Tuesday, 22 April 2025
ซีพีเอฟ

'ก.แรงงาน' ผนึกกำลัง 'ซีพีเอฟ' ลงนามความร่วมมือยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยในสถานประกอบการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อก้าวไปอย่างยั่งยืน” ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมี นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานตามหลักสากล ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และมีการนำมาตรฐานแรงงานมาเชื่อมโยงกับการค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถ ในการแข่งขันที่สูงขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานโดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์ฯ ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจกุ้งแบบครบวงจรในประเทศไทย เป็นการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาสถานประกอบกิจการ และห่วงโซ่อุปทานตลอดสายการผลิต เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน โดยปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย ส่งผลให้มีกลุ่มธุรกิจเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน สินค้าบริการได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าผลิตสินค้าได้อย่างมีจริยธรรมและปราศจากการค้ามนุษย์ 

ทั้งนี้ สาระสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ก็เพื่อที่จะให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจกุ้งครบวงจร เขตประเทศไทย และสถานประกอบกิจการในห่วงโซ่อุปทาน ได้ประสานความร่วมมือรณรงค์ส่งเสริม ตระหนักและเห็นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน และนำมาตรฐานแรงงานไทยมาปฏิบัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนความร่วมมือในการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทยและนำมาใช้บริหารจัดการแรงงานในสถานประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบทางสังคม และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย

‘ซีพีเอฟ’ ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสมดุลเพื่อธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึก ‘พนักงาน-คู่ค้า’ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

(4 ธ.ค. 66) นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสุงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก  ทาง ซีพีเอฟ ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG (Environment Social Governance) และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคที่ประชาชนทุกคนในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งทรัพยากรป่า ไม้ น้ำ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  สนับสนุนความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"เราตระหนักดีว่า ในการดำเนินธุรกิจ ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำ อากาศต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างธรรมชาติที่ดีให้กับสังคม และสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ " นางกอบบุญ กล่าว

ซีพีเอฟ กำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ อาทิ  การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Management) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ( Biodiversity and Ecosystem) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Change Management and Net-Zero)

การดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต พัฒนามาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) บริหารจัดการฟาร์มสุกรรักษ์โลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำหรือระบบอีแวป (EVAP) ใช้ระบบบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊ส (Biogas) ช่วยลดกลิ่น กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ลดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการผลิตอาหาร ให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กลุ่ม SCG พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้  บริษัทฯได้จัดทำนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน  โดยตั้งเป้าหมายร้อยละ 100 ของการจัดหาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพด  ปลาป่น น้ำมันปาล์ม กากถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยึดแนวทาง ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ในการจัดหาผลผลิต รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพิ่มผลผลิต ปลอดการเผาตอซัง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย

ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมความตระหนักของพนักงาน รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป๋าชายเลน โครงการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั้งกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ กิจกรรมกับดักขยะทะเล ในโครงการ CPF Restore the Ocean  ที่นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ อาทิ  กระถางต้นไม้ และถาดใส่ของ ซึ่งโครงการดังกล่าว สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ด้านสังคม สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ และด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเล

นางกอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ส่งเสริมให้คู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความรู้ให้คู่ค้า SMEs ช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการนำส่วนของผลประหยัดที่เกิดขึ้น  มาลงทุนกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ขณะเดียวกัน ได้จัด โครงการ ‘ปันรู้ ปลูกรักษ์’ โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ที่ซีพีเอฟเข้าไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความรู้กับเยาวชนเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

'ซีพีเอฟ' ยัน!! ทำลายปลาหมอคางดำหมดเกลี้ยงตั้งแต่ 14 ปีก่อน ส่วนปัญหาระบาดช่วงนี้ บริษัทฯ พร้อมสนับสนุนภาครัฐแก้ปัญหา

(16 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยัง คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.)

นายเปรมศักดิ์ กล่าวว่า “บริษัทยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน อันประกอบด้วย…

1.ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น…

2.ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ…

3.สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา…

4.สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา…

และ 5.สนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ”

สำหรับหนังสือชี้แจงไปยัง กมธ. มีรายละเอียด ดังนี้ ในปี 2553 บริษัทได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่ามีปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยมีการทำลายซากปลาตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัท ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว

‘ซีพีเอฟ’ เผยความคืบหน้าโครงการ ‘จัดการปลาหมอคางดำ’ ยอดรับซื้อล่าสุด 6 แสนกิโล เผย!! เร่งจับมือกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และต่อเนื่อง

(17 ส.ค.67) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเร่งจับปลาหมอคางดำออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ในทุกจังหวัดที่พบปลาชนิดนี้

โดย ล่าสุดคณะฯหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดตามผลปฏิบัติการของบริษัท จากการเร่งดำเนินการใน 5 โครงการเชิงรุก โดยบูรณาการความร่วมมือกับทั้งกรมประมง โรงงานปลาป่น และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด

สำหรับโครงการเชิงรุกที่ CPF ดำเนินการ ประกอบด้วย 

1.ความร่วมมือกับกรมประมง สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่พบปลาชนิดนี้ ตั้งเป้ารับซื้อจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นปลาป่น ภายใต้ความร่วมมือกับโรงงานปลาป่น บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร โดยรับซื้อปลาจากชาวประมงในสมุทรสาครไปแล้วมากกว่า 6 แสนกิโลกรัม (กก.) และบริษัทได้ขยายจุดรับซื้ออีกหลายจังหวัดต่อไป

2.โครงการสนับสนุนปลานักล่า จำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่ลงแหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง เพื่อกำจัดลูกปลาที่เหลือออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด จนถึงปัจจุบันบริษัทได้ส่งมอบปลากะพงขาวปลานักล่าไปแล้ว 54,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี

จากการดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ปรากฏผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่าจังหวัดสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 800,000 ตัว สอดคล้องกับชาวประมงจังหวัดสมุทรสาครที่ให้ข้อมูลว่า จำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ลดลงถึง 80%

จัดกิจกรรมจับปลา เช่นกรมประมงเปิดปฏิบัติการ ‘ลงแขกลงคลอง’ โดยบริษัทสนับสนุนอุปกกรณ์ใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 200 ใบ จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มอบแก่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด เพื่อนำมาใช้ใหม่เป็นถังบรรจุน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อส่งต่อให้การยางแห่งประเทศไทยต่อไป ขณะนี้ได้ทยอยส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และจังหวัดอื่น ๆ จนครบต่อไป

4.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจร่วมดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.เกษตรฯ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ร่วมพัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ทั้งปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และน้ำพริกปลากรอบ

5.โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว โดย สจล. และ ม.เกษตรฯ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และบริษัทยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงความสนใจเข้าร่วมด้วย

‘ปตท.–ซีพีเอฟ–ไทยเบฟ’ ติดโผ นายจ้างที่ดีที่สุด จากผลสำรวจโดย ‘Forbes’ ด้าน Microsoft ครองแชมป์ ประจำปี 8 สมัยรวด ด้วยคะแนนที่ท่วมท้น

(13 ต.ค. 67) จากรายงานการศึกษาของ World Economic Forum ด้านสถานการณ์การจ้างงาน ชี้ว่า โลกการทำงานยุคนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากปัญหาสังคมและเศรษฐกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบทางการเมือง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ในที่ทำงาน รวมถึงองค์กรหรือธุรกิจต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นเหล่านี้ไม่น้อย 

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในตลาดงาน ดังนั้น ตัวแรงงานหรือลูกจ้างหากต้องการให้ตนเองสามารถแข่งขันในตลาดงานต่อไปได้ จำเป็นต้องเพิ่มทักษะใหม่ๆ และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งฝั่งนายจ้างเองก็ย่อมต้องการทักษะใหม่ต่างๆ จากแรงงานเช่นกัน

ลูกจ้างของบางบริษัทอาจต้องขวนขวายหาความรู้หรือเพิ่มทักษะด้วยตนเอง แต่ลูกจ้างของบางบริษัทก็โชคดีกว่านั้น เพราะองค์กรของพวกเขาได้เข้ามาสนับสนุนและจัดให้มีพื้นที่ในการอบรม เพื่อฝึกฝนพัฒนาทักษะใหม่ให้พนักงานในองค์กรเท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ ซึ่งทำให้พนักงานเติบโตไปพร้อมกับงานนั้นได้ อีกทั้งทำให้องค์กรรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงได้ นำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป

พนักงานที่ทำงานในบริษัทที่ให้การสนับสนุนฝึกฝนทักษะดังกล่าว มักจะทำงานในบริษัทเหล่านั้นได้นานขึ้น มีความสุข และมีส่วนร่วมกับงานมากขึ้น แต่บางครั้งลูกจ้างที่จบใหม่ก็อาจไม่รู้ว่าบริษัทดีๆ แบบนี้คือที่ไหนบ้าง เพราะการค้นหาบริษัทเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป

ล่าสุด Forbes ได้ร่วมกับ Statista บริษัทให้บริการข้อมูลด้านสถิติระดับโลก ได้ทำให้การค้นหานั้นง่ายขึ้นด้วยการจัดอันดับนายจ้างที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2024 ซึ่งได้ทำต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 8 แล้ว

โดยการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของปีนี้ ทีมงานวิจัยได้สำรวจพนักงานกว่า 300,000 คนในกว่า 50 ประเทศ ที่ทำงานให้กับกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน และดำเนินงานในภูมิภาคทวีปอย่างน้อย 2 แห่งจากทั้งหมด 6 แห่งของโลก (แอฟริกา เอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกาและแคริบเบียน อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย)

โดยผู้ตอบแบบสอบถามถูกถามว่า จะแนะนำบริษัทของตนให้กับครอบครัวหรือเพื่อนหรือไม่ และให้คะแนนโดยพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ 1.เงินเดือน 2.การพัฒนาบุคลากร และ 3.ตัวเลือกการทำงานจากระยะไกล นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังสามารถให้คะแนนบริษัทที่ตนรู้จักจากความรู้ในอุตสาหกรรมของตนเองและจากเพื่อนหรือครอบครัวที่ทำงานที่นั่นได้ด้วย

ผลการสำรวจได้รับการวิเคราะห์จากข้อมูลตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นให้ความสำคัญกับข้อมูลล่าสุดและการประเมินจากพนักงานปัจจุบันเป็นหลัก ในที่สุดก็ได้บริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ต่างๆ ออกมา ไล่เลียงบริษัทที่ได้คะแนนตรงตามเกณฑ์มากที่สุดไปหาน้อยที่สุด โดยมีทั้งหมด 850 แห่งจาก 48 ประเทศ ซึ่งพบว่าบริษัทที่ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ได้แก่ Microsoft เนื่องจากได้รับคะแนนท่วมท้นทั้งในแง่ของ การให้พนักงานทำงานอย่างยืดหยุ่นได้ พนักงานได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม และบริษัทมีการพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ

ขณะที่บริษัทจากประเทศไทยก็ติดโผในรายงานนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้ติดอันดับต้นๆ ก็ตาม โดยพบว่ามี 3 บริษัทใหญ่ในไทยที่ติดอันดับในรายงานชุดนี้ ได้แก่ 

- อันดับที่ 69 คือ ปตท. (PTT)
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ปิโตรเลียม โรงกลั่น เคมีภัณฑ์ การก่อสร้าง มีพนักงานจำนวน 3,574 คน

- อันดับ 246 คือ ซีพีเอฟ (CPF) 
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรอุตสาหกรรม ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ผลิตเนื้อสัตว์ อาหารสด อาหารแปรรูป อาหารพร้อมทาน เครื่องดื่มต่างๆ มีพนักงาน 135,446 คน

- อันดับ 456 คือ ไทยเบฟเวอเรจ
ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับค้าปลีกและขายส่ง อาหาร เครื่องดื่มทั่วไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีพนักงาน 60,000 คน

ทั้งนี้ สำหรับการจัดอันดับบริษัททั่วโลกที่ถือเป็น "นายจ้างที่ดีที่สุดในโลก ปี 2024" นั้น ขอยกมาเฉพาะใน 10 อันดับแรก พบว่า เป็นบริษัทชื่อดังระดับโลกที่มีสำนักงานกระจายตัวอยู่หลายภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ 

อันดับ 1 Microsoft จากสหรัฐ มีพนักงาน  221,000 คน 
อันดับ 2 Alphabet  จากสหรัฐ มีพนักงาน  182,502 คน
อันดับ 3 Samsung จากเกาหลีใต้ มีพนักงาน  270,372 คน
อันดับ 4 Adobe จากสหรัฐอเมริกา มีพนักงาน 29,000  คน
อันดับ 5 BMW Group จากเยอรมนี มีพนักงาน 154,950 คน
อันดับ 6 Delta Air Lines จากสหรัฐ มีพนักงาน  90,000 คน
อันดับ 7 AIRBUS จากเนเธอร์แลนด์ มีพนักงาน  147,893 คน
อันดับ 8 IKEA จากเนเธอร์แลนด์ มีพนักงาน  208,000 คน
อันดับ 9 Lego Group จากเดนมาร์ก มีพนักงาน  27,000 คน
อันดับ 10 IBM จากสหรัฐ มีพนักงาน 187,000 คน

หมายเหตุ: ลิสต์รายชื่อบริษัทต่างๆ ตามรายงานของ Forbes ชิ้นนี้บริษัทต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ เพื่อเข้าร่วมหรือได้รับเลือก 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top