมดา กรรมการ คือประชาชนเขานั่งจับตามองอยู่ ถึงวันหนึ่งเขาจะตัดสิทธิ์ว่า จะให้เจ้ต้อยไปต่อ หรือพอแค่นี้

ส่วนน้ำ-วาริน ชิณวงศ์ เบอร์ 2 แม้ในช่วงแรกจะมีคนถามกันไม่น้อยว่า เบอร์ 2 คือใคร แต่เมื่อผ่านช่วงเวลาหนึ่งมา คำถามนี้หายไป พร้อมกับกระแสที่พุ่งแรงขึ้นมาจนมีการกล่าวขานถึงในระดับเป็นคู่เทียบคู่ชิงกับเจ้ต้อยเลยทีเดียวบวกกับการใช้สื่อโซเชี่ยลกระโดดข้ามกำแพงบ้าน เข้าถึงห้องนอนอย่างได้ผล เพียงแต่เนื้อหาอาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ลงรายละเอียดในนโยบายที่โดนใจ จึงอาจจะยังมีคำถามว่าแล้วนโยบายนั้นนโยบายนี้จะทำอย่างไร น้ำเองการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ค ยังไม่ค่อยมีรายละเอียด ยังต้องให้คนมาโพสต์ถาม เช่น โพสต์ว่า วันนี้ปราศรัย ‘ขนอม-สิชล’ แต่ไม่รู้ว่าที่ไหน จุดไหน เวลาใด น่าเสียดายน้ำไม่ได้ใช้โอกาสในช่วงขาขึ้นอธิบายรายละเอียดของนโยบายดีๆหลายเรื่อง พูดซ้ำๆเรื่องเดิมๆด้วยช่วงทำนองที่ฉะฉานของสาวมั่น

การที่น้ำประกาศว่า ไม่ซื้อเสียง ในทางทฤษฎีถือว่า เป็นจุดแข็ง ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องการสร้างสรรค์การเมืองที่บริสุทธิ์ แต่การประกาศว่า ไม่มีหัวคะแนน อาจจะล็อคคอตัวเองเอาไว้แน่นเกินไป ใครจะเป็นคนจัดการคะแนนในระดับพื้นที่ การจะหวังกระแสอย่างเดียวอาจไม่เดินไปถึงเป้าหมาย แม้กระแสจะดี แต่จะทำอย่างไรให้กระแสแปรเปลี่ยนเป็นคะแนน นี้คือ โจทย์ยากของน้ำ และทีมยุทธศาสตร์

น้ำอาจจะกุมคะแนนเสียงคนระดับกลาง-บน คนในเมืองเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ถามว่า ระดับกลาง-บน เป็นคนกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรจังหวัด อาจจะไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำ จุดอ่อนอีกอย่างของทีมน้ำ คือการปราศรัยบนเวทีแล้ว ใช้คำหยาบ ด่าทอคู่แข่ง ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า ที่ขัดกับบุคคลิกของน้ำที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาเพื่อสร้างการเมืองใหม่ แต่สุดท้ายทีมงานก็ยังไม่เข้าใจในเจตนารมย์ ปล่อยมุกบนเวทีด้วยคำหยาบ ด่าทอด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมที่คนนครฯไม่ชอบ

ถามว่ากระแสเปลี่ยนมีไหม ตอบได้ว่า มี และแรงด้วย แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงและเร็ว ส่วนหนึ่งภูมิใจไทยได้เข้ามาร่วมสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับเมืองคอนในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เงินสะพัดไปทุกหย่อมหญ้า เงินไม่มาก้าวขาออกจากบ้านไม่เป็น

ชาวบ้านระดับรากหญ้านั่งรออยู่ว่า เมื่อไหร่เงินจะมา ต้องการเปลี่ยนแต่เงินคือปัจจัยในการเปลี่ยน

สรุปรวมโค้งสุดท้ายนี้ ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’ ยังเป็นต่อด้วยกระบวนการบริหารจัดการและปัจจัยที่พร้อมกว่า น้ำต้องเหนื่อยกับการเปลี่ยนกระแสให้เป็นคะแนน

‘ศักดา นพสิทธิ์’ อดีตตัวตึง!! ‘นักการเมืองฝีปากกล้า’ แห่งชลบุรี ถูกยิง!! หลังร้านข้าวต้ม โดยเด็กในร้าน คาดเหตุ!! ทะเลาะวิวาท

(10 ธ.ค. 67) เปรี้ยง…เสียงมัจจุราชคำรามขึ้นในย่ำรุ่ง ร่างของ ‘ศักดา นพสิทธิ์' ลงไปนอนกองอยู่กับพื้น ณ ลานจอดรถ ร้านข้าวต้มบางปะกง 3

คำว่าย่ำรุ่ง คือเวลา 05.30 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสม็ด รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ พบร่างของศักดานอนจมกองเลือดอยู่บริเวณหลังร้านข้าวต้ม ซึ่งเป็นลานจอดรถ ใกล้ๆกันพบปลอกกระสุน 9 มม.1ปลอก และกระสุนที่ยังไม่ได้ยิงอีกจำนวนหนึ่ง

ศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกเพื่อไทย-พ่อ ส.ส.พรรคประชาชน ชลบุรี ”วรรณิดา นพสิทธิ์“ ซึ่งศักดามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ลูกสาวประสบความสำเร็จ เพราะศักดาทำกิจกรรมทางการเมืองในชลบุรีมายาวนาน และหลังชนะการเลือกตั้งก็ยังลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่อเนื่อง ลงพบปะพี่น้องประชาชนดึกๆดื่นๆกว่าจะกลับบ้านพักผ่อน บางวันก็นอนชลบุรี บางวันนอนกรุงเทพ

นายศักดา นพสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ในวัยเกษียณ อายุ 61 ปี อดีตเคยเป็นเลขานุการ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกฝีปากกล้าของพรรคเพื่อไทยมาก่อน ถ้ากล่าวถึงศักดา นักศึกษากิจกรรมการเมืองช่วงปี 25-28 คงรู้จักศักดาดี

ศักดาเข้ามาเรียนรามคำแหงปี 2525 ก็เริ่มเข้ามาสัมผัสกับกลิ่นไปของกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคนักศึกษา 7 คณะ พรรคนักศึกษาระดับหัวก้าวหน้า ปี 2527 ศักดาลงสมัครเป็นสมาชิกสภานักศึกษา อศ.มร.และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ในสมัยที่ ‘วันเลิศ กิตติธรกุล’ เป็นนายกองค์การนักศึกษา มร.

ในรุ่นไล่ๆกับกับศักดา ก็จะมี ‘นิกร จันพรม’ เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เป็นต้น หรือรุ่นไล่ขึ้นมาข้างบนหน่อยก็จะเป็น ‘ละม้าย เสนขวัญแก้ว’ อดีตประธานสภานักศึกษา มร.ปี 26 หรือ ‘นัดมุดดิน อูมาร์’ อดีต สส.นราธิวาส และอีกหลายๆคนที่ไม่อาจเอ่ยชื่อได้หมด

‘ศักดา’ เรียนจบนิติศาสตร์ แต่ด้วยความที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น เมื่อเดินพ้นรั้วรามคำแหง ก็ไม่มีกำแพงใดกีดกั้น การเมืองคือวิถี ศักดากระโดนเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างไม่ลังเล แต่ในวิถีของการเลือกตั้งศักดายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก้าวขึ้นไปเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทย และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ พร้อมผลักดันให้ลูกสาวในวัยจบเผาะ ก้าวขึ้นเป็น สส.ชลบุรี พรรคประชาชน สมใจนึก

ช่วงระยะหลังศักดาผันตัวเองมาเป็นนักวิเคราะห์ทางการเมืองในทุกสถานการณ์แบบทันต่อเหตุการณ์ ทีวีหลายช่องก็เชิญมากขึ้น เริ่มติดชาร์ดนักวิเคราะห์การเมือง แต่การที่ศักดาโดนยิง เสี่ยวแรกของการฉุกคิด ต้องพุ่งปมไปสู่การเมือง แต่ข้อเท็จจริงน่าจะไม่ใช่ ลูกสาวที่เป็น สส.ก็บอกว่าไม่ใช่ปมการเมือง

ในทางการสอบสวน สืบสวนของตำรวจ พบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กในร้านข้าวต้ม เมาแล้วทะเลาะกับแฟนสาว ก่อนจะไปทะเลาะกับเด็กในร้านข้าวต้มคนอื่นๆ และลามมาถึงแขกในร้าน

จากพยานแวดล้อมไม่น่าจะยากในการติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษ เพราะอาชญากรได้ทิ้งพยาน หลักฐานไว้มากมายในการก่ออาชญากรรม

เมืองนครศรีธรรมราช ท่วมสูง 20-40 ซม. ปิดจราจร ลานสกา-ถึงคีรีวง เตือนปชช.เร่งอพยพขนของขึ้นที่สูง

(16 ธ.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยมี 4 จังหวัดได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 27 อำเภอ 137 ตำบล 814 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบรวม 43,595 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานเมื่อเวลา 00.20 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2567 รายงานว่า น้ำป่าจากคีรีวงไหลลงสู่พื้นที่ลานสกา ระดับน้ำบริเวณสะพานคีรีวงใกล้ถึงใต้สะพานแล้ว เทศบาลนครนครศรีธรรมราชเตรียมรับมือขั้นสูงสุด

ทั้งนี้ปริมาณน้ำป่าที่ไหลบ่าทะลักเชี่ยวกรากผ่านน้ำตกหนานหินท่าหา บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา ลงคลองท่าดี เข้าสู่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 - 8 ชั่วโมง 

โดยเมื่อเวลา 22.30 น. ของวันที่ 15 ธ.ค. เทศบาลนครนครศรีธรรมราชประกาศระดับน้ำที่สถานีท่าใหญ่สูงถึง 650 ซม. (ขั้นสูงสุด) ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง

เวลา 23.11 น. มีการแจ้งเตือนประชาชนใน 4 โซน จำนวน 20 ชุมชน ให้เตรียมขนย้ายทรัพย์สินและอพยพผู้เปราะบางไปยังพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากคาดว่าน้ำจะท่วมพื้นที่ในเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2567

ณ เวลา 06.19 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2567 สถานการณ์การจราจรในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีดังนี้

- ถนนสาย 403 ท้ายสำเภา-มหาวิทยาลัยรามคำแหง: น้ำท่วมสูง รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้
- ทางเข้าศูนย์ราชการนาสาร: รถเล็กไม่สามารถผ่านได้
- เส้นทางนาพรุ-เบญจม: รถผ่านไม่ได้
- ถนนกะโรม-เบญจม: ผ่านได้เพียงฝั่งเดียว

เมื่อเวลา 07.50 น. เจ้าหน้าที่ประกาศปิดเส้นทางฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้า ธ.ก.ส. ลานสกา จนถึงทางเข้าคีรีวง จนถึงขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราชครอบคลุม 11 อำเภอ 51 ตำบล 289 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบรวม 32,608 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

กรมชลประทานรายงานปริมาณฝนสะสมในพื้นที่นครศรีธรรมราชตลอด 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา (14-15 ธันวาคม 2567) วัดได้ 299.0 มิลลิเมตร โดยมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 63 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 19 เครื่อง ในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งระดับน้ำในคลองท่าดี ณ สถานี X.285 ยังคงสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.66 เมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สส.พิมพ์ภัทราเปิดบ้านตั้งครัวช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เผยสถานการณ์ น้ำท่วมนครศรีธรรมราช ยังวางใจไม่ได้

(16 ธ.ค. 67) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค รวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่าสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากมรสุมตะวันออกยังไม่แน่นอน

“ตั้งแต่เมื่อวานซืน ปุ้ยยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และวันนี้ได้เปิดบ้านตั้งครัวช่วยเหลือผู้ประสบภัย เราจะอยู่เคียงข้างกันท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ” เธอกล่าว พร้อมย้ำว่าสภาพอากาศยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำในคลองท่าทนและคลองท่าเชี่ยวระบายลงสู่อ่าวไทยได้ยาก เนื่องจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงและมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งทุกหน่วยงานท้องถิ่นกำลังเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า เช้าวันนี้ น้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงได้เปิดบ้านเพื่อจัดตั้งโรงครัวช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

เธอเตือนว่า สภาพอากาศยังคงไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากแนวร่องมรสุมขยับขึ้นลงผ่านพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ชุมพรจนถึงชายแดนภาคใต้ ทำให้ดินในหลายพื้นที่อิ่มตัวจากฝนตกสะสมหลายวัน เสี่ยงต่อเหตุดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่เทือกเขาหลวงตั้งแต่ขนอมจนถึงทุ่งสง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง

“พื้นที่บ้านเราที่สิชล ขนอม ท่าศาลา และนบพิตำ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมบนเนินเขาจำนวนมาก ต้องเพิ่มความระมัดระวังสูงสุด หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที” เธอกล่าวปิดท้ายด้วยความหวังว่า “เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันค่ะ”

อบจ.นครศรีฯ ตัดงบ!! อุดหนุน โรงพยาบาล ไม่ผ่านสภา!! ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(18 ม.ค. 67) ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) มีการตัดงบอุดหนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจริง มีการตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลยุพราช อ.ฉวาง จริง

ไม่ใช่แค่นี้ยังตัดงบอุดหนุนโรงเรียนต่าง ๆ อีกสี่สิบกว่าโรง รวมทั้งหมด 154 โครงการ เป็นวงเงิน 47 ล้านบาท เพื่อนำเงินงบประมาณไปใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

ต้นสายปลายเหตุมาจากการที่ ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’ อดีตนายกฯอบจ.นครศรีฯ ลาออกก่อนหมดวาระ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้ง คือเลือกนายกฯอบจ.ก่อน แล้วมาเลือกตั้ง ส.อบจ.อีกครั้ง ในขณะที่ อบจ.นครศรีฯ ตั้งงบประมาณเพื่อจัดการเลือกตั้งไว้ 86 ล้านบาท ใช้เพื่อเลือกตั้งนายกฯอบจ.ไปแล้ว 74 ล้านบาท เหลืองบเพื่อใช้จัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.เพียง 10 กว่าล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เพียงพอ อบจ.นครศรีฯจึงต้องจัดหางบเพิ่มเติม เพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.ให้แล้วเสร็จตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ช่วงเวลาสั้นๆ ง่ายๆ คือการ ‘ตัดงบอุดหนุน’ อันเป็นภารกิจรองของท้องถิ่น

ผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง อบจ.นครศรีฯในเวลานั้น เมื่อนายกฯอบจ.ลาออก ปลัด อบจ.ต้องทำหน้าที่แทน จนกว่าจะได้นายกฯคนใหม่ อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ส.อบจ. เมื่อได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการแล้ว จึงตัดสินใจหางบประมาณจัดการเลือกตั้งด้วยการตัดงบประมาณอุดหนุนส่วนราชการต่างๆ และเลือกที่จะตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาล โรงเรียน จึงทำให้เกิดกระแสดราม่าขึ้น เมื่อ ‘น้ำ-วาริน ชิณวงค์’ นายกฯอบจ.นครศรีฯ เป็นคนลงนามในหนังสือแจ้งการตัดงบประมาณอุดหนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบด้วยตัวเอง ทำให้ตกเป็นเหยื่อ เป็นขี้ปากของฝ่ายตรงข้ามทันที

เราจะลองย้อนหลังไปดูเส้นทางการตัดงบอุดหนุนของ อบจ.นครศรีฯ กันว่า เกิดในช่วงไหนอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

การดำเนินการพิจารณาตัดงบอุดหนุนนี้ได้ดำเนินเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 โดยปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในขณะนั้น ในระหว่างรอนายกฯคนใหม่

ความจำเป็นในการตัดงบอุดหนุน เนื่องจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้ตั้งงบประมาณเป็นค่าจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. และส.อบจ. ไว้ 86 ล้านบาท 

ภายหลังจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. มีงบประมาณคงเหลือประมาณ 10 กว่าล้านบาท ได้จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งส.อบจ แล้ว ต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติม 47 ล้านบาทเศษ

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของ อปท. พ.ศ.2559 ข้อ 4(3) อปท.ต้องให้ความสำคัญกับโครงการอันเป็นภารกิจหลักตามแผนพัฒนาท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการเอง และสถานะทางการคลังก่อนที่จะพิจารณาให้เงินอุดหนุน

แต่ประเด็นคือ อบจ.นครศรีฯ ภายใต้การบริหารชั่วคราวของ ‘ดุษฎี จันทร์พุ่ม’ เลือกที่จะตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลยุพราช ฉวาง (คุณภาพชีวิต)รวมถึงงบอุดหนุนโรงเรียน (การศึกษา) เมื่อเลือกตัดงบโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จึงหลีกหนีไม่พ้นการตกเป็นขี้ปากของฝ่ายตรงข้าม เพราะอย่าลืมว่า ฝ่ายตรงข้ามเขาอยู่ร่อนพิบูลย์ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.ในเขตนั้นจึงฟูมฟายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ทันที

จริง ๆ อบจ.ยังมีทางเลือกในการตัดงบก้อนอื่น เช่น งบกลาง งบสร้างถนน งบสร้างสะพาน ที่ตอนหาเสียงก็กล่าวหาเขาว่า สร้าง ๆๆๆ สร้างถนนเยอะ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ประเด็นพิจารณา คือ การตัดงบอุดหนุนโดยฝ่ายบริหารนั้น ชอบหรือไม่ อย่าลืมว่า ข้อบัญญัติงบประมาณ ได้รับอนุมัติจากสภา อบจ.การจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในข้อบัญญัติ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา.อบจ.ก่อนหรือไม่ ฝ่ายบริหารเปลี่ยนแปลงเอง โดยสภาไม่รับรู้ด้วย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติงบประมาณโดยสภาไม่รับรู้ น่าจะเป็นปัญหาต่อไปของ อบจ.นครศรีฯ

เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน!!

(12 ก.พ. 68) จากการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ในวันที่ 27 เมษายน ณ สนามหน้าเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช มีข้อความตอนหนึ่งในคำปราศรัยของผม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวถึงนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย ว่าเป็นผู้คัดค้านการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลเขาพลายดำ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และล่ารายชื่อประชาชนเพื่อขัดขวางโครงการดังกล่าว

ข้อมูลการปราศรัยผมอ้างอิงจากบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้ตรวจสอบพบว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อน นายวิทยาไม่ได้คัดค้าน และล่ารายชื่อประชาชนเพื่อขัดขวางโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด 
ผมจึงขออภัยต่อนายวิทยา แก้วภราดัย ในความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และคำปราศรัยที่ทำให้เกิดความเสียหายไว้ ณ ที่นี้

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย

‘สส.วิทยา แก้วภราดัย’ แสดงสปิริต ถอนแจ้งความ ไม่ติดใจเอาความทั้ง ‘แพ่ง-อาญา’ ที่ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ปราศรัยใส่ร้าย ด้วยข้อมูลเท็จ ล่าสุดเจ้าตัวยอมรับผิด โพสต์ขอโทษ

(12 ก.พ. 68) นายวิทยา แก้วภราดัย สส. บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ตัดสินใจถอนแจ้งความ ไม่ดำเนินคดีกับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ช่วยหาเสียงและนักปราศรัยจากพรรคเพื่อไทย หลังเจ้าตัวยอมรับว่าให้ข้อมูลผิดพลาดบนเวทีปราศรัย และโพสต์ขอโทษผ่านโซเชียลมีเดีย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงที่ สนามหน้าเมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยพาดพิงว่านายวิทยาเป็นผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเล เขาพลายดำ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อขัดขวางโครงการ ซึ่งนายวิทยา ยืนยันว่าเป็นข้อมูลเท็จ และส่งผลให้เขาตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2566

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายณัฐวุฒิ ได้ติดต่อมาขอโทษเป็นการส่วนตัว และโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในวันนี้ ยอมรับว่าการกล่าวหานั้นเกิดจาก ความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อมูลที่อ้างอิงมาจากรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่อมาได้ตรวจสอบพบว่านายวิทยาไม่ได้คัดค้านหรือขัดขวางโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

ในโพสต์ขอโทษ นายณัฐวุฒิระบุว่า “ผมขออภัยต่อนายวิทยา แก้วภราดัย ในความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และคำปราศรัยที่ทำให้เกิดความเสียหายไว้ ณ ที่นี้”

ด้วยเหตุนี้ นายวิทยาจึงพิจารณาแล้วว่า ณัฐวุฒิได้แสดงความรับผิดชอบและสำนึกผิดอย่างจริงใจ จึงตัดสินใจ ถอนคำร้องทุกข์ และไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาอีกต่อไป

การตัดสินใจของนายวิทยาถือเป็น อีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการเมืองที่พร้อมเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับผิดและขอโทษโดยไม่จำเป็นต้องต่อสู้กันทางกฎหมาย ขณะเดียวกัน กรณีนี้ก็เป็นบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลบนเวทีปราศรัยที่ต้องรอบคอบและตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนจะกล่าวถึงบุคคลอื่น

‘มะม่วงแช่อิ่ม’ จิ้ม!! ‘วาซาบิ’ จากร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ สิงหนคร ถูกคัดเลือกขึ้นโต๊ะ!! เสิร์ฟ ครม.สัญจร ‘สงขลา’ อร่อยละมุนลิ้น

(15 ก.พ. 68) พิเศษ…มะม่วงเบาแช่อิ่ม สูตรพิเศษคิดเอง ทำเอง จิ้มวาซาบิ จากร้านมะม่วงเบา คาเฟ่ สิงหนคร ได้รับการคัดเลือกให้นำไปเสิร์ฟเป็นอาหารว่างเลี้ยงคณะรัฐมนตรีช่วงสัญจรไปประชุมที่สงขลา ช่วงวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์นี้

“มะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิ เป็นสูตรพิเศษไม่เหมือนใคร ทางร้านคิดขึ้นมาเอง ไม่มีที่ร้านอื่น รสชาติก็จะละมุนลิ้นขึ้น อร่อยในแบบที่แตกต่างกันออกไป” พงศ์ศักดิ์ มากสุวรรณ เจ้าของร้านสาธยาย

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า เราจะคัดมะม่วงอย่างดี ไม่อ่อน ไม่แก่จนเกินไปทางมาหั่น ล้างก่อนจะแช่อิ่มตามสูตรของร้าน เราสามารถเลือกมะม่วงได้ เนื่องจากสิงหนครเป็นแหล่งปลูกมะม่วงเบาที่ใหญ่ที่สุด เป็นผลิตผลที่มีจีไอ“

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โชตินรินทร์ เกิดสม เป็นคนตัดสินใจให้เอามะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิจากทางร้านไปขึ้นโต๊ะเสิร์ฟ ครม. เพราะผมเคยนำไปฝากท่านผู้ว่าฯให้ได้ชิมมาแล้ว ท่านผู้ว่าฯให้นายเอกสิทธิ์ สองเมือง นายอำเภอสิงหนคร คัดเลือกของว่างไปเลี้ยง ครม.นายอำเภอก็เสนอมะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิจากทางร้าน ผู้ว่าฯเคยชิมมาแล้ว จึงตัดสินใจเลย

“ทางร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ เราจะคิดสูตรอาหารใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่น เส้นบีหุ้นผัดเคย ล่าสุดเราลองทำปลาช่อนทะเลนึ่งด้วยมะม่วงเบา ไม่ต้องใช้มะนาว รสชาติก็จะนุ่มละมุนกว่า ไม่จี๊ดจ๊าดเหมือนมะนาว อร่อยกว่า”

พงศ์ศักดิ์ บอกอีกว่า ทางร้านจะเน้นอาหารประเภทปลา ปลาสดๆจากทะเลที่ชาวประมงในย่านนั้นนำมาขาย มีปลาเนื้ออ่อน (ทำได้หลายเมนู) จะฉู่ฉี่ หรือทอดกรอบ แกงส้มก็อร่อย แกงส้มเราก็มีแกงส้มมะม่วงเบาให้เป็นทางเลือกของลูกค้า นอกจากนี้เรายังมีหอยจ๊อปู เนื้อปูแน่น ๆ อีกด้วย

“รับรองว่ามารับประทานอาหารที่ร้านมะม่วงเบาแล้วจะไม่ผิดหวังกับบรรยากาศแนวลูกทุ่ง เมนูอาหารให้เลือกมากมาย เรากำลังทดลองทำเค้กจากมะม่วงเบาด้วย แต่สูตรยังไม่ลงตัวจึงยังไม่นำเสนอลูกค้า มีแต่เค้กรสชาติอื่นที่เราก็ผลิตเองเช่นกัน อีกไม่นานก็จะมีเค้กมะม่วงเบาให้บริการ”

กล่าวสำหรับร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ ตั้งแต่เปิดให้บริการมาก็ได้รับการผลักดันจาก “วิชาญ ช่วยชูใจ” นักจัดรายการวิทยุ และจัดทัวร์ทางไท เป็นทัวร์ท่องเที่ยวเชิงชุมชน วิชาญก็จะนำลูกทัวร์มาแวะที่ร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ตลอด

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า ดีใจและภูมิใจที่ทางร้านได้รับการคัดเลือกให้นำมะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิ ไปขึ้นโต๊ะเลี้ยงผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ขอบคุณนายอำเภอสิงหนคร ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ

‘สุนทร-กระวี’ ใครเหนือชั้นกว่ากัน!! ลงชิงชัย!! สส.เขต 8 นครศรีธรรมราช

(23 มี.ค. 68) ถ้าผลของคดีเป็นไปในทางบวกในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ก็ขอแสดงความยินดีกับ “มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล” สส.เขต 8 นครศรีธรรมราช พรรคภูมิใจไทย ที่ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กล่าวหามุกดาวรรณทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี 2566

แต่ถ้าผลทางคดีออกมาเป็นลบก็ขอแสดงความเสียใจต่อมุกดาวรรณ ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ที่อาจจะยาวนานถึง 10 ปี และต้องจ่ายค่าจัดการเลือกตั้งใหม่อีกหลายล้าน พร้อมกับการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กกต.ก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง

กล่าวสำหรับพรรคภูมิใจไทยยังถือว่าเป็นพรรคทางเลือกของคนใต้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพียงแต่ว่า พรรคภูมิใจไทยส่งส่งใครลงรักษาฐานตรงนี้ไว้ ถ้าเล็งไปในสายของ “เลื่องสีนิล” ก็จะมีไสว เลื่องสีนิล เป็นตัวเลือกส่งเข้าประกวด แต่บทบาททางการเมืองในฐานะเป็นครู ยังถือว่าไม่โดดเด่นมากนัก แต่มุกดาวรรณก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอคนของตัวเองเข้าแข่งขัน

แข่งขันกับใคร…ในสายตาผมมีอยู่ 2 คน คนแรก คือ กระวี หวานแก้ว อดีต สจ.ฉวาง คนย่านกะเบียด ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สว.ณัฐกิตติ์ หนูรอด เป็นคนทำข้อมูล ชงข้อมูลให้กับ สว.ณัฐกิตติ์ เพื่อนำไปหารือในสภา หรือประสานส่วนราชการในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

กล่าวถึง สจ.กระวี ทำหน้าที่อยู่ในสภาฯอบจ.นครศรีฯร่วม 7 ปี ช่วงเป็น สจ.ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่ไม่น้อย

เท่าที่ประมวลได้ และนำมาเสนอ เช่น

1.เรื่องการพัฒนาเขาศูนย์ให้เป็นเหล่งท่องเที่ยว "จุดชมวิวทะเลหมอก "ของ จ.นครศรีธรรมราช และภาคใต้ ถ้าย้อนไปในอดีตเขาศูนย์เป็นแดนสนธยา กับการเปิดศึกแย่งชิงกันจองพื้นที่ขุดหาแร่แบบไม่มีสัมปทาน เป็นฐานที่ตั้งของคนอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐ ประชาชนเปิดฉากสู้รบกันเอง เพื่อแย่งพื้นที่ขุดหาแร่ จนรัฐบาลต้องประกาศปิดเขาศูนย์ เขาศูนย์อากาศดี ไม่แตกต่างจากคีรีวง จึงได้รับรู้การพัฒนาและยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ทุกวันนี้มีจุดให้ชมทะเลหมอก มีรีสอร์ตเกิดขึ้นมากมาย

2.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ (น้ำแล้ง และน้ำท่วม)จากอ่างเก็บน้ำคลองกะทูน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะกินพื้นที่ ฝั่งตะวันตก-ฝั่งเหนือของนครศรีธรรมราชทั้งหมด (พิปูน ฉวาง ช้างกลาง นาบอน ถ้ำพรรณรา และทุ่งใหญ่ ไปต่อเขต จ.สุราษฏร์ธานี  

3.เป็นผู้เสนอและติดตามการของบประมาณโครงการขยายถนนสาย 4015 นครศรีธรรมราช- สุราษฎร์ธานี สายใน( นครศรีฯ- บ้านส้อง)เพราะเป็นถนนสายสำคัญ ที่ผ่านมาทางลานสกา แหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศดีที่สุดในประเทศไทย คือ บ้านคีรีวง ไปยังช้างกลาง (เขาธง เขาเหมน วิวาห์ในม่านหมอก) ฉวาง พิปูน ต่อเขต อ.เวียงสระ ถนนเส้นนี้ สำคัญสำหรับการท่องเที่ยว และการขนส่งพืชผลทางการเกษตรเช่นผลผลิตทุเรียน ไม้ยางพารา ซึ่ง อ.พิปูนถือว่าผลิตผลไม้ทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อยประดับประเทศและมีปริมาณมากที่สุดใน จ.นครศรีธรรมราชหรือภาคใต้ เชื่อมต่อไปยัง แหล่งท่องเที่ยวอื่นใน อ.พิปูน ต้นน้ำตาปี แหล่งน้ำจืดที่สะอาดที่สุดในประเทศไทย ไปวัดพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จันดี และไปยังจุดชมวิวทะเลหมอก เขาศูนย์ ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง บนยอดเขาศูนย์ กำลังก่อสร้าง รูปหล่อ พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถนน 4015 ยังเชื่อมต่อไปยัง อ.เวียงสระ สุราษฎร์ธานี อีกด้วย

4.โครงการเชื่อมต่อถนนสาย 4189 อ.พิปูน- อ.นบพิตำ ข้ามเทือกเขาหลวง นครศรีธรรมราช ซึ่งเป๋นถนนสายพระราชดำริ ที่มีการใช้งานสัญจรไปมาอยู่ก่อนแล้วจนถึงปี 2531 ได้เกิดภูเขาถล่ม ทะเลโคลนและไม้ซุงมาปิดกั้นเส้นทาง ในพื้นที่ อ.พิปูน ถนนก็ไม่ได้มีการใช้งานตั้งแต่บัดนั้นะเป็นต้นมา ซึ่งตอนนี้มีการรื้อฟื้นถนนเส้นนี้ เพื่อให้กลับมาสัญจรไปมาอีก แค่ต้องมีขั้นตอนของอุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่เขาเป็นเจ้าของพื้นที่

เหล่านี้คือผลงานอันเป็นฝีมือของ สจ.กระวี ที่ควรได้รับการพิจารณา และให้โอกาสคนพื้นที่ได้ทำงาน

คนที่สองคือสุนทร รักษ์รงค์ อดีตนักศึกษากิจการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยทำหน้าที่ผู้จัดการวงมาลีฮวนน่า วงดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดัง จากนักศึกษากิจกรรมก็เดินเข้าสู่นักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง จับงานด้านการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา และชาวสวนปาล์ม กับการผลักดัน “สวนยางยั่งยืน” ปลูกพืชชนิดอื่นเสริมในร่องยาง สร้างรายได้ใหม่

จากนักกิจกรรมนักศึกษาในรั้วมหาลัยสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นสิทธิของเกษตรกร ทั้งเรื่องยาง ปาล์ม ที่ดินทำกิน หนี้สิน และอื่นๆ

ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.เขต 8 นครศรีฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมา 18000 กว่าคะแนน แต่พ่ายแพ้ให้กับมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล วันเวลาเปลี่ยนไป สุนทรเข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทย

เมื่อมาเป็นนักการเมือง ต้องกล้านำเสนอนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหา โดยวิธีการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานของ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงานฯ เข้าใจว่าน่าจะมีภารกิจในการร่วมกันยกร่างนโยบายด้านการเกษตร เพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น นโยบายยางพารา นโยบายปาล์ม เป็นต้น

“หมดยุคการกำหนดนโยบายจากบนลงมาข้างล่าง โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม เพราะผู้มีส่วนได้เสียต้องออกแบบและกำหนดอนาคตของตนเอง 

ต้องสร้างอำนาจกำหนดใหม่ให้ประชาชนก่อน จึงสามารถใช้วาทกรรม “การทำงานการเมืองที่ยึดโยงกับผลประโยชน์ของประชาชน”

เส้นทางการต่อสู้ของสุนทรลูกชาวบ้าน จากแกนนำประท้วงราคายางข้างถนน สู่อดีดบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกตั้งจากชาวสวนยางทั่วโลกเป็นอดีตบอร์ดยางระดับสากล(GPSNR) 2 สมัย 

มีโอกาสได้ประชุมในเวทีระดับสากล ที่ประเทศสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ อีกทั้งยังได้รับโอกาสให้เป็นประธานร่วม(CO-Chairman) ของ GPSNR ในปี 2567

สุนทรจึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง สิ่งที่ภาคภูมิใจคือการเอาพี่น้องชาวสวนยางชายขอบ หรือชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์และคนกรีดยาง เข้าสู่ระบบ นั่นคือสามารถขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยได้ เป็น “เกษตรกร”ได้

ในเวทีระดับสากล เมื่อมีข้อกำหนดของ EU ที่เรียกว่า EUDR ไม่รับซื้อยางจากพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า ก็ต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายว่า หลังมติ ครม.26 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยไม่มีสวนยางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ยังวัดแปลงไม่แล้วเสร็จ แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของชาวสวนยาง รัฐให้สิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว

ถ้าผลทางคดีออกมาในทางลบสำหรับมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล “สุนทร-กระวี” จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมของพรรคภูมิใจไทย ถ้าตัดกันด้วยดีเบตสู้สุนทรไม่ได้ แต่กระวีเหนือกว่าในแง่ของคนในพื้นที่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top