‘ธ.กสิกรไทย’ ปรับปรุงแอปฯ K PLUS กดเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ‘ธ.กรุงเทพ’ แค่สแกน QR Code แล้วกดยืนยัน ใช้ได้แล้ววันนี้ ฟรีค่าธรรมเนียม

(8 เม.ย.67) แอปพลิเคชัน K PLUS ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เวอร์ชันล่าสุด (Version 5.18.2) ที่ออกมาเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เพิ่มฟังก์ชันกดเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แล้ว หลังจากทั้งสองธนาคารได้พัฒนาบริการถอนเงินไม่ใช้บัตรข้ามธนาคารขึ้นมา

โดยขั้นตอนการถอนเงินที่ตู้ ATM ธนาคารกรุงเทพ ให้ทำตามขั้นตอนเดียวกับถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM กสิกรไทย โดยเลือกเมนู "ถอนเงินไม่ใช้บัตร" ที่ตู้ ATM จากนั้นสแกน QR Code บนหน้าจอตู้ ATM ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากสร้างรายการถอนเงิน โดยหากถอนเงินผ่านตู้ ATM ต่างธนาคาร ให้ตรวจสอบค่าธรรมเนียมและกดยืนยันบนแอปฯ K PLUS และกดยืนยันอีกครั้งที่ตู้ ATM ที่ทำรายการ หลักฐานการเบิกถอนเงินสดจะปรากฏในประวัติการทำรายการใน K PLUS

สำหรับค่าธรรมเนียมการถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพ โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียมจำนวน 10 บาทต่อรายการตั้งแต่ครั้งแรก โดยค่าธรรมเนียมจะแสดงตอนทำรายการ ปัจจุบันฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. ถึง 31 พ.ค. 2567

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพเปิดให้ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking สามารถถอนเงินไม่ใช้บัตรผ่านตู้ ATM ธนาคารกสิกรไทย โดยการระบุจำนวนเงินที่ต้องการ จากนั้นสแกนคิวอาร์โค้ดบนหน้าจอเอทีเอ็ม และรับเงินได้ทันที ผู้ใช้งานสามารถถอนเงินได้สูงสุด 50,000 บาทต่อวัน โดยค่าธรรมเนียม 10 บาท จะถูกหักจากบัญชีที่เลือก อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. ถึง 31 ก.ค. 2567 ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีจำนวนตู้ ATM รวม 8,000 จุดทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Bangkok Bank Mobile Banking ประมาณ 10 ล้านราย ส่วนธนาคารกสิกรไทยมีจำนวนตู้ ATM รวม 9,100 จุดทั่วประเทศ และมีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน K PLUS ประมาณ 21.7 ล้านราย

สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 12-16 เม.ย. 2567 ธนาคารกรุงเทพจัดสรรเงินสดสำรองให้บริการลูกค้าช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มอีก 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร และตู้เอทีเอ็มอีกกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ พร้อมแผนดูแลการเติมเงินสดในตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในชุมชน และจุดท่องเที่ยวทั่วประเทศเป็นพิเศษ ส่วนธนาคารกสิกรไทย เตรียมสำรองเงินสดรวมทั้งสิ้น 30,750 ล้านบาท แบ่งเป็นช่องทางสาขา 813 สาขาทั่วประเทศ รวม 7,950 ล้านบาท และเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) 22,800 ล้านบาท แบ่งเป็นเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ 8,300 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาค 14,500 ล้านบาท