Monday, 19 May 2025
นครศรีธรรมราช

‘คนโคราช’ ไม่ใช่ ‘ลาว’ สำเนียงโคราช ‘เหน่อ’ เฉพาะตัว | THE STATES TIMES Story EP.141

มรดกตกทอดจาก ‘สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ’ มาจนถึง ‘กรมหมื่นเทพพิพิธ’ ทำให้รู้ว่าคนโคราช ไม่ใช่ ‘ลาว’ และสำเนียงโคราชมีความเหน่อเฉพาะตัว   

ปัจจุบันภาษาและสำเนียงโคราชที่เป็นเฉพาะก็มีอยู่หลายอำเภอ แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะหลายอำเภอก็พูดอีสาน แต่ทว่า ‘ภาษา’ และ ‘สำเนียงโคราช’ มีความคล้ายความเหน่อของคนภาคตะวันออก แต่ภาษาแตกต่างออกไป

ส่วนจะมาที่มาที่ไปอย่างไร ติดตามได้ใน THE STATES TIMES Story เรื่องจริง ฟังเพลิน

‘รมว.ปุ้ย’ กรุยทางยกระดับรอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน 'นครศรีธรรมราช' พร้อมเพิ่มทักษะ 'ชุมชนดีพร้อม' เชื่อมท่องเที่ยว 'สายมู' สร้างรายได้ยั่งยืน

รมว.ปุ้ย ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลุยแผนยกระดับศักยภาพพื้นที่ ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์และวัตถุดิบในท้องถิ่น ผ่านการอัปสกิลชุมชน ให้ 'ดีพร้อม' ถอดรหัสความสำเร็จเชื่อมโยงท่องเที่ยวสายมูสู่การขยายผลพัฒนาชุมชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมหารือนายกฯ เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

(9 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาคควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่และมอบนโยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการยกระดับต้นทุนเดิมไปสู่ศักยภาพในการแข่งขัน 

ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีความเข้มแข็งและประชาชนสามารถมีรายได้อย่างยั่งยืนได้นั้น จึงจำเป็นต้องกระจายโอกาสและสร้างรายได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการเชื่อมโยงศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่

สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดใหญ่ของทางภาคใต้ มีภูมิประเทศและลักษณะภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และมีศักยภาพทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ความศรัทธา และความเชื่อที่มีมนต์เสน่ห์สวยงาม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมการแสดงของชาวภาคใต้ อาทิ ครูหมอมโนราห์ ตาพรานบุญ ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและกลมกลืนกับวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเลื่อมใสสักการะ อาทิ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช, วัดเจดีย์ จึงถือได้ว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู อีกทั้ง ยังมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีความเหมาะสมอย่างมากในการนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม 

ขณะเดียวกัน ได้หารือนายกฯ เพื่อต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมที่มีความพร้อมในการขนส่งเชื่อมโยงในทุกด้าน รวมถึงความพร้อมในการยกระดับทุกมิติด้วยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การขนส่ง และกระจายโอกาสสู่การพัฒนาตามแนววิสัยทัศน์ 'IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง' ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือได้ว่า จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาในทุกๆ ด้านไปสู่เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมองหาโอกาสในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำหรับภาคประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและชุมชนให้สามารถสร้างมูลค่าจากอัตลักษณ์และวัตถุดิบในท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนการแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีที่สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ 

โดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เร่งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบผ่านโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ 'เปลี่ยนชุมชน ให้ดีพร้อม สู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน' ด้วยการถอดบทเรียนความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนจากผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้เข้ารับบริการของกระทรวงอุตสาหกรรมมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบอกเล่าประสบการณ์ในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปปรับใช้กับธุรกิจและเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชุมชนสายมูได้อย่างดี โดยมีประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 2,000 คน 

ขณะเดียวกัน รมว.ปุ้ย ยังได้ใช้โอกาสในการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหารือ กับนายกฯ เศรษฐา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการสนามบิน จ.นครศรีธรรมราชสู่สนามบินนานาชาติ รวมถึงผลักดันการขยายถนน 4 ช่องจราจร ได้แก่ สายคลองเหลง-ขนอม และ ขนอม-ดอนสัก ซึ่งเส้นทางนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญ ในการเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเกาะสมุยที่ใกล้ที่สุด โดยถนนสาย นศ.4088 เชื่อมโยงระหว่าง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ไปยัง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเชื่อมั่นว่าเส้นทางนี้จะสามารถสร้างมิติใหม่ให้กับการท่องเที่ยวในพื้นที่ และเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทุเรียนมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี อีกทั้ง ยังเป็นเส้นทางอพยพของประชาชนในช่วงฤดูมรสุม น้ำหลาก 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับปรุงถนนเลียบชายทะเลขนอม-สิชล และถนนเลียบชายทะเลสิชล-ท่าศาลา เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่ถนนสายการกีฬาและท่องเที่ยวได้ในอนาคตอีกด้วย

‘เจ้าสาว’ ระทึก!! ‘ออร์แกไนซ์’ เทงานในวันแต่งงาน โชคดี!! มีออร์แกไนซ์อีกเจ้ามาช่วยจัดงานได้ทันเวลา

(16 พ.ค.67) สมาชิก TikTok @pangorganizer0624416965 ซึ่งเป็นออร์แกไนซ์จัดงานแต่ง ได้รับงานด่วนมาช่วยเจ้าสาวที่ถูกออร์แกไนซ์เจ้าหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ทิ้งงาน โดยระบุว่า… 

“มีเวลาทำ 1:30 ชม. ปลุกทีมงานตอนตี 4 ทีมงานกว่า 15 ชีวิต….กรี๊ดหนักมาก แต่เราคือมืออาชีพ ทีมงานอัญมณีทองนครศรีธรรมราช #อัญมณีทองนครศรีธรรมราช #อัญมณีทองนครศรีธรรมราช #รับจัดงานแต่ง #จัดงานแต่งครบวงจร”

ซึ่งในคลิปเป็นช่วงที่ทางทีมงานรีบเร่งจัดดอกไม้และเตรียมพื้นที่สำหรับงานแต่ง โดยมีขบวนขันหมากกำลังเดินเข้ามาในพิธี และต้องเร่งจัดให้ทัน ทีมงานทุกคนต่างเร่งสุดฝีมือเพื่อให้งานผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่งทันเวลา

ซึ่งผู้โพสต์บอกว่า “เป็นทีมงานของอัญมณีทอง เนื่องจากมีออร์แกไนซ์ 1 เจ้าเทงานเจ้าสาว ทางเราก็เลยมาช่วย ซึ่งทีมงานตอนนี้ก็ยังไม่ได้นอน มาช่วยเจ้าสาวรวมกว่า 15 ชีวิต ซึ่งทันเวลาพอดี เรามาถึงหน้างานตอนตี 5 ครึ่ง แล้วพิธีสงฆ์ตอน 7 โมงเช้า กระชั้นชิดมาก”

เหตุใด? ‘สส.’ ถึงตัดงบฯ สำหรับ ‘เขาพังไกร’ จ.นครศรีธรรมราช หลังสัญญาจะปรับภูมิทัศน์-สร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาท

ผมก็งงว่า…ทำไมงบประมาณในการปรับภูมิทัศน์บนเขาพังไกร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเสนอโดยองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว (อพท.) ถึงถูกตัดออกไปในงบประมาณปี 67

ถูกตัดในชั้นกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ และผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรให้ตัดงบก้อนนี้ออกไป

เขาพังไกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และ อพท.รับไว้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ แต่เมื่อมีการเสนอของบประมาณเพื่อปรับภูมิทัศน์บนเขาพังไกร กลับไม่ได้รับความใส่ใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตัดงบทิ้งเฉย ซึ่ง #นายหัวไทร ไม่รู้ถึงเหตุผลในการตัด การชี้แจงของหน่วยงานเสนอของบกรรมาธิการงบฯ เข้าใจหรือเปล่า

กล่าวถึง ‘เขาพังไกร’ ต้องมีตำนานผูกโยงกับช้างแน่นอน เพราะมีคำว่า ‘พัง’ หมายถึงช้างตัวเมีย นครศรีธรรมราช มีเรื่องของช้างหลายเชือก เช่น พลายจำเจิญ พลายดำ ช้างตัวเมียเชือกหนึ่งมาล้มที่เขาพังไกร จึงตั้งชื่อชุมชนย่านนี้ว่า ‘เขาพังไกร’

เขาพังไกร ยังมีจุดชมวิวและมีรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่ตั้งบนยอดเขาพังไกร สามารถชมทิวทัศน์ได้ 360 องศา จึงเป็นจุดขายทางด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เหมาะแก่การพัฒนา และยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอ พร้อม ๆ กับการศึกษาเรียนรู้วิถีเกษตร แหล่งทำนาใหญ่ของอำเภอหัวไทร

ตามประวัติศาสตร์การปกครอง เขาพังไกรเคยเป็นที่ตั้งของอำเภอ แต่ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่หัวไทรในปัจจุบัน ‘เขาพังไกร’ ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า ราวปลายกรุงสุโขทัย ตำบลเขาพังไกรขณะนั้นนับเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่ง ซึ่งมีความเจริญทางด้านการเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในสมัยนั้น จนมาถึงปัจจุบันพื้นที่ ต.เขาพังไกร ก็ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นดินแดน 2 ลุ่มน้ำคือลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก 

เขาพังไกรมีอัตลักษณ์การดำรงวิถีชีวิตชาวนาไทยอย่างชัดเจน มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ยังมีการปลูกกันอยู่ เช่น ข้าวไข่มดริ้ว ส้มโอทับทิมสยามก็เริ่มขยายพื้นที่ปลูกจากปากพนังมาถึงหัวไทร มาถึงเขาพังไกรแล้ว

เขาพังไกร โดยเฉพาะบนเขาพังไกร จึงเหมาะสมอย่างยิ่งในการพัฒนา ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเชื่อมโยงกับชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวิถีชีวิตและประเพณีจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมที่ชุมชนร่วมจัดขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ภายใต้การดูแลของ อพท.และท้องถิ่น

รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา (สมัยที่ผ่านมา) พิพัฒน์ รัชกิจประการ เคยเดินทางขึ้นไปร่วมกิจกรรมบนเขาพังไกรมาแล้ว และเคยรับปากจะช่วยผลักดันโครงการปรับภูมิทัศน์และสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทมาแล้ว

ผมเองได้ขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาทบนเขาพังไกรมาแล้วสองครั้ง เพิ่งไปมาเมื่อไม่นานมานี้เอง และเพิ่งรู้ว่าบนเขาพังไกรมารอยพระพุทธบาท และรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ไปสัมผัสกับวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม เห็นท้องนาเขียวขจียืนต้นขนานไปกับต้นตาลสูงเด่นเป็นสง่า

แต่น่าเสียดายโครงการปรับภูมิทัศน์และสร้างวิหารครอบรอยพระพุทธบาทบนเขาพังไกร ถูกตัดทิ้งอย่างไม่ไยดีจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นไรครับ ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น

เรื่อง : นายหัวไทร

ประชาชนได้อะไร? ตั้งจังหวัดใหม่ 'สว่างแดนดิน' และ 'ทุ่งสง'  ทำไม? ไม่ตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 

ในฐานะเป็นคนเกิดอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นคนนครศรีฯ โดยกำเนิด ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการแยกจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกไปจัดตั้งจังหวัดทุ่งสง

สุธรรม จริตงาม สส.พลังประชารัฐ นครศรีธรรมราช พร้อม สส.พรรคเดียวกัน 20 คน ลงชื่อเสนอให้ญัตติให้สภาตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแยก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และ อ.ทุ่งสง ออกไปจัดตั้งจังหวัดใหม่ เรียกว่าจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง แต่ญัตติยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุมสภา เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) เห็นว่า มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่า จึงสลับเอาเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมที่ผ่านมา

ในมุมของ #นายหัวไทร ถือว่าเป็นการเสนอกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะเป็นการเปิดให้มีการขยายตัวของราชการส่วนภูมิภาค อันเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่แบ่งอำนาจไปตามเมืองต่างๆ สวนกระแสสังคมโลกที่เน้นการกระจายอำนาจ (ท้องถิ่น) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

เหตุผลของคณะ สส.ผู้เสนอญัตติระบุว่า ด้วยอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นอำเภอที่ จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองภูมิดลสว่าง

เมืองสว่างแดนดิน เป็นเมืองที่ขึ้นกับมืองสกลนคร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล หลวงปู่คำบ่อ และปราสาทขอม บ้านพันนา เป็นต้น 

ส่วนอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองจากอำเภอเมือง เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคใต้และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมทางบกทั้งรถยนต์และรถไฟ อำเภอทุ่งสงมีประวัติความเป็นมายาวนาน 

ปรากฏตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเคยเป็นแขวง ขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากมณฑล เป็นจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้ง เป็นอำเภอทุ่งสงขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช 

แต่ปัจจุบันพบว่า อ.ทุ่งสงมีปัญหาภูมิประเทศในเรื่องระยะทาง ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร 

ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่ต้องพิจารณาลักษณะพิเศษของจังหวัด ผลดีในการให้บริการประชาชน และหลักเกณฑ์อื่นๆ เช่น เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนโยบายของรัฐบาล เป็นตัน 

จากเหตุผลดังกล่าวคณะ สส.พลังประชารัฐ จึงเห็นสมควร แยกอำเภอสว่างแดนดิน ออกจากจังหวัดสกลนคร และ แยกอำเภอทุ่งสง ออกจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การลงทุน การอุตสาหกรรม การคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยีรวมถึงอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

กล่าวเฉพาะอำเภอทุ่งสง ถ้าแยกไปจัดตั้งเป็นจังหวัด จะมีอะไรเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นเมือง ปัจจุบันมีพระบรมธาตุฯ เป็นอัตลักษณ์ที่ชาวนครศรีฯภาคภูมิใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และกำลังเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถามว่าแล้วทุ่งสงมีอะไร มีสถานีรถไฟ มีพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จะเป็นเมืองที่ขาดอัตลักษณ์

ถามว่าแยกเป็นจังหวัดใหม่ประชาชนได้อะไร? นี่คือธงนำ ประชาชนจะได้งบประมาณจัดตั้งจังหวัดใหม่ 2,000 ล้าน จะได้ศาลากลางหลังใหม่ ได้ผู้ว่าฯ เพิ่มมาอีกคน ได้นายกฯ อบจ. ได้ข้าราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพของชาวบ้านดีขึ้นไหม และทุ่งสงจะเป็นอีกจังหวัด นอกจากยะลา ที่ไม่ได้อยู่ติดทะเล

การยกเหตุผลว่าห่างไกลจากตัวจังหวัด การคมนาคมยากลำบาก ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่น่าจะจริง เดี๋ยวนี้ถนนหนทางสะดวกสบาย เกือบทุกบ้านมีรถยนต์ แค่ชั่วโมงเดียวก็ถึงตัวเมืองแล้ว ถ้าเป็นสมัยปี 2529-2530 ที่ 'ถวิล ไพรสณฑ์' เสนอให้จัดตั้งจังหวัดทุ่งสง อ้างเรื่องการคมนาคมเป็นเหตุผลหนึ่ง ยังพอรับฟังได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่

“ยังคิดแยกจังหวัด/ผมว่ามันไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ คนเห็นด้วยก็ดราม่าไปเรื่อยโน่นนี่นั่น/เอาเงิน2พันล้านที่จะสร้างศูนย์ราชการใหม่ทำประโยชน์กับคนพื้นที่ก่อนดีมั้ย/เพราะแค่เหตุผลมีศาล มีคุก มีขนส่งใกล้บ้านมันก็มีหมดแล้ว...หลายจังหวัดก็มี นอกจาก 'เหล้าขาว' ที่ต้องซื้อเฉพาะในเขตจังหวัด/ข้าราชการที่ย้ายไปอยู่กิ่งจังหวัดส่วนใหญ่ก็คิดแค่เป็นกระดานหกไปที่อื่นท้างน้าน” ความเห็นจากนิกร จันพรม ชาวไร่ขอนแก่น

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุ่งสงมีความเจริญ เป็นรองก็แค่อำเภอเมือง เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ศูนย์กลางกระจายสินค้า มีศาลจังหวัด มีสำนักงานอัยการ มีความพร้อมในระดับหนึ่ง

ถ้า สส.หัวก้าวหน้าหน่อย ต้องเสนอให้ทั้งสองอำเภอ ยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือจังหวัดจัดการตนเอง อย่างนี้น่าสนใจกว่า เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ผู้บริหารเมืองอาจจะเรียกว่า 'นายกเมือง' อย่างพัทยา ก็ได้ หรือ 'นายกนคร' แล้วแต่กฎหมายจะยกฐานะเป็นอะไร หรือจะเรียกว่า 'ผู้ว่าฯ' ก็ได้ แต่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกรุงเทพมหานคร

ถ้าเสนอออกมาในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง หรือองค์ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ก็จะเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้า และสองจังหวัดนี้ก็จะเป็นจังหวัดนำร่องกับการปกครองรูปแบบใหม่

อย่างทุ่งสงอาจจะเรียกชื่อใหม่ว่า 'นครทุ่งสง' อย่างน้อยก็มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ว่า เคยขึ้นอยู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราช

การเสนอให้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่สะท้อนด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีแนวคิด และไม่จริงจังจริงใจอะไรกับการกระจายอำนาจ แถมยังห่วงอำนาจ ขยายฐานอำนาจออกไปอีก อันเป็นแนวคิด 'อำนาจนิยม'

ไม่ใช่ครั้งแรกในความพยายามแยก อ.ทุ่งสง เพื่อจัดตั้งจังหวัดใหม่ มีรายงานผลการศึกษามากมาย จริงๆไม่ต้องเสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการศึกษาให้เสียเวลา เสียงบประมาณ 

ถ้าตั้งใจจริง เสนอ พรบ.จังหวัดทุ่งสง และสว่างแดนดินไปเลย ร่างก็เคยมีให้อ่านกันอยู่แล้ว จะได้เห็นกันว่า สภาเราคิดอะไรกันอยู่ และจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่?

แต่ย้ำว่านายหัวไทรชูมือคัดค้านแน่นอน

‘สว.นครศรีธรรมราช’ อภิปรายในสภาฯ ชี้!! ปัญหาบริหารจัดการขยะ หลังมีชาวบ้านมาร้องเรียน ย้ำ!! นี่คือปัญหาระดับชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไข

(14 ก.ย.67) นายณัฐกิตติ์ หนูรอด สมาชิกวุฒิสภา จ.นครศรีธรรมราช ได้นำเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน กรณีปัญหาบ่อขยะ ต.ช้างซ้าย อ.พระพรพม จ.นครศรีธรรมราช ไปอภิปรายในสภา เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยลงไปตรวจสอบ และสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน โดยณัฐกิตติ์ อภิปรายว่า มีเรื่องราวชาวบ้านร้องทุกข์การบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือว่าไม่ใช่เป็นปัญหาระดับท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาระดับชาติ โดยตนได้รับการร้องเรียนจากนายสมชาย เต็มดวง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ต.ท่าเรือ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมแนบรายชื่อผู้ได้รับความเดือดร้อน และคัดค้านโครงการ 600 คน สาระสำคัญของหนังสือร้องเรียนคือ

ในขณะนี้มีบริษัทแห่งหนึ่ง ได้เข้าไปขุดบ่อขนาดใหญ่ เพื่อก่อสร้างบ่อกำจัดขยะแบบฝังกลบ บริเวณ ม.8 ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ และในพื้นที่หมู่ 4,5,15 และ 19 ต.ท่าเรือ และต.ดอนตรอ ต.ทางพูน อ.เฉลิมพระเกียรติ์ ได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งตอนนี้มีบุคคลที่ได้รับผลกระทบร่วมลงชื่อมาแล้ว 2000 คน

ณัฐกิตติ์ อภิปรายย้ำว่า การบริหารจัดการขยะ มีทั้งด้านบวก และลบ อยากให้กระทรวงมหาดไทยลงไปตรวจสอบ และสอบถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหา เพื่อจะได้รับรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน

กล่าวสำหรับบ่อกำจัดขยะช้างซ้าย ดำเนินโครงการโดยบริษัทเอกชน ในนามบริษัท ช้างซ้าย กรีน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีตระกูลดังทางการเมืองท้องถิ่น และระดับชาติถือหุ้น รับกำจัดขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ/หรือจังหวัดข้างเคียง ด้วยวิธีฝังกลบบนเนื้อที่เกือบ 200 ไร่

โครงการเริ่มมีการขุดบ่อ ยกระดับถนนเข้าพื้นที่ และอยู่ระหว่างการเดินสำรวจรังวัด เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน (โฉนด) เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีชาวบ้านอยู่อาศัยบางส่วนโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์

สภาพพื้นที่เป็นป่าพรุน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เป็นแหล่งรับน้ำและไหลลงสู่ลำคลองต่าง ๆ หลายสาย ผลกระทบ มีบ้านชาวบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ 20 เมตรอยู่บริเวณปากบ่อได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพกลิ่นแมลงหนอน ซึ่งเป็นผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ชุมชนที่อยู่ใกล้สุดประมาณ 300 เมตรโรงเรียน 600 เมตร วัด 700 เมตร แหล่งน้ำดิบสำหรับการใช้ทำประปาหมู่บ้านของอบต.ท่าเรือประมาณ 600 เมตร

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบัน และคาดว่าจะได้รับผลกระทบในอนาคต รวมตัวกันคัดค้านมาแล้วหลายครั้ง และวันที่ 15 กันยายน เวลา 09.00 น.ชาวบ้านก็นัดมารวมตัวคัดค้านอีกครั้ง เพื่อให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

ล่าสุดผู้บริหารบริษัท ช้างซ้าย กรีน จำกัด ได้แจ้งขอยกเลิกการขออนุญาตสร้างบ่อกำจัดขยะกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลช้างซ้ายแล้ว จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากชาวบ้าน

การใช้คำว่า จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านคลางแคลงใจว่า บริษัทยังมีความพยายามต่อไปในการสร้างบ่อกำจัดขยะ

ในส่วนของการเดินสำรวจรังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิ์นั้น สำนักงานที่ดินเตรียมแจกเอกสารสิทธิ์แล้ว แต่ชาวบ้านร้องค้านไว้ทัน การแจกเอกสารสิทธิ์จึงต้องชะลอไว้ก่อน

กล่าวสำหรับการผลักดันบ่อกำจัดขยะโดยเอกชนเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับบ่อกำจัดขยะทุ่งท่าลาดล้นเป็นภูเขาขยะ จนสภาทนายความโดยสมพร ดำพริก และคณะได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ 10 กว่าหน่วยงานต่อศาลปกครอง ให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขปัญหา ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้แก้ไขปัญหา 2 ประการ แต่จนถึงขณะนี้ทางเทศบาลนครนครศรีธรรมราชก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และในที่สุดทางเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้สั่งปิดบ่อกำจัดขยะทุ่งท่าลาด มีผล 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป

ประเด็นปัญหาคือ เมื่อบ่อกำจัดขยะทุ่งท่าลาดปิดตัวลง บ่อขยะใหม่ของเทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีศักยภาพ ก็ไม่มี บ่อกำจัดขยะของเอกชนก็ยังไม่เกิด

นครศรีธรรมราชจะกลายเป็นเมืองที่มีปัญหา ‘วิกฤตขยะ’ แน่นอน

‘อ่าวประทับ’ จุดเริ่มต้น สะพานเชื่อมเกาะสมุย ในเขต อ.ขนอม เดินทางสะดวก พร้อม!! รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

(13 ต.ค. 67) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘โครงการพัฒนาเกาะสมุย’ และ ‘อ่าวประทับ’ จุดเริ่มต้น สะพานเชื่อมเกาะสมุย ในเขต อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช โดยมีใจความว่า …

อ่าวประทับ จุดเริ่มต้น สะพานเชื่อมเกาะสมุย ในเขต อ.ขนอม

พร้อมจุด เข้า-ออก 2 จุด ในเขต ดอนสัก สุราษฎร์ธานี และ ขนอม นครศรีธรรมราช เปิดโอกาสใหม่ในการท่องเที่ยว

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ผมไปนครศรีฯ ขากลับเลยแวะเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย ฝั่งขนอม ซึ่งจากการศึกษาล่าสุด ได้เลือกตำแหน่ง อ่าวประทับ เป็นจุดเริ่มต้นของสะพานเพื่อข้ามไปสมุย

ซึ่งจริงๆโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเกาะสมุย โดยจะไปสนับสนุนโครงการท่าเรือสำราญ เกาะสมุย ที่อนาคตจะรองรับปริมาณผู้โดยสารเที่ยวในเกาะอีกมหาศาล

หลายๆ คงทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบัน การเดินทางไปเกาะสมุย เดินทางด้วยรถยนต์ ผ่านเรือเฟอร์รี่ เท่านั้น ทำให้มีปัญหาในด้านจราจรก่อนข้ามเกาะ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการรอข้ามเกาะ

โดยปัจจุบัน เรือเฟอร์รี่ จะเริ่มต้นที่ท่าเรือดอนสัก สุราษฎร์ธานี ข้ามไปที่ เกาะสมุย ใช้เวลาประมาณ 1:30 ชั่วโมง รวมถึงมีปัญหา เรื่องมรสุม ที่ต้องเจอในช่วงฤดูฝน 

ทำให้รัฐบาลมีแนวคิดในการจะก่อสร้าง สะพานเชื่อมเกาะสมุย โดยมอบหมายให้ การทางพิเศษฯ เป็นคนศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่า ของโครงการ

ซึ่งปัจจุบัน ผ่านการประชุมมา 2 ครั้งแล้ว ทำให้ได้ตำแหน่งและเส้นทางของสะพาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

รายละเอียดและตำแหน่งของสะพานเชื่อมเกาะสมุย

แนวทางที่เลือก เป็นเส้นทางที่ 6 

สะพานเริ่มต้นจาก ริมฝั่งอ่าวประทับ อ.ขนอม นครศรีธรรมราช วิ่งออกไปทางทิศเหนือ แล้วเลี้ยวเล็กน้อยมุ่งหน้าไปทางเกาะสมุย แล้วเลี้ยวอีกครั้งใกล้เกาะแตน ก่อนเข้าพื้นที่เกาะสมุย บริเวณหาดท้องกรูด เชื่อมต่อกับทางหลวง 4170

รูปแบบสะพาน จะมี 2 ลักษณะ
- สะพานทั่วไป ช่วงน้ำตื้น และไม่มีเรือผ่าน จะเป็นสะพานช่วงเสา 60 เมตร ท้องคานถึงระดับน้ำ 15 เมตร
- สะพานหลัก เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ผ่านได้ มีช่วงเสากว้างที่สุด 250-300 เมตร ท้องคานถึงระดับน้ำ 50 เมตร เป็นรูปแบบสะพานขึง
สะพานจะมีขนาด 4 เลน + ไหล่ทางกว้าง 1 เมตร ทั้ง 2 ข้าง
ช่วงระดับดิน จะมีทางพิเศษ เชื่อมจาก จุดเริ่มต้นของสะพาน ไปยังทางเข้า-ออก ทั้ง 2 จุด เป็นถนนหลัก 4 เลน และถนนบริการเชื่อมโยงชุมชนโดยรอบ ข้างละ 2 เลน

จุดตัดทางเข้า-ออก โครงการ มี 2 จุด คือ
1. จุดตัดถนน 4142 กม.35 ซึ่งอยู่ฝั่ง อ.ขนอม 
2. จุดตัดถนน 4142 กม.14 ซึ่งอยู่ฝั่ง อ.ดอนสัก ซึ่งเป็นเส้นหลักเข้า ดอนสัก และทางไปท่าเรือเฟอร์รี่

ส่วนตัวผมมองว่า ตำแหน่งก่อสร้างเหมาะสม และผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณอ่าวประทับก็ต่ำ 

แต่ก็ต้องฝากให้ทีมงานช่วยวางแผนฟื้นฟูป่าชายเลนที่จะต้องมีการตัดเพื่อก่อสร้างด้วยครับ โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

แม้ทีม ‘เจ้ต้อย’ จะเป็นต่อ ก็จะประมาททีม ‘น้ำ วาริน’ไม่ได้ ใช้ไม้เด็ด!! ‘น้ำซึมบ่อทราย’ แทรกซึม ทุกพื้นที่ กระแสเริ่มมา

(23 ต.ค. 67) ถ้ายอมรับความจริง ต้องบอกว่า ‘น้ำ-วาริน ชิณวงค์’ ผู้สมัครชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.)หมายเลข 2 จากกลุ่มนครเข้มแข็ง ยังเป็นรอง ‘เจ้ต้อย’ กนกพร เดชเดโช อดีตนายกฯอบจ. ผู้สมัครนายกฯอบจ.หมายเลข 1 จากกลุ่มพลังเมืองนคร

เจ้ต้อยเป็นต่อในฐานะเป็นแชมป์ บริหาร อบจ.มาเกือบ 4 ปี แน่นอนว่าผลงานมี เป็นที่ปรากฏ ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมือง กลุ่มพลังสตรี ในฐานะประธานสตรีนครศรีธรรมราช

ไม่ใช่แค่นั้นเจ้ต้อยยังเป็นภริยาของ ‘วิฑูรย์ เดชเดโช’ อดีตนายกฯอบจ และยังเป็นแม่ของ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ และ พิทักษ์เดช เดชเดโช สส.ประชาธิปัตย์ นครศรีฯ เป็นแม่ของ ‘ทอ-พิชิตชัย เดชเดโช’ ส.อบจ.นครศรี อันเป็นเครื่องข่ายใหญ่ เชื่อมโยงไปถึงระดับท้องที่ ท้องที่

แต่ก็มีคำถามมากมายประเดและดังเข้าหาเจ้ต้อย สังเกตเห็นในสังคมออนไลน์ว่า ลาออกแล้วมาสมัครใหม่ทำไม หรือบางเรื่องในรอบเกือบ 4 ปี ทำไมไม่ทำ เหล่านี้เป็นต้น แต่เจ้ต้อยก็ให้คำตอบไว้ชัดว่า การลาออกก่อนหมดวาระ เกิดจากข้อจำกัดในการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาในกรอบ 180 วัน กับปัญหาที่เห็นอยู่ในอนาคต คือปัญหาภัยพิบัติ ก็เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ นายกฯอบจ.หลายจังหวัดในโซนภาคกลาง นครสวรรค์ 
พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุทัยธานีก็ลาออกก่อนหมดวาระด้วยเหตุผลเดียวกัน

ส่วน ‘น้ำ-วาริน’ โตมาทางสายธุรกิจ เช่น ธุรกิจคอมพิวเตอร์ ร้านอาหาร และล่าสุดกับการทำสวนส้มโอทับทิมสยาม เคยเป็นประธานหอการค้านครศรีฯ และกรรมการหอการค้าไทย ในทางการเมือง ก็ถือว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยเรียนเคยเป็นนักศึกษากิจกรรม เคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษา การเลือกตั้ง สส.ครั้งที่แล้ว เกือบได้ลงสมัคร สส.ในเขตบ้านเกิดในนามพรรคภูมิใจไทย แต่ด้วยเขตซ้ำซ้อนจึงต้องหลีกทางให้ ‘มานะ ยวงทอง’

หลังการเลือกตั้ง ‘น้ำ’ ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รมว.กระทรวงแรงงาน จนเมื่อ ‘เจ้ต้อย’ ลาออกจากนายกฯ อบจ. ‘น้ำ’ จึงกราบลาพิพัฒน์ ทิ้งเก้าอี้ หิ้วกระเป๋ากลับบ้านด้วยมาดสาวมั่น ตั้งใจรับใช้ภารกิจทางการเมืองในตำแหน่ง นายกฯ อบจ.นครศรีฯ พิพัฒน์ก็ให้การสนับสนุนเต็มกำลัง

‘สู้เต็มที่ไม่มีถอย’ พิพัฒน์ กล่าวกับเพื่อนในวงสังสรรค์ที่หาดใหญ่ เป้าหมายคือต้องชนะ

แม้การฟอร์มทีมบริหารของ ‘น้ำ’ จะดูไม่สด ไม่ใหม่ แต่การจัดวางคนเพื่อคุมพื้นที่ หาคะแนนน่าสนใจ เป็นการจัดวางคนเพื่อสะสมแต้ม เก็บเล็กผสมน้อย เก็บทุกเม็ดเท่าที่ ค่อยๆเดินอย่างสุขุมนุ่มลึก แทรกซึมเข้าไปเรื่อย กระแสก็จะค่อยๆมา

หมากเกมการเดินของทีมยุทธศาสตร์น้ำ เป็นกลยุทธ์ที่ประมาทไม่ได้ แม้วันนี้จะเป็นรอง แต่ในทางการเมือง 30 กว่าวันที่เหลืออะไรก็เกิดขึ้นได้

ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดในวันเดินเข้าสู่คูหา 24 พฤศจิกายนนี้

ประชาธิปัตย์นำร่อง 'เมืองคอนโมเดล' สำเร็จ สส.ปชป.นครศรีธรรมราช ขอบคุณ 'รัฐมนตรี เฉลิมชัย' แก้ปัญหาฉับไวมอบสมุดที่ดินทำกินคทช.ล็อตแรก1หมื่นราย8หมื่นไร่รอของขวัญปีใหม่ครบ 3 แสนไร่

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช เปิดเผยวันนี้ว่า ต้องขอขอบคุณ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะที่ได้เดินทางมาแจกสมุดประจำตัวผู้ได้รับการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจากการที่ตนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์นครศรีธรรมราชได้หารือในสภาผู้แทนราษฎรเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อนระหว่างรัฐและประชาชน ในนครศรีธรรมราชมีทั้งหมด 380,000 ไร่ในความเป็นจริงแล้วมีที่ดินมากกว่านี้ เป็นปัญหามาอย่างยาวนานนับร้อยปีบางพื้นที่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคนไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินเลย หลังจากได้มีการหารือในสภา รมว ทส.จึงได้เรียกไปพูดคุยกันหาแนวทางในการแก้ไข สุดท้าย รมว.ทส. จึงได้นำเสนอเข้าสู่โครงการ คทช.จึงได้แจกสมุดคู่มือให้กับเกษตรกรทุกท่าน ทั้ง 11 อำเภอ ทั้งหมดกว่า 10,000 ราย ที่ดินจำนวน 80,000ไร่ และเหลือพื้นที่เข้าโครงการแล้วอีก 300,000 ไร่ รมว มา รับปรกแล้วปีใหม่นี้จะมอบให้กับเกษตรกรทั้งหมด ทั้งนี้ สส.นครศรีธรรมราชพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 6 ท่านได้เดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องภายใต้” เมืองคอนโมเดล“

”ต้องยอมรับว่า โครงการ คทช.นอกเหนือจากแจกคู่มือที่ดินทำกินแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหาเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ไม่ได้ก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้เป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีนโยบายเรื่องนี้มองเห็นและทำงานอย่างรวดเร็วในการคิกออฟแจกคู่มือที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรในพื้นที่และต่อไปแจกทั่วทั้งประเทศ 12 ล้านไร่โดยนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่นำร่อง

ต่อข้อถามนครศรีธรรมราชยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจอีกมากน้อยเพียงใดว่า “ผมเชื่อว่ายังคงมีพื้นที่ไม่ได้สำรวจอีกประมาณ 5-6 แสนไร่ ซึ่งในพื้นที่นั้นอาจจะอยู่ในพื้นที่สูงต้องดูว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน อุทยาน รวมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของ สส.ปชป.ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป” 'ส.ส.ชัยชนะ'กล่าว

ศึกสังเวียน อบจ.นครศรีฯ ยังออกหมัดกันน้อย เหมือนมวยชั้นเชิง แต่ระวังหมุดสวน!! หรือศอกกลับ มีสิทธิ์น็อคทุกคน

(27 ต.ค. 67) หลังจากนายหัวไทรโพสต์ภาพป้ายหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชของผู้สมัครหมายเลข 2 (วาริน ชิณวงศ์-น้ำ)ถูกมือดีฉีกทำลาย ไม่รู้ว่าด้วยฝีมือของใคร แต่มองได้สองมุม คือ เป็นการทำของคู่แข่ง เป็นการข่มขวัญ และเป็นการกระทำของทีมงานผู้ถูกทำลายป้ายเอง เพื่อเรียกคะแนนสงสาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการแบบโบราณ ล้าสมัย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม

แต่สำหรับนายกองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้สมัครชิงนายกฯอบจ. หมายเลข 3 จากกลุ่มนครก้าวหน้าก็หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นทันที กล่าวสำหรับอาญาสิทธิ์ ไม่ขึ้นป้ายหาเสียง ไม่มีรถแห่ ไม่มีหัวคะแนน หาเสียงผ่านสื่อออนไลน์ และลงพบปะแลกเปลี่ยนในชุมชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นายกองตรีอาญาสิทธิิ์ โพสต์เฟสบุ๊คระบุว่า พบป้ายหาเสียงของผู้สมัครรายหนึ่ง เป็นป้ายสีน้ำเงิน ที่ติดตั้งอยู่ริมถนนสาย นครฯ-ทุ่งสง ในเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ 

เป็นประเด็นการเมืองที่มีประชาชนสนใจสอบถามกันในเฟสบุ๊คจำนวนมาก พร้อมส่งข้อมูลให้ความเห็นในเฟสบุ๊คของ อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ว่ามีป้ายของผู้สมัครถูกทำลาย ทั้งสองค่ายสีน้ำเงินและสีฟ้า และประชาชนจำนวนมากต่างสอบถามด้วยความสงสัย ว่ายังไม่พบป้ายหาเสียงค่ายสีส้มของนายอำเภออาญาสิทธิ์ เบอร์3 ติดตั้งตามถนนต่างๆ ซึ่งนายกองตรีอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ได้ตอบเฟสบุ๊คว่า #ป้ายเบอร์3 นั้นได้ติดไว้ในอ้อมอก ในหัวใจ ของพี่น้องชาวนคร แล้ว ดูได้จากโทรศัพท์มือถือ สื่อออนไลน์ เฟสบุ๊ค , ไลน์ สาธารณะ เนื่องจากนายกองตรีอาญาสิทธิ์#เบอร์3 คิดใหม่ ทำใหม่  ไม่ใช้รูปแบบการหาเสียงติดป้าย ไล่แห่ รถเปิดเครื่องเสียงให้รำคาญชาวบ้านแบบเดิมๆ แต่มุ่งหน้าเข้าไปพูดคุย กับประชาชน เรื่องปัญหาเรื่อง อาชีพ รายได้ ปัญหาอื่นๆ และเชิญชาวนา ชาวไร่ คนทุกชนชั้นนั้นในเมืองนครฯ มาร่วมกันสนับสนุนเลือกเบอร์3 เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ความยากจน ไม่มีรายได้ ของชาวนคร 

การหาเสียงเลือกตั้งถ้าเป็นมวยก็เริ่มเข้าสู่ยกที่ 2 แล้ว ยกละ 10 วัน เหลืออีก 3 ยก ถ้าเป็นมวยไฟท์เตอร์ ยกสองต้องมีออกหมัดกันบ้างแล้ว แต่ถ้าเป็นมวยชั้นเชิง ยกสองอาจจะยังติ้ดเฉิ้งกันไปอีกหน่อย ดูชั้นเชิงของคู่ต่อสู้

มวยคู่เอกเป็นการชกกันระหว่าง ‘ต้อย ศิษย์เดชเดโช’ กับ ‘น้ำ สิงห์น้ำเงิน’ ยกแรกผ่านไป ถือว่า ต้อย ศิษย์เดชเดโช มีคะแนนนำไปก่อน สะท้อนผ่านการระดมสรรพกำลัง เดินสายพบปะ รถตระเวนแห่หาเสียงไปทั่ว พร้อมกับการเปิดเวทีปราศรัยย่อยในระดับชุมชน พร้อมกับป้ายหาเสียงพรึบ อันเป็นตัวบ่งชี้ถึงความพร้อม และการบริหารจัดการทีมที่พร้อมกว่า

ส่วนน้ำ แม้จะออกพบปะประชาชนอยู่เนืองๆ แต่ยังเน้นชุมชนเมือง หรือตลาดที่เป็นย่านอยู่อาศัยหนาแน่น ยังไม่เปิดเวทีปราศรัย รอความพร้อมทั้งผู้ช่วยปราศรัย และการจัดตั้งคนมาฟัง ที่สำคัญคือต้องหลีกทางให้กับฝนฟ้า ที่ช่วง 27-28-29 ตุลาคมนี้ยังมีฝนลงมาอยู่ เวทีปราศรัยแรกที่บ้านเกิดปากพนังจึงยังไม่ปรากฏ ป้ายหาเสียงก็ยังเห็นแค่ประปราย เข้าใจว่าป้ายหาเสียงชุดใหญ่จะเสร็จ และติดตั้งเต็มพิกัด 1-2 พ.ย.นี้

การเปิดเวทีปราศรัย รถแห่ รวมถึงการติดตั้งป้ายแนะนำตัว เป็นภาพด้านกว้างของการหาเสียง คะแนนหลักต้องมาจากการจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งผ่านหัวคะแนน แกนนำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งเป็นการจัดการในทางลับที่คนนอกไม่อาจรู้ได้ และไม่รู้ว่า คู่แข่งทำกันไปแล้วแค่ไหน เพียงพอจะประเมินว่าจะชนะได้แล้วหรือยัง

เหลือเวลาอีกเพียง 3 ยก หรือ 30 วัน เมื่อเกมเดินไปสู่ยก 3-4-5 เชื่อว่า แต่ละคนจะต้องออกหมัดหนักขึ้น และยก 5 ต้องออกหมัดน็อคกันแล้ว ใครน้ำเลี้ยงดี ฟิตซ้อมมาดี ก็จะมีแรงอึด ยืนแลกหมัดได้จนยกสุดท้าย และเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะไปครอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top