Sunday, 5 May 2024
ตุรกี

ทีมกู้ภัย กลุ่ม ปตท. เดินทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ใน ‘ตุรกี-ซีเรีย’

(10 ก.พ. 66) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง ประชาชนหลายล้านคนเดือดร้อนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 

สมาชิกชมรม PTT Group SEALs กลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด หรือ NPC S&E ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ ได้ส่งทีมปฏิบัติการ พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ครบชุด เพื่อช่วยเหลือเรื่องการตรวจสอบสารเคมีในจุดเกิดเหตุ ก่อนดำเนินการค้นหาช่วยเหลือกู้ภัย โดยทีมปฏิบัติการเข้าร่วมภารกิจเดินทางไปพร้อมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในนามรัฐบาลไทย ภายใต้บันทึกข้อตกลงโครงการ Urban Search and Rescue (USAR) เพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติทั้งภายในและต่างประเทศ มีกำหนดปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 9 - 19 กุมภาพันธ์ 2566

'โอซิล' อดีตนักเตะอาร์เซนอล ร่วมแพ็กอาหาร - ของใช้ บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรเคีย

(10 ก.พ. 66) 'เมซุต โอซิล' อดีตเพลย์เมกเกอร์ของอาร์เซนอล เผยภาพที่ตนกำลังช่วยแพ็กของ เพื่อนำไปให้กับผู้ที่ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวตุรเคียและซีเรีย

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ มีการรายงานว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด พร้อมกับอาฟเตอร์ช็อกอีกว่า 40 ครั้ง ส่งผลให้จนถึงตอนนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตทะลุ 12,000 รายเข้าไปแล้ว และมีผู้สูญหายอีกนับพัน

ล่าสุด โอซิล นักเตะดาวดังของสโมสรในตุรเคียอย่าง สโมสรฟุตบอลอิสตันบูล บาซาคเซฮีร์ ได้เผยภาพที่เขา และเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ต่างช่วยแพ็กของเพื่อส่งให้กับผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ทางต้นสังกัดได้จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งต่อทั้งอาหารและสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบภัย ในขณะที่ทางการตุรเคียได้สั่งงดการแข่งขันกีฬาทั้งหมดภายในประเทศ

ทีม USAR Thailand พร้อมสุนัข K9 'เซียร่า-ซาฮาร่า' เดินทางถึงตุรเคียแล้ว รอต่อเครื่องไปเมืองอาดานา

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 อัปเดตความเคลื่อนไหว ทีม USAR Thailand จำนวน 42 คน พร้อมสุนัข K9 2 ตัว คือ 'น้องเซียร่า' และ 'น้องซาฮาร่า' ขณะนี้เดินทางถึงประเทศตุรเคียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยระหว่างรอต่อเครื่องได้เตรียมการประชุมทีม USAR Thailand เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมภารกิจ ค้นหาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรเคีย

ทั้งนี้ Facebook Fanpage กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย ได้โพสต์ภาพความน่ารักในระหว่างที่น้อง K 9 เซียร่าและซาฮาร่า รอต่อเครื่องจากเมืองอิสตันบูล เพื่อเดินทางไปยังเมืองอาดานานั้น ได้เจอเพื่อนสุนัขทีมค้นหาอื่น ที่เดินทางมาร่วมปฎิบัติภารกิจในครั้งนี้ ได้มีการถ่ายภาพร่วมเฟรมเป็นที่ระลึกน่าเอ็นดู

อดีตทูตนริศโรจน์ ชี้ 2 ฮีโร่ 4 ขา สุดยอด ช่วยคนได้นับ 10 ชีวิตจากภารกิจในตุรเคีย

(12 ก.พ. 66) อดีตทูต นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

สุนัข 2 ตัวนี้ไปถึงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น สามารถช่วยชีวิตคนได้ 10 คนแล้ว...หล่อมากเลย

Thailand’s heroic rescue dogs saved 10 humans within hours after being on the ground in Turkey.

#สื่อสารการทูตไทยเชื่อมไทยสู่สากล #communicateXconnect #การทูตเพื่อประชาชนทุกแห่งหนเราดูแล

‘ตุรเคีย’ ไฟเขียว ให้สัตยาบัน‘ฟินแลนด์’ ร่วมสมาชิกนาโต ด้าน ‘สวีเดน’ ยังรอลุ้น เลขาฯ วอน ตุรเคียเร่งรับรองโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 66 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า รัฐสภาตุรเคียลงมติให้สัตยาบันรับรองฟินแลนด์ เข้าร่วมเป็นสมาชิก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยฟินแลนด์จะได้รับการรับรองเข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการและเป็นสมาชิกนาโตประเทศที่ 31 ในการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกนาโตครั้งถัดไป ในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้

ขณะที่สวีเดน ซึ่งยื่นขอเข้าร่วมองค์การนาโตพร้อมกับฟินแลนด์ เมื่อเดือน พ.ค.2565 ได้รับรองจากสมาชิก 28 ประเทศ เหลือเพียงตุรเคียและฮังการีซึ่งมีประเด็นกระทบกระทั่งบานปลาย โดยตุรเคียไม่พอใจที่สวีเดนปฏิเสธการส่งกลุ่มนักรบชาวเคิร์ด ซึ่งตุรเคียเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามในการก่อรัฐประหารโค่นอำนาจเมื่อปี 2559 กลับมาดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม นายเย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการองค์การนาโต เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรเห็นพ้องกับกระบวนการให้สัตยาบันรับรองสวีเดน และหวังว่าจะได้ต้อนรับสวีเดนในฐานะสมาชิกเข้าสู่ครอบครัวนาโตโดยเร็วที่สุด


ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_7589876

‘เรเซป ไทยิป แอร์โดกัน’ รักษาตำแหน่งผู้นำตุรกีได้เป็นสมัยที่ 3 หลังคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบตัดสิน ครองอำนาจต่ออีก 5 ปี

ประเทศตุรกี ได้จัดการเลือกตั้งใหญ่ไปเมื่อ 14 พฤษภาคมผ่านมา โดยมี 2 ผู้แข่งขันที่มีคะแนนไล่บี้กันมากคือ นาย เรเซป ไทยิป แอร์โดแกน ผู้นำปัจจุบัน และ นาย เคมัล คือลิชดากูลู ผู้นำฝ่ายค้าน แม้ว่า แอโดแกนจะชนะไปแล้วในรอบแรก แต่ได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่ง (50%) จึงต้องมาเลือกตั้งต่อในรอบที่ 2

ผลปรากฏว่า ราเซป ไทยิป แอร์โดแกน ยังคงมีคะแนนนำ สามารถชนะไปได้ด้วยคะแนน 52.14% สมเป็นแมว 9 ชีวิตแห่งออตโตมาน ครองอำนาจการเมืองในรัฐบาลตุรกีเข้าสู่ทศวรรษที่ 3

‘ตุรกี’ ไฟเขียว!! เปิดทางให้ ‘สวีเดน’ ร่วมเป็นสมาชิกใหม่นาโต พร้อมเร่งหารือกรณี ‘ยูเครน’ ขอร่วมพันธมิตรท่ามกลางภาวะสงคราม

(11 ก.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกียินยอมที่จะส่งเรื่องการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ของสวีเดนเข้าสู่รัฐสภาตุรกีให้เร็วที่สุด ถือเป็นการสิ้นสุดประเด็นขัดแย้งที่สร้างความตึงเครียดให้กับนาโตนานหลายเดือน ขณะที่การสู้รบในประเทศยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

ทั้งประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ได้ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตเมื่อปีที่แล้ว เพื่อตอบสนองต่อการที่รัสเซียนำกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แม้ฟินแลนด์ได้รับการอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกของนาโตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ทั้งประเทศตุรกีและฮังการียังคงขัดขวางการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน ซึ่งทางสวีเดนเองก็กำลังเดินหน้าเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตในการประชุมผู้นำชาติสมาชิกที่จัดขึ้นที่กรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของประเทศลิทัวเนีย ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าวในการแถลงข่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะประกาศว่า ประธานาธิบดีแอร์โดอานได้เห็นพ้องที่จะยื่นพิธีสารการเข้าเป็นสมาชิกของสวีเดนไปยังสมัชชาแห่งชาติให้เร็วที่สุด และทำงานกับสมัชชาแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อรับรองการให้สัตยาบัน”

ประธานาธิบดีแอร์โดอานของตุรกีและนายอุล์ฟ คริสเตอซ็อน นายกรัฐมนตรีสวีเดนมีการหารือกันนานหลายชั่วโมงก่อนหน้าการประชุมผู้นำนาโตเพื่อหวังที่จะฝ่าทางตันในประเด็นดังกล่าวระหว่างทั้งสองชาติ หลังก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีแอร์โดอานของตุรกีกล่าวหาว่าสวีเดนไม่ได้พยายามมากพอที่จะจัดการกับสมาชิกพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ที่ตุรกี สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ จัดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย

นายกรัฐมนตรีคริสเตอซ็อนของสวีเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “นี่คือวันที่ดีสำหรับสวีเดน” แถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยทั้งสวีเดนและตุรกีระบุว่า สวีเดนได้เน้นย้ำว่าจะไม่สนับสนุนกลุ่มชาวเคิร์ดและจะสนับสนุนความพยายามในการเข้าเป็นสมาชิกอียูของตุรกี ขณะที่แอร์โดอานกล่าวว่า “อียูควรที่จะเปิดทางให้กับการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูของตุรกี ก่อนที่รัฐสภาตุรกีจะอนุมัติการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน”

ก่อนหน้านี้ เสนาธิการของนายวิกเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีฮังการีได้กล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่าจะไม่ขัดขวางการให้สัตยาบันขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนอีกต่อไป ทำให้การยินยอมของตุรกีจะเป็นการกำจัดอุปสรรคสุดท้ายในการเข้าร่วมนาโตของสวีเดน

นอกจากประเด็นเรื่องสวีเดนแล้ว บรรดาผู้นำของชาติสมาชิกนาโตเตรียมที่จะมีการหารือกันในการประชุมผู้นำที่กรุงวิลนีอุส เพื่อหวังที่จะก้าวข้ามความแบ่งแยกในเรื่องการที่ประเทศยูเครนขอเข้าเป็นสมาชิกของนาโตเช่นกัน โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการพูดคุยกันถึงผลสะท้อนของการที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครน โดยบรรดาผู้นำชาติสมาชิกเตรียมที่จะอนุมัติแผนครอบคลุมที่ระบุว่า ชาติสมาชิกนาโตจะตอบสนองต่อการโจมตีของรัสเซียอย่างไร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นาโตมีการร่างแผนในลักษณะดังกล่าวขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น

ถึงแม้ว่าสมาชิกนาโตหลายคนเห็นพ้องกันว่า ยูเครนจะยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของนาโตได้ ขณะที่ยังมีสงครามกับรัสเซีย แต่พวกเขายังคงเสียงแตกว่ายูเครนจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้เร็วที่สุด เมื่อใดหลังสิ้นสุดสงครามและภายใต้เงื่อนไขใด ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ได้กดดันให้นาโตกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนในแถลงการณ์ของที่ประชุม เพื่อที่ยูเครนจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้หลังสิ้นสุดสงครามกับรัสเซีย

บรรดานักการทูตระบุว่า การยืนยันว่ายูเครนมีตำแหน่งอันชอบธรรมในนาโต และจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกทันทีเมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เอื้อต่อการเข้าเป็นสมาชิก จะเป็นหนึ่งในข้อความที่จะมีการพูดคุยกันสำหรับแถลงการณ์ของที่ประชุม นอกจากนั้นแล้ว การเจรจาต่าง ๆ จะให้ความสำคัญไปที่เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน และจะติดตามขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวอย่างไร

‘ไทย-ตุรกี’ หารือฟื้น FTA ลดช่องว่างการค้า เล็งเชิญผู้นำไทยเยือนตุรกีในรอบ 20 ปี

(12 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยหลังการหารือกับนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและตุรกีเห็นพ้องกันที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างกันให้ก้าวหน้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการเจรจากันถึง 7 รอบ แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปี 2564 จากเหตุปัจจัยภายในประเทศของตุรกี โดยไทยพร้อมและยินดีจะกลับเข้าสู่การเจรจาทันทีเมื่อตุรกีเสร็จสิ้นกระบวนการทบทวนนโยบาย ซึ่งเอกอัครราชทูตตุรกียืนยันว่าแนวทางการพิจารณาของตุรกี น่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ในช่วงต้นปี 2567 

ทั้งนี้ หากการจัดทำ FTA ร่วมกันสำเร็จ ทั้ง 2 ประเทศก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะการลดช่องว่างดุลการค้าและด้านอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ไทยและตุรกีมีความสัมพันธ์ครบรอบ 65 ปีอีกด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ตุรกีเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือได้ และสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA เช่น ยานพาหนะ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตลีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น 

ส่วนทางตุรกีนั้น สามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออก อาเซียน และประเทศอื่นที่มีความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศสมาชิก RCEP รวมทั้งการลงทุนใน EEC ขณะเดียวกันตุรกียังสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตุรกีมีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน

นางนลินี กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในตุรกี เช่น CPF Indorama และ Dusit Thani ส่วนบริษัทตุรกีที่ลงทุนในไทย เช่น KOC Holding HIDROMEX Sabanci Holding เป็นต้น และทั้ง 2 ประเทศยังมีเที่ยวบินตรงระหว่างกันทั้ง Turkish Airlines และสายการบินไทยจำนวนหลายเที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยตุรกีเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศยังร่วมกันพัฒนาด้านอื่นได้อีก ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการจัดตั้งโรงเรียนในประเทศไทย และอยากให้ไทยพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากตุรกีด้วย

"ท่านทูตตุรกีย้ำว่าไทยไม่ได้มีการเยือนตุรกีในระดับผู้นำเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว จึงอยากเชิญนายกฯ และผู้แทนการค้าไทยไปเยือนตุรกี และยังแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ราชวงศ์ไทย รัฐบาล ภาคเอกชน NGO และประชาชนชาวไทย ให้ความช่วยเหลือตุรกีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือน ก.พ.66 ที่ผ่านมาด้วย" นางนลินี กล่าว

‘สส.ฝ่ายค้านตุรกี’ หัวใจวาย-ล้มฟุบกลางสภาฯ แพทย์ต่อลมหายใจได้ 2 วัน ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว

เมื่อวานนี้ (14 ธ.ค. 66)ฟาห์เรตติน โคคา รัฐมนตรีสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายฮาซาน บิตเมซ สมาชิกรัฐสภาจากพรรค Islamist Saadet Partisi (Felicity Party) เสียชีวิตชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงอังการา 2 วันหลังจากเกิดเหตุ

"คุณเปิดทางให้เรือต่าง ๆ เข้าสู่อิสราเอล และน่าละอายที่คุณเรียกมันว่าการค้า คุณคือผู้สมคบคิดกับอิสราเอล" บิตเมซกล่าวอภิปรายเล็งเป้าเล่นงานพรรค Justice and Development Party (AK Party) ของประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน เมื่อวันอังคาร (12ธ.ค.) หลังจากวางป้ายโปสเตอร์หนึ่งบนโพเดียม มีใจความว่า "พวกฆาตกรอิสราเอล ผู้สมรู้ร่วมคิด AKP"

"แม้หากคุณรอดพ้นจากความทุกข์ทรมาน แต่คุณจะไม่อาจรอดพ้นจากการลงโทษของพระเจ้าไปได้" เขากล่าวในช่วงท้ายของการอภิปรายที่ใช้เวลาราว ๆ 20 นาที ก่อนล้มฟุบลงไปกองกับพื้น

สมาชิกคนอื่น ๆ ของสมัชชาแห่งชาติตุรกี รุดเข้าไปช่วยเหลือเขา และทาง โคคา เปิดเผยในวันอังคาร (12ธ.ค.) ว่า บิตเมซ ได้รับความช่วยเหลือจนฟื้นคืนสติในรัฐสภา และถูกพาตัวส่งโรงพยาบาลภายในเวลาไม่ถึง 20 นาที เบื้องต้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยพยุงชีพเขาไว้ได้ อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดแล้ว เขาก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

นักการเมืองฝ่ายค้านรายนี้ ซึ่งแต่งงานแล้วและมีลูก 1 คน จบปริญญาจากมหาวิทยาลัยอัล-อาซาร์ ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ จากนั้นก็ทำงานกับกลุ่มองค์กรอิสลามต่าง ๆ ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นประธานศูนย์วิจัยสหภาพอิสลาม

ระหว่างการอภิปราย เขาได้กล่าวหารัฐบาลต่อการเดินหน้าสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วยความเป็นมิตรกับอิสราเอล ทั้งที่อิสราเอลยังคงถล่มฉนวนกาซาไม่หยุด ซึ่งคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วเกือบ 19,000 คน ความคิดเห็นของเขาได้เรียกเสียงค่อนขอดมาจากสมาชิกพรรค AK Party

แม้ แอร์โดอัน หาทางปรับปรุงความสัมพันธ์กับอิสราเอล ตามหลังทั้ง 2 ชาติมีความสัมพันธ์อันเย็นชาอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เขาก็ส่งเสียงคัดค้านสงครามปัจจุบันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ‘ฮามาส’ โดยเรียกอิสราเอลว่าเป็น ‘รัฐก่อการร้าย’ และพยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง

‘หนุ่มตุรกี’ เกือบขิต!! จากการทำ ‘รากฟันเทียม’ หลังทันตแพทย์ใส่สกรูเจาะลึกเข้าไปถึง ‘กะโหลก’

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘World Forum ข่าวสารต่างประเทศ’ โพสต์ข้อความ หลังมีหนุ่มตุรกีรายหนึ่ง เกือบเสียชีวิต จากการใส่รากฟันเทียม โดยระบุว่า…

นายรามาซาน ยิลมาซ วัย 40 ปี จากเมืองบูร์ซา มีอาการฟันโยก ปวดฟัน จึงไปรักษาที่คลินิกทันตกรรมเอกชน ในบูร์ซา

ซึ่งทันตแพทย์บอกว่าเขามีฟันโยกต้องถอนออก ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ใส่รากฟันเทียมเพื่อทดแทน

ในระหว่างการผ่าตัดทันตแพทย์พยายามใส่สกรูยึดวัสดุปลูกถ่ายฟันเทียม การเจาะทำให้เจาะเข้าไปถึงกระดูกขากรรไกรของ รามาซาน ยิลมาซ ซึ่งสกรูทะลุเข้าไปในกะโหลกของเขา เขาจึงตะโกนด้วยความเจ็บปวด

ทันตแพทย์ได้พาเขาไปส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ และทิ้งเขาไว้ที่โรงพยาบาล ทันตแพทย์หลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ

แพทย์ทำการ CT Scan และนำเขาเข้ารับการผ่าตัดทันที การผ่าตัดใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่ศัลยแพทย์ก็สามารถเอาสกรูออกจากสมองของเขาออกได้ โดยเขาออกจากโรงพยาบาลในหลายวันต่อมา และปัจจุบันเริ่มดีขึ้น 

>> เขาติดต่อทันตแพทย์ต้นเรื่อง และถูกปฏิเสธการคืนเงิน เขากำลังดำเนินการทางกฎหมายกับคลินิกดังกล่าว
>> จากข้อมูล ตอนเขาเลือกคลินิกนี้เพราะแพทย์อ้างว่ามีประสบการณ์ 24 ปี และเชี่ยวชาญเฉพาะ
>> ยิลมาซ เล่าว่า ขณะที่ทันตแพทย์ใส่สกรู เขาได้ยินเสียงกระดูกแตก เขาจึงตะโกนออกมา ด้วยความเจ็บปวด

**เพราะเจาะทะลุกระดูกขากรรไกร เข้าไปในบริเวณหลังดวงตาซึ่งเป็นที่ตั้งของสมองและน้ำไขสันหลัง

เขาถูกส่งตัวต่อไปโรงพยาบาล เพื่อผ่าตัดเอาออก ก่อนการผ่าตัด แพทย์เตือนเขาว่าเขาอาจเสียชีวิตได้ ยิลมาซ กล่าว

ขอบคุณภาพ : NTV.tr


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top