Tuesday, 29 April 2025
ขีปนาวุธ

ชม ARMY-2024 งานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ EP#7 อาวุธหนักที่ไม่เป็นรองใครใน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’

หลังจากเยี่ยมชม การแสดง การสาธิต และการทดสอบการยิงอาวุธเบาด้วยกระสุนจริงและกระสุนซ้อมยิง ของบริษัท High-Precision Weapons holding ณ สนามยิงปืนซึ่งตั้งอยู่ภายในอนุสรณ์สถาน Patriot park ในช่วงเช้าและรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ช่วงบ่ายเป็นการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของบริษัท Almaz – Antey Air and Space Defence Corporation มีสำนักงานใหญ่ในกรุงมอสโก และเป็นบริษัทด้านอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศรายใหญ่ ในแง่ของยอดขายอาวุธยุทโธปกรณ์ในระหว่างปี 2013-2016 ครองอันดับ 11-14 อย่างต่อเนื่องจาก 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และก้าวขึ้นเป็นอันดับแปดของโลกเมื่อวัดจากรายได้ในปี 2017 ซึ่งในปีนั้นเอง Almaz-Antey มียอดขายอาวุธถึง 9.125 พันล้านดอลลาร์ 

ผลิตภัณฑ์ของ Almaz – Antey ได้แก่ ระบบป้องกันอากาศยาน, ศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่, ระบบนำทาง, ขีปนาวุธ, ขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธ, ขีปนาวุธร่อน, เรดาร์, ระบบควบคุมอัตโนมัติ, ระบบนำทาง , ระบบจราจรทางอากาศ, สถานีอาวุธระยะไกล, ป้อมปืนอัตโนมัติ, กระสุนปืนใหญ่, อาวุธปืน และ อากาศยานไร้คนขับ ฯลฯ ทั้งยังผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับพลเรือน เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ระบบนำทาง ระบบจราจรทางอากาศ เรดาร์ตรวจอากาศและจราจรทางอากาศสำหรับการบินพลเรือน อุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน อุปกรณ์คมนาคม-ขนส่ง รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ระบบรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบทำความสะอาดน้ำเสีย วาล์วระบายอากาศสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหาร ฯลฯ

Antey-2500 (S-300VM)

หนึ่งในระบบป้องกันภัยทางอากาศที่น่าสนของ Almaz – Antey ได้แก่ ระบบ ADMS 'Antey-2500' ซึ่งมีความสามารถในการโจมตีเป้าหมายในระยะไกลและระดับความสูง โดยระบบนี้ใช้งานได้หลากหลายสำหรับการทำลายเป้าหมายทางอากาศพลศาสตร์และขีปนาวุธข้ามทวีปทุกประเภทที่มีพิสัยการยิงสูงสุดถึง 2,500 กม. ได้รับการออกแบบมาเพื่อต่อสู้กับ :

- เครื่องบินรบทางยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ที่มีอยู่และคาดว่าจะมีในอนาคต (รวมถึงเครื่องบินล่องหน)
- ขีปนาวุธทางยุทธวิธี ขีปนาวุธพิสัยใกล้และระยะกลาง
- ขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ
- ระบบเตือนภัยและควบคุมล่วงหน้าทางอากาศ ระบบตรวจจับเป้าหมายและระบบควบคุมการยิง
- เครื่องรบกวนสัญญาณลอยฟ้า

ความสามารถในการโจมตีเป้าหมายทางอากาศ :
ระยะปฏิบัติการสูงสุด :
- เป้าหมายทางอากาศ 350 กม.
- ขีปนาวุธทางยุทธวิธี 40 กม. 
- ขีปนาวุธพิสัยใกล้30 กม.

ระดับความสูง สูงสุด :
- เป้าหมายทางอากาศ 30 กม.
- เป้าหมายที่เป็นขีปนาวุธ 25 กม.
- ความเร็วสู่เป้าหมายกระสุนสูงสุด 4500 ม./วินาที
- พื้นที่ตัดเรดาร์ขั้นต่ำของเป้าหมาย 0.02 ตร.ม.
- ปริมาณของเป้าหมายที่โจมตีพร้อมกันขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องยิงภายในระบบ

S-400 'Triumph'

อีกระบบป้องกันภัยทางอากาศที่น่าสนของ Almaz – Antey ได้แก่ ระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-400 พร้อมขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านอากาศยาน 48N6E3 (48N6E2), 40N6E, 9M96E2 และระบบควบคุม 30K6E มีขีดความสามารถในการทำลายเป้าหมายทางอากาศที่มีพิสัยการยิงทั้งหลายช่องทาง ระดับความสูง ความคล่องตัวและความแม่นยำสูง

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 เป็นระบบมาตรฐานสากลที่ใช้ทำลายเป้าหมายทางอากาศทุกประเภทและขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีพิสัยการยิงสูงสุดถึง 3,000 - 3,500 กม. S-400 ADMS ออกแบบมาเพื่อทำลายวิธีการโจมตีทางอากาศที่มีอยู่และที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (รวมถึงเครื่องบินล่องหน) ได้แก่
- เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์
- ระบบเตือนภัยและควบคุมทางอากาศ
- เครื่องบินลาดตระเวนที่ทำหน้าที่ทั้งในฐานะปัจเจกและเป็นส่วนหนึ่งของระบบค้นหาเป้าหมายและควบคุมการยิง
- เครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์
- ขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลาง
- วิธีการโจมตีทางอากาศอื่น ๆ ในสภาพแวดล้อมทางสงครามอิเล็กทรอนิกส์

ลักษณะเด่น
ช่วง (สูงสุด/นาที) :
- เป้าหมายทางอากาศ 380/2.5 กม.
- ต่อต้านเป้าหมายที่เป็นขีปนาวุธ 60/5 กม.
ขีดจำกัดระดับความสูง (สูงสุด/ต่ำสุด) :
- เป้าหมายทางอากาศ 30/0.01 กม.
- ต่อต้านเป้าหมายที่เป็นขีปนาวุธ 25/2 กม.
- ความเร็วสู่เป้าหมายสูงสุด 4,800 ม./วินาที

จำนวนเป้าหมาย/ขีปนาวุธนำวิถีที่ถูกโจมตีพร้อมกัน :
- SAM ในชุดเต็ม สูงถึง 80/160
- แยก ADMS (ฝ่าย) สูงถึง 10/20
ในปี 2017 หนังสือพิมพ์ The Economist ได้ให้คำอธิบายของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ไว้ว่า “เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยมีการผลิตมา”

ซากเครื่องบิน B-52 Stratofortress ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งถูกยิงตกเหนือกรุงฮานอยในปี 1972

ระบบป้องกันภัยของสหพันธรัฐรัสเซียได้รับการพิสูจน์แล้วเมื่อครั้งสงครามเวียดนาม โดยยอดรวมอากาศยานของกองทัพสหรัฐฯ ทุกชนิดทุกเหล่าทัพ (บก-เรือ-อากาศ-นาวิกโยธิน) ประสบความสูญเสียรวมถึง 8,540 ลำ และอากาศยานของกองทัพเวียดนามใต้ประสบความสูญเสียอีก 1,018 ลำ ซึ่งอากาศยานส่วนใหญ่สูญเสียจากการรบ

‘แพนทากอน’ เตรียมส่ง THAAD พร้อมทหารอเมริกัน เสริมกำลังให้ ‘อิสราเอล’ ย้ำชัด!! ‘สหรัฐฯ’ พร้อมอยู่เคียงข้าง ในการต่อสู้กับภัยคุกคาม จากอิหร่าน

(14 ต.ค. 67) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ เตรียมที่จะจัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศในบรรยากาศระดับสูง หรือ THAAD พร้อมระบบต้านขีปนาวุธ และ กองกำลังทหารอเมริกัน ผนึกกำลังกองทัพอิสราเอล ต้านภัยการโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่าน 

โดยนายพล แพท ไรเดอร์ โฆษกประจำแพนทากอน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ได้รับคำสั่งตรงจาก ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้จัดส่งระบบป้องกันขีปนาวุธอันล้ำสมัยของสหรัฐไปเสริมกำลังให้ฝ่ายอิสราเอลทันที ซึ่งความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐในวันนี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯพร้อมยืนอยู่เคียงข้างอิสราเอลในการต่อสู้กับภัยคุกคามจากอิหร่าน หลังจากที่เตหะรานตัดสินใจยิงขีปนาวุธกว่า 180 ลูกโจมตีกรุงเทล-อาวีฟ ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา

การส่งกำลังทหารไปยังอิสราเอล ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติที่จะเกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับสหรัฐอเมริกา ยกเว้นการซ้อมรบร่วมของ 2 ชาติ แต่ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯครั้งนี้ ทางแพนทากอนกล่าวว่า เป็นการปรับเปลี่ยนแผนการครั้งใหม่เพื่อสนับสนุนอิสราเอลและปกป้องพลเมืองสหรัฐฯ จากเมื่อหลายเดือนก่อน ที่กองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งทหารอเมริกันไปช่วยเหลืออิสราเอลในการป้องกันเรือรบและการโจมตีทางอากาศในตะวันออกกลางมาก่อนแล้ว แต่นั่นเป็นการตั้งกองหนุนนอกพรมแดนอิสราเอลเท่านั้น

ด้าน พ.ต.ท. นาดาฟ โชชานี โฆษกกองทัพอิสราเอล ได้ออกมาขอบคุณสหรัฐฯ ที่ส่งระบบต้านขีปนาวุธมาสนับสนุนอิสราเอล แม้ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าระบบ THAAD จะถูกส่งมาถึงอิสราเอลเมื่อใดก็ตาม

THAAD เป็นของระบบป้องกันทางอากาศแบบหลายชั้น ที่มีความสำคัญในกองทัพสหรัฐฯ อีกทั้งยังเพิ่มระบบการป้องกันต่อต้านขีปนาวุธของอิสราเอลที่น่าเกรงขามอยู่แล้วให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก

โดยปกติแล้ว THAAD ต้องใช้กำลังทหารประมาณ 100 นาย ในการควบคุม สำหรับการปฏิบัติการ โดยระบบจะประกอบด้วยเครื่องยิงที่ติดตั้งบนรถบรรทุกได้ 6 เครื่อง ที่จะมีเครื่องสกัดกั้น 8 ชุดในแต่ละเครื่องยิง และเรดาร์ศักยภาพสูงอีก 1 ตัว 

ด้าน อับบาส อารัคชี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ได้โพสต์ผ่าน X ว่า สหรัฐฯกำลังทำให้ชีวิตกองทหารของตนอยู่ในความเสี่ยงหากคิดจะส่งพวกเขาไปสนับสนุนกองทัพอิสราเอล ในขณะที่อิหร่านพยายามที่จะควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง และพร้อมปกป้องประชาชน และ ผลประโยชน์ของอิหร่านเช่นกัน 

ด้านนักวิเคราะห์บอกว่า อิหร่านก็พยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามโดยตรงกับสหรัฐฯ แต่หากรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งกองทหารอเมริกันเข้ามาสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มตัว ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางที่อิหร่านต้องปรับแผนรับมือใหม่อีกครั้ง 

‘สหรัฐฯ’ ชี้ ‘อิสราเอล’ โจมตี ‘อิหร่าน’ เป็นการป้องกันตนเอง หลังถูกรัฐบาลเตหะราน โจมตีด้วยขีปนาวุธ เมื่อหลายวันก่อน

(26 ต.ค. 67) นายฌอน ซาเวตต์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาวแถลงเมื่อกลางดึกวันศุกร์ (25 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐคนหนึ่งกล่าวว่า สหรัฐ ‘ได้รับแจ้งล่วงหน้าแล้ว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง’ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุว่า อิสราเอลแจ้งล่วงหน้ากี่วันหรือบอกข้อมูลใดให้ทราบบ้าง

ต่อมาทำเนียบขาวออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ได้รับข้อมูลสรุปเรื่องการโจมตีแล้ว ทีมความมั่นคงแห่งชาติจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมให้ทราบเรื่อย ๆ

‘อิหร่าน’ ประกาศความสำเร็จ ในการสกัดกั้น ‘ขีปนาวุธ’ เผย!! สามารถต้านทานการโจมตี ของ ‘อิสราเอล’ ได้สำเร็จ

(26 ต.ค. 67) กองบัญชาการกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศแห่งชาติของอิหร่านได้ประกาศความสำเร็จของระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบบูรณาการของประเทศในการสกัดกั้นการโจมตีฐานทัพในจังหวัดเตหะราน คูเซสถาน และอีลัม ในช่วงเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2024 

การโจมตีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายในวงจํากัดในบางพื้นที่ และขอบเขตความเสียหายจากเหตุโจมตีทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ คําแถลงระบุเสริม แต่ก็ยอมรับว่า ‘ได้รับความเสียหายในวงจำกัด’ ในบางพื้นที่ โดยยืนยันว่า กองบัญชาการกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศแห่งชาติสามารถต้านทานการโจมตีของอิสราเอลครั้งนี้ได้สำเร็จ 

แถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่อิสราเอลเปิดเผยเมื่อเช้าวันเสาร์ว่า ได้โจมตีฐานทัพของอิหร่าน แม้จะมีการบันทึกภาพการสกัดกั้นขีปนาวุธที่ไม่ทราบชนิดบนท้องฟ้าของอิหร่านไว้ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงความเสียหายหรือการสูญเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญต่อเป้าหมายภาคพื้นดินของอิหร่านแต่อย่างใด

ส่วนอิสราเอลได้แถลงการณ์ผ่านวิดีโอซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ โดย Daniel Hagari โฆษกกองทัพอิสราเอล ระบุว่า รัฐบาล ‘กำลังดำเนินการโจมตีเป้าหมายทางทหารในอิหร่านอย่างแม่นยำ’ เขาปฏิเสธที่จะระบุเป้าหมายหรืออาวุธที่ใช้ แต่กล่าวว่า "อิสราเอลมีความสามารถในการป้องกันและโจมตีอย่างเต็มที่"

สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านมีกำลังรบหลัก 2 ส่วนได้แก่ (1) กองทัพแห่งชาติ มี 4 เหล่าทัพได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศแห่งชาติ มีกำลังพลรวม 420,000 นาย และ (2) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม มีกำลังพล 125,000 นาย กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศแห่งชาติถือเป็นเหล่าทัพหนึ่งของกองทัพแห่งชาติ มีกำลังพล 15,000 นาย มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจในการป้องกันภัยทางอากาศขแงประเทศโดยเฉพาะ 

ขีปนาวุธหลายลูกตกทะเลโสมใต้ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ เริ่มเปิดหีบ

(5 พ.ย. 67) คณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้ (JCS) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (5 พ.ย.) เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้แบบทิ้งตัวจำนวนหลายลูกลงสู่ทะเลตะวันออก เหตุการณ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเริ่มขึ้น

JCS ระบุว่า การยิงขีปนาวุธครั้งนี้ถูกตรวจพบในเวลาประมาณ 07.30 น. โดยยิงจากเมืองซารีวอน ทางตะวันตกของจังหวัดฮวังแฮเหนือ อย่างไรก็ตาม JCS ไม่ได้ให้รายละเอียดจำนวนขีปนาวุธที่ถูกยิง และระบุว่ากำลังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์สถานการณ์

ในแถลงการณ์ JCS กล่าวว่า “ขณะที่กองทัพของเราเสริมการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการยิงขีปนาวุธเพิ่มเติม เรายังคงรักษาความพร้อมอย่างเต็มที่ และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือกับทางการสหรัฐฯ และญี่ปุ่น”

สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า การยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเช้าวันนี้ เกิดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ชาวอเมริกันจะต้องเลือกระหว่างคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

นอกจากนี้ การยิงขีปนาวุธครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 5 วันหลังจากที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธฮวาซอง-19 (Hwasong-19) ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ ลงสู่ทะเลตะวันออกเมื่อวันที่ 31 ต.ค. โดยทฤษฎีแล้ว ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถพุ่งถึงดินแดนสหรัฐฯ

สส.รัสเซียเตือน 'ไบเดน' คิดผิดมหันต์ หากอนุมัติอาวุธพิสัยไกลให้ยูเครน

(18 พ.ย. 67) มาเรีย บูทีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย วัย 36 ปี แสดงความกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจกำลังผลักดันสถานการณ์ไปสู่ความขัดแย้งระดับโลก หากอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธของสหรัฐในการโจมตีลึกเข้ามาในดินแดนรัสเซีย  

บูทีนา ซึ่งเคยถูกคุมขังในสหรัฐเป็นเวลา 15 เดือนในปี 2561 ข้อหาทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัสเซียโดยไม่ขึ้นทะเบียน กล่าวกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลไบเดนดูเหมือนจะพยายามยกระดับความรุนแรงจนถึงจุดสูงสุดก่อนที่จะหมดวาระ เธอหวังว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีกำหนดเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า จะยุตินโยบายดังกล่าว เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ  

คำเตือนนี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐและสื่อหลายแห่งว่า รัฐบาลไบเดนตัดสินใจอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกลที่ผลิตในสหรัฐเพื่อโจมตีดินแดนรัสเซีย การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญ หลังจากที่สหรัฐเคยวางเงื่อนไขไม่ให้อาวุธดังกล่าวถูกนำไปใช้โจมตีในดินแดนรัสเซีย แม้ว่ายูเครนจะร้องขอมาเป็นเวลานาน  

ก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เคยเตือนว่า หากชาติตะวันตกอนุญาตให้ใช้อาวุธของตนโจมตีรัสเซีย จะถือว่าเป็นการเข้าร่วมสงครามโดยตรงของนาโตและพันธมิตร ขณะที่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศแผนตอบโต้หากเกิดกรณีดังกล่าว

ด้านยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธรายงานนี้โดยตรง แต่ได้กล่าวในคลิปประจำวันว่า "ขีปนาวุธจะบอกทุกอย่างเอง" และย้ำว่า "ชัยชนะจะเป็นของยูเครน"  

ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธพิสัยไกล ซึ่งมีระยะทำการถึง 300 กิโลเมตร อาจเป็นการยกระดับความขัดแย้งในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวนี้อาจช่วยให้ยูเครนได้เปรียบในด้านยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในแคว้นคุสค์ที่ยูเครนสามารถเข้ายึดครองพื้นที่ได้บางส่วนแล้ว  

แหล่งข่าวในสหรัฐเผยว่า หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจนี้ คือรายงานว่ารัสเซียได้ใช้ทหารเกาหลีเหนือจำนวนมากถึง 11,000 นายในแคว้นดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันในสนามรบ  

การตัดสินใจของสหรัฐอาจเพิ่มความซับซ้อนในวิกฤตยูเครนและยกระดับความขัดแย้งไปสู่ระดับนานาชาติ ในขณะที่รัสเซียยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการต่อข่าวนี้ แต่ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นตัวแปรสำคัญในทิศทางของสงครามยูเครนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งตรงกับช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหมดวาระ

เปิดหลักการพื้นฐานของ ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ ว่าด้วยการป้องปราม ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่

ถือว่าโลกได้ขยับเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 3 อีกครั้งเมื่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 ที่ผ่านมา เพื่อรับรองหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับปรับปรุงของประเทศ ซึ่งมีชื่อว่า ‘หลักการพื้นฐานของนโยบายรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์’ (the Basic Principles of State Policy of the Russian Federation on Nuclear Deterrence) สาเหตุที่ทางรัสเซียจำเป็นต้องอัปเดตเอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์นี้ ทางเครมลินอธิบายว่าเนื่องจาก ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ เกี่ยวกับปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและการเผชิญหน้าที่รุนแรงระหว่างรัสเซียและตะวันตก โดยคำนึงถึงการตัดสินใจของ เจ้าหน้าที่รัฐบาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินใจให้ยูเครนใช้อาวุธซึ่งเป็นอาวุธที่ผลิตในอเมริกาเพื่อต่อต้านสหพันธรัฐรัสเซีย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสถานการณ์ใหม่ทั่วประเทศของเรา และทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงแนวคิดนี้” 

โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 สื่ออเมริกันรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ “อนุญาต” ให้ยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS ของอเมริกาลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ซึ่งต่อมานายไบรอัน นิโคลส์ (Brian Nichols) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ได้ออกมายืนยันข้อมูลนี้ เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่ากองทัพยูเครนทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ATACMS จำนวน 6 ลูกต่อสถานที่ทางทหารแห่งหนึ่งในภูมิภาคเบรียนสค์ ซึ่งห้าลูกถูกยิงตก หนึ่งลูกได้รับความเสียหายจากทีมต่อสู้ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 และระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแพนซีร์ จากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้นายดมิทรี เปซคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกเครมลินเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียลงนามในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงซึ่งเป็น "เอกสารที่สำคัญอย่างยิ่ง" ในเวลาที่เหมาะสม เขากล่าวว่าการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์มีจุดมุ่งหมาย “เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่อาจเป็นปฏิปักษ์จะเข้าใจถึงการตอบโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่มีการรุกรานสหพันธรัฐรัสเซียและ/หรือพันธมิตรของรัสเซีย”

ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียที่ได้รับการปรับปรุงนี้ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับกฤษฎีกาปี ค.ศ.2020 โดยรัสเซีย “ถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีการป้องปราม การใช้อาวุธดังกล่าวเป็นมาตรการที่รุนแรงและบังคับ และกำลังใช้ความพยายามที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อลดภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และป้องกันความรุนแรงของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งทางการทหาร รวมถึงความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ด้วย” ในปีค.ศ. 2020 ทางการรัสเซียพิจารณาอาวุธนิวเคลียร์ “เป็นเพียงวิธีการป้องปรามเท่านั้น” เช่นเดียวกับในปีค.ศ. 2020 “การรับประกันการป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานรัสเซียและ (หรือ) พันธมิตร” ถือเป็น “หนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล” จะต้องได้รับการรับรองโดย “กำลังทหารทั้งหมดของสหพันธรัฐรัสเซียรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์” ในเวลาเดียวกัน ทั้งเอกสารเก่าและเอกสารใหม่กล่าวว่า "นโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มีลักษณะเป็นการป้องกัน" 

ก่อนหน้าที่ผมจะกล่าวถึงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่ผมขอเล่าถึงความเป็นมาของหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ฉบับด้วยกัน โดยในสมัยสหภาพโซเวียตไม่มีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์สาธารณะ ยกเว้นเอกสาร "เกี่ยวกับหลักคำสอนทางทหารของรัฐในสนธิสัญญาวอร์ซอ" ที่นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1987 ซึ่งรับรองว่าพวกเขา "จะไม่ใช่คนแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์" ผมขอเรียกเอกสารฉบับนี้ว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับที่ 1  

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินได้ลงนามในกฤษฎีกา "ในบทบัญญัติหลักของหลักคำสอนทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซีย" แต่ไม่มีการเผยแพร่เนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเอกสารฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2  

ถัดมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้อนุมัติหลักคำสอนทางทหารสาธารณะฉบับแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยระบุว่ารัสเซียขอสงวนสิทธิ์ในการใช้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียและ/หรือพันธมิตร เช่นเดียวกับ “เพื่อตอบสนองต่อการโจมตีขนาดใหญ่โดยใช้อาวุธธรรมดาในสถานการณ์ที่วิกฤตต่อความมั่นคงของชาติ ” ในปีเดียวกันนั้นมีการนำ "นโยบายพื้นฐานของรัฐในด้านการป้องปรามนิวเคลียร์" ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงปี ค.ศ.2010 ฉบับนี้ผมให้เป็นฉบับที่ 3 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ อนุมัติหลักคำสอนทางทหารใหม่ของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรวมถึงประโยคเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองต่อ "การรุกรานต่อสหพันธรัฐรัสเซียโดยใช้อาวุธธรรมดา เมื่อรัฐดำรงอยู่จริงตกอยู่ในความเสี่ยง” ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 ต่อมาประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินได้ปรับปรุงหลักคำสอนทางทหารในปี ค.ศ. 2014 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์
.
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2020 ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินได้ลงนามในกฤษฎีกา “เกี่ยวกับพื้นฐานของนโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์” เอกสารระบุเหตุผลอีกสองประการที่ทำให้รัสเซียใช้กองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ได้แก่ การโจมตีด้วยขีปนาวุธและผลกระทบต่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ 'สำคัญอย่างยิ่ง' ซึ่ง "จะนำไปสู่การหยุดชะงักในการดำเนินการตอบโต้ของกองกำลังนิวเคลียร์" ซึ่งผมถือว่าเป็นฉบับที่ 5 

เอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ที่ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินเพิ่งลงนามไปเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 มีทั้งหมดด้วยกันทั้งสิ้น 4 หมวด 26 มาตรา สรุปถึงเงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภัยคุกคามที่ถือว่าร้ายแรงเพียงพอสำหรับการใช้งาน ลำดับการเปิดใช้งานแผนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ การดำเนินการเพื่อรักษากองกำลังนิวเคลียร์ให้พร้อมในการรบ และนโยบายสำหรับ 'การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์'—แผนสำหรับป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลียร์โดยรับรองว่า “การรุกรานทางนิวเคลียร์ใดๆ จะส่งผลให้เกิดการตอบโต้อย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ผมขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

เงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งก่อนหลักคำสอนระบุว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถูกกระตุ้นโดยการรุกรานที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม เวอร์ชันอัปเดตให้ความชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การรุกรานที่คุกคามอธิปไตยของรัสเซียและ/หรือบูรณภาพแห่งดินแดนโดยตรง

หลักคำสอนที่ได้รับการปรับปรุงได้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสถานการณ์ที่การรุกรานจากประเทศที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์ นี่จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน และแม้แต่อาวุธทั่วไปที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยของรัสเซียก็อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางนิวเคลียร์จากรัสเซียเช่นกัน

โดยรัสเซียได้เน้นไปที่เบลารุสพันธมิตรของตนเป็นพิเศษ ซึ่งการรุกรานใด ๆ ต่อเบลารุสก็ถือเป็นการโจมตีรัสเซีย ซึ่งก็จะถูกตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เอกสารดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงภัยคุกคามทางทหารต่อรัสเซียที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระบบต่อต้านขีปนาวุธ การสะสมกำลังทหารใกล้ชายแดนรัสเซีย และอาวุธนิวเคลียร์ที่ประจำการอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดคำว่า ‘ศัตรูที่มีศักยภาพ’ ซึ่งครอบคลุมรัฐหรือพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามและมีอำนาจทางทหารที่สำคัญ 

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์

รัสเซียดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกัน ‘รัฐที่ไม่เป็นมิตร’ และพันธมิตรทางทหารจากการโจมตีและการกระทำที่ไม่เป็นมิตรในช่วงเวลาสงบ ระดับภัยคุกคามที่เพิ่มสูงขึ้น และในช่วงสงคราม ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

การป้องปรามรวมถึงการจัดตั้งและรักษากองกำลังนิวเคลียร์ที่ทันสมัยซึ่งสามารถส่ง “ความเสียหายที่รับประกันว่าไม่อาจยอมรับได้” ให้กับฝ่ายตรงข้าม ควบคู่ไปกับการทำให้แน่ใจว่าพวกเขาทั้งหมดไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความพร้อมของมอสโก และตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมกับพวกเขาหากจำเป็น

หากผู้รุกรานโจมตีรัสเซียหรือพันธมิตร พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ ตามหลักคำสอนดังกล่าว

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มุ่งเป้าไปที่รัฐและพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม รวมถึงการจัดหาทรัพยากรหรือดินแดนสำหรับการรุกราน

การรุกรานโดยรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน ในขณะที่การรุกรานของกลุ่มพันธมิตรทางทหารใดๆ จะถูกมองว่าเป็นการกระทำร่วมกันของกลุ่มนี้ 

ภัยคุกคาม

รายการภัยคุกคามทางทหารที่รัสเซียจะตอบโต้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ประกอบด้วยอันตรายหลัก 10 ประการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาเอกสารฉบับปีค.ศ.2020 ที่มี 6 ประการ โดยที่น่าสังเกตมากที่สุดคือการมีอยู่ของศัตรูที่อาจติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงอื่นๆ

นอกจากนี้ยังรวมถึงการติดตั้งระบบขั้นสูง เช่น การป้องกันขีปนาวุธร่อนระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range cruise missile) ขีปนาวุธนำวิถี ระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range ballistic missiles) อาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่มีความแม่นยำสูง (high-precision non-nuclear) และอาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic weapon) และการโจมตีด้วยโดรน

การสะสมกำลังของต่างชาติ รวมถึงวิธีการจัดส่งนิวเคลียร์หรือโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่เกี่ยวข้อง ใกล้กับชายแดนรัสเซียก็ถูกกำหนดให้เป็นภัยคุกคามที่สำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้ การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ, ระบบต่อต้านดาวเทียม, และอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นอันตราย

รวมไปถึงการขยายพันธมิตรทางทหารและแนวทางโครงสร้างพื้นฐานไปยังชายแดนรัสเซียถือเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เช่น การแยกดินแดน การทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นอันตราย การซ้อมรบขนาดใหญ่ใกล้ชายแดน และการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูงอย่างไม่มีการตรวจสอบ

การตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์

การตัดสินใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นสามารถพิจารณาได้จากเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงการยิงขีปนาวุธใส่รัสเซียหรือพันธมิตร การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียหรือดินแดนพันธมิตร และการโจมตีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญของรัฐหรือทางทหาร ที่จะขัดขวางการตอบสนองทางนิวเคลียร์ 

นอกจากนี้ยังรวมถึงการรุกรานตามแบบแผนที่คุกคามอธิปไตยต่อรัสเซียหรือเบลารุส เช่นเดียวกับการโจมตีด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่และขีปนาวุธข้ามพรมแดนรัสเซีย ถือเป็นเกณฑ์หนึ่งในการเปิดใช้งานการตอบสนองทางนิวเคลียร์

ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ นอกจากนี้เขายังอาจแจ้งให้ประเทศอื่นๆ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศทราบเกี่ยวกับความพร้อมหรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจริง

เซอร์เกย์ มาร์คอฟ (Sergey Markov) อดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินกล่าวว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้ “ทำให้เงื่อนไขการใช้นิวเคลียร์ของรัสเซียเท่าเทียมกันกับสหรัฐฯ” เนื่องจากเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตะวันตกต่ำกว่าในรัสเซีย โดยหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน ซึ่งจนถึงขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้พิจารณาการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งแรกในการปราศรัยของเขาเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2024 ในการประชุมป้องปรามด้วยนิวเคลียร์โดยอ้างถึง “ภูมิทัศน์ทางการทหารและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” 

ซึ่งนายเซอร์เกร์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกมาแสดงความเห็นว่าชาติตะวันตกจะศึกษาหลักคำสอนทางนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของรัสเซียอย่างรอบคอบ ในขณะที่นายดมิมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซียได้ออกมาเตือนว่าชาติตะวันตกจะรับฟังสัญญาณจากมอสโกอย่างจริงจังและได้โพสต์ลงในช่อง Telegram ของเขาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการตัดสินใจโจมตีขีปนาวุธของชาติตะวันตกที่ลึกเข้าไปในรัสเซียกับหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ “การใช้ขีปนาวุธพันธมิตร (NATO) ในลักษณะนี้สามารถเข้าข่ายเป็นการโจมตีโดยกลุ่มประเทศในรัสเซียได้แล้ว ในกรณีนี้ มีสิทธิ์ที่จะโจมตีกลับด้วยอาวุธทำลายล้างสูงต่อเคียฟและฐานปฏิบัติการหลักของ NATO ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม และนี่คือสงครามโลกครั้งที่สามแล้ว

ซึ่งเราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้จะทำให้ฉากทัศน์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนจบลงหรือขยายความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรนาโตต่อไปในอนาคต

เผยมิสไซล์ Oreshnik บึ้มฐานสหรัฐในอาหรับเพียง 15 นาที ยิงถึงฐานเพิร์ลฮาร์เบอร์-แผ่นดินใหญ่สหรัฐใน 25 นาที

(27 พ.ย.67) สำนักข่าวสปุตนิกเปิดเผยว่า หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เปิดตัวขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ที่ใช้ตอบโต้ยูเครน ซึ่งก่อนหน้านั้นยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS จากสหรัฐโจมตีพื้นที่รัสเซีย ชาตินาโต้เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของขีปนาวุธดังกล่าว  

Oreshnik มีพิสัยการยิงครอบคลุมทั่วยุโรปและยังสามารถโจมตีฐานทัพสหรัฐในตะวันออกกลางได้ในเวลาเพียง 15 นาที นักวิเคราะห์รัสเซียเผยว่า ขีปนาวุธนี้สามารถเข้าถึงฐานทัพในตะวันออกกลาง แปซิฟิก อลาสกา และไซโลขีปนาวุธในสหรัฐได้อย่างรวดเร็ว  

หากยิงจากฐาน Kapustin Yar ในแคว้นอัสตราฮัน ทางตอนใต้ของรัสเซีย จะสามารถโจมตี ฐานทัพสหรัฐในคูเวต ระยะทาง 2,100 กม. ใน 11 นาที  ฐานทัพเรือที่ 5 ในบาห์เรน ระยะทาง 2,500 กม. ใน 12 นาที  ฐานทัพอากาศในกาตาร์ ระยะทาง 2,650 กม. ใน 13 นาที ฐานทัพในจีบูติ แอฟริกา ระยะทาง 4,100 กม. ใน 20 นาที  

สำหรับแถบแปซิฟิกและอลาสกา หากยิงจาก Kamchatka ในไซบีเรีย จะโจมตีฐานทัพในอลาสกา ระยะทาง 2,400 กม. ใน 12 นาที  เกาะกวม ระยะทาง 4,500 กม. ใน 22 นาที เพิร์ลฮาร์เบอร์ ระยะทาง 5,100 กม. ใน 25 นาที  

ขณะที่จากฐาน Chukotka ในรัสเซีย ขีปนาวุธ Oreshnik สามารถยิงถึง ฐานปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปในมอนทานา ระยะทาง 4,700 กม. ใน 23 นาที ไซโลขีปนาวุธในนอร์ทดาโกตา ระยะทาง 4,900 กม. ใน 24 นาที

เครมลินออกโรงป้องเหตุเครื่องบินอาเซอร์ไบจานตก ปัดโยงมิสไซล์รัสเซีย ชี้รอผลการสอบสวนก่อนสรุป

( 27 ธ.ค.67) จากเหตุเครื่องบินแบบ embraer 190 ของสายการบิน Azerbaijan Airlines ตกใกล้เมืองอัคเตา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของคาซัคสถาน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากบินออกนอกเส้นทางโดยไม่ทราบสาเหตุ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย บาดเจ็บจำนวนมากนั้น

ภายหลังการเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานและสหรัฐฯ เชื่อว่าเครื่องบินโดยสารของอาเซอร์ไบจานที่ประสบเหตุร้ายแรงถูกยิงตกโดยขีปนาวุธพื้นสู่อากาศของรัสเซีย

จากรายงานข่าวของสื่อระบุว่าพบหลักฐานเป็นสะเก็ดระเบิดและร่องรอยจากการถูกยิงด้วยขีปนาวุธบริเวณปลายหางท้ายลำของเครื่องบิน ส่งผลให้เครื่องบินไม่สามารถควบคุมได้ นักบินจึงต้องนำเครื่องร่อนลงจอดฉุกเฉินนั้น มีชิ้นส่วนของขีปนาวุธแบบ Pantsir-S ซึ่งเป็นมิสไซล์จากภาคพื้นสู่อากาศของรัสเซียปะปนอยู่กับเศษซากของเครื่องบินด้วย

สอดคล้องกับอดีตผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสอบสวนอุบัติเหตุทางการบินของฝรั่งเศส (BEA) ที่ระบุว่า ความเสียหายของซากเครื่องบินดูเหมือนจะมีร่องรอยจาก 'สะเก็ดระเบิด'  

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและการทหารบางคนคาดการณ์ว่า เครื่องบินอาจถูกระบบป้องกันทางอากาศของรัสเซียยิงตกโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากบริเวณที่เครื่องบินบินผ่านมีการรายงานการเคลื่อนไหวของโดรนยูเครน  

เขากล่าวโดยไม่เปิดเผยตัวตนว่า ความเสียหายดังกล่าว 'คล้ายกับ' กรณีเครื่องบิน Malaysia Airlines เที่ยวบิน MH17 ที่ถูกขีปนาวุธยิงตกโดยกลุ่มกบฏที่รัสเซียสนับสนุนในยูเครนตะวันออกเมื่อปี 2014  

ขณะที่สำนักข่าว Kazinform ของคาซัคสถานรายงานว่า มีการกู้กล่องดำบันทึกการบินสองกล่องจากที่เกิดเหตุได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องรอการสอบสวนต่อไป 

ทั้งนี้ หลังมีรายงานข่าวว่า เครื่องบินลำดังกล่าวอาจประสบเหตุตกจากขีปนาวุธของรัสเซีย ทางด้านโฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “อย่าเพิ่งเชื่อสมมติฐานใดๆ มันอาจจะผิดหากสรุปการคาดเดาใด ๆ ก่อนการสอบสวนจะเสร็จสิ้น”

เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยไกล ตกทะเลญี่ปุ่น คาดยิงโชว์ 'ทรัมป์' ก่อนรับตำแหน่ง

(6 ม.ค. 68) สื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้รายงานว่า ทางการเกาหลีเหนือได้ทำการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลตกลงในทะเลญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของปี 2025

ตามข้อมูลจากคณะเสนาธิการร่วม (JCS) ของเกาหลีใต้ ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือยิงในครั้งนี้บินไปได้ไกลถึง 1,100 กิโลเมตร (683.5 ไมล์) ก่อนจะตกลงในทะเลญี่ปุ่น

การยิงขีปนาวุธครั้งนี้เป็นครั้งแรกในปี 2025 และเกิดขึ้นหลังจากการยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา

ขีปนาวุธดังกล่าวตกลงนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น โดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นที่รายงานว่าไม่พบความเสียหายจากเหตุการณ์นี้

หน่วยงานยามชายฝั่งญี่ปุ่นยืนยันว่า เกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธข้ามทะเลจริง และหลังจากหกนาที หน่วยงานดังกล่าวได้ออกแถลงการณ์ว่า ขีปนาวุธได้ตกลงแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้เรือทุกลำรายงานชิ้นส่วนที่พบ แต่ห้ามเข้าใกล้พื้นที่ดังกล่าว

ทางทหารเกาหลีใต้ได้เพิ่มการเฝ้าระวังและความเข้มงวดในการควบคุม โดยเตรียมพร้อมรับมือกับการยิงขีปนาวุธเพิ่มเติม พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยยังคงรักษาความพร้อมรบเต็มที่ ตามรายงานจากคณะเสนาธิการร่วม (JCS)

การทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้อาจเป็นการแสดงแสนยานุภาพของเกาหลีเหนือ ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้

คณะเสนาธิการทหารร่วมของเกาหลีใต้กล่าวว่า “กองทัพยังคงรักษาท่าทีเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ โดยแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวกับขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น พร้อมทั้งเพิ่มการเฝ้าระวังและเตรียมรับมือหากเกิดการยิงขีปนาวุธเพิ่มเติม”

ญี่ปุ่นยังได้ประกาศว่า เกาหลีเหนือได้ยิงสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นขีปนาวุธ ซึ่งคาดว่าวัตถุดังกล่าวได้ตกลงมาแล้ว

การยิงขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ (SRBM) และถือเป็นการยิงครั้งสุดท้ายก่อนที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะออกมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top