Tuesday, 20 May 2025
กระทรวงสาธารณสุข

สบส. เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ส่งเสริมและควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนด้านบริการสุขภาพ 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่กรม สบส. ที่ดำเนินงานด้านพัฒนา ควบคุมกำกับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ เพื่อเพิ่มทักษะ ยกระดับคุณภาพบริการและสร้างความปลอดภัยของผู้รับบริการทั่วประเทศ

ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยว่า ปัจจุบันความต้องการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรม สบส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุม กำกับ มาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีคุณภาพ ภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ได้ให้การรับรองหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ(หลักสูตรผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง และหลักสูตรสปาและนวด) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 17 หลักสูตรกลาง และเพื่อเป็นการกำกับติดตามและตรวจสอบคุณภาพ จึงจำเป็นจะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจประเมินคุณภาพ

ซึ่งถือเป็นกลไกในการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าว กรม สบส. โดยกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ จึงได้จัดการสัมมนาพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการส่งเสริมพัฒนา ควบคุมกำกับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน หลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพแก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของกรม สบส. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและควบคุมมาตรฐานการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพด้านการบริการด้านสุขภาพอีกด้วย

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า การสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจ และหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและแนวทางเดียวกัน โดยมีหัวข้อต่างๆ ได้แก่ การดำเนินการตามพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนนอกระบบ และพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรฐานการจัดการเรียนการสอน การยื่นขอรับรองหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ การตรวจประเมินก่อน-หลังในการยื่นขอรับรองหลักสูตร และการฝึกปฏิบัติ เป็นต้น

‘ดร.ธนกฤต’ เผยโรงพยาบาลยอมรับให้เลือดผิดกรุ๊ป กรณีเหยื่อถูกปูนพระราม 2 หล่นทับ เสียชีวิต!!

(2 พ.ค. 68) นายกองตรี ดร. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของนายอำนาจ ทองขำ อายุ 46 ปี ซึ่งถูกก้อนปูนตกใส่รถขณะขับผ่านบนถนนพระราม 2 โดยระบุว่า โรงพยาบาลแห่งแรกที่รับตัวผู้บาดเจ็บได้ยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการให้เลือดผิดกรุ๊ป

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณ กม.27+500 ขาออกกรุงเทพฯ เขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร ส่งผลให้นายอำนาจได้รับบาดเจ็บสาหัส ตับฉีก และเสียเลือดมาก เบื้องต้นโรงพยาบาลควรให้เลือดกรุ๊ปโอ ซึ่งใช้ได้กับทุกกรุ๊ป แต่เนื่องจากขาดแคลน จึงเลือกใช้เลือดกรุ๊ปบีที่ตรงกับข้อมูลของผู้ป่วย ทว่าเมื่อส่งตรวจกลับพบว่าเลือดในร่างกายเป็นกรุ๊ปเอ

ความคลาดเคลื่อนดังกล่าวทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุในการเสียชีวิต ซึ่งทางกระทรวงฯ ระบุว่าจะตรวจสอบอย่างละเอียด โดยแยกพิจารณาประเด็นการเยียวยาเป็นสองส่วน ได้แก่ เรื่องก้อนปูนตกลงมา และความผิดพลาดของโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการหรือมาตรการเยียวยาจะมีการรายงานต่อสาธารณชนอีกครั้งในลำดับถัดไป

สบส. เผยเกณฑ์รับรองแหล่งฝึกงานภาคสนามให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร่วมผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนตลาดสุขภาพไทย 

(14 พ.ค. 68) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยเกณฑ์การร่วมเป็นแหล่งฝึกภาคสนามให้กิจการสปา นวดเพื่อสุขภาพ หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ได้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานจริงแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ สร้างบุคลากรคุณภาพ ที่มีความรู้ ความสามารถ ป้อนตลาดอุตสาหกรรมสุขภาพไทย
 
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เผยว่า ธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสปา และการนวดไทย ซึ่งได้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดึงดูดความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึง  นักลงทุนที่ต้องการขยายธุรกิจในตลาดสุขภาพ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพให้เติบโตอย่างมั่นคง ผ่านการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ได้ทักษะตรงตามความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และขยายตลาดของไทยไปสู่ระดับโลก กรม สบส. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สำหรับสถาบันการศึกษา สถานประกอบการที่ต้องการเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติ สำหรับหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ อาทิ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง หลักสูตรสปา และหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านสถานที่ ต้องมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการฝึกปฏิบัติ และต้องได้รับการอนุญาตจากกรม สบส.  2.ด้านอุปกรณ์ ต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รองรับกิจกรรมฝึกฝนในทุกขั้นตอนตามมาตรฐานของหลักสูตร 3.ด้านกิจกรรมบริการ ต้องมีการให้บริการจริงที่นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับหลักสูตร แบ่งออกเป็น 2 ด้าน อาทิด้านสปา และด้านนวดเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย การตรวจร่างกายเบื้องต้น การฝึกปฏิบัตินวดไทย การใช้สมุนไพรประกอบการนวด เป็นต้น ส่วนด้านการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย การดูแลอาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมนันทนาการ การจัดสภาพแวดล้อม และการใช้ภูมิปัญญาไทยและการแพทย์ทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุ การคัดกรองเบื้องต้น การฟื้นฟูสมรรถภาพและกิจกรรมกายภาพบำบัด เป็นต้น 4.ด้านอาจารย์ผู้ควบคุม วิทยากร ต้องผ่านการรับรองและมีประสบการณ์ตรงในวิชาชีพที่กำหนด ได้แก่ แพทย์ แพทย์แผนไทย พยาบาล วิทยาศาสตร์บัณฑิต(สาขาที่เกี่ยวข้อง) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้อย่างมืออาชีพ 5.ด้านขอบเขตและข้อกำหนดในการฝึกปฏิบัติ สำหรับผู้เรียนจะต้องฝึกปฏิบัติตามจำนวนที่โครงสร้างแต่ละหลักสูตรกำหนด โดยมีอาจารย์ผู้ควบคุมหรือวิทยากรจะทำการประเมินทุกครั้ง มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน และมีนโยบายสนับสนุนด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการฝึกปฏิบัติของผู้เรียน เพื่อป้องกันความเสี่ยงและรักษาความปลอดภัยของผู้รับบริการ และ6. ด้านการประเมินผล ต้องมีระบบประเมินผลที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ ครอบคลุมทั้งทักษะวิชาชีพ ทัศนคติ และจริยธรรมในการให้บริการ 

ทั้งนี้ กรม สบส. เชื่อว่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางสุขภาพของโลก จึงขอเชิญชวนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งกิจการสปา นวดเพื่อสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ร่วมเป็นแหล่งฝึกภาคสนามเพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดสุขภาพไทย โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (https://hemd.hss.moph.go.th) หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 ต่อ 18411 ในวันและเวลาราชการ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

สบส. จัดประชุมยกระดับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ในสถานพยาบาลรัฐ และเอกชน 241 แห่งทั่วไทย

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมยกระดับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สถานพยาบาล 241 แห่งทั่วไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาร่างกฎหมายอุ้มบุญ ฉบับ 2 พัฒนาแนวทางการขอรับบริการเพื่อให้รองรับกลุ่มสมรสเท่าเทียม

เมื่อวันที่ (14 พ.ค.68) ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จากข้อกําหนดของกฎหมายสู่การปฏิบัติ (IVF/IUI) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” โดยมีบุคลากรของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 241 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมทั้งออนไซต์ และออนไลน์

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีเปิดฯว่า ปัจจุบัน พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2559 ได้มีผลบังคับใช้มากว่า 9 ปี โดยสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ กว่า 7,500 ล้านบาท มีอัตราความสำเร็จในการให้บริการตั้งครรภ์ เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 52 มีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) กว่า 20,000 รอบการรักษา และมีการผสมเทียม (IUI) กว่า 12,000 รอบการรักษา ซึ่งถือเป็นหลักฐานของความก้าวหน้า และความสำเร็จของการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทยที่ไม่เป็นรองชาติใดๆ ดังนั้น เพื่อการยกระดับบริการ เพิ่มศักยภาพในการให้บริการทั้งคนไทยเละต่างชาติ การคุ้มครองผู้บริโภค จวบจนดึงดูดผู้รับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ จากต่างชาติเข้าสู่ประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้สถานพยาบาลที่ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ทั้งในกลุ่มสถานพยาบาลรายเดิมและกลุ่มสถานพยาบาลที่ให้บริการ IUI รายใหม่ทั่วประเทศ มีความรู้ความเข้าใจและสามารถดำเนินการให้บริการตามที่กฎหมายกำหนด และสามารถดำเนินการตามระบบฐานข้อมูลในรูปโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ICMART) ซึ่งจะนำไปสู่การได้มาของข้อมูลภาพรวมของประเทศและนำไปวิเคราะห์ข้อมูล กำหนดนโยบายการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ของประเทศ 

ทันตแพทย์อาคมฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า และนอกจากการพัฒนาบุคลากรแล้ว การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ โดย กรม สบส. จึงได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนากฎหมาย (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....โดยมีประเด็นในการปรับแก้กฎหมายแม่บท อาทิ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฯ การกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะ การขอรับบริการเพื่อให้รองรับกลุ่มสมรสเท่าเทียม การเพิ่มกลุ่มผู้รับบริการตั้งครรภ์แทนในกลุ่มชาวต่างชาติ และการส่งออกซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้เป็นเจ้าของเซลล์สืบพันธุ์ เป็นต้น โดยอยู่ในระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการต่อไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top