Tuesday, 8 April 2025
ฉนวนกาซา

สถานทูตอิสราเอลในไทย ใช้ตุ๊กๆ ติดป้ายตัวประกันที่ถูกจับร่อนทั่วกรุง ผิดมารยาทตามแบบธรรมเนียมพิธีการทางการทูตหรือไม่?

ผิดมารยาท…ตามแบบธรรมเนียมพิธีการทางการทูตหรือไม่?

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ปล่อยตัวประกันที่ถูกจับในฉนวนกาซา ด้วยการติดแผ่นป้ายใบหน้าตัวประกันหลังรถสามล้อกว่า 100 คัน และให้วิ่งไปตามถนนสายหลักต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ

พิธีการทูต (Diplomatic protocol) ในการเมืองระหว่างประเทศ เป็นมารยาททางการทูตและกิจการของรัฐ พิธีการทูตเป็นกฎซึ่งชี้นำว่ากิจกรรมหนึ่ง ๆ ควรดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการทูต ดังนั้นการนำเรื่องราวของความขัดแย้งอันเป็นปัญหาระหว่างประเทศมารณรงค์ในประเทศที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความขัดแย้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวโดยไม่ยอมกล่าวถึงมูลเหตุของความขัดแย้งนั้น ส่วนพิธีสารเจาะจงพฤติกรรมที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในประเด็นรัฐและการทูต

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณี ว่า เวลาอิสราเอลทำอะไรไม่เคยมาขออนุญาตทางการไทย และขอยืนยันว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นไทยไม่ค่อยเห็นด้วย จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชิญเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยมาพูดคุย 

นายปานปรีย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในระหว่างช่วงการเจรจาให้ตัวประกันทั้ง 8 คนได้กลับมาสู่ประเทศไทย จึงไม่ประสงค์ที่จะสร้างปัญหาหรือไม่ประสงค์ที่จะทำให้ประเทศที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจผิดว่าเราไปสนับสนุนประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศที่มีความขัดแย้งกันอยู่ ดังนั้น ไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศและในส่วนของอิสราเอล ตนก็เชื่อว่าพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ชาวโลกเข้าใจว่าเขาไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของไทยก็มองว่าเวลานี้ เรื่องสำคัญที่สุดคือ ให้ตัวประกันคนไทยทั้ง 8 คนปลอดภัยที่สุดและกลับมาประเทศไทย และไม่ประสงค์ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้เวทีของไทยสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ทั้งยืนยันว่า รัฐบาลไทยยังคงพยายามหาแนวทางในการช่วยเหลือตัวประกันไทยที่เหลือ 

หลายปีที่ผ่านมาพฤติการณ์และพฤติกรรมของนักการทูตหลายชาติตะวันตกได้เข้ามายุ่งเกี่ยวและแทรกแซงทั้งทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของไทยหลายครั้งหลายหน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศต้องดำเนินการ แต่เพราะการปล่อยปละละเลย จะด้วยความเกรงใจหรือไม่สนใจใด ๆ ก็ตาม จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้ประเทศไทยในการเคลื่อนไหวโดยไม่ให้ความสำคัญต่อแบบธรรมเนียมตามพิธีการทูต (Diplomatic protocol) ที่ตัวแทนของอารยประเทศพึ่งปฏิบัติดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้น

เรื่อง: ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล

‘เจ้าชายวิลเลียม’ วอน!! ‘หยุดยิง’ ในกาซา ชี้!! สงครามทำผู้คนล้มตายมากเกินไปแล้ว

เจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษทรงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา และตรัสว่า “ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส” จากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งทำให้ “มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากมาย” ทำให้การฟื้นฟูสันติภาพคือสิ่งจำเป็น

(21 ก.พ.67) รอยเตอร์ รายงานว่า เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงออกคำแถลงเมื่อวันอังคาร (20 ก.พ.) เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่พลเรือนในกาซา และทรงเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปลดปล่อยตัวประกันทั้งหมดด้วย

“ข้าพเจ้ายังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับต้นทุนมนุษย์ (human cost) ที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ผู้ก่อการร้ายฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีผู้คนถูกสังหารมากมายเกินไปแล้ว” เจ้าชายวิลเลียมตรัส

“บางครั้งก็ต้องให้เผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานครั้งใหญ่ของมนุษย์ เราจึงจะเห็นคุณค่าของสันติภาพที่ยั่งยืนถาวร”

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2018 เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษพระองค์แรกที่เดินทางไปเยือนอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ และได้ทรงติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดตลอดมา

สำนักพระราชวังเคนซิงตันแถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับทราบเนื้อหาในพระดำรัสของเจ้าชายวิลเลียม ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ออกมา 

เจ้าชายวิลเลียมวัย 41 พรรษาได้เสด็จไปยังสำนักงานใหญ่สภากาชาดอังกฤษในกรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ (20) เพื่อทรงรับฟังแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลาง

“ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนที่อยากเห็นสงครามครั้งนี้จบลงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้... ชาวกาซาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นโดยด่วน การส่งความช่วยเหลือเข้าไป และการปล่อยตัวประกัน คือสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด” เจ้าชายตรัส

อีลอน เลวี โฆษกรัฐบาลอิสราเอล ได้ออกมาแถลงตอบพระดำรัสของเจ้าชายแห่งเวลส์ โดยกล่าวว่า “ชาวอิสราเอลก็ปรารถนาที่จะเห็นการสู้รบยุติลงโดยเร็วที่สุดเช่นกัน และนั่นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อตัวประกัน 134 คนได้รับการปลดปล่อย และหลังจากที่กองทัพผู้ก่อการร้ายฮามาสซึ่งข่มขู่ใช้ความรุนแรงเหมือนเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ถูกทำลายหมดสิ้นไป”

เลวี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอล “รู้สึกซาบซึ้งที่เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเรียกร้องให้ฮามาสปลดปล่อยตัวประกัน และยังสำนึกในพระกรุณาฯ ที่ได้ทรงมีพระดำรัสเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ประณามการก่อการร้ายโดยพวกฮามาส อีกทั้งทรงสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล”

สัปดาห์หน้าเจ้าชายวิลเลียมทรงมีกำหนดการเสด็จเยี่ยมโบสถ์ยิวแห่งหนึ่ง เพื่อทรงรับฟังมุมมองจากคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการรับมือกระแสเกลียดชังชาวเซมิติก (anti-Semitism) หลังจากปีที่แล้วเป็นปีที่กระแสต่อต้านชาวยิวในอังกฤษทวีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ 

‘เด็กฉนวนกาซา’ เผชิญวิกฤต ‘ขาดแคลนอาหาร’ รุนแรง เสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ ที่เป็นภัยคุกคามถึงชีวิต

(6 มิ.ย.67) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ออกมาระบุว่า เด็ก 9 ใน 10 คนในฉนวนกาซาไม่ได้รับประทานอาหารที่มีสารอาหารต่าง ๆ เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของพวกเขา

“หลายเดือนมาแล้วสงครามและข้อจำกัดด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาได้พังทลายลง ทั้งระบบอาหารและสุขภาพ ส่งผลให้เกิดหายนะต่อเด็กและครอบครัวของพวกเขา” ยูนิเซฟกล่าว

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล 5 ชุด ระหว่างเดือนธันวาคม 2023 - เมษายน 2024 และพบว่าเด็ก 9 ใน 10 คนในฉนวนกาซา ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักจากการรุกรานของอิสราเอลตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อน กำลังทุกข์ทรมานจากความขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้พวกเขาอยู่รอดได้ด้วยสารอาหารเพียง 2 กลุ่มหรือน้อยกว่านั้นต่อวัน

โดยยูนิเซฟระบุว่า นี่เป็นข้อพิสูจน์ถึงผลกระทบอันน่าสยดสยองของความขัดแย้ง และข้อจำกัดที่มีต่อความสามารถของครอบครัวในการตอบสนองต่อความต้องการอาหารของเด็กและความรวดเร็วที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการที่เป็นภัยคุกคามถึงชีวิต

ด้านอิสราเอลอ้างว่า พวกเขาไม่ได้จำกัดปริมาณสิ่งของด้านมนุษยธรรมของพลเรือนในฉนวนกาซา และกล่าวโทษสหประชาชาติว่าจัดส่งสิ่งของล่าช้า เพราะการดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่ด้วยความอดอยากมากมายที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ทำให้เด็กบางคนเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการและภาวะขาดน้ำ

กระนั้นก็ดี เพื่อให้เด็กมีความหลากหลายของโภชนาการสำหรับพัฒนาการทางสุขภาพที่ดี เด็ก ๆ จะต้องทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนอย่างน้อย 5 จาก 8 กลุ่มตามความหลากหลายของอาหารที่ยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด

ยูนิเซฟบอกด้วยว่า เด็กทั่วโลก 27% ประสบปัญหาความยากจนด้านอาหารอย่างรุนแรงในวัยเด็ก ซึ่งคิดเป็นจำนวนของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 181 ล้านคน

‘เนทันยาฮู’ ลั่น!! ‘อิสราเอล’ จะไม่ยุติสงครามจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ย้ำ!! จะโจมตีฉนวนกาซาต่อไปจนกว่า ‘กลุ่มฮามาส’ จะถูกกวาดล้าง

(2 ก.ค. 67) รอยเตอร์ส/อัลจาซีรา รายงาน นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แถลงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอิสราเอลประจำสัปดาห์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย. ว่า กองทัพอิสราเอลยังคงปฏิบัติการทั้งในเมืองราฟาห์ เชไจยา และทุกที่ในฉนวนกาซามีนักรบและผู้ก่อการร้ายถูกสังหารทุกวันเป็นสงครามที่ยากลำบาก ทหารต้องรับมือทั้งการรบระยะประชิดและการถูกซุ่มโจมตีทั้งบนพื้นดินและใต้ดิน แต่ยืนยันว่า อิสราเอลจะไม่หยุดทำสงครามในฉนวนกาซา จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือการกวาดล้างและคว้าชัยชนะเหนือกลุ่มฮามาส

ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลยังคงเดินหน้าส่งทั้งรถถังและกำลังพลประชิดเข้าไปลึกในย่านเชไจยา ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาและรุกกดดันพื้นที่ทางตะวันออกและตอนกลางของเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของกาซาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการโจมตี 6 นาย บ้านเรือนหลายหลังเสียหาย นอกจากนี้ยังมีการยิงปะทะดุเดือดกับนักรบทั้งของกลุ่มฮามาสและอิสลามิกจีฮัด ในย่านทางตอนเหนือของกาซาและในเมืองราฟาห์ นักรบของทั้ง 2 กลุ่มได้ยิงจรวดต่อต้านรถถังและลูกกระสุนปืน ค. เพื่อต่อต้านกองกำลังอิสราเอล

ขณะที่นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เมื่อ7 ตุลาคมปีที่แล้ว มีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลแล้ว37,834 ศพแล้ว บาดเจ็บอีกกว่า 86,800 คนส่วนเมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย. มีทหารอิสราเอลเสียชีวิตเพิ่ม 2 นาย ระหว่างปฏิบัติการทางทหารในย่านเชไจยา ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ มีทหารอิสราเอลเสียชีวิตจากสงครามในฉนวนกาซาแล้วอย่างน้อย 670 นาย

ในอีกด้านหนึ่ง โอซามา ฮัมดาน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส แถลงที่กรุงเบรุตของเลบานอนว่า ไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซากับอิสราเอล อย่างไรก็ดี กลุ่มฮามาสยังคงพร้อมดำเนินการในเชิงสร้างสรรค์กับทุกข้อเสนอที่จะนำไปสู่การทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร การถอนทหารอิสราเอลทั้งหมดออกจากฉนวนกาซาและการมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวประกันในกาซากับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังในเรือนจำอิสราเอลอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ฮามาสยังได้กล่าวโทษสหรัฐฯ ว่า กดดันให้ฮามาสยอมรับเงื่อนไขของอิสราเอลโดยไม่ต้องปรับแก้ไข ซึ่งกลุ่มฮามาสไม่เห็นด้วย

ด้านชาติอาหรับ ทั้งอียิปต์และกาตาร์ ที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยพยายามที่จะทำให้เกิดการหยุดยิง แต่ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้จนถึงขณะนี้ ฮามาสยืนยันว่า ข้อตกลงใด ๆ ก็ตามจะต้องยุติสงคราม ถอนทหารอิสราเอลทั้งหมดออกจากกาซา ขณะที่อิสราเอลยืนยันว่า จะยอมรับการพักรบต่อเมื่อกลุ่มฮามาสที่ปกครองกาซามาตั้งแต่ปี 2550 ถูกกำจัด

‘เนทันยาฮู’ ประณามผู้ประท้วงให้หยุดยิงในกาซา ต่อสภาคองเกรส พร้อมวอนสหรัฐฯ หนุนสงคราม ลั่น!! ศัตรูของเรา คือศัตรูของคุณ

เมื่อวานนี้ (24 ก.ค. 67) เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประณามพวกผู้ประท้วงเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในกาซา และเรียกร้องจัดให้พันธมิตรโลกต่อต้านระบอบอิหร่าน ที่เขากล่าวหาว่าเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนบรรดาผู้ชุมนุมเหล่านั้น ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วง หลังวอชิงตันแสดงความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรม อันสืบเนื่องจากปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 9 เดือน ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านทั้งในอิสราเอลและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เนทันยาฮู ใช้โอกาสกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และกล่าวหาเตหะรานให้เงินทุนและสนับสนุนการประท้วงต่อต้านอิสราเอลในสหรัฐฯ และเรียกบรรดานักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพในกาซาว่าเป็น ‘พวกงี่เง่าที่ทำตัวเป็นประโยชน์กับอิหร่าน’

"อเมริกาและอิสราเอล ในวันนี้สามารถหล่อหลอมพันธมิตรด้านความมั่นคงในตะวันออกกลาง เพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จากอิหร่าน" เขากล่าวกับสมาชิกสภาคองเกรส ในขณะที่อีกด้านหนึ่งบรรดาผู้ประท้วงได้ทำการเผาหุ่นของเขาบนถนนที่อยู่ด้านนอกอาคารรัฐสภา

"ทุกประเทศที่ล้วนมีสันติกับอิสราเอล และทุกประเทศเหล่านี้ที่จะสร้างสันติภาพร่วมกับอิสราเอล ควรได้รับเชิญเข้าร่วมพันธมิตรนี้" เขากล่าว

นอกจากนี้ เนทันยาฮู ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าอิหร่านคือ ‘อักษะก่อการร้าย’ ที่อยู่เบื้องหลังนิกายเข่นฆ่าเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลาง พร้อมกับเรียกร้องสหรัฐฯ และอิสราเอลต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อต่อกรกับอิหร่านและเหล่ากลุ่มตัวแทนของเตหะราน

"ศัตรูของเราคือศัตรูของคุณ การต่อสู้ของเราคือการต่อสู้ของคุณ และชัยชนะของเราคือชัยชนะของคุณ" เนทันยาฮูกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเชิญเนทันยาฮูในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเห็นต่างอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนชาวอเมริกาต่อการกระทำของอิสราเอลในกาซา ท่ามกลางจำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูง โดยการชุมนุมบริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภา มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนแตะหลักหลายพันคน ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะปรากฏตัว

บรรดานักเคลื่อนไหวถูกตำรวจสกัดให้อยู่ห่างออกไปอย่างน้อย 1 ช่วงตึก ก่อนถูกพวกเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ จนท้ายที่สุดก็สลายตัวไป ส่วนภายในอาคารสภาผู้แทนราษฎร ซีกหนึ่งของอาคารรัฐสภาหลักมีผู้ประท้วง 6 คนถูกจับกุม ก่อน เนทันยาฮู เริ่มกล่าวปราศรัย

การเดินทางเยือนของผู้นำอิสราเอล มีขึ้นตามหลังเหตุมือปืนพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ถอนตัวจากการเลือกตั้ง และหันไปรับรอง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครตแทน

ไบเดน และแฮร์ริส ต่างมีกำหนดพบปะกับ เนทันยาฮู แยกกันในวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) แต่กระนั้นฝ่ายรีพับลิกันวิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริส ที่ไม่เข้าร่วมรับฟังการกล่าวสุนทรพจน์ของเนทันยาฮูในวันพุธ (24 ก.ค.) แม้ว่า เจ.ดี.แดนซ์ คู่ชิงรองประธานาธิบดีของรีพับลิกันเอง ก็ไม่ได้เข้าร่วมเช่นกัน

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เนทันยาฮู จะพบกับ ทรัมป์ ในฟลอริดา ในวันศุกร์ (26 ก.ค.)

กระนั้น สำหรับการปราศรัยของเนทันยาฮูในวันพุธ (24 ก.ค.) ทำให้นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของอิสราเอลรายนี้ กลายเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ได้กล่าวทุนทรพจน์ต่อที่ประชุมร่วมของสภาคองเกรส 4 ครั้ง แซงหน้า วินสตัน เชอร์ชิลล์ ของอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม คราวนี้เขาสูญเสียแรงหนุนหลังจากบรรดาสมาชิกสภาหัวเสรีหลายสิบคนและจากเดโมแครตประมาณ 68 คน ในนั้นบางส่วนเป็นแกนนำระดับสูง ที่บอกว่าพวกเขาจะไม่เข้าร่วม

เนทันยาฮู อ้างว่ามีเพียงแรงกดดันทางทหารเท่านั้นที่จะสามารถปลดปล่อยตัวประกันและเอาชนะฮามาส ซึ่งเปิดฉากจู่โจมอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไป 1,197 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ทั้งนี้ เนทันยาฮู แสดงความเชื่อมั่นต่อความพยายามช่วยเหลือตัวประกันราว 114 คน ที่ฮามาสยังคงควบคุมตัวในกาซา ดินแดนที่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการทางทหารแก้แค้น สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 39,145 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

สหรัฐฯ แสดงความกังวลใหญ่หลวงต่อการทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่พลเมืองพักอาศัยอยู่หนาแน่นในกาซา แต่ขณะเดียวกันก็ปกป้องผลประโยชน์ของอิสราเอล พร้อมรับบทบาทสำคัญในความพยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลไบเดน เปิดเผยในวันพุธ (24 ก.ค.) การเจรจาสำหรับข้อตกลงหยุดยิงในกาซาและปล่อยตัวประกัน อยู่ในขั้นสุดท้ายแล้ว

แต่ในสภาคองเกรส เนทันยาฮู เรียกร้องวอชิงตันให้เร่งรัดมอบเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ประเทศของเขา เพื่อทวีความรวดเร็วในการยุติสงครามในกาซาและป้องกันไม่ให้เกิดสงครามลุกลามบานปลายในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องของเขาโหมกระพือไฟย้อนศรจากบรรดาสมาชิกเดโมแครตผู้โกรธกริ้ว ที่แสดงความไม่พอใจต่อเนื้อหาสาระในคำกล่าวสุนทรพจน์ของเนทันยาฮู ซึ่งแทบจะไม่พูดถึงการรับประกันสันติภาพใด ๆ เลย

ด้าน แนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงอิทธิพล เรียกคำกล่าวสุนทรพจน์ของเนทันยาฮู ว่าเป็น ‘การนำเสนอที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากแขกผู้ทรงเกียรติต่างชาติรายหนึ่งรายใดที่ได้รับเชิญให้มากล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรส’

‘อิสราเอล’ ทิ้งระเบิดใส่!! ‘กาซา’ ดับอนาถ 73 ราย ‘เลบานอน’ โต้กลับยิงถล่ม!! ใส่บ้าน ‘เนทันยาฮู’

(20 ต.ค. 67) อิสราเอลได้ออกปฏิบัติการทิ้งระเบิดถล่มเมืองเบตลาฮิยา ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา เมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 73 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลังจากอิสราเอลเพิ่งปลิดชีพ ยาห์ยา ซินวาร์’ ผู้นำของกลุ่มฮามาสได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 

รายงานระบุว่าเมื่อวานนี้ ยังมีเครื่องบินอิสราเอลโปรยใบปลิวไปทั่วพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซา โดยเป็นรูปภาพของซินวาร์ที่เพิ่งถูกสังหารไปพร้อมกับข้อความว่า ‘ฮามาสจะไม่ได้ปกครองกาซาอีกต่อไป’

ทั้งนี้ สำนักข่าวของกลุ่มฮามาสแถลงว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีดังกล่าวอย่างน้อย 73 ราย แม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่ได้เผยแพร่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่กองทัพอิสราเอลแถลงว่ากำลังตรวจสอบเหตุการณ์ โดยเชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รายงานนั้นสูงเกินจริง และไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่กองทัพมี รวมถึงชนิดของอาวุธที่ใช้และความแม่นยำในการโจมตี ซึ่งกองทัพอิสราเอลยืนยันว่าเป้าหมายคือฐานที่มั่นของฮามาส

ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปาเลสไตน์เผยว่า การปิดระบบโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตเป็นวันที่สองส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ชาวบ้านและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่รายงานว่า กองทัพอิสราเอลได้เพิ่มความเข้มงวดในการปิดล้อมค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย ซึ่งเป็นค่ายที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 8 แห่งในกาซา โดยส่งรถถังเข้าควบคุมเมืองใกล้เคียงอย่างเบตฮานุนและเบตลาฮิยา พร้อมทั้งออกคำสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่

ในวันเดียวกัน มีรายงานว่าอิสราเอลได้เข้าโจมตีพิ้นที่ทางตอนใต้ของกรุงเบรุต ในเลบานอน โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่คลังเก็บอาวุธของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เพื่อตอบโต้กรณีที่ฮิซบอลเลาะห์ยิงขีปนาวุธเข้าถล่มตอนเหนือของอิสราเอลเมื่อวานนี้ และฝ่ายอิสราเอลอ้างว่ายังมีการยิงโดรนหมายถล่มบ้านพักตากอากาศของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูด้วย แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่อยู่บ้านดังกล่าวขณะโจมตีก็ตาม และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าตัวบ้านได้รับความเสียหายหรือไม่ 

ยูเอ็น เผยยอดเสียชีวิตในกาซาเกือบ 70% เป็นผู้หญิง-เด็ก ชี้ ส่วนใหญ่เกิดจากอิสราเอลโจมตีเขตคนอยู่อาศัยหนาแน่น

(12 พ.ย.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รายงานวิเคราะห์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ได้วิเคราะห์ตัวเลขผู้เสียชีวิต 8,119 คน ในฉนวนกาซาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2023 ถึงเมษายน 2024 หรือเป็นเวลา 6 เดือน โดยพบว่าเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นเด็กและผู้หญิง

รายงานดังกล่าวพบว่า ผู้เสียชีวิต 8,119 คนในช่วงดังกล่าวราว 44% เป็นเด็กในช่วงอายุมากที่สุดอยู่ระหว่าง 5-9 ขวบ และอีก 26% เป็นผู้หญิง ราว 80% ของผู้เสียชีวิตถูกสังหารในอาคารที่อยู่อาศัยหรือบ้านเรือน OHCHR บอกว่าสาเหตุที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในกาซาพุ่งสูงนั้นส่วนใหญ่มาจากการที่อิสราเอลใช้อาวุธโจมตีพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นในฉนวนกาซา แต่ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งมาจากการยิงจรวดที่ผิดพลาดของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์

นายโฟลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นระบุในแถลงการณ์ว่า ระดับการเสียชีวิตและบาดเจ็บของพลเรือนที่มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนถือเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากการไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เติร์กยังเรียกร้องให้มีการพิจารณาอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง

รายงานฉบับดังกล่าวยังได้บอกว่า แนวทางที่ทั้งกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาสใช้ทำสงครามในฉนวนกาซาได้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัสแก่มนุษยชาติ เพราะกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ทำสงครามในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและมีการยิงจรวด ขีปนาวุธ และกองทัพอิสราเอลได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนทำให้ผู้คนบาดเจ็บ เสียชีวิต และผู้ที่รอดชีวิตต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น พบกับความหิวโหย และไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด อาหาร และการรักษาสุขภาพ

กระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซารายงานว่า มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซานับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นจนถึงตอนนี้รวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 43,300 คน และเชื่อว่าอีกหลายศพยังติดอยู่ใต้ซากอาคารที่ถูกโจมตีเสียหาย

ล่าสุด กองทัพอิสราเอลได้ทำการโจมตีหลายพื้นที่ทั่วฉนวนกาซาในวันที่ 10 พฤศจิกายน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 40 ราย กองทัพอิสราเอลยังได้โจมตีอาคารบ้านเรือนสูง 3 ชั้น ในค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียในทางตอนเหนือของกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย และมีผู้บาดเจ็บที่อาศัยอยู่ในบ้านใกล้เคียงอีก 30 ราย โดยกองทัพอิสราเอลอ้างว่าทำการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียเพราะมีผู้ก่อการร้ายอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นภัยต่อกองทัพอิสราเอลในการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่

ICC ออกหมายจับ เนทันยาฮู – อดีตรมว.กลาโหมยิว ก่ออาชญากรรมสงคราม อิสราเอลโต้ หมายจับไร้สาระ โวยเป็นการต่อต้านชาวยิว

(22 พ.ย.67) เว็บไซต์ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกประกาศหมายจับกรณีอาชญากรรมสงคราม ต่อนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และนายโยอาฟ กัลเเลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล โดย ICC ระบุว่าทั้งผู้นำอิสราเอลและอดีตรัฐมนตรีกลาโหมมีส่วนใช้วิธีทำให้ผู้คนขาดแคลนอาหารเป็นยุทธวิธีการทำสงคราม ซึ่งเป็นอาชญากรรมต่อมุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสังหาร กดขี่ประหัตประหาร รวมทั้งพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ปราศจากความปรานี

นอกจากหมายจับทั้งสองแล้ว ICC ยังได้ออกหมายจับมูฮัมมัด เดอิฟ หัวหน้าฝ่ายทหารของฮามาสในฉนวนกาซา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสังหาร จับตัวประกันและความรุนเเรงทางเพศ 

หลังการออกประกาศดังกล่าว ด้านสำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ปฏิเสธการตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ออกหมายจับตัวเขาและโยอาฟ กัลเเลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล แถลงการณ์ของเนทันยาฮูระบุว่า นี่คือวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติต่าง ๆ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องมนุษยชาติ กลายมาเป็นศัตรูของมนุษยชาติในวันนี้ อิสราเอลขอแสดงความรังเกียจต่อการกระทำที่ไร้สาระและเป็นเท็จของศาลอาญาระหว่างประเทศ และเรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการต่อต้านชาวยิว

ทั้งนี้ หมายจับเนทันยาฮู และกัลแลนต์ เป็นการกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติระหว่างปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว

วิจารณ์ก้องโลก! ทรัมป์ผุดไอเดียยึดฉนวนกาซา ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ที่อื่น

(5 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแผนการที่น่าตกตะลึงว่า สหรัฐฯ ควรเข้าไปยึดครองฉนวนกาซาและให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยในการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ที่เดินทางมาเยือนสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่า หากจำเป็น สหรัฐฯ อาจจะส่งทหารเข้าไปเพื่อจัดการพื้นที่และเคลียร์อาวุธที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พร้อมทั้งเสนอให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยในฉนวนกาซาอพยพไปยังที่ดินในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

แผนดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก โดยบางฝ่ายมองว่าอาจเปลี่ยนแปลงทิศทางของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และก่อให้เกิดการวิจารณ์จากหลายด้าน ทรัมป์กล่าวว่า เขามองว่าการเป็นเจ้าของและพัฒนาแผ่นดินฉนวนกาซาจะนำมาซึ่งเสถียรภาพในภูมิภาคและอาจจะสร้างงานหลายพันตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนอาจเป็นปัญหาที่ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ และอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายและการเมือง

ทรัมป์ยังกล่าวต่อว่า ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาควรย้ายไปยังสถานที่ใหม่ที่มีสภาพที่ดีและอุดมสมบูรณ์ และไม่ควรกลับไปที่ฉนวนกาซาอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมและเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานจากสงคราม นอกจากนี้ เขายังเสริมว่าผู้ที่ต้องการอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเพียงเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

คำแถลงของทรัมป์ได้สร้างความไม่พอใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่อาหรับ รวมถึงความกังวลจากสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ หลายคน โดยเฉพาะจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทำตามแผนดังกล่าว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปกครองฉนวนกาซา ได้ประณามคำกล่าวของทรัมป์ว่าเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งและความตึงเครียดในภูมิภาค

คำพูดของทรัมป์ยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและนักวิจัยต่างประเทศหลายคน ซึ่งมองว่าแผนนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในด้านการเมืองและกฎหมาย และอาจไม่สามารถดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ

'ทรัมป์' เสนอฮุบกาซาเปลี่ยนเป็น 'ริเวียร่าอาหรับ' นักวิชาการชี้แนวคิดอันตรายสุดโต่งของพวกล่าอาณานิคม

(6 ก.พ.68) กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางสำหรับแนวคิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เสนอให้สหรัฐเข้าควบคุมฉนวนกาซาที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม และเปลี่ยนให้กลายเป็น 'ริเวียร่าของตะวันออกกลาง' โดยให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด 

ดร.ทาเมอร์ คาร์มูท ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากสถาบัน Doha Institute for Graduate Studies กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik ว่าแนวคิดของทรัมป์เป็นเรื่อง "ขาดความรับผิดชอบและไร้มนุษยธรรม" พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาชาวกาซาคาดหวังให้สหรัฐฯ กำหนดแนวทางทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งและช่วยฟื้นฟูฉนวนกาซาหลังจากเผชิญกับความโหดร้ายจากสงคราม  

"นี่เป็นการรื้อฟื้นมรดกของลัทธิล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยมขั้นสูง ที่ประเทศหนึ่งสามารถตัดสินชะตากรรมของอีกประเทศหรือประชาชนกลุ่มหนึ่งได้" คาร์มูทเตือน "นี่เป็นเรื่องน่าตกใจ และอันตรายอย่างยิ่ง"  

ขณะเดียวกันด้าน ดร.อัยมัน ยูซุฟ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอาหรับ-อเมริกันในปาเลสไตน์ กล่าวว่าชาวปาเลสไตน์ปฏิเสธแผนของทรัมป์ที่ต้องการย้ายพวกเขาออกจากฉนวนกาซาไปยังจอร์แดนและอียิปต์ ซึ่งไม่สามารถรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้

ศาสตราจารย์ยูซุฟยังระบุว่า วอชิงตันและเทลอาวีฟกำลังใช้ความแตกแยกระหว่างกลุ่มฟาตาห์และฮามาสเพื่อผลักดันวาระซ่อนเร้นของตนเอง พร้อมเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ลดความขัดแย้งภายในและมุ่งสู่การปรองดองในระดับชาติ  

นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากทรัมป์ต้องการช่วยเหลือจริง ควรใช้มาตรการควบคุมอิสราเอลอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อยับยั้งปฏิบัติการทางทหารในกาซาในอนาคตมากกว่าที่จะเปลี่ยนฉนวนกาซาซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งมานาน กลายเป็นสถานตากอากาศในฝันของเขา 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top