Tuesday, 20 May 2025
คนไร้บ้าน

จำนวน 'คนไร้บ้าน' ในสหรัฐฯ พุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ 'รวย-จน' กำลังขยายวงกว้างขึ้น

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักงานข้อมูลข่าวสารแห่งคณะรัฐมนตรีจีนออกรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ ประจำปี 2023 ซึ่งเปิดเผยว่าจำนวนคนไร้บ้านในสหรัฐฯ ได้พุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 16 ปี

รายงานอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมืองสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2023 ซึ่งระบุว่าจำนวนคนไร้บ้านในสหรัฐฯ พุ่งสูงกว่า 650,000 คนแล้ว มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรายงานเกี่ยวกับประเด็นนี้เมื่อปี 2007

รายงานระบุว่าคนไร้บ้านร้อยละ 40 อาศัยอยู่ตามท้องถนนโดยปราศจากสิ่งกำบัง ตามอาคารร้าง หรือสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้มีไว้สำหรับให้มนุษย์อยู่อาศัย โดยคนกลุ่มนี้ไม่เพียงแต่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น แต่ต้องผจญกับความเสี่ยงในการถูกตัดสินว่ากระทำความผิดทางอาญาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

รายงานชี้ให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกำลังขยายกว้างกว่าเดิมในสหรัฐฯ โดยมีสารพัดปัญหาที่กำลังเลวร้ายลง อาทิ "ความยากจนในการทำงาน" (working poor) การขาดแคลนอาหาร อัตราการฆ่าตัวตาย รวมทั้งการใช้ยาเสพติดและสารเสพติดที่เพิ่มขึ้น

‘ญี่ปุ่น’ แม้เจริญสุดขีด แต่ก็ประสบปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ เรื้อรัง หลังพวกเขาพ่ายแพ้ต่อเศรษฐกิจแปรปรวน กลายเป็นคนว่างงาน

ปัญหาคนไร้บ้านนั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเรา แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแทบทุก ๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญที่สุดในทวีปเอเชีย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญี่ปุ่นหลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกทิ้งระเบิดและพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงทศวรรษ 1960 จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า ‘ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น’ ทำให้จำนวนคนไร้บ้านลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับมาเพิ่มจำนวนอย่างเห็นได้ชัดในสังคมญี่ปุ่นอีกครั้ง จากการล่มสลายของฟองสบู่ราคาทรัพย์สินของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 และส่งผลให้เกิด ‘ทศวรรษที่หายไป’ จากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนคนไร้บ้านสูงมากจนถึงจุดสูงสุด

ปัญหาคนไร้บ้านในญี่ปุ่นเป็นปัญหาทางสังคมที่มักเกิดขึ้นกับชายวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นหลัก เชื่อกันว่า ในทศวรรษที่ 1990 อันเป็นผลมาจากการแตกของฟองสบู่ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ของญี่ปุ่นลดลงเป็นอันมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตาม ‘พระราชบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน’ ให้นิยามของคำว่า ‘คนจรจัดหรือคนไร้บ้าน’ หมายถึง ‘ผู้ที่ใช้สวนสาธารณะในเมือง ริมฝั่งแม่น้ำ ถนน สถานีรถไฟ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา’

ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะบางประการของคนไร้บ้านชาวญี่ปุ่นนั้น มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางสังคมของสังคมญี่ปุ่น ในอดีตซึ่งฝ่ายชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว บรรดาบริษัทญี่ปุ่นต่างเชื่อกันว่า ชายที่แต่งงานแล้วจะทำงานได้ดีกว่าชายโสดที่ยังไม่ได้แต่งงาน เพราะชายที่แต่งงานแล้วจะรู้สึกว่า มีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่า ดังนั้นไม่เพียงแต่ชายสูงอายุเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภาวะสูงอายุและไม่สามารถหางานทำได้ แต่ชายโสดที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ก็มีปัญหาในการหางานเช่นกัน ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดจำนวนชายที่ยากจนโดยเฉลี่ย แต่กลับมีความแปรปรวนมากกว่า โดยมีทั้งจำนวนชายที่ร่ำรวยและยากจนเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้มีชายไร้บ้านจำนวนมากกว่าหญิงไร้บ้านในญี่ปุ่น นอกจากนี้แล้ว ครอบครัวญี่ปุ่นมักจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกที่เป็นหญิงมากกว่าชาย

ในปี 1997 เทศบาลกรุงโตเกียวยอมรับการมีอยู่ของตัวแทนกลุ่มคนไร้บ้าน และเริ่มรับฟังปัญหาของพวกเขา ในปี 1998 ทางการระบุว่า มีคนไร้บ้านในกรุงโตเกียวเพียงแห่งเดียวประมาณ 3,700 คน แต่กลุ่มที่ช่วยเหลือคนไร้บ้านประเมินไว้ว่า มีคนไร้บ้านราว 5,000 คน ในกรุงโตเกียว และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ในญี่ปุ่นมีการจ้างงานนอกเวลาและการจ้างงานชั่วคราวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีกว่า 20 ล้านตำแหน่งงาน ค่าจ้างนอกเวลาและการจ้างงานชั่วคราวมักจะเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในปี 1986 และ 1999 โดยการเช่าที่พักในญี่ปุ่นมักจะต้องวางเงินมัดจำและค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือน แฟลตแบบหนึ่งห้องนอนในกรุงโตเกียว ค่าเช่ารายเดือนมากกว่า 50,000 เยน (ราว 11,488 บาท) ทำให้ผู้ที่ไม่มีงานประจำเข้าถึงได้ยากมากขึ้น ปัญหาคนไร้บ้านจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นระบุว่า มีคนไร้บ้านในญี่ปุ่นไม่ถึง 1 หมื่นคน โดยจำนวนคนไร้บ้านมากที่สุดอยู่ในเขตมหานครโตเกียว ราว 2,700 คน รองลงเป็นอันดับสองคือ นครโอซาก้า ราว 2,500 คน และอันดับสามคือจังหวัดคานากาว่า ราว 1,814 คน ในเดือนสิงหาคม 2002 ได้มีการประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับการสนับสนุนการพึ่งตนเองของคนไร้บ้าน’ คนไร้บ้านในญี่ปุ่นจึงเริ่มได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากทางการ รวมทั้งมีการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 และมีการสำรวจอีกครั้งในเดือนเมษายน 2007 ทำให้ชาวญี่ปุ่นที่ไม่มีรายได้ เงินออม หรือทรัพย์สินเพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานสามารถรับความคุ้มครองเพื่อการดำรงชีพได้ หญิงที่หลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัวหรือจากอดีตคู่รักที่ต้องการเริ่มต้นความสัมพันธ์ในอดีตอีกครั้งสามารถรับการสนับสนุนจากสถาบันดูแลสตรี ศูนย์หลบภัย และสถานสงเคราะห์ได้ ในกรณีของผู้เยาว์ มีการจัดรูปแบบความช่วยเหลือ เช่น สถาบันสวัสดิภาพเด็ก 

โดยที่ญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ในปี 2011 เป็นต้นมา จึงมีการเปิดกิจการร้านไซเบอร์คาเฟ่ (หรือโรงแรมแคปซูล) โดยคนไร้บ้านสามารถเข้าพักได้ ไซเบอร์คาเฟ่ ให้บริการห้องพักซึ่งมีพื้นที่ส่วนตัวเล็ก ๆ และห้องอาบน้ำ พร้อม โทรทัศน์ น้ำอัดลม และอินเทอร์เน็ต ในราคา 1,500 ถึง 2,000 เยน (ราว 344 ถึง 460 บาท) ต่อคืน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีการประเมินกันว่า ในกรุวโตเกียวเพียงเมืองเดียวมีชาวญี่ปุ่นอย่างน้อย 15,000 คน อาศัยอยู่ในร้านไซเบอร์คาเฟ่ ซึ่งมากกว่าจำนวนคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการถึง 5 เท่า แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจะมีอัตราการไร้ที่อยู่อย่างเป็นทางการต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่สัดส่วนของคนญี่ปุ่นที่ยากจนในญี่ปุ่นนั้นกลับสูงกว่าในสหรัฐฯ แม้ว่าบางคนจะกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่หลายคนในจำนวนนี้รเลือกอาศัยอยู่ในไซเบอร์คาเฟ่ อันเนื่องมาจากแรงกดดันทางสังคม พวกเขาชอบที่จะรักษาเรื่องราวส่วนตัวของตนไว้เป็นความลับ และสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วไปต่างก็ต้องการให้เรื่องราวเหล่านี้เป็นไปเช่นนั้นด้วย

‘อนุทิน’ มอบบ้านใหม่ 86 หลังคาเรือน ให้ผู้ยากไร้ทั่วประเทศ มุ่งยกระดับด้านที่อยู่อาศัย-พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

(24 ก.ค.67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีส่งมอบบ้าน ‘โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ จำนวน 86 หลัง พร้อมกันทั่วประเทศ และถ่ายทอดสดผ่านระบบ Web broadcast โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานส่งมอบในแต่ละจังหวัด พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง อีก 5 โครงการ โดยมี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วม และ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าที่ ร.อ.ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ นายสุเมธ มีนาภา นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพิศุทธิ์ สุขุม วิศวกรใหญ่ นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ สถาปนิกใหญ่ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง พรรณไม้อันทรงคุณค่าและมีเกียรติที่ถูกยกให้เป็นพรรณไม้ประจำพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและเป็นการเชิดชูถึงพระมหากรุณาธิคุณที่สูงสุดของพระองค์ และร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ณ ห้องประชุมนริศรานุสรณ์ ชั้น 11 อาคาร 11 ชั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการในสังกัด จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมนำพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท พระราชกรณียกิจ มาประยุกต์ใช้หรือเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและสมพระเกียรติ มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานหลักที่ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 6 โครงการ ได้แก่

1. โครงการ 72 พรรษา 7,300 โครงการ พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 2. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ 3. โครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี 4. โครงการจัดทำซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5. โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม และ 6. โครงการ ‘10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข’ ซึ่งในวันนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดพิธีส่งมอบบ้านหลังใหม่ ในโครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคมฯ พร้อมกัน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วยยกระดับด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความปลอดภัย เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ด้าน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า จากพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่พระราชกรณียกิจนานัปการที่ช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วแผ่นดินไทย และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนภารกิจ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ให้กับพี่น้องประชาชน ได้ขานรับนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ ‘โครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ ซึ่ง กรมฯ ได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้าน ‘จิตอาสา’ มาบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและจิตอาสาในพื้นที่ โดยไม่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ แต่ใช้งบประมาณที่ได้จากการบริจาคของภาคีเครือข่ายและจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมมือร่วมแรงปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ ให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย ซึ่งมีเป้าหมายจำนวน 86 หลังคาเรือน จากข้อมูลของผู้ยากไร้ในระบบ Thai QM ตามผังภูมิสังคม โดยดำเนินการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น ซ่อมแซมบ้านให้ผู้ยากไร้ตามผังภูมิสังคม 1 จังหวัด 1 หลังคาเรือน และบ้านผู้ยากไร้ที่ต้องซ่อมแซมเร่งด่วน จำนวน 10 จังหวัด 10 หลังคาเรือน ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงราย สุราษฎร์ธานี ตรัง นนทบุรี นครนายก นครราชสีมา สุรินทร์ สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการ KICK OFF เพื่อขับเคลื่อนโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ปัจจุบัน ดำเนินการแล้วเสร็จ 86 หลังคาเรือน และส่งมอบพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานส่งมอบโครงการดังกล่าว

สำหรับ ‘โครงการ 72 พรรษา 7,300 โครงการ พัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ ดำเนินการขึ้นด้วยตระหนักว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต กรมฯ จึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และใช้ข้อมูลสภาพความเป็นจริงทางภูมิประเทศทั้ง ‘ภูมิประเทศด้านภูมิศาสตร์’ และ ‘ภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา’ มาจัดทำข้อมูลในรูปแบบ ‘ผังภูมิสังคม’ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ผังภูมิสังคมฯ เป็นข้อมูลสะท้อนปัญหาด้านต่าง ๆ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้วางแผนงานและดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันให้มีการขับเคลื่อนโครงการในทุกจังหวัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินโครงการ/กิจกรรมพัฒนาตามผังภูมิสังคมฯ (เฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำขนาด S M และ L) อย่างน้อย 7,300 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ซึ่งปัจจุบันดำเนินการพัฒนาแล้ว 9,028 โครงการ สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 25,349,097 ลบ.ม. พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 13,980 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมลดลง 260,866 ไร่ พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 312,801 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 1,555,982 ครัวเรือน

‘โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ กรมฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีประยุกต์ใหม่ และอารยเกษตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการนำที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของหน่วยงานภาครัฐมาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนพระราชปณิธาน ‘สืบสาน รักษา และต่อยอด’ เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประชาชน ให้เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ มีความมั่นคงทางอาหาร เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมีพื้นที่นำร่อง 6 พื้นที่ (1 พื้นที่เป้าหมาย ต่อ 1 ภาค) และจะขยายผลให้ครบทุกจังหวัด โดยแต่ละพื้นที่มีแนวคิดในการพัฒนา และมีผลการดำเนินการแตกต่างกัน ได้แก่

- ภาคเหนือ : บริเวณหนองเล็งทราย ตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทพื้นที่เป็น “การสืบสานอาชีพเลี้ยงควายไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อรักษา อนุรักษ์ควายไทยพื้นถิ่น ต่อยอดให้การเลี้ยงควายไทยอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้และมีความยั่งยืนทางอาชีพแก่ประชาชนได้

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : บริเวณชุมชนวังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทพื้นที่เป็น ‘วิชชาลัยอารยเกษตรบ้านวังอ้อ’ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแหล่งน้ำ คลังยาคลังอาหาร เป็นที่สาธารณะ และศูนย์การเรียนรู้ของประชาชน

- ภาคกลาง : บริเวณคลอง 15 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่เป็น ‘ลานธรรมกลางใจป่า ปลูกป่ากลางใจคน พุทธอารยเกษตร’

- ภาคตะวันออก : บริเวณตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่เป็น ‘เกษตรประณีต’ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโดยปลูกพืชที่กินได้เป็นยาได้ ปลูกไม้ไว้สร้างบ้านเรือนในอนาคต ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำทุกอย่างในพื้นที่โดยไม่ใช้สารเคมี

- ภาคตะวันตก : บริเวณตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่เป็น ‘ดินดี มีน้ำ ป่าชุ่มชื้น’ เพื่อบริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการดิน บริหารจัดการป่า และบริหารจัดการคน

- ภาคใต้ : บริเวณศูนย์สารภี ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีแนวคิดประยุกต์ใช้ตามบริบทพื้นที่เป็น ‘ต้นแบบทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่การท่องเที่ยวจังหวัดสตูล’ นำไปสู่การพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ สวนป่ามีชีวิต แก้มลิง แปลงสาธิตแกล้งดิน พื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพื้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

‘โครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการจัดทำผังแม่บทแนวคิดเพื่อการพัฒนาพื้นที่เกาะสีชัง โดยมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การพัฒนาระบบน้ำประปา การพัฒนาสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ชุมชน และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในระยะเร่งด่วน กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พัฒนาระบบน้ำประปา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนบนเกาะ ทำให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี และลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำประปาบนฝั่ง รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณอ่าวจ๊อกค่อก เพื่อให้เกาะสีชังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ยั่งยืนที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการปรับปรุงระบบจ่ายน้ำประปาได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โครงการฯ ได้เริ่มปล่อยน้ำประปาให้บริการ 2 จุดแรกที่มีความพร้อมก่อน ได้แก่ โรงพยาบาลเกาะสีชัง และ สำนักงานเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ในขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ได้ประสานไปยังประชาชนในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือในการจัดเตรียมระบบท่อประปาภายในบ้านให้พร้อม เพื่อให้เทศบาลฯ เข้าดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ประปาให้กับทุกครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมปล่อยน้ำประปาให้บริการประชาชนได้ทั่วพื้นที่เกาะสีชัง ภายในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาสำหรับอุปโภค บริโภคของประชาชนบนเกาะสีชังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 2,261 ครัวเรือน

‘โครงการจัดทำซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567’ กรมฯ ได้ดำเนินการออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อเป็นต้นแบบให้ทุกจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปก่อสร้างอย่างถูกต้องตามแบบแผน สวยงามสมพระเกียรติ โดยการออกแบบซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ มีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง ประกอบด้วย 1) พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ 2) ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และ 3) เอกลักษณ์สำคัญของแต่ละภูมิภาคที่แสดงถึงความรักความเทิดทูนพระองค์ท่าน นำมาเป็นองค์ประกอบของซุ้มแต่ละภูมิภาค ประกอบกับลายก้านขดและลายดอกรวงผึ้ง รวมทั้งหมด 443 ซุ้ม ทั่วประเทศ

‘โครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข’ กรมฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำ “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” และพระราชดำรัส “อารยเกษตร” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยออกแบบพื้นที่ให้เข้ากับภูมิสังคมควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการกลไกการขับเคลื่อนงานสืบสานศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่การออกแบบจัดทำผังแม่บท การพัฒนาในระดับลุ่มน้ำตลอดลำคลอง และแหล่งน้ำ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างภาพอนาคตของ การพัฒนาในระดับพื้นที่ การขุดลอกคู คลอง และแหล่งน้ำ ปรับภูมิทัศน์และทัศนียภาพ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตลอดสองฝั่งคลอง ได้แก่ การจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่ ความสะอาดของทางเดิน และถนน การกำจัดขยะ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และระบบการระบายน้ำ ฯ นำร่องโดย กรุงเทพมหานคร และ 9 จังหวัด ได้แก่ 1) คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-บางลำพู) กรุงเทพมหานคร 2) ลำน้ำโจ้ จังหวัดเชียงใหม่ 3) คลองแม่สุก จังหวัดพะเยา 4) คลองแม่รำพัน จังหวัดสุโขทัย 5) คลองบางพระ จังหวัดตราด 6) ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา 7) ลำห้วยพระคือ จังหวัดขอนแก่น 8) คลองปากบาง จังหวัดภูเก็ต 9) คลองหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง และ 10) คลองลัดพลี จังหวัดราชบุรี และขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิการชาวไทยมาโดยตลอด กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ขอตั้งปฏิญาณ จะมุ่งมั่นดำเนินตามรอยพระยุคลบาท จะแน่วแน่สนองพระราชปณิธาน ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความใส่ใจทุกขั้นตอนในการดำเนินภารกิจต่าง ๆ เพื่อ ‘บำบัดทุกข์ บำรุงสุข’ ช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นความทุกข์ยาก มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างประโยชน์สุขสู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป

เมืองผู้ดีวิกฤต!! ‘คนไร้บ้าน’ พุ่งแตะ 7.9 หมื่นครัวเรือน แนวโน้มเพิ่มจำนวนต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลยังไร้ทางแก้

คนไร้บ้านในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และตอนนี้แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ตามรายงานที่เผยแพร่โดยหน่วยงานอิสระด้านเฝ้าระวังการใช้จ่ายสาธารณะ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

(26 ก.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสหราชอาณาจักรเปิดเผยรายงานระบุว่า แม้มีกฎหมายลดคนเร่ร่อนในประเทศปี 2017 แต่สถานการณ์คนไร้บ้านยังคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้น และคาดหมายว่าจะเสื่อมทรามลงไปมากกว่านี้อีก

รายงานพบว่าจากช่วง 3 ไตรมาสของปี 2018-2019 จนถึงช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023-24 จำนวนครัวเรือนที่ได้รับการรับรองจากทางการท้องถิ่นของพวกเขาในฐานะคนไร้บ้าน เพิ่มขึ้น 23% เป็น 78,980 ครัวเรือน ขณะที่จำนวนครัวเรือนที่ต้องพักอาศัยในที่พักพิงชั่วคราว เพิ่มขึ้น 35% เป็น 112,660 ครัวเรือน

ในรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน บอกต่อว่า จำนวนคนเร่ร่อนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ ในนั้นรวมถึงขาดแคลนที่พักอาศัยเพื่อสังคมหรือโครงการบ้านของทางรัฐ ต้นทุนค่าบ้านที่ค่อนข้างสูง และการระงับโครงการเงินสงเคราะห์ช่วยจ่ายค่าเช่าสำหรับผู้เช่าบ้าน

ทั้งนี้ ในรายงานยังพบด้วยว่า ทางการท้องถิ่นต้องใช้จ่ายเงินในด้านบริการคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2010-11 แตะระดับ 2,440 ล้านปอนด์ในปี 2022-23

นอกจากนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระบุด้วยว่า มีพบเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง "แต่รัฐบาลยังคงไม่มียุทธศาสตร์และเป้าหมายสำหรับลดจำนวนคนเร่ร่อน" 

ขณะที่กระทรวงยกระดับบ้านและชุมชน (DLUHC) ล้มเหลวในการเพิ่มจำนวนอุปทานล้าน ทั้งนี้ ทางกระทรวง DLUHC ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงบ้าน ชุมชนและรัฐบาลท้องถิ่น เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

"งบประมาณยังคงกระจัดกระจายและโดยทั่วไปเป็นแบบระยะสั้น ขัดขวางการทำงานเพื่อป้องกันคนไร้บ้าน และมีการลงทุนอย่างจำกัดจำเขี่ยในด้านที่พักอาศัยชั่วคราวคุณภาพดีและรูปแบบบ้านอื่น ๆ" รายงานระบุ

"คนไร้บ้านในทุก ๆ เคส ล้วนแต่เป็นเรื่องเศร้าของมนุษย์" เกรซ วิลเลียมส์ สมาชิกระดับสูงของสภาลอนดอน ด้านที่อยู่อาศัยและการฟื้นฟู กล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นสำหรับการมีหนทางใหม่ ๆ ในการจัดการกับปัญหานี้

🔍10 อันดับเมืองที่มี ‘คนไร้บ้าน’ มากที่สุดในโลก

‘คนไร้บ้าน’ หมายถึง คนที่ไร้ที่อยู่ หรือผู้ที่ไม่สามารถหาที่อยู่เป็นของตัวเองได้ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น การถูกทอดทิ้ง การหนีออกจากบ้าน การไร้ที่พึ่ง ความยากจน โดยส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะอาศัยอยู่ตามท้องถนน หรือแหล่งเสื่อมโทรมในย่านอุตสาหกรรม และแน่นอนว่า ‘คนไร้บ้าน’ จะไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่งและไม่มีรายได้ที่แน่นอนนั่นเอง

ปัญหา ‘คนไร้บ้าน’ เกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก แตกต่างกันที่จำนวนคนไร้บ้าน ซึ่งจากผลสำรวจ Annual Homelessness Assessment Report (AHAR) เมื่อปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองในฝันของใครหลาย ๆ คน มีจำนวนคนไร้บ้านมากถึง 333,000 คน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก

ซัด ‘สื่อตะวันตก’ ขยันปั้นน้ำเป็นตัวด้อยค่าชาวจีน ใส่ร้ายเป็นคนจรจัด ลืมมองสหรัฐฯที่คนนอนข้างถนนเกลื่อนเมือง

(25 ต.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ลึกชัดกับผิงผิง’ โพสต์ภาพพร้อมข้อความสะท้อนความจริงของ 2 ประเทศ ระหว่าง จีน และสหรัฐ อเมริกา สะท้อนการบิดเบือนข้อมูลของสื่อฝั่งตะวันตก โดยระบุว่า

สิ่งที่เป็นจริงในสหรัฐอเมริกาและเป็นเท็จในประเทศจีน

สื่อตะวันตกเช่นบีบีซี รายงานข่าวว่า “จีนมีคนจรจัดจำนวนมากนอนอยู่บนถนน” แต่นี่เป็นข่าวปลอม ที่จริงแล้ว เป็นช่วงฤดูร้อน ภาพที่เห็นนั้น เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังรอร่วมพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา พากันพักผ่อนตามบริเวณโดยรอบจัตุรัสเทียนอันเหมินของกรุงปักกิ่ง 

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากต่างเมือง ที่ไม่อยากพลาดเวลาเชิญธงขึ้นเสา ซึ่งจะทำตามเวลาพระอาทิตย์ขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “ฉันมาถึงประมาณตี 1 แต่เกือบไม่มีที่ว่างแล้ว”

ขณะเดียวกัน ในสหรัฐ อเมริกา ซึ่งมีบรรดาคนจรจัดที่กินนอนบนถนนในเวลากลางวันเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ยังมีผู้ติดยาที่มีพฤติกรรมแปลกๆ เดินช้าๆ อยู่บนถนน เหมือนกับ 'ซอมบี้' อีกจำนวนมาก นี่คือชีวิตประจำวันที่แท้จริงบนถนนเคนซิงตัน (Kensington) ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งปรากฏภาพออกมาตั้งแต่ปี 2021

“คนจรจัดในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนมาก” เป็นเรื่องจริง

“คนจรจัดในจีนมีจำนวนมากเป็นเรื่องไม่จริง หรือเรื่องโกหกทั้งเพ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top