Sunday, 27 April 2025
ธนาคารกรุงเทพ

1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 ธนาคารกรุงเทพ เปิดให้บริการเป็นวันแรก

วันนี้เมื่อ 79 ปีก่อน ธนาคารกรุงเทพ เปิดทำการวันแรก ปัจจุบันเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 ของอาเซียน และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม

ธนาคารกรุงเทพเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2487 มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหาในย่านราชวงศ์ ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ร่วมกับคุณหลวงรอบรู้กิจ มีทุนจดทะเบียน 4.0 ล้านบาท มีพนักงานรุ่นแรก 23 คน คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นประธาน และหลวงรอบรู้กิจ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกและเป็นผู้ริเริ่มสร้างฐานลูกค้าของธนาคารด้วยการบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ธนาคารกรุงเทพได้ขยายสาขาไปต่างประเทศ แห่งแรกคือที่ ฮ่องกง ต่อมาได้ไปเปิดที่ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้ไปเปิดที่ สิงคโปร์

จากนั้น ในปี 2518 ธนาคารกรุงเทพ ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 3.80 ล้านล้านบาท มีสาขาทั้งหมดกว่า 1,135 สาขา เครื่องเอทีเอ็มกว่า 9,362 เครื่อง สาขาไมโคร (Micro Branch) ที่เปิดให้บริการ 7 วัน มีเครือข่ายสาขาต่างประเทศ 31 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจสำคัญ 14 แห่ง นอกเหนือจากสาขาอีกประมาณ 300 แห่ง ของธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ข้อมูลเมื่อปี 2565)

‘BBL’ ประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หนุนธุรกิจไทยเข้าถึงโอกาสโตยั่งยืนในภูมิภาค

(18 ม.ค.67) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกาศยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือ เชื่อมโยงอาเซียน สนองนโยบายรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว อีกทั้งสนับสนุนธุรกิจไทยที่ขยายกิจการไปทั่วภูมิภาค

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ธนาคารดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เข้าสู่ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนระยะยาว รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green – BCG) และการยกระดับของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ให้เป็นศูนย์กลางอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน

“เป็นที่น่ายินดีที่ลูกค้าต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ ได้เริ่มเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนไปแล้วหลายราย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บีวายดี เกรทวอลล์มอเตอร์ส และฉางอาน การที่บริษัทเหล่านี้เลือกเข้ามาตั้งศูนย์การผลิตสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่ EEC ของไทยจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนภายในประเทศ และจะกระตุ้นให้เกิดธุรกิจและการจ้างงานใหม่ให้กับคนรุ่นต่อไป” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่ธนาคารมุ่งเน้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งสำหรับหลายภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง จากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่นๆ การดำเนินยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN จะมุ่งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยชูบทบาทโดดเด่นของของไทยในฐานะสะพานสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงอาเซียนกับนักธุรกิจและนักลงทุนจากทั่วทวีปเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก

อาเซียนยังเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ด้วยจุดเด่นหลายๆ ด้าน เช่น จำนวนประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ตลาดที่กำลังพัฒนาและมีความต้องการหลากหลาย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้อินเดียและจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยอาเซียนกำลังเติบโตก้าวขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2573

“ภูมิภาคอาเซียนยังมีโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนอีกมาก ขณะที่ตลาดอื่นๆ ทั่วโลกกำลังชะลอตัว ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารไทยที่มีความพร้อมที่สุด สำหรับการสนับสนุนบริษัทที่ต้องการขยายตลาดในระดับภูมิภาค เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ที่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในแต่ละประเทศอย่างลึกซึ้ง และมีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีกับพันธมิตรในประเทศเหล่านั้น ที่สืบทอดมาตลอด 8 ทศวรรษ” นายชาติศิริ กล่าว

“ด้วยจุดแข็งที่โดดเด่นของธนาคาร ที่มีเครือข่ายสาขาใน 9 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีธนาคารในเครือ คือ ธนาคารเพอร์มาตา ที่อินโดนีเซีย ธนาคารบางกอกแบงค์เบอร์ฮาด ที่มาเลเซีย และธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) นอกเหนือจากสาขาในฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ธนาคารกรุงเทพพร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้าของเราด้วยบริการทางการเงินที่ครบถ้วน สำหรับการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และยังสามารถช่วยเชื่อมโยงลูกค้าเหล่านี้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีโอกาสจะร่วมมือกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค” นายชาติศิริ กล่าว

ตลอดระยะเวลา 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งเน้นสนับสนุนลูกค้าทุกกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายในทุกช่วงชีวิตและเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยสำหรับลูกค้าบุคคล ให้มีความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัว และบริษัททุกขนาด ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งธนาคารได้ช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ด้วยบริการทางการเงินและเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ แบ่งปันข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้ลูกค้าสามารถเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ส่วนหนึ่งสามารถขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและทวีปเอเชียที่ธนาคารมีเครือข่ายสาขาอย่างกว้างขวางครอบคลุม

“ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังมีลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารจำนวนไม่น้อย ที่มีการค้าขายข้ามชายแดนมากขึ้น หลายรายสามารถขยายกิจการออกไปต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากสาขาในต่างประเทศของธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งธนาคารในเครือ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศไทย” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวต่อไปว่า ธนาคารตระหนักดีว่ายังคงมีลูกค้าอีกส่วนหนึ่งที่ยังเปราะบาง สืบเนื่องมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัวในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังชะลอตัวลง ธนาคารจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ให้สามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ ตามแนวทางเดียวกับที่ธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วในช่วงก่อนหน้าที่กิจกรรมทางธุรกิจได้ชะงักงันเนื่องจากโควิด-19 ในปี 2563 และต่อเนื่องถึงปี 2566

“ท่ามกลางความผันผวนทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพพร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้สามารถผ่านความท้าทายและความยากลำบากเหล่านี้ และสามารถแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมสำหรับสร้างการเติบโต โดยจะดำเนินการอย่างสอดรับกับรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการลดภาระค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และมาตรการต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือ และสอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อ และช่วยให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้บริษัทไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

‘ธ.กสิกรไทย’ ปรับปรุงแอปฯ K PLUS กดเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ‘ธ.กรุงเทพ’ แค่สแกน QR Code แล้วกดยืนยัน ใช้ได้แล้ววันนี้ ฟรีค่าธรรมเนียม

(8 เม.ย.67) แอปพลิเคชัน K PLUS ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เวอร์ชันล่าสุด (Version 5.18.2) ที่ออกมาเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เพิ่มฟังก์ชันกดเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แล้ว หลังจากทั้งสองธนาคารได้พัฒนาบริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารขึ้นมา

โดยขั้นตอนการถอนเงินที่ตู้ ATM ธนาคารกรุงเทพ ให้ทำตามขั้นตอนเดียวกับถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM กสิกรไทย โดยเลือกเมนู "ถอนเงินไม่ใช้บัตร" ที่ตู้ ATM จากนั้นสแกน QR Code บนหน้าจอตู้ ATM ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากสร้างรายการถอนเงิน โดยหากถอนเงินผ่านตู้ ATM ต่างธนาคาร ให้ตรวจสอบค่าธรรมเนียมและกดยืนยันบนแอปฯ K PLUS และกดยืนยันอีกครั้งที่ตู้ ATM ที่ทำรายการ หลักฐานการเบิกถอนเงินสดจะปรากฏในประวัติการทำรายการใน K PLUS

สำหรับค่าธรรมเนียมการถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพ โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียมจำนวน 10 บาทต่อรายการตั้งแต่ครั้งแรก โดยค่าธรรมเนียมจะแสดงตอนทำรายการ ปัจจุบันฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ถึง 31 พ.ค. 2567

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพเปิดให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สามารถถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM ธนาคารกสิกรไทย โดยการระบุจำนวนเงินที่ต้องการ จากนั้นสแกนคิวอาร์โค้ดบนหน้าจอเอทีเอ็ม และรับเงินได้ทันที ผู้ใช้งานสามารถถอนเงินได้สูงสุด 50,000 บาทต่อวัน โดยค่าธรรมเนียม 10 บาท จะถูกหักจากบัญชีที่เลือก อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. ถึง 31 ก.ค. 2567 ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีจำนวนตู้ ATM รวม 8,000 จุดทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking ประมาณ 10 ล้านราย ส่วนธนาคารกสิกรไทยมีจำนวนตู้ ATM รวม 9,100 จุดทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน K PLUS ประมาณ 21.7 ล้านราย

สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 2567 ธนาคารกรุงเทพจัดสรรเงินสดสำรองให้บริการลูกค้าช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มอีก 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร และตู้เอทีเอ็มอีกกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ พร้อมแผนดูแลการเติมเงินสดในตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในชุมชน และจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นพิเศษ ส่วนธนาคารกสิกรไทย เตรียมสำรองเงินสดรวมทั้งสิ้น 30,750 ล้านบาท แบ่งเป็นช่องทางสาขา 813 สาขาทั่วประเทศ รวม 7,950 ล้านบาท และเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) 22,800 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ 8,300 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาค 14,500 ล้านบาท


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top