Monday, 20 May 2024
กระทรวงพลังงาน

ชาวเน็ตแห่ชื่นชม ‘พีระพันธุ์’ ป้องกันกลุ่มทุนค้ากำไรเกินควร หลังประกาศให้ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องแจ้งต้นทุนธุรกิจเป็นครั้งแรก

ชื่นชมคนทำงานจริง!! ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่กล้าทำเพื่อประชาชน ป้องกันกลุ่มทุนค้ากำไรเกินควร หลังประกาศให้ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ ต้องแจ้งต้นทุนน้ำมันทั้งนำเข้า - ส่งออก เป็นครั้งแรก 

จากกรณี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกประกาศกระทรวงให้ผู้ค้าน้ำมันหรือโรงกลั่นน้ำมัน ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมัน เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 รายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน พร้อมทั้งแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

แน่นอนว่า ภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว เท่ากับว่า วันที่ 15 เมษายน นี้ ผู้ค้าน้ำมันจะต้องส่งรายงานต้นทุนน้ำมันให้กับทางภาครัฐเป็นครั้งแรก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐไม่เคยทราบข้อมูลในส่วนนี้มาก่อนเลย ดังนั้น การที่ได้ทราบต้นทุนที่แท้จริง จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการกำหนดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายในอนาคต

ทั้งนี้ ภายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ปรากฏว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ได้แสดงความชื่นชมและให้กำลังใจ นายพีระพันธุ์ ผ่านสื่อโซเชียลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นายพีระพันธุ์ ถือว่ามีความกล้าหาญ และตั้งใจทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่เกรงใจกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนใดกล้าแตะเรื่องเหล่านี้เลย 

สำหรับตัวอย่างความคิดเห็นของชาวเน็ต ที่ส่งถึงนายพีระพันธุ์ เช่น...

“ขอบคุณลุงพีมากค่ะ ท่านเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในรัฐบาลชุดนี้ทำงานเพื่อคนไทยอย่างจริงจัง”
“มีคนดีๆแบบนี้ควรสนับสนุน เป็นคนดีและเก่งอีกคนที่หายากมากครับ”
“ขอบคุณท่านพีระพันธุ์ครับ ประชาชนรอความหวังอยู่ครับ”
“ดีต่อใจ ขอให้ท่านพีระพันธุ์มีความสุข และกระทำการใดๆ ก็สำเร็จ”
“ขอให้ทำได้จริงเพื่อคนไทยนะครับ”
“ขอให้ท่านพีระพันธุ์ทำให้ได้ ประชาชนมองท่านอยู่”
“มันต้องแบบนี้พี่พี ทำเพื่อประชาชนโดยแท้”
“เกลือจิ้มเกลือ เฉียบขาดมันต้องอย่างนี้ ขอบคุณครับ ท่านพีระพันธุ์”
“คุณพีนี่แหละที่สมควรจะเป็นนายกมากกว่าใคร”
“ทำแล้ว ทำต่อให้เห็น พวกเราต้องช่วยท่านไปด้วยกัน”
“คิดดีทำดีทำได้เลยครับ ประชาชนจะสนับสนุนท่านเองตามผลงานที่ปรากฎ”
“ท่านทำงานแบบไม่ออกสื่อ ไม่เอาหน้า แต่ทำเพื่อประชาชน”
“ต้องแบบนี้สิถึงเรียกว่า พูดจริงทำจริง จะรอดูผลงานครับ”
“เยี่ยมครับท่านพี ทำดีทำต่อไปครับผม เป็นกำลังใจให้ท่านครับ”
“คนนี้แหละที่ชาติต้องการ”
“ไปถามดีๆ ไม่ยอมบอกก็ออกกฎซะเลย เก่งมากครับท่านพี”
“ขอสนับสนุนท่านและรอความหวังการแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง”
“ขอให้ท่านทำได้จริงครับ ชาวบ้านจะได้มีกินมีใช้บ้าง”
“คนทำจริง แม้จะยากเย็น แต่ตั้งใจแก้ปัญหาให้ประชาชน คนจริงที่หายากในยุคนี้”
“ขอเป็น 1 กำลังใจให้ท่านพีระพันธุ์ มุ่งทำงานล้างระบบพลังงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน ชาวไทยทุกคนต้องรวมพลังเป็นกำลังหนุนให้สำเร็จให้ได้ครับ”

อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ ระบุว่า การกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งต้นทุนในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การปฏิวัติโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว และ ภายหลังจากนี้ จะเริ่มมีมาตรการต่างๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ที่ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้

'พีระพันธุ์' สร้างระบบน้ำมันสำรอง ช่วย 'ราคาพลังงานไทย' ไม่ผันผวน

(15 เม.ย.67) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 'Kookkai Kookkai' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

สงครามตะวันออกกลาง ประเทศไทยกระทบเต็มๆ

เมื่อวานดูข่าวสถานการณ์ในตะวันออกกลาง จากช่อง อัลจาซีรา ของประเทศกาตาร์ เจอข่าว อิหร่าน ยิงขีปนาวุธ และโดรนติดหัวรบ ใส่อิสราเอล ตอบโต้อิสราเอล

ความก่อนหน้านี้ อิสราเอล ก็เล่นถล่มสถานทูตอิหร่านในอิสราเอล ในประเทศซีเรีย ก่อนนี่นา

แต่ที่วิตกแทน คือ วันนี้เปิดตลาดซื้อขายน้ำมัน นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันโลกพุ่งแน่นอน แต่จะไปตกราคาเท่าไรอยู่ที่สถานการณ์

เดาว่าดังนี้...

1.ถ้าอิสราเอล วิเคราะห์ว่าไปถล่มอิหร่านก่อน อิหร่านเอาคืนสมควรแล้ว หยุดตอบโต้ ราคาน้ำมันก็ไม่พุ่ง

2.ถ้าอิสราเอล ตอบโต้อิหร่านคืน รับรองว่าอิหร่าน คงให้กองกำลังใต้ดิน ถล่มอิสราเองยืดเยื้อ ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดแน่นอน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน และก๊าซ คงหนีราคาพุ่งไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อน ไม่รอดแน่นอน

ย้อนมานึกถึง นโยบาย รมว.พลังงาน และรองนายก คนปัจจุบัน คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เคยบอกว่าจะทำนโยบาย ยุทธศาสตร์สำรองน้ำมัน เออ!! น่าสนใจดี เพราะดูแล้ว มันก็ไม่ยากอะไร แต่ถ้าทำจริงน่าจะยากหน่อย

หลักคิดของ รมว.พลังงาน เท่าที่ทราบ คือ...

1.เราเป็นผู้นำเข้า ยังไงต้องซื้อราคาที่ผู้ผลิตขาย ข้อนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ทำยังไงราคาอย่าขึ้นลงผันผวนแบบตลาดหุ้น

3.ยามวิกฤติสงคราม คนไทยต้องมีสำรองใช้อย่างน้อย 90 วัน

4.ประเทศต้องไม่ขาดแคลนน้ำมัน ทั้งเอกชน รัฐ ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สังกัด กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่น

วิธีคิดและทำ ของรมว.พลังงาน น่าติดตามทีเดียว ถ้าทำได้ ประเทศรอดจากวิกฤติแน่นอน

วิธีแก้ไขของท่าน คือ...

1.ประเทศไทย ต้องมีน้ำมัน และก๊าซสำรอง เป็นของรัฐเอง อย่างน้อย 90 วัน

2.ปัจจุบัน มีสำรองแล้วจริง แต่เป็นของเอกชนทั้งหมด ประมาณ 25 วัน แต่รัฐไม่มีกฏหมายบังคับใช้ สรุปคือเป็นของเอกชน

3.ปัจจุบัน เวลาขนน้ำมันมาขาย ต้นทุนคือ 30 วันที่แล้ว แต่เวลาขายจริง เป็นไปตามตลาดสิงคโปร์ หรือ เอกชนอยากขาย ไม่ใช่ราคาที่ซื้อมา 30 วันที่แล้ว  ประชาชนเสียเปรียบ แบบโดนมัดมือชก

4. อ้างจากข้อ 3 รมว.พลังงาน จะทำให้ราคาที่ขายให้ประชาชน คือราคาที่ซื้อมาจริง ไม่ขึ้นราคาตามใจชอบ แบบวันต่อวัน แบบตลาดหุ้น

5.แนวคิดท่าน ทำ SPR หรือ Strategic Petroleum Reserve หรือการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ จะมีผลดี คือ ราคาน้ำมันไม่ผันผวน เอกชนเอาเปรียบขึ้นราคาไม่ได้แน่นอน และยามมีภัยสงคราม ประเทศไทยมีน้ำมันสำรองยามฉุกเฉินได้ทันที 3 เดือนเต็ม ซึ่งเป็นระดับเดียวกับมหาอำนาจ อย่าง ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เลยทีเดียว

อ้าว!! แบบนี้ น่าเชียร์ การเมืองเอาออกไปก่อน สลิ่ม, แดง, ส้ม, เหลือง ได้ประโยชน์ทุกคน จริงมั้ย?

‘ก.พลังงาน’ เตรียมพร้อมรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซล หลังหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลในวันนี้

กระทรวงพลังงาน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซล ภายหลังจากหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1 บาทในวันนี้ โดยจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร พร้อมห่วงสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นทันทีหลังมีการโจมตีเกิดขึ้น

(19 เม.ย. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทของกระทรวงการคลัง และเพื่อเป็นการลดภาระให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้รักษาระดับราคาน้ำมันดีเซล โดยจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรไปพลางก่อน และอาจจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาเป็นแบบขั้นบันได เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนทำให้ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ติดลบไปแล้วกว่า 103,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,213 ล้านบาท

ปัจจุบันมีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 4.77 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นเงินประมาณกว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน หากไม่มีการชดเชย ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อลิตร และหากปล่อยให้มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลในระดับเดิมต่อไปเรื่อย ๆ จะทำให้กองทุนฯ ติดหนี้เพิ่มมากขึ้น จนอาจจะกระทบกับวินัยการเงินและระดับความน่าเชื่อถือของกองทุนฯ ได้

“ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ได้ช่วยลดราคาน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่เนื่องจากการชดเชยราคาน้ำมันที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กองทุนฯ ต้องชดเชยราคาน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ติดลบกว่า 103,000 ล้านบาทแล้ว วันนี้ กระทรวงพลังงาน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซล ภายหลังจากหมดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 1 บาทในวันนี้ โดยจะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร และในอนาคตอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันแบบขั้นบันได เนื่องจากสถานะกองทุนฯ มีหนี้คงค้างค่อนข้างสูง อีกทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งในวันนี้ อาจส่งผลทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานจะพยายามรักษาระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงภาระของประชาชนเป็นหลัก แต่ก็ต้องพิจารณาถึงภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปพร้อมกันด้วย และเตรียมหามาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘ก.พลังงาน’ สั่ง ‘กกพ.’ บี้ ‘ปตท.’ คืนค่าชอร์ตฟอล 4,700 ลบ. เล็งดึงเงินลดค่าไฟงวดสุดท้ายปี 67 ได้ 7.8 สต./หน่วย

(26 เม.ย. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ 

กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมจากงวดแรก 4,300 ล้านบาท มีช่วงเวลาอื่นอีกหรือไม่ว่า ล่าสุดทาง กกพ. ได้รายงานผลการตรวจสอบราคาจัดหาก๊าซธรรมชาติของปตท. ระหว่างปี 56-63 พบตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอลที่ปตท. ซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่ยังไม่ได้สะท้อนไปเป็นส่วนลดในราคาพูลแก๊สหรือราคารวม อีก 4,700 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ปตท. ต้องส่งคืน เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการ หรือบอร์ดปตท. มีมติยอมส่งคืนราคาชอร์ตฟอล ระหว่างต.ค. 63 - ธ.ค. 65 เป็นมูลค่า 4,300 ล้านบาท เพื่อนำมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 เม.ย. คณะอนุกรรมการตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล) จะประชุมพิจารณาตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอลรอบสอง มูลค่า 4,700 ล้านบาท

ก่อนเสนอให้กกพ.มีมติ และแจ้งไปยังปตท.ให้ดำเนินการต่อไป หากปตท.ยอมรับตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอล จะสามารถนำมาลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 67 (ก.ย. - ธ.ค. 67) ได้ประมาณ 0.078 บาทต่อหน่วย หรือ 7.8 สตางค์

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน มีหนังสือถึงกกพ. สั่งให้ตรวจสอบชอร์ตฟอลเพิ่มเติมจากงวดแรก และให้ดำเนินงานการอย่างเร่งด่วน เมื่อได้ผลอย่างไรให้รายงานความคืบหน้าต่อรมว.พลังงานทุก 30 วัน

ซึ่ง กกพ.ได้ส่งหนังสือรายงานรมว.พลังงานเป็นระยะ จนพบข้อมูลตัวเลขล่าสุด โดยงวดแรกปตท.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของกกพ. เนื่องจากมองว่า ปตท.คำนวณถูกต้องมาตลอด ตามการบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซ 

แต่ทาง กกพ. ได้พิจารณายกอุทธรณ์ ทำให้ปตท.ต้องคืนค่าชอร์ตฟอลตามคำสั่ง ซึ่งครั้งนี้หากปตท.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง สามารถยื่นอุทธรณ์ และชี้แจงข้อเท็จจริงได้อีกเช่นกัน

‘พีระพันธุ์’ ยื่นเสนอ ครม.ให้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เดินหน้าผลักดัน ให้ปชช.ใช้ไฟฟ้า ในราคาที่ถูก

(27 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบกลางในการดูแลค่าไฟฟ้าประชาชนงวดที่จะถึงนี้ คือ ในเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 พร้อมทั้งดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ ครม. นำเข้าสู่การพิจารณาในวาระการประชุม ครม. ครั้งต่อไป

โดยเชื่อว่า ครม. จะพิจารณาได้ทันก่อนถึงกำหนดบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค. 2567 จะออกมา ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ของบประมาณสำหรับดูแลค่าไฟฟ้าเท่าเดิม (งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ใช้งบกลางดูแลค่าไฟฟ้าประมาณ 2,000 ล้านบาท) หากได้รับการอนุมัติจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 อัตรา คือ กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียง 3.99 บาทต่อหน่วย ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยจะจ่ายค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย แต่กรณีที่ ครม. ไม่อนุมัติงบกลางช่วยค่าไฟฟ้า ก็จะส่งผลให้ทุกกลุ่มต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากันที่ 4.18 บาทต่อหน่วย  

สำหรับในส่วนของ LPG นั้น ยังต้องรอลุ้นเช่นกันว่า ครม.จะพิจารณาให้งบกลางมาช่วยเหลือหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้กำหนดให้ตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเงินในบัญชี LPG มาอุดหนุนราคาในเดือน เม.ย. 2567 ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือ คือ เดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาอุดหนุนราคา เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินดูแลราคา LPG ได้แค่เดือน เม.ย. 2567 ก็จะเต็มกรอบวงเงินแล้ว

อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ใจว่า ครม.จะพิจารณาได้ทันก่อนเข้าสู่เดือน พ.ค. 2567 หรือไม่ หากไม่ทันอาจจำเป็นต้องให้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคา LPG ต่อไปเอง โดยยอมปล่อยให้เงินไหลออกจากกองทุนฯ แบบไม่มีการเก็บเงินเข้ามาเลย

ขณะที่การดูแลราคาดีเซลนั้น ทางกระทรวงพลังงานยังรอการพิจารณาจากกระทรวงการคลังและ ครม. ในการประชุมครั้งต่อไป ว่าจะมีการพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลให้หรือไม่ หลังจากสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตร ไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้าไปพยุงราคาไว้ 50 สตางค์ต่อลิตร และยอมปล่อยราคาปรับขึ้นตามภาษีดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร ไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา  

'กรมธุรกิจพลังงาน' กำชับปั๊มฯ หมั่นเช็กจุดเสี่ยง ไม่ให้น้ำปนเปื้อนในน้ำมัน ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของ ปชช.

(2 พ.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีการเติมน้ำมันแล้วกลายเป็นน้ำ ในพื้นที่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างน้ำมันมาตรวจสอบคุณภาพ และแจ้งความดำเนินคดีกับปั๊มน้ำมันดังกล่าวในความผิดฐานการจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีลักษณะหรือคุณภาพแตกต่างจากที่อธิบดีประกาศกำหนด ตามข้อกฎหมายด้านคุณภาพและความปลอดภัย หากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีโทษตามมาตรา 48 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้คุณภาพ มีปริมาณเกิน 200 ลิตร จะเข้าข่ายเป็นการปลอมปนน้ำมัน มีโทษตามมาตรา 49 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ได้กำชับผู้ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมัน ตรวจสอบจุดเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีน้ำปนในน้ำมัน โดยการปนเปื้อนของน้ำในน้ำมันดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การปนเปื้อนของน้ำระหว่างขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บ และการรั่วไหลของน้ำเข้าไปในถังน้ำมัน 

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าน้ำมันจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำมันในถังเก็บน้ำมันให้เหมาะสม ตรวจวัดน้ำก่อนการรับน้ำมันจากรถขนส่ง และตรวจวัดปริมาณน้ำในถังเก็บน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและทรัพย์สินของประชาชน

‘ดร.หิมาลัย’ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เคสปั๊มเติม ‘น้ำมันผสมน้ำ’ ให้ลูกค้า ชี้ ให้เป็นไปตาม กม. พร้อมกำชับพลังงานทั่วประเทศตรวจเข้ม

‘เสธหิ’ ที่ปรึกษา รมว.พลังงาน ชี้เคสปั๊มเติมน้ำมันผสมน้ำให้ลูกค้า ยกเป็นอุทาหรณ์ ส่วนคดีก็ว่าไปตามกระบวนของกฎหมาย พร้อมขอให้พลังงานจังหวัดแจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากกรณีนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เข้าพบ ร.ต.ท.ทัศเทพ เพร็ชศรี รอง สว. (สอบสวน) สภ.หนองปรือ เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเจ้าของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งตั้งอยู่ท้องที่ ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ในข้อกล่าวหา กระทำผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 25 วรรค 3 และมาตรา 50 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 48 และ 49

ขณะที่น้องชายเจ้าของปั๊มให้การว่าน้ำมันดีเซล B7 ที่บีบออกจากหัวจ่ายเพื่อให้ลูกค้าเมื่อวันที่ 22 เม.ย.เป็นน้ำมันที่มีน้ำเจือปนอยู่จริง ตามคลิปที่ผู้เสียหายไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีพนักงานเป็นผู้บีบตัวอย่างลงในแกลลอน ทางปั๊มเองไม่ทราบว่าสาเหตุที่มีน้ำเจือปนในน้ำมันเกิดจากสาเหตุใด ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ หรือเสธหิ ที่ปรึกษาเดินทางมาตรวจสอบและติดตามความคืบหน้ากรณีข้างต้น โดยมีนางนิภา ศรแก้ว ผู้อำนวยการกองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง นายอัครเดช ศุกระกาญจน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมธุรกิจพลังงาน และนางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับ พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 (ผบก.ศพฐ.7) พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7

พ.ต.อ.สรวิชญ์ บัวกลิ่น ผกก.สภ.หนืองปรือ พ.อ.ทวี ดอนวิจิตร หัวหน้ากลุ่มงานประสานความมั่นคง กอ.รมน.จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่พบว่ามีน้ำปนในน้ำมันดีเซลบี 7 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของประชาชน และกำชับให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตรวจสอบและดูแลเรื่องคุณภาพ รวมถึงปริมาตรน้ำมันให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน

พร้อมกันนี้ กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงได้เก็บตัวอย่างน้ำมันเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยมีน้องชายเจ้าของปั๊มพาตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ดร.หิมาลัย เปิดเผยภายหลังตรวจสอบว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากประชาชนได้จ่ายเงินค่าน้ำมันไปแล้ว ประชาชนต้องอยากได้น้ำมันที่มีคุณภาพและปริมาณที่ครบถ้วนตามจำนวนเงินที่จ่ายไป

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องลงมาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้ท่านรัฐมนตรีท่านทำงานอยู่หลายอย่าง เช่น ในระดับนโยบายท่านทำในเรื่องการปรับโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับน้ำมันที่มีความเป็นธรรม แต่ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงระดับของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ต้องการให้ประชาชนได้รับสินค้าที่ตรงตามคุณภาพและปริมาณของน้ำมันตามที่ได้ระบุไว้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอยากให้เจ้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการตื่นตัว โดยพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดจะต้องมีนโยบายแนวทางการตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่ร้องเรียนเพราะถือว่าช่วยเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการ ซึ่งทางราชการต้องรีบเข้าไปแก้ไข ต้องฝากไปยังพลังงานจังหวัดทุกจังหวัดว่าต่อไปเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะดำเนินการให้ผู้ร้องได้รับความพึงพอใจ และจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะหาความจริงมาตอบประชาชนให้ได้

โดยการเดินทางมาในครั้งนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันเป็นอย่างดี เพื่อที่จะร่วมกันหาทางออก และหาคำตอบให้ประชาชนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นการเจตนาหรือไม่เจตนา เพราะหากมีการพลั้งเผลอหรือบกพร่องตรงไหนผู้ประกอบการจะต้องไปทำการแก้ไข ในส่วนของคดีให้ว่ากันไปตามกฎหมาย โดยพลังงานจังหวัดมีหน้าที่แจ้งความดำเนินคดี ส่วนพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพื่อหาความจริงเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ประกอบการหรือไม่นั้น คงยังตอบไม่ได้ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายเบื้องต้น ตนยังไม่ทราบว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบสวน รวมทั้งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้ทำการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับความหนักเบาของพฤติกรรม

ซึ่งในข้อกฎหมายมีอยู่แล้ว ต่อไปลักษณะของการที่จะเพิ่มโทษอะไรต่าง ๆ ทางผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้วินิจฉัยร่วมกัน แต่ขณะนี้ข้อกฎหมายที่มีอยู่จะต้องบังคับใช้ให้มีความยุติธรรมกับประชาชนและต้องให้ความยุติธรรมกับผู้ประกอบการด้วยว่าเขามีเจตนาอย่างไร ซึ่งต้องฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงต่อไป

ในส่วนนโยบายขณะนี้รัฐมนตรีกำลังดำเนินการแก้ไข เช่น ตอนนี้ได้ให้มีการแจ้งต้นทุนน้ำมัน เพื่อเวลาที่รัฐบาลขอความร่วมมือหรือควบคุมราคาน้ำมันต่าง ๆ จะได้ทราบต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริง ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันมาก่อนเลย ทำให้เราไม่สามารถทราบราคาต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงได้ ต่อไปเมื่อรัฐบาลสามารถทราบราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ จะทำให้รัฐบาลสามารถดูแลประชาชนได้ดีและมีความเป็นธรรมมากขึ้น

‘พีระพันธุ์’ จ่อคลอดกฎหมายใหม่ เคาะราคาน้ำมันเดือนละครั้ง  ชดเชยราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ลดภาระให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

(7 พ.ค.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการโครงสร้างราคาพลังงานว่า หลังจากเข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ภายในกระทรวงพลังงานมีปัญหาที่ถูกหมักหมมมาเยอะมาก และแน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้าง แต่เมื่อทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้ว จึงพบว่า ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องโครงสร้าง แต่เป็นระบบเกี่ยวกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เพราะฉะนั้น จึงต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เพื่อที่จะรื้อระบบน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย

นอกจากการออกกฎหมายแล้ว ทางกระทรวงฯ ยังเร่งเดินหน้าสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมี และจำเป็นต้องมี นั่นคือ การสร้างระบบสำรองน้ำมันทางด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีระบบนี้อยู่ เพื่อนำมาใช้ในการสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมัน และในกรณีเกิดวิกฤตสงคราม ซึ่งจะทำให้น้ำมันขาดแคลนและราคาผันผวน 

ทั้งนี้ ระบบการสำรองน้ำมันในประเทศไทยที่มีอยู่นั้น เป็นการสำรองน้ำมัน เพื่อการค้าของผู้ประกอบการ หรือภาคเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล และมีปริมาณสำรองเพียงแค่ 20 กว่าวันเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงของประเทศ จะต้องมีปริมาณขั้นต่ำตามมาตรฐานอยู่ที่ 90 วัน และเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ 100% ซึ่งระบบสำรองน้ำมันที่ใช้อยู่วันนี้เป็นการสำรองน้ำมันตามพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ใช่สำรองเพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะฉะนั้น เมื่อประเทศต้องใช้น้ำมัน คนที่รับผิดชอบ คือ รัฐบาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีระบบสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในประเทศหรือต่างประเทศ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ระบบใหม่ที่กำลังจะนำมาใช้ จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบกับคนไทย โดยราคาตลาดโลกจะเป็นเรื่องของผู้ประกอบการกับรัฐบาล ส่วนราคาในประเทศจะขายเท่าไร รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด โดยจะเอาระบบ SPR ของประเทศมาเป็นกลไกแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการรักษาระดับราคาน้ำมัน ด้วยน้ำมัน ไม่ใช่เงินกองทุนฯ สำหรับน้ำมันที่จะนำมาใช้ ก็คือน้ำมันที่สำรองไว้ 90 วันนั่นเอง

“เรื่องนี้คนที่ประสบการณ์เยอะ รู้เยอะ ก็จะบอกทำไม่ได้ ต้องใช้เงินเป็นแสนล้าน ผมบอกไม่ต้อง ผมจะไม่ใช้เงินเลย แต่ผมจะเก็บภาษีเป็นน้ำมัน ซึ่งเก็บภาษีเป็นน้ำมันหมายความว่า เวลานี้ถ้าคิดคร่าว ๆ เงินกองทุนน้ำมันเก็บจากผู้ค้า แต่เก็บเป็นเงิน ต่อไปผมจะไม่เก็บเป็นเงิน แต่เก็บเป็นน้ำมันแทน ซึ่งโดยเฉลี่ยจะได้น้ำมันวันละ 10 ล้านลิตร เมื่อผมมีน้ำมันเป็นทุนสำรอง ผมก็จะแก้ปัญหาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันนี้เป็นส่วนหนึ่งของน้ำมันสำรองของประเทศ และขณะเดียวกันผมจะใช้น้ำมันตรงนี้ที่มันจะหมุนเวียน เอามารักษาระดับราคาน้ำมันด้วยน้ำมัน ผมจะยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงิน เปลี่ยนเป็นกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นน้ำมันจริง ๆ นี่ก็เป็นการรื้ออย่างหนึ่ง”

นายพีระพันธุ์ ย้ำว่า ระบบใหม่นี้สามารถทำได้แน่นอน ถ้าไม่มีคนขวาง เพราะหากจะรักษาระดับราคาน้ำมันคุณก็ต้องเอาน้ำมันไปรักษา ยกตัวอย่างสมัยตนเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ยังไปช่วยรักษาระดับราคาผลไม้เลย ผลไม้ราคาตกต่ำ ในยุคนั้นราคามังคุดตกต่ำจากกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหลือกิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็ไปกวาดซื้อมาหมดเลย จากนั้นเอาไปให้นักโทษกิน เมื่อพ่อค้าไม่มีจะขาย คนก็ต้องกลับมาซื้อกิโลกรัมละ 14-15 บาท เหมือนเดิม แต่ต้องซื้อจากเกษตรกร ไม่ได้ซื้อจากพ่อค้าคนกลาง เช่นเดียวกันกับน้ำมัน ซึ่งเป็นระบบที่ IEA (International Energy Agency) ที่มีสมาชิกอยู่ร้อยกว่าประเทศในโลก เขาก็ลงขันหาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นทุนสำรองเอาไว้ เวลาที่เกิดวิกฤติในตลาดโลกแพงเกินไป หรือว่าน้ำมันขาดแคลน ก็จะนำน้ำมันในสต็อกตรงนี้เข้าไปอัดในตลาดโลก ทำให้รักษาระดับราคาน้ำมันได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการวางระบบใหม่ จะมีองค์กรพิเศษใหม่มาคอยกำกับเรื่องราคาน้ำมันโดยเฉพาะ และความมั่นคงพลังงาน อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน เป็นองค์กรที่ไม่ได้ค้ากำไร ไม่ได้มาแข่งกับผู้ค้า แต่เป็นองค์กรกำกับให้อยู่ในระบบเฉย ๆ เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังทำอยู่ และพยายามจะให้แล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือนนี้ 

“เมื่อระบบ SPR สำเร็จ 100% จะช่วยแก้ปัญหาราคาน้ำมันและกองทุนฯ ได้อย่างยั่งยืน และเป็นระบบที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่กระทบกับเอกชนแน่นอน และจะไม่ให้ปรับราคาขึ้นลงทุกวันตามอำเภอใจแบบนี้อีก จะให้ปรับได้เดือนละครั้ง ต้องเอาต้นทุนมาเคลียร์กับกระทรวงแล้วมาหาราคาเฉลี่ยกันว่าจะปรับขึ้นลงยังไง กฎหมายผมจะไม่มีตารางส้ม (ตารางต้นทุนผู้ค้าน้ำมันของสำนักงานโยบายและแผนพลังงาน) แบบนี้อีกแล้ว ผมจะใช้ต้นทุนจริง ไม่ใช่ต้นทุนอ้างอิงสิงคโปร์อะไรกันอีก ทุกอย่างต้องเป็นของจริง ในกฎหมายที่ผมจะออกใหม่จะชัดเจนดูแลได้ทั้งหมด”

‘ก.พลังงาน’ ไฟเขียว!! ตรึง ‘ดีเซล-ไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม’ ถึงสิงหาคม 67

(7 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอ 3 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 

1. การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย. - 31 ก.ค. 2567
2. การขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 423 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัมไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 

3. การลดค่าไฟที่ 19.05 สตางค์ จาก 4.18 บาท เป็น 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในงวดเดือน พฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2567

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของผมได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมัน รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34 - 35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยก็จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ ทั้ง 3 มาตรการที่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและได้รับการเห็นชอบในวันนี้ ถือว่า เป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ซึ่งผมกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘พีระพันธุ์’ ปัด!! กฤษฎีกาท้วง ตรึงราคาพลังงาน  ย้อนถาม!! ทำเพื่อประชาชนจะไม่ดีตรงไหน 

(8 พ.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเป็นห่วงมาตรการตรึงราคาพลังงานของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบได้ในระยะยาว ว่า “ไม่มี ไม่มี ไปตามข่าวมาจากไหน ตนนั่งประชุมอยู่ในที่ประชุมครม.ก็ไม่มี” 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในเอกสารมีความเห็นของกฤษฎีกาว่า ถ้าไปอุดหนุนบ่อยครั้ง จะเป็นการบิดเบือนราคาได้? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “อันนี้ไม่เห็น” 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าการช่วยเหลือประชาชนต้องเดินหน้าต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวย้อนว่า “การช่วยเหลือประชาชนไม่ดีตรงไหน” ส่วนข้อกังวลของหน่วยงานตนยังไม่เห็น 

เมื่อถามว่าสมาคมขนส่งมีข้อกังวลว่าหากปรับราคาดีเซลขึ้นไป 33 บาทต่อลิตร อาจจะกระทบภาคขนส่ง? รมว.พลังงาน กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาให้มาตลอด แต่ก็ได้รับการร้องเรียนมาเหมือนกันว่า เวลาที่ลดราคาทำไมภาคขนส่งไม่ลดราคาให้ประชาชนบ้าง”

เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลจะตรึงราคาอยู่แค่ 33 บาทต่อลิตร จะไม่ขยายไปกว่านี้ใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์กล่าวว่า “เราพยายามตรึงราคาเท่าที่ตรึงได้ ที่ผ่านมาตรึงราคาได้ที่ 30 บาทต่อลิตร ก็ตรึงไว้ที่ 30 แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา 50 กว่าปี ใช้วิธีตรึงราคาด้วยเงิน ราคาจึงอยู่ที่เงินในกระเป๋าของรัฐ ถ้ามีเงินมากก็ตรึงได้มาก ถ้ามีน้อยก็ตรึงได้น้อย ตอนนี้เงินน้อยก็ตรึงน้อย ถ้าเก็บเงินได้ใหม่ก็ตรึงได้อีก”

“ระบบวิธีใช้เงินไปตรึงราคานี้ ผมพูดมาตลอดว่าไม่เห็นด้วย ต้องปรับระบบใหม่ ซึ่งกำลังทำอยู่ โดยตอนนี้ผมได้เขียนกฎหมายใหม่และจะใช้เวลาไม่นานเพราะเขียนไประดับหนึ่งแล้ว” รมว.พลังงาน เสริม

ผู้สื่อข่าวถามว่ากองทุนน้ำมันยังช่วยดูแลราคาไปได้อีกนานหรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมัน ได้ 2 ขา

…ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน…อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงิน ยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือ กระทรวงการคลัง แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนฯ ออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนฯ จึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบ เป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนฯ ไม่มีแล้ว ทั้งนี้ผมได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่เขาไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนฯ ที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข”

เมื่อถามว่า หมายถึงจะเอาอำนาจการกำหนดเพดานภาษีกลับมาอยู่กับกระทรวงพลังงานใช่หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า “ก็ควรต้องกลับมาเป็นแบบเดิม โดยอำนาจในการเก็บภาษีไม่ใช่อำนาจของกระทรวงพลังงาน แต่สินค้าตัวนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนดูแล ฉะนั้นอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี ควรจะอยู่กับกระทรวงพลังงาน แต่เมื่อกำหนดแล้วกระทรวงการคลังจะเก็บเท่าไหร่ ก็ไปดำเนินการ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top