Monday, 19 May 2025
กัมพูชา

ทัพเรือภาคที่ 1 ประสานกัมพูชา ช่วยเหลือลูกเรือสินค้าไทยอับปาง 10 ชีวิต

เมื่อ 9 มิ.ย.67 เวลา 12.55 น. ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จาก นายโสภณ วันทอง อายุ 63 ปี ผู้ควบคุมเรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ “ชื่อเชียงล้าน” พร้อมลูกเรือคนไทยจำนวน 9 นาย ว่าขณะเดินเรือขนส่งสินค้าจากประเทศไทย ไปยังกัมพูชา ได้ประสบเหตุคลื่นลมแรงทำให้เรือรั่วและอับปางลง บริเวณ แลต 10 องศา 48.82 ลิปดาเหนือ ลอง 103 องศา 12.92 ลิปดาตะวันออก บริเวณเกาะรงประเทศกัมพูชา กองข่าว ทัพเรือภาคที่ 1 จึงได้แจ้งข้อมูลและประสานงานกับทางฝ่ายประเทศกัมพูชา โดยใช้ช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ตามที่ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเป็นประจำ หลังจากได้รับแจ้ง ทางประเทศกัมพูชาได้จัดกำลังให้ความช่วยเหลือในทันที โดย ออกญา เตียร์ วิจิตร ได้สั่งการเรือเร็ว (เรือหน่วยความมั่นคงทางยุทธวิธี ส่วนหน้าเกาะเปรียบ) ออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวไทยจำนวน 10 คน ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลืออยู่ในแพชูชีพทันที และนายมัง ศรีเนตร ผู้ว่าราชการพระสีหนุ สั่งการให้ชุดแพทย์และรถพยาบาล เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือลูกเรือชาวไทยได้ทั้งหมด จำนวน 10 คน ทุกคนปลอดภัย และนำผู้ประสบภัยมาขึ้นฝั่งที่แพท่องเที่ยว ท่าจังหวัดพระสีหนุ ส่งหน่วยแพทย์ตรวจร่างกายและปฐมพยาบาล ต่อไป

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และกัมพูชาที่ให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อได้รับการประสาน จากทัพเรือภาคที่ 1 และต้องขอขอบคุณความช่วยเหลือในฐานะมิตรประเทศของเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องของประเทศกัมพูชา ที่ให้การช่วยเหลือลูกเรือชาวไทยที่ประสบภัยในครั้งนี้ อย่างเต็มกำลังความสามารถและทันท่วงที
นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535646

#เทิดทูนสถาบันยึดมั่นระเบียบวินัยประชาชนภูมิใจทะเลไทยมั่นคง
#FitfortheFuture

‘นักชก กุน ขแมร์’ โพสต์ภาพชูกำปั้นใส่รูป ‘รถถัง จิตรเมืองนนท์’ ลั่น!! “ถึงเวลาวัดฝีมือกัน แต่มีบางคนไม่อยากให้เราได้เจอกัน”

กลายเป็นดรามาระหว่าง ‘มวยไทย VS กุน ขแมร์’ อีกครั้งหลังจากที่ ‘เบิร์ด ซงเครม’ นักมวยเขมร ได้ออกมาท้าทาย ‘ดิไอรอนแมน’ รถถัง จิตรเมืองนนท์ นักชกขวัญใจคนไทย แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต

งานนี้ทำเอาแฟนมวยชาวกัมพูชาให้ความสนใจทันที หลังจากที่ นักชกของพวกเขาโพสต์ภาพกำหมัดใส่รูปของ รถถัง จิตรเมืองนนท์ พร้อมด้วยแคปชัน "สักวัน" และอีกภาพมีข้อความว่า "อยากเจอมึงวะถัง"

จากนั้นเจ้าตัวก็มีการอัดคลิปแสดงความต้องการที่จะเจอกับยอดมวยไทยพร้อมแคปชันว่า "ผมคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะได้วัดฝีมือกับ รถถัง บนเวที แต่มีบางคนไม่อยากให้เราทั้งคู่ได้เจอกัน"

งานนี้แฟนมวยเขมร ออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มองว่า กุน ขแมร์ ของพวกเขาโดนประเมินค่าต่ำเกินไป จริง ๆ แล้วศิลปะการต่อสู้ของสองชาติไม่ได้ห่างกันมากนัก และมีโอกาสที่ เบิร์ด ซงเครม จะสามารถเอาชนะรถถังได้

สำหรับ เบิร์ด ซงเครม หรือชื่อจริงว่า ทอช รัชฮาน มีดีกรีเป็นเจ้าของเหรียญทองคิกบ็อกซิ่ง ซีเกมส์ 2 สมัย ปี 2021 กับ 2023 ก่อนที่จะผันตัวมาชกกุน ขแมร์ ในทุกวันนี้

ขณะที่ รถถัง จิตรเมืองนนท์ ถือเป็นยอดมวยเงินล้าน ด้วยลีลาการชกที่ดุดันเดินแลกแบบเดือด ๆ นอกจากนี้เจ้าตัวยังถือเป็นมวยเอนเตอร์เทนต์เบอร์ต้น ๆ ของประเทศ ทำให้ครองใจแฟนกำปั้นชาวไทยเป็นอย่างมาก และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

(สุรินทร์) “ไทย -กัมพูชา” ฝึกร่วมบรรเทาภัย ปฐมพยาบาล และอบรมขยายผลโครงการเกษตร (ทหารพันธุ์ดี) สู่หมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดน

วันที่ 24 กรกฏาคม 2567 ที่ศูนย์ประสานงานพื้นที่ชายแดนช่องจอม พันเอก จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ประธานไทย พร้อมด้วย พลตรี ลัวะ ลัญ ผู้บัญชาการยุทธบริเวณ พื้นที่ 3 ส่วนหน้า ประธานฝ่ายกัมพูชา ร่วมเป็นประธานเปิดการฝึกร่วมในครั้งนี้  ทั้งนี้ กองกำลังสุรนารี ร่วมกับ ภูมิภาคทหารที่ 3 ฝ่ายกัมพูชา หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 โรงพยาบาลกาบเชิง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สถานีตำรวจภูธรอำเภอกาบเชิง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง องค์การบริหารส่วนตำบลด่าน และ หัวหน้าส่วนราชการ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอุดรมีชัย และประชาชนทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมในพิธี โดยในการฝึกร่วม ในครั้งนี้ ได้จัดให้ความรู้ ในเรื่องการบรรเทาสารณภัย, การปฐมพยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วย ทางบก และทางอากาศ พร้อมกันนี้ พันเอก จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้มอบสิ่งของ เป็น เมล็ดพันธุ์พืช จากโครงการทหารพันธุ์ดี หน่วยเฉพาะกิจที่ 2 สู่หมู่บ้านเข้มแข็งคู่ขนานตามแนวชายแดนไทย -กัมพูชา โดยได้มอบให้แก่ตัวแทน ผู้นำชุมชน ชาวกัมพูชา พร้อมทั้งจัดวิทยากรอบรมให้ความรู้ การขยายเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อต่อยอดแก่ชุมชนรอบข้าง การสาธิตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และ การฝึกอบรม การป้องกันตนเองจากช้างป่า ตามนโยบายกองทัพภาคที่ 2 และกองกำลังสุรนารี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำมาถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งกันและกัน ตลอดจนนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงาน การขยายผลไปสู่กำลังพล และประชาชนของทั้งสองประเทศ

ปุรุศักดิ์  แสนกล้า  ข่าว/ภาพ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทยและกัมพูชา เริ่มแล้ว!!! ปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในกัมพูชา และคนไทยขายชาติ

เมื่อวันที่ (28 ส.ค. 67) เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. และคณะฯ เดินทางไปประชุมปฏิบัติการร่วมกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ภายใต้ “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมี พล.ต.ท.แสง เธียริธ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมการประชุม

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการรวบรวมพยานหลักฐานและวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) พบว่ามีการตั้งฐานปฏิบัติการจำนวนมากอยู่ในกัมพูชา เพื่อหลบหนีการดำเนินคดีของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายไทย โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้จะมีคนจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังร่วมกับคนไทย มาหลอกลวงประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทั้งสองประเทศจึงได้มีการประชุมร่วมมือกันเพื่อดำเนินการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บงการและตัวการสำคัญในกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนคนไทยที่มาร่วมมือกับคนต่างชาติมาหลอกลวงเอาทรัพย์สินของคนไทยไปให้คนต่างชาติ จะมีการกวาดล้างส่งตัวกลับไทย ดำเนินคดี ทั้งการทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและการหลบหนีเข้าเมือง ในกรณีที่ยังไม่มีหมายจับจากไทย

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชาในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ และดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับคนไทยที่ขายชาติ ไปทำงานให้กับคนต่างชาติมาปล้นทรัพย์สินคนไทยไปให้คนต่างชาติ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีมาตรการทางด้านตรวจคนเข้าเมือง ในการติดตามกลุ่มคนไทยขายชาติเหล่านี้ที่ออกไปทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ทรภ.1 ร่วมประชุมประสานข่าวสารทางทะเลระหว่าง ทรภ.1 - ทร.กพช. ณ กรุงพนมเปญ

ทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมประชุมประสานข่าวสารทางทะเลระหว่าง ทรภ.1 - ทร.กพช. (กองบัญชาการทางยุทธวิธีสํานักงานเลขาธิการคณะกรรมการความมั่นคงทางทะเลแห่งชาติ ราชอาณาจักรกัมพูชา) ครั้งที่ 17 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

เมื่อวานนี้ (28 ส.ค.67) พลเรือโท สุระศักดิ์ สิงขรวัฒน์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 พร้อมคณะ ได้เข้าร่วมการประชุมข่าวสารทางทะเลระหว่าง กองทัพเรือไทย โดยทัพเรือภาคที่ 1 กับกองบัญชาการทางยุทธวิธี สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการความมั่นคงทางทะเลแห่งชาติราชอาณาจักรกัมพูชา การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร พัฒนาช่องทางการสื่อสาร และเสริมสร้างเครือข่ายด้านการข่าวระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศ เพื่อรองรับและรับมือกับสถานการณ์ทางทะเล ตามแนวชายแดนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อีกทั้ง ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการและความมั่นคงทางทะเลของภูมิภาค

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

‘อาจารย์อุ๋ย’ เปิดข้อกฎหมาย-ประวัติศาสตร์ ชี้ชัดเกาะกูดไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นของไทย

เมื่อวานนี้ (15 ต.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า 

“กรณีพื้นที่พิพาททางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด เป็นของไทยนับแต่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 กับฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากันเมื่อปี พ.ศ. 2450 หรือ ร.ศ. 125 ซึ่งฝรั่งเศสตกลงคืนจันทบุรี ตราด และเกาะกูดให้แก่สยาม แลกกับดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ซึ่งสนธิสัญญาดังกล่าวมีความสมบูรณ์ในตัวเองตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และในปี พ.ศ. 2516 รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ลากเส้นเขตแดนไทยโดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง โดยประกาศพิกัดภูมิศาสตร์ของไหล่ทวีปในอ่าวไทยทั้งสิ้น 18 จุด ลากเส้นผ่านอ่าวไทยจากบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่จังหวัดตราด ไปจนถึงชายแดนไทย-มาเลเซียที่จังหวัดนราธิวาส ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป ณ กรุงเจวีนา ค.ศ. 1958

ส่วนเส้นเขตแดนที่กัมพูชากำหนดเองในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งลากผ่ากลางเกาะกูดนั้น เป็นการขีดเส้นโดยไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศรองรับ กัมพูชาจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในพื้นที่ และการลากเส้นตามอำเภอใจโดยไม่มีกฎหมายรองรับเช่นนี้จึงถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยอย่างชัดแจ้ง ส่วน MOU 44 ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไปตกลงแบ่งพื้นที่กันเองก็ขัดรัฐธรรมนูญเพราะไม่มีการรับรองโดยรัฐสภา ทั้งที่ถือเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา จึงตกเป็นโมฆะ ไม่จำต้องนำมาพิจารณาบนโต๊ะเจรจาอีก 

เมื่อยึดตามหลักการข้างต้นแล้ว จึงมิพักต้องพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็น 'พื้นที่ทับซ้อน' อีกต่อไป แต่ถือเป็นพื้นที่ที่รัฐไทยมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์นับแต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2450 ประเทศไทยจึงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการส่งกองกำลังเข้ายึดตรึงพื้นที่เกาะกูด และพื้นที่ทางทะเลที่เกี่ยวเนื่อง โดยไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นพื้นที่ของประเทศไทยเอง หาใช่เป็นการรุกรานประเทศอื่นไม่ และหลังจากประเทศไทยส่งกองกำลังเข้าตรึงพื้นที่แล้ว หากกัมพูชาจะขอเปิดการเจรจา ก็สามารถร้องขอมาได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายไทยว่าจะยอมเจรจาหรือไม่ หรือหากคิดว่าฝ่ายไทยสามารถบริหารแหล่งพลังงานแต่ฝ่ายเดียวได้ ก็ทำไปเลย เพราะเป็นพื้นที่ของไทย  

ซึ่งผมเชื่อว่าหากมีการเจรจาก็จะต้องดำเนินไปโดยที่ประเทศไทยถือไพ่เหนือกว่าทุกประตู เพราะประเทศไทยเหนือกว่ากัมพูชาในทุกด้าน ทั้งด้านกำลังทหารและด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งอำนาจต่อรองของประเทศไทยบนเวทีโลกและความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อประเทศมหาอำนาจก็มากกว่ากัมพูชาไม่รู้กี่เท่า ซึ่งผมมั่นใจว่าหากถึงเวลาที่ต้องเลือก สุดท้ายแล้วประเทศมหาอำนาจจะเลือกข้างประเทศไทย  

สุดท้ายนี้ผมขอฝากไปยังผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ให้ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของประเทศอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นท่านจะตกเป็นคนขายชาติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ด้วยความปรารถนาดี”

กต. ยัน ‘เกาะกูด’ ของคนไทย ป้อง MOU44 ไม่จำเป็ฯต้องยกเลิก พร้อมเเจงยิบ 5 ประเด็นร้อน

(4 พ.ย. 67) กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการบรรยายสรุปสถานการณ์เรื่อง เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping ClaimsArea: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณะ

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อธิบายประเภทของเขตทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี ค.ศ. 1982 และชี้แจงที่มาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ขนาดประมาณ 26,000 ตร.กม. เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ชี้แจงว่า MOU 2544 นี้เป็นข้อตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาร่วมกัน ไม่ได้หมายถึงการยอมรับการอ้างสิทธิของอีกฝ่าย โดยทั้งสองประเทศต้องดำเนินการเจรจาต่อไป MOU 2544 กำหนดให้เจรจาทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศและประโยชน์ร่วมกัน กลไกหลักคือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วในปี 2544 และ 2545 นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) และคณะทำงานร่วมเกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วม

แนวทางในการแก้ปัญหา OCA ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นพ้องต้องกัน มีดังนี้ (1) ข้อตกลงต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งสองประเทศ (2) ต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาอนุมัติ และ (3) ข้อตกลงต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC ฝ่ายไทย และเมื่อทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC แล้ว ไทยจะเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ จากนั้นจะทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป รวมถึงการแต่งตั้งกลไกย่อยต่าง ๆ

กระทรวงการต่างประเทศยืนยันการเจรจาเรื่อง OCA บนพื้นฐานของกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติกับประเทศอื่น

ในช่วงการตอบคำถามสื่อ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้ตอบคำถาม 5 ข้อดังนี้:

1. เกี่ยวกับคำถามที่ว่า MOU 2544 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดหรือไม่ อธิบดีชี้แจงว่า เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ซึ่งยืนยันสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูดอย่างชัดเจน

2. MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่ อธิบดีระบุว่า การดำเนินการตาม MOU 2544 สอดคล้องกับพระบรมราชโองการ โดยอิงตามอนุสัญญาเจนิวา ค.ศ. 1958 อย่างไรก็ตาม สิทธิเหนือทรัพยากรใต้ท้องทะเลขึ้นกับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน

3. MOU 2544 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ อธิบดียืนยันว่าแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์เคลมพื้นที่ของตนเองภายในประเทศ ไม่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ MOU ไม่ได้บังคับให้ยอมรับเส้นของกัมพูชา

4. การยกเลิก MOU 2544 ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ มาจากการเจรจาชายแดนที่ไม่คืบหน้าในช่วงความตึงเครียดปี 2552 แต่ในปี 2557 กระทรวงเห็นว่า MOU 2544 มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และทุกรัฐบาลที่เข้ามารับช่วงต่อยอมรับว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความโปร่งใสในการเจรจา

5. เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนของกัมพูชาในพื้นที่ OCA อธิบดีระบุว่าการสร้างเขื่อนนี้ถูกประท้วงถึงสามครั้ง ตั้งแต่ปี 2541 2544 และปี 2564 เนื่องจากการก่อสร้างบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ ซึ่งผลของการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้างของเอกชน "เราก็ต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตย และเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือ และสมช. อย่างใกล้ชิด" อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กล่าว

นายกฯกัมพูชายัน 'คลองฟูนันเตโช' ไร้ปัญหาเรื่องเงินกับจีน แม้เริ่มก่อสร้าง 3 เดือนแต่ไร้คืบ

(28 พ.ย. 67) นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ปฏิเสธรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศที่ระบุว่า โครงการเมกะโปรเจกต์คลองฟูนันเตโช ซึ่งกัมพูชาร่วมทุนกับจีน และเริ่มการก่อสร้างไปเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว กำลังเผชิญปัญหาการเงินจากการที่รัฐบาลจีนลดขนาดการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในจีนที่อ่อนแอลง แม้กัมพูชาจะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีน

ฮุน มาเนต ระบุว่า โครงการนี้ไม่มีอะไรที่จะขัดขวางการดำเนินงานได้ และรัฐบาลของเขากำลังดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยปฏิบัติตามคำสั่งที่ชัดเจนเพื่อจำกัดผลกระทบต่อประชาชนในระดับรากหญ้า กัมพูชายังมีหุ้นส่วนสำรองหลายรายที่พร้อมจะช่วยดูแล หากโครงการใดล้มเหลว พร้อมทั้งยืนยันว่ากลุ่มทำงานยังคงดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต สอดคล้องกับคำยืนยันของรองนายกรัฐมนตรีซุน จันทอล ประธานคณะกรรมาธิการพิเศษโครงการก่อสร้างคลองฟูนันเตโช ซึ่งกล่าวว่าโครงการยังคงดำเนินไปตามแผน และได้ปฏิเสธรายงานจากสื่อต่างประเทศที่ระบุว่าโครงการล่าช้าเนื่องจากปัญหาทางการเงินของจีน

โครงการคลองฟูนันเตโชมีแผนจะเริ่มเปิดใช้งานในช่วงต้นปี 2028 โดยมีงบการลงทุนมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 58,000 ล้านบาท คิดเป็น 4% ของจีดีพีกัมพูชา โดยในตอนแรกรัฐบาลกัมพูชาประกาศว่าจีนจะเป็นผู้ช่วยเหลือการลงทุนทั้งหมด แต่ภายหลังมีการแก้ไขเป็นจีนจะออกเงินช่วยเหลือ 49% และบริษัทต่าง ๆ ของกัมพูชาจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนที่เหลือ 51%

แม้โครงการเริ่มต้นด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว แต่ความคืบหน้าในโครงการต่างๆ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสถานที่จัดพิธีที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง และมีการรายงานถึงปัญหาด้านเงินทุนที่ไม่ตรงกันระหว่างจีนและกัมพูชา รวมถึงความกังวลของจีนที่มีต่อโครงการนี้

ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ซบเซา รัฐบาลจีนได้ลดขนาดการลงทุนในต่างประเทศลง แม้ในประเทศที่จีนมองว่าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เช่น กัมพูชา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ากัมพูชามีหนี้สินกับจีนถึงหนึ่งในสามของหนี้ทั้งหมด

คาดว่าในปี 2026 จีนจะระดมทุนให้กับกัมพูชาน้อยลง โดยลดจาก 240 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เหลือเพียง 35 ล้านดอลลาร์ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวทางการ ซึ่งในครึ่งแรกของปี 2024 กัมพูชายังไม่ได้รับเงินกู้ใหม่จากจีนเลย

สำหรับโครงการคลองฟูนันเตโชถือเป็นเมกะโปรเจกต์สำคัญที่นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนตต้องการผลักดัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากแม่น้ำโขงผ่านกรุงพนมเปญไปยังอ่าวไทย ลดการพึ่งพาการขนส่งทางทะเลจากเวียดนาม คลองนี้จะมีความกว้าง 100 เมตร ลึก 5.4 เมตร และยาว 180 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 16%

โครงการนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2024 ด้วยพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยตรงกับวันคล้ายวันเกิดของฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ผู้ริเริ่มโครงการนี้และถูกสานต่อมาในรัฐบาลรุ่นลูก

‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียน ‘ผ้ากรอม้า’ ของกัมพูชา เป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ เผย!! ใช้งานได้หลายรูปแบบ ‘พันคอ-โพกศีรษะ-ใช้เป็นเปลให้ทารก’

เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค. 67) ‘World Forum ข่าวสารต่างประเทศ’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘ผ้ากรอม้า’ โดยมีใจความว่า ...

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2024 ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘ผ้ากรอม้า’ เป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ตามที่กัมพูชายื่น 

ผ้ากรอมา (Krama) คือ ‘ผ้าพันคอทอมือ’ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศกัมพูชา ผ้ากรอม้า เป็นเครื่องแต่งกายดั้งเดิมของกัมพูชา สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้พันคอ โพกศีรษะ ต่างผ้าเช็ดหน้า เคียนเอว ห่มคลุมกันแดดฝน หรือใช้เป็นเปลสำหรับทารก

สหรัฐฯส่งเรือรบ 'ยูเอสเอส ซาวันนาห์' เทียบท่าสีหนุวิลล์ ส่งสัญญาณฟื้นสัมพันธ์เขมร ก่อนทรัมป์ขึ้นตำแหน่งปธน.

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค.67) ที่ผ่านมา เรือรบ ยูเอสเอส ซาวานนาห์ (USS Savannah) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองรีสอร์ตริมทะเลอ่าวไทยและท่าสำคัญที่สุดของกัมพูชา การเข้าจอดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และจะประจำการที่ท่าเรือแห่งนี้เป็นเวลา 5 วัน โดยเรือซาวานนาห์เป็นเรือรบประเภทชายฝั่ง และบรรทุกลูกเรือทั้งหมด 103 คน

แดเนียล เอ. สเลดส์ ผู้บัญชาการเรือ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขารู้สึกยินดีที่กองทัพเรือสหรัฐฯ กลับมาเยือนกัมพูชาอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 8 ปี

การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นสัญญาณที่สหรัฐฯ พร้อมจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกัมพูชา หลังจากที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชาในเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัมพูชาและจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การที่จีนได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงฐานทัพเรือในอ่าวไทย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เรือซาวานนาห์จอดเทียบท่ามากนัก

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกัมพูชาและได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา โดยนายฮุน มาเนตเองก็เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารเวสต์พอยต์ของสหรัฐฯ ด้วย นับเป็นการส่งสัญญาณของกองทัพสหรัฐในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลสู่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top