Monday, 19 May 2025
กัมพูชา

กัมพูชาเตือนภัย! มีผู้ป่วยโรคหัดแล้ว 375 ราย พบระบาดหนักตามแนวชายแดน

(23 ธ.ค.67) กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา (MOH) ออกคำเตือนเมื่อวันเสาร์ (21 ธ.ค.) เกี่ยวกับการระบาดเพิ่มของโรคหัด หลังพบผู้ป่วยโรคหัดอย่างน้อย 375 รายในปี 2024

กระทรวงฯ ระบุในแถลงการณ์ว่าโรคหัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วผ่านทางระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอหรือจาม พร้อมเสริมว่าโรคนี้สามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ตาบอด สร้างความเสียหายต่อสมอง หรือกระทั่งเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ

กระทรวงฯ พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียนและจังหวัดตามแนวชายแดนบางแห่ง โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมปีนี้ กัมพูชายืนยันจำนวนผู้ป่วยโรคหัดใน 17 จังหวัด รวม 375 ราย

แถลงการณ์ระบุว่าอาการของโรคหัดมักปรากฏหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 10-14 วัน ได้แก่มีไข้สูง ไอ น้ำมูกไหล ตาแดงและมีน้ำตา และมีจุดผื่นขาวขนาดเล็กที่กระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยโรคนี้มักมีผื่นแดงปรากฏตามร่างกายในช่วง 7-18 วันหลังรับเชื้อ โดยเริ่มจากใบหน้าและลำคอส่วนบน จากนั้นลามไปยังมือและเท้า พร้อมเตือนให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานที่มีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูกไหล และมีผื่นแดง ไปพบแพทย์ที่ศูนย์สุขภาพหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

กระทรวงฯ ยังเรียกร้องให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานที่มีอายุ 9-59 เดือนไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันฟรีที่ศูนย์สุขภาพทุกแห่งเพื่อป้องกันการระบาดของโรค

อนึ่ง กัมพูชาเคยประกาศว่าตนเป็นประเทศปลอดโรคหัดเมื่อเดือนมีนาคม 2015 แต่กลับมาพบผู้ป่วยโรคหัดรายแรกอีกครั้งใน 7 เดือนต่อมา

รัสเซียเผยอีก 20 ชาติขอเข้ากลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา ขอร่วมวงด้วย

(25 ธ.ค. 67) ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้ ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการหารืออย่างเป็นระบบกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  

อูชาคอฟระบุว่า BRICS ยังคงเปิดกว้างสำหรับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยรายชื่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มอีก 20 ชาติ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ชาด โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี ฮอนดูรัส ลาว คูเวต โมร็อกโก เมียนมา นิการากัว ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซเนกัล เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซีเรีย เวเนซุเอลา และซิมบับเว นอกจากนี้ เอริเทรียยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับ BRICS เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อูชาคอฟเน้นย้ำว่า การขยายกลุ่มต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยกล่าวว่า “การขยายกลุ่มอย่างไร้การควบคุมอาจทำลายโครงสร้างที่มีอยู่ เราจึงต้องดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับแนวทางที่เราใช้มาตลอด”

นายกฯ กัมพูชายืนยันจุดยืนบูรณภาพแห่งดินแดน หลังมีเสียงวิจารณ์ปมเกาะกูด

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย 

"ผมขอพูดอย่างชัดเจนว่า การที่รัฐบาลไม่ได้ตอบโต้ข้อกังวลบนเฟซบุ๊ก ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องและเสริมสร้างบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ หรือส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับสถานะของกัมพูชาในเวทีโลก เราทำเรื่องนี้กันทุกวันอยู่แล้ว " นายกฯ ฮุนมาเนต ยังเน้นย้ำว่า "เรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องโบกธงหรือตะโกนคัดค้านใดๆ สิ่งที่เราต้องทำคือมุ่งเน้นที่การทำงานของเรา"  

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบโต้เสียงวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลของนายฮุนมาเนตเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาเรื่องการสูญเสียดินแดน โดยเฉพาะจากกลุ่มฝ่ายค้านชาวกัมพูชาในสหรัฐฯ ซึ่งเตรียมจัดการประท้วงในชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  

รายงานจากสำนักข่าว พนมเปญโพสต์ ระบุว่า ประเด็นเกาะกูดกลายเป็นข้อพิพาท เนื่องจากทั้งกัมพูชาและไทยต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะดังกล่าว ขณะที่สื่อไทยรายงานล่าสุดว่า ไทยได้ประกาศอ้างสิทธิเหนือเกาะนี้เช่นกัน  

ขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านในสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาแสดงจุดยืนที่ชัดเจน โดยต้องการให้รัฐบาลยืนยันว่าเกาะกูดเป็นดินแดนของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หรือยกระดับประเด็นนี้ให้ถึงขั้นพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม

จี้ 'ฮุนมาเนต' ยกเลิก MOU44 แนะฟ้องศาลโลกตัดสิน 'เกาะกูด' เหมือนคดีเขาพระวิหาร

(27 ธ.ค.67) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียภาคภาษาเขมร รายงานว่า นาย อึม สำอาน (Oum Sam An) นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งลี้ภัยในสหรัฐเพราะถูกตัดสินจำคุกในข้อหาปลุกปั่นประเด็นเรื่องชายแดน ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนมาเนตของกัมพูชา ยกเลิกบันทึกความเข้าใจหรือ MOU44 และหันไปหาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อแก้ไขกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะกูด

นาย อึม สำอาน อดีตสส.จาก จ.เสียมเรียบ พรรคพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) กล่าวว่า ประชาชนชาวกัมพูชาจะยังคงชุมนุมประท้วงภายใต้ชื่อ 'ปกป้องเกาะกูด' (Defend Koh Kut) ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 19 มกราคม  และจะประท้วงจนกว่ากัมพูชาจะได้รับพื้นที่บนเกาะกูดคืนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยเขาชี้ว่าการเจรจาทวิภาคีไม่สามารถทำให้ไทยคืนเกาะกูดได้ และเน้นย้ำว่ากัมพูชาควรใช้แนวทางฟ้องร้องในศาลโลก เช่นเดียวกับกรณีปราสาทพระวิหารในปี 2505 

“บันทึกความเข้าใจเป็นเพียงพื้นฐาน ดังนั้นกัมพูชาจึงมีสิทธิ์ยกเลิกได้ตลอดเวลา และหลังจากยกเลิกเอ็มโอยู กัมพูชาสามารถอ้างสิทธิ์ของเกาะได้ผ่านการฟ้องร้องประเทศไทยในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เราไม่ควรใช้การเจรจาแบบทวิภาคี เพราะจะไม่มีการคืนเกาะ ไทยควบคุมเกาะกูด 100% อยากให้ดูตัวอย่างกรณีของเขาพระวิหาร ซึ่งในกรณีนั้นถ้าหากสมเด็จพระนโรดมสีหนุไม่นำเรื่องเขาพระวิหารไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ICJ ในปี 1962 เราก็คงไม่ได้เขาพระวิหารคืน” 

ด้านนายสุน ชัย รองหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกัมพูชา ระบุว่า เกาะกูดเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาติ พร้อมแสดงความหวังว่ารัฐบาลกัมพูชาจะนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเจรจาหรือฟ้องร้องในศาลโลกเพื่อทวงคืนพื้นที่  

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีมอบปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิวแมน รีซอร์ส เมื่อ 26 ธ.ค. โดยยืนยันจุดยืนของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเด็นเกาะกูด โดยย้ำว่ารัฐบาลยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้ตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน  

นักวิเคราะห์ด้านการพัฒนาสังคม ดร.เมียส นี (Meas Ny) ชี้ว่า ปัญหาเขตแดนเป็นเรื่องสำคัญที่นักการเมืองทั้งสองประเทศควรละผลประโยชน์ส่วนตัว และร่วมกันหาทางออกที่เป็นธรรมผ่านช่องทางระหว่างประเทศ โดยมองว่าการฟ้องร้องต่อศาลโลกเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

เปิดประวัติ 'ลิม กึมยา' อดีตสส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ถูกยิงปริศนาในไทย ด้านตร.ออกหมายจับมือยิงแล้ว

(8 ม.ค. 68) ลิม กึมยา (Lim Kim Ya) อดีต ส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชาจากพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party หรือ CNRP) วัย 74 ปี ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเกาะกลางถนนตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ เวลาประมาณ 18.00 น.  

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากลิม กึมยา วิพากษ์วิจารณ์ "รัฐบาลตระกูลฮุน" อย่างหนักในประเด็นที่เกี่ยวกับเกาะกูด โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลฮุน เซนกำลังวางแผนยกเกาะกูดให้ไทยเพื่อแลกกับผลประโยชน์ผ่านบันทึกความเข้าใจ MOU 44  

พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นชายขับรถจักรยานยนต์สีแดงที่คาดว่าใช้ปืนยิงผู้เสียชีวิต ก่อนหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ  

รายงานจากคมชัดลึกระบุว่า ลิม กึมยา ถูกยิงเข้าบริเวณชายโครงขวาและหัวไหล่ขวาอย่างละนัด เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยกู้ชีพพยายามช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตเขาไว้ได้  

ในขณะเดียวกัน สื่ออมรินทร์รายงานว่าผู้เสียชีวิตเดินทางมาจากเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยรถบัสพร้อมภรรยาชาวฝรั่งเศสและญาติชาวกัมพูชา ก่อนจะถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต  

ลิม กึมยา เป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรค CNRP ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2555 และเคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2556 ด้วยการคว้าที่นั่งในสภาได้ 55 จาก 123 ที่นั่ง พรรคนี้เป็นแกนนำในการวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จฯ ฮุน เซน และรัฐบาลของเขา  

สมเด็จฯ ฮุน เซน เคยออกมาระบุว่าสมาชิกพรรค CNRP เป็น "ผู้ก่อการร้าย" และกล่าวหาว่าพรรคนี้สมคบคิดกับต่างชาติในการโค่นล้มรัฐบาล จนศาลกัมพูชาสั่งยุบพรรคในปี 2560 และห้ามสมาชิกพรรค 118 คนยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี  

การโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่องทำให้พรรค CNRP ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะที่รัฐบาลกัมพูชาก็เผชิญแรงกดดันจากประชาคมโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมือง  

เหตุการณ์นี้ยังสร้างความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะกรณีเกาะกูด ซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นข้อถกเถียงทั้งในฝั่งไทยและกัมพูชา โดยฝ่ายค้านกัมพูชาเชื่อว่ารัฐบาลฮุน เซน จะยกเกาะกูดให้ไทย  

สมเด็จฯ ฮุน เซน เรียกร้องให้มีกฎหมายใหม่เพื่อตราหน้าผู้พยายามล้มล้างรัฐบาลลูกชายของเขา ฮุน มาเนต ว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งสะท้อนถึงความตึงเครียดทางการเมืองที่ยังคงสูงขึ้นในกัมพูชา  

ล่าสุด (8 ม.ค. 68) พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผู้กำกับการสถานีตำรวจชนะสงคราม เปิดเผยว่า สน.ชนะสงคราม ได้ออกหมายจับคนร้าย นายเอกลักษณ์ แพน้อย อายุ 41 ปี ที่ก่อเหตุยิง นายลิม กิมยา ชายสัญชาติฝรั่งเศส-กัมพูชา ที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.68) ในข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พกอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรยิงปืนฯ หลังก่อเหตุยิง นาย ลิม กิมยา เสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ม.ค.68 เวลา 17.45 น.บริเวณวงเวียน 13 ห้าง ถนนสิบสามห้าง แขวงบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กทม

กัมพูชาสุดภูมิใจโกยภาษีคาสิโนพุ่ง 85% ทะลุ 62 ล้านดอลลาร์ในปี 2567

(14 ม.ค. 68) เว็บไซต์ khmertimes รายงาว่า กัมพูชาสามารถเก็บรายได้ภาษีจากอุตสาหกรรมคาสิโนได้กว่า 62.78 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 85% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามการเปิดข้อมูลจากสำนักเลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการบริหารการพนันเชิงพาณิชย์แห่งกัมพูชา  

รายงานระบุว่า รายได้จากธุรกิจการพนัน รวมถึงคาสิโนและกิจกรรมการเสี่ยงโชคต่าง ๆ มีมูลค่าถึง 254.907 พันล้านเรียล (ราว 62.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการปรับปรุงกลไกกำกับดูแลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นจากผู้ประกอบการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ  

นายเมียส ซกแสนซาน ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่า การเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการตรวจสอบธุรกิจการพนันเชิงพาณิชย์ที่เข้มงวดมากขึ้น การปรับปรุงมาตรการกำกับดูแล และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของผู้ประกอบการ โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตในปีนี้รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนหลังวิกฤตโควิด-19 และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  

ณ สิ้นปี 2567 กัมพูชามีการออกใบอนุญาตคาสิโนทั้งหมด 159 ใบ โดย 1 ใบถูกเพิกถอน อีก 1 ใบถูกระงับ และอีก 15 ใบหมดอายุ ทั้งนี้ คาสิโนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนและจังหวัดพระสีหนุ ยกเว้น NagaWorld ซึ่งเป็นคาสิโนของมาเลเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงกรุงพนมเปญ  

ภายใต้กฎหมายการจัดการการพนันเชิงพาณิชย์ของกัมพูชา อนุญาตให้เฉพาะชาวต่างชาติเล่นการพนันในคาสิโน ขณะที่ชาวกัมพูชาถูกห้ามเล่นการพนันทุกประเภท ยกเว้นการเสี่ยงโชค  

กระทรวงกิจการภายในร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการปราบปรามโฆษณาการพนันออนไลน์และลอตเตอรีบนสื่อโซเชียลที่ละเมิดกฎหมายการพนันเชิงพาณิชย์

สำนักเลขาธิการทั่วไปของคณะกรรมการบริหารการพนันเชิงพาณิชย์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบในอุตสาหกรรมการพนัน รวมถึงการออกใบอนุญาต การจัดทำบัญชีและงบการเงิน การจัดการความปลอดภัย ตลอดจนผลกระทบทางลบจากการพนัน

การดำเนินการเหล่านี้มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมเสริมสร้างความรับผิดชอบของเจ้าของคาสิโน และลดผลกระทบทางลบในระยะยาวจากกิจกรรมการพนันในประเทศ

แรงงานชาวกัมพูชานับสิบ ในญี่ปุ่น ป่วนไม่เลิก นัดรวมตัวทวงคืนเกาะกูด อ้างทุกอย่างเป็นของกัมพูชา

(10 ก.พ. 68) เพจ ASEAN “มอง” ไทย ได้โพสต์ภาพ พร้อมข้อความว่า แรงงานชาวกัมพูชาในประเทศญี่ปุ่น รวมตัวทวงคืนเกาะกูด จ.ตราด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลกัมพูชาเอาเกาะกูดคืนมาจากประเทศไทยให้ได้ รวมถึงพื้นที่พิพาทในทะเลอ่าวไทย ผู้ชุมนุมชาวกัมพูชากล่าวว่า “ทุกอย่างเป็นของกัมพูชา”

ทหารเขมร ร้องเพลงชาติกัมพูชาบน 'แผ่นดินไทย' หวิดปะทะเดือดที่ปราสาทตาเมือนธม

(17 ก.พ. 68) สถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นบริเวณปราสาทตาเมือนทม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อคณะทหารกัมพูชาจำนวนหนึ่งเดินทางขึ้นมายังพื้นที่ดังกล่าว พร้อมร้องเพลงชาติของตนและมีการโต้เถียงกับทหารไทยอย่างดุเดือด  

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เวลาประมาณ 12.30 น. โดยมีการบันทึกคลิปวิดีโอจากฝั่งทหารไทย ขณะที่ผู้นำทหารกัมพูชาในชุดแขนยาวสีขาว กล่าวถ้อยคำในเชิงข่มขู่เป็นภาษาไทยและภาษาเขมร โดยระบุว่า "ห้ามทหารไทยเหยียบพื้นที่นี้แม้แต่ก้าวเดียว ถ้าจะยิงก็ยิง" 

ด้านทหารไทยได้ตอบกลับอย่างใจเย็นว่า "ผมมายืนตรงนี้เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา" แต่ผู้นำทหารกัมพูชาได้สวนกลับด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวว่า "เดี๋ยวกูก็จะสั่งลูกน้องกูเหมือนกัน" ก่อนจะเดินทางกลับไปยังฝั่งกัมพูชา  

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมทหารกัมพูชาจึงขึ้นมาร้องเพลงชาติบนพื้นที่ดังกล่าว และใช้ถ้อยคำแข็งกร้าวต่อทหารไทย 

ขณะเดียวกันด้าน แม่ทัพภาคที่ 2 ชี้แจงกรณีทหารกัมพูชาร้องเพลงชาติบนแผ่นดินไทย ยืนยันทำไม่ได้แน่นอน

พล.ท. บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ชี้แจงกรณีทหารกัมพูชาจำนวนหนึ่งขึ้นมาร้องเพลงชาติบริเวณปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทย เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การโต้เถียงระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย โดยต่างฝ่ายต่างถ่ายคลิปไว้เป็นหลักฐาน ยืนยันว่าปราสาทตาเมือนธมอยู่ในเขตแดนไทย แม้จะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปักปันแน่ชัด ทั้งนี้ ฝ่ายไทยอนุโลมให้ชาวกัมพูชาขึ้นมาสักการะได้ แต่ต้องไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใดๆ  

แม่ทัพภาคที่ 2 ระบุว่า การร้องเพลงชาติบนพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้** ฝ่ายไทยจึงเข้าไปตักเตือนและท้วงติงเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการใช้ภาพถ่ายหรือคลิปไปเป็นหลักฐานกล่าวอ้าง นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ประสานพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาทหารกัมพูชาผ่านช่องทางคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา (RBC) ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว และกองกำลังสุรนารีได้ดำเนินการทำหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการ

ไต้หวันขึ้นบัญชีไทย ประเทศกลุ่มเสี่ยง เข้าลิสต์เดียวกับกัมพูชา-เมียนมา-ลาว

(17 ก.พ. 68) ไต้หวันเพิ่มไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และลาว ในรายชื่อจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงสูง หลังพบเป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการฉ้อโกงออนไลน์

กระทรวงมหาดไทยไต้หวันประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า นักเดินทางที่มุ่งหน้าไปยังประเทศเหล่านี้จะได้รับคำเตือนผ่านตั๋วเครื่องบิน พร้อมแนะนำให้ดาวน์โหลดแอป "คู่มือความปลอดภัยในการเดินทาง" เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง  

รายงานจากสื่อไต้หวัน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555 ชาวไต้หวันจำนวนมากถูกหลอกให้ทำงานในเครือข่ายฉ้อโกงในกัมพูชา ซึ่งภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ได้ย้ายฐานไปยังเมียนมา ลาว และประเทศใกล้เคียง ส่งผลให้ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อ ถูกกักขัง หรือบังคับให้ทำงานในขบวนการฉ้อโกง บางรายยังติดอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา  

รัฐบาลไต้หวันเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง โดยร่วมมือกับสายการบินต่างๆ เพื่อเพิ่มข้อความเตือนเกี่ยวกับการฉ้อโกงบนตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแจกจ่ายบัตรข้อมูลที่สนามบิน หวังลดจำนวนเหยื่อที่อาจตกเป็นเป้าหมาย  

นอกจากนี้ ไต้หวันยังเดินหน้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ โดยอาศัยพระราชบัญญัติต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมจับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และสมาคมธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อให้สามารถกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย  

มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของไต้หวันในการปกป้องพลเมืองจากขบวนการฉ้อโกงที่แพร่ระบาดในภูมิภาค  

กัมพูชาสั่งลงทะเบียนโดรนทุกลำในประเทศ หลังพบมือดีเตรียมเทน้ำมันทางอากาศเผาบ้านอดีตนายกฯ

กัมพูชาบังคับผู้ใช้งานโดรนลงทะเบียนที่สถานีตำรวจท้องถิ่น หลังแผนโจมตีบ้านพักของฮุนเซนถูกสกัด

(17 ก.พ. 68) กัมพูชาได้ออกประกาศใหม่ให้ผู้ใช้งานอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนที่สามารถบรรทุกวัตถุหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องลงทะเบียนที่สถานีตำรวจท้องถิ่น พร้อมแจ้งข้อมูลรายละเอียดของโดรน เช่น ผู้ผลิต รุ่น หมายเลขประจำเครื่อง และข้อมูลเกี่ยวกับการบินต่างๆ หลังจากเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ขัดขวางแผนการใช้โดรนโจมตีบ้านพักของสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน ในจังหวัดกันดาล

ประกาศนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความมั่นคงและความปลอดภัยในสังคม โดยผู้ใช้งานต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปและบินได้เฉพาะในช่วงเวลา 06.00-18.00 น. ส่วนการบินตอนกลางคืนหรือการบินฝูงโดรน 5 ลำขึ้นไปต้องได้รับอนุญาตพิเศษ ผู้ใช้งานยังต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดในการบินในพื้นที่สำคัญ เช่น ห้ามบินในรัศมี 3 กิโลเมตรจากท่าอากาศยานพลเรือนและท่าอากาศยานทหาร

การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ฮุนเซนยังเผยแพร่คลิปเสียงบทสนทนาลับของกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ซึ่งวางแผนโจมตีบ้านพักของเขาด้วยการเทน้ำมันเบนซินจากโดรนเพื่อจุดไฟเผา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top