‘ซีพีเอฟ’ เผยความคืบหน้าโครงการ ‘จัดการปลาหมอคางดำ’ ยอดรับซื้อล่าสุด 6 แสนกิโล เผย!! เร่งจับมือกับทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และต่อเนื่อง

(17 ส.ค.67) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเร่งจับปลาหมอคางดำออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง ในทุกจังหวัดที่พบปลาชนิดนี้

โดย ล่าสุดคณะฯหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดตามผลปฏิบัติการของบริษัท จากการเร่งดำเนินการใน 5 โครงการเชิงรุก โดยบูรณาการความร่วมมือกับทั้งกรมประมง โรงงานปลาป่น และสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด

สำหรับโครงการเชิงรุกที่ CPF ดำเนินการ ประกอบด้วย 

1.ความร่วมมือกับกรมประมง สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่พบปลาชนิดนี้ ตั้งเป้ารับซื้อจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อนำไปผลิตเป็นปลาป่น ภายใต้ความร่วมมือกับโรงงานปลาป่น บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร โดยรับซื้อปลาจากชาวประมงในสมุทรสาครไปแล้วมากกว่า 6 แสนกิโลกรัม (กก.) และบริษัทได้ขยายจุดรับซื้ออีกหลายจังหวัดต่อไป

2.โครงการสนับสนุนปลานักล่า จำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่ลงแหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง เพื่อกำจัดลูกปลาที่เหลือออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด จนถึงปัจจุบันบริษัทได้ส่งมอบปลากะพงขาวปลานักล่าไปแล้ว 54,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจันทบุรี

จากการดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ปรากฏผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่าจังหวัดสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 800,000 ตัว สอดคล้องกับชาวประมงจังหวัดสมุทรสาครที่ให้ข้อมูลว่า จำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ลดลงถึง 80%

จัดกิจกรรมจับปลา เช่นกรมประมงเปิดปฏิบัติการ ‘ลงแขกลงคลอง’ โดยบริษัทสนับสนุนอุปกกรณ์ใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 200 ใบ จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ มอบแก่สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด เพื่อนำมาใช้ใหม่เป็นถังบรรจุน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อส่งต่อให้การยางแห่งประเทศไทยต่อไป ขณะนี้ได้ทยอยส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และจังหวัดอื่น ๆ จนครบต่อไป

4.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจร่วมดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ม.เกษตรฯ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ร่วมพัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ทั้งปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และน้ำพริกปลากรอบ

5.โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว โดย สจล. และ ม.เกษตรฯ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และบริษัทยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แสดงความสนใจเข้าร่วมด้วย