Sunday, 19 May 2024
ญี่ปุ่น

‘หมอธีระวัฒน์’ เผยงานวิจัยญี่ปุ่นชี้ ‘วัคซีน mRNA’ ส่งผลอัตราการตายสูง ฉีดแล้วมีผลกระทบ ภูมิคุ้มกันแปรปรวน ทำให้ ‘มะเร็ง’ เติบโตแพร่กระจายได้เร็ว

(1 พ.ค. 67) จากกรณีแอสตร้าเซนเนก้า ออกมายอมรับครั้งแรกว่า วัคซีนโควิดของบริษัททำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และเกล็ดเลือดต่ำ

ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและระบบประสาท โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงผลกระทบของวัคซีนโควิด mRNA กับการเกิดมะเร็ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

วัคซีนโควิดกับการเกิดมะเร็ง

รายงานจนกระทั่งถึงปลายเดือนเมษายน 2024 ตอกย้ำความเชื่อมโยงของวัคซีน mRNA กับอัตราตายสูงขึ้นอย่างผิดปกติ (statistically significant increases) ของมะเร็งทุกชนิดโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen- related cancers) ตามหลังการระดมฉีดเข็มสาม

รายงานจากประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 8 เมษายน 2024 ในวารสาร Cureus ในเครือเนเจอร์

โดยที่เป็นการรายงาน ประเมินผลกระทบของการระบาดโควิดในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เป็นการวิเคราะห์อัตราการตายของมะเร็ง 20 ชนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ข้อมูลของทางการที่เกี่ยวข้องกับการตาย การติดเชื้อโควิดและการฉีดวัคซีนโควิด โดยเป็น การปรับตัวแปรในช่วงอายุต่างๆ (age adjusted mortality)

ผลที่ได้ถือเป็นการค้นพบ ที่น่าตกใจ ในช่วงหนึ่งปีแรกของการระบาดโควิด ไม่พบการตายที่เกิดจากมะเร็งที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ (excess cancer deaths) แต่การตาย กลับเพิ่มขึ้นโดยแปรตามการฉีดวัคซีนโควิด

ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุด และในปี 2024 กำลังระดมการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่เจ็ด

การระดมฉีดทั้งประเทศญี่ปุ่นเริ่มในปี 2021 และ เริ่มเห็นตัวเลขของการตายจากมะเร็งเพิ่มขึ้นคู่ขนานไปกับการฉีดฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง
หลังจากที่มีการฉีดเข็มที่สามในปี 2022 พบว่ามีการตายจากมะเร็งที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ ในมะเร็งทุกชนิดและโดยเฉพาะกับมะเร็งที่ไวหรือตอบสนองต่อ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่เรียกว่า estrogen and estrogen receptor alpha( ERalpha)-sensitive cancers โดยรวมทั้งมะเร็งรังไข่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ต่อมลูกหมาก มะเร็งริมฝีปาก ช่องปาก ช่องลำคอ มะเร็งตับอ่อนและมะเร็งเต้านม

สำหรับมะเร็งเต้านมนั้นในช่วงระยะเวลาปี 2020 พบการตายจากมะเร็งเต้านมลดลง แต่แล้วเปลี่ยนมาเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในปี 2022 พร้อมกับการระดมฉีดทั่วประเทศของวัคซีนเข็มที่สาม

มะเร็งตับอ่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคงที่ก่อนหน้าระบาดโควิดและมะเร็งอีกห้าชนิดมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามมะเร็งหกชนิดยังมีการตายเพิ่มกว่าที่คาดการณ์ไว้ในในปี 2021 ในปี 2022 หรือในช่วงระยะเวลาทั้งสองปี

ยิ่งไปกว่านั้น มะเร็งสี่ชนิดซึ่งมีการตายสูงอยู่แล้ว ได้แก่มะเร็งปอด ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับ ซึ่งมีการตายลดลงก่อนปี 2020 แต่เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนนั้นอัตราการตายกลับไม่ลดลงมากดังก่อนมีการระบาด

อัตราตาย ของมะเร็งที่พุ่งขึ้นทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการระบาดของโควิดในช่วงระหว่างปี 2010 ถึง 2019 ในประเทศญี่ปุ่น พบว่าการตายจากมะเร็งมีแนวโน้มลดลงในทุกอายุ ยกเว้นที่อายุ 90 หรือสูงกว่า 90 ปี

และแม้แต่ในปี 2020 ช่วงที่ยังไม่มีการระดมฉีดวัคซีนและมีการระบาดของโควิดแล้ว อัตราการตายจากมะเร็งก็ยังลดลงในช่วงแทบทุกอายุยกเว้นช่วงอายุ 75 ถึง 79 ปี

ในปี 2021 เริ่มเห็นแนวโน้มในอัตราการตายของมะเร็งที่สูงขึ้นและสูงขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งถึงในปี 2022 ในช่วงทุกอายุ

ในปี 2021 มีอัตราตายเพิ่มขึ้นจากทุกสาเหตุอย่างมีนัยสำคัญ 2.1% และ 1.1% สำหรับการตายที่เกิดจากมะเร็ง

ในปี 2022 การตายจากทุกสาเหตุกระโดดขึ้นเป็น 9.6% และสำหรับมะเร็งสูงขึ้นเป็น 2.1%

การศึกษานี้ได้แยกแยะตามอายุและพบว่าจำนวนการตายจากมะเร็งทุกชนิดจะสูงสุดในช่วงอายุ 80 ถึง 84 ปีซึ่งประชากรในกลุ่มนี้มากกว่า 90% ได้รับวัคซีนสามเข็ม และวัคซีนที่ได้รับนั้นเกือบ 100% เป็น mRNA และเป็นไฟเซอร์ 78% โมเดนา 22%

คณะผู้รายงานยังได้เพ่งเล็งประเด็นของการตายจากมะเร็งดังกล่าวที่ อาจจะมาจากสาเหตุที่มีการคัดกรองมะเร็งน้อยลง และ การเข้าถึงการรักษาได้จำกัดในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ แต่อย่างไรก็ตาม คณะผู้รายงานระบุว่า ไม่สามารถอธิบายการกระโดดขึ้นของการตายโดยเฉพาะในมะเร็งหกชนิดในปี 2022 ซึ่งไม่มีข้อจำกัดในการคัดกรองมะเร็งและการรักษาแล้ว

และมะเร็งที่มีอัตราตายสูงขึ้นจะตกอยู่ในกลุ่มที่เป็น ERalpha-sensitive ทั้งนี้สามารถอธิบายได้จากกลไกหลายอย่างของวัคซีน mRNA ซึ่ง อยู่ในอนุภาคนาโนไขมัน มากกว่าที่จะอธิบายจากการติดเชื้อโควิดหรือการที่มีการรักษาลดลงในช่วงล็อกดาวน์

นักวิทยาศาสตร์วิจัยอาวุโส ของ MIT Stephanie Seneff ได้ให้ความเห็นว่ารายงานดังกล่าวชี้ชัดเจนในข้อมูลทางระบาดวิทยาซึ่งสามารถเชื่อมโยงอัตราตายที่สูงขึ้นของมะเร็งหลายชนิดและการที่ได้รับวัคซีนหลายเข็ม

ทั้งนี้ โดยที่ได้เคยให้ความเห็น ก่อนหน้านี้แล้วโดยยึดถือพื้นฐานกลไกทางวิทยาศาสตร์ทางด้านระบบภูมิคุ้มกันว่าวัคซีนควรจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง

โดยที่วัคซีนนั้นทำให้ระบบการตรวจตราเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดมะเร็งนั้นถดถอยลงโดยเฉพาะในระบบ ที่เรียกว่า innate immunity และความบกพร่องห่วงโซ่ ในระบบภูมิคุ้มกัน ที่นำไปถึงการติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้นและมีโรคภูมิคุ้มกันแปรปรวนทำร้ายตัวเองมากขึ้นและทำให้มะเร็งมีการเติบโตแพร่กระจายได้เร็ว

กลไกที่ mRNA วัคซีน โยงไปถึงการเกิดมะเร็งได้ไวขึ้นและโตเร็วขึ้นนั้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น estrogen และ ERalpha-sensitive เกิดจากการที่โปรตีนหนามของวัคซีน มีการจับตัวอย่างเฉพาะเจาะจงกับ ERalpha และเร่งให้เกิดปฏิกริยามากขึ้น

การศึกษาที่รายงานในปี 2020 ในวารสาร Translational Oncology พบว่า ส่วนของโปรตีนหนาม S2 มีความสัมพันธ์จำเพาะกับยีนส์ที่ปกป้องไม่ให้เกิดมะเร็ง คือ p53 BRCA1 และ BRCA2 ที่มักมีการผันเปลี่ยน พันธุกรรมในมะเร็ง

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานในประเทศญี่ปุ่นโดยที่มีการตายเพิ่มของมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงและมะเร็งต่อมลูกหมาก ในผู้ชายซึ่งเกี่ยวพันกับการทำงานของ BRCA1 ลดลง และยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับอ่อน การทำงานผิดปกติ ของ BRCA2 ยังมีความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม รังไข่ในผู้หญิง มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมในผู้ชาย และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน acute myeloid leukemia ในเด็ก

การกระจายตัวได้ทั่วไปในร่างกายมนุษย์ในทุกอวัยวะ จากการที่วัคซีนอยู่ในอนุภาคนาโนไขมัน โดยมีการพิสูจน์ชัดเจนแล้วโดยที่ วัคซีนยังเข้าไปฝังตัวที่ ตับ ม้าม ต่อมหมวกไต รังไข่และไขกระดูก ซึ่งก็ทำการผลิตโปรตีนหนาม ปล่อยออกมาตลอดและยังทำให้มีการติดเชื้อง่ายขึ้นอีก

ในเดือนสิงหาคม 2023 รายงานในวารสาร Proteomics Clinical Applications พบว่าชิ้นส่วนของโปรตีนหนามจากวัคซีนยังล่องลอยอยู่ในเลือดของผู้ได้รับวัคซีนยาวนาน ได้อย่างน้อยสามถึงหกเดือนใน 50% ของตัวอย่าง และเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาตินั้น โปรตีนหนามจากไวรัส จะพบได้นาน ประมาณ 10 ถึง 20 วัน แม้ว่าการติดเชื้อนั้นจะมีความรุนแรงมากก็ตาม และในรายงานดังกล่าวนี้ยังชี้ให้เห็นว่าโปรตีนหนามนั้นสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในเซลล์บางชนิด หรือมีการสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าขึ้นมาอีกในเซลล์

การศึกษา รายงานในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ในวารสาร the Journal of Immunology พบ exosome ซึ่งบรรจุโปรตีนหนามที่ 14 วันหลังจากฉีดวัคซีน และ เมื่อได้รับวัคซีนเข็มที่สองและวัคซีนเข็มต่อไป โปรตีนหนามดังกล่าว พบมากขึ้นเรื่อยๆ

วัคซีนโควิดยังเป็นวัคซีนที่ปรับแต่งให้เสถียรขึ้นด้วย N1-Methyl-Pseudouridine

การที่วัคซีนมีการปรับแต่งดังกล่าวจะทำให้มีการด้อยหรือเปลี่ยนการทำงานของโปรตีนที่สำคัญคือ toll-like receptors ที่คอยป้องกันการเกิดเนื้องอกและการโตของเนื้องอก

การที่วัคซีนมีการปรับแต่งดังกล่าวทำให้ร่างกายมีการผลิตโปรตีนหนามในจำนวนมากมาย และทำให้มีการขัดขวางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ด้อยการส่ง สัญญาณผ่านทางอินเตอร์เฟียรอน (early interferon signaling) ทำให้มีการสร้างโปรตีนหนามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันทำให้การ ระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้อยลง

รายงานในวันที่ 5 เมษายนในวารสาร International Journal of Biological macromolecules พบว่าการดัดแปลงของวัคซีนดังกล่าวทำให้เกิดการกดภูมิคุ้มกันและช่วยส่งเสริมให้เกิดมะเร็ง ทั้งนี้ โดยการใส่ N1-methyl-pseudouridine mRNA วัคซีน ในการทดลองที่ใช้ มะเร็งผิวหนัง melanoma ผลปรากฏว่าสามารถกระตุ้นการเติบโตของ เซลล์ มะเร็งและการแพร่กระจาย ในขณะที่ mRNA วัคซีนที่ไม่มีการดัดแปลงจะไม่เกิดผลร้ายดังกล่าว

ระบบภูมิคุ้มกันในระดับที่เรียกว่า ADE หรือ antibody dependent enhancement

การได้วัคซีนหลายเข็ม เป็นการทำให้ได้รับโปรตีน หนาม มากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้กลับมีการติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ยังร่วมกับการที่มนุษย์ประทับความทรงจำกับไวรัสโควิดบรรพบุรุษหรือดั้งเดิมและจากการที่มีการกดภูมิคุ้มกัน

ADE เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อแอนติบอดีแทนที่จะทำลายไวรัส กลับช่วยนำพาไวรัสเข้าเซลล์ได้ง่ายขึ้นและมีการเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้เก่งขึ้น ผลของโปรตีนหนามและอนุภาคนาโนไขมัน ทำให้หลอดเลือดอุดตัน

ผลการวิจัยต่างๆ แสดงว่าวัคซีนโควิดก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการตันของเส้นเลือดและยิ่งเป็นคนป่วยด้วยโรคมะเร็ง ดังนั้นจะทำให้อัตราตายของมะเร็งยิ่งสูงขึ้นไปอีก หลังจากมีระดมการฉีดในประเทศญี่ปุ่น

จากการศึกษาพบว่าโปรตีนหนามของไวรัสโควิดและจากวัคซีนเองนั้น มีศักยภาพทางไฟฟ้าบวกและทำให้จับกับ glycoconjugates ที่มีศักยภาพทางไฟฟ้าเป็นลบและอยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดงและเซลล์ชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นโปรตีน หนาม ยังสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันผ่านทางตัวรับ ACE2 ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดหนาตัว ขัดขวางการทำงานของ ไมโตคอนเรีย โรงพลังงานของเซลล์ และการเกิด reactive oxygen species (ROS)

ทั้งนี้ ROS เป็น highly reactive radicals ions หรือ โมเลกุล ที่มีอิเล็กตรอน โดดเดี่ยว ไม่มีคู่ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดพันธะ (single unpaired electron) โดยที่เซลล์มะเร็งนั้นจะมีปริมาณของ ROS สูงมากจากการ ผลของเมแทบอลิซึม การทำงานของ oncogene และการที่ไมโตคอนเดรีย ผิดปกติและยังรวมทั้งกลไกทางด้านภูมิคุ้มกันต่างๆ

ส่วนจำเพาะของโปรตีนหนามยังสามารถทำให้เกิดการก่อตัวของโปรตีนอมิลอยด์ (fibrous insoluble tissue) และแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามที่เกาะกับโปรตีน S ที่โผล่ออกมาจากผิวเซลล์ ทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของตนเอง และอธิบายปรากฏการณ์เกิดแท่งย้วยสีขาว หรือ white clots

ระบบการเฝ้าระวังตรวจตรามะเร็งของมนุษย์อ่อนด้อยลง

จากการที่วัคซีนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องจึงทำให้มีการปะทุของไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว โดยที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ไวรัสงูสวัด ไวรัสเริม herpesvirus 8 โดยที่ไวรัสตัวนี้ถือว่าเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิด Kaposi’s sarcoma และการปะทุของไวรัส EBV และ human papilloma virus ที่สามารถเหนียวนำให้เกิดมะเร็งในช่องปากและลำคอ

ปรากฏการณ์เช่นนี้จะช่วยอธิบายอัตราการตายที่สูงขึ้นของมะเร็งที่ริมฝีปากช่องปากและลำคอในปี 2022 ในประเทศญี่ปุ่นที่มีการระดมฉีด เข็มที่สาม การเปลี่ยน RNA เป็น DNA จากกระบวนการ reverse transcription และเข้าไปเสียบในจีโนมของมนุษย์

รายงานในปี 2022 ในวารสาร Current Issues in Molecular Biology แสดงให้เห็นว่าวัคซีน mRNA สามารถเสียบเข้าไปในยีนส์ของมนุษย์หรือดีเอ็นเอโดยใช้กระบวนการนี้ https://www.mdpi.com/1467-3045/44/3/73

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 รายงานในวารสาร Medical Hypotheses พบว่าการเพิ่มปริมาณของวัคซีน mRNA และโมเลกุลของดีเอ็นเอที่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากอาร์เอ็นเอในเซลล์ (cytoplasm) จะสามารถเหนียวนำให้เกิดภาวะอักเสบด้วยตัวเองอย่างเรื้อรัง และนำไปสู่ภูมิคุ้มกันแปรปรวนต่อต้านตัวเอง จนกระทั่งถึงการทำลายดีเอ็นเอ และเกิดมะเร็งในมนุษย์ที่มีปัจจัยโน้มน้าวอยู่แล้วด้วย

นักวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ Kevin McKernan พบว่าวัคซีนโควิดสามารถถูกเปลี่ยนให้เป็นดีเอ็นเอ ทั้งนี้โดยสามารถตรวจพบส่วนของพันธุกรรมโปรตีนหนามของวัคซีนโควิด ในโครโมโซม 9 และ 12 ของเซลล์มะเร็งเต้านมและรังไข่หลังจากที่ฉีดวัคซีนโควิด mRNA

และพบว่ามีความเชื่อมโยงกับบาง batch ของวัคซีนที่มีปริมาณของดีเอ็นเอที่ปนเปื้อนกับความรุนแรงของผลข้างเคียงและผลกระทบที่เกิดขึ้น

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสาธารณสุข และการแพทย์ของฝรั่งเศส Helene Banoun ได้สนับสนุนรายงานจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคล้องจองกับศักยภาพในการกระตุ้นการเกิดมะเร็งจากผลิตภัณฑ์ที่เป็น gene therapy ซึ่ง mRNA วัคซีน ถือว่าจัดอยู่ในประเภทนี้ และผลของวัคซีนที่เหนียวนำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันชาด้าน(immune tolerance) ส่งเสริมการเกิดมะเร็ง

ทั้งนี้ สำนักอาหารและยาของสหรัฐเอง ได้มีการระบุอย่างชัดเจนมาก่อนว่า มีกลไกหลายอย่างที่เป็นไปได้ที่ DNA ที่ปะปนปนเปื้อนจะทำให้เกิดมะเร็ง ทั้งนี้ รวมถึงการที่เข้าไปเสียบในดีเอ็นเอของมนุษย์และสั่งให้มีการสร้าง ยีนส์มะเร็ง (oncogenes) หรือ มีการสอดใส่ซึ่งทำให้มีการผันแปร ทางรหัสพันธุกรรม (intentional mutagenesis)

คณะผู้รายงานจากญี่ปุ่นได้ตอกย้ำว่า กระบวนการวิธีมาตรฐานในผลิตภัณฑ์วัคซีนตามที่สำนักอาหารและยาของสหรัฐได้ระบุไว้นั้นควรต้องถูกนำมาพิจารณา ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงระบาดของโควิดนั้น เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น

บทความนี้เรียบเรียงจากรายงานของคณะผู้ศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นและจาก คุณเมแกน เรดชอ สื่อ เอปิค ไทม์ส

'ญี่ปุ่น' สร้างอุปกรณ์ 'รับ-ส่ง' สัญญาณ 6G ได้เป็นครั้งแรกของโลก เร็วกว่า 5G ถึง 20 เท่า กุญแจสำคัญพายานพาหนะไร้คนขับรุดหน้า

(7 พ.ค. 67) TNN Tech รายงานว่า โดโคโมะ (DOCOMO) เอ็นทีที (NTT Corporation) เน็ก (NEC Corporation) และฟูจิสึ (Fujitsu) ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถรับและส่งข้อมูลในย่านคลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) ซึ่งเป็นย่านคลื่นความถี่ที่เชื่อว่าจะถูกนำไปใช้งานกับการสื่อสารยุค 6G ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยมีความเร็วในการส่งสัญญาณที่ 100 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) หรือมากกว่า 5G ถึง 20 เท่า

สำหรับการทดลองส่งข้อมูลด้วยอุปกรณ์ 6G ครั้งแรกของโลก ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2021 โดยออกแบบให้รับและส่งสัญญาณที่ย่านความถี่ 6 GHz ซึ่งมีอีกชื่อว่า ซับเทระเฮิร์ตซ (Sub-terahertz) โดยอุปกรณ์ได้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (Band) 100 - 300 GHz ต่างจาก 5G ที่มี Band ในการส่งสัญญาณที่ 40 GHz โดยสามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็ว 100 Gbps รองรับระยะการส่งแบบไร้สายที่ 100 เมตร

การพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการนำความสามารถในการวิเคราะห์การตั้งค่าสัญญาณไร้สาย (Wireless system configuration) ที่ DOCOMO เชี่ยวชาญ ร่วมกับการพัฒนาตัวอุปกรณ์ให้รองรับการส่งสัญญาณได้จริงโดย NTT 

ในขณะที่ NEC ได้เข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาเสาสัญญาณแบบใหม่แบบเรียงที่เรียกว่า เอพีเอเอ (APAA: Active Phased Array Antenna) ส่วน Fujitsu มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชิปเพื่อขยายกำลังคลื่นในการรับและส่งสัญญาณในครั้งนี้

สำหรับอนาคตของ 6G จากฝั่งญี่ปุ่น จากการทดลองนี้ ยังทำให้ Fujitsu มีชิปที่สามารถขยายกำลังสัญญาณ 6G ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกในปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระยะการส่งสัญญาณ 6G ให้ไกลยิ่งขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน 6G ยังเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาระบบยานพาหนะไร้คนขับ (Autonomous vehicle) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบโครงข่ายสัญญาณ 6G จะมีความแตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านสมัย 4G มายัง 5G เนื่องจากสัญญาณในระดับ Sub-terahertz จะมีกำลังและรูปแบบคลื่นที่ต่างจาก 5G ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่าย 6G ในอนาคตจำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์ในระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่ง TNN Tech มองว่านี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโครงข่าย 6G ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

‘ร้านสะดวกซื้อ’ ในญี่ปุ่น เผชิญปัญหา ‘ขาดแคลนแรงงาน’ ทำกระทบเวลาให้บริการ ไม่สามารถเปิด 24 ชม.ได้แล้ว

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.67) เกียวโด นิวส์ รายงานว่า ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นเกือบ 12% ที่ดำเนินงานโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ จะไม่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงอีกต่อไป ด้วยเหตุผลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และ ความต้องการซื้อที่ลดลงในช่วงดึก จากการสำรวจของเกียวโด นิวส์

โดยการสำรวจนี้ จัดขึ้นในเดือนเมษายน และตอบกลับโดยผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ 7 ราย ยกเว้นบริษัท Yamazaki Baking Co. โดยพบว่า ร้านสะดวกซื้อประมาณ 6,400 แห่ง จาก 55,00 แห่ง ในประเทศ เปิดทำงานในเวลาที่สั้นลง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน

ทั้งนี้ ร้านค้าบางแห่ง ได้เร่งเปิดตัวเครื่องบันทึกเงินสดแบบไร้พนักงาน เพื่อรับมือการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงมากขึ้น

ด้าน เซเว่น อิเลฟเว่น เจแปน คอร์ป ผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ได้ลดเวลาทำการของร้านค้าเพิ่มเติม 200 แห่ง นับแต่ปี 2020 ตามคำขอของเจ้าของแฟรนไชส์ ขณะที่บริษัท ลอว์สัน ได้ใช้มาตรการที่คล้ายกันกับร้านค้าอีกประมาณ 100 แห่ง

ในบรรดาร้านสะดวกซื้อชั้นนำ 3 แห่งของญี่ปุ่น ได้แก่ เซเว่น-อิเลฟเว่น , ลอว์สัน และ แฟมิลี่ มาร์ท มีสัดส่วนของร้านค้าที่ทำการสั้นลงค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 8-10% เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายเล็กอื่น ๆ

Seicomart ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในฮอกไกโด ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น มีอัตราการลดเวลาทำงานของร้านค้าสูงสุดที่ร้อยละ 87 ตามมาด้วย Poplar Co. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองฮิโรชิมา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ที่ร้อยละ 79

“เรากำลังใช้มาตรการ โดยคำนึงถึงยอดขายและความยั่งยืน” Ministop Co. เปิดเผย ซึ่งได้เปิดให้ร้านค้า 22% เปิดทำการสั้นลง

นับตั้งแต่ เซเว่น อิเลฟเว่น เจแปน เปิดร้านสะดวกซื้อแห่งแรกของประเทศใน โกโต ของโตเกียว ในเดือนพฤษภาคม 2517 ร้านค้าดังกล่าวเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และแพร่หลายไปมากขึ้น โดยลูกค้าไม่เพียงแวะมาซื้อของ แต่ยังมาใช้บริการทางการเงิน จัดส่งพัสดุ และ อื่น ๆ อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้ ตลาดในประเทศเริ่มอิ่มตัว และความกังวลเกี่ยวกับการทำงานที่มากเกินไป ได้ปรากฏขึ้นท่ามกลางวิกฤตแรงงาน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยข้อพิพาทปี 2019 ระหว่างเจ้าของแฟรนไชส์ ในโอซาก้า และ เซเว่น อิเลฟเว่น เจแปน เกี่ยวกับการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ได้รับความสนใจจากสาธารณชน โดยเน้นย้ำเรื่องความกังวลนี้ 

‘บริษัทชั้นนำญี่ปุ่น’ เรียกคืน ‘ขนมปังแผ่น’ กว่าแสนห่อ เร่งสืบสวนข้อเท็จจริง หลังพบชิ้นส่วน ‘ซากหนู’ ปนลงไป

(9 พ.ค.67) เอเอฟพีและ สเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า บริษัท ปาสโค ชิคิชิมะ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ชั้นนำของ ญี่ปุ่น แถลงเรียกคืนขนมปังแผ่นบรรจุถุงมากกว่า 100,000 ห่อ หลังพบชิ้นส่วนของหนูในขนมปัง 2 ห่อ และว่ากำลังสืบสวนว่าชิ้นส่วนซากหนูเข้าไปในสินค้าได้อย่างไร

บริษัท ปาสโค ชิคิชิมะ ระบุด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยหลังรับประทานขนมปัง ‘โชจูกุ’ ขนมปังขาวแบบแผ่น และว่าขนมปังประมาณ 104,000 ห่อถูกเรียกคืนในพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของประเทศ ตั้งแต่กรุงโตเกียวไปจนถึงภูมิภาคอาโอโมริ ทางตอนเหนือ

“เราต้องขออภัยอย่างสุดซึ้งที่สร้างปัญหาให้กับลูกค้าของเรา” บริษัท ปาสโค ชิคิชิมะ ระบุในแถลงการณ์ พร้อมย้ำว่าโรงงานขนมปังในกรุงโตเกียวระงับการผลิตเป็นการชั่วคราวจนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ การเรียกคืนอาหารนั้นถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมากในญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยในระดับสูง

‘ญี่ปุ่น’ จ่อเพิ่ม ‘วาฬฟิน’ ลงบัญชีล่าแบบเชิงพาณิชย์ อ้าง!! เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ควรถูกนำมาบริโภค

(9 พ.ค. 67) ญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬเพื่อการค้าในทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนอีกครั้ง เมื่อปี 2019 หลังตัดสินใจถอนตัวจาก คณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) เนื่องจากไม่สามารถแสวงหาจุดร่วมกับประเทศที่ต่อต้านการล่าวาฬได้

โดยสัปดาห์นี้ สำนักงานประมงญี่ปุ่นได้เปิดให้สาธารณชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับแก้นโยบายควบคุมทรัพยากรทางทะเล โดยจะอนุญาตให้มีการล่าวาฬฟินเพื่อการค้า ซึ่งวาฬฟินจัดเป็นวาฬขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองมาจากวาฬสีน้ำเงิน ที่อยู่ในสกุลและวงศ์เดียวกัน

โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงยืนยันวันนี้ (9 พ.ค.) ว่า ภาครัฐจะยังคงส่งเสริมการล่าวาฬ และดำเนินนโยบายทางการทูตที่จำเป็น

“วาฬถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ซึ่งสมควรถูกนำมาบริโภคอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ฮายาชิ กล่าว โดยอ้างถึงแผนการเพิ่มวาฬฟินลงในบัญชีวาฬที่สามารถล่าเพื่อการค้า

“การสืบทอดวัฒนธรรมอาหารดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน” เขากล่าว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการล่าวาฬมิงค์ วาฬบรูด้า และวาฬเซย์ รวมทั้งสิ้น 294 ตัวในปีที่แล้ว ตามข้อมูลจากสำนักงานประมงญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันยังคงจำกัดให้ล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้เพียง 3 สายพันธุ์นี้เท่านั้น

การบริโภคเนื้อวาฬในญี่ปุ่นเคยพุ่งถึงจุดพีกเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1960 ทว่าปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมแพร่หลาย เนื่องจากมีเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่หารับประทานได้ง่ายกว่า

ญี่ปุ่นประกาศโครงการล่าวาฬเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปี 1987 หลังจากที่ IWC ออกกฎห้ามล่าวาฬเพื่อการค้า ในความเคลื่อนไหวซึ่งทำให้โตเกียวถูกเหล่าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมวิจารณ์อย่างดุเดือด

ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในบรรดาชาติที่แสดงความ ‘ผิดหวัง’ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศถอนตัวจาก IWC เมื่อปี 2018

‘Honda’ ดึง ‘Prelude’ รถสปอร์ตในตำนาน หวนคืนตลาด ชูตัวท็อปพ่วง คาดเปิดตัวปีหน้า ราคาล้านต้น

(11 พ.ค.67) หลังจาก Honda เซอร์ไพรส์เปิดตัว Honda Prelude Concept ในงาน Tokyo Auto Show เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ในตอนนี้ทางบริษัทได้ยืนยันแล้วว่าจะผลิตรถสปอร์ตไฮบริด 2 ประตูอย่างแน่นอน และจะเปิดตัวในปี 2025

โดยจะมีเครื่องยนต์ 4 สูบ e:HEV ขนาด 2.0 ลิตรแบบเดียวกับที่ใช้กับรุ่นไฮบริดของ Accord และ Civic แต่จะให้กำลังมากกว่าเล็กน้อย โดยมีกำลังรวม 207 แรงม้า

คาดว่าขนาดมิติถัง Honda Prelude Hybrid จะมีความยาว 4,300 มม. กว้าง 1,790 มม. สูง 1,300 มม. และระยะฐานล้อ 2,575 มม. โดยจะมีขนาดเกือบใกล้เคียงกับ Toyota GR86 และใหญ่กว่า Mazda MX-5 Miata

มีรายงานว่า Honda จะวางให้ Honda Prelude Hybrid เป็นรุ่นพรีเมียมและจะเป็นคู่แข่งที่เหนือกว่าโตโยต้าสองประตูอย่าง Toyota GR86 ด้วย

ตามข้อมูล Honda Prelude Concept จะตั้งราคาในญี่ปุ่นอยู่ที่ 4.2 ถึง 4.5 ล้านเยน (ประมาณ 1 - 1.07 ล้านบาท) มากกว่า Toyota GR86 ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 2.9 - 3.6 ล้านเยน (ประมาณ 7-8แสนบาท)

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมทำลาย ‘ยารักษาโควิด-19’ ชนิดกิน หลังจากเหลือ-ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ราว 77%

(15 พ.ค.67) สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานว่า ญี่ปุ่นเตรียมทำลายยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดรับประทานราวร้อยละ 77 ที่ซื้อมาสำรองไว้ เนื่องจากยังคงเหลือและไม่ได้ถูกนำมาใช้

สื่ออ้างอิงการคาดการณ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น รายงานว่า รัฐบาลฯ ได้จัดหายาชนิดรับประทานสำหรับประชาชน 5.6 ล้านคนในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่ยังคงเหลือยาสำหรับประชาชนอีกจำนวน 4.3 ล้านคน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าญี่ปุ่นซื้อยาเม็ดโซโควา (Xocova) ซึ่งผลิตโดยชิโอโนกิ แอนด์ โค (Shionogi & Co.) สำหรับผู้ป่วย 2 ล้านคน ยาแคปซูลลาเกวริโอ (Lagevrio) ที่ผลิตโดยเมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co.) สำหรับผู้ป่วย 1.6 ล้านคน และยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ที่ผลิตโดยไฟเซอร์ อิงก์ (Pfizer Inc.) สำหรับผู้ป่วย 2 ล้านคน ทว่าไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของยาที่ซื้อมาทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การคำนวณตัวเลขที่เกี่ยวข้องพบว่าญี่ปุ่นยังคงมียาเม็ดโซโควาเหลือสำหรับผู้ป่วย 1.77 ล้านคน ยาแคปซูลลาเกวริโอเหลือสำหรับผู้ป่วย 780,000 คน และยาแพกซ์โลวิดเหลือสำหรับผู้ป่วย 1.75 ล้านคน เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่ายาที่เหลือทั้งหมดมูลค่าราว 3 แสนล้านเยน (ราว 7.04 หมื่นล้านบาท) จะถูกทำลายเนื่องจากหมดอายุแล้ว

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้กำจัดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้ใช้ไปแล้ว 240 ล้านโดส ซึ่งมีมูลค่ารวม 6.65 แสนล้านเยน (ราว 1.56 แสนล้านบาท)

‘ญี่ปุ่น’ มอบเครื่องราชฯ ‘มงกุฎแสงแห่งอาทิตย์’ ให้ ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญ ส่งเสริมการคมนาคมขนส่ง ระหว่าง ‘ญี่ปุ่น-ไทย’

เมื่อไม่นานมานี้ เพจเฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ข่าวการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2567 ให้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุว่า ...

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับเครื่องราช ‘The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star’ จากผลสำเร็จ ในประเทศไทย ‘ในฐานะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย’

ทั้งนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้นำในโครงการพัฒนาและความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่น-ไทย 

อีกทั้งยังมี บทบาทสำคัญในการพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น โดยเป็นหัวหอกในการประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการสนับสนุนของญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยจะดําเนินไปอย่างราบรื่นในประเทศไทย

สำหรับเครื่องราชฯ ตระกูลมงกุฎแสงแห่งอาทิตย์ ชั้นที่ 2 เป็นเครื่องราชรองจากสูงสุดที่ให้กับคนต่างชาติ

‘สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว’ เข้าร่วมพิธีมอบ ‘เครื่องราชอิสริยาภรณ์’ ในฐานะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ‘ญี่ปุ่น-ไทย’

เมื่อไม่นานมานี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ‘The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star’ สำหรับชาวต่างชาติประจำฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2567 ได้เข้าร่วมพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จัดขึ้น ณ พระราชวังอิมพีเรียล โดยมีนายกรัฐมนตรีคิชิดะเป็นผู้มอบ

โดยนายสีหศักดิ์ ได้รับเครื่องราชฯ  ‘The Order of the Rising Sun, Gold and Silver Star’ จากผลสำเร็จในประเทศไทย ในฐานะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกระชับสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นและไทย โดยผ่านประสบการณ์ใน การปฏิบัติงานในสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ถึง 2 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ มีผลสำเร็จและบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่น-ไทย นอกจากนี้ ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนและกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top